บทบาทการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน…
นอกจากรัฐบาลและหน่วยงานราชการต่าง ๆ แล้ว ยังรวมไปถึง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ. ซึ่งมีความพร้อม ทั้งงบประมาณและบุคลากร
แต่คำถามที่สำคัญ คือ “การกระจายอำนาจ” สู่ท้องถิ่น สามารถทำได้อย่างเต็มที่ตามหลักการหรือไม่?
หาคำตอบร่วมกับ The Active ผ่านบทสัมภาษณ์ พล.ต.ท. คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ในซีรีส์ชุด COVID-19 จากส่วนกลาง สู่ท้องถิ่น ตอนที่ 1 “โรคระบาดและอำนาจรวมศูนย์”
“คนตอนนี้ต้องการฉีดวัคซีน แต่ทำไมมันช้าเหลือเกิน ผมถึงได้ดิ้นรน ให้มีระเบียบออกมาใหม่ โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์สามารถนำเข้า ซิโนฟาร์ม เข้ามาได้ ผมก็จองเลย 5 แสนโดส เพื่อให้พี่น้องชาวปทุมธานีก่อน”
พล.ต.ท. คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี สร้างภาพจำสำคัญของการใช้อำนาจท้องถิ่นแก้ปัญหาให้กับประชาชนในพื้นที่ อย่างการจัดหาวัคซีนทางเลือก “ซิโนฟาร์ม” จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และการจัดซื้อชุดตรวจหาเชื้อและภูมิคุ้มกัน หรือ Rapid Test โดยทั้งสองปฏิบัติการ ล้วนใช้งบประมาณสะสมของ อบจ. จัดหามาทั้งสิ้น
การจัดหาวัคซีนของ อบจ.ปทุมธานี จนถึงวันนี้ ได้สั่งจองกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ไปแล้ว 5 แสนโดส โดยนายก อบจ.ปทุมธานี เชื่อว่า นี่ยังไม่เพียงพอต่อการฉีดในกับประชาชนในพื้นที่ จึงมีแผนสั่งจองวัคซีนเพิ่มอีก 5 แสนโดส เพื่อฉีดให้ได้มากที่สุด อีกทั้ง ยังชี้ให้เห็นปัญหาว่า รัฐบาลควรเปิดโอกาสให้เอกชนนำเข้าวัคซีน ที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน เพราะมีคนไทยที่สามารถเข้าถึงวัคซีนทางเลือกได้อีกมาก
สำหรับการจัดซื้อชุดตรวจหาเชื้อแบบ Rapid Test หรือ ชุดทดสอบเพื่อทราบผลการติดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว มาใช้กับประชาชนนั้น เป็นสิ่งที่ อบจ.ปทุมธานี ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีจำนวนมากขึ้น และต้องการตัดวงจรของการแพร่ระบาดในระดับบุคคล เพราะเมื่อตรวจพบเชื้อเบื้องต้นจากการตรวจเลือดแล้ว ผู้ป่วยก็จะระวังตัวมากขึ้น และใช้มาตรการขอความร่วมมือให้ระวังตนเอง หลังจากนั้น จึงส่งตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อ (RT-PCR) ในระบบทางเดินหายใจ
แต่ปัญหาสำคัญของการตรวจแบบนี้ คือ ต้องใช้ระยะเวลาในการรอผล 24 – 48 ชั่วโมง ซึ่งช่องว่างของช่วงเวลาดังกล่าว อาจไม่สามารถจำกัดพื้นที่ของผู้ป่วยได้ ส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดออกไปอย่างต่อเนื่อง นายก อบจ.ปทุมธานี ยอมรับว่าก่อนหน้านี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขก็ไม่เห็นด้วยกับการใช้ชุดตรวจนี้ แต่ยืนยันว่าต้องทำ เพื่อยุติการระบาดในปทุมธานี
“จัดซื้อจัดจ้าง” ยังเป็นอุปสรรคใหญ่ของ อปท.
ที่ผ่านมาการดำเนินการต่าง ๆ อบจ.ปทุมธานี ใช้งบประมาณสะสมที่มีเพื่อมาซื้อชุดตรวจ วัคซีน และอุปกรณ์ต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม ก็ยังพบข้อจำกัดในระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของระบบราชการที่มีความล่าช้า การใช้งบประมาณต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งเอาไว้ จึงทำให้เกิดปัญหาที่ไม่สามารถใช้งบประมาณเพื่อซื้อสิ่งที่จำเป็นอย่าง “ยารักษา” ได้
“ระเบียบการจัดซื้อต่าง ๆ ออกมาในภาวะปกติ แต่ในภาวะสงครามโรคระบาด คุณยังไปเอาระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง ซื้อตรงนั้นไม่ได้ ซื้ออุปกรณ์นี้ไม่ได้ ต้องตรวจสอบ ต้องออกทีโออาร์ ผมถามว่ามันทันไวรัสไหม? ผู้มีอำนาจต้องคิดได้แล้ว …”
พล.ต.ท. คำรณวิทย์ ย้ำว่า อย่างไรก็ต้องเป็นไปตามระเบียบกฎหมายให้ได้มากที่สุด แต่หากสงสัยในประเด็นใด จะใช้วิธีการส่งหนังสือหารือไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ได้รับความชัดเจน และรีบดำเนินการโดยเร็วที่สุด เพราะทุกวันที่ล่าช้า จะมีผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือมากขึ้นเท่านั้น
“อบจ. ผมพร้อมจะฉีกตัวเองออกมา เพื่อดูแลพี่น้องประชาชน… ผมไม่คอย”
คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ช่วยควบคุมโรคได้ แต่ “ยังไม่พอ”
นายก อบจ.ปทุมธานี พูดถึงปัญหาที่สำคัญ คือ โครงสร้างอำนาจเพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 ในปัจจุบัน เพราะทุกพื้นที่จะอยู่ภายใต้ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดเป็นประธาน การออกมาตรการใด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการชุดนี้ด้วย
นายก อบจ.ปทุมธานี เล่าให้ฟังถึงรายละเอียดการทำงานของคณะกรรมการฯ ที่เน้นการประชุม แต่ขาดการลงมือทำ ส่งผลให้ปัญหาต่าง ๆ ไม่ได้รับการแก้ไข
เมื่อถามถึง การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการ พล.ต.ท. คำรณวิทย์ มองว่า เป็นแนวทางที่ดีที่สุด เพราะจะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว รัฐบาลในตอนนี้ที่มีอำนาจใช้กฎหมายพิเศษในมือ ควรออกคำสั่งให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินการต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง เพื่อให้เกิดการปฏิบัติการอย่างทันท่วงที
การทำหน้าที่ นายก อบจ.ปทุมธานี ถือเป็นหนึ่งบทบาท ที่สะท้อนให้เห็นการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ต้องใช้งบประมาณและบุคลากรของตัวเองในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ซึ่งหากส่วนกลางมองเห็นปัญหา และคำนึงถึงการกระจายอำนาจ และให้การสนับสนุนการทำงานของท้องถิ่น ก็อาจช่วยให้การแก้ไขปัญหาตอบโจทย์ความต้องการของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง