สัมภาษณ์พิเศษ | “มูฮาหมัด อัณวัร หะยีเต๊ะ”
บรรณาธิการสื่อใหม่ The Motive
ช่วงปี 2556 -2560 #SaveAnwar คือกระแสเรียกร้องคืนอิสรภาพให้ ‘อันวาร์’ – “มูฮาหมัด อัณวัร หะยีเต๊ะ” นักกิจกรรมทางสังคมเป็นที่รู้จักกว้างขวางในแวดวงคนทำงานภาคประชาสังคมและสื่อทั้งในและต่างประเทศ บุคลิกที่เอาจริงเอาจัง ประกอบกับผลงานที่ผ่านมา เขาคือหลักฐานที่มีชีวิต สะท้อนกระบวนการยุติธรรมไทยยังไม่ตอบโจทย์ปัญหาความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การถูกติดป้ายเป็นนักโทษทางการเมือง ไม่ได้ทำให้วัยหนุ่มหมดความหมาย
ด้วยวัย 38 ปีที่เปี่ยมพลัง เขากลับมาอีกครั้งในบทบาทบรรณาธิการ ‘The Motive’ สื่อใหม่ที่ต้องการสร้างแรงพลังใจและหาทางออกสร้างสรรค์ของความขัดแย้งพร้อมกับเพื่อน ๆ เตรียมเปิดตัวผ่านเวที ‘ภาพอนาคตปาตานี/ชายแดนใต้’ วันที่ 19 -25 มิถุนายนนี้ เพียงเปิดชื่อคนแสดงวิสัยทัศน์
‘ทักษิณ ชินวัตร’
‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’
‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’
และตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็น รวมถึงรายชื่อผู้เชี่ยวชาญบนโต๊ะพูดคุยสันติภาพ ฯลฯ เพื่อตั้งคำถามถึงรูปแบบการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการมีส่วนร่วมสร้างสันติภาพนอกโต๊ะเจรจาก่อนการเลือกตั้งใหญ่
การจุดกระแสความคิดและตั้งคำถามถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน ภาพฝันในอนาคตของพื้นที่ความขัดแย้ง ทำไมจึงกลายเป็นเรื่องละเอียดอ่อนของฝ่ายความมั่นคง? บทสัมภาษณ์พิเศษนี้ขนาดยาว จึงแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก เป็นการคลี่คลายความคิด ตัวตนของ ‘อันวาร์’ – “มูฮาหมัด อัณวัร หะยีเต๊ะ” และความคิดในการตั้งสำนักข่าวการต่อสู้ทางการเมืองที่เขาและกลุ่มเพื่อนถนัด ช่วงที่สอง ทำไมต้องพูดเรื่องภาพอนาคตปาตานี/ชายแดนใต้ และเบื้องหลังความยุ่งยากที่จะชวนให้เราติดตามถึงผลกระทบด้านต่าง ๆ
Q: อนาคตจะมีความหมายเมื่อเรากลับไปทบทวนอดีต ความคิด และตัวตน โดยเฉพาะของ ‘อันวาร์’ ย้อนไปสักเมื่อ 20 ปี ก่อนที่จะลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับภาพอนาคตปาตานี/ชายแดนใต้ เขาก่อรูปความคิดและมีร่องรอยการเติบโตมาอย่างไร นี่คือคำตอบที่สรุปการเดินทางในชีวิตของเขาให้เราเข้าใจอย่างย่นย่อ
อันวาร์: ปีนี้ 2565 ถอยปี 20 ปี ผมเป็นคนยะรัง จังหวัดปัตตานี ปี 2545 ผมเพิ่งอายุ 18 ปี จบ ม.6 มีโอกาสมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงปีแรก ตอนนั้นยังไม่ได้สนใจประเด็นในพื้นที่ หรือประเด็นทางการเมืองอะไร เป็นเด็กใส ๆ เพิ่งเข้ามหา’ลัย เริ่มได้ยินชื่อกลุ่มนักศึกษามุสลิม PNYS (กลุ่มนักศึกษาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งประกอบด้วยนักศึกษาปัตตานี (P) นราธิวาส (N) ยะลา (Y) สงขลาและสตูล (S) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2522) แต่ก็ยังไม่ได้สนใจมากนัก เริ่มทำกิจกรรมรวมกลุ่มกับเพื่อน ๆ บ้าง
