Thailand Web Stat

เหนื่อย! สายตัวแทบขาด… ไหนล่ะโอกาส ‘แรงงาน’ เพื่อวันข้างหน้า ที่มากกว่า อัพสกิล – รีสกิล

“เลิกงานหัวหน้าโทร. มาบอกเราว่าอย่าเพิ่งกลับนะให้อยู่ก่อน
เราก็ไม่รู้ว่าเขาจะให้ไปเซ็นหนังสือลาออก”

เคยคิดไหมว่า…เหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นกับคุณ ?

แต่นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วกับ นุช – พิญฏา ศรีจำปา อดีตแรงงาน โรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่เธอทุ่มเทแรงกาย ก้มหน้าทำงานมานานกว่าครึ่งชีวิต แต่กลับถูกบอกเลิกจ้างในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง

“บริษัทบอกว่าขาดทุนวิกฤตโควิด เราไม่สามารถจะจ้างคุณต่อได้แล้ว ก็งงกันแหละเพราะไม่เคยมีสัญญาณอะไรล่วงหน้าเลยว่าบริษัทจะไม่ไปไม่ไหว พอเช้าอีกวันเรียกเราไปโรงอาหาร บังคับให้เซ็นใบลาออก เอ้า! มันใช่ไหมล่ะ”

นุช – พิญฏา ศรีจำปา (สารคดี คน | จน | เมือง ซีซัน 5 ตอน “ลอยแพ”)

ปัจจุบันนุชอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ หลังศาลชั้นต้นตัดสินยกคำร้อง ที่เธอเรียกร้องการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม แม้ว่าหนทางต่อสู่ตามกระบวนการยุติธรรมยังอีกยาวไกล แต่เธอต้องกลับต้องใช้ชีวิตภายใต้ภาระ และหนี้สิน ไม่จบสิ้น

ชีวิตพัง..เพราะถูกลอยแพ

จากที่เคยวางแผนชีวิตไว้ ให้ลูกชายคนเล็กเรียนจบปริญญา ตัวเองก็คงหมดหนี้หมดสินในวัยเกษียณพอดี แต่ตอนนี้ชีวิตของนุชไม่เป็นอย่างที่หวัง

เงินชดเชย บวกกับค่าบอกกล่าวล่วงหน้าที่ได้จากโรงงานเป็นเงิน 4 แสนกว่าบาทที่นุชได้มาหลังถูกเลิกจ้าง หมดไปกับการใช้หนี้กู้ยืมจากโรงงานเกือบ 2 แสนบาท เคลียร์ค่าผ่อนบ้าน ค่ารถยนต์ หนี้บัตรเครดิตที่ค้างจ่าย เงินที่อาจถูกมองว่าเป็นจำนวนเยอะ เทียบไม่ได้กับภารที่เธอต้องแบกรับ

นุชไม่ปฏิเสธว่า เป็นหนี้ แต่นี่คือหนี้ที่ทำให้เธอและครอบครัวมีบ้านที่มั่นคง จากที่เคยเช่าอยู่บนที่ดินตาบอด หนี้ที่ทำให้เธอมีรถพาแม่ที่ป่วย และหลานที่เกิดมาพร้อมความผิดปกติทางร่างกายไปหาหมอในเมืองแทบทุกอาทิตย์ ซึ่งหากยังมีงานทำ ไม่ถูกเลิกจ้าง รายได้ในแต่ละเดือนที่ได้รับก็เพียงพอที่จะชำระหนี้ก้อนนี้ไหว

ทางเดียวที่เหลืออยู่คือเธอต้องยอมลดตำแหน่ง ซึ่งหมายถึงการลดเงินเดือน แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่มีบริษัทไหน รับผู้หญิงวัย 46 ปีกลับเข้าไปทำงาน

ข้อมูลจาก กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยจำนวนตำแหน่งงานว่าง ผู้สมัครงานและการบรรจุงานจำแนกตามอายุ ในไตรมาส 3 ปี 2567 พบว่า แรงงานช่วงวัย 30 – 39 ปี เป็นช่วงที่มีจำนวนผู้ลงทะเบียนสมัครงานสูงที่สุดจากทุกวัย อยู่ที่ 27,340 คน แต่กลับมีตำแหน่งงานว่างน้อยกว่าช่วงอายุที่อ่อนวัยกว่า สะท้อนให้เห็นว่า ยิ่งแรงงานมีอายุมากขึ้นเช่นเดียวกับนุช โอกาสการมีงานทำยิ่งน้อยลงเรื่อย ๆ

แต่สิ่งที่นุชคิดว่าตัวเองพลาดมากที่สุด คือ ไม่คิดว่าตัวเองจะตกงานกะทันหันในวัย 46 ปี และแม้ว่าเธอจะรู้จักชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากประสบการณ์ 25 ปี ในโรงงานมากแค่ไหน ก็ไม่มีความหมายเมื่อเธอสร้างเป็นสินค้าไม่ได้

“ชีวิตพี่เกือบทั้งชีวิตอยู่ในโรงงาน ใช้ตาคัดแยกว่าชิ้นส่วนอันไหนเสียก็ทิ้ง อันไหนดีก็เก็บไว้ ทำแต่แบบเนี้ยจนพี่ได้ขึ้นเป็นหัวหน้า แต่ก็ตลกดีนะพี่กลับไม่รู้ว่าจะประกอบมันออกมาเป็นเครื่องได้ยังไง”

นุช – พิญฏา ศรีจำปา (สารคดี คน | จน | เมือง ซีซัน 5 ตอน “ลอยแพ”)

อยากอัพสกิล รีสกิล แต่ต้องเป็นเดอะแบกให้ทำยังไง ?

แม้จะมีคำแนะนำจากภาครัฐ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ แนะนำว่าแรงงานควรเพิ่มพูนทักษะ อัพสกิล – รีสกิล อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดแรงงานได้ แต่ถึงอย่างนั้นแรงงานในวัยแรงงานอย่าง นุช มีภาระที่ต้องดูแลคนในบ้านรวม 5 ชีวิต ทั้งเด็กและคนชรา ค่าใช้จ่ายหรือหนี้สินส่วนบุคคล เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าเล่าเรียนบุตร ค่าภาษีสังคม ฯลฯ การหาเวลาว่างเพื่อพัฒนาตัวเองจึงกลายเป็นเรื่องที่ทำได้ยากขึ้น

ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา

ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์แรงงาน สะท้อนว่า นี่เป็นปัญหาสะสมมาอย่างยาวนานของนโยบายการจ้างงานในประเทศไทย ที่เน้นจ้างแรงงานที่ไม่ต้องอาศัยทักษะพิเศษ จึงไม่ได้คิดว่าต้องยกระดับแรงงานของตัวเอง รวมไปถึงการเน้นการทำซ้ำเพื่อทำให้เกิดการชำนาญเฉพาะอย่าง เช่น ลูกจ้างที่อยู่ในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าตลอดชีวิตแต่ไม่สามารถตัดเสื้อได้ เพราะเย็บปกเป็นอย่างเดียว เกิดเป็นความชำนาญเฉพาะอย่าง

คำถามก็คือ หากคนกลุ่มนี้เผชิญกับสิ่งเดียวกันกับนุช ที่เรียกว่า disruption แล้วในที่สุดแล้วก็ต้องออกไปต้องไปเริ่มต้นอะไรใหม่ ที่ไม่สามารถจะต่อยอดจากสิ่งที่ทำมาแล้วหลายสิบปีได้

“สมัยนึงผมแซวกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ว่าวันนี้คุณยังสอนคนทำโรตี สอนนวด แล้วสิ่งที่เขาทำมา 30 ปี คุณเอาสิ่งนี้ไปไว้ที่ไหน ไม่เคยคิดว่าจะไปต่อยอดเขาเลยหรอ ผมคิดว่าคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้คงต้องนึก”

ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์

เมื่อถามว่านายจ้างควรมีส่วนร่วมกับการอัพสกิล – รีสกิล นี้อย่างไร ศาสตราภิชาน แล ยกตัวอย่างว่า หากเป็นนายจ้างที่ต้องให้ลูกจ้างไปฝึกฝีมือกับกระทรวงแรงงาน นายจ้างคงไม่เต็มใจเท่าไร ในเมื่อจ่ายค่าจ้างเต็มเดือน แต่ใช้งานคนได้แค่ 2 อาทิตย์ เพราะหายไปฝึกฝีมือ และถ้าลูกจ้างกลับมามีฝีมือดีกว่า นายจ้างจะมีหลักประกันได้อย่างไรว่าลูกจ้างคนนั้นจะไม่ลาออก

คำตอบของคำถามนี้ คือ รัฐควรชดเชยให้กับนายจ้างระหว่างที่ลูกจ้างหายไป เช่น ค่าจ้าง หรือยกเว้นภาษี รวมถึงสร้างหลักประกันให้กับนายจ้างว่าจะได้แรงงานที่มีศักยภาพกลับเข้าไปทำงาน หรืออีกทางคือการสร้างมาตรฐานให้กับบริษัทที่มีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาฝีมือแรงงานของตัวเอง เพื่อจูงใจเช่นเดียวกับ มาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร (CSR)

ตลอดบทสนทนา ศาสตราภิชาน แล ย้ำว่า ถ้านายจ้างจะมองว่าบริษัทตัวเองเสียประโยชน์จากนโยบายสนับสนุนการฝึกงานเป็นสิ่งที่สามารถคิดได้ แต่ภาครัฐไม่ควรมองไปในเชิงนั้น จนไม่ดำเนินนโยบายที่จะเป็นประโยชน์ต่อลูกจ้าง เพราะแม้ลูกจ้างที่มีทักษะเพิ่มขึ้นจะลาออกไป แต่ประโยชน์ที่เกิดจากทักษะความรู้ก็จะตกอยู่กับสังคมไทย ในฐานะพลเมืองให้มีหลักประกันในชีวิตก็จะไม่เป็นภาระของครอบครัว หรือภาครัฐ

“ต้องมีกระบวนการร่วมมือระหว่างนายจ้างกับรัฐ ที่จะทำสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้น อย่างน้อยมุมมองของรัฐก็คือพลเมือง ทำพลเมืองให้มีหลักประกันในชีวิต และปรับตัวได้กับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เพราะเราอยู่กับความเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นรัฐเองก็ต้องปรับตัวให้ทันความเปลี่ยนแปลงในทุกเรื่องรวมถึงเรื่องนี้ด้วย”

ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์

นอกจากการพัฒนาทักษะอยู่เสมอ เราอาจจะต้องตระหนักด้วยว่าโลกของการทำงานเปลี่ยนแปลงไปอย่างเร็วมาก แม้จะไม่ถูกเลิกจ้าง บริษัทที่ทำอยู่คิดว่ามั่นคงแล้ว วันหนึ่งอาจเจอกับความผันผวนทางเศรษฐกิจจนต้องปิดด้วยเอาได้ง่าย ๆ เหมือนกับโรงงานของนุช การมีแผนสำรอง งานที่สอง งานที่สาม หรือเงินออมไว้พอตั้งตัวได้ทันเมื่อสถานการณ์นั้นมาถึง

แต่คงจะเป็นการเฆี่ยนตีกับคนที่ไร้แต้มต่อในสังคมมากจนเกินไป หากผลักไม่ให้รัฐอยู่ในสมการนี้ กระทรวงแรงงาน ควรวางมาตรการสำหรับสถานประกอบการที่ประสบปัญหา หากจำเป็นจะต้องเลิกจ้างพนักงาน มีมาตรการใดบ้างที่ต้องคำนึงถึง ไม่ใช่มองเป็นเพียงตัวเลขที่ถูกรายงานเป็นไตรมาส แต่มีชีวิตของคนที่อาบเหงื่อต่างน้ำหาเงินเลี้ยงดูตัวเอง คนในครอบครัว และเพื่อไม่เป็นภาระของรัฐบาล ในที่สุด


ชมสารคดี คน | จน |เมือง ซีซัน 5 ตอน “ลอยแพ”

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง : รายการ “ตรงประเด็น” ตอน ชีวิตล้มเพราะถูก “ลอยแพ”

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน