หากรัฐสำเร็จในการทำให้กลัว อะไรทำให้อยากคุยกับคนเห็นต่าง?

วีร์ วีรพร | ผู้เข้าร่วมโครงการ Thailand Talks 2021

วันที่พบกันเขาใส่เชิ้ตลายดอกสะดุดตา ในห้องริมหน้าต่างชั้นบนของอาคาร ผนังบางส่วนของห้องประชุมมีตัวอักษรที่สร้างด้วยเทปกาวสีดำตีเป็นตาราง “คุ้มครอง” สมกับเป็นนักออกแบบตัวอักษร ขณะให้สัมภาษณ์เขาเป็นเหมือนอาจารย์ที่พิจารณาคำถามอย่างรอบด้าน และอธิบายบริบทแวดล้อมด้วยบุคลิกสุขุม ก่อนที่จะเอ่ยคำตอบ

ในระหว่างเสียงโมโนโทนราบเรียบและความนิ่งเฉยของใบหน้า บางครั้งมีรอยยิ้มที่ไม่แน่ใจว่าเป็นรอยยิ้มของความเข้าใจในความไม่เข้าใจ หรือความไม่ยี่หระต่อสายตาของคนอื่น แต่ที่ผมเข้าใจคือมันเป็นรอยยิ้มที่แสดงความมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองเลือกที่จะเป็น 

ในร่มเงาของครอบครัว 

เขาเติบโตอยู่ภายในร่มเงาของครอบครัวที่มีฐานอยู่ส่วนบนของพีระมิด ถูกเลี้ยงดูมาในสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์แบบ ในวัยเด็กเขาคลุกคลีอยู่กับแวดวงแฟชั่นตรงที่เป็นใจกลางของความทันสมัย เขาเติบโตและวิ่งเล่นอยู่ในสยามเซ็นเตอร์เคียงข้างผู้เป็นแม่ที่เป็นเจ้าของร้านขายเสื้อผ้าที่โด่งดังในยุคนั้น เขาพบปะผู้คนชิค ๆ ฮิป ๆ มากมายที่กลับจากการไปเรียนเมืองนอกในกระแสธารของศิลปะ เขาเหล่านั้นกลับมาทำให้แฟชั่นและการออกแบบหลายแขนงบูมในยุคก่อร่างสร้างความทันสมัยของกรุงเทพฯ ในทศวรรษที่ ‘80s

เมื่อเขาถึงวัยทำงาน วีร์ เคยฝึกงานกับนิตยสารทางดนตรีของเบเกอรี่มิวสิก และคลุกคลีอยู่กับศิลปินโดโจ ซิตี้ ต่อเนื่องไปกับการทำงานออกแบบกราฟิก และนิตยสาร Summer นั่นคงเป็นความคุ้นชินที่เขาบอกขณะช่วยกันขนอุปกรณ์การถ่ายภาพขึ้นชั้นสี่ของออฟฟิศกราฟิกดีไซน์ที่เขาก่อตั้งขึ้น หลังกลับมาจากเรียนต่อด้านออกแบบที่สหราชอาณาจักร 

ในอีกครึ่งหนึ่งของชีวิต เขาถูกบ่มเพาะเติบโตมาในอาณาจักรธุรกิจอันใหญ่โตของผู้เป็นพ่อ เรียนรู้การทำงานหนัก ความมีวินัย ความมุ่งมั่น บวกรวมไปกับความเข้มงวด ทุ่มเท อย่างคนไทยเชื้อสายจีนรุ่นก่อน เขาถูกบ่มเพาะเพื่อวันหนึ่งจะได้มาดูแลอาณาจักรทางธุรกิจที่กำลังเติบโตอย่างมั่นคง การถูกเลี้ยงดูมาในโลกสองแบบ ทำให้เขาได้เรียนรู้เปรียบเทียบและใช้เป็นแนวทางการเลือกเส้นทางและประกอบสร้างชีวิตของตัวเอง แต่การเดินออกจากร่มเงาของไม้ใหญ่มีราคาที่ต้องจ่าย 

“พ่อแม่เลี้ยงผมมาดี แต่บางทีอาจจะดีเกินไป” วีร์ วีรพร รำพึงบางประโยค 

ผมแน่ใจว่าพร้อม ๆ กับประโยคนี้ มีรอยยิ้มที่มั่นใจในตัวเองปรากฏขึ้นบาง ๆ บนใบหน้าที่เกือบจะไม่แสดงความรู้สึก

สามัญสำนึก

ในโลกที่กว้างใหญ่กว่าร่มเงาของครอบครัว ตั้งแต่ย่างเข้าวัยรุ่น วีร์สนใจการอ่านจากการแนะนำของแม่ ให้รู้จัก “นิตยสารศิลปวัฒนธรรม” ซึ่งเขาบอกว่าเป็นการเปิดขอบฟ้าทางประวัติศาสตร์ และสอนให้เขาตั้งข้อสงสัยกับประวัติศาสตร์กระแสหลักของหลักสูตรในโรงเรียน ต่อมาเขาพบว่าเขาชมชอบศิลปะอย่างแม่ มากกว่าการทำธุรกิจแบบพ่อ ซึ่งการแข่งขันทางธุรกิจอย่างเอาเป็นเอาตายทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ทำให้เขาไม่เลือกที่จะเดินบนเส้นทางสายนี้ แต่เขาก็คิดว่าการทำงานเชิงศิลปะที่ไม่เข้าใจเชิงพาณิชย์เลยก็มีข้อเสียไม่แพ้กัน

เขาจึงเลือกเรียนกราฟิกดีไซน์ในมหาวิทยาลัย เขาสนุกกับการพบเจอความหลากหลายในมหาวิทยาลัย เขาสนใจการถกเถียงเรื่องเดียวกันในมุมมองที่แตกต่าง มันทำให้เขาได้เรียนรู้ความหลากหลายทางความคิดที่ถกเถียงกันได้ และที่นั่นก็เป็นพื้นที่แรกที่เขาเริ่มรู้จักตั้งคำถามกับสิ่งที่เขาเรียกภายหลังว่า “ชุดคุณค่า” 

ความรู้ชุดเดิมที่อาจารย์สั่งสอน ยังใช้กับปัจจุบันได้ไหม 

รสนิยม ค่านิยม ที่เคยได้รับการชื่นชม ยังสวยและมีคุณค่าอยู่ไหมในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป 

การแต่งตัวดี ใช้นาฬิกาหรู ขับรถสปอร์ต ทำให้คนน่าเคารพนับถือขึ้นจริงไหม 

ถ้าไม่จริง ทำไมเรายังทำมันอยู่ ? 

หลังจากทำงานด้านการออกแบบหลายปี วีร์ตัดสินใจไปเรียนต่อด้านการออกแบบกราฟิก ในช่วงรอยต่อของเวลาก่อนเดินทางไปเรียนต่อ เขาเคยช่วยงานในโชว์รูมรถยนต์แห่งหนึ่งของครอบครัว แม้จะเป็นงานที่ไม่ถูกใจนักที่ดีไซเนอร์กลายมาเป็นเซลล์แมน เขามีหน้าที่เสนอขายรถยนต์ให้กับลูกค้าหลายฐานะทางสังคม โดยเรียนรู้จากคู่มือการขาย แม้จะเป็นงานที่เขาไม่ชอบและไม่สนใจ แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งมันเปิดโอกาสให้เขาได้เห็นฉากและชีวิตที่หลากหลาย เขาได้ทำงานร่วมกับพนักงานหลายระดับในบริษัท และเรียนรู้ความยากลำบากของชีวิตของเขาเหล่านั้น เขาเห็นลูกค้าบางคนหิ้วเงินสดถอยรถรุ่นใหม่ล่าสุดจากโชว์รูม บางคนตัดสินใจอย่างยากลำบากที่จะซื้อรถรุ่นที่ถูกที่สุดผ่านการคำนวณอย่างรอบคอบต่อรายจ่ายและดอกเบี้ยในแต่ละเดือน

เมื่อได้ไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ เขาได้ใช้ชีวิตอย่างคนไม่มีศักดินาที่มีแต่คนเอาอกเอาใจ เขาใช้ชีวิตอย่างคนเท่ากัน วัดคุณค่าของคนที่ผลงานมากกว่านามสกุล นอกไปจากหลักวิชาการและทักษะการทำงานวิชาชีพ เขาได้เรียนรู้ความหลากหลาย เสรีภาพในการใช้ชีวิต และทัศนคติที่เปิดกว้างในการตั้งคำถามต่อขนบดั้งเดิม

อะไรทำให้คนที่อยู่ส่วนบนของพีระมิด สนใจความเป็นอยู่ สิทธิ เสรีภาพ และคุณภาพชีวิตของสามัญชนที่อยู่ตรงฐานรากของพีระมิด?

ในฐานะของลูกเศรษฐี บางคนหากปิดตาข้างหนึ่งหรือถูกบดบังด้วยมายาคติ คงท่องคำตอบว่าเพราะคนเหล่านั้นขี้เกียจจึงยากจน เพราะไม่รู้จักปรับตัวจึงไม่ก้าวหน้า แต่วีร์ตั้งคำถามจากประสบการณ์การพบปะผู้คนมากมายหลากหลายฐานะ ว่าทำไมพวกเขายังยากจน มันคงมีบางอย่างผิดปกติในโครงสร้างทางสังคม คำถามเหล่านี้พาเขาไปอ่านหนังสือบางเล่มที่ปลดเปลื้องมายาคติ และอธิบายถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมทางโอกาส ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ อคติทางการเมือง และความแตกต่างทางความคิดของเจนเนอเรชั่นทางสังคม

ความรู้สึกผิดและการไถ่บาป

หลังกลับมาจากต่างประเทศ เขาก่อตั้งบริษัทกราฟิกดีไซน์ และเป็นอาจารย์ส่งต่อความรู้ด้านการออกแบบให้กับคนรุ่นใหม่ วีร์เป็นอาจารย์พิเศษด้านการออกแบบอยู่ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และต่อมาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาตั้งข้อสังเกตว่าในระยะเวลา 5-6 ปีที่เกิดวิกฤตสังคมและการเมือง เขาคิดว่าทัศนะการมองโลกของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไป ยกตัวอย่างเช่นการเปิดสารคดีประวัติศาสตร์ของการออกแบบในโลกสมัยใหม่ให้นิสิตดูเรื่องเดียวกันทุกปี ความสนใจ มุมมอง และการหยิบยกประเด็นขึ้นมาคุยกันนั้นเปลี่ยนไป สมัยก่อนอาจจะสนใจเรื่องเทคนิค เทคโนโลยี แต่ปัจจุบันนิสิตเริ่มสนใจประเด็นปัญหาทางสังคม ความเท่าเทียมทางเพศ มากขึ้น เช่นการตั้งข้อสังเกตว่าค่าตอบแทนของนักออกแบบชายและหญิงไม่เท่ากัน หรือตัวอย่างหนึ่งในสารคดี ชี้ให้เห็นว่าการออกแบบบัตรเลือกตั้งมีผลต่อการลงคะแนน การที่พวกเขาสนใจและมีมุมมองต่อเรื่องสิทธิ มันแสดงให้พวกเขามีสำนึกของการเป็นพลเมืองของโลกมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน วีร์ใช้คำว่าจิตวิญญาณของยุคสมัย ซึ่งมันอาจจะอธิบายต่อไปได้ว่าพวกเขาไม่เพียงแต่ตั้งคำถามต่อสังคม แต่พวกเขาต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม เช่นแสดงออกอย่างที่เห็นและเป็นอยู่ทุกวันนี้

ไม่นานต่อมาเมื่อความขัดแย้งทางการเมืองเป็นทุกสิ่งในชีวิต ความแตกแยกทางความคิดขยับเข้ามาสู่เพื่อนและคนใกล้ชิด  ซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งกับเพื่อนในโซเชียลมีเดีย เขาเห็นความไร้หัวใจของคนเมื่อทหารล้อมปราบคนเสื้อแดงและการถูกฆ่าเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ 

เมื่อถึงจุดแตกหัก เขาปฏิเสธรัฐประหาร และสนับสนุนเสรีภาพการแสดงออก ด้วยสามัญสำนึกเขาใช้งานศิลปะเพื่อแสดงออกทางการเมือง แต่เเล้วมันก็เป็นเรื่องเศร้าเมื่อเพื่อนบางคนรู้ว่าเขาทำงานศิลปะวิจารณ์รัฐบาล แล้วถามว่า “ทหารมาเยี่ยมที่บ้านหรือยัง” 

พูดตามตรงในฐานะอย่างวีร์ วีรพรคงเป็นเรื่องที่สบายใจได้ว่าคงไม่มีทหารหน้าไหนมาเยี่ยมที่บ้าน แต่สำหรับศิลปินคนอื่นคงเป็นอีกเรื่อง

“ผมว่ารัฐบาลประสบความสำเร็จในการทำให้เกิดความกลัว ซึ่งความกลัวทำให้เราต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง”

“ความจริงแล้วผมรู้สึกผิด ในยุคสมัยของผมเวลาเรียนจบเมืองนอกแล้วอยากกลับมาทำอะไรดีๆ ที่เมืองไทย เพราะรู้สึกว่าประเทศนี้มีโอกาสให้เราเจริญเติบโตก้าวหน้าในวิชาชีพและสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ แต่สังคมในยุคสมัยนี้ทำให้เด็กสิ้นหวัง อยากจะหนีออกไปจากประเทศนี้ 

ผมเป็นคน Gen X ซึ่งผมว่าเป็นคนรุ่นที่ห่วยมากที่เห็นความไม่สมประกอบของสังคมแล้วไม่ออกมาทำอะไร จนกระทั่งความฉิบหายได้ลุกลามมาถึงปัจจุบัน พวกเขาไม่ควรต้องมารับภาระนี้ และสำหรับผมมันเป็นความกล้าหาญอย่างที่สุดของ “เด็กม็อบ” ที่พวกเขามีความปรารถนาและลงมือที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม”

ผ่านไปเกือบสองชั่วโมงเมื่อจบการสนทนาในบ่ายอันร้อนแรง เขาชวนไปกินก๋วยเตี๋ยวเชลล์ชวนชิมที่ซ่อนตัวอยู่ในซอกซอยย่านสุขุมวิท โดยสวมบทบาทเป็นผู้ชื่นชอบในการขี่จักรยานลัดเลาะไปตามตรอกเล็ก ๆ ย่านเมืองเก่าในเวลาว่าง เรายังคุยกันต่อในอีกบทบาทหนึ่งของนักออกแบบของวีร์ วีรพร

อะไรทำให้คุณเลือกที่จะเข้ามาคุยในโครงการ Thailand Talks ปีที่ผ่านมา 

วีร์ : หลังการสลายการชุมนุมด้วยการฉีดน้ำครั้งแรกที่แยกปทุมวัน เรารู้สึกว่ามันมีระบบอะไรที่ทำให้คนที่ปกติเป็นคนน่ารักสำหรับทุกคน พร้อมที่จะมองคนอื่นที่มีความเชื่อทางการเมืองต่างกัน เป็นศัตรูที่เขามีความชอบธรรมทั้งหลายทั้งปวงในการที่จะทำร้ายและทำลาย 

เราอยากเข้าใจในระดับปัจเจกว่ามีกิจกรรมอะไรที่พาให้เราไปคุยกับคนที่คิดไม่เหมือนเรา โดยที่ไม่นำมาซึ่งผลกระทบแบบมองหน้ากันไม่ติดหรืออะไรก็ตาม

  • The Active ชวนติดตามซีรีส์ “ฟังคนต่าง ฟังความต่าง” ใน The Listening
  • ดูคลิปสัมภาษณ์ “วีร์” ใน

Thailand Talks พื้นที่ทดลองพูดคุยกับ “คนแปลกหน้า”
สมัครร่วมโครงการ ผ่านการตอบคำถาม 7 ข้อ
14 ส.ค. – 14 ก.ย. 2565

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศุภชัย เกศการุณกุล

เป็นช่างภาพพอร์ทเทรต เขียนความเรียงและสัมภาษณ์เพื่อเล่าเรื่องที่ภาพถ่ายทําไม่ได้ และต่อมาทําสารคดีภาพเคลื่อนไหว เพราะอยากได้ยินน้ําเสียงของผู้คน