จนเพราะขี้เกียจ?
วัฒนธรรมผลิตซ้ำความยากจนหรือมายาคติ?
ถกแนวคิดของนักมานุษยวิทยา กับ ผศ.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านคำอธิบาย “นิยามความจน” ทุกบรรทัดชวนกระเทาะเปลือก “ความจน” เผย “เงา” ของโครงสร้างและบริบทที่กดทับ
ความจนในสายตาของคนทั่วไป
ปกติแล้วเมื่อพูดถึงความจน คนมักให้ความสนใจกับความจนในมิติเชิงเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นผลมาจากธรรมชาติของวิชาเศรษฐศาสตร์ ที่เน้นอธิบายปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจ ดังนั้น เมื่อพูดถึงความจนแล้วคนส่วนใหญ่จึงนึกถึงมิติด้านรายได้ที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต นอกจากนั้น ยังมีเส้นความยากจนที่ถูกคำนวณมาด้วยวิธีทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อเป็นเครื่องมือในการประเมินความยากจน ซึ่งปัจจุบันยังคงมีการถกเถียงถึงวิธีการได้มา ซึ่งฐานตัวเลขเส้นความยากจนว่าเท่าไรจึงจะมีความสมเหตุสมผลที่จะใช้อ้างอิงความยากจนได้
นอกจากนั้น ยังมีข้อวิจารณ์ว่าการวัดความยากจนจากมิติด้านรายได้เพียงอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอต่อการอธิบายปรากฏการณ์ในเชิงลึก หากแต่ต้องพิจารณาถึงปัจจัยที่หลากหลายกว่านั้น (multi-poverty index) ยกตัวอย่างเช่น แนวคิดของ อมาตยา เซน ที่กล่าวว่า เราไม่อาจวัดความยากจนแต่เฉพาะมิติเชิงรายได้เท่านั้น แต่ต้องมองรวมถึงความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและศักยภาพส่วนบุคคลด้วย
ความจนในสายตานักมานุษยวิทยา
นักมานุษยวิทยาเห็นว่าเราไม่ควรมองคนผ่านกรอบวัดใดเพียงอย่างเดียว เพราะนั่นเท่ากับการละเลยความหลากหลายของความเป็นมนุษย์ และมองคนอย่างแยกออกจากโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจเฉพาะที่พวกเขาต้องเผชิญอยู่ กล่าวให้ชัดก็คือ นักมานุษยวิทยาไม่สนใจความจนในเชิงตัวเลข แต่สนใจความจนในเชิงคุณภาพ นั่นคือ ความจนในเชิงโครงสร้างและบริบทที่ประกอบสร้างความจนนั้น อย่างไรก็ตาม ข้อวิจารณ์ที่นักมานุษยวิทยาและนักสังคมวิทยาโดนโจมตีมาตลอด ก็คือการที่งานศึกษาของพวกเขาไม่สามารถใช้ประเมินสิ่งใดในเชิงปริมาณได้ จนทำให้งานดูเลื่อนลอยและไม่มีรูปธรรมที่ชัดเจนนัก
นักมานุษยวิทยายังมองความจนแบบ subjective นั่นคือมองความจนผ่านการตีความจากมุมมองของคนที่นักมานุษยวิทยาเข้าไปศึกษา (ไม่ตัดสินจากมุมมองของตัวเอง) เช่น คนที่ไม่ได้มีทรัพย์สมบัติมาก แต่บอกว่าตัวเองพอใจกับความเป็นอยู่ทุกวันนี้ดี ซึ่งเราไม่สามารถเข้าไปบอกได้ว่าเขาจนเพราะเขาเองก็มีความพึงพอใจในชีวิตของตัวเองอยู่พอสมควร เป็นต้น ในทางกลับกัน แม้คนจำนวนหนึ่งจะถือครองทรัพย์สินหรือมีปัจจัยหลักในการดำรงชีวิตอย่างเพียงพอแล้ว แต่หากคนกลุ่มนี้มองว่าที่เขามีอยู่นั้นเต็มไปด้วยความไม่เป็นธรรมในการได้มา หรือความเป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรที่ต้องใช้ความพยายามที่มากกว่า การตัดสินความจนในแง่นี้ จึงเป็นเรื่องที่ยากและไม่อาจวัดได้แต่เฉพาะจากเส้นความยากจนเท่านั้น
ออสการ์ ลูอีส: วัฒนธรรมความยากจน
งานศึกษาของ ออสการ์ ลูอีส (Oscar Lewis) นักมานุษยวิทยาที่ศึกษาความจนของคนในอเมริกากลาง ได้ทำให้เกิดดีเบตต่อความจนอย่างกว้างขวาง โดยเขาเสนอว่า คนจนนั้นเป็นผู้ที่ผลิตซ้ำความยากจนของตัวเองหรือไม่ จากนั้นลูอีสจึงไปศึกษาสังคมที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากชนบทเข้าสู่เมือง ซึ่งทำให้เขาพบวัฒนธรรมความยากจนที่แตกต่างจากมิติทางเศรษฐศาสตร์ นั่นเพราะลูอีสพบกับดักที่คนยากจนติดมาจากพฤติกรรมของตัวเอง จนทำให้พวกเขาผลิตซ้ำความยากจนขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า เช่น การที่คนจนไม่สามารถมีงานทำที่มั่นคงหรือการที่คนจนรู้สึกว่าตัวเองแปลกแยกกับสถาบันทางสังคมอื่น (การรู้สึกเป็นอื่นในสังคม) หรือหากเปรียบกับคนไทยก็เช่น มายาคติที่ว่าคนจนชอบเล่นการพนัน ขี้เกียจ พึ่งโชคชะตา ฯลฯ เหล่านี้ ลูอีสเรียกว่าวัฒนธรรมความยากจน
ข้อถกเถียงของนักมานุษยวิทยาจำนวนหนึ่งต่อข้อเสนอเรื่องวัฒนธรรมความยากจนของลูอีสก็คือ ลูอีสเข้าไปศึกษาคนจนโดยไม่เข้าใจบริบทในสังคมนั้น ทำให้เขาวาดภาพคนจนโดยที่ไม่เข้าใจเงื่อนไขเชิงโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจของคนจน ดังนั้น ความจนจึงไม่อาจมองได้ผ่านเงื่อนไขส่วนบุคคล หรือในเชิงการแปะป้ายพฤติกรรมอย่างเหมารวม แต่ควรพิจารณาเงื่อนไขเชิงโครงสร้างที่ทำให้คนจนไม่สามารถยกระดับหรือลืมตาอ้าปากภายในโครงสร้างที่พวกเขาเสียเปรียบได้
ข้ออ่อนของคำว่า “การเติบโตทางเศรษฐกิจ”
หากพิจารณาตามองค์ความรู้ของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่เชื่อเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจ เราก็จะเห็นการพูดถึงเรื่องการขยายตัวของ GDP เพื่อวัดค่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งแผนพัฒนาดังกล่าวได้ย้อนกลับมาประกอบสร้างพฤติกรรมการผลิตของคนในสังคม เช่น เกษตรกรที่ไม่อาจปลูกพืชเพื่อการบริโภคได้อีกต่อไป แต่ต้องปลูกเพื่อส่งออกด้วย แต่การเน้นมองแต่เพียงการเติบโตของเศรษฐกิจ ก็จะมีข้อโต้แย้งว่าสัดส่วนของการกระจายการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นกลับกระจุกอยู่เพียงแค่คนเพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงปี 2530 ก็ได้ช่วยยกระดับชีวิตของคนจำนวนหนึ่งขึ้นมา ทำให้คนจนในไทยไม่ได้มีภาพจำของความยากจนแบบภาพความอิดโรยในอเมริกา ดังนั้น โจทย์สำคัญก็คือ จะทำอย่างไรให้เกิดการแจกจ่ายผลผลิตทางเศรษฐกิจให้กับคนในทุกชนชั้นอย่างทั่วถึง
“ไม่มีความยากจนในหมู่คนขยัน” ดังนั้น คนจนก็เพราะขี้เกียจ
คนจน มักถูกมองและตัดสินจากภาพจำที่ว่าพวกเขาจนเพราะขี้เกียจ แต่จากการศึกษาของ บุญเลิศ พบว่า คนจนนั้นเกิดขึ้นได้เพราะพวกเขาไม่ได้รับการจ้างงาน หรือไม่มีงานพอที่จะให้พวกเขาทำ (คนจนจะอยู่รอดได้ก็ด้วยการประกอบอาชีพการงานหลายอย่างเพราะได้ค่าแรงที่ต่ำ) นอกจากนั้น คนจนยังพยายามดิ้นรนสูงกว่าคนทั่วไปในสังคม แต่เพราะพวกเขาปราศจากการส่งเสริมอย่างเป็นธรรมจึงทำให้ต้องหลุดออกจากระบบในที่สุด
นอกจากนั้น คนจนยังไม่ได้ไร้ความสามารถในการคิดหรือตามมายาคติที่ว่าคนจนจะต้อง “โง่” โดย บุญเลิศ ชี้ถึงวิธีการที่คนจนเลือกใช้จัดการกับความจน เช่น การเล่นแชร์เพื่อการบริหารเงินมาใช้ ซึ่งการเล่นแชร์นี้ ก็สะท้อนให้เห็นความสามารถในการจัดการของคนจนได้ในรูปแบบหนึ่ง
ถูกทำให้จนโดยกระบวนการพัฒนา
ตามหลักพจนานุกรมแล้ว การพัฒนาหมายถึงการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การพัฒนาดังกล่าวก็ทำให้เกิดการลิดรอนหรือตัดโอกาสการเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ดังนั้น ในการพัฒนาจึงมีคนจำนวนหนึ่งที่เสียเปรียบอยู่เสมอ เหล่านี้จึงเป็นการถูกทำให้จนโดยกระบวนการพัฒนา
ในทศวรรษ 2540 คนจะรู้จัก สมัชชาคนจน นิยามคนจนของสมัชชาคนจนจะไม่ใช่การยากจนในเชิงเศรษฐกิจ แต่เป็นความจนในแง่ของโอกาส อำนาจ และการมีส่วนร่วมต่อกระบวนการพัฒนา นั่นเพราะพวกเขาถูกกีดกันออกจากกระบวนการตัดสินใจต่อการพัฒนา หรือการถูกเบียดขับออกจากการยังชีพในภาคการเกษตร จนต้องเปลี่ยนมาเป็นแรงงานราคาถูกในเมือง กระบวนการเหล่านี้จึงผลักคนส่วนหนึ่งออกมา ในทางมานุษยวิทยาจึงมองว่าการเปลี่ยนแปลงบางครั้งก็ทำให้คนกลุ่มหนึ่งสูญเสียทรัพยากร และเมื่อพวกเขาเข้ามาในสนามที่มีต้นทุนต่ำกว่าคนอื่น เช่น มีการศึกษาต่ำกว่าคนอื่น พวกเขาจึงต้องทำงานที่ได้รับค่าแรงต่ำกว่าคนที่มีการศึกษาสูง นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาจน
ในที่นี้ การพัฒนาจึงสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของคนกลุ่มหนึ่งได้ แต่การจำหน่ายผลผลิตที่ได้จากการพัฒนาก็มีความไม่สมดุล เช่น การสร้างเขื่อนที่ทำให้คนจำนวนหนึ่งถูกยึดทรัพยากรในการดำรงชีวิต และได้รับค่าชดเชยในราคาที่ถูกมาก แต่ผลที่ได้จากการสร้างเขื่อนหรือไฟฟ้านั้นกลับถูกส่งไปเลี้ยงคนเมืองมากกว่า และให้ผลประโยชน์น้อยมากกลับคืนสู่คนในพื้นที่นั้น การสร้างเขื่อนยังเป็นตัวอย่างที่ดีของการที่ผู้มีอำนาจเลือกให้หน่วยใดหน่วยหนึ่งได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเท่านั้น ส่วนภาคส่วนอื่นก็ถูกทำให้ล่มสลาย ทางสังคมวิทยาจึงเรียกปรากฏการณ์เช่นนี้ว่า urban bias หรือ การพัฒนากลายเป็นเมืองที่ไม่สมดุล ที่ขยายช่องว่างของความเหลื่อมล้ำให้เพิ่มสูงมากขึ้น
บุญเลิศ ย้ำว่าการพัฒนานั้นจำเป็นจะต้องคำนึงถึงผลทางสังคมเป็นอันดับต้นมากกว่า การพัฒนาในปัจจุบันนี้คำนึงผลทางด้านสถิติเป็นสำคัญ เช่น โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่เป็นการเปลี่ยนทรัพยากรและบ้านเรือนของคนในพื้นที่ให้กลายเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่พวกเขาไม่มีสิทธิอยู่อาศัยอีกต่อไป การพัฒนาที่มีความลำเอียงตั้งแต่ต้นว่าการพัฒนาจะยอมสูญเสียสิ่งใดเพื่อให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงทำให้เกิดการลิดรอนสิทธิของพลเมืองลงไปด้วย แต่หากเราคำนึงถึงผลทางสังคมตั้งแต่ต้นมากกว่าการหามาตรการเยียวยาในภายหลัง นั่นทำให้การมีส่วนร่วมและการแสวงหาทางเลือกของการพัฒนาจึงต้องเป็นเรื่องที่ต้องพูดถึงให้เป็นวงกว้างมากขึ้น
ยากจนสุดขั้ว ยากไร้สุดขั้ว
บุญเลิศ เสนอว่าคนไร้บ้านเป็นตัวอย่างที่ดีว่าการวัดความยากจนไม่สามารถวัดได้จากมิติทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งที่ทำให้เรื่องคนไร้บ้านเป็นเรื่องที่กระทบความรู้สึกของคนก็เนื่องมาจากว่า เราทราบดีว่าเรื่องที่อยู่อาศัยเป็นปัจจัยสี่ของการดำรงชีพของมนุษย์ ดังนั้น เมื่อคนจำนวนหนึ่งต้องอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีที่อยู่อาศัย จึงเป็นสภาวะที่กระทบความรู้สึกของคนเป็นจำนวนมาก นักมานุษยวิทยาจึงสนใจรูปแบบความจนที่แตกต่างกันเช่นนี้
นอกจากนั้น ยังมีคนไร้บ้านที่เต็มใจมาอยู่อาศัยที่ข้างถนนด้วยตนเอง บุญเลิศ เสนอว่าเราควรตั้งคำถามว่าทำไมคนไร้บ้านกลุ่มนี้จึงตอบว่าพวกเขาเลือกที่จะมาอยู่ข้างถนนเอง เพราะหลายครั้งการตอบว่า เลือก ก็เป็นการตอบเพื่อจะรักษาศักดิ์ศรีของตนเองว่าเขาไม่ได้ถูกไล่ออกมาจากบ้านเอง เราจึงต้องมองหาความกว้างขวางหรือลึกซึ้งของคำตอบที่ปรากฏในสังคมให้ถี่ถ้วนด้วย บุญเลิศยกกรณีของคนไร้บ้านในไทยว่า เมื่อพวกเขาไม่สามารถคาดหวังให้สวัสดิการของรัฐดูแลพวกเขาได้อย่างครอบคลุมได้ คนไทยจึงผูกติดการดูแลตนเองเข้ากับครอบครัว
ดังนั้น เมื่อทรัพยากรในครอบครัวไม่สามารถโอบอุ้มพวกเขาได้หลายครั้งจึงเป็นเหตุจำเป็นที่ทำให้คนส่วนหนึ่งต้องจำออกจากบ้านและกลายเป็นคนไร้บ้านในที่สุด หากพิจารณามิติคนไร้บ้านในไทย บุญเลิศชี้ให้เห็นว่าปัญหาการไร้บ้านมักจะเกี่ยวพันกับเรื่องทางครอบครัวเป็นส่วนมาก ขณะที่ต่างประเทศจะเป็นเรื่องของการจ้างงานที่น้อยจนทำให้คนหลุดออกจากระบบ ในที่นี้ งานมานุษยวิทยาจึงชี้ให้เห็นกระบวนการกลายเป็นอะไรสักอย่างหนึ่ง (หรือการประกอบสร้างปรากฏการณ์นั้น ๆ ) มากกว่าการวัดด้วยตัวเลขสุทธิว่าอะไรมีค่าเท่าไร
นอกจากนั้น ยังมีคนส่วนหนึ่งที่อาศัยอยู่แบบเช่าอาศัยในเมืองและทำงานอย่างหนัก แต่คนกลุ่มนี้มักไม่ถูกมองเห็น นั่นเพราะพวกเขาเป็นกลุ่มคนที่ดูเหมือนจะทำงานหนักและมีฐานะที่ไม่แย่เหมือนคนจนที่อยู่ในสลัม ความจนของคนกลุ่มนี้จึงไม่ถูกมองและพูดถึงจากคนทั่วไป
คนไร้สิทธิ
เราให้ความสำคัญกับแรงงานข้ามชาติน้อยเกินไป แรงงานข้ามชาติที่กระจายอยู่ในเมืองไทยอย่างมากนั้น เป็นคนอีกกลุ่มที่เราต้องการขูดรีดแรงงานจากเขา โดยไม่สนใจคุณภาพชีวิตเขาเลยว่าเขาจะอยู่กันอย่างไร นอกจากนั้น แรงงานรายวันก็เป็นคนอีกลุ่มที่ตั้งอยู่บนความไม่มั่นคงและไม่มีสวัสดิการสังคม คนกลุ่มนี้ ยังเป็นคนที่ไร้สิทธิและไร้เสียง สังคมให้ความสนใจน้อย นอกจากนั้น บุญเลิศยังมองว่าแม้ตัวเลขความยากจนของไทยจะลดลงมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้น คือ ครัวเรือนของผู้สูงอายุ เราจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาตัวเลขการจ้างงานของไทยนั้นผูกติดอยู่กับแรงงานนอกระบบเป็นส่วนมาก แต่เมื่อพ้นวัยเกษียณ คนจำนวนหนึ่งเลือกที่จะกลับภาคการเกษตร แต่ก็ยังมีคนจำนวนหนึ่งที่กลับไปไม่ได้ซึ่งก็คือกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวในเมืองที่แทบจะไม่มีหลักประกันใดในสังคมเลย
คนจนเมืองไม่ใช่แค่คนในสลัม
บุญเลิศเล่าถึงงานวิจัยเรื่องคนจนเมืองที่กำลังทำอยู่ว่า เหตุที่เลือกใช้คำว่า คนจนเมือง ก็เพราะว่าต้องการให้ภาพกว้างของคนจนที่อยู่อาศัยในเมืองที่ไม่ใช่แค่เฉพาะคนในสลัมเท่านั้น บุญเลิศพบว่าคนบางกลุ่มที่เช่าที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง บางส่วนก็เสียผลประโยชน์มากกว่าคนในชุมชนแออัดเสียอีก นั่นเพราะคนในชุมชนแออัดไม่เสียค่าที่ดินและเป็นเจ้าของบ้าน จึงทำให้ต้นทุนด้านที่อยู่อาศัยถูกกว่าคนที่เป็นผู้เช่าที่อยู่อาศัยราคาถูก แต่ไม่มีกรรมสิทธิ์ครอบครองที่อยู่อาศัย แต่พวกเขากลับไม่ได้รับความสนใจจากคนทั่วไป รวมถึงหน่วยงานรัฐมากนัก ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีการแจกถุงยังชีพ ทางรัฐบาลก็จะประเมินตัวเลขว่าในแต่ละชุมชนมีคนจนอยู่กี่ครัวเรือน ซึ่งทั้งหมดนั้นถูกวัดจากการที่พวกเขามีทะเบียนบ้านอยู่อาศัย แต่คนที่ไม่มีทะเบียนบ้านก็จะไม่มีสิทธิได้รับสวัสดิการหรือความช่วยเหลือดังกล่าว หรือโครงการที่เกี่ยวกับบ้านพักอาศัย ผู้เช่าก็มักจะได้รับความสำคัญเป็นอันดับท้าย ๆ คนจนกลุ่มนี้จึงเป็นคนที่เสียเปรียบกว่าคนจนที่มีทะเบียนบ้านชัดเจน
คนจนเมือง 3 แบบ
บุญเลิศ แบ่งประเภทคนจนเมืองออกเป็น 3 แบบ คือ
1 – คนจนเมืองที่อยู่อาศัยในชุมชนเก่า เช่น ชุมชนป้อมมหากาฬ คนในชุมชนดังกล่าวไม่ได้เป็นผู้อพยพ แต่เป็นผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชนดังกล่าวมานานแล้ว และมีการเช่าที่ดินอย่างถูกกฎหมาย แต่เมื่อเกิดการขยายตัวของเมืองทำให้เกิดสภาพแออัด
2 – คนจนในที่บุกรุก คือ คนจนที่อพยพเข้ามาแล้วเข้ามาอยู่อาศัยในที่รกร้างว่างเปล่า (บุญเลิศเล่าว่าตอนนั้น เมืองมีความต้องการแรงงานที่อยู่อาศัยใกล้ท่าเรือ แต่ไม่มีใครคิดว่าคนกลุ่มนี้จะกลายเป็นผู้บุกรุกภายหลัง)
3 – คนเช่า ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เข้ามาทีหลังในช่วงที่ไม่เหลือพื้นที่รกร้างว่างเปล่าให้จับจองอีกต่อไป คนกลุ่มนี้อาจมาจากภาคการเกษตรที่มีรายได้ไม่พอ จนต้องเข้ามาหารายได้ในเมือง คนกลุ่มนี้จะมีระยะเวลาอพยพเข้าเมืองไม่เกิน 20 ปี
การยกระดับของคนจน
บุญเลิศพบว่าการยกระดับทางสังคมและเศรษฐกิจของคนในสลัมนั้น มีลักษณะ เช่น โตมากับพ่อแม่ที่เป็นผู้ประกอบการ (เป็นเจ้าของกิจการ เช่น แม่ค้าขายลูกชิ้น ซึ่งสามารถมีโรงงานเล็ก ๆ ในบ้านเพื่อผลิตลูกชิ้นขายเอง หรือกิจการขายก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น) ส่วนคนรุ่นหลังจะยกระดับตัวเองจากการมีการศึกษาที่ดีขึ้นมากกว่า เพราะการศึกษาเอื้อให้พวกเขาเข้าถึงการทำงานที่ดีกว่ารุ่นพ่อแม่ได้ รวมถึงต้องทำให้บริการทางสังคมนั้นเข้าถึงและถ้วนหน้าต่อคนทุกกลุ่มอีกด้วย
การจะทำให้คนจนยกระดับตัวเองได้นั้น เราจำเป็นจะต้องทำให้การเข้าถึงการศึกษาหรือทักษะเข้าถึงคนทุกคนได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม นอกจากนั้นยังควรมีหน้าข่ายทางสังคม (social safety net) และสวัสดิการต่าง ๆ ที่รองรับคนทุกกลุ่มอายุให้สามารถประคองตัวเองได้แม้จะเผชิญวิกฤตใด
ความทุกข์หลายระดับของคนจน (social violence)
บุญเลิศเล่าว่าคนจนระดับล่างมาก ๆ นั้น ไม่ทุกข์เท่ากับคนจนที่พยายามจะไต่เต้าทางสังคมและเศรษฐกิจ เพื่อให้พวกเขาได้เป็นชนชั้นกลาง เช่น การที่เราอยู่ในสังคมที่มีการบริโภคแบบหนึ่ง แต่เราไม่ได้มีวัตถุสำหรับการบริโภคแบบนั้น หรืออยู่ในสังคมที่เคยมีคุณภาพชีวิตที่แบบนั้นแต่ตอนนี้ไม่มี มันจึงมีความจำเป็นที่ต้องกระเถิบตัวเองให้มีมาตรฐานการครองชีพที่ดีเหมือนเดิม ความรุนแรงทางสังคมในที่นี้ จึงเป็นความรุนแรงที่เกิดจากบรรทัดฐานทางสังคม หรือเป็นความกดดันจากสังคมการบริโภคทางเศรษฐกิจที่เกินกำลังและทรัพยากรที่บุคคลนั้นมีอยู่
มายาคติเกี่ยวกับคนจน
บุญเลิศชวนตั้งคำถามว่าสื่อนำเสนอภาพที่เต็มไปด้วยอคติต่อคนจนอย่างไรบ้าง โดยแบ่งเป็นประเด็น ดังนี้
1 – การรายงานข่าวเกี่ยวกับคนจนที่มักให้ความสำคัญกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นช่วง ๆ แต่ไม่ให้กับความจนที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวันมากเท่าไรนัก
2 – การสร้างภาพลักษณ์คนจนให้ถูกจำในทางที่ผิด เช่น เมื่อคนจนทำผิด จะถูกรายงานด้วยภาษาในทางที่ไม่ดี แต่หากเป็นคนรวยทำผิดก็จะถูกรายงานด้วยคำว่าพลั้งเผลอ (หากคนรวยโกงเงินในตลาหุ้น จะใช้คำว่า “พ่อมดทางการเงิน” ซึ่งเป็นการยกย่องความสามารถในการโกงมากกว่าจะบอกว่าเขาโกงอย่างตรงไปตรงมา)
3 – ตัวเลขคนจนในสื่อที่รายงานว่ามากขึ้นหรือน้อยลงนั้น เป็นการลดทอนความยากจนหรือชีวิตของคนจนให้เหลือเป็นตัวเลขเท่านั้น
4 – คนรวยมักจะถูกพูดถึงในเชิงใจบุญมากกว่า และได้รับพื้นที่สื่อมากกว่าปัญหาตรงหน้า (ความจน) ที่เกิดขึ้น ส่วนภาพความจนมักถูกนำเสนอในเชิงจนแบบสุดขั้วเพื่อเรียกร้องความเห็นใจหรือการที่คนจนต้องทำความดีเข้าแลก
อย่าเห็นชีวิตของคนจนเป็นเรื่องธรรมดา
บุญเลิศมองว่าการทำให้ทุกอย่างเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ (normalisation) ถือเป็นความรุนแรงในชีวิตประจำวันอย่างหนึ่ง เช่น การที่เราไปแจกข้าวคนข้างถนนแล้วเราก็สบายใจว่าเราได้ช่วยให้เขาได้อิ่มแล้วนั้น กลับไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรที่เป็นสาระสำคัญ ในทางมานุษยวิทยาจะสนใจการไปให้ไกลกว่าการประณามเหยื่อ เราจึงไม่อาจพูดถึงคนจนเพียงแค่พฤติกรรมของเขาโดยไม่พูดถึงโครงสร้างอื่นที่ทำให้เขาเสียเปรียบ
ชนชั้นที่ถูกทำให้มองไม่เห็น
ในเชิงแนวคิดนั้น ชนชั้นถือเป็นเครื่องชี้วัดให้เห็นว่ามีคนจน ในทางสังคมวิทยานั้นจะนำเสนอว่าการมีชนชั้นนั้นถือเป็นเรื่องปกติทางสังคม แต่สิ่งที่ไม่ปกติก็คือเรามักไม่ยอมรับการมีอยู่ของชนชั้น บุญเลิศยกตัวอย่างเช่น หากเราอยู่ในสังคมหรือชนชั้นที่ถูกเอาเปรียบเราก็จะรู้สึกอยากแก้ไขมัน แต่หากไม่เดือดร้อนโดยตรงที่ตนเองก็จะไม่ทำอะไร นัยยะของคำว่าชนชั้นในทางมาร์กซิสยังมองว่ามันมีชนชั้นหนึ่งเอาเปรียบอีกชนชั้นหนึ่ง อย่างไรก็ตาม คำว่าชนชั้นมักถูกมองว่าไม่เข้ากับสังคมไทย เพราะเรามีลำดับชั้นทางสังคมที่คนในลำดับบนจะใจดีกับคนที่อยู่ต่ำลงมา การไม่ยอมรับการมีอยู่ของชนชั้นจึงนำไปสู่ความไม่เป็นธรรมและทำให้สถานการณ์ทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจแย่ลงไปกว่าเดิม โดยความแตกต่างนั้นยังถูกลดรูปให้เหลือเพียง “ความเห็นต่าง” ที่คนส่วนใหญ่ในสังคมมักมองว่านั่นเป็นสิ่งที่เป็นปกติ
แก้จนด้วยการคืนอำนาจให้ประชาชน
หากมองว่าความยากจนเป็นเรื่องเชิงโครงสร้างและขบวนการพัฒนาที่ไม่เป็นธรรมกับพวกเขา ดังนั้น จึงควรกลับไปที่เสียงส่วนใหญ่ของประชาชน เช่น งานวิจัยของคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ที่พบว่าความแตกต่างของความเหลื่อมล้ำนั้นจะลดน้อยลงในรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีแนวโน้มที่จะฟังประชาชนมากกว่าและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรได้ดีกว่า
ควรแจกเงินคนจนหรือไม่
นักมานุษยวิทยาพยายามหาคำตอบเพื่อโต้แย้งกับวาทกรรมหลักของความจน เช่น เรื่องการแจกเงินคนจนแล้วจะทำให้คนจนไม่มีแรงขับในการยกระดับตัวเอง ซึ่งหากย้อนมามองในเมืองไทยแล้วจะเห็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าสวัสดิการในสังคมไทยนั้นไม่เพียงพอให้คนจนกินอยู่แบบไม่ต้องขวนขวายเพิ่มด้วยซ้ำ
นอกจากนั้นเรายังต้องทำลายมายาคติที่ว่าคนจนขยันทำงานและไม่ได้งอมืองอเท้าเหมือนที่ใครหลายคนบอก เพราะการ romanticised คนจนนั้นก็ทำให้มองไม่เห็นภาพคนจนอีกหลายมิติด้วยเช่นกัน เพราะมันมีความไม่งดงามของคนจนอยู่ด้วย แต่ประเด็นสำคัญก็คือการทำความเข้าใจบริบทว่าทำไมคนจนถึงเป็นแบบนั้นมากกว่า
บุญเลิศชวนตั้งคำถามว่า เราจะเข้าใจแม้กระทั่งแง่มุมที่มันไม่งดงามของคนจนได้อย่างไร เช่น การเอาเปรียบในยุทธวิธี เพื่อชดเชยการสูญเสียในเชิงโครงสร้างของคนจนหลายคนเพื่อต่อสู้ให้อยู่รอดในระบบเศรษฐกิจ หรือทำไมคนถึงมาแย่งตู้ปันสุข เป็นต้น
ยังมีงานศึกษาเรื่องคนผิวสีที่ค้ายาเสพติด ของ Philippe Bourgois ซึ่งพบว่า เมื่องานในโรงงานหายไป ก็ไม่มีงานบริการอื่นใดให้คนผิวสีเหล่านี้ทำงานแล้ว เพราะพวกเขารู้สึกว่างานในภาคส่วนอื่นไม่ใช่งานในสนามของเขา คนผิวสีส่วนหนึ่งจึงต้องกลับไปค้ายาเสพติด ดังนั้น เราจะทำความเข้าใจแม้แต่เรื่องที่เข้าใจยากได้อย่างไร จึงเป็นโจทย์สำคัญที่สุดสำหรับการทำงานกับวาทกรรมความจน