ทบทวน วงจรอุบาทว์ของความจน ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 จากนิยาม “โง่ จน เจ็บ” สู่ “จนอำนาจ จนโอกาส และการเข้าถึงทรัพยากร”
ความยากลำบากของขบวนการภาคประชาชน ในการเรียกร้องการแก้ปัญหาความยากจน ก่อนพัฒนาสู่การเรียกร้องความเป็นธรรม ที่กินเวลานาน…
แต่ยังไม่สำเร็จ
ทำความรู้จักข้อเรียกร้อง เรื่องการกระจายทรัพยากร การกระจายอำนาจ และโครงสร้างทางการเมือง กับ ประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ)
การพัฒนา นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำและความจนได้อย่างไร
นิยามความยากจนในสายตาของรัฐยังคงเป็นความยากจนแบบเดิมเหมือนเมื่อ 60 ปีที่แล้ว ไม่เพียงเท่านั้น ในช่วงหลังการรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา อีกหนึ่งคำที่ถูกเพิ่มเข้ามาก็คือคำว่า “ยากไร้” โดยนัยยะของความยากจนนั้นมีขึ้นมาพร้อมกับการเกิดขึ้นของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (ปี 2504) ผ่านการที่ประเทศไทยได้หารือร่วมกับธนาคารโลกและประเทศแนวหน้าของโลก ว่าหากต้องจัดทำแผนพัฒนาขึ้นมาควรจะเป็นไปในแนวทางใด
ต้องไม่ลืมว่าในขณะนั้นประเทศผู้นำอย่างอเมริกาได้จัดลำดับให้ประเทศไทยให้เป็นประเทศ “ด้อยพัฒนา” ผ่านตัวชี้วัดว่าประเทศไทยยังไม่มีไฟฟ้า น้ำประปา หรือเครื่องมืออื่น ๆ ในการดำรงชีวิตอย่างทั่วถึง
นอกจากนั้น สำหรับธนาคารโลกแล้ว การด้อยพัฒนายังถูกคิดจากฐานของรายได้ ซึ่งทั้งหมดนั้นทำให้ประเทศไทยถูกกำหนดว่าจะต้องได้รับการพัฒนา และนำมาซึ่งการออกแบบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงการเกิดนิยามที่ถูกเรียกว่าเป็นวงจรอุบาทว์ของความจนอย่างนิยาม “โง่ จน เจ็บ”
โง่ – คือการไม่มีการศึกษา ตอนนั้นจึงเกิดการศึกษาว่าประชากรในชนบทนั้นเข้าถึงการศึกษาอย่างไร หรือจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีเท่าไร ซึ่งตัวเลขในพื้นที่ชนบทตอนนั้นก็นับว่าเท่ากับศูนย์ จึงเกิดการตีความว่าคนที่ขาดการศึกษานั้นเป็นคนโง่
ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยตามจังหวัดต่าง ๆ อย่างทั่วถึง แต่ก็เป็นการจัดการศึกษาอย่างไม่เป็นระบบและไม่มีความรอบคอบ จนทำให้เกิดปัญหาการว่างงาน ดังนั้น การจบการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือที่เรียกว่าเป็นคนมีการศึกษานั้น จึงไม่ได้เป็นหลักประกันว่าชีวิตจะมีความมั่นคงหรือหลุดพ้นจากความยากจนได้เลย นอกจากนั้น การศึกษายังอาจก่อหนี้ให้กับครัวเรือน เช่น การกู้ยืมเรียน นอกจากนั้น หลายคนยังต้องยอมลดวุฒิการศึกษาของตัวเองเพื่อสมัครงานที่ต้องการทักษะที่ต่ำกว่าการศึกษาในระดับปริญญาตรีด้วย ทั้งหมดนั้นจึงอาจนับว่าเป็นความสูญเปล่าทางการศึกษาได้ในทางหนึ่ง
จน – คือการพิจารณาเรื่องเศรษฐกิจผ่านมิติรายได้โดยใช้ฐานจากเส้นความยากจน ในแง่หนึ่ง การพิจารณาความจนโดยใช้ฐานจากเส้นความยากจนนี้ ถือเป็นการลดทอนศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ลงพอสมควร
เพราะสำหรับสังคมชนบทบางแห่งอาจไม่มีความจำเป็นต้องถือเงินไว้กับมือ แต่พวกเขาก็สามารถดำรงชีพอยู่ได้ เนื่องจากมีการผลิตข้าว รวมถึงสินค้าการเกษตร และทรัพยากรทั้งหลายในพื้นที่ด้วยตัวเอง หรือแลกเปลี่ยนกันภายในครัวเรือนหรือชุมชน
แต่เมื่อใช้มาตรวัดความจนจากมุมมองของต่างประเทศ แล้วจึงกลับกลายเป็นว่าประเทศไทยถูกจัดให้เป็นประเทศด้อยพัฒนาและมีความยากจนสูง เช่นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดอย่างจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งถือเป็นจังหวัดที่มีประชากรที่ยากจนเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย แต่ในขณะเดียวกัน จังหวัดแม่ฮ่องสอนก็กลับเป็นจังหวัดที่มีดัชนีชี้วัดความสุขเป็นอันดับหนึ่ง ดังนั้น การชี้วัดความยากจน อาจจะไม่สามารถวัดกันที่รายได้เพียงอย่างเดียว แต่มันวัดกันที่ความสามารถในการพึ่งพาตัวเองหรือการดำรงชีพอยู่ได้ด้วยปัจจัยการผลิตมากกว่า
เจ็บ – คือการเข้าไม่ถึงระบบการรักษาพยาบาลแพทย์แผนปัจจุบัน แต่ในขณะนั้นชนบทเองก็มีการรักษาแบบแพทย์แผนโบราณหรือสมุนไพรพื้นบ้าน ทำให้ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาระบบการดูแลรักษาแบบแพทย์แผนปัจจุบันซึ่งต้องใช้เงิน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านการสาธารณสุขนี้นำมาสู่การพัฒนาให้เกิดสถานีอนามัย โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลประจำจังหวัด รวมถึงโรงพยาบาลขนาดใหญ่ขึ้น ปัจจุบันสถานีอนามัยตามตำบลหรืออำเภอต่าง ๆ ก็ได้ยกระดับมาเป็นโรงพยาบาลที่มีมาตรฐานขึ้น แต่ประชาชนกลับเจ็บป่วยมากขึ้น
หากพิจารณาแล้วจะพบว่าในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินั้น เน้นให้ประชาชนสร้างรายได้จากการปลูกพืชเพื่อการส่งออก ทำให้ประชาชนต้องเปลี่ยนวิถีการผลิตจากเดิมที่ผลิตเพื่อการบริโภคในครัวเรือนหรือชุมชน มาเป็นการผลิตเพื่อขายหรือส่งออก นอกจากนั้น ก็ต้องหันมาปลูกพืชบางชนิด เช่น ข้าวโพดหรือมันสัมปะหลังที่ถูกส่งออกไปยุโรปหรืออเมริกาเพื่อผลิตอาหารเลี้ยงสัตว์ และการลงทุนเพื่อพัฒนาภาคการเกษตรนี้เองที่ทำให้เกษตรกรต้องหันมาพึ่งเครื่องจักรกล ปุ๋ยเคมี ซึ่งตามมาด้วยการเป็นหนี้
จากนั้นเป็นต้นมา จึงเกิดการจัดตั้งธนาคารเพื่อการเกษตร (ธกส.) เพื่อเป็นแหล่งทุนกับเกษตรกรเพื่อกู้ไปทำการเกษตร และนั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกษตรกรเกิดหนี้สินและจำเป็นต้องพึ่งปัจจัยการผลิตจากนอกครัวเรือนที่แม้จะทำให้เกิดการผลิตที่มากขึ้น แต่ก็มีต้นทุนที่สูงขึ้นจนในที่สุดไม่สามารถควบคุมกลไกการตลาดได้และเกิดเป็นหนี้ซ้ำซากและที่ดินหลุดมือจากเกษตรกรไปในที่สุด
เมื่อภาคเกษตรกรรมเกือบจะล่มสลายในนามของวาทกรรมการพัฒนา ส่วนหนึ่งของประชากรภาคชนบทจึงตัดสินใจเดินทางเข้าเมืองมาเพื่อหางานทำ จากนั้น จึงเกิดเป็นการอยู่อาศัยที่หนาแน่น เกิดสลัมหรือชุมชนแออัด ทั้งหมดนั้น นำมาสู่ข้อสรุปที่ว่าการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนนั้นอาจเกิดความผิดพลาดในระยะยาวและผลิตซ้ำความเหลื่อมล้ำของการพัฒนาได้อีกด้วย
ดังนั้น ภายใต้การชี้นำของธนาคารโลกและประเทศผู้นำต่าง ๆ จึงเกิดเป็นวาทกรรมและเครื่องมือที่ใช้วัดและแปะป้ายความจนกระทั่งนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในนามของการพัฒนาในที่สุด
ภาคประชาชนจึงเลือกที่จะนิยาม “ความยากจน” แตกต่างจากรัฐ โดยภาคประชาชนจะไม่ได้นำตัวเลขของรายได้ต่อเดือนมาเป็นบรรทัดฐาน แต่ใช้ความสามารถหรือศักยภาพในการพึ่งตนเอง หากประชาชนสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม รวมถึงการกระจายอำนาจในการเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ อย่างยั่งยืน คุณภาพชีวิตของประชากรก็จะดีขึ้นอย่างถ้วนหน้า โดยที่รัฐไม่มีความจำเป็นจะต้องไปสร้างโรงงานหรือทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายคนจากชนบทเข้ามาทำงานในเมืองแต่อย่างใด
เมื่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเดินทางมาถึงแผนที่ 6-7 ก็เริ่มเกิดคำถามเป็นวงกว้างว่าการพัฒนานี้ตามแผนเหล่านี้ สามารถนำคนไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้จริงหรือไม่ เพราะหากมองในเชิงประจักษ์แล้วก็จะเห็นว่า นอกจากคุณภาพชีวิตของประชากรจะไม่ได้ดีขึ้นแล้ว แผนพัฒนาฯ ยังก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำซึ่งเป็นสาเหตุที่นำมาสู่การขาดโอกาสและความยากจนขึ้นเป็นวงกว้าง
การเป็นทาสของสถาบันการเงินนานกว่า 20 ปี
นอกจากนั้นยังพบว่าที่ดินที่มีเอกสารสิทธิแล้วกลับตกไปไม่ถึงมือของคนจนหรือคนชนชั้นกลางด้วยซ้ำ หรือหากเข้าถึงได้ก็เกิดความลำบาก เพราะ 80 เปอร์เซ็นต์ของเอกสารสิทธิ์ หรือประมาณ 130 ล้านไร่ (รวมเอกสารสิทธิ์ 33 ฉบับ) เกิดกระจุกตัวอยู่ในมือของคนแค่ไม่เกิน 3 ล้านคน แต่ประชากรที่เหลือกลับกลายเป็นคนไร้ที่ดิน ทั้งที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยและที่ดินทำกิน และเมื่อเกิดความเหลื่อมล้ำขึ้น ชนชั้นกลางที่มีเงินเดือนระหว่าง 20,000 – 30,000 บาท หากต้องการมีที่อยู่อาศัย เช่น คอนโดมิเนียม ก็ต้องใช้เงินประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ในระยะยาวถึง 20-30 ปี ซึ่งทั้งหมดนั้นเกิดจากปัญหาการกระจุกตัวของที่ดินซึ่งรัฐปล่อยให้เกิดขึ้นตามกลไกตลาด
ความเหลื่อมล้ำด้านที่ดินนี้จึงเกิดผลกระทบไม่เพียงแต่เฉพาะคนจน แต่ยังรวมถึงชนชั้นกลางระดับล่างและกลางอีกด้วย และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมคนจนถึงเลือกที่จะไปตายเอาดาบหน้าอย่างการบุกรุกที่ดินของการรถไฟ บุกรุกที่ดินของเอกชน จนเกิดเป็นปัญหาความขัดแย้งขึ้น ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นเหตุผลมาจากการที่ทุกคนไม่มีทางเลือก ดังนั้น หากเราไม่กระจายสิทธิ์การถือครองที่ดินก็จะยิ่งส่งเสริมให้เกิดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมต่อเนื่องขึ้นอีกในอนาคต
กำเนิดสมัชชาคนจน
ต่อมาในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 จึงเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการออกแบบการพัฒนา และการกระจายทรัพยากรให้เข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างที่ควรจะเป็น เพราะความเหลื่อมล้ำก็ได้ปรากฏออกเป็นรูปธรรมผ่านการที่ประชาชนขาดโอกาสในการเข้าถึงอำนาจในการทรัพยากรอย่างเป็นธรรม และเกิดเป็นที่มาของการรวมตัวของคนจนในทุกภาคส่วนในนามของ “สมัชชาคนจน” เพื่อที่จะสะท้อนภาพว่าพวกเขาไม่ควรจะเป็นคนจนเลย
ตอนนั้นมีการแบ่งว่าพวกเขานั้นจนเพราะอะไร จนเพราะถูกสร้างเขื่อนทับพื้นที่ จนเพราะกฎหมายไม่เป็นธรรม จนเพราะค่าแรงต่ำ จนเพราะถูกกีดกันจากการเข้าใช้ประโยชน์จากทรัพยากร สมัชชาคนจนที่ก่อเกิดในช่วงปี 2538-2539 ได้สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นจากความเหลื่อมล้ำในเชิงโครงสร้างและทำให้คนจนเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรเพื่อการยังชีพได้อย่างเท่าเทียม หรือที่เรียกว่าการจนซ้ำซาก เพราะเมื่อเริ่มมีรายได้น้อยก็อาจจะมีโอกาสหลุดพ้นจากความยากจนได้ถ้าสามารถเข้าถึงทรัพยากรเพื่อการยังชีพและมีค่าแรงที่เป็นธรรม รวมถึงการได้รับการชดเชยจากผลกระทบจากโครงการของรัฐที่เป็นธรรม และมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม
เพราะฉะนั้น สำหรับสมัชชาคนจนแล้วพวกเขาไม่ได้ยากจนเงิน แต่พวกเขายากจนอำนาจในการต่อรอง คนจนจึงมักถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของผู้ที่มีอำนาจและถูกมองว่าเป็นพลเมืองชั้นสองและนำมาสู่การใช้เงินเพื่อซื้อสิทธิหาเสียง ตลอดจนโครงการประชานิยมและโครงการประชารัฐต่าง ๆ เพื่อชี้นำให้เกิดการลงคะแนนเลือกตั้ง
การทำให้คนรู้สึกไม่มีความหวังต่อคุณภาพชีวิตนั้นยังเพิ่มโอกาสการพึ่งพิงพรรคการเมืองและอิทธิพลทางการเมืองต่าง ๆ ความหวังที่จะกลับมาร่วมมือกันหรือพึ่งพากันเองจึงกลายมาเป็นการพึ่งพิงระบบรัฐ ระบบทุน และระบบการเงิน สงครามแย่งชิงมวลชนและสงครามเพื่อแย่งชินความจนจึงเกิดขึ้นในการเมืองไทยสูงมาก และเกิดเป็นการรัฐประหารต่อเนื่องมา
คนจน จนซ้ำซาก แต่สถาบันการเงินมั่นคง
เมื่อหลุดพ้นจากความยากจนไม่ได้จึงเกิดเป็นความจนซ้ำซาก เช่น เริ่มจากการกู้เงิน ธกส. ทำการผลิตได้เงินมาแล้วก็ต้องนำไปใช้หนี้ ธกส. จนทำให้เงินหมดไป จนต้องไปกู้ใหม่เป็นวงจร ทำให้สถาบันการเงินอย่าง ธกส. ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อจะเป็นหน่วยงานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรนั้นครอบครองที่ดินซึ่งเป็นหลักประกันของเกษตรกรไปประมาณ 30 ล้านไร่ และที่ดินเหล่านี้อาจกำลังจะหลุดมือเนื่องจากความล้มเหลวและความสามารถในการจ่ายหนี้ นอกจากนั้น ธกส. จึงกลายเป็น “สถาบันเสือนอนกิน” จากการกินอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของเกษตรกร (เนื่องจาก ธกส. ได้เงินกู้เข้ามาในระบบด้วยดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 9 บาท แต่กลับนำมาปล่อยกู้ให้ประชาชนในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 14 บาท)
ด้วยความซื่อสัตย์ของเกษตรกรที่ใช้หนี้ตรงเวลาจึงทำให้ ธกส. กลายเป็นรัฐวิสาหกิจดีเด่นและมีผลการทำงานดี แต่ขณะที่เกษตรกรต้องอยู่ด้วยความยากลำบากเพื่อจะหาเงินมาใช้ ธกส. ให้ได้ ด้วยเหตุนี้เราจึงมองความยากจนเป็นเรื่องของบุคคลต่อไปไม่ได้ แต่ยังเป็นเรื่องของระบบเชิงโครงสร้างทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย
ทำอย่างไรให้ประชาชนหลุดพ้นจากนิยามความยากจน
ประยงค์ เสนอว่าต้องทำให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินและทรัพยากรที่เป็นธรรมและเพียงพอ เพื่อให้เกิดการยังชีพ ยกตัวอย่างเช่นการครอบครองที่ดินของกรมธนารักษ์ที่มีอยู่สูงกว่าทุกหน่วยงาน แต่ส่วนใหญ่ก็กลับอยู่ในการครอบครองและการใช้ประโยชน์ของทหารและกระทรวงกลาโหมเป็นหลัก ในขณะที่ประชาชนที่ไร้ที่ดินยังต้องเช่าที่ดินของกรมธนารักษ์ และการให้เช่าก็เป็นไปในระยะที่สั้นและไม่มีหลักประกันอะไรให้ผู้เช่ามากนัก
ดังนั้น หากเกิดการกระจายที่ดินที่รัฐไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้อย่างมหาศาลขนาดนั้น มากระจายไปยังคนจนให้เข้าถึงได้เพื่อให้พวกเขามีหลักประกันที่มั่นคงในเรื่องที่อยู่อาศัย ก็จะทำให้พวกเขาไม่ต้องหารายได้มาจ่ายค่าเช่าที่ดินหรือบ้านที่มีราคาสูงเกินกว่ากำลัง นอกจากนั้น การทำให้คนที่อยู่อาศัยในป่าสามารถพึ่งพาทรัพยากรเพื่อการยังชีพได้ ก็จะช่วยลดรายจ่ายของพวกเขาลงไปได้ และทำให้พวกเขาไม่ต้องจับจ่ายอาหารจากที่อื่นในเมื่อมีอาหารอยู่มากมายในชุมชนอยู่แล้ว และนี่จึงเป็นที่มาของการผลักดันให้แก้กฎหมายการปฏิรูปที่ดิน เพื่อให้เกษตรกรและคนจนสามารถเข้ามาครอบครองที่ดินเพื่อการเกษตรใน สปก. ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากที่ดินที่ควรจะอยู่ในมือของเกษตรกรมันไม่ได้อยู่ในมือของเกษตรกรอีกต่อไปแล้วอย่างไม่เป็นธรรม สิ่งนี้ยังสะท้อนให้เห็นโครงสร้างของการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรมและทำให้คนขาดโอกาสในการจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีจากการขาดทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต
นิยามความจนหลังเกิดสมัชชาคนจน
ประยงค์เล่าว่าความยากจนไม่ได้ถูกตีความในเรื่องรายได้ 3,000 บาทต่อเดือนอีกต่อไปแล้ว แต่ยังถูกตีความรวมไปถึงความยากจนอำนาจ โอกาส และการเข้าถึงทรัพยากร และนำมาสู่การเรียกร้องภายใต้สโลแกนที่ว่า “รัฐธรรมนูญที่กินได้ ประชาธิปไตยที่เห็นหัวคนจน” และเป็นที่มาของการเรียกร้องรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ให้สิทธิชุมชน สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาค รวมถึงเกิดการกระจายการถือครองที่ดิน
รัฐธรรมนูญปี 2540 ยังถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของประเทศไทยตั้งแต่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 เป็นต้นมา เพราะความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ รวมถึงเรื่องสิทธิชุมชน เรื่องการกระจายอำนาจให้ชุมชนจัดการทรัพยากรได้ถูกพูดและปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว
รัฐธรรมนูญที่กินได้ ประชาธิปไตยที่เห็นหัวคนจน
นั่นเพราะประชาธิปไตยไม่ควรจะเกิดขึ้นเพียงสามนาทีที่กาบัตรเลือกตั้ง จากนั้นอำนาจทุกอย่างก็ไปขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคนในสภา มันต้องเกิดกระบวนการมีส่วนร่วมและการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น การกระจายทรัพยากรไปสู่คนชั้นล่างหรือคนรากหญ้าอย่างแท้จริง
หลังจากวาทกรรมเรื่องคนจนถูกใช้อธิบายความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างอย่างชัดเจนตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา พัฒนาการของความจนก็ปรากฏชัดอีกรอบในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่มีความพยายามจะยกระดับการจัดการคนระดับรากหญ้าอีกครั้งผ่านวาทกรรมความยากจนที่ต่อสู้กับความเป็นธรรม และนำมาสู่ยุคที่ยกระดับความยากจนมาสู่ความเป็นธรรมผ่านการผลักดันและร่วมกันจัดตั้งขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เพราะฉะนั้น จึงไม่มีความยากจนที่มาจากความขี้เกียจ เพราะเราะเห็นได้ว่าคนยากจนบางคนทำงานตลอด 24 ชั่วโมง แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะพ้นจากกับดักความยากจนไปได้ เพราะการขาดโอกาสที่จะเข้าถึงอำนาจและการเข้าถึงปัจจัยสี่ที่เป็นธรรม เพราะมันมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เอาเปรียบ และมีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยที่สูงเกินกำลัง
การดำเนินงานของสมัชชาคนจนในช่วงหลัง จึงไม่ได้เรียกร้องเรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจนอีกต่อไปแล้ว แต่เรียกร้องเรื่องความเป็นธรรม เพราะเราเชื่อมั่นว่าจะไม่มีความยากจนในสังคมที่เป็นธรรม ไม่ใช่การไม่มีความยากจนในหมู่คนขี้เกียจ ความยากจนไม่ได้เกิดจากความขี้เกียจแต่มันเกิดจากความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในการพัฒนาที่ไม่เป็นธรรม แต่ถ้าเราเปลี่ยนให้คนจนกลับมามีอำนาจอธิปไตยและมีสิทธิที่จะกำหนดอนาคตของตัวเองในเรื่องของทรัพยากรท้องถิ่นและเรื่องการจัดการและตัดสินใจภายในท้องถิ่น รวมถึงการตัดสินใจในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่าง ๆ ทั้งหมดนั้น คือการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ซึ่งไม่ได้หมายถึงสิทธิชุมชนอย่างเดียวแต่คือประชาธิปไตยอย่างเป็นองค์รวม
สิ่งที่สมัชชาคนจนเรียกร้องจึงเป็น 1) กระบวนการกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรม 2) อำนาจในการตัดสินใจและกระบวนการมีส่วนร่วมกับอนาคตของประชาชนโดยประชาชน และ 3) โครงการในระบบประชาธิปไตยที่จะทำให้เกิดประชาธิปไตยทางตรงและทางอ้อม หรือที่เรียกว่าการเมืองภาคประชาชนที่เข้มแข็ง ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2540 แต่ก็ได้ถูกทำลายลงไปในปี 2549 จากการรัฐประหาร
กระบวนการเรียกร้องความเป็นธรรมที่กินเวลานาน แต่ยังคงไม่สำเร็จ
กระบวนการเรียกร้องความเป็นธรรมของสมัชชาคนจนนั้นเกิดขึ้นมาแล้วหลายทศวรรษ โดยหากกล่าวถึงการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในภาคเกษตรกรนั้น อาจนับได้ว่าเริ่มต้นมาแล้วตั้งแต่ช่วงปี 2516-2517 ในนามของ สมาพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย ซึ่งถือเป็นการรวมตัวกันครั้งแรกที่เกษตรกรลุกขึ้นมาเรียกร้องในเชิงโครงสร้างให้เกิดการกระจายที่ดินจนได้เป็น พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดิน แต่ในท้ายที่สุดแล้วในปัจจุบันก็เกิดการแทรกแซงของอำนาจรัฐส่วนบนจำนวนมากจนพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่เกษตรกรต้องการ
การพัฒนาที่ทำให้คนขับเน้นความเป็นปัจเจกของตนเองมากขึ้น ยังทำให้เกิดการรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องได้ยาก เพราะทุกอย่างถูกทำให้เป็นเรื่องของปัจเจกไม่ใช่เรื่องของส่วนรวม มันก็เลยทำให้การรวมตัวหรือการจัดตั้งสหภาพแรงงานถูกแทรกแซงและเกิดการกีดกันกันทางกฎหมาย นั่นจึงทำให้การต่อรองที่แท้จริงเกิดขึ้นไม่ได้ อีกทั้งมาตรการของรัฐเองก็กลับเน้นแก้ไขเรื่องเชิงปัจเจก แต่เรื่องทรัพยากรนั้นเป็นปัญหาร่วม แต่การคิดถึงปัจเจกมากขึ้นนั้นทำให้สังคมไม่คิดถึงทรัพยากรร่วม หรือหากชุมชนใดลุกขึ้นมาเรียกร้องเรื่องทรัพยากรร่วม คนในสังคมก็กลับไม่เข้าใจ คนในเมืองก็มีแนวโน้มที่จะไม่เข้าใจในระบบนี้จนเกิดเป็นคำถาม การดิ้นรนแบบปากกัดตีนถีบเพื่อให้มีชีวิตรอดนี้เองที่ทำให้สนึกการมีส่วนร่วมและสำนึกในการต่อสู้เชิงโครงสร้างนั้นลดลงไป
รัฐสวัสดิการ: ข้อเสนอของการกระจายอำนาจและทรัพยากร
ต้องทำให้คนในสังคมเห็นว่าปัญหาต่าง ๆ นั้นเป็นปัญหาร่วมกันของคนในสังคมหรือของแต่ละชนชั้น และทำให้เห็นความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม อย่างการทำอย่างไรให้เกิดรัฐสวัสดิการ เพื่อลดช่องว่างในการเข้าถึงทรัพยากรและปัจจัยสำหรับการดำรงชีวิตต่าง ๆ รวมถึงปัจจัยที่จะส่งเสริมให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างการสาธารณสุขและการศึกษา
ที่ผ่านมาเราจะเห็นความเหลื่อมล้ำทางงบประมาณในการดูแลประชาชน เช่น งบฯ ในการดูแลรักษาสุขภาพของข้าราชการที่มีงบต่อหัวสูงกว่าประชาชนทั่วไปมากกว่าประมาณ 10 เท่า แต่หากเกิดการเรียกร้องการเพิ่มงบประมาณบัตรทองให้ประชาชน รัฐกลับบอกว่าไม่มีงบประมาณ คำถามสำคัญจึงเป็นการทำอย่างไรให้เราสามารถเฉลี่ยทุกข์และเฉลี่ยสุขกันได้
นอกจากนั้นในด้านตัวเลขการกระจายการถือครองที่ดิน ทุกคนยังไม่เห็นว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำมันเป็นของทุกคนในสังคม ไม่ใช่แค่ของเกษตรกรหรือคนที่มีฐานะยากจน เพราะหากมองอย่างลึกซึ้งแล้วจะเห็นว่าคนที่ครอบครองที่ดินในไทยมีอยู่แค่ประมาณ 3 ล้านคน ในขณะที่คนที่ได้รับผลกระทบจากการประจุกตัวของที่ดินนั้นมีกระจายอยู่เป็นวงกว้าง นี่จึงเป็นภารกิจที่เราจะต้องสร้างความเข้าใจในสังคมเพื่อให้พวกเขาเข้าใจภาพความเหลื่อมล้ำนี้ได้อย่างชัดเจน ซึ่งทั้งหมดจะนำไปสู่การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐในเชิงโครงสร้างในที่สุด
เมื่อแผนพัฒนาฯ ไม่ได้ผล ต้องมีนวัตกรรมใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาสังคมมาแทนที่
เมื่อพิจารณาว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินั้นกลับเป็นตัวที่ก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำที่สูงมาก ดังนั้น จึงควรจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างและเชิงกฎหมาย ซึ่งต้องเริ่มต้นในเชิงนวัตกรรมใหม่ เช่น ระบบรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้าโดยไม่ใช้เกณฑ์ของรายได้มาเป็นหลักในการวัด แต่ทุกคนควรจะมีสวัสดิการเท่ากัน ไม่เพียงเท่านั้น ยังต้องทำงานเรื่องการกระจายการถือครองที่ดินผ่านกฎหมายการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าเพื่อให้คนทั้งประเทศได้มีโอกาสในการครอบครองที่ดินเพื่อการใช้ประโยชน์และความั่นคงทางที่อยู่อาศัย
ต่อมา คือการทำให้เสียงคนส่วนใหญ่นั้นดังเท่ากับเสียงของคนส่วนน้อยที่กุมอำนาจและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจไว้ และทำให้เกิดการตื่นตัวของประชาชนเพื่อให้เกิดการรับรู้ปัญหาเชิงโครงสร้างและนำไปสู่การแก้ปัญหาที่มากขึ้น นอกจากนั้น ธนาคารที่ดินยังเป็นนวัตกรรมที่ทำให้เอกสารสิทธิ์ที่ถือครองที่ดินถูกนำออกมากระจายให้กับคนจนหรือประชาชนทั่วไปได้มากขึ้น โดยป้องกันไม่ให้คนรวยสามารถเข้ามาซื้อที่ดินเหล่านี้ได้แล้ว ทางเลือกเหล่านี้ถือเป็นนวัตกรรมที่ควรจะมีเพื่อสร้างพื้นที่ให้กับคนที่ไร้โอกาสได้เข้าถึงโอกาสที่พวกเขาควรจะมีอย่างเป็นธรรม
อุปสรรคสำคัญของการทำงานเรื่องความเหลื่อมล้ำ
ฝ่ายการเมือง เราจำเป็นต้องมีนักการเมืองที่มีคุณภาพกว่านี้ อย่าผูกขาดการถือครองอำนาจไว้ที่นักการเมืองคนเดียวเป็นเวลานาน หากไม่เกิดการเปลี่ยนวิธีคิดของฝ่ายการเมือง ก็ไม่มีทางที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการลดความเหลื่อมล้ำได้เลย ประชาชนเองก็ต้องขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายเพื่อให้เกิดกลไกในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างเป็นระบบ
อย่าฝากความหวังและวิธีคิดใหม่ไว้กับโครงสร้างราชการและระบบกฎหมายอย่างเดิม เช่น ธนาคารที่ดินไม่ควรจะต้องไปอยู่ใต้การควบคุมของพระราชบัญญัติของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่มันควรเป็นธนาคารที่คุ้มครองให้ประชาชนได้เข้าถึงที่ดินไม่ใช่ธนาคารเพื่อรับฝากหรือปล่อยเงินกู้ เป็นต้น
ทำไมวิกฤตโควิดถึงรุนแรงกว่าวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540
หากตัวเลขประมาณการการตกงานที่ 7 ล้านคนเกิดขึ้นจริง คำถามสำคัญก็คือแล้วประชากรทั้ง 7 ล้านคนนี้จะไปอยู่ที่ไหน ประยงค์ ให้ความเห็นว่าส่วนหนึ่งจะต้องกลับต่างจังหวัดซึ่งไม่มีทางเลือกของอาชีพมากนัก ขณะที่โครงการเงินกู้ 4 แสนล้านบาท ก็กลับไม่ตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนเหล่านี้เลย แต่กลับไปตอบโจทย์การต่อเติมโครงสร้างถนน การติดตั้งกล้องวงจรปิด การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แต่เกิดการจ้างงานน้อยมาก ซึ่งคนที่กำลังจะหลุดจากระบบ 7 ล้านคนนี้จะมีชีวิตอยู่รอดได้อย่างไรหลังวิกฤตโรคระบาดนี้
เรื่องสำคัญที่ต้องทำให้เกิดก็คือเราจะต้องทำให้คนทั้ง 7 ล้านคนนี้มีอาชีพและที่ทางทำกินหากกลับไปยังต่างจังหวัด เนื่องจากสถานประกอบการบางแห่งอาจไม่มีโอกาสได้กลับมาเปิดอีก ดังนั้น แรงงานภาคบริการอาจจะไม่มีโอกาสได้กลับเข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมดังกล่าวต่ออีก ดังนั้น ทำอย่างไรให้พวกเขามีที่อยู่อาศัยที่ไม่ต้องเบียดเบียนต้นทุนรายเดือนมาก นอกจากนั้น หากพวกเขาอยากเปลี่ยนกลับไปเป็นเกษตรกร รัฐบาลก็จำเป็นจะต้องมีแนวทางหรือกลไกในการส่งเสริมอาชีพดังกล่าวให้พวกเขาสามารถพึ่งตนเองได้ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจและอาหาร
ความเหลื่อมล้ำในด้านรายได้ยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไข โดยหลังจากปี 2540 ได้สร้างให้เกิดวาทกรรม “รวยกระจุก จนกระจาย” ซึ่งปัญหาดังกล่าวจะกลับเข้ามาอีกครั้งในช่วงโรคระบาดนี้ และความเหลื่อมล้ำดังกล่าวจะยิ่งเพิ่มสูงมากขึ้น เปรียบให้เห็นภาพก็คือนรกกับสวรรค์จะเกิดขึ้นและมีอยู่ในที่เดียวกัน เพราะหากคนรวยเปิดระตูบ้านออกมาก็จะเห็นคนจนอยู่รายรอบบ้านเต็มไปหมด นอกจากนั้นจะเกิดคนที่หลุดออกจากระบบสูงกว่าตัวเลข 7 ล้านคน และจะมากกว่าตัวเลขทั้งหมดในปี 2540 ซึ่งทั้งหมดนั้นจะส่งผลให้เกิดปัญหาสังคมและเศรษฐกิจตามมาอย่างมหาศาล
เนื่องจากเมื่อภาคอุตสาหกรรมและการบริการในเมืองปิดตัวลงจากโรคระบาด การหันหน้ากลับภาคการเกษตรจากพื้นที่ชนบทก็เป็นไปได้ยากกว่าเดิมเพราะประชาชนไม่เหลือพื้นที่เกษตรให้ทำกินหรือมีทุนทรัพย์มากพอให้ใช้สอยเพื่อการลงทุนในภาคการเกษตรอีกต่อไป ทรัพยากรป่าไม้ที่เคยเป็นหลังพิงให้กับคนชนบทได้ก็กลายเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติหรือพื้นที่ป่าสงวนที่ห้ามรุกล้ำ ดังนั้น แทนที่ทรัพยากรเเหล่านี้จะถูกใช้เพื่อรองรับประชาชนยามวิกฤตหรือใช้เพื่อรองรับความมั่นคงทางด้านอาหารก็กลับถูกทำให้เป็นพื้นที่ห้ามบุกรุกและสงวนทรัพยากรไว้แต่เพียงในนามของรัฐเท่านั้น นอกจากนั้น ความเหลื่อมล้ำทางที่ดินยังเพิ่มสูงขึ้นจนจนผู้คนยากที่จะลืมตาอ้าปากได้
แผนระยะสั้นเพื่อการเยียวยา แผนระยะยาวเพื่อความยั่งยืน
ในระยะสั้น สมัชชาคนจนคิดถึงเรื่องกระบวนการและกลไกในการฟื้นฟูกลุ่มคนจนเมืองและแรงงานในเมืองซึ่งอาจได้รับผลกระทบมากที่สุดเมื่อเทียบกับคนในชนบท อีกทั้งคนจนเมืองยังแทบไม่มีส่วนร่วมกับกลไกการเยียวยาที่เกิดขึ้น ดังนั้น การกำหนดยุทธศาสตร์ระยะยาวหลังวิกฤตโควิด-19 จะต้องมีช่องทางและกลไกให้กลุ่มภาคประชาสังคมได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับรัฐบาลด้วย และต้องให้ภาคประชาชนมีแนวทางการฟื้นฟูของเขาเองผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น กองทุนสิทธิ และกองทุนพัฒนาสังคม ที่เอื้อให้ภาคประชาชนออกแบบโครงการเองเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งหมดนั้นก็จะสามารถสร้างและฟื้นฟูปัญหาได้ตรงจุดกว่าการนำงบประมาณไปผ่านการทำงานของรัฐเพียงอย่างเดียว
ในระยะยาวจะต้องเกิดการทบทวนแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งเป็นการเขียนผ่านการคิดแบบเดิม และไม่เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ที่สำคัญคือแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ควรจะต้องเพิ่มความคิดและนวัตกรรมใหม่เข้าไปร่วมจัดการได้แล้ว ทั้งสามส่วนจึงจะรวมกันเป็นแผนที่จะขยายภาพอนาคตของประเทศไทยอย่างยั่งยืนและเป็นระบบมากขึ้น เพราะหากรัฐบาลยังคงเลือกดำเนินงานไปในทางเดิมก็อาจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและปัญหาคนจนที่มากขึ้นไปด้วยนั่นเอง
สุดท้ายแล้ว จะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางการเมือง โดยเฉพาะการให้พื้นทางการเมืองกับคนรุ่นใหม่เพื่อให้เกิดการกำหนดนโยบายอย่างครอบคลุมมากขึ้น เพราะจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่ามันเกิดช่องว่างของยุคสมัยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการต้องการการเมืองรูปแบบใหม่ของคนรุ่นใหม่และความต้องการหลุดพ้นไปจากปัญหาความเหลื่อมล้ำในวังวนเดิม