“ไม่มีใครอยากหนีออกจากบ้าน แต่ความเห็นต่างทางการเมือง อาชีพ และความฝัน ของคนระหว่าง Generations ทำให้เยาวชนบางคนรู้สึกว่า บ้าน ไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย”
มูลนิธิกระจกเงา พบข้อมูล เด็กสมัครใจออกจากบ้าน มีแนวโน้มสูงที่สุดเมื่อเทียบกับเด็กหายในทุกประเภท และส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากปัญหาครอบครัว โดยเฉพาะการห้ามให้เด็กทำหรือไม่ทำอะไร และการใช้ความรุนแรง
พ่อแม่หลายคนให้เหตุผลว่า “ห้าม” เพราะห่วงความปลอดภัยของลูก แต่วิกฤตที่เกิดขึ้น สะท้อนว่า การเปิดใจ และทำให้บ้านยังคงเป็นพื้นที่ปลอดภัย อาจเป็นทางเลือกสำคัญ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็ก เมื่อพวกเขาต้องเผชิญกับวิกฤตนอกบ้าน
2 ปี กับการระบาดโควิด-19 ปัญหาสิ่งแวดล้อม และการเมือง ทำให้เด็กยุคนี้ต้องสูญเสียโอกาส การเรียนรู้ในชีวิตไปไม่น้อย แต่บางครั้งต้องยอมรับว่า ความต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมแบบเฉียบพลัน อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้หลายครอบครัวถึงจุดแตกหัก และบางคนเลือกตัดสินใจเดินออกจากครอบครัว
หนึ่งในนั้น คือ พลอย วัย 17 ปี สังคมจดจำเธอได้จากกิจกรรมเลิกบังคับ จับตัดของกลุ่มนักเรียนเลว 2563 นั่นคือ จุดเริ่มต้นระหว่างรอยร้าวของพลอยและครอบครัว เธอให้สัมภาษณ์กับ The Active ว่า พ่อตัดสินใจตัดพ่อ-ตัดลูก ด้วยเหตุผลว่าสิ่งที่เธอทำนั้นสุดโต่งเกินไป ไม่ใช่แค่ ความอึดอัดในระบบการศึกษาที่ เด็ก Gen นี้ต้องเผชิญ ความคิดทางการเมือง และความฝันในอาชีพ ที่ไม่ตรงกับครอบครัว เป็นอีกแรงกดดันที่ทำให้เธอเริ่มรู้สึกว่า บ้านไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย คำพูดของคนในบ้านก็เป็นสิ่งที่คนในครอบครัวได้รับมาตลอดชีวิต
“พอโควิด-19 เข้ามา ทำให้พวกเราแทบจะมองไม่เห็นอนาคต จะเติบโตไปเป็นอะไร…จุดที่ตัดสินใจออกจากบ้าน เพราะออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง พ่อรู้ และขู่จะตัดพ่อตัดลูก เขาบอกว่าการทำแบบนี้สุดโต่งเกินไป ทั้ง ๆ ที่เราก็แค่อภิปรายเรื่องทรงผม… สิ่งที่ครอบครัวหลงลืม คือ ไม่ได้มองว่าเด็กเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เราไม่ต้องการผู้ใหญ่ที่ตัดสิน สั่งสอน ตีตรา เราต้องการผู้ใหญ่ที่รับฟัง เข้าใจ และยืนเคียงข้างในวันที่เด็กไม่มีใคร…”
พลอย
เอริกา เมษินทรีย์ ผู้ก่อตั้ง Youth in Charge มองว่า วิกฤตทางสังคมยังท้าทายความสัมพันธ์ในครอบครัว ระหว่างผู้ใหญ่ กับ เยาวชน แต่จะทำอย่างไร ไม่ให้ที่อื่น กลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยมากกว่าบ้าน คนที่ทำงานร่วมกับเยาวชนมาหลายปี อย่าง Youth in Charge มองว่า การเปิดใจรับฟัง และมีกติการ่วมกันของคนต่าง GEN เป็นเรื่องสำคัญ เพราะครอบครัวก็คือแบบจำลองสังคมที่มีคนมากกว่า 2 generations อยู่ร่วมกัน
“ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ช่องว่างระหว่างวัยเป็นอะไรที่ค่อนข้างรุนแรง อาจจะไม่ค่อยสร้างสรรค์ในแง่ของ Gen 2 Gen ที่ขาดการพูดคุยกัน สร้างพื้นฐานที่ดี ของการเปิดกว้าง เคารพ เข้าอกเข้าใจ น่าจะเป็นอะไรที่ยั่งยืนกว่าในระยะยาว”
จะเด็จ เชาวน์วิไล เครือข่ายด้านเด็ก สตรี และครอบครัว วิเคราะห์ว่า สถิติของเด็กและเยาวชนที่หนีออกจากบ้าน ด้านหนึ่งอาจมาจากพื้นฐานครอบครัว ชายเป็นใหญ่ การมองลูกเป็นสมบัติ ที่ฝังรากลึกในสังคมไทย แต่อีกด้านก็เป็นผลพวงมาจากวิกฤตสังคม ที่ไม่อาจโทษพ่อแม่ ฝ่ายเดียว รัฐเองก็ต้องตระหนักถึงบทบาทความรับผิดชอบ เพราะโลกสมัยใหม่ทำให้ครอบครัวไทยต้องเจอกับวิกฤตรอบด้าน ขณะที่รัฐยังไม่มีเบาะรองรับทางสังคมดีพอ
2 ปีที่ผ่านมา จึงเป็นช่วงวิกฤตที่เราเห็นปัญหาครอบครัว และคนระหว่างวัยชัดมากขึ้นเรื่อย ๆ
“ครอบครัวไทยถูกพายุพัดพาจากวิกฤต หลายครอบครัว ตกงาน ทำให้เกิดความขัดแย้งในครอบครัวโดยที่มีปัจจัยภายนอกมากำหนดในช่วง 1-2 ปีนี้สูงมาก สังคมไทยไม่มีรัฐสวัสดิการรองรับ ปัจเจกชน ครอบครัวเผชิญกับความโดดเดี่ยว”
มูลนิธิกระจกเงาพบว่า ช่วงปี 61-65 ภาพรวมเด็กหายลดลง สวนทางกับ % ของเด็กที่สมัครใจหนีออกจากบ้าน ซึ่งล่าสุดสูงเกือบ 70% ส่วนใหญ่มาจากปัญหาครอบครัว โดยเฉพาะการห้ามให้เด็กทำ หรือ ไม่ทำอะไร และการใช้ความรุนแรง