สิทธิมนุษยชน คือ สิทธิในความเท่าเทียมกันของมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะมีสัญชาติที่อยู่ ชาติพันธุ์ สีผิว ศาสนา ภาษา หรือสถานะอื่นใด มนุษย์ทุกคนต้องไม่ถูกแบ่งแยกด้วยปัจจัยเหล่านี้
The Active ชวนมอง สันติภาพ ที่ไม่ใช่แค่การหยุดสู้รบ ใช้ความรุนแรงทางกายภาพ แต่คือการหยุดยั้งอคติในสังคมไทย กับ วัชรฤทัย บุญธินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา
การเหยียดในประเทศไทย ความขัดแย้ง มิติของการละเมิด หรืออคติ
การเหยียดสีผิว เชื้อชาติในประเทศไทย อาจจะไม่ได้ปรากฏชัดเจนเหมือนกับในสังคมตะวันตก แต่ว่าก็เป็นเรื่องของการมีอคติ ซึ่งอคติมีได้ในหลายรูปแบบ อคติในสังคมไทยก็เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความต่างอายุ วัฒนธรรม หรือวิถีชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องของชาติพันธ์ุ เรื่องของคนที่ใช้ชีวิตต่างจากเรา อย่างกลุ่มคนไร้บ้าน เราก็มีอคติกับกลุ่มคนพวก หรือว่ากลุ่มแรงงานข้ามชาติ หรือว่าคนเมือง คนชนบทอย่างนี้ เราก็อาจจะไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน แล้วก็มีอคติซึ่งกันและกัน
ในเรื่องของอคติที่เป็นความต่างในวัฒนธรรม หรือว่าเราก็มีอคติที่มาจากอัตลักษณ์ของบุคคล เช่น คนที่มีความหลากหลายทางเพศหรือเรื่องวัยเราก็มีอคติ Ageism ก็เป็น เทรนด์ใหม่ที่มา เนื่องจากสังคมไทย และสังคมโลกมีประชากรที่เป็นผู้สูงวัยมากขึ้น มี Gap ตรงนี้ และผู้สูงอายุก็กลายเป็นคนที่อาจจะถูกเลือกปฏิบัติในบางเรื่อง
“อัตลักษณ์อื่น ๆ ที่มองว่ามันไม่ได้หลอมรวมเข้ากับอัตลักษณ์หลักของสังคมนั้น ๆ สังคมไทยพยายามมีอัตลักษณ์หลักคือความเป็นไทย มันก็ทำให้อัตลักษณ์อื่นอาจจะถูกเบียดไปอยู่ชายขอบ แล้วก็กลายเป็นอคติขึ้นมา”
จุดเริ่มต้นที่นำไปสู่ความรุนแรง
เริ่มจากความต่างในมิติต่าง ๆ ถ้ามันไปในเชิงลบ หมายความว่ามองว่าถูกแยกออกไปถูกกลั่นแกล้ง หรือถูกกระทำรุนแรง เพื่อนอาจจะตีหรือล้อเลียน หรือที่เห็นข่าวถูกทำร้ายร่างกาย ส่วนนึงก็อาจจะมาจากที่ว่า เดิมสังคมไทย มองว่าเรื่องกลั่นแกล้งไม่ได้ถือว่าบลูลี่ มันไม่ได้เป็นเรื่องความรุนแรง
เมื่อก่อนเราก็ไม่ได้คิดอะไร แต่เข้าใจว่ามีความตื่นตัวมากขึ้น และมีความเข้าใจมากขึ้นจากสื่อต่าง ๆในสังคม ที่การบ่มเพาะพฤติกรรมพวกนี้หรือการแสดงออกแบบนี้ มันนำไปสู่ความรุนแรงได้ในระยะต่อไป ถึงแม้ว่ามันอาจจะเป็นความรุนแรงที่เมื่อก่อนหน้านี้เรามองไม่เห็น พอมันมีคำอธิบายแบบนี้ก็ทำให้สังคมหรือคนในสังคมเข้าใจได้มากขึ้น
“ความรุนแรงมันไม่ใช่ต้องลุกขึ้นมาตบตีกันหรือสู้กัน แต่มันแฝงอยู่ในวิถีปฏิบัติที่มันส่งผลกระทบต่อจิตใจ กระทบต่อความรู้สึกถึงความรู้สึกนึกคิด หรือความเชื่อมั่นของตัวเด็กหรือคนในสังคม”
อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งซึ่งคิดว่า สังคมไทยเริ่มจะหนักมากขึ้น ทำให้คนนำมาเป็นประเด็น แล้วก็พยายามที่จะหาทางแก้ปัญหามากขึ้น
เด็กโดน Bully ในโรงเรียน ที่ไม่ได้จบแค่ในโรงเรียน
สถานศึกษาเรียกว่า พื้นที่ที่บ่มเพาะวัฒนธรรมความคิด วิถีปฏิบัติอันหนึ่งที่ค่อนข้างมีอิทธิพล ไม่น้อยไปกว่าครอบครัว ครอบครัวก็เป็นพื้นฐาน เพราะเด็ก ๆ ที่เห็นพฤติกรรมหลาย ๆ อย่างที่อยากจะทำ คราวนี้ขยายเข้ามาในบริบทของโรงเรียน เรียกว่าเป็นระบบมากขึ้น เป็นสถาบันมากขึ้นเพราะว่ามีกฎกติกา ระเบียบ เหล่านี้ก็สร้างเป็นวัฒนธรรมชุดหนึ่ง
“ถ้าถามว่าสถานศึกษามีบทบาทแค่ไหนในการส่งเสริมเชิงลบหรือเชิงบวก มันทำได้ทั้ง 2 อย่าง ในเชิงลบมีวิถีปฏิบัติ ระเบียบปฏิบัติ ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยไหนแล้วก็ทำกันมาแบบเดิม แล้วเราอาจจะไม่เคยตั้งคำถาม อย่างเรื่องของการลงโทษ ทำไมการลงโทษเด็กมีวิธีแบบไหน แล้วมันเป็นเรื่องยากมากที่จะเปลี่ยนการลงโทษโดยไม่ใช้ไม้เรียวเป็นการลงโทษแบบอื่น ถึงแม้ว่ากระทรวงศึกษาธิการออกระเบียบปฏิบัติมาแล้ว ว่าไม่ให้ใช้การลงโทษโดยใช้ความรุนแรง แต่ว่าเวลาเราไปคุยกับครูหรือมีงานวิจัยออกมาหลายชิ้น ตัวเองก็เคยทำงานวิจัย ครูก็จะรู้สึกว่ามันไม่มีทางออก คือไม้เรียวได้ผลที่สุด”
ถ้าเริ่มเราอยากสร้างสถานศึกษาให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย เราต้องได้ผลสำรวจก่อนว่า ปัจจุบันนี้มีระเบียบ กฎ ปฏิบัติหรือวิถีอะไรต่าง ๆ ที่มันยังเป็นความรุนแรงอยู่ ไม่ใช่แค่ความรุนแรงทางกายอย่างเดียว เป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้าง เชิงวัฒนธรรม
ดังนั้นก็ต้องสำรวจเรื่องพวกนี้ อะไรที่เป็นวิถีปฏิบัติ ที่ยังเลือกปฏิบัติอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ทหาร ครูกับนักเรียน พวกนี้ถ้าเราไม่ได้ทำความเข้าใจ เราก็จะมองไม่เห็นมัน หรือถ้าเราไม่รู้ว่าอันนี้มันเป็นเรื่องที่ในคุณค่าสากล หลักการสากล หลักการสิทธิมนุษยชนถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิ ครูก็จะไม่รู้ เด็ก ๆ ก็จะไม่รู้
เพราะฉะนั้นเรื่องของการให้ความรู้ก็เป็นเรื่องอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ เรื่องของสิทธิมนุษยชนหรือว่าหลักการสิทธิมนุษยชน อะไรคือพื้นฐานที่เรื่องของการเคารพสิทธิ์ซึ่งกันและกันมันมีอะไรบ้าง ก็เป็นเรื่องที่จะต้องมีการเรียนรู้หรือว่าทำความเข้าใจในสถานศึกษา แล้วก็ทุกกลุ่มเลย ไม่ว่าจะเป็นทั้งผู้บริหาร ตัวครู ตัวนักเรียนเอง และชุมชนของสถานศึกษา
วัฒนธรรมเดิมที่เอื้อต่อความรุนแรง Vs ความพยายามเรียกร้องสิทธิ์
จริง ๆ มันก็เป็นเรื่องดีที่มีการตื่นตัวจากกลุ่มนักเรียน กลุ่มนักศึกษามากขึ้น ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ที่มีคำเรียกว่า กดทับอย่างรุนแรง มันก็ต้องถูกระเบิดออกมา มันออกมาชัดเจนในรูปแบบนี้ แต่ว่าเรื่องของสื่อโซเชียลมีเดียทั้งหลาย แล้วก็ความเคลื่อนไหวในประเทศอื่น ๆ ในสังคมโลก เด็ก ๆ ก็รับรู้ เขามีความรับรู้ เข้าถึงข้อมูลอะไรมากขึ้น แล้วทำให้เกิดการตื่นตัว
ครูบางส่วนก็ตื่นตัวด้วย และพร้อมที่จะสนับสนุนให้สร้างพื้นที่ปลอดภัย พยายามสนับสนุนเรื่องของการพูดคุย หรือหาแนวทางที่จะทำให้กฎระเบียบต่าง ๆ มันไม่กดมากเกินไป ไม่ลิดรอนสิทธิมากเกินไป ถ้าครูต้องการระเบียบวินัย ระเบียบวินัยสร้างได้อย่างไร ต้องใช้วิธีเดิม ๆ หรือเปล่า
“เราต้องมีความเหมือนกันหมด ยูนิฟอร์มเหมือนกันหมด ทรงผมเหมือนกันหมด เพราะมันเป็นระเบียบเรียบร้อย”
ไม่แน่ใจ อันนั้นเป็นคำอธิบายเดียวอยู่หรือเปล่า อาจจะต้องมีคำอธิบายอื่น ๆ ที่สมเหตุสมผลมากกว่านี้ เราต้องมีอันนี้เพื่ออะไร แล้วถ้าเกิดว่าเราต้องการบรรลุวัตถุประสงค์แบบนั้น มันมีทางอื่นไหมที่เราจะทำได้ ต้องแต่งยูนิฟอร์มตลอดไหม หรือทรงผมมีแบบมากกว่านี้ได้ไหม พื้นที่แบบนี้ไม่ค่อยมีเท่าไหร่ แต่ว่ามีไหมถ้าจะทำจริง ๆ ก็ทำได้
มีโรงเรียนหลายแห่งเหมือนกันที่พยายามเปิดพื้นที่ ที่เปลี่ยนชั่วโมงหน้าเสาธงที่มาแค่สวดมนต์หรือร้องเพลงชาติให้เป็นพื้นที่ที่ได้มีการมาเอาเรื่องที่เป็นประเด็นในโรงเรียนมาพูดคุยกันว่า มันมีเรื่องแบบนี้นะ มีเรื่อง Bullying มีเรื่องที่นักเรียนร้องเรียน แล้วเราจะคุยกันอย่างไร จะจัดการอย่างไร ต้องการเปิดใจของทุกฝ่าย ที่จะทำให้เกิดพื้นที่แบบนี้ แล้วสามารถคุยกันอย่างสร้างสรรค์ได้
สันติภาพในโรงเรียน
เป็นเรื่องของความตระหนัก เราก็ไม่ได้โทษครูทั้งหมด เพราะว่าครูก็อยู่ในระบบนี้ ครูก็ถูกกระทำมาส่วนหนึ่ง พื้นที่เราก็ต้องตระหนักตรงนี้ จะต้องไปดูทั้งระบบว่า ภาระของครูจะต้องลดลง ถ้าครูยังต้องทำภาระเหมือนเดิม ๆ ครูจะมีพื้นที่คุยกับนักเรียนได้อย่างไร ต้องไปดูในเชิงโครงสร้างด้วย เพราะเราจะเปลี่ยนวัฒนธรรม
เราต้องย้อนกลับไปดูโครงสร้าง โครงสร้างจะเอื้อได้อย่างไร ให้คนในระบบสามารถเปิดตัวเองออกมาได้บ้าง ไม่ต้องรู้สึกกดดัน ไม่ต้องรู้สึกว่าตัวเองจะผิด ถ้าเกิดว่าไม่ได้ทำตามอะไรบางอย่าง ตามกฎกติกาที่ได้เขียนไว้
ระเบียบล่าสุดของกระทรวงศึกษาธิการที่พูดถึงตัวนี้ บอกว่าจะทำอย่างไรให้สถานศึกษาสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ที่นักเรียนสามารถเน้นความรู้สึกได้ ถ้าเอาแนวนโยบายกว้าง ๆ มาปฏิบัติและมีเครื่องมือ ใส่ให้ครู จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าเราจะทำจริง ๆ
เครื่องมือช่วยสร้างวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนและสันติภาพในโรงเรียน
ถ้ามีความเชื่อว่า ตัวเองต้องสอนแบบ Empower ต้องสอนอย่างสร้างพื้นที่ประชาธิปไตย ครูก็จะจัดห้องเรียนของตนเองให้มันเอื้อไปแบบนั้นได้ ซึ่งก็มี Know-how หรือการทดลองกระบวนการหลาย ๆ อย่าง ที่จะนำมาใช้ในการจัดชั้นเรียน เพื่อตอบการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในชั้นเรียน
กระบวนการหนึ่งที่นำมาใช้ หรือจริง ๆ ก็อยู่ในขั้นตอนการวิจัย 8nv เรื่องของการใช้ปรัชญา การสืบเสาะเชิงปรัชญามาคุยในชั้นเรียน ให้คุณครูชวนครูคุย เด็ก ๆ คุยในชั้นเรียน เป็นเรื่องของการสืบเสาะ มันก็ทำให้เห็นว่าถ้าผู้เรียนมีโอกาสได้คุยในชั้นเรียน ครูเองก็ไม่ต้องรู้สึกว่า ต้องไปควบคุมชั้นเรียนทุกขั้นตอน แต่เป็นอำนวยการ Facilitate ให้เกิดการแลกเปลี่ยนการฟังกันในชั้นเรียน แบบนี้ ตัวนักเรียนจะได้สะท้อน
เราทดลองทำในมหาวิทยาลัย ก็มีเสียงสะท้อนว่ารู้สึกดีที่ได้ฟังความคิดของเพื่อน คือไม่เคยได้ยินเพื่อนพูดถึงเรื่องนี้เลย หรือแสดงความคิดในประเด็นเรื่องนี้ เรื่องสังคม เรื่องการศึกษา เรื่องอะไรที่ใกล้ตัวเขา เกิดการต่อยอดกับบทสนทนาต่อไป
สันติภาพไทยสู่สันติภาพโลก
การเปลี่ยนนี้คงต้องเปลี่ยนหลายระดับ เปลี่ยนในเชิงที่ แต่ละคนตระหนักก่อนว่า ตนเองมีส่วนในการทำให้เกิดความรุนแรงในมิติต่าง ๆได้อย่างไรบ้าง โดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในสถานะที่มีอำนาจ ในบริบทโรงเรียน หรือตัวครูเองตัวผู้บริหารเอง อาจจะต้องตระหนักตรงนี้มากขึ้น เพราะว่าตัวนักเรียนเขาก็เริ่มตระหนักตรงนี้มากขึ้น
เราจะมาจูนตรงนี้ได้อย่างไร ต้องมองจากตัวเองก่อน แล้วก็ตัววัฒนธรรม จะสร้างได้ต้องมีปัจจัยเสริม เพราะฉะนั้นนโยบายอะไรที่มีอยู่ แล้วเป็นการเลือกปฏิบัติ ควรทบทวนด่วนว่าจะต้องให้เท่าเทียมกันมากขึ้น สิทธิแต่ละคนที่มีอยู่ต้องไม่ไปลิดรอนเขา
ในส่วนสุดท้ายคือเรื่องของการส่งเสริม ให้เกิดการเข้าถึง ให้มีความเป็นธรรมมากขึ้นในสังคม ในมิติที่ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของเรา เรียก สิทธิทางพลเมือง สิทธิทางการเมือง แล้วเรื่องการแสดงความคิดเห็น เรื่องเนื้อตัวร่างกายอย่างเดียวกัน แม้กระทั่งเรื่องสิทธิทางด้านสังคม ทางด้านสุขภาพ เราคิดว่าเรามีนักเรียนจำนวนมาก ที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือ ในประเด็น Mental health มันเป็นประเด็นขึ้นมา จะทำอย่างไรให้เรามีโรงเรียนเอง สถานศึกษาเอง หรือแม้กระทั่งกระทรวงศึกษาเอง เข้ามาตอบโจทย์เรื่องพวกนี้มากขึ้น โดยมีกลไกที่ส่งเสริมพัฒนาเครื่องมือตรงนี้ให้ช่วยเด็ก
“เริ่มที่ตัวเราเองก่อน ถ้าเราตระหนักแล้วเราเข้าใจ เรื่องของสันติภาพมีหลายมิติ เรื่องความรุนแรงมีหลายมิติ เราจะทำอย่างไรที่จะเปลี่ยนแปลง ในมิติที่เรารับผิดชอบอยู่ได้ แล้วก็กลไกอื่น ๆ ก็จะต้องเอื้อและมีตามมา เพื่อจะทำให้เกิดได้อย่างเป็นจริงมากขึ้น”
เมื่อมีประเด็นขัดแย้งในหัวข้อเรื่องสิทธิมนุษยชน หลายครั้งที่ไป Judge ว่าอะไรก็สิทธิมนุษยชน อย่างนี้ก็ควบคุมกันไม่ได้ แต่จริง ๆแล้วทุกอย่างเกี่ยวกับองคาพยพทั้งหมดของสังคม หมุนวงรอบมากระทบกับตัวเรา แม้จะต้องใช้เวลา แต่ระยะหลัง เราเห็นการพูดกันมากขึ้น มีนโยบาย มีกฎเกณฑ์ขึ้นมาสนับสนุนมากขึ้น
เพราะเราไม่สามารถล้อมรั้วบ้านของเรา แล้วให้มันปลอดภัยอยู่ในบ้านของเราได้ ถ้าเพื่อนบ้านตบตีกัน ทะเลาะกันหรือมีความรุนแรงข้างบ้านมันจะกระทบมาที่เรา แล้วเราก็ต้องออกไปใช้ชีวิตในสังคม ถ้าสังคมไม่ปลอดภัย เราก็ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ ไม่สามารถใช้เสรีภาพของเราได้อย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้นการเคารพสิทธิของคนอื่นก็จะเอื้อให้สังคมสามารถใช้ชีวิตและเสรีภาพได้อย่างเท่าเทียมกัน
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง