เวลายังอยู่ข้างเรา?

กรองกาญจน์ การเนตร | ผู้เข้าร่วมโครงการ Thailand Talks 2021

ตั้งแต่เด็ก เธอเป็นคนชอบเรียน จะบอกแบบนี้ก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน เธอบอกว่าที่ชอบเรียน เพราะอาจจะไม่รู้ว่ามีอะไรอื่นอีก เพราะชีวิตวัยเด็กที่ต่างจังหวัดไม่ได้กว้างใหญ่นัก ไม่ได้มีอะไรให้ทำมากมาย โลกใบเล็ก ๆ ของเธอคือการตื่นเช้าเดินทางไปโรงเรียนในตัวจังหวัด

นอกจากเรื่องเรียน ก็มีดูการ์ตูน อ่านมังงะตามประสา แต่ไม่ใช่ความสนใจหลักของเธอ เธอรู้ว่ามีหน้าที่เรียน ก็ตั้งเป้าหมายไว้แบบนั้น แล้วก็ทำไปตามนั้น ไม่ได้มีความต้องการจะทำอะไรอย่างอื่น ความเครียดจากการเรียนนั้นไม่หนักหนา แม้ว่าเธอจะเกิดมาในครอบครัวครู เพราะไม่มีใครกดดัน หรือคาดหวังอะไร

โตขึ้นมาอีกหน่อยเธอเดินทางไกลขึ้นจากการทำกิจกรรมในโรงเรียนไปแข่งโครงงานต่างจังหวัด จากนั้นก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ กับกลุ่มเพื่อน ๆ เพื่อเรียนพิเศษเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย ชีวิตราบเรียบและไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นนัก เธอสรุป

เวลา

ในมหาวิทยาลัยเธอเลือกเรียนวิทยาศาสตร์ แต่ใจของเธออยู่ที่อื่น ทุกปิดเทอมเธอเป็นอาสาสมัครในค่ายอาสาพัฒนา เพราะอยากเรียนรู้และเดินทางไปที่อื่น ๆ บ้าง 4 ปีที่เป็นชาวค่าย เธอไปสร้างอาคารต่าง ๆ ให้ชาวบ้าน การทำงานที่มีเป้าหมายคือทำงานเพื่อคนอื่น ในขณะเดียวกันเธอได้เรียนรู้เพื่อตัวเองด้วย กาญจน์ชอบกระบวนการทำงานร่วมกันของชาวค่าย คือ การเตรียมงาน การตั้งคำถาม ถกเถียงกันเพื่อหาคำตอบ ค่ายอาสาฯ สอนให้เธอมีวิธีคิดเป็นขั้นตอน ทำให้เธอตั้งคำถามกับคุณค่าในสิ่งที่เธอทำด้วยเหมือนกัน

เธอเล่าต่อว่าได้เรียนรู้หลายอย่าง ที่สำคัญที่สุด คือ หลายอย่างที่เรียนรู้มามันไม่จริง เธอเริ่มสงสัยว่าชนบทยังต้องการค่ายอาสาฯ ช่วยพัฒนาชุมชนด้วยการก่อสร้างอาคารอยู่ไหม ถึงแม้ว่าจะมีประชุมงานกันว่าชาวบ้านต้องการอะไร เช่น อาคารอเนกประสงค์ ห้องสมุด ห้องน้ำ ที่ทุกค่ายต้องมีสิ่งก่อสร้างเป็นเป้าหมาย และเป็นสัญลักษณ์การทำงาน แต่ที่มันย้อนแย้งคือบางครั้งเธอรู้สึกว่าสิ่งก่อสร้างเหล่านั้นกลับกลายเป็นภาระให้กับชุมชนมากกว่าประโยชน์ในการใช้งาน ถึงแม้ว่าก่อนไปทำค่ายในโรงเรียน ได้มีการประสานงานไปทางอำเภอ หรือผู้บริหารโรงเรียน ซึ่งบางทีมันเป็นวัฒนธรรมแบบ Top Down ซึ่งทำให้ชุมชนมีสถานะเป็นผู้รับมากกว่าเป็นผู้ร่วมพัฒนา และค่ายอาสาฯ ก็ทำหน้าที่ไปผลิตซ้ำความคิดนี้ ซึ่งมันทำให้เราเรียนรู้ในภายหลังว่าบางทีมันไม่เวิร์ก คือ วิธีการแบบนี้มันทับถมซุกซ่อนปัญหา มากกว่าช่วยกันหาวิธีแก้ไขปัญหา

อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาของชีวิตชาวค่ายอาสาฯ คือเบ้าหลอมสำคัญที่ทำให้ความสนใจการพัฒนาสังคมกลายเป็นความสนใจที่ต่อเนื่อง เพราะหลังเรียนจบปริญญาตรี สาขาวิทยาศาสตร์เคมี เธอเลือกที่จะเรียนต่อปริญญาโท สาขาพัฒนามนุษย์และสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปัจจุบัน กรองกาญจน์เป็นผู้ช่วยนักวิจัยส่วนศึกษาสันติภาพ และโดยส่วนตัวเธอสนใจประเด็นเกี่ยวกับเยาวชน การใช้อินเทอร์เน็ต และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพในโลกออนไลน์

เราได้พูดคุยกับผู้ช่วยนักวิจัยที่มีรูปลักษณ์ผิดแผกไปจากนักวิชาการในจินตนาการพอควร ในห้องประชุมชั้นบนอาคารที่โอ่โถงราววิหารอันทรงเกียรติถูกจัดเป็นสี่ด้านหันหน้าเข้าหากัน ด้านหนึ่งของผนังมีคำศัพท์ต่าง ๆ ติดอยู่บนนั้น น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของคำนิยามสำคัญใน field ที่เธอทำงานอยู่

เวลา

อะไรที่ทำให้คุณสนใจ Thailand Talks และอยากคุยเรื่องอะไร

กรองกาญจน์ : เราชอบชุดคำถามของ Thailand Talks เราคิดว่ามันเป็นคำถามปลายเปิดที่ชวน dialogue สำหรับคนที่เปิดใจอยากเข้ามาคุยกับคนเห็นต่าง จุดสำคัญคือการได้ทำความรู้จักความคิดคนเห็นต่าง มันเป็นสะพานและสภาพแวดล้อมที่น่าสนใจ ประกอบกับช่วงที่จัดงานมีความขัดแย้งทางการเมืองค่อนข้างสูง คุกรุ่น มีม็อบถี่มาก ทุกเดือน เดือนละหลายครั้ง เราอยากคุยเรื่องที่นำไปสู่การคุยเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง

คุณกับคนใกล้ชิดที่มีความคิดเห็นต่างกันทางการเมืองไหม

กรองกาญจน์ : ก็คุยนะ คุยกับแม่ มีครั้งหนึ่งดูข่าวด้วยกัน แล้วเขาก็พูดเรื่องเกี่ยวกับเนื้อหาข่าวขึ้นมา เราก็ชวนคุย ว่าอะไรทำให้เขาคิดแบบนั้น ตอนจบน่าสนใจคือเขาบอกว่าพวกเขาโตมาด้วยข้อมูลแบบนี้ รับข่าวจากทีวีอย่างเดียว เราเลยรู้ว่าทำไมแม่ถึงคิดแบบนี้ หลังจากนั้นเราพยายามถอยอารมณ์ลงมา เพราะรู้สึกว่าทางบ้านเปิดใจยอมรับฟังเรา ถอดอคติของเขาออกมาแล้ว เราก็เลยรู้สึกว่าเราก็ต้องถอยออกมาเหมือนกัน จากนั้นพยายามเรียนรู้ที่จะเรียนรู้ลึกลงไปอีกว่าอะไรคือรากของความคิดความเชื่อที่เรามี

มีวิธีคุยกับคนต่างเจเนอเรชันยังไง

กรองกาญจน์ : เราไม่แน่ใจว่ามันเกี่ยวหรือเปล่า อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่ง แต่ก็ไม่แน่ใจ (หัวเราะ) เราพยายามแทรกแซงการรับสื่อของเขานิดหน่อย เขาเริ่มดูยูทูบ เราก็ไป subscribe ช่องข่าวที่เสนอข่าวค่อนข้างกว้าง กระจายความสนใจออกไป ไม่ใช่สื่อประเภทที่เทไปทางใดทางหนึ่ง

แล้วกับเพื่อน หรือเพื่อนที่ทำงานล่ะ

กรองกาญจน์ : ในรุ่นเดียวกันก็ใช้อารมณ์มากกว่า แสดงออกเต็มที่ ให้เหตุผลแลกกัน แต่ยังไงเราก็ยังคุยกันต่อได้เพราะเราตั้งเป้าว่าเราจะคุยกันให้ได้ เรียนรู้ระหว่างกันให้ได้

