พลิกโฉมประเทศไทย ภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13

กำหนดทิศทางประเทศ
จากฐานคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก

หลากหลายความท้าทายของประเทศไทยในปัจจุบัน ทั้งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัล ความร่วมมือในการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับนานาชาติ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเป็นสังคมสูงวัย ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน โรคอุบัติใหม่และภัยโรคระบาด

ทั้งหมดนี้คือปัจจัยสำคัญ ที่ถูกนำมาพิจารณาเพื่อวางทิศทางการพัฒนาประเทศอย่างมีหลักการ ภายใต้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 หรือที่หลายคนเรียกสั้นๆ ว่า แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ซึ่งจะถูกใช้เป็นทิศทางการพัฒนาประเทศ ในระหว่างปี พ.ศ.2566-2570 เป็นแผนพัฒนาฉบับแรกที่ยกร่างกรอบแผนภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ล่าสุด  เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการ ประกาศเรื่อง แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566 – 2570) เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา The Active ชวนศึกษารายละเอียดว่า แผนพัฒนาประเทศฉบับใหม่ จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทิศทางใดบ้าง ผ่านมุมมองของ ‘ธัชไท กีรติพงศ์ไพบูลย์’ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ และ ‘วันฉัตร สุวรรณกิตติ’ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์

“แผนไม่ใช่กฎหมาย แต่แผนเป็นตัวนำทางประเทศในการเดินหน้าพัฒนาในอีก 5 ปีข้างหน้า แผนจะมีกลไกบางอย่างที่ทำร่วมกับระบบงบประมาณของประเทศ ตัวระบบงบประมาณนี้จะพิจารณาสารัตถะของแผนด้วย การที่หน่วยงานต่าง ๆ จะเขียนโครงการอะไรก็จะต้องสอดรับกับข้อกำหนดที่อยู่ในแผนด้วย งาน เงิน คน ต้องไปด้วยกัน เพราะฉะนั้นแผนจึงต้องบูรณาการทั้งสามเรื่องนี้”

ธัชไท กีรติพงศ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์)
วันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ซ้าย) และ ธัชไท กีรติพงศ์ไพบูลย์’ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ (ขวา) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์

4 กลยุทธ์ เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 จัดทำขึ้นด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การฟื้นฟูประเทศ โมเดลเศรษฐกิจ BCG และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เพื่อสร้างโอกาสและลดความเสี่ยงจากเทคโนโลยี ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ขจัดข้อจำกัดที่บั่นทอนขีดความสามารถของประเทศ กำหนดเป้าหมาย 4 ด้าน ได้แก่

1.ปรับโครงสร้างสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม มีตัวชี้วัดให้รายได้ประชาชาติต่อหัวเพิ่มขึ้น เป็นไม่ต่ำกว่า 9,300 เหรียญสหรับต่อปี หรือ 300,000 บาท โดยปี พ.ศ.2564 รายได้ประชาชาติต่อหัวเท่ากับ 7,097 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 227,000 บาท

“เรามองว่าถ้าจบปี 2570 ประเทศไทยต้องก้าวไปอีกจุดหนึ่งแล้ว รายได้ต่อหัวของประชากรต้องเพิ่มขึ้นอย่างน้อยที่สุดคือครึ่งทางของยุทธศาสตร์ชาติแล้ว ส่วนในเรื่องของการพัฒนาคน เรามีดัชนีชี้วัดว่าต้องไปให้ถึงครึ่งทางของยุทธศาสตร์ชาติเหมือนกัน เพราะระยะการใช้แผนฯ ฉบับนี้เท่ากับครึ่ง 10 ปีแรก ของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ดังนั้นเราจึงต้องการผลักดันให้ประเทศไปสู่การเป็นประเทศรายได้สูงได้ส่วนหนึ่ง อีกส่วนคือมาตรฐานคุณภาพชีวิตคนต้องตอบโจทย์ด้วยเหมือนกัน”

ธัชไท กีรติพงศ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์)

2. พัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่ ใช้มีดัชนีความก้าวหน้าของคน (HAI) อยู่ในระดับสูง เท่ากับ 0.7209 โดยในปี พ.ศ.2563 อยู่ที่0.6501

“เราใช้คำว่าการพัฒนาคนในศตวรรษที่ 21 ได้มีการระบุว่าเราอาจต้องมีหลักสูตรใหม่ๆ ในการเสริมเติมแต่ง เช่น วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ พยายามทำให้การเรียนรู้เปิดกว้างไม่ตีกรอบ สามารถปรับให้เข้ากับการศึกษาของทั่วโลกได้ จับเทรนด์ที่เกิดขึ้น แนวโน้มความต้องการในตลาดอนาคตได้ ให้เด็กไทยเรียนรู้ได้เท่าทันกับเด็กต่างประเทศ เป็น Global Citizen หรือประชากรคนหนึ่งในโลกที่มีคุณภาพ”

ธัชไท กีรติพงศ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์)

3. มุ่งสู่สังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม ความแตกต่างของความเป็นอยู่ระหว่างกลุ่มประชากร กลุ่มที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงสุดร้อยละ 10 และต่ำสุดร้อยละ 40 เท่ากับว่ามีค่าต่ำกว่า 5 เท่า (ค่าความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้น) โดยในปี พ.ศ.2562 มีค่าเท่ากับ 5.66 เท่า

4. เปลี่ยนผ่านการผลิตและการบริโภคไปสู่ความยั่งยืน โดยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง ไม่น้อยกว่า 20% เมื่อเทียบกับปริมาณปกติที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยปี พ.ศ.2561 มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานลดลง 16%

“ด้านเศรษฐกิจ ต้องการให้เกิดเศรษฐกิจมูลค่าสูง ด้านสังคม ต้องการพัฒนาสังคมที่มีการพัฒนาครบมิติ ด้านสิ่งแวดล้อม ต้องการให้เกิดการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม และด้านปัจจัยสนับสนุนต่าง ๆ ในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน ถูกบูรณาการไปในทุกหมุดหมาย และการพัฒนาทุกด้าน ซึ่งตั้งเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ( Sustainable Development Goals -SDGs) ครอบคลุมทั้ง 17 เป้าหมาย ตั้งแต่ในตอนต้นของแผนฯ เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งในแง่ที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประชาคมโลก และต้องปฏิบัติตามที่รัฐบาลไทยได้ลงนามในกรอบความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน วาระปี พ.ศ. 2565-2569 (UNSDCF) กับสหประชาชาติประจำประเทศไทย”

ธัชไท กีรติพงศ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์)

13 หมุดหมาย สู่การพลิกโฉมประเทศไทย

เพื่อถ่ายทอดเป้าหมายหลักไปสู่การขับเคลื่อนที่ชัดเจนในลักษณะของวาระการพัฒนาประเทศ แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 จึงกำหนด หมุดหมายการพัฒนาจำนวน 13 ประการ ในลักษณะเชิงบูรณาการ สามารถนำไปสู่การพัฒนาพัฒนาทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน ทำให้หมุดหมายแต่ละประการสามารถสนับสนุนเป้าหมายได้ครอบคลุม โดยแบ่งออกเป็น 4 มิติ ดังนี้

มิติที่ 1 ภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย จำนวน 6 หมุดหมาย ได้แก่

หมุดหมายที่ 1 ประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง เน้นใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่ซึ่งปัจจุบันยังมีไม่มาก สร้างฐานข้อมูลภาคการเกษตรที่มีอยู่เป็นจำนวนมากแต่ยังขาดการเชื่อมโยงกันในเชิงการบริหารจัดการ สร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้าหมายผลิตภัณฑ์มวลรวมสินค้าเกษตรในประเทศเติบโต ร้อยละ 4.5 ต่อปี รายได้สุทธิต่อครัวเรือนเกษตรกร ไม่ต่ำกว่า 537,000 บาทต่อครัวเรือน พื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนเพิ่มขึ้น 10 ล้านไร่

หมุดหมายที่ 2 จุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน ปรับโครงสร้างภาคการผลิตและบริการสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยและชุมชนสามารถเชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่าได้ เช่น พัฒนาการท่องเที่ยวตามแนวคิดโมเดลอารมณ์ดีมีความสุข นำเสนออัตลักษณ์เชิงพื้นที่ กระจายเส้นทางท่องเที่ยวที่หลากหลาย ให้เข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวชุมชน สร้างรายได้จากการอนุรักษ์ระบบนิเวศ รักษาวัฒนธรรมท้องถิ่น พัฒนาระบบข้อมูลการท่องเที่ยวอัจฉริยะ เช่น แอปพลิเคชันที่เป็นแพลตฟอร์มกลางการท่องเที่ยว

หมุดหมายที่ 3 ฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก เพื่อแก้ปัญหามลพิษทางอากาศจากกระบวนการเผาไหม้ของยานพาหนะ และรณรงค์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยตามข้อตกลงปารีส โดยกำหนดวิสัยทัศน์การเป็นฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญของโลกที่มุ่งเน้นการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ทั้งยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ และยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานเซลล์เชื้อเพลิง ตั้งเป้าหมายหมายใช้รถยนต์ไฟฟ้าในปี 2573 จำนวน 440,000 ตัน (ร้อยละ 50 ของยานยนต์ทั้งหมด) และเป้าหมายการผลิตจำนวน 725,000 คัน (ร้อยละ 30 ของยานยนต์ทั้งหมด) รวมถึงการยกระดับขีดความสามารถ ด้านการวิจัยและเทคโนโลยี เช่น ยานยนต์ไร้คนขับ

“มีเป้าหมายว่าประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของโลก การเป็นประเทศผู้นำด้าน EV Car ไม่ได้หมายความว่าไทยจะผลิตเองทั้งหมด แต่อาจจะส่งเสริมให้เกิดการผลิตชิ้นส่วนบางอย่างในประเทศไทย เพื่อนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของ EV Car และอาจจะเป็นประเทศที่สร้างอุปสงค์ของการค้ารถ EV ให้ได้มากขึ้น … แล้วเรื่องนี้เด็กๆ จะมีส่วนร่วมอย่างไร? เด็กอาจจะเป็นส่วนหนึ่งในงานวิจัย เป็นตัวแทนของการพัฒนาประเทศในอนาคต ทำให้ไทยมีศักยภาพในเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น”

ธัชไท กีรติพงศ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์)

หมุดหมายที่ 4 ศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง การใช้นวัตกรรมผลิตสินค้าและจัดบริการทางแพทย์และสุขภาพเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ วางแผนพัฒนาระบบบริหารจัดการภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข มีเป้าหมายให้มูลค่าเพิ่มสินค้าและบริการสุขภาพมวลรวมของประเทศ อยู่ที่ร้อยละ 1.7 มูลค่าการนำเข้าครุภัณฑ์ทางการแพทย์ลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 (20,000 ล้านบาท) สัดส่วนการใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนทั้งหมดไม่เกินร้อยละ 12 ปฏิบัติตามกฎอนามัยระหว่างประเทศไม่น้อยกว่าระดับ 4

หมุดหมายที่ 5 ประตูการค้าการลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค วางยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่เชื่อมโยงของไทย สปป.ลาว และจีนให้ชัดเจนมากขึ้น เพื่อสร้างประโยชน์ทางเส้นทางคมนาคมจากหนองคายและเชียงราย ให้เกิดการลงทุนทางเศรษฐกิจและระบบการค้า พร้อมขยายตลาดและการลงทุนโดยการดึงดูดการลงทุนจากประเทศที่กำลังย้ายฐานการผลิตให้สามารถใช้ EEC และฐานเศรษฐกิจเพื่อเชื่อมโยงอุตสาหกรรม เร่งจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี โดยเฉพาะ CPTPP เพื่อไม่ให้ไทยเสียเปรียบประเทศอื่น ๆ

หมุดหมายที่ 6 ศูนย์กลางอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยและอุตสาหกรรมดิจิทัลของอาเซียน เร่งสร้างความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมอัจฉริยะสำคัญของโลก โดยปรับโครงสร้างการผลิตและบริหารสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม พัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการในอนาคต เป้าหมายสัดส่วนมูลค่าของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเพิ่มขึ้น ร้อยละ 30 ภายในปี 2570 มีฐานข้อมูลดิจิทัลของภาครัฐที่สามารถติดตามงานบริการของภาครัฐได้ภายในปี 2566 งานบริการประชาชนของภาครัฐต้องเป็นดิจิทัลทั้งหมดในปี 2570 มีบริการอิเทอร์เน็ตความเร็วสูงเข้าถึงและพร้อมใช้งานแก่ประชาชนครอบคลุมทุกหมู่บ้าน ชุมชน สถานที่ท่องเที่ยว

มิติที่ 2 โอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม มี 3 หมุดหมาย ได้แก่

หมุดหมายที่ 7 วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูงและสามารถแข่งขันได้ ส่งเสริมและพัฒนา SME ไทยให้เข้มแข็ง มีศักยภาพสูง ผลักดันผู้ประกอบการยุคใหม่ ให้มีความสามารถในการแข่งขัน มีอัตลักษณ์ชัดเจน ใช้ประโยชน์จากดิจิทัลและนวัตกรรมในการบริหารธุรกิจ ส่งเสริมให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ตลาดทั้งในไทยและต่างประเทศ อำนวนความสะดวกด้านคลังข้อมูล ความรู้ ด้วยเป้าหมาย ปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรต่อการดำเนินธุรกิจ และป้องกันการผูกขาดทางการค้า ประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้ว และเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ

หมุดหมายที่ 8 พื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน ปรับโครงสร้างการผลิตสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม สร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นและยกระดับผู้ประกอบการให้เชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่าของภาคการผลิตระดับประเทศ กระจายเศรษฐกิจสู่ระบบฐานราก พัฒนาคนสู่โลกใหม่ เน้นให้มีคุณภาพความต้องการของตลาด ตั้งเป้าหมาย มูลค่าการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มขึ้นโดยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกมูลค่าการลงทุน 500,000 ล้านบาท ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้มูลค่าการลงทุน 100,000 ล้านบาท และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนมูลค่า 10,000 ล้านบาท

หมุดหมายที่ 9 ความยากจนข้ามรุ่นลดลง และคนไทยทุกคนมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม สนับสนุนให้คนกลุ่มเปราะบางและผู้ด้อยโอกาสมีโอกาสในการเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจและสังคมสูงขึ้น สร้างหลักประกันและความคุ้มครองทางสังคมเพื่อให้คนมีความมั่นคงในชีวิต สร้างสังคมที่มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อและสนับสนุนต่อการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต เป้าหมายทุกครัวเรือนที่มีสถานะยากจนข้ามรุ่นในปี 2566 หลุดพื้นความยากจนข้ามรุ่นภายในปี 2570 อัตราการเข้าเรียนของครัวเรือนข้ามรุ่นในระดับมัธยมต้นไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 90 และมัธยมปลายหรือเทียบเท่าไม่ต่ำความร้อยละ 80 สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่าไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50

มิติที่ 3 ความยั่งยืน ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มี 2 หมุดหมาย ได้แก่

หมุดหมายที่ 10 เศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ เสริมสร้างการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นทุกขั้นตอนการผลิตและการบริโภค สร้างมูลค่าและรายได้จากเศรษฐกิจหมุนเวียนเพิ่มขึ้น ตั้งเป้าหมาย มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 ดัชนีการหมุนเวียนสำหรับผลิตภัณฑ์เป้าหมาย เช่น พลาสติก วัสดุก่อสร้าง เกษตรและอาหารเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ฟื้นฟูธรรมชาติและใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ต้องมีพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น โดยเป็นป่าไม้ธรรมชาติ ร้อยละ 33 ป่าเศรษฐกิจร้อยละ 12 ใช้พลังงานทดแทนไม่น้อยกว่าร้อยละ 24 นำขยะกลับมาใช้ใหม่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ขยะต่อหัวประชากรลดลงร้อยละ 10

หมุดหมายที่ 11 สามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สร้างขีดความสามารถในการรับมือและปรับตัวต่อเพื่อลดความสูญเสียและเสียหายจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สนับสนุนการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ สร้างความร่วมมือในการจัดการภัยพิบัติ เช่น การจัดอบรมการจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ การจัดการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเป็นระบบ กำหนดการใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นพื้นที่รองรับน้ำ การพัฒนาแนวคิดสถาปัตยกรรมให้สอดรับกับภูมิอากาศ

“เช่น เรื่องเกษตรมูลค่าสูง แต่ก่อนถ้าเป็นแผนฯ อื่น ๆ เราอาจจะพูดว่าเกษตรต้องพัฒนาให้ได้ดีให้เกิดความยั่งยืน แต่ตอนนี้หลังโควิด-19 เราต้องเจาะจงแล้วว่าเราต้องมุ่งไปที่เรื่องเกษตรมูลค่าสูง ใช้เทคโนโลยี ใช้นวัตกรรมเข้ามาเสริมเข้าไปในตัวของเกษตรกรรมให้ได้มากขึ้น ให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิตผลผลิตให้มากยิ่งขึ้น หรือเรื่องของการท่องเที่ยว เราพยายามละการเน้นจำนวนการท่องเที่ยวแล้ว กลายเป็นการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ และเกิดมูลค่ามากกว่า เป็นสิ่งที่เราพยายามจำทำให้เกิดขึ้น”

ธัชไท กีรติพงศ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์)

มิติที่ 4 ปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ มี 2 หมุดหมาย ได้แก่

หมุดหมายที่ 12 กำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต ให้คนไทยได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพในทุกช่วงวัย มีสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับโลกยุคใหม่ ตามบรรทัดฐานของสังคม มีภูมิคุ้มกันต่อความเปลี่ยนแปลง และดำรงชีวิตอย่างมีความสุข ตัวชี้วัด ดัชนีพัฒนาการเด็กสมวัยเพิ่มขึ้นร้อยละ 88 ทุนชีวิตเด็กและเยาวชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 4 ต่อปี ผู้สูงอายุยากจนลดลงร้อยละ 29 ต่อจำนวนผู้สูงอายุยากจนต่อปี

หมุดหมายที่ 13 ภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน เร่งพัฒนาและปรับตัวเพื่อลดช่องว่างของการปฏิบัติงาน พัฒนาระบบบริการที่ตอบโจทย์ สะดวก ประหยัด ปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการและโครงสร้างให้ยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนเป็นรัฐบาลดิจิทัลที่ใช้ข้อมูลในการบริหารจัดการประเทศ และพัฒนาบุคลากรให้เหมาะสมกับความต้องการของโลก เป้าหมายสร้างความพึงพอใจในคุณภาพการให้บริการของภาครัฐไม่น้อยกว่าร้อยละ 90

“ด้านการศึกษา เรามีการระบุคำว่า การศึกษาทุกช่วงวัย พยายามที่จะทำให้เกิดการศึกษาที่มุ่งเน้นตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐาน ความพยายาม re-skill up-skill ให้มากขึ้น ดังนั้นการศึกษาเฉพาะในโรงเรียนอาจจะไม่เพียงพอ เราจะมีการใส่องค์ประกอบการเรียนรู้ของสังคมให้มากขึ้น และขยายไปอีกว่าอาจจะไม่ใช่แค่ช่วงเด็กและเยาวชน อาจจะรวมถึงช่วยวัยอื่นๆ ให้สามารถเรียนรู้ได้ตลอดทุกช่วงวัย”

ธัชไท กีรติพงศ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์)

สานภาคีการพัฒนา พัฒนาประเทศอย่างมีส่วนร่วม

3 ภาคส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 คือ ภาครัฐ ภาคการพัฒนา (เอกชน สถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม ประชาคมระหว่างประเทศ) และพลเมืองไทย

บทบาทภาครัฐ กับ 3 กลไกการขับเคลื่อน ได้แก่ 1. กลไกเชิงยุทธศาสตร์ จัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนฯ 13 เพื่อบูรณาการขับเคลื่อนโดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคส่วนต่าง ๆ 2. กลไกเชิงภารกิจ มุ่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติผ่านการนำแผนฯ ไปสู่การปฏิบัติ 3. กลไกระดับพื้นที่ เชื่อมโยงการพัฒนาจากชุมชนสู่ประเทศและจากประเทศสู่ชุมชน ผ่านการเชื่อมโยงกันแผนในระดับพื้นที่ ท้องถิ่น

บทบาทภาคีการพัฒนา ในส่วนของภาคเอกชน ส่งเสริมให้ร่วมลงทุนในภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย สนับสนุนเงินทุน องค์ความรู้ และถ่ายทอดเทคโนโลยี ส่วนของสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย ส่งเสริมให้มีการผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการ มีการศึกษาและวิจัยเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนา ภาคประชาสังคม มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เสริมสร้างเครือข่ายขับเคลื่อนการพัฒนาในระดับพื้นที่ และประชาคมระหว่างประเทศ ส่งเสริมความร่วมมือทางเทคนิควิชาการ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างประเทศ

“อย่างแนวคิดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนในมิติของการศึกษา อย่างแรกคือสร้างให้เด็กมีคุณภาพ สองสร้างให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างเพศ ทั้งชายหญิง ทุกคนต้องมีสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาเท่า ๆ กัน ซึ่งประเทศไทยทำได้ดีอยู่แล้วในส่วนนี้ แต่อีกประเด็นเร่งด่วนคือคุณภาพของครู คุณภาพการเรียนการสอน ระบบการศึกษา เราพยายามที่จะปรับปรุง เพื่อเปลี่ยนให้ทันต่อพลวัตรของโลกมากขึ้น พยายามระบุว่า การศึกษาในห้องเรียนก็ได้ระดับหนึ่ง แต่การศึกษานอกห้องเรียนที่จะมาเติมเต็ม ก็ต้องสร้างหลักคิดให้นักเรียนรู้ว่า เรามีภารกิจหน้าที่อะไร เพื่อที่จะทำให้เกิดการพัฒนาของประเทศที่ยั่งยืนได้ ตัวอย่างเช่น โรงเรียนกับรัฐร่วมพัฒนา พยายามใส่ภารกิจให้เด็ก ๆ รู้จักหาเงินเลีย้งครอบครัว อย่างน้อยรู้จักปลูกผักเอง ทำอาหารเองในบ้านทุ่นแรงพ่อแม่ นี่ก็พยายามใส่เข้าไปในหลักสูตรการศึกษาด้วยเช่นกัน”

ธัชไท กีรติพงศ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์)

พลเมืองไทยทุกคนสามารถร่วมขับเคลื่อนประเทศได้ เช่น พัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง ปรับพฤติกรรมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผนึกกำลังชุมชน จัดการทรัพยากรร่วมกัน วางแผนทางการเงิน ร่วมแสดงความคิดเห็นกับการดำเนินงานของภาครัฐ

“ตั้งแต่กระบวนการยกร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่ใช้ระยะเวลากว่า 2 ปี เด็กและเยาวชนมีส่วนช่วยด้วย เพราะโดยกระบวนการในการร่างแผนฉบับนี้ ได้สร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน มีการลงพื้นที่ใน 16 กลุ่มจังหวัด รวมถึงการเปิดกระทู้ในออนไลน์ ซึ่งเด็กและเยาวชน ได้รับรู้รับทราบและแสดงความคิดเห็นที่มีต่อร่างฯ ผ่านสภาเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ ความคิดเห็นที่หลากหลายถูกนำมาปรับปรุงร่างแผนฯ เพื่อให้สอดรับกับความคิดเห็นมากที่สุด หลายประเด็นมีความชัดเจนชี้เฉพาะมากกว่าแผนอื่น”

ธัชไท กีรติพงศ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์)

ธัชไท กีรติพงศ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) กล่าวเสริมว่า สภาพัฒน์ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานที่ขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ฉบับนี้ เพื่อพยายามทำให้มีกลไกการประเมินแผนเป็นระยะทุกปี สะท้อนให้หน่วยงานรู้ว่า ได้มีการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพและสอดรับกับแผนพัฒนาฯ ฉบับนี้มากแค่ไหนอย่างไร

เปิดพื้นที่และโอกาส ให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศ

วันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีความก้าวหน้าค่อนข้างเยอะ แต่การที่จะผลักดันให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเกิดขึ้นจริง คือเด็กและเยาวชน เพราะเขาจะเป็นพลัง กลไกสำคัญคือการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการขับเคลื่อนประเทศ เด็กและเยาวชนจึงเป็นส่วนสำคัญมากที่จะเปลี่ยนประเทศไทยให้ไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง

โดยที่ผ่านมา สภาพัฒน์พยายามสร้างแพลตฟอร์มให้เกิดความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ ในการหนุนเสริมการทำงานของเด็กและเยาวชน จึงขอความอนุเคราะห์จากภาคเอกชนที่มีศักยภาพสูงให้เขามาสร้างแพลตฟอร์มที่เด็กๆ สามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาได้ จะเห็นว่ามีหลายบริษัทที่ดึงเอาเด็กและเยาวชนมาร่วมงานด้วย ทั้งในด้านของการพัฒนาสังคมและความสิ่งแวดล้อม

ด้วยจุดประสงค์ต้องการให้เด็กและเยาวชนเห็นว่าประเทศไทยมีการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างไรบ้าง และพวกเขาจะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนตรงไหนได้ เราเป็นเพียงแค่ส่วนกลางให้การเชื่อมโยง เราอยากให้เห็นได้แสดงศักยภาพ อยากให้เด็ก ๆ ทุกคนสร้างพื้นที่สื่อสารของตัวเองเลย เดี๋ยวเราจะเอามารวมกันไว้ที่ แฟนเพจเฟซบุ๊ก ดีพอ ที่เราดูแล

“ประเทศไทยมีของดีเยอะมาก เราพยายามช่วยกันสร้างสรรค์ประเทศไทยให้สวยงาม เชิญชวนทุกคนโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ร่วมกับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 17 เป้าหมาย เชื่อว่าประเทศไทยสามารถส่งต่อความยั่งยืนของโลกได้ และทุกคนคือพลัง ร่วมมือกัน มันช่วยได้”

วันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้