เมื่อไม่สามารถ ลดการปล่อยคาร์บอนได้…
“คาร์บอนเครดิต” ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย
ตลาดคาร์บอนเครดิตเป็นธุรกิจใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น เพราะเอกชนที่ไม่สามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตได้ ก็จะมาหาซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อไปถัวเฉลี่ยชดเชยกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะเป็นคนปลูกป่าเพื่อเก็บคาร์บอนเครดิตไปถัวเฉลี่ยเองก็ได้
ในประเทศไทย “คาร์บอนเครดิต” ยังเป็นเรื่องของความสมัครใจ ในขณะที่ต่างประเทศเริ่มมีมาตรการภาคบังคับ
“คาร์บอนเครดิต” สามารถลด “ก๊าซเรือนกระจก” จนนำไปสู่การลดภาวะโลกร้อนได้จริงหรือไม่ The Active ลงพื้นที่ไปยังโรงไฟฟ้าราชบุรีพาวเวอร์ จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมีความพยายามที่จะปลูกป่าเพื่อเก็บคาร์บอนเครดิตทดแทน
นี่คือ สวนป่าสัก และ มะฮอกกานี ภายในโรงไฟฟ้าราชบุรี เพาเวอร์ กินเนื้อที่ราว 47 ไร่จากพื้นที่ในโรงไฟฟ้าทั้งหมดกว่า 2 พันไร่ ในแต่ละปีสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เฉลี่ย 130 ตันคาร์บอน ต่อปี และจะสามารถดูดซับได้มากขึ้นเมื่อต้นไม้เติบโตมีอายุมากกว่านี้
ขณะที่โรงไฟฟ้าแห่งนี้ มีกำลังการผลิตรวม 3,645 เมกะวัตต์โดยใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติและน้ำมันเตา ในแต่ละปีจึงปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ “คาร์บอนฟุตพริ้นท์” จากกระบวนการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 4 ล้านตันคาร์บอนต่อปี
ดังนั้นเมื่อเทียบระหว่าง “คาร์บอนฟุตพริ้นท์” กับ “คาร์บอนเครดิต” จากสวนป่า 47 ไร่ ภายในโรงไฟฟ้าจึงยังถือว่าต่างกันอยู่มาก
“จตุพร โสภารักษ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด ในฐานะผู้ประกอบการธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก็มีความพยายาม สร้างคาร์บอนเครดิตด้วยการสนับสนุนการปลูกป่าชุมชนทั่วประเทศ รวมถึงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้ในการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าเอง แต่เขาก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะทำให้มีคาร์บอนเครดิต ที่เท่ากับคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่ปล่อยไปในแต่ละปีได้
ขณะที่ เงื่อนไขในการปลูกป่าคาร์บอนเครดิตของภาคเอกชน จะนับเป็นเครดิตทดแทนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้ ต้องเป็นพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ ในส่วนของป่าชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ของกรมป่าไม้ รัฐจะเป็นผู้รับประโยชน์จากการค้าคาร์บอนเครดิตโดยตรง
ซึ่งประเทศในฝั่งยุโรปที่ไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนจกได้ต่ำไปมากกว่านี้แล้ว สนใจที่จะซื้อคาร์บอนเครดิต จากต่างประเทศหนึ่งในนั้นคือประเทศไทย ซึ่งนอกจากป่าชุมชนแล้ว ประชาชนทั่วไปที่มีที่ดินเป็นของตัวเอง ก็สามารถปลูกต้นไม้เพื่อซื้อขายเป็นคาร์บอนเครดิตได้ และนี่ก็เป็นหนึ่งในประเด็นที่มีการเจรจาการค้าในการประชุมเอเปกครั้งที่ 19 นี้ด้วย
นั่นหมายความว่า เวลานี้อาจจะมีเอกชนอีกหลายเจ้า ที่กำลังต้องการพื้นที่ป่ามหาศาล เพื่อทำคาร์บอนเครดิต คำถามก็คือ แล้วจะเอาป่ามาจากไหน ?