เพื่อนที่ทำงานปัจจุบันถึงแม้ว่าอายุจะต่างกันมาก แต่ส่วนใหญ่เปิดกว้างทางความคิด ทันสมัย ทำให้ไม่มี generation gap

คนเห็นต่างคุยกันได้ไหม

กรองกาญจน์ : คนเห็นต่างน่าจะคุยกันได้ (หัวเราะ) ได้ทุกเรื่องไหม ไม่แน่ใจ

เราคิดว่าการคุยควรจะมีเป้าหมาย เช่น เราจะคุยกันได้ เราจะรักษาบทสนทนาให้ตลอดรอดฝั่ง เป็นกระบวนการ dialogue แลกเปลี่ยนทางความคิด ที่น่าจะทำให้คุยกันได้ ไม่ว่าจะเห็นต่างหรือเห็นเหมือนกัน เราไม่ได้ตั้งธงว่าจะมา debate กัน ที่พยายามหักล้างความเชื่อของอีกฝ่ายลงให้ได้ โดยไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะมาทำความเข้าใจ ถ้ามาแนวนั้นก็อาจจะยากหน่อยสำหรับการคุยระหว่างคนเห็นต่าง

คุณย้อมผมเพราะอะไร เพราะเครียดเรื่องการเมืองหรือเปล่า

กรองกาญจน์ : อืมมมม คิดว่ามันจะช่วยให้เรามีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นหน่อย (หัวเราะ)

ในความขัดแย้งทางการเมือง ในช่วงหลัง ๆ มานี้ คุณตั้งข้อสังเกตไว้ว่ายังไง

กรองกาญจน์ : หลังปี 63 คนที่มีความหวังในการต่อสู้ทางการเมือง ที่เคยฮึกเหิม active คือ ฝ่อ มอด คนที่มีต้นทุนชีวิตก็พร้อมย้ายประเทศ คือ ไปได้ก็ไป ดูเงียบ ไม่มีม็อบ มันหมายถึงการปิดปาก ข่มขู่ ออกดอกผลแล้ว มันทำลายความหวังของคน คนที่ยังสู้ก็ยังมี เชื่อว่ายังต่อสู้อยู่ แม้แต่เราเอง คนที่ไม่อยากเสียเวลาก็มีไม่น้อย เพื่อนไปกันหลายคนแล้ว ดูสิ่งที่เกิดขึ้นรอบ ๆ โลก มนุษย์ไม่ได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับความรุนแรงมากนัก เราไม่แน่ใจว่าเวลาอยู่ข้างเราไหม หรือเวลายิ่งเดินไปประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยความรุนแรงไหม รัสเซีย ยูเครน เมียนมา

คุณอยากย้ายประเทศบ้างไหม

กรองกาญจน์ : เราไม่อยากไป แต่รู้สึกว่าถ้ามีโอกาสก็ไป ไม่จำเป็นต้องอยู่ที่นี่ก็ทำงานได้ เรารู้สึกว่าเราเป็นพลเมืองโลกอยู่ที่ไหนก็ทำงานได้ แต่เราก็ชินชากับโครงสร้างทางสังคมแบบนี้ ก็ได้ คืออยู่ก็อยู่ได้ มีโอกาสก็ไป

คุณคิดว่าประเทศนี้ยังมีความหวังไหม

กรองกาญจน์ : ตอบแบบออกสื่อก็ยังมีความหวัง (หัวเราะ)

ถ้าตอบจริง ๆ ก็ 50/50 นะ มันก็คงเป็นแบบนี้แหละ บีบจนทนไม่ไหมไหว จนคนออกมาประท้วง ผู้มีอำนาจก็จะขู่ แล้วก็ปราบ เป็นแบบนี้วนไปเรื่อย ๆ

เวลายังอยู่ข้างเรา

Thailand Talks พื้นที่ทดลองพูดคุยกับ “คนแปลกหน้า”
สมัครร่วมโครงการ ผ่านการตอบคำถาม 7 ข้อ
14 ส.ค. – 14 ก.ย. 2565

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศุภชัย เกศการุณกุล

เป็นช่างภาพพอร์ทเทรต เขียนความเรียงและสัมภาษณ์เพื่อเล่าเรื่องที่ภาพถ่ายทําไม่ได้ และต่อมาทําสารคดีภาพเคลื่อนไหว เพราะอยากได้ยินน้ําเสียงของผู้คน