ความสำเร็จไม่ได้ผูกติดอยู่ในพื้นที่
แต่ผูกติดกับความสามารถของตัวเอง
เรียนจบตั้งสูงกลับมาทำอะไร ทำไร่ ทำสวนจะทำได้หรอ ? ถ้าจะกลับทำงานอยู่บ้านแล้วไปเรียนให้เสียเงินทำไม ?
‘คำถาม’ ปน ‘คำสบประมาท’ จากทั้งคนรู้จัก หรือ แม้แต่คนในครอบครัว ที่ถาโถมเข้าหาวัยรุ่นหนุ่มสาวซึ่งตัดสินใจหันหลังให้กับความเจริญในเมือง เพื่อกลับไปอยู่บ้านเกิด ด้วยความหวังลึก ๆ ที่ต้องการกลับไปสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตในพื้นที่ที่พวกเขาจากมา
ปราริฉัตร ดอกแก้ว หรือ “ปลา” หนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่ถูกตั้งคำถามเหล่านี้เช่นกัน แต่เธอเลือกที่จะสวนกระแสการตั้งคำถาม และทำตามความต้องการอันแรงกล้า หอบชีวิตและจิตวิญญานที่ยังมีแรง กลับมาใช้ฐานทุนทรัพยากรในชุมชนเพื่อเพิ่มมูลค่าหาเลี้ยงชีพ
ฟังแล้วเรื่องราวเหล่านี้ดูสวยงาม แต่กว่าจะมาถึงวันนี้เขาต้องพิสูจน์ตัวเองนับครั้งไม่ถ้วนเพื่อให้ครอบครัวและชุมชนยอมรับ
คำถามที่ ‘ปลา’ บอกกับมนุษย์ผู้เป็น แม่ ผ่านโทรศัพท์ ซึ่งเป็นคำถามง่าย ๆ ที่เพียงถามถึงการกลับบ้านจากคนที่อยู่ที่บ้าน ชีวิตกว่า 9 ปีของเธอกับการจากบ้านเพื่อไปทำงานต่างจังหวัด ในสายงานที่ตนเองเรียนจบ เวลามากว่า 9 ปี ของการถูกผลักออกไปจากครอบครัวและชุมชน ด้วยข้อหาติดตัวที่ว่า เรียนจบตั้งปริญญาตรี ต้องได้ทำงานที่ดีเป็นเจ้าคนนายคน จนทำให้เธอต้องออกเดินทางเพื่อไปทำงานต่างพื้นที่
การจากพื้นที่บ้านเกิดไปโดยไม่เต็มใจกว่า 9 ปี เธอ สารภาพว่า ในทุก ๆ วันของการทำงาน เฝ้ารอเพียงเวลาที่จะได้กลับมาเอนกายที่ห้องเพื่อพักผ่อน ในแต่ละปีเธอเฝ้ารอวันหยุดเทศกาลเพื่อที่จะได้กลับบ้าน คำพูดเหล่านี้มันสะท้อนให้เราเห็นว่า นั่นมันไม่ใช่ที่ของเธอเลยสักนิด
“ด้วยความที่เราเรียนมาพ่อแม่ก็จะบอกว่า ถ้าจะอยู่บ้านแล้วจะไปเรียนทำไม มันเป็นเหตุผลที่เราแย้งพ่อกับแม่ไม่ได้ จำเป็นต้องไป และไปด้วยความจำใจที่ต้องอยู่ที่นั่น และทำงานที่นั่น ตลอดระยะเวลาที่เราทำงานอยู่ที่นั่น เราคิดอยากจะกลับบ้านตลอดเวลานะ แต่ว่าเหมือนกับพ่อแม่ยังไม่เปิดทางให้และก็ยังไม่ให้โอกาส เราก็ถามพ่อกับแม่มาเรื่อย ๆ”
จนแม่เริ่มป่วย ทำให้เธอรู้สึกเป็นห่วงและก็กังวลเรื่องสุขภาพของแม่มาก สุดท้ายจึงตัดสินใจ ถามคำถามที่เธอคาดหวังคำตอบว่า “ได้” มาตลอดกับแม่ว่า “แม่ให้ปลากลับบ้านได้ยัง ?”
