คนข่าวที่นิยามตัวเองว่า ‘ลิเบอร่าน’

หวี – พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการอาวุโส The MATTER

“หวี” เป็นนักข่าวสายการเมืองตั้งแต่เริ่ม และทำงานในสนามสื่อมวลชนทั้งแนวกว้างและลึก เขาผ่านงานมาหมด ตั้งแต่สำนักข่าว วิทยุ ทีวี หนังสือพิมพ์ และสำนักข่าวออนไลน์ บางแห่งสั้นนับเป็นเดือน บางแห่งยาวนานนับเป็นปี

ปัจจุบันเขาเป็นบรรณาธิการอาวุโส สำนักข่าวออนไลน์ The MATTER แม้จะอยู่ในฐานะ บ.ก.อาวุโส แต่เขาก็ยังคงลงสนามทำข่าว และสัมภาษณ์แหล่งข่าวอย่างสม่ำเสมอ ได้ทำงานกับคนหนุ่มสาวอยู่ตลอดเวลา ทำให้เขาทันต่อการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่เป็นไปอย่างรวดเร็วและบางครั้งโหดร้าย

เขายังคงกระตือรือร้นที่จะปรับเปลี่ยนท่าทีในการนำเสนอข่าวอยู่เสมอ ขณะเดียวกัน ก็ยึดมั่นในแก่นแกนของความหลากหลาย และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ที่บางครั้งแม้จะไม่เห็นด้วยและมีแนวคิดที่ตรงข้าม เขาก็ปรารถนาให้คนเหล่านั้นได้พูด โดยมีข้อแม้ว่าต้องอยู่บนข้อมูลที่เป็นจริงและตรวจสอบได้ 

คนแมกาซีน

หวีสนใจงานนิตยสารตั้งแต่เขาเรียนอยู่มัธยม เขาสนุกกับการฝึกจัดวางหน้าและสนใจการเขียน เรากำลังพูดถึง 15 ปีก่อน ที่มีนิตยสารหัวใหม่ ๆ เกิดขึ้นบนแผงไม่เว้นแต่ละเดือน หลายฉบับเปิดมุมมองและทัศนะใหม่ ๆ ให้กับคนหนุ่มสาว บางฉบับกลายเป็นต้นแบบเพาะเมล็ดมุมมองต่อชีวิตของเจเนอเรชัน หากมองย้อนกลับไป มันเป็นช่วงท้าย ๆ ของวงจรชีวิตนิตยสาร ที่เติบโตเฮือกสุดท้ายเหมือนพลุชุดสุดท้ายของการฉลองวันปีใหม่ที่ถูกจุดให้พุ่งขึ้นไปบนท้องฟ้า เล่าถึงความคึกคักกระตือรือร้นของบรรยากาศอันน่าตื่นตาตื่นใจของคนทำงานและคนอ่านที่พบปะกันบนแผง ในยุคสมัยนั้นคงแทบจะไม่มีใครเชื่อ หวีเป็นคนหนึ่งที่มีความตั้งใจอยากจะเป็นส่วนหนึ่งของบรรยากาศอันน่าตื่นเต้นนี้ เขาสอบเข้าเรียนในสายวารสารศาสตร์ และเลือกสาขาหนังสือพิมพ์ เพื่อมุ่งตรงไปสู่สิ่งนั้น ต่อเมื่อเขาจบออกมา แสงเจิดจ้าของพลุได้เปลี่ยนเป็นควันและจางหายไปแล้ว

นักข่าว

เมื่อความจริงของความเปลี่ยนแปลงเป็นเช่นนั้น เขาเปลี่ยนเส้นทางเดิมจากการทำงานแมกาซีนมาเป็นนักข่าว ในปีเดียวกับที่ประเทศไทยถูกรัฐประหาร ในปี 2549 หวีเริ่มงานเป็นนักข่าว โดยเริ่มจากการเป็นนักศึกษาฝึกงานที่สำนักข่าวรอยเตอร์ เพียงก้าวแรกที่ย่างเข้ามาบนถนนสายข่าว เขาก็เจอของแข็งเสียแล้ว การได้ทำงานในสนามของสำนักข่าวมาตรฐานที่มีคุณภาพสูง อาจจะเป็นข้อดีและข้อเสียของนักศึกษาจบใหม่ การวิ่งทำข่าวจากความคาดหวังสูงโดยยังไม่มีพื้นฐานการทำงานที่แข็งแรงพอ อาจทำให้อนาคตนักข่าวมือใหม่ถอดใจไปเลยก็ได้ แต่ในแง่ดี การที่เขาถูกทุบในโลกของการทำงานจริงเพื่อที่จะสร้างพื้นฐานที่ดีของการเป็นนักข่าวขึ้นมาใหม่ อาจเป็นสิ่งที่ดีกว่า

ครั้งหนึ่งเขาถูกส่งไปทำข่าวเล็ก ๆ ข่าวหนึ่ง “คำขวัญวันเด็ก” ที่ไม่น่าจะมีความสำคัญอะไรมากไปกว่ารายงานข่าวธรรมดา ซึ่งก็คงไม่ต้องเร่งรีบอะไร แต่มันก็ได้สั่งสอนตักเตือนเขาถึงความเป็นมืออาชีพ เขาส่งงานช้าและไม่ครบประเด็น จนถูกอบรมจากหัวหน้าที่คาดหวังมาตรฐานที่สูง หวีเสียน้ำตาหยดแรกแลกกับประสบการณ์และดีเอ็นเอที่นักข่าวควรจะเป็น ความเร็ว เที่ยงตรง และมีความรับผิดชอบ นั่นเป็นบทเรียนที่เขาจดจำตั้งแต่นั้นมา 

หลังฝึกงานกับสำนักข่าวรอยเตอร์ แล้วก้าวสู่โลกของสื่อ หวีเป็นคนหนึ่งซึ่งหากอ่านต่อไปจะพบว่าเขาอยู่บนกระแสของความเปลี่ยนแปลงเสมอ คล้ายกับว่าเขาเลือกและถูกเลือกให้โต้คลื่นลูกใหม่ ๆ ที่ท้าทายอยู่เสมอ (คนอะไรจังหวะดีตลอด) 

วิทยุ หนังสือพิมพ์ ทีวีดิจิทัล 

ในระหว่างช่วงเวลาที่แมกาซีนกำลังล่มสลาย สถานีวิทยุใหม่ ๆ ก็กำลังเกิดขึ้นหลายแห่ง หวีเป็นหนึ่งในคนที่เข้าไปอยู่ในกระแสของการเติบโตนั้น เขาเข้าทำงานกับสำนักข่าวทีนิวส์ ในช่วงที่สำนักข่าวแห่งนี้เพิ่งเริ่มต้น หวีเรียนรู้สิ่งใหม่และช่วยสร้างสถานีวิทยุแห่งนี้ขึ้นมาในวันที่จุดยืนทางการเมืองยังไม่เป็นเหมือนทุกวันนี้ จากสำนักข่าวมาตรฐานมาสู่สำนักข่าวเปิดใหม่ การเรียนรู้เปลี่ยนไปมาก การมาอยู่สำนักข่าวขนาดเล็กที่เพิ่งเริ่มทำให้ได้เรียนรู้หลายอย่าง ทดลองผิดถูก เก็บเกี่ยวประสบการณ์ และค้นหาสิ่งที่ชอบ ซึ่งสิ่งนั้นไม่เคยเปลี่ยน – ข่าวสายการเมือง

หนึ่งปีต่อมา เขาย้ายเข้าไปทำงานที่โต๊ะข่าวการเมืองกับมติชน นอกจากการเรียนรู้สิ่งใหม่ หวีหยิบยืมทักษะข้อดีจากการทำงานวิทยุมาใช้กับงานหนังสือพิมพ์ อย่างเช่นการรายงานกระชับตรงประเด็น ไม่เยิ่นเย้อ และการใช้จุดเด่นของหนังสือพิมพ์อุดข้อด้อยของงานวิทยุ 

การทำงานยาวนานกับหนังสือพิมพ์ทรงอิทธิพลฉบับหนึ่งในประเทศ มติชนเป็นเบ้าหลอมสำคัญที่ทำให้เขาเรียนรู้ความเป็นนักข่าวเชิงสืบสวน ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลและของผู้มีอำนาจ การทำงานข่าวที่เข้มข้นนั้นมีฐานจากการค้นข้อมูลและสัมภาษณ์ ทำให้เขามีโอกาสได้พบเจอแหล่งข่าวหลากหลาย ได้รับรู้ข้อมูลหลายระดับจากหลายมุมมอง ข้อมูลเชิงลึกและเอกซ์คลูซิฟจากหลายแหล่งข่าว เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เขาได้รู้จักกับความหลากหลายทางความคิดที่ตั้งอยู่บนข้อมูลที่ต่างกัน ไม่มีความคิดความเห็นใดถูกเสมอไป มันขึ้นอยู่กับการมองเหตุการณ์หนึ่ง ๆ จากมุมไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงการเมืองที่ทุกย่างก้าวคือการต่อรองและผลประโยชน์ 

บทเรียนสำคัญขณะทำงานที่มติชน คือบทบาทของนักข่าวและการวางตัวเป็นผู้สังเกตการณ์ โดยไม่เอาตัวเข้าไปเป็นตัวละครหนึ่งในเหตุการณ์ อย่างที่บอก การเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์และการต่อรอง การเปลี่ยนขั้วและแกนของอำนาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอ การเอาตัวเข้าไปอยู่กลางผลประโยชน์จะทำให้วิจารณญาณของการทำงานไขว้เขว แน่นอนว่าการเข้าไปมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ใดในช่วงเวลายาวนานย่อมทำให้เกิดความผูกพันธ์มีอารมณ์ร่วม ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ช่วงที่หวีทำงานอยู่มติชนเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของวิกฤตการเมืองไทย เขาเข้าไปทำข่าวและอยู่ร่วมกับการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2551-2553 นั่นก็เป็นประสบการณ์และบทเรียนครั้งสำคัญ 

เริ่มต้นปี 51 จากการเข้าไปเป็นประจักษ์พยานในม็อบเสื้อเหลือง, ไล่รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช, ไล่รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์, กลุ่มพันธมิตร ยึดสนามบินฯ, ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคร่วมรัฐบาล

วิกฤตการเมืองต่อเนื่องไปจนปี 52 มี ม็อบเสื้อแดง, การสลายการชุมนุม, เห็นรถแท็กซี่ของ “ลุงนวมทอง” วิ่งชนรถหุ้มเกราะบนถนนราชดำเนิน

ปี 53 ชายชุดดำ, การสลายการชุมนุมด้วยกระสุนจริง, คดี 6 ศพวัดปทุมฯ

ที่มติชนนอกจากศาสตร์ของการทำงานนักข่าว หวีเรียนรู้การทำงานเป็นทีม เขาเรียนรู้ว่าคนเราไม่จำเป็นต้องเก่งทุกอย่าง แต่เราควรเก่งสักอย่าง ทำงานเป็นทีมคือการทำหน้าที่ในส่วนของตัวเองให้ดีที่สุด เพื่อที่จะเป็นองค์ประกอบของภาพใหญ่ที่สมบูรณ์ ที่กลมขึ้น รอบด้านมากขึ้น 

หลังจากเรียนรู้ข่าวเชิงสืบสวน เส้นทางของการเป็นนักข่าวชักจูงให้เขาทำงานลงลึกไปอีก เมื่อเขาขยับไปทำงานกับสำนักข่าวอิศรา และไทยพับลิก้า ซึ่งเป็นสำนักข่าวเฉพาะทางที่เน้นข่าวเชิงขุดคุ้ยการทุจริตคอร์รัปชั่น (Investigative journalism) และสำนักข่าวที่ทำงานเชิงข้อมูล (Data Journalist) ที่ต้องใช้เวลาหาข้อมูล สัมภาษณ์แหล่งข่าวอย่างรอบด้าน อธิบายเบื้องลึกเบื้องหลังของข่าว เปิดโอกาสและให้เวลาแหล่งข่าวชี้แจงข้อมูล บางทีบางครั้ง ถูกดึงให้ยืดเยื้อจากแหล่งข่าว โดยเฉพาะจากหน่วยงานราชการ บางคดีความรอข้อมูลถึง 2 ปีครึ่ง อย่างไรก็ตาม ข่าวเชิงขุดคุ้ยแบบนี้ทำงานครั้งเดียว ใช้เวลานานก็จริง แต่ก็มีผลงานออกมาให้ใช้จนถึงปัจจุบัน หากจะเอ่ยถึงงานบางชิ้น GT-200 อุปกรณ์ตรวจระเบิดซึ่งใช้ไม่ได้จริง อุทยานราชภักดิ์ นาฬิกายืมเพื่อน ซึ่งนาฬิกาหลายสิบเรือนนี้ใช้เวลาขุดคุ้ยรวบรวมข้อมูลอยู่ 4 ปี และจนถึงปัจจุบัน ป.ป.ช. ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลออกมา เมื่อปริศนายังไม่คลี่คลาย เขาจึงไม่ลดละที่จะตามประเด็นนี้ต่อไป  

แม้หวีจะบอกว่าไม่ชอบดูหนังสืบสวนสอบสวน แต่การทำงานของเขานั้นไม่ต่างกัน มันคือการหาจิ๊กซอว์ทีละชิ้น และประกอบกันเข้ากับเครือข่ายนักข่าวที่ทำงานร่วมกันเพื่อที่จะเห็นภาพที่ใหญ่ขึ้น  

The MATTER ความกวนตีนที่เชื่อถือได้

ในโลกออนไลน์คงไม่มีใครนำเสนอความรู้ทางสังคม วัฒนธรรม และการเมืองได้เสียดสี แซะ และกวนตีนเสมอเหมือน The MATTER แมกาซีนออนไลน์ที่ดึงดูดคนอ่านด้วยน้ำเสียงของยุคสมัย (หากจะอนุญาตตัวเองให้ใช้คำนี้) มุมมองแตกต่าง ทัศนะทีเล่นทีจริง โดยไม่มีสำนักสื่อฯ มาตรฐานไหน ๆ กล้าทำมาก่อน ตามขนบแล้ว ความน่าเชื่อถือควรจะถูกนำเสนอผ่านความสุขุมคัมภีรภาพ ด้วยข้อมูลที่เพียบพร้อม ท่าทีเอาจริงเอาจังมาโดยตลอด บนฐานคิดที่ว่าน้ำเสียงและความน่าเชื่อถือของข้อมูลคือสิ่งเดียวกัน คุณจะเชื่อคำพูดของคนใส่สูทผูกเนกไท หรือคนใส่เสื้อฮาวายกางเกงยีนส์

หวีถูกชักชวนเข้ามาทำหน้าที่บรรณาธิการข่าวการเมืองหลังจากที่ The MATTER มีนโยบายขยายการทำงานจากการใช้ข่าวของสำนักข่าวอื่น ๆ มาเป็นผลิตคอนเทนต์ของตัวเอง โจทย์สำคัญคือทำอย่างไรให้ความกวนตีนเชื่อถือได้ ด้วยความชำนาญที่ทำข่าวการเมืองมาตลอด หวีเริ่มทำข่าวเอกซ์คลูซิฟ และเนื้อหาที่เขาคิดว่าคนอ่านน่าจะสนใจ ทั้งเป็นสกูปและเป็นชุดซีรีส์ โดยเล่าในมุมมองและน้ำเสียงที่ประทับตรา The MATTER ลงบนนั้น จากเมื่อเริ่มแรก ข่าวการเมืองมักมียอดไลก์ต่ำกว่าข่าวอื่น ๆ เมื่อเวลาผ่านไป ข่าวการเมืองที่มีน้ำเสียงของยุคสมัย เสียดสี แซะ กวนตีน บวกกับมุมมองหยอกล้อทีเล่นทีจริง เริ่มได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง

5 ปีจากวันแรก ซึ่งสิ่งที่หวีสร้างสรรค์นั้นต้องยอมรับว่ามาพร้อมกับกระแสความสนใจข่าวการเมืองของคนรุ่นใหม่พอดี เห็นไหมว่าอะไร ๆ ที่คน ๆ นี้หยิบจับ ล้วนวางอยู่บนคลื่นที่กำลังเป็นความสนใจของสังคมพอดิบพอดี ถึงนาทีนี้หวีบอกว่าข่าวการเมืองแบบ The MATTER อยู่มือแล้ว

หวียืนยันว่า น้ำเสียงกับเนื้อหาของข่าวในยุคสมัยนี้ไม่ได้เป็นสิ่งเดียวกัน คนอ่านแยกแยะได้ว่าอะไรคือน้ำเสียง อะไรคือเนื้อหาข้อมูล อะไรคือความสนุก และอะไรคือความน่าเชื่อถือ ข่าวการเมืองหากเลือกมุมมอง หาจังหวะ ก็สามารถทำให้เป็นที่ยอมรับนับถือในความกวนตีนและเชื่อถือได้ แม้กระทั่งบางข่าวที่ใส่ข้อมูลลงไปเต็ม ๆ คนอ่านยังรู้สึกว่าข่าวชิ้นนี้กวนตีนอยู่เหมือนกัน  

วิธีการรักษาดีเอ็นเอของ The MATTER คือการทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่ เปิดโอกาสให้เขาได้แสดงความสามารถออกมาผ่านการดูแลของรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์ หวีดูแลและส่งเสริมให้ทีมได้ทำงานอย่างที่พวกเขาเป็น พูดในสิ่งที่เจเนอเรชันของพวกเขาให้ความสำคัญ ในภาษาของพวกเขา ทำให้ The MATTER ทันยุคสมัยและอยู่ในกระแสเสมอ ในฐานะบรรณาธิการ หวีทำหน้าที่ระวังหลัง อุดช่องโหว่ และให้ความมั่นใจลูกทีมจากประสบการณ์ที่มากกว่า และจากความเก๋าเกม บ่อยครั้งเขาลงสนามทำข่าวและสัมภาษณ์แหล่งข่าวเองจากคอนเน็กชันในมือเพื่ออุดช่องโหว่ และเพิ่มเติมข้อมูลเชิงลึก The MATTER จึงมีความลงตัวเหมือนค็อกเทลที่กลมกล่อม หวีผสมความทันสมัย สายตาของยุคสมัย และความกล้าของวัยหนุ่มสาว ให้เข้ากับประสบการณ์ของคนที่มาก่อนแล้วเขย่าให้ลงตัว แม้ว่าเขาจะแอบบอกว่าหลายหนในการประชุมทีมบรรณาธิการ เรื่องที่เขาเสนอมักจะถูกปัดอยู่บ่อย ๆ จนต้องร้องขอน้อง ๆ ว่าอย่าใจร้ายกับพี่มากนัก

ในถนนของคนทำข่าวการเมืองที่อยู่มาทุกแพล็ตฟอร์ม อยู่บนคลื่นของการพัฒนาทางเทคโนโลยีมาตลอด 15 ปี หวีคือนักข่าวที่ให้ความสำคัญกับข้อมูล เขายืนยันเสมอว่ายินดีและให้โอกาสถกเถียงกันได้เสมอผ่านข้อมูลที่มีอยู่ในมือ เปิดกว้างกับความหลากหลาย ไม่ยึดติดกับความถูกต้องแต่เพียงผู้เดียว เขาบอกเสมอว่าการนำเสนอข่าวที่ดีควรเปิดพื้นที่ให้ฝ่ายตรงข้ามชี้แจงเสมอ แม้เราจะไม่เห็นด้วยก็ตาม แม้แต่คนที่มีความคิดต่างกันก็ทำงานร่วมกันได้ หากเราเคารพซึ่งกันและกัน 

เท่าที่ได้คุยกัน เขาเชื่อในความหลากหลาย รับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย และสนับสนุนความหลากหลายให้คงอยู่ แม้จะไม่เห็นด้วย 

กล่าวโดยรวบรัด “หวี” พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ คือ “ลิเบอร่าน” 


Thailand Talks พื้นที่ทดลองพูดคุยกับ “คนแปลกหน้า”
สมัครร่วมโครงการ ผ่านการตอบคำถาม 7 ข้อ
14 ส.ค. – 14 ก.ย. 2565

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศุภชัย เกศการุณกุล

เป็นช่างภาพพอร์ทเทรต เขียนความเรียงและสัมภาษณ์เพื่อเล่าเรื่องที่ภาพถ่ายทําไม่ได้ และต่อมาทําสารคดีภาพเคลื่อนไหว เพราะอยากได้ยินน้ําเสียงของผู้คน