สัดส่วนนักการเมืองหญิงไทย ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก รั้งท้ายอาเซียน

นับถอยหลังก่อนเข้าสู่วันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ยิ่งเต็มไปด้วยสีสัน ความคึกคัก โดยเฉพาะการหาเสียงและวิวาทะของนักการเมืองหญิงที่มีบทบาทไม่ต่างจากนักการเมืองชาย ขณะที่อีกหลายมุมมองที่พูดถึงความละเอียดอ่อนน่าจะช่วยแก้ปัญหาการเมืองโดยเฉพาะเรื่องชีวิต สวัสดิการสังคมได้

โดยเวลานี้เรามีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 62 คนจาก 43 พรรคการเมือง แต่ในจำนวนนี้มีผู้หญิง 9 คนเท่านั้น ขณะที่ สัดส่วนผู้หญิงในการเมืองไทยต่ำค่าเฉลี่ยทั่วโลกและรั้งท้ายมากที่สุดในอาเซียน


เวลานี้เรามี ผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 เขต ณ วันที่ปิดรับสมัคร อยู่ที่ 4,781 คน เป็นผู้ชายเกือบ 4,000 คน ขณะที่มีผู้หญิงสมัคร 878 คน แต่ล่าสุดตัวเลขมีการปรับเล็กน้อย เมื่อมีบางส่วนไม่ผ่านคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด


คราวนี้มาดูแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 กันบ้าง พบว่า จาก 43 พรรคการเมือง มีแคนดิเดตรวม 62 คน บางพรรคก็ส่งครบทั้ง 3 คน ขณะที่บางพรรคก็ส่งรายชื่อเพียงคนเดียว แต่ในจำนวนนี้ พบว่า มีแคนดิเดตที่เป็นผู้หญิงเพียง 9 คน หรือคิดเป็น 14% ของแคนดิเดตนายกฯ ทั้งหมด

จะหญิงหรือ ชาย หรือ เพศไหน ๆ เชื่อว่า ถ้าเราเชื่อมั่นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ เพศไหน ถ้ามีความตั้งใจ ก็น่าจะมีคุณสมบัติในการเข้ามาทำงานการเมืองไม่ต่างกัน แต่สำหรับบางคนอาจจะมองว่า เพศหญิง หรือ เพศทางเลือก จะมองเห็นประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนหรือ ประเด็นที่อาจจะเคยถูกมองข้ามไปมากขึ้น เพราะอะไร ลองไปฟังมุมมองจากผู้คนในสังคมกัน

ถ้าเรามาดูข้อมูล ส.ส.หญิงในรอบที่แล้ว จะพบว่า เรามี ส.ส.หญิง  74 คน คิดเป็น 16.6% จาก ส.ส. เวลานั้น 445 คน ขณะที่ ค่าเฉลี่ยทั่วโลกจะอยู่ที่ 26.6%และค่าเฉลี่ย ส.ส. หญิง อาเซียน อยู่ที่ 23.0%  

สัดส่วน ส.ส.หญิง ถือว่าน้อยติดอันดับ 137 จาก 168 ประเทศทั่วโลก และอยู่ในอันดับ 8 จาก 9 ประเทศในอาเซียนที่มีสภาฯ ไม่นับเมียนมา โดยติมอร์-เลสเต มีสัดส่วน ส.ส.หญิงมากที่สุดคือ 40% เวียดนาม 30.3% สิงคโปร์ 29.1% ฟิลิปปินส์ 27.3% ลาว 22% อินโดนีเซีย 21.6% กัมพูชา 20.8 % ไทย 16.6% และ มาเลเซีย 13.5 %

เรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP)

เรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาชาติประจำประเทศไทย องค์กรที่ทำงานด้านความยั่งยืน  ระบุ ประเทศไทยเป็นประเทศที่ติด 1 ใน 10 อันดับแรกที่เผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงต้องเน้นหลักการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (LNOB) ในเรื่องผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมภัยแล้งรุนแรงมาโดยตลอด ดังนั้น การออกแบบนโยบายจากระบบการเมืองหลัก ๆ จำเป็นต้องคำนึงถึงบุคคลทุกกลุ่ม เพื่อให้สอดรับกับชีวิตความเป็นอยู่ที่แท้จริง