คำถามที่มีมานานนับ 9 ปีถูกถามออกมาอีกครั้ง แม้คำตอบที่ได้จะเป็นไปอย่างที่เธอปราถนาไว้ คือการที่เธอได้รับอนุญาตให้กลับแล้ว แต่เธอกลับมองว่ามันไม่คุ้มค่ากับเวลา และสิ่งที่ต้องแลกมานั่นคือความเสื่อมถอยของสุขภาพของคนที่เธอรัก กลับมาในช่วงเวลาที่ทุกคนอ่อนแอลงไปเรื่อย ๆ เธอได้กลับบ้านเพราะแม่ป่วย นั่นไม่ใช่การกลับอย่างที่เธออยากให้เป็นเลย
ความท้าทายของการกลับบ้าน
ปลา เล่าว่า อุปสรรคแรกเลยคือตัวเอง ที่ไม่มีความมั่นใจ และไม่มีความมั่นคงในเป้าหมายของตัวเองว่าเราจะไปต่อยังไง ไปรอดไหมแล้วจะอยู่ยังไงกับชุมชน ซึ่งมันเป็นความท้าทายที่สำคัญนะ แต่หากเราเองเป้าหมายที่ชัดเจนมีความมั่นคงและมีความมั่นใจในตัวเอง ถึงแม้เราจะได้ยินเสียงจากครอบครัวหรือจากคนรอบข้างยังไงเราจะไม่หวั่นไหว
ถ้าเรามั่นใจและพิสูจน์ให้เห็น เขาก็จะเริ่มยอมรับในตัวเราเอง สิ่งสำคัญคือตัวเราก่อน อีกสิ่งที่สำคัญคือเรื่องของครอบครัว เราไม่สามารถไปอธิบายและก็ให้เขายอมรับได้เลย นอกจากการทำให้เห็นและเขาก็จะเริ่มยอมรับ และก็จะขยายไปยังการยอมรับในตัวเราในระดับชุมชน
ข้อหาติดตัวของคนได้ใบปริญญา
พอเราไปเรียนแล้ว เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราเรียน ไม่ได้จำเป็นที่จะต้องไปทำงานให้คนอื่น ไปทำงานในส่วนที่มันพัฒนาแล้ว ในส่วนที่เขามีฐานเศรษฐกิจที่ค่อนข้างดีแล้ว เราคิดว่าการเรียนแล้วกลับไปอยู่ที่ชุมชน ใช้สิ่งที่เราเรียนมาไปทำประโยชน์กับกับชุมชนน่าจะดีกว่าที่เราไปอยู่ในโรงงานใหญ่ ๆ ที่เขาพัฒนาแล้ว แต่ด้วยเหตุที่เราต้องไปทำงานที่อื่นเพราะว่าในชุมชนเราเอง ไม่มีงานพวกนี้รองรับ
เรามองว่าการเรียนสูงเหมือนข้อหาเรียนสูงต้องไปทำงานที่อื่น จริง ๆ มันควรจะมีที่รองรับให้เราทำงานอยู่กับชุมชนมากกว่านี้ ตอนกลับมาอยู่บ้านเกือบ 2 ปี เราก็เริ่มรู้สึกไม่มั่นใจแล้วนะ ก็จะกลับไปยังวงจรที่เราปฏิเสธมาตลอดอะไรแบบนี้ เลยรู้สึกว่าเราจะยังไงดี จะกลับไปทำงานหรือจะกลับไปอยู่กับชุมชน ตอนนั้นเรารู้สึกไม่มั่นใจ
แต่การมีเครือข่ายการมีเพื่อนร่วมเดินทาง อุดมการณ์และการพัฒนาศักยภาพของเราเอง ให้รู้จักตัวเอง คุณค่าในตัวเองเราก็สนใจที่จะเข้าร่วมโครงการแล้วก็สมัครเข้ามา โครงการนี้มันทำให้เรารู้สึกมีความมั่นใจในตัวเอง รู้จักตัวเองและมั่นใจในสิ่งที่เราทำ
จะเป็นดอกไม้หรือดอกหญ้า จะมีค่าและสวยงามเสมอ ถ้าอยู่ถูกที่
การต้องไปอยู่ในโรงงานเงินเดือนหลายหมื่น แต่ตัวเองรู้สึกตัวเล็กมาก ๆ มันเหมือนถูกกด ทั้งด้านความรู้สึกและความสามารถ แต่เมื่อครั้งที่ตัดสินใจกลับบ้านมา เพียงแค่การกระทำเล็ก ๆ ก็ทำให้เรารู้สึกตัวโตและภูมิใจ เช่น การเติมเงินโทรศัพท์ให้คนแก่ที่บ้าน พาผู้สูงอายุไปโรงพยาบาล การกระทำที่มันดูคุ้นชินกับคนทั่วไป แต่หากมันคือที่ค่ามากมายสำหรับคน ๆ หนึ่ง
คำตอบของการกลับบ้านไม่ใช่การกลับมาเมื่อเวลาที่คนในครอบครัวป่วยแล้ว แต่เธออยากกลับเพื่อที่จะนำสิ่งที่ได้เรียนมา มาพัฒนาชุมชนตัวเองในช่วงเวลาที่ทุกคนในครอบครัวแข็งแรง กลับมาเพื่อสร้างทางเลือก สร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นในชุมชน
เมืองกรุงและใบปริญญาไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของการมีชีวิต
หากมองย้อนไปที่โครงสร้างลึก ๆ ค่านิยมของคนไทยที่ต้องการให้คนเรียนสูง อีกส่วนหนึ่งเธอไม่ได้เข้าไปเรียนเพราะตัวเองชอบ แต่เข้าไปเพราะอยากได้ปริญญา อยากมีเงินเยอะ อยากจบออกมาแล้วเป็นเจ้าคนนายคนนั่นคือความเชื่อที่ผลักคนเข้าไปสู่มหาวิทยาลัย
เราก็มองย้อนกลับมาอีกว่าโครงสร้างของชุมชน หรือแม้กระทั่งครอบครัวตัวเอง เป็นคนที่ผลักเขาออกไปว่าลูกต้องเป็นเจ้าคนนายคน
คนกลุ่มนี้นอกจากจะมีกำลังในการทำงานแล้ว เรื่องขององค์ความรู้ก็มีผล ซ้ำยังมีมายาคติของคนที่เรียนเก่งเรียนจบสูงว่าต้องเป็นเจ้าคนนายคน ก็เป็นตัวผลักให้เขาออกไปข้างนอก ทำให้ในชุมชนมีคนสูงวัยกับเด็ก มีช่องโหว่ของช่วงอายุ ชุมชนจึงขาดความเข้มแข็ง
The Active ชวนคุยทำความรู้จักและความเข้าใจปรากฏการณ์คนรุ่นใหม่กลับบ้าน ผ่านเลนส์ของ นราธิป ใจเด็จ หรือ นาย คนรุ่นใหม่ ที่ชื่นชอบการทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาสังคม เขาใช้เวลาหลังจากจบมา อยู่กับงาน เขาได้เรียนรู้และเข้าใจ ปัญหาของชุมชน เมื่อมันเป็นช่องว่าง เราก็ต้องหาคำตอบให้ได้ว่า ช่องว่าง คืออะไร ?
เรามีแนวคิดที่จะเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่กลับบ้านมาเจอกัน ปัญหาในชุมชนตอนนี้คือชุมชนผู้สูงอายุที่เกิดขึ้นการมาอยู่ หรือการกลับมาของคนรุ่นใหม่มันมีน้อยลง เรารู้สึกว่าอยากสร้างกระบวนการนี้แหละเป็นการรองรับให้คนรุ่นใหม่กลับบ้าน ที่อยากจะกลับบ้านอยู่แล้วให้เขามาเจอกันและก็ค้นหาศักยภาพตัวเองและก็ทำงานร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืนในอนาคต ผ่านการทำโครงการอาสาคืนถิ่น โดยการสร้างพื้นที่ สร้างเครือข่ายให้กับคนรุ่นใหม่ ที่มุ่งมั่นที่จะกลับไปทำงานในบ้านเกิดของตนเอง หรือมีความตั้งใจที่จะตั้งถิ่นฐานในบ้านเกิดของตัวเอง ได้กลับไปและเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างชุมชนยั่งยืน พร้อมที่จะพัฒนาตนเอง พัฒนาชุมชน
“สิ่งที่เกิดขึ้นมันคือการผลักเขาออกไป แต่คนที่มาร่วมโครงการของเราเนี่ยเขารู้สึกว่าคำว่าเจ้าคนนายคนเนี่ยมันไม่ได้แมสสำหรับเขา การกลับบ้านของเขาเลยกลายเป็นว่าเขาต้องมาเติมเต็มชุมชน เติมเต็มในช่องว่างตรงนั้นว่าเขาจะมาอุดยังไงมาเติมเต็มยังไง และก็มาช่วยขับเคลื่อนยังไง?”