เรียนได้ปีเดียวก็กลับบ้าน และมาเริ่มต้นเรียนใหม่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ปี 2546 ซึ่งเป็นปีแรกที่ราชภัฎยกระดับเป็นมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ผมเลือกเรียนด้านนิเทศศาสตร์ พยายามเลี่ยงคณะที่มีคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เพราะไม่เก่งคำนวณ และคิดว่าด้านนิเทศศาตร์เรียนง่ายที่สุดแล้วที่จะทำให้ผมจบปริญญาตรีได้ วัยนั้นยังไม่ได้ตั้งความหวังว่าอยากเป็นอะไร ขอแค่จบปริญญาตรีก่อน
จนกระทั่งปี 2547 ปัญหาความรุนแรงชายแดนใต้เริ่มปะทุขึ้นมา ผมก็แค่ฟังข่าว ติดตามข่าว จนกระทั่งปี 2548 กลุ่มเยาวชนและนักศึกษาเริ่มถูกจับมากขึ้น ด้วยกฎหมายพิเศษ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เพิ่งประกาศใช้ในปีนี้ ก่อนหน้านี้ เพื่อน ๆ ผมที่เป็นคนมลายู เรียนปอเนาะทยอยถูกจับ ก็ได้แต่สงสัยว่าทำไม เกิดอะไร ทำไมต้องเป็นพวกเขา เป็นปีที่สถานการณ์ในพื้นที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น มีการฆ่าตัดคอเจ้าหน้าที่รัฐ และในที่สุดผมก็ถูกจับด้วยหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ก่อการร้าย อั้งยี่ ซ่องโจร การที่ผมต้องอยู่ในเรือนจำช่วงนั้น ทำให้เจอคนที่เรียกตัวเองว่าเป็น ‘ขบวนการ’ แต่ผมไม่รู้ว่าเขาอยู่ระดับไหนของขบวนการ
“ผมคิดว่าเขาเป็นขบวนการจริง ๆ นะ อยู่ในระดับปฏิบัติการ ซึ่งโครงสร้างของขบวนการนั้น ระดับปฏิบัติการจะไม่รู้โครงสร้างภายในระบบการสั่งการใด ๆ แต่ตัวเขารู้ว่าเขาทำไปทำไม”
ปี 2549 ผมได้รับการประกันตัวออกจากเรือนจำ และปี 2550 เริ่มมีการก่อตัวเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนที่อัดอั้นตันใจจากการใช้กฎหมายพิเศษ มีข้อเรียกร้องให้ถอนทหารพราน และยกเลิกการบังคับใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ จากคนที่อยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ทั้งปัตตานี ยะลา นราธิวาส มารวมตัวกันนับหมื่นคน เป็นการชุมนุมขนาดใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น หน้ามัสยิดกลางปัตตานี ปีนั้นผมก็ยังไม่ได้มีส่วนร่วมทางการเมืองกับกลุ่มเคลื่อนไหวใด ๆ แต่เป็นช่วงที่ผมได้เรียนรู้เกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมของคนมลายูมุสลิม เริ่มต้นจากคนใกล้ตัว เพื่อน ผลกระทบที่ตัวเองได้รับ คนในชุมชน ฯลฯ ความสงสัยของผมเริ่มมีคำตอบบางอย่าง
เดือนกรกฎาคม 2550 ศาลชั้นต้นออกคำพิพากษาโดยศาลตัดสินว่า ผมผิดฐานเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต (ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี) ต่อมาปี 2552 ศาลอุทธรณ์ตัดสินให้ยกฟ้องผม เพราะไม่มีหลักฐานสนับสนุน การกล่าวหาเป็นเพียงการซัดทอดจากจำเลยคนอื่น
