คุยอย่างไรเมื่อเห็นต่าง : โลกคนละใบของคนต่าง Gen

: สันติธาร เสถียรไทย

  • จากความขัดแย้งที่มองเห็นในปัจจุบัน กลุ่มที่เรียนเราได้โจทย์ให้ต้องคิด ต้องขับเคลื่อนว่าจะนำเสนอทางออกให้กับความขัดแย้งได้อย่างไร
  • นอกจากทำความเข้าใจ และวิเคราะห์ความขัดแย้ง เราได้หาเครื่องมือที่มีชื่อเล่นว่า 4E ซึ่งอาจเป็นทางออกเล็ก ๆ ให้กับสังคม
  • ความต่างไม่ใช่ปัญหา และความกลัวก็เป็นเรื่องปกติ คล้ายกับการที่เราจะต้องพบคนต่างชาติต่างวัฒนธรรมที่เราไม่คุ้นเคย จริง ๆ แล้วการคุยกับคนที่เห็นต่างอาจไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เราคิด เพราะในความต่างมีความเหมือน และในความเหมือนก็มีความต่าง 
  • การเปิดใจ เรียนรู้ความแตกต่างหลากหลาย ทำให้เกิดการเติบโต สร้างสรรค์ และเป็นทักษะที่จำเป็นในการไปข้างหน้าต่อด้วยกัน และเป็นสิ่งที่เราจะได้จากการคุยกับคนที่คิดต่าง ไม่ว่าผลการคุยกันจะเป็นอย่างไร

การอบรม คุยอย่างไรเมื่อเห็นต่าง (How to Discuss?) เป็นกิจกรรมเตรียมความพร้อม และสร้างความมั่นใจให้กับคนที่ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรม Thailand Talks ว่าถึงจะเห็นต่าง แต่เราก็คุยกันได้

สันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์ ผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก และผู้เขียนหนังสือ The Great Remake สู่โลกใหม่ และ Futuration เปลี่ยนปัจจุบันทันอนาคต เล่าถึงหลักการ 4E ที่ใช้ในการออกแบบเครื่องมือ เกมทายใจ คนละ Gen จึงเห็นต่าง ที่เป็นข้อเสนอจากโครงการอบรม Rule of Law and Development Program (RoLD) โดย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ Thailand Institute of Justice (TIJ) ที่เป็นทางออกหนึ่งให้กับความขัดแย้งที่มองเห็นในปัจจุบัน 

จากโจทย์ที่กลุ่มได้เรื่องความขัดแย้ง ทำให้ได้ทำความเข้าใจ วิเคราะห์ความขัดแย้ง จนนำมาสู่ข้อคิด 3 ข้อ คือ 

1) ความขัดแย้งระหว่างรุ่นมีอยู่จริง แต่ความขัดแย้งระหว่างรุ่นไม่ได้จำกัดอยู่เพียงด้านการเมือง แต่อาจรวมถึงวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ เทคโนโลยี ขณะเดียวกันความขัดแย้งทางการเมืองก็ไม่ได้ถูกจำกัดเพียงแค่อายุที่ต่างกัน 

2) ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเปรียบเหมือนเกาะที่มีจำนวนมาก การจะทำให้เกิดความเข้าใจและคุยกันได้ อาจเริ่มจากคนที่อยากเข้าใจ อยากจะคุย หรือต้องคุย เหมือนเป็นการสร้างสะพานเชื่อมเกาะที่อยู่ใกล้ ๆ กันก่อน 

3) ความแตกต่างไม่ใช่ปัญหา และความต่างไม่เท่ากับความขัดแย้ง นอกจากนี้ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องหาจุดร่วมในประเด็นที่เห็นต่าง แต่จำเป็นต้องมีข้อสรุปในการเดินหน้าต่อไปด้วยกัน 

4) การทำความเข้าใจของคนระหว่างรุ่น (Inter-Generational Literacy: IGL) เป็นเรื่องจำเป็น ผ่านหลัก 4E ได้แก่ Empathy (การสื่อสารอยู่บนฐานของความเข้าอกเข้าใจ), Equality (การตอบรับเรื่อราวอยู่บนฐานของความเท่าเทียม), Express (เปิดใจกับการแสดงออกและวิธีสื่อสาร) และ Eco System (เชื่อในการเปลี่ยนแปลงระบบมากกว่าตัวบุคคล)

จาก 4E สู่เกมทายใจ คนละ Gen จึงเห็นต่าง

จากการทำความเข้าใจ วิเคราะห์ความขัดแย้ง ทำให้พบว่าทั้ง 4E เป็นสิ่งที่พบว่าเป็นความแตกต่างใหญ่ ๆ ระหว่างคนแต่ละรุ่น

Empathy การสื่อสารอยู่บนฐานของความเข้าอกเข้าใจ

คนแต่ละรุ่นเกิดและเติบโตมาในโลกที่แตกต่างกัน เราอาจเห็นได้ว่าคนแต่ละรุ่นเกิดมาแล้วมีประสบการณ์เกี่ยวกับเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สถานการณ์ทางการเมือง ที่แตกต่างกัน และมีความเฉพาะตามแต่ละพื้นที่ เมื่อเราทำความเข้าใจบริบทและการเติบโตของคนที่เกิดมาคนละรุ่นแล้ว ทำให้เห็นว่า เราเกิดมาเกือบจะเหมือนโลกคนละใบ ทำให้ไม่แปลกหากเราจะคิดต่างกันบ้างในหลาย ๆ เรื่อง เหมือนกับเราไปคุยกับคนต่างชาติ ต่างวัฒนธรรมแล้วเขามีมุมมองไม่เหมือนกับเรา เพราะเราเกิดมาในคนละโลก คนละสังคมกัน และนี่คือ Empathy-ความเข้าอกเข้าใจ ที่ทำให้เข้าใจว่าเราไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน และความต่างไม่ใช่เรื่องแปลก

Equality การตอบรับเรื่องราวบนฐานของความเท่าเทียม

สิ่งที่พบอีกอย่างคือแต่ละรุ่นต่างก็อยากให้มีความเท่าเทียมในระดับหนึ่ง แต่ความหมายของความเท่าเทียมในแต่ละรุ่นก็ไม่เหมือนกัน มุมหนึ่งอาจมองความเท่าเทียม ในมุมของการเป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกัน (equal partner) ที่สามารถแลกเปลี่ยน คุยกันได้โดยไม่ถูกจำกัดด้วยอายุ ประสบการณ์ หรือตำแหน่ง ในอีกทางหนึ่งอาจมีมุมมองว่าการเป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียม เป็นการไปลัดคิวคนที่มีประสบการณ์มาก่อนและไม่แฟร์กับคนที่ต่อคิวอยู่ก่อน นอกจากนี้ อาจรวมถึงมุมมองความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับประชาชน ที่มุมหนึ่งมองว่าเป็นความสัมพันธ์แบบลูกค้า-ผู้ให้บริการ ขณะที่อีกมุมมองว่า ประชาชนมีหน้าที่ต้องลุกขึ้นมาช่วยกันทำด้วย

Express เปิดใจกับการแสดงออกและวิธีการสื่อสาร

รูปแบบของการแสดงออก ก็มีความสำคัญ เพราะตอนนี้ขณะที่มุมหนึ่งไม่อยากรับฟัง อีกมุมหนึ่งยิ่งต้องตะโกนให้ดังขึ้น ทำให้เกิดคำถามว่ามีทางอื่นที่จะทำให้เสียงของคนได้รับการฟัง ได้รับการตอบสนอง โดยที่ไม่ต้องตะโกนเรียกร้องไหม เพื่อให้เราหลุดจากรูปแบบการแสดงออกที่ฝ่ายหนึ่งใช้ถ้อยคำรุนแรงและอีกฝ่ายไม่อยากที่จะรับฟัง

Eco System เชื่อมั่นในความเปลี่ยนแปลงระบบมากกว่าบุคคล

อีกสาเหตุสำคัญ คือ มุมมองที่มองรากเหง้าของปัญหา ที่มุมหนึ่งมองเป็นเรื่องตัวบุคคล และอีกมุมมองว่าระบบ โครงสร้างที่มีอยู่นั้นปิดกั้นอยู่ แม้ว่าตัวบุคคลจะพยายามแค่ไหนก็ตาม สอดคล้องกับการทำความเข้าใจว่าเราต่างเติบโตมาในโลกที่ต่างกัน และมีประสบการที่ต่างกัน

จาก 4E นำมาสู่การออกแบบเครื่องมือ เกมทายใจ คนละ Gen จึงเห็นต่าง ที่นำการแสดงออกเพื่อเรียกร้องประเด็นทางสังคมมาเป็นหัวข้อ และออกแบบตัวเลือกโดยใช้หลัก 4E ให้เราได้เลือกคำตอบของเรา และทายใจคนอีกรุ่นที่เราอยากสื่อสาร พร้อมกับแสดงคำตอบที่ปรับตามข้อมูลของคนที่เข้ามาเล่นเกม นี้ทำให้เราได้รู้จักตัวเอง รู้จักคนในรุ่นเรา รู้จักคนรุ่นอื่น และรู้จักอคติที่เรามี

Thailand Talks โอกาสจากมุมมองนักเศรษฐศาสตร์

“สำหรับผม ความขัดแย้งคือการทะเลาะกันจนถึงขั้นว่าคุยกันไม่ได้แล้ว แล้วก้าวไปข้างหน้าด้วยกันไม่ได้ จนถึงขั้นต้องหลบ เลี่ยงเรื่องต่าง ๆ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องคุยกัน แล้วเสียผลประโยชน์ส่วนรวม”

ความขัดแย้งทำให้เกิดการเสียโอกาส เสียประโยชน์ หรือเสียในสิ่งที่ไม่ควรจะเสีย การมีพื้นที่อย่าง Thailand Talks อาจจะมีทั้งส่วนที่ประสบความสำเร็จ และส่วนที่ยังพัฒนาต่อได้ จากมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์และนักการเงิน คือ ต้องลดความเสี่ยงของการที่ให้คนเห็นต่างสุดขั้วมาคุยกัน Thailand Talks ก็จะเป็นพื้นที่ที่ให้คนเห็นต่างได้มาทะเลาะกันตรงนี้แบบไม่เป็นอันตราย ขณะที่ประโยชน์ที่จะเกิด คือ การให้คนที่เห็นต่างกันแบบกลาง ๆ ได้มาเจออะไรที่แตกต่างจากเดิม และเป็นพื้นที่ให้ได้คุย ได้เห็น ได้เรียนรู้ถึงความแตกต่างและหลากหลายบนโลก 

“ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสังคมมันมีความแตกต่าง…ใช้กล้ามเนื้อความแตกต่างให้แข็งแกร่งมันยิ่งมีประโยชน์”

การได้คุยกับคนที่แตกต่างและทำในสิ่งที่ไม่คุ้นเคย เป็นการเรียนรู้และพัฒนาทักษะ Growth Mindset เปิดกว้าง พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง เรียนรู้อย่างเปิดใจ และยอมรับในความต่าง เป็นการใช้กล้ามเนื้อความแตกต่างให้มีประโยชน์ในการสร้างสรรค์นวัตกรรม รวมถึงการมีข้อสรุปว่าจะเดินไปข้างหน้าต่อด้วยกันอย่างไร 

ความกลัว ความกังวลที่เกิดเมื่อต้องออกจากพื้นที่ปลอดภัยเป็นเรื่องปกติเหมือนกับการเจ็บกล้ามเนื้อเพื่อสร้างกล้ามเนื้อ ดังนั้น ความกลัว ความกังวล และผลลัพธ์ที่เกิดจะเป็นการพัฒนา เรียนรู้และเติบโต นอกจากนี้ การพูดคุยกับคนที่ไม่เหมือนกันยังเป็นพื้นที่ให้เราได้รู้จักตัวเองมากขึ้น เพราะการคุยกับคนที่เห็นต่าง มันจะเป็นกระจกสะท้อนบางด้านของตัวเราที่ไม่เห็น และไม่ว่าการพูดคุยจะออกมาอย่างไร วันหนึ่งมันจะกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่มีค่ากับตัวเรา สุดท้ายแล้วการคุยกับคนที่เห็นต่างอาจจะไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ตราบใดที่เรายังมองกันและกันเป็นเพื่อนมนุษย์ มองว่าความต่างเป็นเรื่องธรรมดา และคุยเพื่อให้เข้าใจกันและก้าวไปด้วยกันได้

การอบรม คุยอย่างไรเมื่อเห็นต่าง ครั้งต่อไป กำหนดจัดในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 เวลา 19.00 น.

สมัครเข้าร่วมโครงการ Thailand Talks ทาง www.thailandtalks.org/registration และรับลิงก์สำหรับการเข้าอบรมทางอีเมล


เข้าร่วมโครงการ Thailand Talks
ผ่านการตอบคำถาม
ให้ระบบจับคู่คุณกับคนเห็นต่าง
จากนั้นนัดแนะและพุดคุยกัน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active