“อย่างช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาสะท้อนว่า หลากหลายผู้คนกระทบหนักจากปัญหา การออกแบบนโยบายโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ดังนั้นการอยู่ร่วมกันและการออกแบบนโยบายของนักการเมือง สังคม ต้องให้โอกาสทุกคนอย่างเท่าเทียมเพราะมันคือความยั่งยืน และจะลดผลกระทบได้ การเป็นตัวแทนของสตรี เยาวชน คนพิการ ตลอดจนกลุ่มชาติพันธุ์ในการเมืองไทยก็ต้องมีความเสมอภาค”


อย่างพรรคเพื่อไทย ที่มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหญิงอยู่ด้วย มาในธีม นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ โอบกอดความเสมอภาค ชูเรื่องการฟื้นบทบาทกองทุนพัฒนาสตรี /การฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกฟรีสำหรับผู้หญิงทุกคน /ขณะที่ ผู้สมัคร ส.ส.หญิงคิดเป็น 20 %


พรรคก้าวไกล มาในธีม กาก้าวไกล เพศไหนก็คนเท่ากัน ย้ำผลักดัน สมรสเท่าเทียม /ผ้าอนามัยไม่เก็บ VAT แจกฟรีในโรงเรียน /ขยายอายุการตั้งครรภ์เป็นไม่เกิน 12 สัปดาห์ /ลาคลอด 180 วัน พ่อ-แม่สามารถแบ่งวันหยุดกันได้ และผู้สมัคร ส.ส.หญิงคิดเป็น 18%


ไทยสร้างไทย อีกหนึ่งพรรคที่มีแคนดิเดตนายกฯหญิง มาในธีม พลังหญิง เปลี่ยนแปลงประเทศ She can change ชูการตั้งกองทุนพลังหญิง (ให้ผู้หญิงทุกคนมีงานทำ)/ ตั้งศูนย์ Women Care ต่อยอดจากศูนย์พึ่งได้/ 30บาท Plus (ตรวจภายในฟรี ตรวจมะเร็งเต้านม และฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกฟรีให้เด็กผู้หญิง)/ แจกผ้าอนามัยฟรีให้เด็กนักเรียนและผู้หญิงที่มีรายได้น้อย/ ส่งเสริมให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการบริหารทั้งการเมืองและราชการอย่างน้อย 20%

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ จะดันวันสตรีสากล เป็นวันแห่งความเท่าเทียม/ ให้คุณแม่วัยใส กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา


ก่อนหน้านี้สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา ระบุถึงปัญหาความรุนแรงของผู้หญิงและเด็ก พบว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่แย่ที่สุด พบสถิติมีผู้หญิงถูกข่มขืน 3 หมื่นคนต่อปี มีการฟ้องร้องแค่หลัก 3 พันคนเท่านั้น ที่เหลือเข้าสู่กระบวนการอัยการ ศาล และตัดสินคดี 67 คดี แสดงว่า มีคนกระทำผิดต่อผู้หญิง และเด็กลอยนวล 98% ซึ่งยังมีปัญหาในการขยายแวดวงเรื่องนี้

ขณะที่ ประเด็นการจ้างงาน ผู้หญิงส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในงานที่ไม่มีทักษะ ระดับกลางถึงล่าง ระดับบนแทบไม่มี
ขณะที่ หุ่นยนต์ก็เข้ามาแทนที่ กลุ่มคนเหล่านี้ก็จะตกงาน ยกตัวอย่างคนในโรงงานส่วนใหญ่ที่เป็นผู้หญิงแทบจะไม่ได้แต่งงาน โสด

เมื่อถึงวันออกจากงาน อายุ 55-60 ปี ชีวิตสูงวัยหญิงอยู่ในสายตาของรัฐบาลหรือไม่ ที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การเลือกตั้งครั้งนี้
จึงเป็นจุดเปลี่ยน ถึงการจับจ้องนโยบายเพื่อผู้หญิง และสวัดิการครอบครัว แม้จะถูกยกขึ้นมาพูดไม่กี่พรรคแต่มันก็หมายถึงเสียงคนไทยเกือบครึ่งที่เป็นผู้หญิงต้องการ

