เสียงใครดังกว่าจะได้ยินชัด…ก็ขอให้เสียงของ ‘สันติวิธี’ ดังกว่าเสียงปืนบ้างจะได้ไหม ? 

“ตอนนี้สันติวิธีกลายเป็นปีศาจ”


เป็นคำจำกัดความสั้น ๆ ของ พี่น้อย – นวลน้อย ธรรมเสถียร หลังจากที่เราตั้งคำถาม และชวนคุยถึงความรุนแรงที่ชายแดนใต้ เมื่อสถานการณ์กลับมาปะทุอีกครั้ง โดยผู้บริสุทธิ์ กลุ่มเปราะบางกำลังกลายเป็นเหยื่อความรุนแรง

ในฐานะที่พี่น้อยเป็นอดีตสื่อมวลชนที่ติดตามปัญหาความไม่สงบในชายแดนใต้ และกระบวนสันติภาพมายาวนาน ก็ยิ่งทำให้บทสนทนานี้ ไม่เพียงมองเห็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นที่นั่น แต่คือความพยายามทำให้ “คนนอก” เข้าใจความเป็นไปที่ชายแดนใต้มากขึ้นด้วย

‘สันติวิธี’ ไม่ใช่ปีศาจ!

แล้วอะไร ? ทำให้สันติวิธีถูกมองเป็นปีศาจ ทั้ง ๆ ที่เป็นกระบวนการแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่ยั่งยืนที่สุด หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนในสังคมส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะในโลกออนไลน์มองข้ามสันติวิธี เพราะสิ่งนี้กำลังถูกทำให้เชื่อว่า กระบวนการเจรจาสันติภาพ เรา…ในที่นี้คือรัฐไทย จะเสียเปรียบกลุ่มก่อความไม่สงบ จึงต้องปราบ ปราบ แล้วก็ปราบ…ค่อยมาคุยกัน

“20 ปีมานี้ เราใช้การปราบปรามกันไปแค่ไหน แล้วผลคืออะไร ? คำตอบก็มีให้เห็นมาจนวันนี้ สิ่งที่สังคมควรเรียกร้อง และทางที่ควรจะเป็น คือ ต้องมองหากระบวนการพูดคุย มีนายทหารระดับสูงหลายคนยอมรับว่า การพูดคุยจะช่วยลดความรุนแรง แม้ตอนนี้การพูดคุยยังไปไม่ถึงสาระสำคัญอะไรเลย แต่ข้อดีของมันคือ เมื่อมีกระบวนการพูดคุยขึ้น มันมีส่วนช่วยลดความรุนแรงได้ สิ่งที่ต้องช่วยกันคิด คือ ทำไมการพูดคุยยังไปไม่ถึงไหน รัฐก็ต้องไปทำตรงนั้นให้ดีขึ้น สถานการณ์ที่ชายแดนใต้เวลานี้ ทุกคนจำเป็นต้องฝากความหวังไว้ที่กระบวนการพูดคุย เพราะจะช่วยหยุดซับความรุนแรงลงได้

นวลน้อย ธรรมเสถียร

หนึ่งในข้อค้นพบที่พอจะชี้ให้เห็นได้ คือ ข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ระบุชัดว่า นับตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการเจรจาสันติภาพในปี 2556 เป็นต้นมา พบว่า สถิติเหตุการณ์ความไม่สงบลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นั่นเพราะกระบวนเจรจาสันติภาพ เป็นพื้นที่ให้คู่ขัดแย้งสามารถต่อรอง แลกเปลี่ยนข้อมูลและมีส่วนสร้างความไว้วางใจต่อกัน เพื่อเป็นแนวทางไปสู่การระงับไม่ให้ความรุนแรงเกิดขึ้นได้

อ่านเนื้อหาเพิ่มเติม : การพูดคุยสันติภาพในภาคใต้: ความเสี่ยงของการถอยกลับ (1)

