ในเมืองและภูมิภาคที่รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรม อย่าง “ภาคตะวันออก” มีจังหวัดที่ผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัวสูงสุด ถึง 4 จาก 5 จังหวัด อยู่ในภูมิภาคนี้ คือ ระยอง ชลบุรี ปราจีนบุรี และ ฉะเชิงเทรา โดย จังหวัดระยอง มีผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัวสูงสุดที่ 1,067,449 บาทต่อคนต่อปี เมื่อปี 2561
แต่ คนจํานวนมากในที่นิคมอุตสาหกรรมฯ เป็นประชากรแฝงเกือบทั้งหมด ไม่มีสิทธิ์มีเสียงในการออกแบบเมืองหรือที่อยู่อาศัย แม้จะเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับล่างที่สําคัญ แต่กลับถูกมองทั้งจากสายตาของรัฐและคนในท้องถิ่น ว่าเข้ามาสร้างปัญหา กอบโกย เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ และสุดท้ายก็กลับบ้าน ภูมิลำเนา หรือถิ่นกำเนิด
คุยกับ ผศ.ธนิต โตอดิเทพย์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.บูรพา เพื่อตามหาคำนิยามและความหมายของ “คนจน” ในเมืองใหญ่ของภาคตะวันออก คลี่ปมความจนที่ส่งผลถึงคุณภาพชีวิต และอนาคตของเมืองแห่งเศรษฐกิจพิเศษ
“คนจน” ในเมืองชลฯ “บางแสน – พัทยา”
พื้นที่เมืองชลบุรีเป็นพื้นที่เศรษฐกิจมาตั้งแต่แรก ปี 2500 เริ่มเกิดการขยายตัวด้านการท่องเที่ยว อย่าง บางแสน – พัทยา จนเมื่อปี 2520 เกิดโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก Eastern Seaboard (ESB) ซึ่งเมื่อ ESB เติบโตขึ้น ส่งผลให้คนไหลเข้ามาในพื้นที่ภาคตะวันออกจำนวนมาก โดยเข้ามาตั้งหลักแหล่ง/ที่อยู่อาศัย ซึ่งบางส่วนก่อสร้างบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่รุกล้ำ เนื่องด้วยยุคนั้นยังไม่มีเทศบาลที่ชัดเจน เช่น พื้นที่เมืองบางแสน ที่ในอดีตสุขาภิบาลเมืองบางแสนเป็นที่ตั้งของชุมชนแออัด แต่ภายหลังปี 2520 ได้ยกระดับจากสุขาภิบาลเป็นเทศบาล จึงมีการโยกย้ายคนไปอยู่พื้นที่อื่น เกิดเป็นชุมชนใหม่/ชุมชนต่างถิ่น
โดยคนกลุ่มนี้ เดิมประกอบอาชีพเกี่ยวกับทะเล ไม่มีรายได้สูงมากนัก แต่ปัจจุบันหากเราไปนั่งตามชายหาดจะพบกลุ่มคนเหล่านี้ด้วยอาชีพขายไก่ปิ้ง ให้เช่าห่วงยาง หาบเร่แผงลอย ซึ่งความน่าสนใจของพื้นที่เศรษฐกิจอย่างชลบุรี คือ โอกาสที่สูงในการขยับตัวของคนระดับล่าง ฉะนั้น อาจวิเคราะห์ได้ยากหากนำเรื่องรายได้มาใช้อธิบายเรื่องความยากจนในพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออกที่มีค่า GDP สูงรองจาก กทม. ซึ่งหมายถึงว่ามีความเหลื่อมล้ำสูงด้วยเช่นกัน เพราะไม่ได้สะท้อนรายได้ที่แท้จริงของคน ส่วนในชุมชนเก่าที่เป็นชาวประมงพื้นบ้าน เข้ามาอยู่อาศัยตั้งแต่แรกด้วยการเป็นลูกน้องโรงสีชาวจีน หรือค้าขายในตลาด ซึ่งเดิมพื้นที่อาจเป็นป่าแต่เมื่อเมืองเติบโตขึ้น มีการสร้างตึก เกิดการปิดล้อมพื้นที่ คนไม่สามารถขยับขยายออกไปได้ จึงจำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่/ชุมชนนั้น ๆ
เหล่านี้เป็นบริบทเฉพาะของบางแสน โดยชาวบ้านบางแสนมักพึ่งพิงอยู่กับการท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งมองว่าหลังสถานการณ์โควิด ทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่/ย่อย หรือคนจนที่ทำมาหากินในพื้นที่บางแสนจะสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าเมืองพัทยา
เมื่อกล่าวถึง พื้นที่เมืองพัทยา จากประวัติศาสตร์พัทยาเคยประสบปัญหาการลดลงของนักท่องเที่ยวในช่วงปี 2516 แต่ฟื้นขึ้นมาใหม่และเติบโตอย่างมากในช่วงปี 2520 โดยเติบโตพร้อมกับการขยายตัวของ ESB ดังนั้น จะพบว่าคนไหลเข้าสู่เมืองพัทยาจำนวนมาก ชุมชนแออัดเมืองพัทยาเกิดขึ้นจำนวนมากช่วงประมาณปี 2525
ผศ.ธนิต แบ่งลักษณะชุมชนแออัดเมืองพัทยาออกเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่ 1. ชุมชนเก่า 2. ชุมชนเช่าที่ในการปลูกสร้างระยะยาว และ 3. ชุมชนบุกรุก โดยในชุมชนแออัดประกอบไปด้วยคนหลายลักษณะ ทั้งคนในพื้นที่ คนต่างถิ่น คนนอกพื้นที่ที่มาเช่าเจ้าของพื้นที่เดิม (เจ้าของพื้นที่ตั้งแต่สมัยจับจองพื้นที่ป่า) ซึ่งคนในชุมชนแออัดส่วนใหญ่จะทำงานเกี่ยวเนื่องกับภาคบริการ การท่องเที่ยว หรือเป็นผู้ประกอบการรายย่อย เช่น ขายลูกชิ้น / ของทอด, หาบเร่แผงลอย
ส่วนลูกจ้างในภาคบริการเมืองพัทยาจะมีทักษะสูง เพื่อรายได้ที่สูง เช่น พนักงานในโรงแรมจะถูกฝึกให้ใช้ภาษาต่างประเทศได้ ส่วนผู้ประกอบการหากต้องการขายของได้ราคาก็ต้องฝึกภาษาและเทคนิคการขายต่าง ๆ เพื่อชวนเชิญชาวต่างชาติให้เข้ามาซื้อ เช่น ขายยาหม่องขวดละ 200 บาทได้ เพราะไปเรียนพูดภาษารัสเซียและอังกฤษ เป็นต้น
แต่ในพื้นที่ที่มีโอกาสทางเศรษฐกิจสูงเช่นนี้ก็มีปัญหาไม่น้อย เช่น การจับจองพื้นที่ของคนที่อยู่อาศัยเดิม, ปัญหายาเสพติด (ด้วยถนนในพัทยามีลักษณะโยงเป็นตาข่ายคล้ายใยแมงมุม ฉะนั้น จึงมีทางหนีทีไล่เยอะ เกิดเป็นช่องทางลำเลียงยาเสพติด) เป็นต้น
พัทยา ถูกนิยามโดยคนพื้นที่ว่าเป็น “เมืองฝรั่ง” ดังนั้น เศรษฐกิจส่วนใหญ่จึงพึ่งพาอยู่กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่หากมองในเชิงกายภาพอย่างบ้านเช่าหรือห้องแถวในพัทยา อาจถูกมองว่าเป็นสลัม แต่ตั้งแต่ปี 2535 และ 2540 มีผู้อยู่อาศัยจำนวนมากที่สามารถประกอบอาชีพและเก็บเงินกลับไปปลูกสร้างบ้านเรือนที่ถิ่นกำเนิดได้ ด้วยคนเหล่านี้มองว่าพัทยาไม่ใช่ที่อยู่อาศัยถาวร ท้ายที่สุดแล้วเมื่ออายุมากจนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ พวกเขาจะกลับไปอยู่อาศัยที่บ้าน (ถิ่นกำเนิด) ดังนั้น การเข้ามาอยู่ในสลัม ห้องเช่า หรือห้องแถว คือการลดต้นทุนในการดำเนินชีวิตและเพิ่มโอกาสในการเก็บเงิน
อีกเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้คนจำเป็นต้องอยู่อาศัยอย่างแออัด คือ พื้นที่ในเมืองพัทยามีราคาแพงและจำกัด (ไม่สามารถขยายออกไปไหนได้) ซึ่งเมื่อเมืองเติบโตขึ้น ก็เกิดเป็นปัญหาพื้นที่รุกล้ำตามมา บางพื้นที่กำลังดำเนินการไกล่เกลี่ยกับชาวบ้านอยู่
ชลบุรี เมืองแห่งแรงงาน ที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อการใช้ชีวิตของแรงงาน
เมืองชลบุรีมีลักษณะเป็น “เมืองอุตสาหกรรม” ถูกออกแบบเพื่อรองรับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม (เบา) เท่านั้น คนจำนวนมากไม่มีพื้นที่ใช้ชีวิต พื้นที่สาธารณะเพื่อการพักผ่อนน้อยมาก เช่น หากต้องการเตะฟุตบอล ต้องจ่ายเงินเช่าสนาม จึงไม่เป็นที่แปลกใจว่าทำไมคนจำนวนมากในเมืองนิคมอุตสาหกรรมชอบดื่มเหล้า (ร้านเหล้าเปิดตั้งแต่ 6 โมงเช้าเพื่อรองรับคนเลิกงานกะเช้า) เพราะไม่มีพื้นที่ให้ทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่สำคัญคือชีวิตถูกกำหนดด้วยตารางการทำงาน คนทำงานเป็นกะหรือ shift work หากต้องการมีรายได้สูงก็ต้องแลกด้วยการทำงานหนัก เงินเดือนอาจขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่ความหวังของแรงงานอยู่ที่โบนัสปลายปี
ประชากรในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมประมาณ 80-90% เป็นประชากรแฝง มีแรงงานระดับล่างจำนวนมากที่ไม่ว่าจะจบด้วยวุฒิไหน (แม้แต่จบปริญญา) จะต้องยอมรับค่าแรงขั้นต่ำ หากยอมรับเงื่อนไขค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้ ก็ต้องไปสมัครงานที่อื่น หรือหากต้องการเงินที่มากขึ้นก็ต้องแลกด้วยการทำงานล่วงเวลา โดยรายได้เฉลี่ยของแรงงานจะอยู่ที่ประมาณ 13,000 – 14,000 บาท (รวม OT) ซึ่งถือว่าไม่เพียงพอกับค่าครองชีพ/รายจ่ายที่สูง (ส่งเงินกลับบ้าน, ค่าเช่าหอ, ค่าเทอมลูก, ค่ารักษาพยาบาล, ค่าเดินทาง, ค่าอาหาร ฯ) จึงเป็นไปได้ยากหากเด็กจบใหม่ต้องการสร้างตัวในพื้นที่นี้ ส่วนใหญ่จึงเป็นคนต่างถิ่นที่เข้ามาทำงาน เช่าที่อยู่อาศัยและพยายามทำงานเก็บเงินเพื่อโยกย้ายกลับไปใช้ชีวิตที่บ้าน (ถิ่นกำเนิด/ที่อื่น)
และต้องยอมรับว่าสถานการณ์โควิดที่นำไปสู่การปิดตัวของโรงงาน นอกจากสร้างผลกระทบโดยตรงกับกลุ่มแรงงาน ยังสร้างผลกระทบลูกโซ่ต่อผู้ประกอบการรายย่อยอย่างเช่น ร้านซัก อบ รีด, วินมอเตอร์ไซด์, ธุรกิจห้องเช่า ฯ อีกด้วย
การใช้ชีวิตของคนจนเมืองในบางแสน แหลมฉบัง และเมืองพัทยา
“คนจนเมืองในพื้นที่ที่มีการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจสูง มีโอกาสในการยกระดับคุณภาพชีวิตตนเองได้” คือสิ่งที่ ผศ.ธนิต วิเคราะห์ แต่คนภายนอกอาจมองคนกลุ่มนี้ในเชิงลบ ด้วยอยู่ในพื้นที่ทางกายภาพที่แออัด และดูเหมือนไม่สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ เช่น กลุ่มคนจนบางแสนที่ทำงานชายหาด ถูกมองว่าเป็นคนขี้เกียจ แต่จริง ๆ แล้ว เป็นความต้องการของเขาที่เลือกไม่ทำงานในโรงงาน และทำงานค้าขายที่ชายหาดแทน ซึ่งอาจมีรายได้ถึง 3,000 – 5,000 บาทต่อวัน แต่กลุ่มคนจนทำงานชายหาดหรือผู้ประกอบการที่กำลังสร้างตัว ก็มีความเปราะบางและความเสี่ยงในแง่ไม่มีสวัสดิการรองรับ ผลสืบเนื่องจากสถานการณ์โควิดเป็นหนึ่งตัวอย่างที่ทำเห็นความเปราะบางของคนจนที่กำลังพยายามยกสถานะตนเองขึ้นมา แต่เมื่อสถานการณ์มากระทบผู้ประกอบการเกิดภาวะขาดรายได้ ประกอบกับไม่มีตาข่ายทางสังคมมารองรับชีวิต จึงนำไปสู่การเรียกร้องเงินคนจน 5,000 บาท เพื่อประคองชีวิตให้ดำเนินต่อไปได้
อาชีพของคนจนเมืองชลฯ แบ่งเป็น
- ผู้ประกอบการรายย่อยขนาดเล็ก เช่น ขายส้มตำ
- กลุ่มแรงงาน คือ แรงงานในระบบ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม และ แรงงานนอกระบบ เช่น รับจ้างล้างจาน, ลูกจ้างร้านอาหาร
- ผู้ประกอบอาชีพอิสระ (มักใช้แรงงานตนเองเป็นทุน) เช่น อาชีพบนแพลตฟอร์ม ที่เพิ่งเกิดมาเมื่อมกราคม 2563 และเริ่มเป็นที่นิยมช่วงหลังโควิด ซึ่งอาจยังเห็นไม่ค่อยชัดว่ากลุ่มคนจนเข้าสู่อาชีพมากน้อยแค่ไหน, วินมอเตอร์ไซด์, ขับสองแถว, เช่าห่วงยาง
ซึ่งยังไม่ค่อยพบผู้ประกอบการที่เข้าสู่ของระบบการค้าขายออนไลน์ หรือการทำงานพร้อมกันหลายงานในกลุ่มแรงงาน (เช่น โรงงาน/ชาวประมง/ขับรถสองแถว) กลุ่มแรงงานที่ทำงานโรงงานอาจมีการขายหวยเป็นอาชีพเสริมเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ด้วยเวลาที่ถูกจำกัดตามตารางการทำงาน รวมถึงอาชีพบนแพลตฟอร์มยังไม่เป็นที่แพร่หลาย จึงเป็นไปได้ยากที่จะมีเวลามาประกอบอาชีพอื่น ๆ เสริม แต่ในครอบครัวหนึ่งอาจทำการผลิตที่หลากหลาย เช่น พ่อแม่สูงอายุค้าขายที่บ้าน ส่วนลูกออกไปทำงานนอกบ้าน เป็นต้น
การดูแลคนจน หรือการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนจน ในพื้นที่บางแสน แหลมฉบัง และพัทยา
บางแสน เป็นเทศบาลเมือง ซึ่งในสมัย สมชาย คุณปลื้ม หรือ กำนันเป๊าะ มีวิธีการบริหาร คือ การให้ความสำคัญกับพี่น้องชาวบ้าน เช่น หากพ่อค้าแม่ค้าถูกเทศกิจจับ ให้มาเอาค่าปรับที่กำนัน เป็นต้น ซึ่งหลังจากนั้นเริ่มมีความพยายามเข้ามาจัดระเบียบชายหาดทั้งพัทยาและบางแสน โดยเฉพาะช่วงหลัง คสช. ที่พยายามเข้ามาจัดระเบียบและกุมอำนาจท้องถิ่น ทำให้พื้นที่เรียกร้องสิทธิในการดำเนินชีวิตของคนจนน้อยลง เช่น ต้องมีบัตรอนุญาตขายของ ไม่สามารถหาบเร่แผงลอยได้ หรือหากขี่มอเตอร์ไซด์ไปขายของเทศกิจจะจับทันที เป็นต้น
บางแสน มีการปกครองในลักษณะประธานชุมชน เพราะไม่มีกำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน แต่ในปัจจุบันแตกต่างจากอดีต ที่ประธานชุมชนไม่ได้มีอำนาจในการเสนอนโยบายให้กับเมือง กลับเป็นไปในเชิงรับคำสั่ง/คำชี้แจงมาปฏิบัติตาม ซึ่งแตกต่างจากเมืองพัทยาที่มีกลไกในการบริหารท้องถิ่น มีสภาเมืองเพื่อรวบรวมข้อคิดเห็นของประธานชุมชน ที่มีกว่า 40 ชุมชน และร่วมพูดคุยออกแบบเมืองร่วมกัน
ส่วน แหลมฉบัง เป็นรัฐซ้อนรัฐ คือ เมืองไม่ได้มีอำนาจเข้าไปจัดการในเขตนิคมอุตสาหกรรม มีการจัดการที่ค่อนข้างจำกัด
“ซึ่งผู้คนจำนวนมากในที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังรวมไปถึงระยองเป็นประชากรแฝงทั้งหมด ไม่มีสิทธิ์มีเสียงในการออกแบบเมืองหรือที่อยู่อาศัย แม้ประชากรแฝงจะเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับล่างที่สำคัญ แต่กลับถูกมองทั้งจากสายตาของรัฐและคนในท้องถิ่นว่าเข้ามาสร้างปัญหา กอบโกย เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ และสุดท้ายก็กลับบ้าน”
นอกจากนี้ยังมีเรื่องงบประมาณ ที่มาจากการบริหารของรัฐ เป็นงบฯ รายหัวตามทะเบียนราษฎร์ ประชากรแฝงจึงถูกมองว่ามาฉกฉวยใช้พื้นที่ทรัพยากรของคนตามทะเบียนราษฎร์ หรืออย่างสวนสาธารณะที่จัดทำขึ้นมาอย่างดีแต่ปิด เพราะมองว่าประชากรแฝงเข้ามาใช้พื้นที่กันเยอะ ทั้งหลายเหล่านี้ จึงนำไปสู่การออกแบบเมืองที่ไม่จำเป็นต้องให้ความสนใจกับ “คน / แรงงาน” แต่กลับให้ความสนใจกับกลุ่มทุนมากกว่า
ส่วนเมืองพัทยาค่อนข้างซับซ้อน คือ กลุ่มคนบางส่วนที่เข้ามาเช่าบ้านอยู่ ไม่ได้เป็นประชากรแฝง ด้วยบางรายได้สิทธิ์โอนชื่อเข้าไปอยู่ในทะเบียนบ้านของผู้ให้เช่า ดังนั้น ผู้เช่าบางส่วนที่ไม่ใช่ประชากรแฝงจึงสามารถใช้สิทธิ์ต่าง ๆ หรือสามารถเลือกตั้งได้ หรือบางรายเมื่อมีลูกหลานก็เอาชื่อมาเข้าทะเบียนเพื่อรับสิทธิในการเข้าเรียนได้ ซึ่ง ผศ.ธนิต มองแบบไม่ฟันธงว่าสิทธิต่าง ๆ ของประชากรแฝงในพื้นที่พัทยาอาจจะดีกว่าพื้นที่แหลมฉบัง อาจมองได้ว่าพัทยามีคน 3 กลุ่มที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ ได้แก่ นักท่องเที่ยว (ชาวต่างชาติ) ที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอยทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบ, ประชากรแฝง เข้ามาทำหน้าที่กระจายรายได้ไปยังส่วนต่าง ๆ ในระดับล่าง และคนเมืองดั้งเดิม
ซึ่งการที่ประชากรแฝงในพื้นที่มีจำนวนมาก เช่น ประชากรในเมืองพัทยาประมาณ 200,000 คน แต่มีประชากรแฝง 600,000 คน หรือประชากรในแหลมฉบังมีจำนวน 20,000 คน แต่มีประชากรแฝง 70,000 – 100,000 คน ส่งผลให้ปฏิสัมพันธ์ในทางการเมืองหรืออำนาจต่อรองของคนเหล่านี้ลดลง ประกอบกับยุคหลัง คสช. ที่กุมอำนาจท้องถิ่น ผู้นำใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดโดยไม่ฟังเสียงของประชาชนในท้องถิ่น
ปัญหาสิทธิของคนจนเมือง
การออกแบบเมืองไม่ได้ถูกกำหนดมาจากคนจนที่อยู่ในเมืองโดยตรง เช่น ในนิคมอุตสาหกรรมที่ไม่ได้ออกแบบมารองรับคนที่ใช้ชีวิตในนั้น หรือที่บ่อวิน ใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ไม่มีแม้แต่รถออกไปโรงพยาบาลที่แหลมฉบัง ต้องใช้เวลารอรถเป็นชั่วโมง ทำให้แรงงานต้องลงทุนค่อนข้างสูง เพื่อมียานพาหนะเป็นของตนเอง ซึ่งเทศบาลไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้เพราะเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรม
ส่วนบางแสนยังพอมีกลไกที่พอจะเอื้อให้เกิดการออกแบบเมือง แต่สถานการณ์ที่ผ่านมาอย่างการไม่เปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้งกลับปิดทางกลไกนั้น ซึ่งการออกแบบเมืองขณะนี้เป็นการออกแบบที่มาจากคน ๆ เดียว ผ่านมุมมองวิธีคิดของชนชั้นกลาง เช่น การจัดวิ่งมาราธอนที่ชายหาดบางแสน ด้วยภาพที่สวยงามเพื่อตอบสนองคนชนชั้นกลาง แม้สิ่งนี้จะส่งผลกระทบต่อชีวิตของชาวบ้าน เพราะการจัดงานวิ่งวันเดียวต้องปิดเมืองปิดการค้าขายเพื่อจัดพื้นที่หนึ่งอาทิตย์, หรือ เทศกาลวันไหลบางแสน ที่จัดพื้นที่เพื่ออำนวยแก่นักท่องเที่ยว แต่ไม่ได้เปิดโอกาสให้พ่อค้าแม่ค้าเข้ามาร่วมกำหนดพื้นที่ขาย, หรือ การปิดถนนเป็นเดือนเพื่องานแข่งรถ ฉะนั้น พ่อค้าแม่ค้าที่มีรายได้รายวันจึงเป็นผู้ได้รับผลกระทบหลักผ่านการออกแบบเมืองของคนชนชั้นกลางเพื่อคนชนชั้นกลางนี้
คนจนจำนวนมากเข้าไม่ถึง “สิทธิในการกู้เงิน” คนภายนอกอาจมองว่าคนจนชอบกู้เงินนอกระบบ แต่จริง ๆ แล้วคนจนไม่มีหลักทรัพย์ไปค้ำประกันเงินกู้กับธนาคาร ทำให้เลือกกู้นอกระบบ จึงควรเปิดโอกาสให้คนจนเข้าถึงสิทธิเงินกู้ / เงินทุนด้วย
ในเมืองพัทยามีปัญหาเรื่องของสิทธิที่อยู่อาศัย ทั้งปัญหาที่รุกล้ำสาธารณะและเอกชน ซึ่งหากเป็นการรุกล้ำที่เอกชนจะถูกจัดการไล่รื้อค่อนข้างเร็ว แต่หากเป็นที่สาธารณะอย่างลำคลองหรือชุมชนเก่าที่ทำให้ลำคลองตื้นเขิน ยังคงเป็นปัญหาที่ดำเนินการเจรจาไกล่เกลี่ยผ่านสายสัมพันธ์ทางสังคมที่ยึดโยงกันอยู่
ปัญหาสิทธิที่ดิน ที่ทำกิน ทรัพยากร ไม่ได้เกิดขึ้นกับชุมชนแออัดแต่เป็นปัญหาที่เกิดกับชุมชนเก่า เช่น ชุมชนอ่าวอุดม, ชุมชนแหลมฉบัง, ชุมชนบางละมุง ซึ่งขัดแย้งในเรื่องการสร้างท่าเรือกับชาวบ้าน ปัญหาขัดแย้งมาเป็นสิบปีแต่ในปัจจุบันบางครอบครัวยังไม่ได้รับเงินชดเชย
ในท้ายที่สุดจะเห็นว่าเมืองถูกออกแบบมาเพื่อรองรับกลุ่มชนชั้นกลางและกลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมากกว่าความเป็นอยู่ของคน(จน)ในพื้นที่ เช่น การผลักดันนโยบายหรือการออกแบบเมืองพัทยาถูกผลักดันมาจากกลุ่มเอกชน เช่น การค้าประเวณีที่มีเอกชนและรัฐทำหน้าที่ในการผลักดัน เพราะหลังการถอนทัพอเมริกาออกไปในปี 2516 ทำให้นักท่องเที่ยวลดลง ฉะนั้น จึงต้องสร้างแรงจูงใจให้คนเข้าเมืองอย่างการเปิดสถานเริงรมย์ ร้านค้ากลางคืน และออกแบบให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากทั้งยุโรปและคนไทยเข้ามาอยู่ในพัทยา ซึ่งนโยบายเหล่านี้มีขึ้นเพื่อตอบสนองต่ออุตสาหกรรมกลุ่มทุน
ชุมชนแออัดอยู่ส่วนไหนของพื้นที่การท่องเที่ยวอย่างพัทยา?
ด้วยพื้นที่ใจกลางเมืองพัทยาหรือบริเวณหน้าหาดค่อนข้างแพง และมีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการ (การค้าขายทับเส้นของพ่อค้า/แม่ค้า) ทำให้ไม่สามารถเข้าไปอยู่อาศัยได้ ชุมชนแออัดจึงขยับไปอยู่ตามชายขอบ เช่น ในพื้นที่แถวนาเกลือ ซึ่งถูกพัฒนาหลังเมืองพัทยาและจัดเป็นพื้นที่ชายขอบของพัทยา ชาวบ้านเข้ามาตั้งหลักแหล่งเพราะค่าเช่าราคาถูก เดินทางไปทำงานที่โรงแรมด้วยจักรยาน หรือชุมชนที่แทรกตัวอยู่ตามพื้นที่เมืองเช่น ชุมชนเขาน้อย (ตรงข้ามแมคมวยไทย) ซึ่งอยู่ตอนบนของถนนสุขุมวิท ด้วยลักษณะพื้นที่ไม่ติดทะเล ราคาที่จึงไม่สูงเหมือนพื้นที่ติดทะเลทางตอนล่าง เกิดธุรกิจเปิดเช่าที่พักและมีประชากรปักหลักอาศัยอยู่เป็นพันคน (400 กว่าครอบครัว) ซึ่งจะมีการรวมกลุ่มตามอาชีพ (เช่น ขายลอตเตอรี่) เช่าห้องอาศัยอยู่ในบริเวณเดียวกัน
ปัญหาในพื้นที่แห่งโอกาส กับดักเลื่อนชั้นทางสังคม
การเกิดขึ้นของเมืองเศรษฐกิจ เปิดโอกาสให้คนจนได้เข้ามาสร้างตัวได้ดีกว่า แต่ขณะเดียวกัน การออกแบบหลักประกันทางด้านสังคมที่มีอยู่ยังไม่รองรับกลุ่มคนเหล่านี้เท่าไรนัก ส่วนข้อเสนอในมิติด้านการเมือง เช่น ประเด็นเรื่องการจัดวิ่งแข่ง ที่นำมาซึ่งการจัดระเบียบพื้นที่ หรือการออกแบบเพื่อจะจัดทำสวนสาธารณะที่หาดวอนนภา (ส่วนต่อบางแสน) ซึ่งชาวประมงพื้นบ้านจะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างนี้ เพราะไม่มีท่าขึ้นเรือ เหล่านี้สะท้อนวิธีคิดของผู้ออกแบบ (ผู้ปกครองระดับรัฐท้องถิ่น) ว่าหากต้องการเข้ามาอยู่ในบ้านของผู้ออกแบบ ก็ต้องยอมรับกฎกติกาของผู้ออกแบบ ซึ่งนี่ไม่ใช่วิธีคิดของการอยู่ร่วมกัน ดังนั้น สิ่งสำคัญคือผู้บริหารรัฐท้องถิ่นจะต้องเข้าใจชีวิตของผู้คนที่หลากหลายในพื้นที่
จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า คนที่ประสบความสำเร็จจากโอกาสในการสร้างตัวไม่ใช่การแปลงสภาพไปเป็นคนรวยหรือชนชั้นกลางระดับบน แต่คือการมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเดิม เช่น ปลดหนี้ที่นาได้ สร้างบ้านเรือนได้ เป็นต้น
ในขณะเดียวกันก็มีคนที่ล้มเหลวจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานที่มีรายได้ขั้นต่ำ แต่ต้องจ่ายค่าครองชีพในพื้นที่ค่อนข้างสูง ต้องเลี้ยงดูครอบครัวใหญ่ หรือกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยที่ประสบข้อจำกัดของเวลาในการประกอบอาชีพ ทำให้มีรายได้ไม่สม่ำเสมอ เช่น ขายยาหม่องได้เฉพาะหน้าทัวร์ 4 เดือน, หรือการทำประมงที่ไม่สามารถทำได้ในช่วงมรสุม แต่ยังคงมีรายจ่ายตลอด เป็นต้น ซึ่งอาจนำไปสู่การกู้หนี้ยืมสิน
กลุ่มคนที่จนที่สุดหรือมีปัญหาในพื้นที่แห่งโอกาส คือ กลุ่มที่แบกรับภาระเบื้องหลังหรือต้องรับผิดชอบดูแลคนในครอบครัวทุกชีวิต เช่น ตามห้องแถวในนิคมอุตสาหกรรมจะพบผู้สูงอายุ (รวมผู้ป่วยติดเตียง) เข้ามาอยู่ที่ชุมชนสลัมในเมือง โดยลูกหลานออกไปทำงานเพื่อหาเลี้ยง หรือแม้แต่กลุ่มผู้สูงอายุที่ขับรถสองแถว เมื่อประสบปัญหา/วิกฤตเศรษฐกิจอย่างสถานการณ์หลังโควิด ที่ไม่มีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการสองแถว จะฟื้นตัวกลับมาหรือปรับตัวไปทำอาชีพอื่นค่อนข้างยาก
EEC ระเบียงเศรษฐกิจของใคร?
ชลบุรีเป็นส่วนหนึ่งของ EEC (Eastern Economic Corridor: โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก แผนยุทธศาสตร์ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0) ที่มีการขยายตัวของพื้นที่อุตสาหกรรม โดยผลประโยชน์กระจุกตัวอยู่กับกลุ่มนายทุน เช่น เครืออมตะ เติบโตขยายตัวมากกว่า 40,000 ไร่ จากการประกาศเขตอุตสาหกรรมพิเศษ หรือ การปรับสีผังเมือง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ลิเทียม บริเวณบางปะกงซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำ เหล่านี้เกิดขึ้นโดยเอกชนที่เข้ามาจัดตั้งโรงงานและขับไล่ชาวบ้านออกนอกพื้นที่
ประเด็นที่น่าสนใจ คือ พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ / นิคมอุตสาหกรรม ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานที่อยู่ในพื้นที่นั้น ๆ แต่กลับกลายเป็นรูปแบบรัฐซ้อนรัฐ ที่ปล่อยให้นิคมอุตสาหกรรมจัดการชีวิตแรงงานอีกทอดหนึ่ง หากเปรียบให้เห็นภาพชัด ผศ.ธนิต ยกตัวอย่างว่า เคยถามคนขับรถตู้คอนเทนเนอร์ว่า หากมีมอเตอร์ไซด์ปาดหน้า คนขับจะเลือกหักหลบหรือขับชน คนขับเลือกชน โดยให้เหตุผลว่าเจ้านายสามารถเคลียร์ให้ได้ แต่ถ้าหักหลบแล้วรถคว่ำเกิดความเสียหายแก่ของในตู้คอนเทนเนอร์ อาจทำให้เขาตกงานได้
ตัวอย่างนี้สะท้อนให้เห็นการให้คุณค่าต่อชีวิตแรงงานที่น้อยกว่ามูลค่าสิ่งของ และภาพปัญหาของเมืองอุตสาหกรรมที่ไม่ได้เอื้อให้เกิดคุณภาพในการดำเนินชีวิตของแรงงาน
*Eastern Seaboard Development Program: ESB เริ่มขึ้นในแผนพัฒนาฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525-2529) ภายใต้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
*คำว่า “ประชากรแฝง” เป็นคำที่ภาครัฐใช้ และทำให้มองคนชาติเดียวกันเป็นคนอื่นในพื้นที่ของชาติ อ.ธนิตเสนอให้ใช้คำว่า “แรงงานต่างถิ่น” แทน
อ่านเพิ่ม