ทำไมโดนัลด์ ทรัมป์ จึงเป็นชายที่คาดเดาไม่ได้ที่สุดในประวัติศาสตร์ ?

กว่าจะเป็นลุง: ทรัมป์ 2.0 นโยบายท้าทายระเบียบโลก ไทยโดนด้วย

“ไม่มีสิ่งใดสำคัญไปกว่าชัยชนะ และไม่เคยมีสัจจะในหมู่นายทุน”

รอยด์ โคห์น

หลังการคว้าชัยชนะในศึกเลือกตั้ง ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ก้าวสู่ตำแหน่งว่าที่ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา คนที่ 47 ด้วยเสียงอันเป็นเอกฉันท์ ทรัมป์ในวัย 78 ปี หวนคืนสู่ทำเนียบขาวอีกครั้งเป็นสมัยที่ 2 พร้อมประกาศเจตนารมณ์อันทะเยอทะยานอย่าง “Make America Great and Glorious Again” หรือ “ทำให้อเมริกายิ่งใหญ่และรุ่งโรจน์อีกครั้ง”

The Active พาผู้อ่านตีตั๋วเข้าโรงภาพยนตร์ ไปชมเรื่องราวและเส้นทางชีวิตของ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ในฐานะความเป็นมนุษย์ ผ่านภาพยนตร์เรื่อง “The Apprentice กว่าจะเป็นลุง” (2024) เรื่องราวปฐมบทของนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์วัยหนุ่มผู้ทะเยอทะยานซึ่งกำลังก้าวสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีที่ถูกโลกขนานนามว่าเป็นมนุษย์ประเภทที่ “คาดเดาไม่ได้” ที่สุดในประวัติศาสตร์ผู้นำขอสหรัฐอเมริกา   

The Apprentice กว่าจะเป็นลุง (2024)

เจ้าหนูดอนนี่ บอย

โดนัลด์ ทรัมป์ เกิดและเติบโตในครอบครัวมหาเศรษฐี โดยมี เฟรด ทรัมป์ (Fred Trump) ผู้เป็นพ่อ ซึ่งมีบทบาทด้านการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ครอบครองพื้นที่ทั่วมหานครนิวยอร์ก และทรงอิทธิพลอย่างสูงในช่วงกลางศตวรรษที่ 20

และในช่วงเวลานี้เอง ที่ทรัมป์ในวัยหนุ่มเริ่มเรียนรู้การทำธุรกิจจากครอบครัว และหนึ่งในหลายกิจการนั้นคือ การพัฒนาอพาร์ตเมนต์ราคาถูกในเขตชานเมืองอย่าง Brooklyn, Queens และ Staten Island

ภาพยนตร์ฉายภาพการดิ้นรนและทะเยอทะยานในแบบลูกคนรวยของทรัมป์ที่มีเบื้องหลังเป็นดินแดนแห่งแสงสีของมหานครนิวยอร์คในช่วงต้นปี 1970 ภาพหนุ่มน้อยทรัมป์เคาะประตูอพาร์ตเมนท์ Trump Village ทวงค่าห้องเช่าอย่างไม่ประสีประสา และดูเหมือนว่าเขาแทบจะไม่เคยทำได้สำเร็จ

ทรัมป์ไม่เคยทวงค่าเช่าติดมือกลับมาได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเลยแม้แต่ครั้งเดียว แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือคำก่นด่า หรือแม้กระทั่งโดนน้ำร้อนสาดไล่เพื่อต่อกรจากผู้เช่าผู้ที่แสนอัตคัดยากจนแทน นั่นเพราะทรัมป์ยังคงไร้อำนาจต่อรองอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่ากับใครทั้งนั้น

วิธีการทำธุรกิจแบบนี้ดูเหมือนจะผิดไปจากที่เขาต้องการ ทรัมป์ยังอ่อนหัด ไร้เดียงสา และไร้ชั้นเชิง เขารู้เพียงอย่างเดียวว่าเขาต้องร่ำรวยและยิ่งใหญ่ในโลกธุรกิจให้ได้ ไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม

ทรัมป์ ไม่ดื่ม ไม่สูบ และไม่ใช้ยาเสพติด แต่เขาเลือกที่จะใช้เวลาในทุกค่ำคืนหมดไปในผับบาร์หรูหราที่ขึ้นชื่อว่าจะมีบรรดาผู้ทรงอิทธิพลมารวมตัวกัน ทรัมป์เชื่อว่า สถานที่นี้จะเป็นวิธีเดียวที่พาเขาเข้าสู่เส้นทางแห่งอำนาจและความร่ำรวย และสายสัมพันธ์ทางธุรกิจ และแน่นอนว่าเขาคิดถูก

ค่ำคืนหนึ่งใน ‘Le Club’ ไนต์คลับสุดหรูในนิวยอร์คซิตี้ สถานที่ยอดนิยมที่เหล่าคนในแวดวงสังคมชั้นสูงและนักธุรกิจที่ทรงอิทธิพลในเมืองมาร่วมตัวกัน ทรัมป์โดดเด่นด้วยความหนุ่มแน่น หล่อเหลา อ่อนเยาว์ แสนซื่อ และมีเป้าหมาย ทำให้เขาเตะตาเข้ากับ รอย โคห์น (Roy Cohn) สมาชิกไนต์คลับเก่าแก่ที่ต้องชะตากับทรัมป์เข้าอย่างแรง

เขามักจะเรียกทรัมป์ว่าเจ้าหนู “Donny Boy” ด้วยท่าทีล้อเลียนอย่างสนิทสนม ที่แสดงถึงความไม่ ‘ไม่เป็นงาน’ และ ‘อ่อนหัด’ ของทรัมป์อยู่เสมอ และด้วยความต้องชะตานี้เอง โคห์นได้กลายเป็นทนายความ ที่ปรึกษาทางธุรกิจ และยังเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางความคิด และบุคลิกภาพของทรัมป์จนถึงทุกวันนี้

Where’s My Roy Cohn?

รอย โคห์น คือ ทนายหนุ่มชาวยิวผู้ปราดเปรื่องและโดดเด่นที่สุดแห่งยุคสมัย ในช่วงเวลานั้นเอง เขาคือทนายหัวอนุรักษ์นิยมผู้ฉาวโฉ่ที่ได้รับการยอมรับว่าฉลาดหลักแหลมและเหลี่ยมจัดที่สุดในอเมริกา

โคห์นมีชีวิตอันหรูหราในแวดวงชนชั้นสูง เขามีสายสัมพันธ์กับผู้ทรงอิทธิพลในประเทศหลายรายและดำรงวิชาชีพอย่างท้าทายอำนาจรัฐ เขาคือนักกฎหมายที่เชื่อมต่อระหว่างโลกธุรกิจบนดินและใต้ดินเข้าด้วยกัน กลยุทธ์ เล่ห์เหลี่ยม กลโกง ทุกวิถีทางถูกงัดมาใช้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีที่ขาวสะอาดหรือดำสนิท หากเพื่อให้ลูกความชนะคดีแล้ว เขาทำได้ทุกอย่าง

“ไม่ต้องบอกว่าคดีคืออะไร แค่ให้บอกว่าผู้พิพากษาคือใครก็พอ” 

โคห์น นิยามตัวเองว่าคือปีศาจจำแลง เขาโหดเหี้ยม ซาดิสม์ และไร้มนุษยธรรม พร้อมทำลายฝ่ายตรงข้ามด้วยการหาจุดอ่อน เข้าโจมตี ข่มขู่ด้วยวิธีแสนสกปรก โคห์นใช้ชีวิตโดยยึดถือคติว่า ‘ไม่มีสิ่งใดสำคัญไปกว่าชัยชนะ’ และ “ไม่เคยมีสัจจะในหมู่นายทุน’ อีกทั้งเขานิยามว่า ลูกค้าคนสำคัญของเขาไม่ใช่คนทั่วไป แต่คือประเทศอเมริกา 

ทั้งหมดเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้ทรงอิทธิพลทั้งหลายในช่วงเวลานั้นจำเป็นต้องรู้จัก และเป็นพันธมิตรกับโคห์น รวมทั้งทรัมป์ด้วย

หนังเล่าถึงตัวตนของ โคห์น ไว้ว่าเป็นบุคคลที่ดำเนินชีวิตด้วยผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องซึ่งสะท้อนระบบอุปถัมภ์ในสังคมอเมริกันที่มีเส้นสายโยงใยทั้งในพรรคการเมืองและระบบราชการ รวมถึงลักษณะของความเป็นคน ความฉ้อฉล โป้ปดมดเท็จ แสวงหาอำนาจและผลประโยชน์เพื่อไปสู่เป้าหมายอย่างไม่สนวิธีการ ด้วยกฎเหล็ก 3 ข้อ อย่าง

“จู่โจม จู่โจม จู่โจม”

“เมื่อใดผิด อย่ายอมรับ ให้ปฏิเสธให้หมด” 

และ “ไม่ว่าจะพินาศแค่ไหน ให้บอกทุกคนว่าเราชนะ”

ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อโคห์นกลายมาเป็นกุนซือข้างกาย จึงไม่เกินเลยไปนักหากเปรียบว่าปีศาจจำแลงตนนี้เอง คือเบ้าหลอมสำคัญที่มีส่วนหล่อหลอมตัวตนให้เป็น ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ และ 3 กฎสำคัญนี้ยังคงเป็นสิ่งที่ทรัมป์ยึดถือ จนกระทั่งทุกวันนี้

โดนัลด์ ทรัมป์ และ รอย โคห์น

Golden Boy of New York และ อาณาจักรทรัมป์

นับตั้งแต่ทรัมป์เริ่มขยับขยายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ย่านชานเมืองของครอบครัวเข้าสู่เขตเมืองอย่างแมนฮัตตัน โครงการแรกที่ทรัมป์เริ่มปรับปรุงคือ โรงแรมคอมโมดอร์ (Commodore Hotel) ในปี 1976 ซึ่งเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้ทรัมป์ถูกจับตามองจากชาวนิวยอร์กในฐานะนักอสังหาดาวรุ่ง

กระทั่งปี 1983 ทรัมป์ เปิดตัว ‘Trump Tower’ ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของ ‘อาณาจักรทรัมป์’ และแสดงถึงความสำเร็จในวงการอสังหาริมทรัพย์ในระดับไฮเอนของนิวยอร์กภายในระยะเวลาเพียงแค่ประมาณ 10 ปีเท่านั้น

Trump Tower
สัญลักษณ์ความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรทรัมป์

เมืองนิวยอร์กซิตี้ จึงเปรียบเสมือน ‘Big Apple’ ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งโอกาส อำนาจทางเศรษฐกิจ และยังเป็นศูนย์กลางความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของทรัมป์ เขาใช้เมืองนี้เป็นเวทีในการ ‘สร้างตัวตน’ ของนักธุรกิจที่กำลังประสบความสำเร็จอย่างสูง เพราะนิวยอร์กซิตี้เป็นทั้งบ้านเกิด เป็นจุดเริ่มต้นของการธุรกิจแรก ไปจนถึงการเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่อย่าง Trump Tower รวมถึงการเป็นเจ้าของคาสิโนขนาดใหญ่หลายแห่งใน Atlantic City สถานที่ที่เขาเปรียบเอาไว้ว่าเสมือน ‘เหมืองทองคำ’

เครื่องบินส่วนตัวของโดนัลด์ ทรัมป์

และตอนนี้เอง ที่ทรัมป์ได้รับฉายาว่า Golden Boy of New York’ หรือ หนุ่มน้อยทองคำแห่งนิวยอร์ก’ ยิ่งสะท้อนถึงภาพลักษณ์ของความเป็นดาวรุ่งแห่งมหานครนิวยอร์กที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุน้อย ทรัมป์กลายเป็นตัวแทนของความมั่นใจ ทะเยอทะยาน มั่นคง ร่ำรวย และมีชีวิตอย่างหรูหราฟุ่มเฟือย ซ้ำยังตอกย้ำด้วยบทบาทของการเป็นพิธีกรรายการเรียลลิตี้โชว์อย่าง ‘The Apprentice’ กับเจ้าของวลี “You’re fired!” ที่ยิ่งสร้างภาพลักษณ์ของนักธุรกิจหนุ่มที่เด็ดขาดและประสบความสำเร็จอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

และแน่นอนว่า ตลอดเส้นทางแห่งความสำเร็จนี้ไม่ได้ขาวสะอาด ทรัมป์มีรอย โคห์น ทำหน้าที่เป็นกุนซือเงาคอยอยู่เบื้องหลังมาโดยตลอด และคือส่วนประกอบสำคัญที่มีส่วนปูทางให้ทรัมป์เข้าสู่สนามทางการเมือง

Killer or Loser : จะเป็นนักฆ่า หรือว่าผู้แพ้ ?

โดนัลด์ ทรัมป์ เข้าสู่การเมืองอย่างจริงจังในปี 2015 โดยประกาศลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในนามพรรครีพับลิกัน (Republican Party) และได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐฯ หลังชนะคู่แข่งจากพรรคเดโมแครต ฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton) ในปี 2016 ด้วยสโลแกนหาเสียง “Make America Great Again” 

โดยมีนัยยะถึงความหวังและการฟื้นฟูประเทศหลังจากวิกฤตทางเศรษฐกิจ ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดของประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan) ที่ใช้สโลแกนว่า “Morning in America” ในช่วงปี 1980

โรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan)
ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 40

ปี 2020 ทรัมป์ลงสมัครเลือกตั้งอีกครั้ง แต่ต้องพ่ายแพ้ให้กับโจ ไบเดน (Joe Biden) ทรัมป์ปฏิเสธผลการเลือกตั้งและกล่าวหาว่ามีการทุจริตจนนำไปสู่เหตุการณ์ การจลาจลที่อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ (Capitol Riot) ในปี 2021 จนทำให้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระตุ้นให้เกิดความรุนแรงจนถูกถอดถอนอกจากตำแหน่งในที่สุด

และในปี 2024 ทรัมป์กลับมาประกาศชัยชนะการเลือกตั้งอีกครั้งเป็นสมัยที่ 2 ก้าวสู่ว่าที่ตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา คนที่ 47 ด้วยเสียงอันเป็นเอกฉันท์

จากงานวิจัย “Donald Trump and the Policies of Individualism in the UnitedStates, the Roots and Consequences” ที่ตีพิมพ์ในปี 2020 ระบุว่า หลังการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์ที่ผ่านมาดูเหมือนมีนโยบายต่างประเทศที่ดูวุ่นวาย และการตัดสินใจของทรัมป์ก็ดูเหมือนจะ ‘คาดเดาไม่ได้’ (unpredictable) มากมายเต็มไปหมด

งานวิจัยนี้มีข้อค้นพบว่า ความแปลกประหลาดของการวางนโยบายที่เกิดขึ้นทั้งหมดมาจากบุคลิกภาพและตัวตนของทรัมป์เอง ที่ถูกแยกออกเป็น 4 แบบ ได้แก่ ประชานิยมแบบเผด็จการ (authoritarian populism) การหลงตัวเอง (narcissism) การแก้แค้น (revenge) และ ความขัดแย้งไม่ลงรอย (incompatibility) ซึ่งบุคลิกภาพอันโดดเด่นทั้งหมดนี้เปิดเผยให้เห็น ‘ความเห็นแก่ตัว’ (self-centeredness) ที่ทรัมป์ซ่อนไว้นั่นเอง

และทั้งหมดนี้ ยังสะท้อนถึงลักษณะนิสัยแบบ ปัจเจกนิยม (Individualism) ของทรัมป์ ที่ส่งผลต่อการกำหนดนโยบาย เช่น นโยบาย ‘America First’ ของทรัมป์ที่มองว่าประเทศและประชาชนต้องได้รับการคุ้มครองจากรัฐบาลโดยไม่มีความจำเป็นต้อพึ่งพาผู้อื่นเพราะอาจทำให้เสียผลประโยชน์ จนนำมาสู่การถอนตัวจากข้อตกลงและองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง เช่นเดียวกับการถอนตัวจากข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ด้วย

ทรัมป์ 2.0 นโยบายท้าทายระเบียบโลก

การกลับมาในสมัยที่ 2 หรือที่เรียกว่าทรัมป์ 2.0 นี้ สิ่งที่ทั่วโลกจับตามองคงหนีไม่พ้นนโยบายแบบ American first ที่เน้นปกป้องผลประโยชน์ของอเมริกาเป็นสำคัญมากไปกว่าความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งครอบคลุมหลายด้าน เช่น การทูต การทหาร การค้า และเศรษฐกิจ ซึ่งแน่นอนว่าไทยเราต้องได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ปี 2023 ที่ผ่านมา ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ (ไทยส่งออก > นำเข้า)  มากกว่า 1,005,418 ล้านบาท (3,778 ล้านดอลล่าสหรัฐ) และในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2024 ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มูลค่า 1,005,418 ล้านบาท  ซึ่งแสดงถึงแนวโน้มที่สหรัฐฯ ยังคงขาดดุลการค้ากับไทยอย่างต่อเนื่อง

และอเมริกายังเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับสองของไทย (รองจากจีน) จึงมีแนวโน้มว่าอเมริกาจะตั้งกำแพงภาษีขึ้นอีกและอาจเป็นเป้าหมายของการยกระดับภาษีสุลกากรการนำเข้า หรือพูดอย่างง่ายคือ สินของของไทยที่นำไปขายในอเมริกาจะมีราคาแพงขึ้นอีก

และหากถือตามนโยบายข้างต้น หมายความว่าสินค้าใดที่สามารถผลิตเองได้ในประเทศ อเมริกาก็จะผลิตเองเพื่อทดแทนการขาดดุลการค้าจากประเทศไทย

ส่วนผลกระทบในทางอ้อมนั้น เป็นที่ทราบดีว่าทรัมป์เดินหน้าทำสงครามการค้ากับจีน และการยกระดับกำแพงภาษีของสินค้าจีน ทำให้สินค้าจีนทะลักเข้ามาในประเทศโดยเฉพาะในแถบอาเซียน และที่มากที่สุดคงหนีไม่พ้นประเทศไทย ที่กำลังเต็มไปสินค้าจากจีนที่ราคาถูกกว่า หลากหลายกว่า และบางครั้งก็คุณภาพดีกว่าล้นทะลัก

วันนี้ ทรัมป์ในวัย 78 ปี อาจดูต่างจากขนบธรรมเนียมและความคาดหวังที่ประชาชนมีต่อผู้นำประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาไปมาก หรือรวมไปถึงความคาดหวังของโลกด้วย

แต่ The Apprentice (2024) ได้ทำให้เห็นเส้นทางการเติบโตของว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐฯ กับสิ่งประกอบสร้างทางความคิด จังหวะชีวิต และผู้คนที่อยู่รายล้อม ไม่ว่าจะเป็น รอย โคห์น, เฟรด ทรัมป์ ผู้เป็นพ่อ หรือแม้แต่ อิวานา อดีตภรรยาที่ล้วนมีส่วนสร้าง โดนัลด์ ทรัมป์ ในทุกวันนี้

เฉกเช่นในฉากหนึ่งของภาพยนตร์ ในค่ำคืนท่ามกลางอากาศหนาวจัด ทรัมป์ในวัยหนุ่ม พูดกับ อิวานาว่า

“บนโลกใบนี้นี้มีคนแค่ 2 แบบ นั่นคือ นักฆ่า (killer) และ ผู้แพ้ (loser) มีแต่นักฆ่าเท่านั้น ที่จะกลายเป็น ผู้ชนะ (winner)”

 และแน่นอนว่า ทรัมป์เลือกที่จะเป็นแบบแรก

ที่มาภาพ : www.imdb.com, www.bbc.com