ท่องโลก SPLASH 2025 : วัฒนธรรมสร้างมูลค่า แต่ยังควานหา ‘ราก’ ไม่เจอ ?

งาน SPLASH – Soft Power Forum 2025 ซึ่งจัดขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 2 มารอบนี้ รัฐบาลหวังให้งานนี้ช่วยตอกย้ำวิสัยทัศน์การผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางซอฟต์พาวเวอร์ในเวทีโลก ภายใต้แนวคิด “วัฒนธรรมสร้างสรรค์ โอกาสเปล่งประกาย” และ “ก้าวต่อไปของการสาดพลังสร้างสรรค์”

THACCA (Thailand Creative Culture Agency) ในฐานะผู้จัดงานมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างรายได้ใหม่ ผ่าน 3 กลไกหลัก ได้แก่ การพัฒนาบุคลากรใน 14 สาขาอุตสาหกรรม, การพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ในประเทศ และการผลักดันอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์สู่เวทีโลก 

“ซอฟต์พาวเวอร์ไม่ใช่เพียงวัฒนธรรมที่น่าภาคภูมิใจ แต่คือเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่สร้างรายได้มหาศาล และประเทศไทยมีทุกองค์ประกอบที่โลกต้องการ ทั้งความคิดสร้างสรรค์ ความหลากหลาย ความยั่งยืน และความเป็นของแท้”

เป็นคำกล่าวเน้นย้ำของ แพทองธาร ชินวัตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในวันเปิดงาน เช่นเดียวกับป้ายข้อมูลภายในงานที่เขียนไว้ว่า

“ซอฟต์พาวเวอร์ คือ ทางรอดเดียวของประเทศไทย”

SPLASH – Soft Power Forum 2025 แบ่งออกเป็น 6 โซนไฮไลต์ ประกอบด้วย

  • เวทีเสวนานานาชาติ (Visionary Stage) ที่รวบรวมผู้นำทางความคิดระดับโลกมาแบ่งปันกลยุทธ์และโอกาสใหม่ ๆ อาทิ James Fauntleroy โปรดิวเซอร์เพลงรางวัลแกรมมี่ และ Michael J. Young ประธาน New York Film Academy

  • หมู่บ้านวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (Creative Culture Village) นิทรรศการจาก 14 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ในรูปแบบการมีส่วนร่วม

  • นิทรรศการแสดงวิสัยทัศน์วัฒนธรรมสร้างสรรค์ (THACCA Pavilion) ซึ่งเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้และยุทธศาสตร์ รวมถึงโครงการ “One Family One Soft Power (OFOS)” ที่มุ่งพัฒนาคนไทยด้วยการ Upskill และ Reskill เพื่อสร้างงาน อาชีพ และรายได้

  • การสร้างเครือข่ายและโอกาสทางธุรกิจ (Glo-Cal Networking) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้จับคู่กับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ

  • กิจกรรมพิเศษเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านซอฟต์พาวเวอร์ (Workshop Masterclass and Special Activities) เวิร์กช็อปอบรมพิเศษเพื่อพัฒนาเยาวชน ผู้ประกอบการ และชุมชน

  • โซนสร้างประสบการณ์ด้านซอฟต์พาวเวอร์ (Experiential Zone) ที่นำเสนอเทคโนโลยีสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ภายใต้ธีม “Multisensory Mindfulness Experience”

พร้อมทั้งยังเน้นย้ำ 5 กลยุทธ์หลัก ยกระดับอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์สู่เวทีโลก ได้แก่

  • อาหารไทย (Thai Cuisina, Thai Culinary Tourism)

  • มวยไทย (Muay Thai Bootcamp)

  • Thai Wellness (Thai Retreat Chain)

  • ภาพยนตร์ไทย (writer’s room, creative lab, Cash Rebate)

  • อัญมณีไทย (ยกระดับช่างเป็นศิลปิน)

เป็นเหมือนภาพสะท้อนนโยบาย Soft Power (5F) ดึงดูดใจนักท่องเที่ยว ในสมัยรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่แตกต่างกันเพียงแค่ตัด การออกแบบแฟชันไทย (Fashion) และ เทศกาลประเพณีไทย (Festival) ออก แทนที่ด้วยกลุ่มสินค้าและบริการสายสุขภาวะ Thai Wellness และอัญมณีไทย

ในใจความหลักของงาน SPLASH มีความพยายามที่จะจัดแสดงศักยภาพอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่

  • เฟสติวัล (The Country of Festival)

  • ศิลปะ (A-R-T: Awaken, Reflection, Transform)

  • การออกแบบ (Front 100)

  • แฟชั่น (Fashion is Second Skin)

  • การท่องเที่ยวและ Wellness (Manifesto Your Travel)

  • อาหาร (Bridging Opportunity to the World)

  • ศิลปะการแสดง (Performing Arts Osmosis)

  • เกม (Thailand: The Gateway to Southeast Asia’s Gaming and Esports Future)

  • ดนตรี (Graphic Notation)

  • ภาพยนตร์ สารคดี แอนิเมชัน (Transforming Asia’s Film & Media Landscape)

  • ละครและซีรีส์

  • หนังสือ (จากแผงหนังสือถึงห้องสมุด)

  • กีฬา (The Masterpiece of Thai Power)

โดยในแต่ละอุตสาหกรรมซอฟท์พาวเวอร์ ก็มีแนวทางการตกแต่งหรือจัดแสดงผลงานที่แตกต่างกันออกไปโดยสิ้นเชิง

SPLASH : เห็นมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ดี แต่ยังไม่มี ‘รากทางวัฒนธรรม’ ให้ได้เห็น ?

The Active ชวน พิชชากานต์ ช่วงชัย อาจารย์ประจำหลักสูตรการจัดการมรดกวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้มุมมอง พร้อมวิเคราะห์งาน SPLASH 2025 รวมไปถึงนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของไทยไว้อย่างน่าสนใจ

“SPLASH เป็นงานโชว์เคสที่ชัดเจน
มันคือการเทให้เห็น คือมีอะไรเทหมดหน้าตัก”

เป็นจุดเริ่มของการสะท้อนมุมมองต่อการจัดงาน และยังมองว่า แม้จะโชว์เคสทุกอุตสาหกรรมได้อย่างโดดเด่น แต่กลับทำให้ผู้เดินชมไม่สามารถจับใจความสำคัญหรือไอเดียหลักที่ผู้จัดงานต้องการสื่อสารได้ชัดเจนนัก เนื่องจากทุกอย่างดูดึงสายตากันไปมา อาจจะขาดแผนผังการเดินชมงานที่ชัดเจน

ความต่อเนื่อง และเชื่อมโยงระหว่างโซนนิทรรศการของแต่ละอุตสาหกรรม อาจจะยังขาดคำอธิบายในโซนต่าง ๆ อย่างเช่น โซนสร้างประสบการณ์ที่ใช้แสงเลเซอร์และกราฟิคจัดไฟอย่างสวยงาม ถ้ามีป้ายหรือข้อความให้เข้าใจได้ว่าการจัดงานรูปแบบนี้จะตอบสนองกับซอฟท์พาวเวอร์ได้อย่างไร น่าจะช่วยให้ผู้เข้าชมเข้าใจงานได้มากขึ้น

“ในฐานะผู้เดินดู มันไม่สามารถจับไอเดีย และใจความสำคัญที่ผู้จัดงานต้องการสื่อออกมาได้”

พิชชากานต์ ช่วงชัย

บทบาทของ THACCA ทับซ้อนกับ CEA : พิชชากานต์ มองว่าบทบาทของ THACCA ที่แสดงออกมานั้น เน้นไปที่การโปรโมตและการส่งออกธุรกิจสร้างสรรค์ ซึ่งก็จะไปทับซ้อนกับงานของ CEA ซึ่งเน้นการบ่มเพาะและริเริ่มธุรกิจเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม บางโครงการของ THACCA เช่น OFOS ก็พยายามสร้างหรือบ่มเพาะธุรกิจสร้างสรร์รายย่อยเช่นกัน ความทับซ้อนของงานนี้อาจจะทำให้ยากต่อการประเมินผล “ไม่มีใครอยากทำงานที่ทับซ้อนกันหรอก”

“โชว์เคสนี้ โชว์ให้ใคร ?” : ข้อสังเกตหนึ่งจากงาน SPLASH คือ หากต้องการให้เกิดซอฟต์พาวเวอร์อย่างแท้จริง กลุ่มเป้าหมายควรจะ “ไม่ใช่เฉพาะคนไทย” แม้ในงานจะดึงดูดผู้เข้าชมหลากหลายรุ่น หรือการดึงดูดผู้เข้าชมผ่านศิลปิน หรือบุคคลที่มีชื่อเสียง ช่วยให้ผู้คนได้สัมผัสกับวัฒนธรรมเพิ่มเติม

โดยเฉพาะเมื่อมีเป้าหมายเป็นศูนย์กลางซอฟต์พาวเวอร์ของภูมิภาคและของโลก พิชชากานต์ ยังชื่นชมที่งานนี้แสดงให้เห็น Diversity (ความหลากหลาย) ในวัฒนธรรมในประเทศไทย หรือมิติวัฒนธรรมที่หลากหลายมากขึ้น จากเดิมที่เน้นแต่ Dominant culture เช่น ต้มยำกุ้ง มวยไทย ที่อาจจะมีคนไทยที่ไม่ได้ยึดโยงมากนัก เช่น การแสดงร่วมสมัยในเวทีนิทรรศการ Performing Arts ที่จัดการแข่งขันเต้น ผสมผสานเพลงมวยไทยกับการเต้นบีบอย ถือเป็นแนวทางที่ถูกต้องในการสื่อสารซอฟต์พาวเวอร์

“ชอบมากเลย ที่มีเปิดเพลงมวยแต่ให้คนมาเต้น B-Boy แปลว่า มันเชื่อมโยงได้จริง ถ้าอย่างนี้ มีคนอินด้วย มีคนมีใจด้วย มันทำให้เห็นพลังของซอฟต์พาวเวอร์ที่ชัดเจนมาก”

พิชชากานต์ ช่วงชัย

ข้อสังเกตเรื่อง ‘ราก’ ของวัฒนธรรม : จุดที่น่าเสียดาย และสำคัญที่สุดในมุมมองของ พิชชากานต์ คือ การขาดการนำเสนอ ราก หรือ “คุณค่าทางวัฒนธรรม” ที่เป็นต้นกำเนิดของซอฟต์พาวเวอร์ งานนี้ประสบความสำเร็จในการโชว์ End product หรือผลลัพท์สุดท้ายที่ผ่านการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมมวยไทย มีการต่อยอดเป็นสินค้าแฟชั่นและดูเป็นสากลมาก แต่กลับขาดการนำเสนอเรื่อง “แม่ไม้มวยไทย” หรือ ทักษะดั้งเดิม

“การลืมราก เรียกว่าไม่ใช่ต้นกำเนิด
แต่มันเป็นจุดดับของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์”

พิชชากานต์ ช่วงชัย

พิชชากานต์ ยังเน้นย้ำว่า หากมุ่งแต่การต่อยอดโดยไม่สนใจราก อาจทำให้รากฐานของวัฒนธรรมไม่มั่นคงและไม่ยั่งยืน ซึ่งอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือซอฟต์พาวเวอร์ต้องดูทั้ง 2 มูลค่าประกอบกัน คือ มูลค่าทางเศรษฐกิจ และ มูลค่าทางวัฒนธรรม

“การที่วันนี้เราเน้นความสนใจแค่ว่าวัฒนธรรมจะไปต่อได้ยังไง สุดท้ายแล้ว มันจะกลายเป็นดาบสองคมที่ เราต่อยอดได้มากมาย แต่รากวัฒนธรรมกลับสั่นคลอนและไม่มีใครดูแลอย่างแท้จริง”

พิชชากานต์ ช่วงชัย

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย (3 Layers of Creative Ecosystem) : พิชชากานต์ เสนอให้มองใน 3 มิติ เพื่อสร้างซอฟต์พาวเวอร์ให้ยั่งยืน โดยอ้างอิงจากระบบนิเวศสร้างสรรค์ของ UNIDO ประกอบด้วย

  1. ราก (ทุนและคุณค่าทางวัฒนธรรม) : ต้องดูแลและรักษาไว้อย่างจริงจัง 

  2. ภาคการศึกษาและธุรกิจ : ต้องเชื่อมต่อกันเพื่อช่วยในการวิจัย การต่อยอด และการสนับสนุนธุรกิจ อย่างธุรกิจอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์รายย่อยต่าง ๆ รวมถึงการให้การศึกษาด้านวัฒนธรรมท้องถิ่นหรือวัฒนธรรมดั้งเดิม

  3. นโยบายภาครัฐ : รัฐบาลทำได้ดีในการออกนโยบาย แต่ต้องมั่นใจว่านโยบายนั้นเอื้อต่อการดูแลรากฐานและส่งเสริมภาคการศึกษา/ธุรกิจด้วย

“มันไม่ใช่แค่อยู่ตัวใครตัวมัน มีนโยบายอย่างเดียวโดยที่ไม่มีราก ไม่มีการศึกษาก็ตาย มีรากอย่างเดียวโดยที่ไม่มีการศึกษาเข้ามาสนับสนุนไม่มีนโยบายสนับสนุน ก็ตาย ดังนั้นเพื่อความยั่งยืน ทุนทางวัฒนธรรมต้องผูกพันกับวิถีชีวิตผู้คน การศึกษา และการมีส่วนร่วมในการพัฒนา”

พิชชากานต์ ช่วงชัย

พิชชากานต์ ช่วงชัย อาจารย์ประจำหลักสูตรการจัดการมรดกวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์
วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ความคาดหวังต่อ ‘รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม’ คนใหม่ : พิชชากานต์ ย้ำว่า การที่ แพทองธาร ชินวัตร เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม จะทำให้เห็นความชัดเจนของการต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมมากขึ้น เนื่องจากเป็น “แม่งานด้านซอฟต์พาวเวอร์” มาตั้งแต่แรก มองว่านี่อาจเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้ เศรษฐกิจทางวัฒนธรรม เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการสานงานต่อในส่วนของกองเศรษฐกิจวัฒนธรรม ซึ่งมีมาประมาณ 2 ปี แล้วแต่ก็ยังไม่เห็นผลงานที่ชัดเจน

โดยสรุปแล้ว งาน SPLASH – Soft Power Forum 2025 ถือเป็นก้าวสำคัญของการโชว์ศักยภาพซอฟต์พาวเวอร์ของไทยในเวทีโลก และเป็นความพยายามแสดงออกถึงความมุ่งมั่นของภาครัฐต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยวัฒนธรรมสร้างสรรค์

นี่จึงไม่ใช่แค่เวทีแสดงศักยภาพ แต่คือพื้นที่แห่งความร่วมมือ แรงบันดาลใจ และอนาคตของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทย แต่ในความจริงอาจขัดแย้งกับผลลัพท์ของงาน ตามการวิเคราะห์โดยนักวิชาการที่พยายามชี้ให้เห็นถึงความท้าทายของการโชว์ คุณค่าทางวัฒนธรรม ควบคู่กับ มูลค่าทางเศรษฐกิจ รวมถึงความพยายามทำให้อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์เติบโตอย่างยั่งยืนได้ด้วยรากที่แข็งแกร่งต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

อนวัช มีเพียร

รักโลก แต่รักคนบนโลกมากกว่า