พี่น้อย ยังชวนให้มองความขัดแย้งในชายแดนใต้ที่มีมายาวนาน จนผู้คนในพื้นที่ต้องทำความเข้าใจอยู่ตลอดเวลา ความสนใจของประชาชนขึ้น ๆ ลง ๆ ช่วงแรก ๆ ที่มีความรุนแรงเยอะคนก็สนใจ หลังจากนั้น คนก็เคยชินกับความรุนแรง ซึ่งเป็นความรุนแรงที่ต้องยอมรับความจริงว่าเกิดขึ้นกับทั้งสองฝ่าย พอมีคนส่วนหนึ่งเรียกร้องให้ใช้กระบวนการพูดคุยสันติภาพเข้ามาแก้ปัญหา คนข้างนอกก็ไม่เข้าใจ ว่าอยู่บนเงื่อนไขอะไร คุยเรื่องอะไร กับใคร และด้อยค่ากระบวนการพูดคุย ถึงขั้นเชื่อมโยงว่าไทยจะเสียดินแดน แต่ความเป็นจริงการใช้กระบวนการสันติภาพไม่ได้นำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน กรณี อาเจะห์ อินโดนิเซีย และ มินดาเนา ฟิลิปปินส์ ไม่มีใครเสียดินแดน แต่คือการจัดการความสัมพันธ์ใหม่ให้คนอยู่ด้วยกันได้ วินวินสองฝ่าย คำพูดแบบนี้ต้องการคำอธิบายอย่างมาก

“ที่ผ่านมาไม่มีใครมาอธิบายตรงนี้ เมื่อผู้คนเริ่มคุ้นชินกับความรุนแรง ก็รู้แค่ว่ารัฐบาลทำแล้ว มีคณะพูดคุยก็พอแล้ว พอวันดีคืนดีมีคนบอกพูดคุยไม่ได้ผล ก็เฮตามกัน จริง ๆ ต้องช่วยกันวิเคราะห์ปัญหาว่าเกิดจากอะไร ผ่านมาขนาดนี้แล้วทำไมยังแก้ไม่ได้ การพูดคุย เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสันติภาพมีส่วนช่วยอย่างไร… ผู้รู้บอกว่า มันจะช่วยทำให้ฝ่ายที่ใช้อาวุธ หันมามองแนวทางการเมืองมากขึ้น ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยว่าพอก้าวไปสู่โต๊ะเจรจาความไม่สงบจะยุติทันที อันนี้ต้องเข้าใจ” 

นวลน้อย ธรรมเสถียร

ในเวลาเดียวกันกับที่ความรุนแรงที่ชายแดนใต้รอบนี้พุ่งเป้าไปยังผู้บริสุทธิ์…อารมณ์ร่วมในสังคมเกิดขึ้นโดยไม่ต้องจุด และยิ่งสุมให้ไฟที่รุกอยู่ในชายแดนใต้ยิ่งระอุขึ้นกว่าเดิม

แต่อะไร ? ทำให้เสียงสะท้อนที่เกิดขึ้นจากสังคม แทบไม่ค่อยให้ความสำคัญกับกระบวนการสันติภาพ เพื่อแสวงหาทางออกโดยใช้สันติวิธี ตรงกันข้ามเสียงที่ดังกว่าคือ การอยากเห็นรัฐผู้ถืออำนาจในมือ จัดการแบบตาต่อตาฟันต่อฝันกับผู้ก่อความไม่สงบ

นวลน้อย ธรรมเสถียร อดีตสื่อมวลชน

บังคับใช้กฎหมายให้เข้มข้นมากขึ้น… เป็นหนึ่งในหลายความเห็นจากผู้คนในโลกออนไลน์ซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสความเกลียดชังภายหลังผู้บริสุทธิ์ เด็ก คนชรา คนพิการ ถูกสังหารอย่างไร้มนุษยธรรม อารมณ์ความรู้สึกผู้คนส่วนใหญ่เลยเถิดไปถึงเชื้อชาติ ศาสนา แต่ในมุมมองของ พี่น้อย อยากชวนให้สังคม หันกลับมาทำความเข้าใจอีกหนึ่งรากเหง้าของปัญหาในพื้นที่ชายแดนใต้เช่นกัน