ต่อมาปี 2552 – 2553 เพื่อน ๆ เริ่มเกาะกลุ่มตั้งสำนักข่าวบุหงารายา นิวส์ และมาชักชวนให้ผมเขียนอะไรบ้าง ทักษะการอ่านและการเขียนเป็นทักษะเดียวที่ได้ร่ำเรียนมาก่อนเข้าเรือนจำ ผมก็เริ่มขีดเขียนบทความจริงจัง เขียนสารคดีท่องเที่ยว และช่วยเพื่อนวางระบบของสำนักข่าวและเป็นบรรณาธิการให้ ช่วงนั้น เริ่มมีการจัดตั้ง ‘เครือข่ายสื่อภาคประชาสังคมชายแดนใต้’ ผมก็ได้เรียนรู้เรื่องภาคประชาสังคม เรื่องสิทธิมนุษยชน กฎหมายระหว่างประเทศ เรียนรู้เชิงลึกประเด็นความขัดแย้งในพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ จากการได้สัมพันธ์กับกลุ่มเอ็นจีโอ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ชายแดนใต้ (Deep South Watch) และกลุ่มภาคประชาสังคม นักวิชาการต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศเรื่อยมา
จนกระทั่งปี 2556 หลังจากที่มีการริเริ่มพูดคุยสันติภาพปาตานี/ชายแดนใต้ ระหว่างตัวแทนของขบวนการบีอาร์เอ็น และตัวแทนของรัฐไทย โดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เป็นครั้งแรกที่รัฐไทยยอมรับอย่างเป็นทางการต่อสาธารณะและประชาคมนานาชาติว่ามีขบวนการแบ่งแยกดินแดน หรือที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นิยามว่าเป็นกลุ่มคนเห็นต่างจากรัฐ ก็เป็นโอกาสที่ผมได้ศึกษาวิธีคิดของ ‘ฮาซัน ตอยิบ’ ตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็นเป็นใคร เขาคิดอะไร
แต่ไม่คาดฝัน สองเดือนจากนั้น คือ วันที่ 1 พฤษภาคม 2556 ศาลฎีกากลับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ว่าผมมีความผิดจริง ตัดสินจำคุก 12 ปี แต่ผมติดจริงอยู่ในเรือนจำ 4 ปี
“วันนั้น เหงื่อออกมาที่มือ เท้า รู้สึกชาไปทั้งตัว อาหารเช้าที่กินกับครอบครัวคือมื้อสุดท้ายก่อนเข้าเรือนจำ ผมเป็นห่วงอาเยาะ (พ่อ) และแม่มากท่านสองคนแก่มากแล้ว อาเยาะถามผมว่ารอดแล้วใช่ไหม ‘ไม่ครับ ผมโดนโทษ 12 ปี’ เสียงผมหายไปในลำคอ ทั้งอาเยาะและแม่ร้องไห้เหมือนจะขาดใจ ผมต้องฝากครอบครัวผมไว้กับภรรยา รอมือละห์ แซเยะ ให้ช่วยดูแล ทั้งที่เราเพิ่งแต่งงานกันไม่นาน”
การต้องกลับมาติดคุกครั้งที่สองเป็นเรื่องที่ไม่เคยคิดมาก่อน แต่การกลับเข้าเรือนจำปัตตานีอีกครั้ง ผมก็ยังได้เจอผู้ต้องหาคดีความมั่นคง ที่ติดโทษในช่วงเดียวกับผม ปี 2548 ประมาณ 6-7 คน พวกเขาถามผมมากมายเกี่ยวกับเรื่องกระบวนการสันติภาพปาตานี/ชายแดนใต้ ถามถึงฝ่ายขบวนการและข้อเสนอ 5 ข้อของขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งขณะนั้น หนึ่งในห้าข้อคือ การปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง ประกอบกับปี 2558 เมื่อประเทศไทยเข้าเป็นประชาคมอาเซียน พวกเขามีความหวังมากว่าจะได้ออกจากเรือนจำ ผมก็พยายามถามเขานะว่าทำไมคิดอย่างนั้น เขาก็บอกว่าถ้าไทยเข้าเป็นประชาคมอาเซียน คงเหมือนการรวมกลุ่มประเทศในยุโรปเป็นอียูและน่าจะมีผลต่อโต๊ะเจรจาสันติภาพ ผมพยายามอธิบายว่าอาเซียนไม่ได้เข้มแข็งเท่าอียู ไม่อยากพูดบั่นทอนความหวังมากนัก ทว่า ปี 2557 เกิดรัฐประหาร โต๊ะเจรจาพูดคุยสันติภาพล่ม ความหวังของคนในเรือนจำ นักโทษทางการเมือง และผู้คนในพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ก็ล่มสลายไปพร้อมกับรัฐประหารอยู่ดี
Q: ตกลงคุณเป็นขบวนการบีอาร์เอ็นจริง?
อันวาร์: (หัวเราะตอบอย่างอารมณ์ดี) “ศาลไทยได้ตัดสินว่าผมเป็นขบวนการบีอาร์เอ็นไปแล้ว” ช่วงที่ผมอยู่เรือนจำปัตตานี มีนักข่าวอัล จาซีราเข้ามาทำสารคดีเรื่องของผม พูดคุยกันอยู่นาน เขาเก็บกล้องอุปกรณ์ลงกระเป๋าหมดแล้ว และเขาก็เพิ่งนึกขึ้นได้ ขอถามเป็นคำถามสุดท้าย รื้ออุปกรณ์ตั้งกล้องใหม่อีกครั้ง ถามคำถามเดียวกันว่า “เป็นบีอาร์เอ็นไหม?” ผมฝากนักข่าวอัล จาซีรา ซึ่งกำลังจะไปสัมภาษณ์ ‘ฮาซัน ตอยิบ’ ต่อจากผมอยู่แล้วว่า ฝากดูเลขสมาชิกด้วยว่าผมอยู่ลำดับที่เท่าใด ฝ่ายขบวนการนับผมเป็นพวกด้วยไหม? (เสียงหัวเราะร่าเริงมาก)
โดยส่วนตัว ผมมีแนวคิดเรื่องมลายูมุสลิม การต่อสู้เรื่องอัตลักษณ์ เรื่องความไม่เป็นธรรม ผมเรียนรู้สิ่งเหล่านี้จากประสบการณ์ที่ผมเผชิญหน้า จากการถูกจับ การรีดเค้น จากความไม่เป็นธรรม จากความสงสัยที่ผมโดนกับตัวเองและคนที่รู้จัก มีเพื่อนรุ่นพี่แซวผมว่า ตอนนี้ผมรู้เรื่องขบวนการบีอาร์เอ็นมากกว่าคนในขบวนการด้วยซ้ำ เพราะผมได้รู้จักคนในเรือนจำ อ่านจากหนังสือ จากข่าวที่ออกมาช่วงหลายปีหลังนี้เอง (อันวาร์หัวเราะเสียงดังมาก)
“แนวคิดของผมอาจจะสอดคล้องกับแนวทางของขบวนการบีอาร์เอ็น เราต่อสู้เรื่องเดียวกันคือ เรื่องความเป็นธรรมของคนมลายูมุสลิม แต่ผมไม่เคยเข้าพิธีซูมเปาะ (สาบานตน) หรือร่วมฝึกกองกำลัง จะเรียกว่าผมเป็นขบวนการได้ไหม? ความคิดอาจจะเหมือนกัน แต่วิธีการต่อสู้ต่างกัน”
เรียกผมว่าเป็นแนวร่วมทางความคิด และผมเป็นนักโทษทางความคิดหล่ะกัน”
Q: กลับมาที่บทบาททางการเมืองใหม่ การริเริ่มตั้งสำนักข่าว The Motive มีที่มาอย่างไร?
อันวาร์: ก่อนที่ผมจะเข้าเรือนจำรอบสอง ปี 2556 เริ่มมีการตั้งกลุ่ม ‘วาระตานี’ (Wartani) โดยเพื่อน ๆ ผมและเครือข่ายนักศึกษาหัวก้าวหน้า ผมคิดว่าเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความหวัง ผมพกความหวังนี้เข้าเรือนจำไปครุ่นคิดด้วย ทุกวัน ๆ ผมจะเขียนใส่กระดาษว่าถ้าออกจากเรือนจำผมจะทำอะไรบ้าง โครงสร้างการดำเนินการจะเป็นอย่างไร แผนการสื่อสารจะขับเคลื่อนอย่างไร จนกระทั่งต้นปี 2559 ‘ซาฮารี เจ๊ะหลง’ (เขาเป็นส่วนหนึ่งในการก่อตั้งกลุ่ม Southern Peace Media เป็นนักจัดรายการวิทยุมีเดียสลาตัน เคยเป็นนักข่าวพลเมืองของไทยพีบีเอส เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Wartani และเป็นอดีตบรรณาธิการของสำนักสื่อ Wartani) เข้ามาเยี่ยมที่เรือนจำ บอกว่า คนรุ่นก่อตั้ง ‘วาระตานี’ ได้ส่งไม้ต่อให้คนรุ่นที่สอง คนรุ่นใหม่แล้ว ผมขยำกระดาษที่เป็นไอเดียทั้งหมดทิ้งเลย เพราะผมไม่รู้จะเชื่อมต่อความคิดและความสันพันธ์กับคนรุ่นต่อมาอย่างไร ที่สำคัญคือ เขาอยากจะทำงานกับผมไหม
จนกระทั่งผมออกจากเรือนจำ วันที่ 7 มกราคม 2560 บอกตรง ๆ ว่าช่วงนั้นผมอยากอยู่เงียบ ๆ ยังไม่คิดอะไรมาก และการเมืองในพื้นที่ก็เปลี่ยนไปมาก กลุ่มเคลื่อนไหวต่าง ๆ ในพื้นที่ก็เปลี่ยนหน้าไปพอสมควร ผมใช้เวลา 2-3 ปี หลังออกจากเรือนจำดูแลครอบครัวของผมและภรรยา เริ่มทำธุรกิจเพื่อสังคมเล็ก ๆ กับภรรยา พยายามทำให้ครอบครัวอยู่ได้ก่อน
ต่อมาช่วงปลายปี 2562 -2563 ผมเริ่มพูดคุยกับแบซาฮารี และ ‘ลี บูดู’ หรือ ‘ซุลกิฟลี กาแม’ (อดีตเครือข่ายบัณฑิตอาสาปาตานีหรือ INSouth) อีกครั้ง ถามว่าอยากทำสื่ออีกรอบไหม ทุกคนบอกว่าอยากทำ ช่วงนี้เองเป็นช่วงที่ผมและเพื่อน ๆ เก็บข้อมูลสำนักข่าวที่เกิดใหม่ในส่วนกลางและกลายเป็นสื่อที่มีอิทธิพลทางความคิดของคนรุ่นใหม่อย่างมีนัยสำคัญ ตระกูล The ทั้งหมด ทั้ง The Matter, The Momentum, The Standard, ประชาไท, Way, Voice TV รวมทั้ง ehco ฯลฯ และขอคุยกับผู้บริหารสื่อบางสำนัก เพื่อหาโมเดลธุรกิจสื่อที่พอจะเป็นไปได้สำหรับการริเริ่มสำนักข่าวที่จังหวัดชายแดนใต้ นี้เป็นที่มาของ The Motive
Q: The Motive หมายถึงอะไร เกิดขึ้นและวางเป้าหมายอย่างไร เพราะเคยมีประสบการณ์จากการตั้งสำนักข่าว ‘บุหงารายา นิวส์’ มาแล้ว และผ่านช่วงก้าวหน้าที่มีการรวมตัวเป็น ‘เครือข่ายสื่อภาคประชาสังคมชายแดนใต้’
อันวาร์: The Motive หมายถึง แรงจูงใจ ผมอยากสร้างแรงจูงใจให้ทีมงาน และคนในพื้นที่ กล้าที่จะถกเถียง แลกเปลี่ยนด้วยเหตุและผล ในยุคสมัยที่สื่อสังคมออนไลน์เป็นสื่อที่มีอิทธิพล คณะทำงานได้วางบทบาทให้ The Motive เป็น Digital Public Consultation หรือแพลตฟอร์มที่เปิดพื้นที่ให้คนได้แลกเปลี่ยนกันด้วยเหตุด้วยผล และมีการจัดการที่ไม่เพิ่มเชื้อไฟให้กับความขัดแย้ง ผมเชื่อว่าวิธีการเช่นนี้จะนำไปสู่ทางออกของความขัดแย้งได้ คงเป็นอีกภาษาหนึ่งของคำว่าพื้นที่กลาง แต่เป็นการจัดการพื้นที่กลางด้วยวิธีการสื่อสารรูปแบบใหม่
ที่ผ่านมา ผมได้ศึกษากลุ่มคนรับสารของสื่อใหม่ที่เกี่ยวข้องและรายงานข่าวสถานการณ์เกี่ยวกับพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ทั้งในและนอกพื้นที่ เพราะอยากเจาะกลุ่มคนรับสารที่ยังเข้าไม่ถึง ‘สำนักข่าวอิศรา’ ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กลุ่มเป้าหมายคือคนที่สนใจปัญหาความขัดแย้งและหน่วยงานความมั่นคง สื่อกระแสหลักส่วนกลางมีพื้นที่ข่าวชายแดนใต้เพียงแค่รายงานสถานการณ์ไม่ได้อธิบายปัญหาเหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว สื่อนอกจากนี้, ก็จะเป็นเพจการท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่เพจของ ‘วาระตานี’ มีคนติดตามประมาณ 1.8 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านในพื้นที่ชายแดนใต้ ที่เราเรียกกันว่า ‘กัมปง’ กลุ่มคนที่สนใจข่าวสารบ้านเมืองสถานการณ์ต่าง ๆ จึงต้องสื่อสารด้วยภาษามลายูเป็นหลัก
แต่ The Motive อยากสื่อสารกับคนวัยทำงานอายุสัก 25 – 45 ปี เรียนมหาวิทยาลัยมาบ้าง กลุ่มนักวิชาการ กลุ่มผู้นำท้องถิ่น และขยับขยายกลุ่มคนฟังนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ด้วย อยากเปิดพื้นที่ถกเถียงแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างคนในและคนนอกพื้นที่ ว่าเหตุผลของแต่ละฝ่ายคืออะไร ผมอยากให้คนนอกพื้นที่ได้เข้าใจวิธีคิดของคนในพื้นที่ชายแดนใต้ และสร้างบรรยากาศของการพูดคุยกัน ถ้าทำได้ นี่จะเป็นพื้นฐานการของเปลี่ยนสถานการณ์ของความไม่เข้าใจกัน ตั้งเป้าอยากสื่อสาร 3 ภาษา แต่ระยะเริ่มต้นจะใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลักในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายวงกว้าง เริ่มมีบทความภาษามลายูบ้างแต่ยังน้อยชิ้นอยู่ ภาษาอังกฤษนั้นยังต้องเพิ่มศักยภาพของทีม แต่เชื่อว่าอีกไม่นานเราจะไปถึงเป้าหมายนั้น เพราะอยากให้ The Motive สื่อสารไปถึงประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียด้วย
มีเกร็ดเล็กน้อยซึ่งเป็นเรื่องบังเอิญ วันที่ผม แบซาฮารี และลี บูดู ได้นั่งคุยกันและพร้อมใจ “ลุย! มาทำสื่อกันอีกสักตั้ง” วันนั้นเป็นวันศุกร์ที่ 13 มีนาคม 2563 เผอิญตรงกับวันคล้ายวันสถาปนาขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมาลายูปาตานี หรือบีอาร์เอ็น โดยไม่ตั้งใจ พวกเราคุยฟุ้งกันมากว่าหน้าตาสำนักข่าว โทนสี ประเด็นที่อยากสื่อสารมีอะไรบ้าง กิจกรรมที่อยากทำ และคุยกันว่าจะเปิดตัวสำนักข่าวในปี 2564 แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้เลื่อนเปิดตัวล่าช้ามาอีกปี การจัดงาน ‘ภาพอนาคตปาตานี/ชายแดนใต้’ จึงนับว่าเป็นการเปิดตัวสำนักข่าว The Motive อย่างเป็นทางการว่าคนรุ่นใหม่อย่างพวกเรากำลังคิดออะไรอยู่
เราอยากเป็นสื่อมืออาชีพ เตรียมจดทะเบียนเป็นบริษัท มีการบริหารจัดการที่ตรวจสอบได้เหมือนกับสำนักสื่อใหม่ในส่วนกลางที่สามารถหารายได้ ทั้งเลี้ยงตัวเองและเลี้ยงอุดมการณ์ เป็นที่พักใจของกลุ่มคนทำงานร่วมกันได้ ไม่ใช่เอ็นจีโอทำข่าวเหมือนที่เคยถูกบอกว่าเป็นสื่อภาคประชาสังคมที่อาจมีลักษณะการสื่อสารด้านเดียวในสิ่งที่ตัวเองทำ และทำงานในลักษณะอาสาสมัครจนกระทั่งมีปัญหากับครอบครัว อีกประเด็นคือ ความต้องการเป็นสื่อมืออาชีพมากขึ้นนั้น ทำให้เราต้องขยับมุมมองและความรับผิดชอบมากขึ้น ถ้าอยากเปิดพื้นที่ให้คนถกเถียงกันได้ พวกผมต้องเริ่มจากการมองผู้คนที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์ด้วย พื้นฐานของการอยู่ร่วมกันจุดเริ่มต้นก็คือการมองเห็นซึ่งกันและกันก่อน ไม่ใช่เห็นแต่กลุ่มของตนเอง
Q: กว่าสองปีสถานการณ์โควิด-19 ระบาดที่จังหวัดชายแดนภาคใต้รุนแรงและยาวนานคู่มากับที่กรุงเทพฯ ตลอดเวลา และมีข้อจำกัดเชิงบริบทพื้นที่ทั้งความเชื่อ ศาสนา และวัฒนธรรมในการควบคุมโรค ช่วงนั้น The Motive ก็มีบทบาทสำคัญอย่างมาก ตอนนั้นคิดออะไร ใช่เป้าหมายที่อยากทำหรือไม่
อันวาร์: ในวันที่คุยกันเรื่องจัดตั้งสำนักข่าว The Motive จุดยืนชัดเจนว่าจะไม่ทำข่าวรายวัน เพราะไม่มีคนและกำลังพอในการติดตามสถานการณ์ ทว่า ช่วงเดือนมีนาคม 2563 ที่กรุงเทพฯ เกิดโควิดระบาดคลัสเตอร์สนามมวย มีคนที่สัมผัสใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยงสูงกระจายไปทั่วประเทศ ส่วนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ก็เริ่มมีคนไทยกลับจากดาวะห์ (ปฏิบัติศาสนกิจ) จากมาเลเซีย 132 คน ซึ่งคาดว่าจะมีคนติดเชื้อกระจายตัวไปที่ต่าง ๆ ไม่น้อย พวกเราก็เริ่มมองหน้ากันจะทำอย่างไรกับประเด็นตรงหน้า และเห็นพ้องกันว่า ต้องทำข่าวโควิด-19 ในพื้นที่ของเราก่อน เพราะเป็นประเด็นที่ทุกคนได้รับผลกระทบร่วมกันไม่ต่างจากสถานการณ์ความรุนแรงชายแดนใต้
ทำให้ได้พบกับ ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ นักระบาดวิทยาคนเดียวในพื้นที่ชายแดนใต้ ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นคนเปิดโลกให้กับพวกเรามากถึงข้อมูลความรู้เรื่องโรค การเข้าถึงข้อมูลของระบบสุขภาพ และการเข้าถึงข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งหมออีกหลายคนในสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุข ที่มีบทบาทสำคัญในการใช้พหุวัฒนธรรมศาสนาเป็นอีกปัจจัยในการควบคุมโรคได้ การเชื่อมโยงกับคณะกรรมการอิสลามแต่ละจังหวัดด้วย
ในการสื่อสารความเสี่ยงและป้องกันโรคโควิด-19 ในพื้นที่ชายแดนใต้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 ทั้งผม ฝ่ายไอที และกราฟิกช่วยกันหาข้อมูล พยายามหาตัวเลขต่าง ๆ ประสานหาผู้คนมากมาย เรียกว่าวุ่นวายมากช่วงแรก ทุกคนยังคลุมเครือว่าโควิด-19 ติดต่อและระบาดอย่างไร อะไรคือความเสี่ยงของโรค พฤติกรรมเสี่ยงสำคัญจะได้รายงานตัวเลขสถานการณ์ได้ทุกวัน เพื่อให้คนในพื้นที่ชายแดนใต้ติดตามข่าวจากเรา The Motive ทยอยรายงานข่าวเคสแรกของปัตตานี ยะลา รวมทั้งการจัดการควบคุมโรคในพื้นที่อย่างเกาะติด ใช้ข้อมูลอ้างอิงจากกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกวัน
มีอยู่วันหนึ่งพวกผมเหมือนถูกระเบิดลง วันนั้นรายงานข่าวว่า จังหวัดสตูล พบผู้ติดเชื้อโควิดรายแรกแล้ว เปิดเผยที่ The Motive ที่แรกเลย แต่มีการประกาศว่าข่าวของ The Motive เป็น Fake news ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ของจังหวัดสตูลโทรศัพท์มาหาพวกผมเลยว่าเอาข้อมูลมาจากไหน ให้แก้ข่าวและชี้แจงข้อเท็จจริงด้วย ผมนี้มึนเลย เพราะเราอ้างอิงข้อมูลเว็บของกรมควบคุมโรค ข้อเท็จจริงก็คือ ชายคนนั้นติดเชื้อจากคลัสเตอร์สนามมวย การลงข้อมูลควรลงว่าเป็นคลัสเตอร์สนามมวย กรุงเทพฯ แต่เขาลงเป็นภูมิลำเนาของผู้ติดเชื้อ ผมนี้ต้องขอให้ ส.ส. พรรคภูมิใจไทย ได้คุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าพรรคของเขาก่อน ไม่ใช่มาโทษพวกผม
หลังจากเหตุการณ์นี้ทำให้กรมควบคุมโรคปิดหน้าเว็บไม่รายงานข้อมูล realtime อีกต่อไป พวกผมเริ่มเดือดร้อน ต้องติดตามตรวจสอบจากเว็บไซต์และเพจของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 5 จังหวัด สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล ซึ่งข้อมูลแต่ละจังหวัดมาไม่พร้อมกัน ใช้เวลาถึงสองสามทุ่มกว่าทีมผลจะรวบรวมข้อมูลของทุกวันเสร็จ มีบางช่วงที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเปิดข้อมูล ทีมผมก็รายงานและตรวจสอบกับคนในพื้นที่ ทำแบบนี้ไปสักระยะหนึ่ง อ้าว ปรากฏว่าข้อมูลระดับอำเภอกับจังหวัดไม่ตรงกัน ไม่นานนัก ผมก็ไม่ได้ข้อมูลจากอำเภออีกเลย ทำให้พวกผมสงสัยว่าชาวบ้านไม่มีสิทธิรู้ข้อมูลความเสี่ยงในพื้นที่ของตัวเอง เพื่อมีส่วนร่วมในการควบคุมโรคระดับชุมชนของตัวเองเหรอ
The Motive รายงานสถานการณ์ระบาดโควิดในพื้นที่ต่อเนื่องเกือบปี จนกระทั่งนักวิชาการจาก มอ.ปัตตานี เจ้าหน้าที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) และหลายหน่วยงานราชการนำไปอ้างอิง มีคนนำไปใช้ศึกษาเชิงระบาดวิทยาของพื้นที่ จนกระทั่งการระบาดรอบสอง ทีมพวกผมเหนื่อยกันมาก พวกผมรู้ดีว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ก็เหมื่อยมากเช่นกัน จังหวะนี้ พวกผมคิดว่าการรายงานสถานการณ์อย่างเดียวเหมือนเดิมคงไม่ได้ผลแล้ว ก็เริ่มมีการประสานกับเครือข่ายเพจ สื่อออนไลน์ และสื่อวิทยุในพื้นที่ เครือข่ายสื่อของหมอสมาคมจันทร์เสี้ยวฯ 30 กว่าเพจ นัดวันสื่อสารสถานการณ์ความรู้และตอบทุกข้อสงสัยโดยการ FB live พร้อมกัน ทำอยู่หลายครั้ง เพื่อให้คนในพื้นที่ตระหนักถึงการระบาดรอบสองและรอบสามที่มาอย่างหนักหน่วง
“คนในพื้นที่ชายแดนใต้จำนวนหนึ่งยังชื่อว่าการระบาดของโรคเป็นการโจมตีของคนยิว ไม่ตระหนักเรื่องการรวมกลุ่มพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ หรือบางคนคิดว่าเป็นบททดสอบของพระเจ้า แต่สำหรับผม, อัลลอฮฺจะให้พรก็ต่อเมื่อคุณได้ลงมือทำ หรือได้พยายามทุ่มเททำก่อน อัลลอฮฺจะให้พรกับความพยายามนั้น ๆ ของคุณ”
เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น ความคิดเรื่องการเปิดตัว The Motive และทีมงานทั้ง 11 คนของพวกผมก็กลับมาอีกครั้ง ความคิดแรกอยากเปิดตัวช่วงเดือนมีนาคม 2565 ซึ่งเป็นวันก่อตั้งสำนักข่าวของเรา แต่ติดปัญหาเรื่องงบประมาณไม่พร้อม จึงขยับมาช่วงหลังรายอจากเดือนรอมฎอน แต่ไม่อยากให้เลยไปถึงรายอฮัจย์ใกล้สิ้นปี เพราะอาจจะไปติดกับช่วงเตรียมการเลือกตั้งใหญ่ระดับชาติ ดังนั้น จึงคิดว่าช่วงเวลา 19 – 25 มิถุนายน จัดกัน 7 วัน 7 คืนน่าจะทำได้และเตรียมตัวทัน ไม่กดดันทีมงานมากจนเกินไปนัก
ในกลุ่มคนที่ติดตามข่าวสารของเรา ก็เสียงแตกนะ อยากให้เราสื่อสารเรื่องราวความทุกข์ยาก ประเด็นของคนในพื้นที่ ไม่อยากให้สื่อสารหนักทางการเมืองมากนัก แต่ก็มีบางส่วนที่เห็นว่ากลุ่มพวกเราน่าจะขยับเรื่องที่เป็นปัญหาเรื้อรังของพื้นที่ที่ต่างจากสื่ออื่น จึงอยากเปิดตัวด้วยเรื่อง ‘ภาพอนาคตปาตานี/ชายแดนใต้’ เพื่อบอกความเป็นตัวเราและวิธีคิดของทีมเรา
โปรดติดตามบทสัมภาษณ์ตอนต่อไป “ทำไมต้องพูดเรื่องภาพอนาคตปาตานี/ชายแดนใต้ และเบื้องหลังความยุ่งยากที่จะชวนให้เราติดตามถึงผลกระทบด้านต่าง ๆ” กับ “มูฮาหมัด อัณวัร หะยีเต๊ะ” และการสรุปเนื้อหาจาก Forum ตลอด 7 วันได้ที่ #SCENARIOPATANI