นราธิป ใจเด็จ เจ้าหน้าที่โครงการอาสาคืนถิ่น มอส.
การกลับมาอยู่บ้านไม่ใช่เรื่องง่ายในช่วงเริ่มต้น ต้องใช้ความอดทนและต้องพิสูจน์ตนเอง อาสาสมัครส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับทัศนคติและค่านิยมที่คนหนุ่มสาวเมื่อเรียนจบควรหางานทำในเมือง และมีรายได้เป็นเงินเดือนส่งมาทางบ้าน ยิ่งเป็นข้าราชการได้ยิ่งดี หรือถูกตัดสินว่าการกลับบ้านคือไม่มีหนทางไป หางานไม่ได้ ส่งผลให้การตัดสินใจหันหลังกลับมาตั้งต้นอยู่บ้านเป็นเรื่องที่ยากต่อการตัดสินใจ และทัศนคติ ค่านิยมเหล่านี้จะบีบคั้นการใช้ชีวิตในชุมชนในระยะหนึ่ง
“ทัศนคติของครอบครัวด้วย ว่าพ่อแม่จะยอมรับไหม ชุมชนจะโอเคไหม ที่เห็นลูกกลับมา เพราะเขาจะมองประกอบกันไปหมดเลย มันเป็นความท้าทาย และก็เป็นความท้าทายมากและเป็นการตัดสินใจที่แบบเขาต้องตัดสินใจเลยว่าเขาต้องกลับมาทำอะไร มันเป็นข้อท้าทายและเป็นบทพิสูจน์ที่ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนจุดพลิก ที่เขากลับมาเพราะว่ามันก็จะไม่ได้ใช้ชีวิตหรือสังคมเดิม ๆ ละ แต่เป็นการเปลี่ยนชีวิตใหม่ที่อยู่ในวิถีเก่า วิถีเดิม”
นราธิป ใจเด็จ เจ้าหน้าที่โครงการอาสาคืนถิ่น มอส.
ด้วยโครงสร้างทางเศรษฐกิจหลายอย่างทำให้ คนต้องดิ้นรนเพื่อไปหาความเจริญ ชุมชนชนบทจึงขาดแคลนคนที่จะนำทัพในการคิดการพัฒนา จึงต้องมีการรับอาสามาเพื่อที่จะเติมเต็มช่องว่างตรงนี้ การที่คนรุ่นใหม่กลับมาเพื่อที่จะสร้างชุมชน สร้างครอบครัวสร้างตัวเอง ก็เพราะเขาต้องการหาอะไรที่เป็นสิ่งรอบตัวที่เจริญและสนับสนุน ทั้งเรื่องจิตใจครอบครัว สังคม เศรษฐกิจ การมองโครงสร้างที่เป็นการกระจุกตัวของรัฐที่พยายามให้คนในชุมชนเข้าไปรวมกันในเมืองหลวง นี่แหละคือปัญหา เขาไม่ได้เข้าถึงความเจริญในพื้นที่หรือชุมชนเขาตั้งแต่เกิดอยู่แล้ว มันเลยกลายเป็นผลักตั้งแต่ระบบโครงสร้างชุมชน สังคมที่มันเกิดขึ้นมา มันเกิดขึ้นตั้งแต่เขายังไม่เกิดเลย มันเลยกลายเป็นรัฐผลักภาระให้เขาต้องหาความเจริญในชุมชนตัวเอง
โครงสร้างที่เป็นการกระจุกตัวของรัฐที่พยายามให้คนในชุมชนเข้าไปขับเคลื่อนอุตสาหกรรม การผลักคนเข้าไปในเมือง มีมากกว่าการกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่น ส่งผลให้การย้ายถิ่นฐานของคนต่างจังหวัดมีมาอยู่เรื่อย ๆ แต่ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของไทยและของโลก สินค้าที่ส่งไปต่างประเทศขายไม่ได้ กิจการโรงแรม การท่องเที่ยว ร้านอาหารได้รับผลกระทบอย่างหนัก คนในเมืองจำนวนมากต้องตกงาน และหางานใหม่ ส่งผลให้แนวโน้มของการตัดสินใจกลับมาอยู่บ้านมีสูงขึ้น
แม้ตอนนี้จะยังไม่มีสถิติ ตัวเลขการกลับบ้านอย่างแน่ชัดของคนต่างจังหวัด แต่ที่เห็นคือไม่เพียงแค่คนจบปริญญาตรี แต่รวมถึงคนทุกวัย หลายอาชีพ เพราะต้องยอมรับว่าการรระบาดของโควิดมีผลต่อการตัดสินใจกลับบ้านมาก ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเองอาจจะต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวอีกนาน
คนรุ่นใหม่กลับบ้าน… เติมเต็มช่องว่างของคน 2 รุ่นในชุมชน
ในมุมเศรษฐศาสตร์ การคืนถิ่นเกิดขึ้นบ่อยมากไม่ว่าจะเป็นจากที่ภาครัฐสนับสนุนมากมาย โควิด-19 เป็นเพียงอีกหนึ่งปฏิกิริยาที่ส่งผลให้คนกลับบ้านเยอะกว่าเดิม และการกลับบ้านยังมีผลต่อระบบโครงสร้างใหญ่ระดับประเทศ เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า การอพยพย้ายถิ่นของคนต่างจังหวัดเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องประมาณ 30 กว่าปี ตั้งแต่ไทยพยายามพัฒนาให้เป็นประเทศอุตสาหกรรม มีการตั้งโรงงาน มีการตั้งนิคมอุตสาหกรรม มีการตั้งพื้นที่เมืองเจริญเติบโต และมีภาคบริการที่เติบโตขึ้น ทำให้คนที่อยู่ในวัยทำงาน ที่รายได้ไม่สูงตัดสินใจย้ายออกจาก บ้านเพื่อมุ่งหน้าสู่แรงงานอุตสหกรรมไปในที่ ๆ ได้เงินเยอะกว่า
เราจะเห็นภาพของความโรแมนติก ว่าคนกลับบ้านเขาประสบผลสำเร็จ นั่นเพราะ เขาเลือกที่จะกลับไป ก่อนกลับจะมีการเตรียมการและมีจุดมุ่งหมายชัดเจน ว่าเขาจะกลับไปทำอะไรถ้าเกิดว่ากลับไปแล้วเขามีที่ดิน เขารู้ว่าเขาต้องกลับไปพัฒนาอะไรต่อ และจะองค์ความรู้ที่ได้จากในเมืองหรือที่ต่างๆ กลับไปด้วยอันนี้เรียกว่าการกลับบ้านอย่างมีแผน โอกาสสำเร็จจะมีสูง ภาพเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยมากเราเลยจะเห็นว่า การกลับบ้านมันโรแมนติก
ผลการสำรวจในปี 2562 พบว่า ผู้ย้ายถิ่นมีจำนวนทั้งสิ้น 6.64 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการย้ายถิ่นร้อยละ 1.0 จากประชากรทั้งประเทศ (68.02 ล้านคน) โดยที่ภาคกลางมีอัตราการย้ายถิ่นสูงสุด (ร้อยละ 1.4) ส่วนกรุงเทพมหานครมี อัตราการย้ายถิ่นต่ำสุด (ร้อยละ 0.2)
เมื่อดูแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) จำนวนและสัดส่วนประชากรจากการขึ้นทะเบียน จำแนกตามกลุ่มอายุ (วัยเด็ก วัยแรงงาน วัยสูงอายุ) เพศ ภาค และ จังหวัดพ.ศ. 2553 – 2562 ก็พบว่าอัตราการเพิ่มของผู้สูงอายุทั้งประเทศที่อายุ 60 ปีขึ้นไป มีเพิ่มขึ้น
แบ่งตามช่วงอายุในปี 2553 สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุสัดส่วนอยู่ที่ 11.73 และพอมาถึงปี 2562 เพิ่มเป็น 16.73 ซึ่งตรงกันข้ามกับอัตราการเกิดที่มีช่วงอายุ 0-14 ปี ที่ลดลง จาก 19.73 มาเป็น 16.45 ภายใน 10 ปี ขณะที่ช่วงอายุวัยทำงานที่เป็นสัดส่วนเยอะที่สุดกว่า 60 % ก็มีแนวโน้มก้าวเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ซึ่งหากเทียบกับช่วงอายุอื่น ๆ แล้วผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกต่อเนื่อง
อ.เกียรติอนันต์ มองว่า ปรากฏการณ์ของคนรุ่นใหม่กลับบ้าน เป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะถ้าเขากลับไปเพื่อที่จะพัฒนาชุมชนเขาเองก็จะทำให้ มีทั้งกำลังคนหรือกำลังความรู้เอง หรือแม้กระทั่งการเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง สิ่งเหล่านี้มีอยู่แล้วในตัวของคนรุ่นใหม่เองทั้งยังเป็นการกลับไปเพื่อที่จะเติมเต็มช่องว่างของคน 2 รุ่นในชุมชน และนำทรัพยากรที่มีมาใช้เพื่อเสริมสร้างอาชีพและรายได้ให้กับตัวบุคคลและชุมชนเองด้วย
“การที่เขากลับมาอยากทำให้ชุมชนดีขึ้นมันถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ การที่เขาได้ไปเรียนเจอโลกที่กว้างขึ้น ได้ไปเจอความแตกต่าง ถ้าเกิดเขาเรียนรู้เต็มที่ สังเกต มีเครือข่ายเขาจะพาสิ่งเหล่านั้นกลับสู่ชุมชนมีหนทางที่จะไปต่อ”
แต่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 มีคนจำนวนไม่น้อยจำนนให้กับเมืองกรุง กลับบ้านแบบที่ไม่ได้ตั้งใจ แต่กลับไปเพราะสถานการณ์บีบบังคับให้พวกเขากลับไป ซึ่งเมื่อกลับไปด้วยสถานการณ์ที่ไม่พร้อมจึงเกิดปัญหาว่า กลับไปไม่รู้ว่าจะทำอะไร ต้องกลับไปช่วยพ่อแม่
อ.เกียรติอนันต์ ยกตัวอย่าง หากคนเหล่านั้นถูกตัดขาดจากทักษะที่อยู่บ้านมานาน เช่น พ่อแม่ปลูกทุเรียน แต่ตัวเขาเอง ถูกส่งเข้าไปเรียนในเมืองตั้งแต่เด็ก ไม่เคยเข้าใจเรื่องการปลูกทุเรียนเลย กลับไปอีกทีคือ ยืนมองต้นทุเรียนแล้ว มันจะเกิดคำถามที่ว่า ฉันจะทำอะไรดี ซึ่งกลุ่มแบบนี้กลับไปแบบที่รอการกลับเข้ามาในเมืองอีกครั้ง เพียงแค่กลับไปตั้งหลักที่บ้าน โอกาสที่จะช่วยที่บ้าน หรือโอกาสที่จะยกระดับตัวเองขึ้นมาอาจจะไม่เต็มที่
แล้วเราจะทำให้คนเหล่านี้ประสบความสำเร็จได้อย่างไร อย่างแรกเลยก็คือ ความรู้ที่เขามีก่อนที่เขาจะกลับไปมีประโยชน์ต่อเขาหรือเปล่า ถ้าเกิดมันเป็นความรู้ที่ไม่สอดคล้องกับบริบทที่กลับไป ก็จะไปนับหนึ่งใหม่และกลับมาสู่เงื่อนไขที่สองที่ว่า ถ้าความรู้เขามีไม่พอหรือใช้ไม่ได้ เขาจะเรียนรู้เรื่องใหม่หรือกลับไปปรับตัวอยู่ในพื้นที่เร็วหรือไม่ ถ้าเกิดเร็วพอเขาจะตั้งตัวตั้งชีวิตได้
นอกจากความพร้อมเหล่านี้แล้ว ต้องมองกลับไปว่าที่บ้านพร้อมที่จะสนับสนุนไหม ถ้าเกิดที่บ้านสนับสนุนและเข้าใจก็ไปต่อได้ ถ้าเกิดกลับไปแล้ว มีการตั้งคำถามว่า ทำไม นั่นอาจจะทำให้เขารู้สึกว่าเขากลับไปแล้วไม่ประสบความสำเร็จก็ได้ เขาก็จะหาวิธีการกลับมาในเมืองและทำงานเพื่อให้ผ่านไปวันวัน
“เงื่อนไขการกลับบ้านมีเป็นชั้น ๆ แต่อยู่ที่ว่าแต่ละคนจะเจอชั้นไหน ความพร้อมของตัวเอง ปัจจัยที่เอื้อให้เขาใช้ศักยภาพของตัวเองได้เต็มที่ไหม และการสนับสนุนทางบ้าน รวมถึงโอกาสที่เกิดขึ้นด้วย”
แต่ละที่ไม่สามารถที่จะเจริญเท่ากันได้ แต่ว่าเขาควรจะมีชีวิตที่ดีใกล้เคียงกันได้ การที่เขาย้ายไปข้างนอกเพราะเขาต้องการคุณภาพชีวิตที่ดี ฉะนั้นอย่างแรกต้องทำให้คุณภาพชีวิตเขาดี ถ้าคุณมีชีวิตในจังหวัดที่ดีก็จะชะลอการย้ายถิ่นได้ส่วนหนึ่ง
อ.เกียรติอนันต์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ประเทศเราพัฒนามาแบบสร้างแม่เหล็กทางเศรษฐกิจให้คนมาอยู่ในที่ที่หนึ่ง แล้วดูดคนเข้าไป แล้วเวลาดูดคนก็จะดูดคนที่พร้อมที่สุดก่อน นั่นหมายความว่า เมืองเล็กก็จะเสียคนที่พร้อมให้กับเมืองใหญ่ แล้วเมืองเล็กก็จะไม่โต นี่เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำเชิงภูมิภาคเกิดขึ้น
“เพราะฉะนั้นนี่คือโอกาสที่ทำให้เห็นว่าเมืองใหญ่ไม่ได้น่าดึงดูดเหมือนเดิมแล้ว แล้วอีกอย่างความใหญ่ของเมืองไม่ได้เป็นหลักประกันว่าเขาประสบความสำเร็จต่อไป เราอยู่ในโลกที่จะสำเร็จ ไม่สำเร็จ ไม่ได้อยู่ที่ว่าเราอยู่ที่ไหน หรือเราเป็นใครเพราะฉะนั้นในเมื่อความสำเร็จไม่ได้ผูกติดอยู่ในพื้นที่ แต่ผูกติดกับความสามารถของตัวเอง มันเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่สามารถกลับบ้านได้ เมื่อเขาพร้อมและพัฒนาตัวเองได้ เมื่อไปอยู่ที่นั่นความเจริญจะวิ่งย้อนกลับไปสู่พื้นที่ได้ด้วยตัวเขา และเครือข่ายที่เขาสร้างขึ้น
แนวทางการแก้ปัญหาคนย้ายถิ่น คือการทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในพื้นที่ของเขา การกระจายความเจริญไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ตามความเหมาะสม รวมถึงสนับสนุนกลุ่มอาชีพที่มีในชุมชน จะสามารถชะลอปัญหาการย้ายถิ่นได้อยู่ไม่น้อย และเป็นการลดปัญหาการกระจุกตัวของควมเจริญ ด้านหนึ่งยังเป็นการสนับสนุน การใช้ทรัพยากรในชุมชนอย่างคุ้มค่า และพัฒนาชุมชนด้วยคนของชุมชน การพัฒนาก็จะเป็นไปอย่างมั่นคง
อ.เกียรติอนันต์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การคืนคนรุ่นใหม่ให้กับชุมชนเป็นเพียงหนึ่งสิ่งที่สามารถแก้ไขปัญหาช่องโหว่ของชุมชนได้ แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของการแก้ปัญหา เพราะคนรุ่นใหม่ทุกคนไม่ได้เหมาะกับการอยู่ในชุมชน มันเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ การเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ให้กับคนในชุมชน อาจจะไม่ได้เท่ากันทุกชุมชนแต่ให้ใกล้เคียงกันมากที่สุด การเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานอย่างทั่วถึง ทั้งเรื่องการศึกษา การรักษาพยาบาล การเสริมทักษะและสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน ทั้งเด็ก คนรุ่นใหม่ และผู้สูงอายุ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสวัสดิการพื้นฐาน และสร้างให้ชุมชนเกิดความมั่นคงอย่างยั่งยืน