ถามว่า…ทุกวันนี้กฎหมายพิเศษกี่ฉบับที่ถูกนำไปใช้ควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้ แต่ความจริงก็ต้องยอมรับว่า กฎหมายพิเศษที่มีอยู่ อาจใช้ได้ผลแค่ในสายตาของเจ้าหน้าที่ และหน่วยงานความมั่นคง แต่ไม่มีผลในเรื่องของความเป็นธรรม สิทธิมนุษยชน เพราะตลอดช่วง 20 กว่าปีมานี้ หลายเหตุการณ์ย้ำภาพชัดเจนว่า บางครั้งกฎหมายพิเศษ หรือ การให้อำนาจพิเศษกับฝ่ายความมั่นคงมากเกินไป ก็ยิ่งไปขยายความขัดแย้งให้แก้ยากขึ้นไปเป็นเท่าตัว 

อะไร ? จะช่วยการันตีให้ว่า กฎหมายที่นำไปใช้ในพื้นที่จะเข้มข้นควบคู่กับการทำให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกคนได้จริง นี่คือสิ่งที่ต้องตั้งคำถามเมื่อเรียกหาการใช้กฎหมายที่ชายแดนใต้

อีกเรื่องที่ พี่น้อย ยอมรับว่าได้ยินหรือเห็นคอมเมนต์แล้วไม่ค่อยสบายใจกับความคิด ความรู้สึกของคนนอกที่มองเข้ามา คือ การบอกว่า “ให้ใช้ศาลเตี้ยไปเลย ปราบปรามไปเลย ไม่ต้องไปบังคับใช้กฎหมายกับผู้ก่อเหตุ” สิ่งเหล่านี้กำลังย้ำภาพบทเรียนที่ผ่าน ๆ มา โดยไม่ต้องหาตัวอย่างอยู่แล้ว เพราะแน่นอนว่า ถ้ายิ่งตอบโต้ด้วยความรุนแรง ความขัดแย้งก็จะยิ่งไร้ซึ่งทางออก การที่มีคนบางกลุ่ม พยายามเสนอให้ใช้กระบวนการสันติภาพ พวกเขาไม่ได้บอกให้ไปยอมแพ้กับคนที่ใช้ความรุนแรง แต่นี่คือการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี เพื่อทำให้หลุดออกมาจากวงจรความรุนแรงได้ 

“ไม่ใช่บอกว่า ใช้กระบวนการสันติภาพแล้วเรามีแต่เสีย เสียดินแดน เสียรู้กับคนที่เห็นต่างจากรัฐ แต่ สันติภาพ คือ การเปิดพื้นที่ทางการเมือง ทำให้เห็นว่า คนที่มีปัญหาในพื้นที่ ให้เข้ามาสู่กระบวนการทางการเมือง มีข้อเรียกร้องยังไง ต้องการอะไร ต่อรองได้เท่าไร เป็นอีกเรื่อง ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าการเข้าสู่กระบวนการนี้ ไม่ได้ได้อะไรไปเสียทุกอย่างที่ต้องการ เพราะต้องไม่ลืมว่าตลอดช่วงที่ผ่านมา การเข้าสู่โต๊ะเจรจาไม่ว่ายุคไหน ก็อยู่ภายใต้เงื่อนไขของการเคารพต่อรัฐธรรมนูญ คือ ประเทศไทยแบ่งแยกไม่ได้ สิ่งนี้บอกชัดเจนในตัวของมันเองอยู่แล้ว การพูดคุยต่อรอง มันไม่มีทางนำไปสู่การแยกดินแดนได้เลย ถือเป็นความกลัวที่ไม่มีเหตุผล คนเสนอเรื่องกระบวนการสันติภาพ ไม่ได้เสนอให้นิรโทษกรรมคนที่ก่อเหตุรุนแรง ประเด็นสำคัญ คือ ต้องทำความยุติธรรมให้เกิดขึ้นให้ได้ คนที่ก่อเหตุ ฆ่าคน ทำร้ายพระ ฆ่าอุสตาซ ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ความยุติธรรมต้องทำงาน เป็นที่พึ่งได้ ตรงไปตรงมาไม่ว่ากับฝ่ายไหน” 

นวลน้อย ธรรมเสถียร

‘ศาสนา’ ต้องไม่ถูกนำพาให้กลายเป็นปัญหา

สำคัญที่สุด และต้องเน้นย้ำให้สังคมยิ่งทำความเข้าใจ คือ ปัญหาความไม่สงบชายแดนใต้ไม่ได้เริ่มต้นจากเรื่องศาสนา แต่ในตอนนี้กำลังมีคนเชื่อมโยงให้เป็นเรื่องศาสนา ซึ่งอันตรายมากในสายตาของ อดีตคนข่าวที่คลุกคลีอยู่กับประเด็นความรุนแรงที่ชายแดนใต้ เธอไม่อยากให้ใครต้องกลัวศาสนา ไม่อยากให้มองว่าศาสนาคือปัญหา นี่คือเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งในตอนนี้ที่ทุกคนต้องช่วยกันตั้งสติ เพราะเอาเข้าจริงถ้าเรื่องนี้คือเรื่องศาสนาจริง ๆ เชื่อว่า สถานการณ์จะไม่ลากยาวมาจนถึงทุกวันนี้

“เราหดหู่ใจเมื่อเห็นคนพุทธถูกทำร้ายอย่างทารุณ และเราก็เศร้าใจเมื่อคนมุสลิมถูกกระทำไม่ต่างกัน ดังนั้นเราในฐานะสังคมภาพรวม ในฐานะสื่อต้องช่วยกันดึงสติซึ่งกันและกัน เพราะในเวทีของชายแดนใต้ เกิดการสูญเสียของทั้งสองฝ่าย และความสูญเสียขณะนี้เกิดขึ้นกับผู้บริสุทธิ์ กลุ่มเปราะบาง ดังนั้นเป้าหมายใหญ่ที่สุดของสังคม คือ ทำอย่างไรถึงจะหยุดความรุนแรง ไม่ใช่ทำอย่างไรจึงจะหยุดความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับคนพุทธเท่านั้น ซึ่งต้องแก้แบบองค์รวม” 

นวลน้อย ธรรมเสถียร

ความเห็นร่วมแบบใหม่ สู่ ใบอนุญาตฆ่า!

การมองปัญหาแบบเฉพาะเจาะจง ไม่ได้มองแบบองค์รวม กำลังทำให้สังคมพิพากษาเหตุการณ์ความไม่สงบไปโดยไม่รู้ตัว และนั่นอาจหมายถึง ใบอนุญาตฆ่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ ผศ.วลักษณ์กมล จ่างกมล อาจารย์ประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นห่วง ก็เพราะเวลานี้ความเห็นร่วมของสังคมไปในทิศทางของการอยากเห็นคนบางกลุ่มถูกจัดการ 

แต่ในหมวกของนักสื่อสาร และในฐานะคนที่เกิดและโตในพื้นที่ชายแดนใต้ กลับเห็นว่า สิ่งสำคัญที่จะช่วยทำให้สถานการณ์กลับมาดีขึ้นได้ อาจต้องเริ่มต้นจากการจัดการกับความรู้สึกของผู้คนทั้งคนในพื้นที่ และคนนอกพื้นที่ นี่จึงเป็นบทบาทสำคัญของสื่อ ต้องกำหนด ความเห็นร่วมแบบใหม่ ไม่ใช่เห็นร่วมในสิ่งที่แย่ลง เพื่อเปิดทางให้การแก้ปัญหาคลี่คลายได้ด้วยสันติวิธี  

ผศ.วลักษณ์กมล จ่างกมล อาจารย์ประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสื่อสาร ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

“สถานการณ์ความรู้สึกของผู้คนขึ้น ๆ ลง ๆ ในแง่ความไว้วางใจ ระหว่างคนต่างความเชื่อ ต่างศาสนา ซึ่งความจริงอาจไม่ได้ไว้วางใจกันตลอดเวลา แต่ในระดับปัจเจกบุคคล ตัวต่อตัว ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ ไม่ได้มีความรู้สึกแย่ หรือเกลียดชังกัน ทุกคนยังมีเพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน ที่แตกต่างกันอยู่ แต่พอเป็นภาพรวม เป็นกลุ่มก้อน อาจมีความรู้สึกไม่เป็นธรรมของคนอีกกลุ่มในทางตรงกันข้าม ความรู้สึกแบบนี้ส่วนสำคัญคือปัจจัยของคนนอกที่เข้ามาทำให้กระแสความรู้สึกเป็นแบบนั้น เราเลยไม่อยากให้ปัจจัยภายนอกเข้ามามีผลทำให้คนในพื้นที่ ดังนั้นสังคมภายนอกก็ต้องเข้าใจ โดยเฉพาะสื่อต้องทำให้สังคมมีความเห็นร่วมแบบใหม่ที่เข้าใจกันมากขึ้น”  

ผศ.วลักษณ์กมล จ่างกมล

ผศ.วลักษณ์กมล ยังมองว่า ในชายแดนใต้ทุกคนพยายามสื่อสารในพื้นที่ของตัวเอง คนที่มีบทบาท นักวิชาการสันติศึกษา นักวิชาการด้านอื่น ๆ คนทำงานกลุ่มผู้หญิง กลุ่มเปราะบาง ก็พยายามสื่อสารถึงผลกระทบ ความเดือดร้อน ความทุกข์ของผู้คน นั่นชี้ให้เห็นว่าการทำความเข้าใจในพื้นที่ เพื่อสะท้อนให้คนภายนอกรับรู้ปัญหา ความเป็นไปที่เกิดขึ้นเป็นประเด็นหลัก

ดังนั้นจากสถานการณ์ที่เกิดการแบ่งขั้วชัดเจน ทำให้เห็นชัดเจนว่า ตลอด 20 ปีของเหตุการณ์ตั้งแต่ปี 2547 ความเข้าใจของคนนอกพื้นที่ชายแดนใต้ แทบไม่ดีขึ้นเลย ยังมีคนที่มองว่า พื้นที่ตรงนี้ คือ การก่ออาชญากรรมปกติ ต้องจัดการให้จบ ๆ ไปตามกฎหมาย เน้นการใช้นโยบายความั่นคงเข้ามา

ขอให้เสียงแห่ง ‘สันติวิธี’ ดังกว่าเสียงความรุนแรง

หนำซ้ำถ้าไปไล่ดูความเห็นในโลกออนไลน์ในสถานการณ์ความรุนแรงช่วงหลัง ๆ มานี้ ยังพบการเหยียดเชื้อชาติ ศาสนา ชาติพันธุ์ เกิดขึ้นในหมู่คนส่วนใหญ่ ซึ่งเชื่อว่าคนข้างนอก คนภายนอกยังเข้าใจแบบนั้น จากเหตุการณ์รอบนี้ คนในพื้นที่ก็ยิ่งเห็นว่า คนภายนอกต้องเข้าใจพวกเขาให้มากขึ้น เข้าใจที่มาที่ไปของเรื่องราว ที่กว่าจะมาเป็นความรุนแรง ยังมีหลายสิ่งที่ทับซ้อนกันอยู่มากมาย

ในฐานะของนักนิเทศศาสตร์ ผศ.วลักษณ์กมล จึงเรียกร้องให้สื่อ ช่วยกันทำให้เสียงแห่งสันติวิธีดังขึ้นมากกว่านี้ แม้แต่ฝ่ายของผู้ก่อความไม่สงบ ฝ่ายขบวนการฯ ก็เรียกร้องการเปิดโต๊ะเจรจา คนในพื้นที่ที่ได้รับผบลกระทบ ก็ออกมาสะท้อนว่า การใช้กำลัง ใช้ความรุนแรงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ถึงจะฆ่าให้หมดรัฐไทยก็ไม่ชนะ  

“ในพื้นที่มีคนไม่เกี่ยวข้องมากมาย ถ้านโยบายปราบปรามแก้ได้ ก็คงเกิดขึ้นนานแล้ว ถ้ามองตามหลักการสื่อสาร ใครเสียงดังกว่าเสียงนั้นก็จะได้ยินชัด จะถูกสนใจ เสียงของคนที่น้อยกว่า เบากว่า ก็จะถูกกลบไปไม่มีใครได้ยินในที่สุด สื่อจึงต้องทำให้ขดลวดของเสียงแห่งสันติวิธีดังขึ้นมาอีกครั้ง สื่อมีส่วนช่วยกำหนดทิศทาง ความเข้มข้นของเสียงที่ถามหาสันติวิธี เพื่อไม่ทำให้ความเห็นร่วมแบบใหม่ กลายเป็นใบอนุญาตฆ่า ทำให้เสียงของคนที่ต้องการสันติวิธีดังกว่าเสียงของคนที่ต้องการใช้ความรุนแรง…”

Author

Alternative Text
AUTHOR

พงศ์เมธ ล่องเซ่ง

นักข่าวไม่จำกัดสาย จัดให้ได้ทุกประเด็น