เรืองรวี พิชัยกุล ผอ.สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี

เรืองรวี พิชัยกุล ผอ.สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี ก็มองว่า การมีผู้หญิงอาจไม่ตอบโจทย์ซะทีเดียวต่อนโยบายหลักของพรรคการเมือง แต่หากมีผู้หญิงสักร้อยละ 30 ก็อาจทำให้การขยับนโยบายเพื่อผู้หญิงดีขึ้น อย่างในประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย สวีเดน ฟินแลนด์ นิวซีแลนด์ มีสัดส่วนผู้หญิงเขามาในการเมืองและมีผู้นำหญิง ถือเป็นประเทศที่น่าอยู่อันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งทำให้ภาพลักษณ์เรื่องสวัสดิการภายในประเทศดีขึ้นมาก ทั้งการศึกษา  สังคม เศษฐกิจ เช่น นโยบายพ่อแม่ที่ช่วยกันเลี้ยงลูก ขณะที่รัฐดูแลการศึกษาตั้งแต่เล็ก ถึงปริญญาตรี ส่วนไทยเองบทบาทและนโยบายของผู้หญิงในสังคมไทย ยังไม่เอื้อต่อผู้หญิงมากนัก เพราะปัจจุบันผู้หญิงยังรับบทหนักในบทบาทแม่ แต่สำหรับอนาคตการเมืองไทย ก็ควรต้องมองสมดุลเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ

การมีผู้หญิงอาจไม่ตอบโจทย์ซะทีเดียวต่อนโยบายหลักของพรรคการเมือง แต่หากมีผู้หญิงสักร้อยละ 30 ก็อาจทำให้การขยับนโยบายเพื่อผู้หญิงดีขึ้น อย่างในประเทศในแถบสะแกนดิเนเวีย สวีเดน ฟินแลนด์ นิวซีแลนด์ มีสัดส่วนผู้หญิงเขามาในการเมืองและมีผู้นำหญิง ถือเป็นประเทศที่น่าอยู่อันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งทำให้ภาพลักษณ์เรื่องสวัสดิการภายในประเทศดีขึ้นมาก ทั้งการศึกษา  สังคม เศษฐกิจ เช่นนโยบายพ่อแม่ที่ช่วยกันเลี้ยงลูก ขณะที่รัฐดูแลการศึกษาตั้งแต่เล็ก ถึงปริญญาตรี


“ส่วนไทยเองบทบาทและนโยบายของผู้หญิงในสังคมไทย ยังไม่เอื้อต่อผู้หญิงมากนัก เพราะปัจจุบันผู้หญิงยังรับบทหนักในบทบาทแม่ แต่สำหรับอนาคตการเมืองไทย ก็ควรต้องมองสมดุลเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ”

ดังนั้นฉากทัศน์ที่เราอยากจะเห็นคือความสมดุลที่ต้องมีการตอบสนองต่อบทบาทหญิงชาย และความหลากหลายทางเพศและวัยต่าง ๆ ซึ่งควรมองถึงความครอบคลุม อย่างการมีตัวแทนของแต่ละภาคส่วน ทั้งหญิงชาย เยาวชน คนพิการ และอีกกลุ่มคนที่หลากหลาย อยู่ในระดับนโยบายและระดับนิติบัญญัติประเทศไทยยังไม่ไปถึงจุดนั้นนี้คือสิ่งที่อยากเห็น เช่น กลุ่ม จี 7 (Group of Seven) คือ กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก เป็น การรวมกลุ่มของประเทศอุตสาหกรรมซึ่งรู้จักกันดีว่าเป็นกลุ่มประเทศร่ำรวย เขาใช้นโยบาย feminist policy หรือ นโยบายสตรีนิยม ในการพัฒนาชาติเลย แนวคิดมิติหญิงชายต้องมีอยู่ในทุกระบบ

ก่อนหน้านี้นโยบายหลายส่วนของผู้หญิงเคยถูกขยับทั้งเรื่องการทำแท้งถูกต้อง การสนับสนุนนโยบายแจกผ้าอนามัย แต่หลายอย่างยังไปไม่ถึงฝัน ขณะที่ปัจจุบันความเท่าเทียมหญิงชาย หรือ ความหลากหลายทางเพศ เริ่มได้รับการยอมรับและให้ความสำคัญมากขึ้น

สุภาณี พงษ์เรืองพันธุ์ ผู้จัดการโครงการความเท่าเทียมระหว่างเพศและการมีส่วนร่วมทางสังคม UNDP

ด้าน สุภาณี พงษ์เรืองพันธุ์ ผู้จัดการโครงการความเท่าเทียมระหว่างเพศและการมีส่วนร่วมทางสังคม UNDP ก็มองว่า การออกกฎหมายหรือกติกาที่มาตอบโจทย์ยังล่าช้า โดยก่อนหน้านี้ UNDP เคยทำวิจัยวัดทัศนคติที่สังคมมีต่อ LGBT ที่มีในไทย รวมถึงประสบการณ์ในการเลือกปฎิบัติของกลุ่ม  LGBT พบว่า ได้รับการยอมรับจากคนนอกบ้าน มากกว่าคนในครอบครัว ทำให้กลุ่มผู้ที่มีความหลายหลายมักต้องอยู่ในสถานะ ทนรับ และเวลานี้มีจะมีนักการเมืองผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่ก็ยังถูกเลือกปฏิบัติ  ขณะที่การออกกฎหมายที่หลายภาคส่วนพยายามผลักดันก็ยังล่าช้า ทั้ง ๆ ที่นี่คือเรื่องของความเท่าเทียม  

ถ้าเป็นเรื่องการสมรสเท่าเทียมหรือจดทะเบียนคู่ชีวิตที่พยายามผลักดันคือ เช่น การให้คนสองคนไม่ต้องระบุว่าเป็นชายหรือหญิงเป็นคนสองคนประเภทใดก็ได้ สามารถที่จะใช้ชีวิตคู่กันได้ แต่ปัจจุบันกฎหมายยังให้สิทธิรับรองไม่ได้ตรงนี้ เหมือนกับคู่ต่างเพศ นอกจากนี้การตัดสินใจทางการแพทย์ของ LGBT ก็ทำได้ไม่เต็มที่ เช่น บางคู่อยู่ด้วยกันมา 10 ปี พอถึงเวลามีคนใดคนหนึ่งโคม่าอยู่ แต่คู่ชีวิตไม่มีสิทธิตัดสินใจทางกฎหมายได้ ซึ่งต้องไปรบกวนญาติที่ไม่ติดต่อกันมานานมาจัดการให้ อีกเรื่องหนึ่งคือการกู้ยืมร่วมกัน อย่างคู่ชายหญิงต่อให้ไม่มีทะเบียนสมรสแต่บอกเป็นสามีภรรยาธนาคารก็ไว้ใจ แต่พอเป็นคู่เพศเดียวกันกลับมีปัญหาทำไม่ได้ หรือแม้กระทั้งเรื่องประกันสุขภาพที่ไม่สามารถใส่ชื่อคู่ครองที่เป็นเพศเดียวกันได้ นี้เป็นตัวอย่างที่คน LGBT ได้สิทธิไม่เท่ากับคนในสังคม


ถ้าดูจากผู้นำหญิงในหลายประเทศ อย่างนายกรัฐมนตรีหญิง นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ก็จะเน้นนโยบายที่ให้สิทธิความเสมอภาคระหว่างเพศ และผู้หญิง เห็นชัดจากวันลาคลอดที่สมเหตุสมผลของคุณพ่อ และคุณแม่ ที่เขาให้มากกว่าวันลาคลอดของไทย ขณะที่ประเด็นนี้ไทยผลักดันมาหลายครั้งในวันสตรีสากลทุกปี แต่ก็ยังไม่เป็นผล

แพทองธาร ชินวัตร คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์



ถ้าเราจะลองประมวลสถานการณ์การเลือกตั้งในปีนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีผู้หญิงที่ลงสมัคร เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีถึง 9 คน และ 2 คนที่อาจจะถูกมองเป็นแม่เหล็กพลังผู้หญิงชัดก็คงหนี้ไม่พ้น

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย และ แพทองธาร ชินวัตร หรือ อุ๊งอิ๊ง ลูกสาวคนเล็กของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งปัจจุบันสังคมรู้จักเธอในตำแหน่งสุดสำคัญของพรรคเพื่อไทย

รศ.โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล 

รศ.โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล กล่าวว่า ผู้หญิงเก่งมีเยอะ และเก่งหลายด้าน ซึ่งในหลายประเทศเขาก็ค่อนข้างเปิดโอกาส โดยกำหนดโควตาไว้ในกฎหมาย  สำหรับไทยแม้ผู้หญิงจะมีบทบาทในทางธุรกิจค่อนข้างสูง แต่ทางการเมืองยังด้อยกว่าอาเซียน เราอยู่ 3 อันดับท้าย จาก 7 ประเทศ หลายประเทศเขากำหนดสัดส่วนพรรคการเมืองส่งผู้สมัครผู้หญิง อย่างฝรั่งเศส เคยกำหนดที่ร้อยละ 50 แต่สำหรับไทย แค่ให้คำนึงถึง ซึ่งธรรมชาติของผู้หญิงจะให้ความสำคัญกับเรื่องครอบครัว เรื่องความปลอดภัย จึงคิดว่า ถ้ามีสัดส่วนผู้หญิงในการเมืองมากขึ้น ก็อาจส่งผลต่อเรื่องนโยบายสวัสดิการต่าง ๆ แต่สิ่งสำคัญคือยึดหลักความเท่าเทียม

“ความจริงกฎหมายเขียนไว้หลายปี ในการจัดทำบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง เมื่อส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อไปเป็น สส. ให้คำนึงถึงสัดส่วนเท่าเทียมกันของชายและหญิง แต่เท่าที่ผ่านมาบางพรคคการเมืองส่ง 10 คนบ้าง 12 คนบ้าง ไม่ได้คิดตามสิ่งที่เขียนในกฎหมาย ก็คือให้คำนึงถึงเท่านั้นหละ หมายถึงฉันก็คำนึงแล้ว ได้แค่นี้ซึ่งมันไม่ใช่ อย่างน้อยก็ต้องคำนึงถึงความเท่าเทียม 30 คนหรือ 40 คน บางประเทศเขียนไว้เลย ผู้หญิง 1 คน ผู้ชาย 1 คนสลับกันไป”

รศ. โคทม ยังกล่าวอีกว่า แต่สำหรับสถิติทั่วโลกบ่งชี้ไปในทางตรงกันข้าม บางประเทศส่งผู้หญิง 40 % โอกาสที่ผู้หญิงจะได้รับเลือกอย่างน้อย 30 % คือสูง ยกตัวอย่างในต่างประเทศก็มีกรณีที่พรรคการเมือง 1 พรรค เมื่อเริ่มต้นมีนโยบายแบบนี้พรรคการเมืองอื่นก็ไม่น้อยหน้า ก็เริ่มขยับขับเคลื่อน เพราะฉะนั้นการส่งเสริมผู้นำทางการเมืองเพื่อมาเป็นพรรคการเมืองและผู้นำทางการเมือง ทำได้เลยไม่ต้องรอกฎหมายก็มี แต่หากต้องการเขียนกฎหมายก็ต้องไม่เขียนหลวม ๆ เพราะถ้าเขียนกฎหมายก็ต้องเขียนให้เข้มงวดกว่านี้ จึงจะมีผล ระบบโควต้าอาจจะใส่ไว้ลักษณะควรจะมีไม่น้อยกว่า 30 % สำหรับสัดส่วนของผู้หญิงทางการเมือง


“ยกตัวอย่างที่ฝรั่งเศสมีการส่งเสริม เรื่องของผู้หญิงจนกระทั้ง มีพรรคการเมือง ทำเป็นตัวอย่าง ทำเป็นนโยบาย ส่งผู้หญิง 50 คนใน 100 คน ไปเป็นผู้สมัคร คือ 50 % จนมีรัฐมนตรีหญิงครึ่งหนึ่งแล้วเขาก็ทำได้ ทั้งในการส่งผู้สมัคร และการเป็นรัฐมนตรี คราวนี้ก็เป็นแรงจูงใจทวีคูณเลย แต่อย่างน้อย ๆ ทั้งในพรรคการเมืองเองและในระดับประเทศ พอทำอย่างนี้แล้วพรรคหนึ่งเริ่มก็มีแนวโน้มตามกันไป เพราะไม่ว่าชายหรือหญิง ต้องมีความเท่าเทียมและอยู่อย่างสมดุล ซึ่งเลือกตั้งรอบนี้ ก็มีผู้สมัครที่ต้องยอมรับว่า เปิดกว้างมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเพศชาย หญิง หรือ เพศทางเลือก”

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์