ข้อมูลจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีตั้งเป้า ปี พ.ศ. 2580 จะไปให้ถึง Net Zero ได้ ต้องมีป่าเพื่อดูดซับคาร์บอนให้ได้ 120 ล้านตันคาร์บอน โดยต้องใช้ทั้งป่าธรรมชาติ ป่าเศรษฐกิจ หลายล้านไร่ส่วนป่าที่มีอยู่เดิม ดูดซับคาร์บอนได้ประมาณ 100 ล้านตันคาร์บอน ซึ่งถ้าจะไปให้ได้ตามเป้า อาจต้องใช้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นอีกหลายสิบล้านไร่
ขณะที่ ปี พ.ศ.2565 ประเทศไทยมีการรับรองคาร์บอนเครดิต ผ่านโครงการ T-VER ที่สามารถนำไปใช้ในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวม 310 โครงการ คาดว่าจะลดหรือกักเก็บได้ 10 ล้านตันคาร์บอนต่อปีเท่านั้น
ใครบ้างที่ซื้อ “คาร์บอนเครดิต” ในไทย
คาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER เริ่มมีการซื้อขายในตลาดภาคสมัครใจภายในประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 จนถึงปัจจุบัน (พ.ย. 2565) โดยผู้ซื้อคาร์บอนเครดิตภายในประเทศ ส่วนใหญ่เป็นบริษัทหรือ บุคคลที่ทำ CSR โดยเฉพาะภาคบริการ การเงินและการท่องเที่ยว โดยซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อไปชดเชยตามข้อกำหนด Carbon Neutral โดยมีมูลค่าซื้อขายแล้วกว่า 151 ล้านบาท
ส่วนผู้ซื้อคาร์บอนเครดิตจากต่างประเทศรายใหญ่ คือ มูลนิธิ Future of the Carbon Marget ประเทศเยอรมนี ได้ให้การสนับสนุนด้านการเงิน กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยและเอกชนที่ปลูกป่าในโครงการ T-VER จำนวน 27 แห่ง จนมีรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตแล้วกว่า 58 ล้านบาท
ข้อมูลจากไบโอไทย ระบุว่า ตลาดคาร์บอนเครดิตตามยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ BCG ที่ไทยชูในเวทีเอเปกครั้งนี้ มีเป้าหมายถึง 16 ล้านไร่ เวลานี้ ไบโอไทย พบข้อมูลว่า มีรัฐวิสาหกิจ บริษัทเอกชนทั้งรายใหญ่ และรายย่อย กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โรงไฟฟ้า จับจองพื้นที่ชายฝั่ง เพื่อปลูกป่าชายเลน แลกคาร์บอนเครดิตรวมเกือบ 6 แสนไร่แล้ว ไม่ต่างกับป่าชุมชน แม้หลายฝ่ายมองว่าต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ ชุมชน กับ รัฐมีรายได้ แถมยังช่วยหักลบกับมลพิษ ที่เอกชนปล่อย แต่คำถามก็คือคาร์บอนเครดิตช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนได้จริงหรือ ?
“คาร์บอนเครดิต” ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของปัญหาโลกร้อน ?
“เกียรติชาย ไมตรีวงษ์” ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เชื่อว่าหากมีผู้พัฒนาโครงการหรือกิจกรรมลดการปล่อยหรือดูดซับก๊าซเรือนกระจกและเกิดการรับรองคาร์บอนเครดิตมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนที่ต่ำที่สุดผ่านกลไกตลาดคาร์บอน ก็จะทำให้ประเทศไทยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้มากขึ้นเช่นกัน ซึ่งก็จะช่วยส่งผลให้ลดภาวะโลกร้อนได้ เพราะก๊าซเรือนกระจกเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน
ขณะที่ “ธารา บัวคำศรี” ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย มองว่าขีดจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติ อย่างการหาที่ดินมาปลูกป่าเพื่อดูดซับคาร์บอนมีไม่เพียงพอต่อปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมาจากกระบวนการผลิตของภาคธุรกิจ และชีวิตประจำวัน คาร์บอนเครดิตจึงไม่ใช่ทางออกแก้ปัญหาโลกร้อน หนำซ้ำยังเป็นการเอื้อประโยชน์ในธุรกิจสร้างความชอบธรรมในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อไป
แต่คำตอบของการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ในมุมของ “จตุพร โสภารักษ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด ก็คือ การสร้างและพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพ และการเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงจาก “ไฮโดรเจน” ซึ่งได้จากน้ำ และปล่อยมลพิษต่ำ
เชื้อเพลิงไฮโดรเจน น่าจะเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าที่มีข้อถกเถียงน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับพลังงานสะอาดอื่น ๆ เช่น การสร้างเขื่อนที่สร้างผลกระทบสิ่งแวดล้อมในแม่น้ำ หรือ พลังงานหนุมเวียนเช่น แสงอาทิตย์ ลม ไบโอ ซึ่งไม่เสถียรเท่าเชื้อฟอสซิล หรือแม้กระทั่งพลังงานนิวเคลียร์ที่ไม่ปล่อยมลพิษแต่ประชาชนไม่มั่นใจในความปลอดภัยจากกัมมันตรังสี
ปัจจุบันไฮโดรเจน ยังเป็นเชื้อเพลิงที่มีราคาแพง และอยู่ระหว่างการศึกษา ซึ่ง ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าคนนี้ เชื่อว่าจะนำไปสู่เป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์ได้
แต่เขายังก็ยังมองการค้าคาร์บอนเครดิต ว่ายังคงมีความจำเป็นที่ต้องทำควบคู่กันไปในระหว่างการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี และเชื้อเพลิง ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม