“ถ้าได้เงินมา หนูจะไปผ่าตัดที่ประเทศไทย ซื้อบ้านหลังเล็ก ๆ แล้วก็เริ่มใช้ชีวิตใหม่ที่นั่น”
![](https://files.wp.thaipbs.or.th/theactive/2024/12/467015424_890363089926536_3758404751810026185_n-1-1024x683.jpg)
กลายเป็นตัวละครที่ถูกจับตามองเป็นอย่างมาก ทันทีที่ ซีรีส์ Squid Game 2 เริ่มออกอากาศเมื่อ 26 ธันวาคม 2567 สำหรับผู้เล่นหมายเลข 120 “โจฮยอนจู” อดีตทหารกองกำลังพิเศษของเกาหลีใต้ที่เป็นผู้หญิงข้ามเพศ เผยถึงความตั้งใจกับผู้เล่นส่วนหนึ่ง ว่าเธอจะนำเงินที่ได้จากการแข่งขันไปผ่าตัดข้ามเพศที่ประเทศไทย
ตามมาด้วยการบทสนทนาของผู้เล่นหมายเลข 007 ที่พูดเสริมว่า
“ผมเคยไปประเทศไทยนะ ที่นั่นมีคนแบบคุณฮยอนจูเพียบเลย จริง ๆ ที่ไทยมีแต่คนหุ่นดีกว่า สวยกว่าผู้หญิงหลายคน เดินเจอได้ทั่วไปหมดเลย”
เป็นที่รับรู้กันว่า สังคมเกาหลีใต้ กับการยอมรับการมีอยู่ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) ยังไม่เปิดกว้างมากนัก อาจสะท้อนได้จากตัวละครฮยอนจู ที่ถูกตัดขาดจากพ่อ เมื่อเธอสารภาพว่าตัวจริงของเธอไม่ใช่ลูกชายอย่างที่พ่อคาดหวัง รวมไปถึงการพลิกมารับบทผู้หญิงข้ามเพศ ของนักแสดงชายระดับแนวหน้าของเกาหลีใต้ “พัคซองฮุน” ก็ถูกต่อต้านจากกลุ่มอนุรักษ์นิยม และมีอีกส่วนที่รู้สึกว่าบทบาทนี้ควรไปที่นักแสดงหญิงข้ามเพศจริง ๆ มาแสดงมากกว่า
การกล่าวถึงผู้หญิงข้ามเพศในประเทศไทยของซีรีส์นี้ ยังเป็นการเปิดอีกมุมมองในโลกของซีรีส์ ภาพยนตร์ และสายตาของต่างชาติ ถึงมายาคติเกี่ยวกับผู้หญิงข้ามเพศในประเทศไทย ไม่ได้มีแค่อาชีพพนักงานบริการ (Sex Worker) แต่ยังมีความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ในการข้ามเพศ และประเทศที่เป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวที่เป็น LGBTQIAN+ ด้วย
อุตสาหกรรมข้ามเพศไทย โตอันดับ 1 ของโลก
ธุรกิจผ่าตัดข้ามเพศ ถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับความนิยมในไทย แต่ละปีมีคนเดินทางเพื่อเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศ ผ่าตัดเสริมความงาม และบริการทางการแพทย์สาขาอื่น ๆ ในไทย เฉลี่ยปีละกว่า 1.2 ล้านคน
พญ.งามเฉิด สิตภาหุล ศัลยแพทย์ตกแต่ง คลินิกเพศหลากหลาย โรงพยาบาลรามาธิบดี บอกว่า กล้าพูดว่าศัลยกรรมแปลงเพศของไทยเป็นอันดับ 1 ของโลก ภาพจำของคนต่างประเทศ คือ ประเทศไทยขึ้นชื่อเรื่องการผ่าตัดแปลงเพศ เพราะศัลยแพทย์ของไทยมีความประณีต ที่สำคัญเป็นการที่นักท่องเที่ยวชวนกันแบบปากต่อปาก
![](https://files.wp.thaipbs.or.th/theactive/2024/12/S__66602562.jpg)
พญ.งามเฉิด มองว่าไทยไม่ได้มีแค่การผ่าตัดแปลงเพศ แต่ยังมีเรื่องการรักษาสุขภาพจิต เทคโนโลยีด้านการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะการบริการด้านฮอร์โมน ที่สาธารณสุขไทย พยายามให้มีการเข้าถึงได้มากขึ้น ผ่านการกระจายไปยังพื้นที่ต่างจังหวัดเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการเทคฮอร์โมนได้มากขึ้น รวมไปถึงยังมองเห็นโอกาส เนื่องจากฮอร์โมนส่วนใหญ่ที่ใช้ในไทยมาจากการนำเข้าจากต่างประเทศ หากผลิตเองและส่งออกได้ หวังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชน
“สมรสเท่าเทียม” ความก้าวหน้ากฎหมายสำคัญ คุ้มครองคู่รักเพศหลากหลาย
เมื่อพูดถึงกฎหมายรับรองการสมรสของคนเพศเดียวกันในประเทศเกาหลีใต้ ยังถูกคัดค้านค่อนข้างรุนแรง จากผู้นับถือศาสนาคริสต์ชาวเกาหลีใต้ และกลุ่มอนุรักษ์นิยม เช่น การรวมตัวกันที่ลานกลางแจ้งในกรุงโซล เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อประท้วงต่อต้านการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน และคัดค้านการที่ศาลรับรองสิทธิของคู่รักเพศเดียวกันในการได้รับความคุ้มครองจากองค์การบริการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ขณะที่ตำรวจ ระบุว่า มีผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 230,000 คน
ปัจจุบันเกาหลีใต้ยังไม่ได้ยอมรับการแต่งงานของคนเพศเดียวกันอย่างถูกกฎหมาย แต่อยู่ระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายหลายฉบับเกี่ยวกับการห้ามการเลือกปฏิบัติ บนพื้นฐานของรสนิยมทางเพศ ความเท่าเทียมทางเพศ เชื้อชาติ ศาสนา
ขณะที่ประเทศไทย ในวันที่ 22 มกราคม 2568 คู่รักเพศหลากหลาย จะสามารถควงคู่ไปจดทะเบียนสมรสได้ตามกฎหมาย หลังกฎหมายสมรสเท่าเทียม ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 24 กันยายน 2567 รับรองการสมรสระหว่างบุคคล โดยให้มีผลบังคับใช้ 120 วัน หลังออกประกาศ เท่ากับว่าประเทศไทยจะเป็นชาติแรกในอาเซียนและเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชียที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมบังคับใช้ออกมา โดยจะมีสิทธิเทียบเท่าคู่สมรสตามกฎหมาย และบางหมวดที่ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขใหม่ให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (กฎหมายสมรสเท่าเทียม) และตามเงื่อนไขของกระทรวงมหาดไทย
![](https://files.wp.thaipbs.or.th/theactive/2024/12/468581275_899138909048954_178056050221817747_n-edited.jpg)
สำหรับคนที่ชมซีรีส์ Squid Game 2 จบแล้ว น่าจะทราบบทสรุปของตัวละคร “โจฮยอนจู” ถึงความฝันในการเดินทางมาที่ประเทศไทยกันแล้ว
แต่สำหรับผู้หญิงข้ามเพศในประเทศไทย พวกเธอยังต้องเผชิญกับความรุนแรงทั้งทางร่างกาย และจิตใจ การเลือกปฏิบัติ การเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่เป็นมิตร สิทธิประโยชน์ในการข้ามเพศ รวมไปถึงการเรียกร้องกฎหมายเพื่อสร้างความเท่าเทียมอื่น ๆ เช่น ร่าง พ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ ซึ่งขณะนี้ร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ ที่เสนอโดยภาครัฐ พรรคการเมือง และภาคประชาชน อยู่ระหว่างรวบรวมรายชื่อ และรับฟังความคิดเห็น ซึ่งตั้งแต่ปี 2550 ประเทศไทยมีพัฒนาการด้านกฎหมายให้คุ้มครองความหลากหลายทางเพศ แล้ว 2 ฉบับ คือ กฎหมายป้องกันการเลือกปฏิบัติ ในรูป พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 และ กฎหมายสมรสเท่าเทียม
หากทำให้กฎหมายและสังคมเป็นมิตรต่อคนทุกเพศได้อย่างแท้จริง การเดินทางมายังประเทศไทยของ “โจฮยอนจู” จะไม่ใช่แค่ทำให้เธอได้ใช้ชีวิตตามเจตจำนงของตนเอง แต่ยังทำให้คนที่มีความสามารถรอบด้านอย่างเธอ สามารถเข้ามาเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาประเทศ เช่นเดียวกับคนข้ามเพศในประเทศไทย ที่ปัจจุบันศักยภาพยังถูกกดทับจากอคติและกฎหมาย ที่ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน และโอบรับความหลากหลายอย่างแท้จริง