อีก 70 ปี ‘คนไทย’ จะเหลือแค่ 30 ล้านคน!… เพิ่ม-นำเข้าประชากร คือ ทางรอด ?

2 ชั่วโมง ผ่านไป…ประชากรไทย หายไป 30 คน นี่คงไม่ใช่ตัวเลขที่คิดไปเอง แต่ The Active อ้างอิงข้อมูลนี้ เท่าที่เห็นกับตาผ่านจอแสดงผลจำนวนประชากรไทย ของ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

สิ่งนี้กำลังอยู่ในความสนใจและติดตามอย่างใกล้ชิด จากนักวิชาการด้านประชากรศาสตร์ เพื่อคาดการณ์ถึงเหตุ ปัจจัยที่กำลังจะตามมาในอนาคต และเชื่อว่านี่อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้รัฐบาลไทย โดย คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 มีมติเห็นชอบ หลักเกณฑ์การเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติ และสถานะให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาในอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน และกลุ่มบุตรที่เกิดขึ้นในราชอาณาจักร ราว 4.8 แสนคน

ไม่ว่ากระบวนการเร่งรัดการรับรองสัญชาติไทย จะใช่ความพยายามแก้ปัญหาด้านประชากรไทยที่ลดจำนวนลงหรือไม่ แต่ถ้า หากไทยไม่ดำเนินการอะไรกับสถานการณ์นี้ จะส่งผลให้ในอีก 70 ปีข้างหน้า คนไทยจะเหลืออยู่เพียง 30 ล้านคน

เพื่อให้เข้าใจต่อสถานการณ์นี้ The Active ชวนวิเคราะห์กับ ศ.เกียรติคุณ อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์ ที่ปรึกษาอาวุโส สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งระบุว่า การรับรองสัญชาติ เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วเพียงแต่ทำให้เร็วขึ้น แต่สิ่งที่น่ากังวลสำหรับประชากร คือ ถ้าทุกคนได้รู้กรอบใหญ่ของประเทศ ว่า ประชากรกำลังลดลงอย่างไร ? แล้วผลกระทบที่จะตามมาร้ายแรงแค่ไหน ? อาจจะทำให้สังคมเริ่มเข้าใจถึง การรับรองสัญชาติ และ การนำคนเข้าประเทศ

ศ.เกียรติคุณ อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์ ที่ปรึกษาอาวุโส สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

รับรองสัญชาติ นำเข้า ‘ประชากร’ ชดเชย ‘คนเกิดน้อย’

นักประชากรศาสตร์ ย้ำว่า องค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) และ นักวิจัยหลายคน คาดการณ์พบว่า ประชากรไทยจะลดลงไปครึ่งหนึ่ง จากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 65 ล้านคน เหลือเพียง 30 กว่าล้านคน ภายในอีก 70 ปี เพราะฉะนั้น ความจำเป็นที่ต้องมีประชากรมาทดแทนส่วนที่หายไป นอกจากการสนับสนุนให้มีการเกิด ด้วยการสร้างสภาพทางสังคมที่เอื้อต่อการมีบุตรให้มากขึ้นแล้ว การนำเข้าประชากรก็เป็นส่วนสำคัญ ซึ่งประเทศต่าง ๆ ก็ทำกัน โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว

และจากการ ฉายภาพ (Projection) ประชากรไทย เมื่อสิ้นศตวรรษที่ 21 พบว่า หากต้องการให้ประชากรมีจำนวนเท่าตอนนี้ จะต้องนำเข้าปีละ 400,000 กว่าคน/ต่อปี แต่ถ้าต้องการให้มีประชากรราว 45 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่มองว่าเหมาะสม จะต้องนำเข้าประชากรให้ได้ปีละ 200,000 คน ซึ่งเห็นว่ารัฐบาลควรตั้งเป้าให้ได้ปีละ 200,000 คน แต่จากแรงต้านที่เกิดขึ้น หลังมติ ครม. 29 ตุลาคม 2567 ก็ยิ่งทำให้ ศ.เกียรติคุณ อภิชาติ มองว่า “เรื่องนี้เป็นสิ่งใหม่ ที่คนไทยเรายังไม่ทราบ แล้วก็ยังไม่เข้าใจว่ามันจำเป็นที่จะต้องมี”

“ถ้าให้เราลดปริมาณลง ลดประชากรลง แต่ไม่มากเกินไป ให้เหลือสัก 45 ล้านคน ใน 70 ปีข้างหน้า ก็จะนำเข้าปีละ 200,000 คน ถ้าเรามีกรอบความคิดอันนี้แล้ว เราก็จะรู้สึกว่าเราไม่อึดอัดเท่าไร ถ้าเผื่อเราจะต้องมีประชากรเพิ่มขึ้น จริง ๆ แล้วดีด้วยซ้ำไป เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่เราสามารถที่จะพัฒนาให้เป็นคนไทยอย่างที่ต้องการ ก็จะเป็นการดี เพราะฉะนั้นการที่เขาเป็นคนที่อยู่ในประเทศเราอยู่แล้ว เพียงแต่เราให้สัญชาติเขาให้เร็วขึ้น ให้ถูกต้อง ตรวจสอบให้ดี แล้วก็ทำให้เร็วขึ้น ก็เป็นสิ่งที่ดีที่รัฐบาลทำ”

ศ.เกียรติคุณ อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์

สำหรับการคาดประมาณประชากรดังกล่าว อาศัยข้อมูล อัตราการเกิด อัตราการตาย อัตราการมีบุตร ซึ่งที่จริงแล้ว เมื่อ 40-50 ปีก่อน นโยบายคือ ต้องการให้มีคนน้อยลง เพราะว่าประชากรล้นโลก ซึ่ง อัตราการเจริญพันธุ์รวม หรือ TFR (Total Fertility Rate) คือ ผู้หญิง 1 คน จะให้กำเนิดลูก 2.1 คน ขณะนั้นไทยมีการเกิด ถึง 1 : 4-6 คน จากนั้นก็ค่อย ๆ ลดลงมา เหลือ 1 : 2.4 ตามแผนประชากร และลดลงมาเหลือ 1 : 1.5 คน ซึ่งถึงว่าน้อยแล้ว

แต่เมื่อปี 2566-2567 กระทรวงสาธารณสุข ประกาศพบว่า อัตราการให้กำเนิดผู้หญิงหนึ่งคน ลดเหลือเพียง 1.08 คน ซึ่งน้อยที่สุด และน้อยเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ที่อัตราการเกิดทดแทนเหลือเพียงครึ่งเดียวจากเป้าหมาย

“1.08 คือ ผู้หญิง 1 คน เกิดลูกแค่คนเดียว ก็คือ ทดแทนผู้หญิงด้วยกัน แต่ว่าคู่สมรสไม่สามารถจะทดแทนได้ จากอัตราดังกล่าว แล้วก็อัตราต่าง ๆ ที่เราใส่ไปในข้อมูลการทำการคาดประมาณประชากรซึ่งใช้ตัวเลขหรือว่าใช้แอปพลิเคชัน เรียกว่าเป็นเครื่องมือที่สหประชาชาติให้การสนับสนุน ก็สามารถจะเห็นชัดเลยว่ามันจะลดลง ถ้าเรามีการเสริมประชากรเข้าไปทดแทนสักปีละ 200,000 คน ก็จะเห็นว่าจะมีประชากรอยู่ที่ 45 ล้าน ถ้าเราใส่ตัวเลขว่าเราต้องการคนเท่าเดิม คือต้องเพิ่มปีละ 450,000 คน แต่ผมเองคิดว่านำเข้าสัก 200,000 คนจะเป็นจำนวนที่พอดี”

ศ.เกียรติคุณ อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์

ถ้าไม่นำเข้าประชากร คนไทยก็ต้องมีลูกเพิ่มขึ้น ?

นักประชากรศาสตร์ อธิบายอีกว่า หากไม่อยากให้มีนโยบายนำเข้าประชากรทดแทน จากปัญหาการเกิดที่น้อยลง นั่นหมายความว่ารัฐต้องเดินหน้านโยบายอนามัยเจริญพันธุ์ และต้องทำให้จากอัตราการให้กำเนิดของผู้หญิง 1 คนที่ 1.08 ในปัจจุบัน ภายในเวลา 70 ปี อัตราการเกิดเพิ่มขึ้นถึง 2.1 ก็จะทำให้ตัวเลขประชากรได้ 42-45 ล้านคนเช่นกัน แต่หากทำทั้ง 2 นโยบายควบคู่กันก็จะทำให้จำนวนประชากรอยู่ที่ราว 60 ล้านคน

วิกฤตประชากรลด ความเลวร้ายที่คนไทยยังมองไม่เห็น

ดังนั้นการที่ประชากรของประเทศลดลง นับเป็นวิกฤตที่ ศ.เกียรติคุณ อภิชาติ ชี้ให้เห็นภาพอนาคต ว่า หากวันหนึ่งประชากรไทยหายไปครึ่งหนึ่ง โครงสร้างประชากรจะเปลี่ยนไป คือ คนที่อยู่ในวัยแรงงานจะลดลง จำนวนประชากรที่ลดลงก็มีผลเสีย ที่ประเทศต้องมีจุดที่เหมาะสม ประชากรที่ควรจะเหมาะสม ถ้าน้อยเกินไป ประชากรในฐานะผู้ผลิต ในฐานะผู้บริโภคน้อย ผู้เสียภาษีหรือผู้ที่จะต้องมีกิจกรรมในสังคมแล้วออกมาเป็นงาน เป็นภาษีให้กับประเทศก็จะน้อยลงไปด้วย

“ถ้าเราอยากจะวางแผนจริง ๆ ว่าเราจะเหลือ 30 ล้านคน เราก็ต้องเขาเรียกว่ามียุทธศาสตร์การหยุด หรือว่า Exit Strategy อย่างบางเมือง บางตำบล อาจจะต้องถูกยุบ เหมือนที่เรายุบโรงเรียน หรืออีกหน่อยอาจจะต้องยุบหน่วยงาน ยุบสถานที่ต่าง ๆ เราก็คงไม่อยากจะทำอย่างนั้น เราก็เลยกะว่าสักครึ่งหนึ่ง สัก 45 น่าจะดี”

ศ.เกียรติคุณ อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์

อีกภาพอนาคตที่ ศ.เกียรติคุณ อภิชาติ อธิบายให้เห็น คือ การทะลักเข้ามาในไทยของผู้คนชาติอื่น เพราะหากประเทศไทยประชากรลดลง แต่ประชากรโลกยังเพิ่มอยู่ การเข้ามาในลักษณะนั้นก็จะเกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว ไม่ได้วางแผน

“เหมือนน้ำมันต้องไหลลงที่ต่ำ มันก็จะมีประชากรที่เข้ามาโดยที่เราไม่ได้วางแผน คือ ถ้าเราไม่วางแผน แต่เราจะโดนเขามาครอบงำ เพราะเวลาประชากรเข้ามาแล้ว มันมีความต้องการแรงงานแอบแฝงอยู่ คนจะรีบรับคนเข้าทำงานกันอย่างรวดเร็วและไม่ได้วางแผน ก็จะเป็นอันตรายเหมือนกัน หรือถ้าไม่เข้ามาเลย ประเทศเราก็จะมีคนน้อยมาก อะไรมันก็ไม่เคลื่อน เศรษฐกิจ งบประมาณหายไปครึ่งหนึ่ง จากกิจกรรมอะไรในประเทศมันน้อยลง”

ศ.เกียรติคุณ อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์

หากพูดถึงเรื่องภาษีที่รัฐนําไปใช้จ่ายในกิจกรรมต่าง ๆ ของประเทศ ก็มาจากแรงงานที่เป็นประชากรไทย ดังนั้นการที่ประชากรไทยหายไป คนที่จะมาจ่ายเงินให้รัฐก็จะหายไปด้วย ทำให้เกิดผลกระทบเรื่องของความมั่นคง การแข่งขัน จะสู้ต่างประเทศไม่ได้

นโยบาย ‘การย้ายถิ่นทดแทน’ ของประเทศที่พัฒนาแล้ว

นโยบายการย้ายถิ่นทดแทน (Replacement migration) ถ้าจัดการได้ดี ก็มีหลายตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงควาสำเร็จ โดย ศ.เกียรติคุณ อภิชาติ ได้ยกตัวอย่าง แคนาดา, ออสเตรเลีย, สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่มีนโยบายนี้ อย่างใน แคนาดา จะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง และเป็นหน่วยงานระดับกระทรวง ซึ่งมีคนทำงาน 7,000 คน คอยดูแลเรื่องการตั้งเป้าหมาย ว่าจะต้องนำเข้าประชากรมาเท่าไร โดยมีระบบระเบียบที่ดีของกระทรวง มีการรับ ขอสัญชาติ ทำงานเชิงรุก วางกลุ่มเป้าหมาย ว่าจะนำเข้าคนจากที่ไหน วางคุณสมบัติที่ต้องการ แล้วก็ใช้เป็น Points-based immigration system เช่น ใครมีการศึกษาสูง ใครพูดภาษาได้ พูดฝรั่งเศสได้ พูดอังกฤษได้ ก็จะถูกนับเป็นคะแนน เป็นการคัดเลือกคนเข้าไป

ส่วน ออสเตรเลีย ตั้งเป้าเป็น Net หรือ จำนวนคนสุทธิ คือหากมีคนย้ายออก ต้องมีคนย้ายเข้า ซึ่งเขาทำเรื่องนี้มาตั้งแต่สมัยสงครามโลกจบลง

“ส่วนเรื่องคุณภาพ ก็ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติที่เราจะตั้ง เราอาจจะเอาคนที่มีลงมาลงทุน คนที่มีคุณสมบัติเป็นวิศวกร เป็นหมอ เป็นอะไรที่เราต้องการ หรือว่าเราจะเอาคนที่ไม่ต้องถึงขนาดนั้น แต่ว่าเขายึดโยงกับคนไทย เข้ามาแล้วคนไทยมีความสุข เป็นคนที่มีซอฟต์พาวเวอร์ หรืออะไรที่เป็นวัฒนธรรมหรือว่าความอยู่ร่วมกันและมีความสุขต่าง ๆ ก็ได้นะครับ เราตั้งเป้าทั้งหมดเป็นภาพรวม เราจะต้องนําคนเข้ามาแล้วเกิดความเท่าเทียมกันในสังคมเกิดความสุขในสังคม นั่นคือเป้าใหญ่ ถ้าเราเอาเข้ามาแล้วจะมองแต่เศรษฐกิจอย่างเดียว”

ศ.เกียรติคุณ อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์

ศ.เกียรติคุณ อภิชาติ ระบุอีกว่า สิ่งสำคัญคือ การนำคนเข้ามาในประเทศ ควรจะให้การตัดสินใจที่จะเลือกคนเกิดจากประชากรทุกหน่วย เช่น จังหวัด ภูมิภาค หรือ ท้องถิ่น ควรมีสิทธิ์ที่จะเลือก หรือกำหนดคุณสมบัติ ความต้องการประชากรที่จะเข้ามาทำงานด้วย ไม่ใช่หน่วยงานเดียวเป็นคนตัดสิน

“การจะตัดสินว่าใครเข้ามาบ้าง ควรจะเป็นเรื่องของทุกคน เพื่อให้ยึดโยงกับพื้นที่ให้มากที่สุด”

ศ.เกียรติคุณ อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์

‘เพิ่มปริมาณ’ ให้ได้ก่อน ตามด้วย​ ‘พัฒนาคุณภาพ’

แต่สิ่งที่ต้องยอมรับ คือ คำถามจากสังคมที่มองเรื่องนโยบายการเพิ่มประชากรจากกระบวนการเร่งรัดการรับรองสัญชาติที่มีอยู่กว่า 4.8 แสนคน ณ เวลานี้ อาจสุ่มเสี่ยงกับการถูกแย่งกิน แย่งใช้ และความรู้สึกถึงความเป็นอื่นนั้น ศ.เกียรติคุณ อภิชาติ ย้ำเหตุผลที่คนคิดแบบนี้ เพราะประชาชนยังไม่เห็นกรอบประชากรในภาพใหญ่ว่า กำลังขาดแคลน และในอนาคตก็ประชากรก็จะยิ่งลดลงกว่านี้ เชื่อว่าหากทุกคนมองเห็นภาพเดียวกัน ก็จะเกิดความเข้าใจ จากที่มักบอกกันว่า คุณภาพสำคัญกว่าปริมาณ แต่ปัจจุบันปริมาณลดลงไปแล้ว และในกรณีนี้ ปริมาณมีความสำคัญพอ ๆ กับคุณภาพ เพราะถ้ามีปริมาณแล้วจะสร้างคุณภาพจากปริมาณได้

“แต่ถ้าเรามีแต่คุณภาพ เราไม่สามารถสร้างปริมาณจากคุณภาพได้ มันกลับกัน เพราะฉะนั้นเราสามารถจะสร้างคุณภาพจากปริมาณนั้นได้ ซึ่งในขณะปัจจุบันนี้จากเทคโนโลยีต่าง ๆ การจะพัฒนาคน ไม่ใช่เรื่องยากเกินกำลัง”

ศ.เกียรติคุณ อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์

ที่ปรึกษาอาวุโส สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ระบุว่า การพัฒนาคุณภาพดังกล่าว จริง ๆ แล้ว เป็นสิ่งที่รัฐต้องทำไปพร้อม ๆ กัน เพราะองค์การสหประชาชาติ (UN) กําหนดไว้แล้วว่าปี 2030 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) (อ่านเพิ่ม : https://www.sdgmove.com/intro-to-sdgs/) เป้าหมายทั้ง 17 เป้าหมาย ทุกคนจะต้องเท่ากัน ต้องให้การศึกษา การสาธารณสุข เป็นต้น

ลงทุน กับ ‘สวัสดิการเด็ก’ คุ้มค่าที่สุด

“การลงทุนในเด็ก เป็นการลงทุนี่คุ้มค่าที่สุดแล้ว” นี่คือสิ่งที่ ศ.เกียรติคุณ อภิชาติ ยืนยัน เมื่อถูกถามถึงสวัสดิการเด็กไทยในปัจจุบัน โดยมองว่า ควรจะเพิ่มเป็นเดือนละ 3,000 บาท พร้อมยกตัวอย่างว่า แต่ละเดือนพ่อแม่ต้องทำงานหาเงินมาจ่ายค่าผ้าอ้อมเด็ก (แพมเพิส) ที่ราคาสูง ซึ่งสวัสดิการเดิมไม่เพียงพอ หรืออาจจะเลือกส่งลูกไปให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงที่บ้าน แล้วส่งเงินไป 3,000 บาท เขาก็อาจจะพอดูแลได้ แต่ไทยยังพัฒนาตรงนี้ได้ไม่เร็วพอ เพราะประเทศอื่นไปกันไกลมากแล้ว

“ถ้าสมมติว่าไทยเราสามารถพัฒนาคุณภาพและสนับสนุนตั้งแต่เด็ก มันจะทำให้พื้นฐานตั้งแต่เด็กดีเติบโตมาก็จะมีคุณภาพ แล้วก็มันไม่ได้แพง มันสมเหตุสมผลนะ ที่ว่าเราจะดูแลเขาได้โดยที่เราก็ไม่ได้แพงขึ้นนะครับ กระทรวงศึกษาก็ได้รับงบประมาณเยอะแยะ แล้วการลงทุนตรงนี้มันได้กลับมาแน่นอน” 

ศ.เกียรติคุณ อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์

ผสมกลมกลืน ลด ‘ความขัดแย้งเรื่องชาติพันธุ์

สิ่งที่ตามมาหลังรัฐบาลมีนโยบายนำเข้าประชากร คือ ความไม่พอใจของคนไทย ที่อาจะมาจากความรู้สึกไม่ดีต่อคนต่างชาติพันธุ์ ในเรื่องนี้ ศ.เกียรติคุณ อภิชาติ มองว่า จริง ๆ คนไทยมีความรู้สึกแบบนี้ น้อยกว่าคนชาติอื่น เพราะคนไทยเป็นคนเปิดกว้าง เพราะตั้งแต่อดีตก็รับคนต่างชาติเข้ามา ตั้งแต่สมัยโบราณด้วยนิสัยคนไทย อาจจะมีไม่ชอบบ้างแต่เชื่อว่าลึก ๆ ก็อยู่ด้วยกันได้

“มีนักเศรษฐศาสตร์คำนวณไว้ว่า เขามาแย่งงานไหม มันจะแย่งในช่วงต้น แต่ระยะยาวมันจะเสริมงานกัน แล้วในจังหวะที่แย่งกันตรงนี้ มันจะทำให้เกิดจุดที่มีเรื่องมีราว สถาบันวิจัยประชากรและสังคมฯ เคยศึกษา พบว่า คนไทยจะไม่ชอบ ถ้าแรงงานต่างชาติมาทำงานแบบผิดกฎหมาย แต่ถ้าทำถูกกฎหมายแล้ว เขาก็ไม่ว่าอะไร”

ศ.เกียรติคุณ อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์

ดังนั้น เพื่อสร้างความสุขของคนในชาติโดยรวม เมื่อต้องการจะเพิ่มปริมาณประชากร ไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาคุณภาพ ประเทศไทยเองก็ต้องดูแลแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ แก้ความยากจนไปด้วย 

นอกจากนี้ ไทยอาจจะต้องมีแนวทางในเรื่องการบูรณาการความเป็นคนของชาติ ยกตัวอย่าง แคนาดา มีโครงการบูรณาการความเป็นคนของชาติ โดยมีโรงเรียนสอนภาษา สอนเรื่องวัฒนธรรม มีโครงการที่ทำให้เกิดการผสมกลมกลืนที่ดี คือ ให้บูรณาการเป็นคนไทย แต่ก็ไม่ต้องไปทำลายวัฒนธรรมเดิมที่เขามี ซึ่งเป็นข้อดีที่เขามีวัฒนธรรมเดิม เหมือนตอนนี้ที่ไทยก็มีลักษณะเป็นพหุวัฒนธรรม 

ประชากรเพิ่ม ประเทศก็ได้ภาษีเพิ่ม

ศ.เกียรติคุณ อภิชาติ ย้ำว่า ประชากรที่จะเข้ามาอยู่ในไทย ก็ต้องจ่ายภาษีเหมือนกับที่คนไทยจ่าย คือ การจ่ายภาษีทางอ้อมผ่านกิจกรรมต่าง ๆ และทางตรงภาษีเงินได้ นั่นหมายความว่า ไม่ใช่ว่าเขามาแย่งงาน แต่มาช่วยสนับสนุน

“ที่สำคัญก็คือ พอได้รับสถานะเป็นคนไทย ก็เหมือนคนไทยด้วยกัน เราก็มีคนไทย 45 ล้านคน ที่จะอยู่ด้วยกัน มันก็ดีกว่า 30 ล้าน”

ศ.เกียรติคุณ อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์

อนาคตต้องมี ‘หน่วยงานระดับกระทรวง’ จัดการนำเข้าประชากร

ถึงตรงนี้ ศ.เกียรติคุณ อภิชาติ ย้ำทิ้งท้ายว่า ภาครัฐไทยมองเห็นปัญหาเรื่องประชากรดี เห็นปัญหาคนเกิดน้อย เชื่อว่ามีการเตรียมความพร้อมมีนโยบายนำเข้าประชากร เพียงแต่ต้องอาศัย จังหวะ และรอฟังความเห็นจากประชาชนทั่วไป ซึ่งในอนาคตอาจจะต้องมีหน่วยงานระดับกระทรวงขึ้นมาจัดการเรื่องนี้โดยเฉพาะ เนื่องจากภาระงานที่มากขึ้น

ดังนั้นกระทรวงนี้ต้องดูแลเฉพาะการนำเข้าประชากรใน 5 ประเด็น

  1. ตั้งเป้าว่าจะนำเข้ามาให้ได้จำนวนเท่าไร

  2. กำหนดคุณสมบัติ

  3. บูรณาการความเป็นคนของชาติ

  4. การดูแล

  5. ประสานงานกับหน่วยงานความมั่นคง ติดตามผล

“ถ้าเกิดเป็นพวกสีเทาเข้ามาจะทำอย่างไร คือ ติดตาม ประเมินผล ให้ชัดเจน อย่างที่ สหรัฐอเมริกา มีถึงขนาดตำรวจที่คอยดูว่าทำผิดกฎหมายหรือเปล่า จะไม่ใช่แค่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง แต่ว่าอาจจะเป็นตำรวจที่อยู่ในเมือง และดูแลคนเข้าเมืองอีกทีหนึ่ง”

ศ.เกียรติคุณ อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์

ภายใต้สถานการณ์ และความสุ่มเสี่ยงการลดลงของประชากรไทย สุดท้ายไม่ว่าจะจบลงแบบไหน แต่การเตรียมรับมือ โดยอาศัยหลากหลายแนวทางที่เป็นไปได้ ก็ถือเป็นทางเลือกเพื่อไม่ให้ไทยเผชิญกับวิกฤตประชากรอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์

สำคัญกว่านั้น คือ ทุกความพยายามกับการหาทางออกเรื่องนี้ จำเป็นที่ต้องอาศัยความชัดเจนจากฝ่ายนโยบาย ไม่ว่าจะสนับสนุนให้คนไทยมีลูก ก็ต้องมาพร้อมสิทธิ สวัสดิการ ที่ควรจะเป็น เพื่อพัฒนาทุนมนุษย์ให้มีคุณภาพ

เช่นกันกับความพยายามนำเข้าประชากร ผ่านการเร่งรัดกระบวนการรับรองสัญชาติ สําหรับคนที่กลมกลืนแล้วกับประเทศไทย ท่ามกลางอีกหลากหลายมิติที่จำเป็นต้องเร่งทำความเข้าใจ นี่คือสิ่งที่รัฐไม่ควรมองข้าม