“เขาก็ด่าผมแบบเจ็บมากเลยนะครับ เขามีถ้วยชามเบญจรงค์อันหนึ่ง ก็ค่อย ๆ เทชาลงไป เขาถามผมว่าเห็นขี้ตะกอนชาข้างในไหม เทลงไปก็ไม่กวนมันขึ้นมา แต่เขาบอกว่าสิ่งที่ผมทํา คือผมกำลังตีตะกอนชาให้ขึ้นมา ผมแบบหน้าชาเลยครับ ผมรู้สึกแบบ โอ้โหทําไมเขาคิดแบบนี้ เขาจะเอาแต่ไปส่งเสริมคนดี ไม่อยากเล่ามุมดาร์กนี้ เขาอยากเก็บไว้ใต้พรมอยู่อย่างเดียว ไม่เคยคิดที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้จริงจัง ผมไม่เคยพูดเรื่องนี้มาก่อนเลย”
บทสนทนาระหว่าง พุฒิ – พุฒิพงษ์ นาคทอง ผู้กำกับภาพยนตร์ วัยหนุ่น 2544 กับ ผู้ใหญ่คนหนึ่งในกระทรวงฯ ถูกนำมาถ่ายทอดผ่านวงเสวนา “สวัสดิภาพผู้ต้องขัง สิ่งที่ครอบครัว และสังคมพึงกระทำ” หลังกิจกรรม ชมภาพยนตร์ วัยหนุ่ม 2544 รอบพิเศษ แด่ บ้านกาญจนาฯ ซึ่งเหตุการณ์นี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่บ่งบอกถึงความคิดของคนที่มีอำนาจในระบบ ตรงกันข้ามกับสิ่งที่หนัง วัยหนุ่ม กำลังสะท้อนภาพความจริงในมุมมืดออกสู่สายตาสังคม
19 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา เด็กหนุ่มจาก ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก หรือ บ้านกาญจนาฯ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ได้มีโอกาสเข้าชมหนัง วัยหนุ่ม 2544 พร้อม ๆ กับนักแสดงนำ และผู้กำกับเรื่องนี้
นี่เป็นครั้งแรกของหลาย ๆ คน ที่มีโอกาสดูหนังในโรง ที่สำคัญยังได้ร่วมวิเคราะห์พฤติกรรมจากหนัง ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการ ซ่อมคน ที่ ป้ามล – ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการบ้านกาญจนาฯ ให้เด็ก ๆ ได้ทำเป็นประจำทุกสัปดาห์
‘ภาพยนตร์’ ภูมิคุ้มกันที่สร้างจาก ‘ความกลัว’
พุฒิ ผู้กำกับ วัยหนุ่ม 2544 ที่เคยกำกับทั้งเรื่อง 4Kings และ 4Kings ภาค 2 บอกว่า รู้สึกดีใจที่ได้มีโอกาสนำเรื่อง วัยหนุ่ม 2544 มาให้เยาวชนบ้านกาญจนาฯ ได้รับชม เพราะสิ่งที่เขาต้องการนำเสนอนั้น มาจากความกลัวของเขาในช่วงที่เป็นวัยรุ่น และอยากสื่อสารเรื่องนี้ออกไปถึงผู้ชมว่า “การตัดสินใจเพียงชั่ววินาทีเดียว อาจทำให้ชีวิตและหลายสิ่งหลายอย่างของเราพังไปหมด”
ผู้กำกับ ยังได้เล่าถึงประสบการณ์ที่เห็นจากในชุมชนว่า ครอบครัวในสลัมมักจะวนอยู่ในวัฏจักรที่หลุดไม่พ้น เหมือนกับตัวละครในเรื่องที่ต้องมีอาชีพค้ายาเสพติด และเมื่อถูกจับกุมพ้นโทษออกมา ก็ยังคงต้องวนกลับมาทำแบบเดิมซ้ำ และไม่เคยเห็นการสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย
“ผมเติบโตในชุมชนสลัม บ้านผมอยู่ท้ายซอย แต่บ้านผมค่อนข้างมีฐานะที่สุดในชุมชนสลัมนั้น ผมเห็นวัฏจักรวงจรนี้มาตลอดช่วงเวลาตั้งแต่ผมอนุบาล ยันเรียนมหาลัย วงจรที่เข้าไปแล้วสุดท้ายมัน… ผมเจอคําถามมาเยอะมากว่า การที่พวกผมที่เรียนอาชีวะ เขาจะบอกว่าเลว ผมเอาแต่โทษสิ่งแวดล้อม โทษโน่นโทษนี่ แต่ไม่เคยโทษตัวเอง ผมเคยคิดนะครับว่าสุดท้ายสิ่งแวดล้อมหรือวัฏจักร ที่มันวน ๆ อยู่ ผมอาจจะเร็ว ผมกับเพื่อนอาจจะเลว ด้วยความคึกคะนองของช่วงวัย แต่ผมเห็นพ่อแม่ของเพื่อนผม แต่ละคนหรือในชุมชน เขาไม่รู้จะทำอาชีพอะไรแล้วครับ เขาก็เลยต้องวนอยู่แบบนั้น ซึ่งผมก็ไม่เคยเห็นการสนับสนุน หรือทำอะไรที่จะส่งเสริมให้เป็นมากกว่านี้เลยครับ”
“คือพอเขาเข้าไปข้างใน พ่อแม่เขาเข้าไปข้างในคุกไหน หรือแม้กระทั่งเพื่อนผมเข้าไปคุกไหน ออกมา อาชีพที่อยู่ข้างในก็ไม่มีส่งเสริมให้ ออกมาถักอวน พับถุงกระดาษ งานศิลปะเพิ่งจะมาช่วงหลัง ๆ แล้วเคยมีรุ่นพี่ที่ออกมาขายหมูปิ้งได้แค่แป๊บเดียว สุดท้ายคนก็บอกว่าไอ้นี่เคยติดคุกมาก่อน แล้วเขาก็ไม่ไม่สนับสนุน ไม่ซื้อ จนสุดท้ายรุ่นพี่ผมคนนั้นก็ต้องกลับเข้าไปวังวนเดิม สิ่งนี้เป็นปัญหาที่ต้องมีหน่วยงานหรือผู้ใหญ่ที่เข้าใจจริง ๆ ไม่ใช่แค่โทษว่าพวกเขาเหล่านี้คือ เนื้อร้าย อย่าไปสนใจ อย่าไปใส่ใจ ”
พุฒิพงษ์ นาคทอง
ชีวิตในละคร…ได้ทำงานกับ ‘ความคิดคน’
นัท – ณัฏฐ์ กิจจริต นักแสดงที่รับบท เผือก ตัวเอกของเรื่อง แสดงมุมมองที่น่าสนใจในฐานะนักแสดง โดยยอมรับรู้สึกดีใจทุกครั้งที่มีโอกาสได้ทำโปรเจคที่รู้สึกว่ามีประโยชน์มากกว่าแค่การเป็นนักแสดง และนี่เป็นโอกาสที่ได้นำเรื่องนี้ มาให้น้อง ๆ บ้านกาญจนาฯ ได้ดู เหมือนว่าวันนี้หนังได้พานักแสดงมาพบกับ คน ที่หนังพูดถึง ทำให้รู้สึกว่าอาชีพนักแสดงมีประโยชน์ ซึ่งตัวละคร เผือก ก็ผ่านการสำรวจ สอบถามความเห็น ของการกระทำมาตั้งแต่ได้รับบท โดยคนส่วนใหญ่ บอกตรงกันว่า เป็นเขาจะไม่ทำแบบนั้น (เหตุการณ์ที่ทำให้ติดคุก) แต่เมื่อไปสวมบทในตัวละครนั้นสถานการณ์ที่ตัวละครรู้ไม่เท่าทันตัวเอง จนทำให้เขาต้องไปชดใช้ชีวิตในคุก
“ตั้งแต่ตอนที่อ่านบท หรือ ตอนที่พี่พุฒิพาไป Research ตอนที่เราเริ่มเล่าว่ามันจะเกิดสถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในหนัง หนึ่งในคําพูดที่ผมมักจะโดนเรื่อย ๆ เลย คือ เป็นกูก็ไม่ทำ เฮ้ย แค่นี้เองทำแล้วเหรอ แค่นี้เองยิงแล้วเหรอ คําว่า แค่นี้ ของแต่ละคนที่ผมเรียนรู้มันไม่เคยเท่ากัน เสี้ยววินาทีที่ตัวละคร สุภาพ สีเผือก ยิงอัดหน้า ไม่ได้มีแว๊บคิดถึงอะไรขนาดนั้น สุดท้ายมันคือผมไม่เท่าทันตัวเอง แล้วผมก็ใช้ทุกวินาทีหลังจากโมเมนต์นั้น ชดใช้ ชดใช้ ชดใช้”
ณัฏฐ์ กิจจริต
นัท ยังเล่าถึงตัวละครอีกว่า ตลอดทั้งเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ สุภาพ สีเผือก เรียนรู้ครั้งแรก คือซีนสุดท้าย ที่เขาได้นั่งนิ่ง ๆ โดนย้ายเรือนจำ เปลี่ยนสภาพแวดล้อม จากเด็กคนหนึ่ง กลายเป็น นักโทษชายจริง ๆ จากตอนต้นเขามีศพในมือเป็น 0 และ 15 นาทีผ่านไป มีศพในมือ 2 ศพ ตอนจบมี 3 ศพ ทั้งที่ตัวเองเองพยายามอย่างที่สุดแล้ว ในการที่จะไม่เข้าไปสู่วังวนสีดำ
“สุภาพ สีเผือก กลายเป็นหนึ่งในผลลัพธ์ของระบบเรือนจำ สุภาพ สีเผือก พยายามแล้ว เท่าที่มันพอจะมีสมองที่จะเก็บเศษส่วนความเป็นมนุษย์ ที่แม่มันเฝ้าสอนมาตั้งแต่เด็ก แต่สุดท้ายมันเก็บไม่ไหวครับ ทีนี้มันก็จะย้อนกลับไปที่คําถามว่า เด็กคนหนึ่งมันมีความจำเป็นต้องเกิดมาแล้วแบกรับอะไรบ้าง”
ณัฏฐ์ กิจจริต
นัท ยังบอกด้วยว่า บทความหนึ่งที่เขาเคยอ่าน เกี่ยวกับ เด็ก ป.1 เขียนจดหมายถึงโลก เด็กคนนี้เขียนว่า
บทความนี้ทำให้ นัท รู้สึกดีกับอาชีพนักแสดง ที่ได้ทำอาชีพ ซ่อมโลก เมื่อได้สวมบทบาทเล่าเรื่องชีวิตของคนอีกคนที่ก้าวพลาดมาแล้วต้องเจอกับอะไร และขอให้เรื่องราวของตัวละครนี้ได้เข้าไปอยู่ในเสี้ยวความคิดของผู้ชมที่อาจจะเจอสถานการณ์คล้าย ๆ กันกับตัวละคร
“มันเลยยิ่งรู้สึกดีเป็นพิเศษ ที่ไอ้อาชีพเต้นกินรํากินอย่างพวกเรา มันมีประโยชน์มากขึ้น เวลาที่มีคนอย่างพี่พุฒิ หรือใครต่อใคร หยิบยกเรื่องที่มันเป็นประโยชน์มาให้พวกเราสวมบทบาทแล้วก็เล่าต่อ ผมก็ได้แต่หวังในฐานะนักแสดงคนหนึ่งว่า เรื่องนี้มันคงไปจุดประกาย อย่างน้อย ๆ ถ้าเกิดมันมีวัยหนุ่มเข้าไปสักวินาทีหนึ่ง ในโมเมนต์ที่รถปาดหน้าคุณ ให้มันแบบกลับบ้านไปกินข้าวเถอะ ผมรู้สึกว่านั่นคือที่สุดของสิ่งที่ผมอยากได้ อยากให้วัยหนุ่มมันเป็นแรงชุบตรงนั้น ให้วินาทีนั้นเป็นวัคซีน”
ณัฏฐ์ กิจจริต
ฟลุ๊ค เป็นอีกตัวละครของเรื่อง ที่รับบท เอม – ภูมิภัทร ถาวรศิริ และบทบาทที่เขาได้รับคือ เป็น LGBT ที่ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำวัยหนุ่ม เขาสะท้อนว่า ในตอนที่ได้ไปโรดโชว์กับเรื่องนี้รู้สึกดีใจที่ วัยหนุ่ม 2544 ได้เจอผู้ชมของตัวเอง จนกระทั่งวันนี้ที่ทำให้เขารู้สึกจริง ๆ ว่า หนังไปถึงหัวใจที่อยากให้ไปถึงจริง ๆ และเป็นอีกรสชาติที่ได้มองงานของตัวเองได้ทำอะไรเพื่อคนอื่น
“ผมรู้สึกว่าผมภูมิใจมาก ๆ ที่ได้ทำงานชิ้นนี้จริง ๆ ขอบคุณมาก ๆ ที่มาอยู่ด้วยกันวันนี้ มันเป็นเกียรติของผมในฐานะทีมงาน แล้วก็เกียรติของทีมงานทุกคน เป็นเกียรติของนักแสดงทุกคนที่ยอมมาหาพวกเราวันนี้ ขอบคุณมาก ๆ”
ภูมิภัทร ถาวรศิริ
เอม บอกอีกว่า ตัวละครที่ต้องเล่นมีความยาก ตั้งแต่ได้รู้จักกับตัวละครฟลุ๊ค รู้เลยว่าเขาต้องเผชิญกับอะไร รู้ว่าเขาเข้ามาอยู่จุดนี้ได้อย่างไร และรู้ว่าชะตากรรมของเขาจะจบลงอย่างไร ก็ค่อย ๆ ทำความรู้จักเขามากขึ้นเรื่อย ๆ จนได้รู้ว่าเขาเป็นคนยังไง และผู้กำกับอยากให้ตัวละครนี้ทำให้คนดูรู้สึกว่า ไม่อยากทำความผิด ไม่อยากไปอยู่ในโลกหลังกำแพง
“มันยิ่งเป็นการตอกย้ำเลยครับว่า ผมเป็นฟลุ๊คทำไม การมีฟลุ๊คอยู่ในโลกวัยหนุ่มเพื่ออะไร ผมรู้สึกว่า ตัวละครของฟลุ๊คมีไว้เพื่อสะท้อนความน่ากลัวของระบบระบบทัณฑสถานนี่แหละครับ ความน่ากลัวของสิ่งที่มันเกิดขึ้น”
ภูมิภัทร ถาวรศิริ
เอม ยอมรับว่า ต้องถอดความรู้สึกทุกอย่างที่มีต่อตัวละครออกมา แม้กระทั่งความสงสาร เขาต้องถอยตัวเองออกมาแล้วก็มองดูเขาอย่างที่เขาเป็น เขาก็มีสาเหตุที่ทำให้ต้องเข้ามาอยู่ในเรือนจำ ต้องรับผิดชอบชีวิตที่เขาเลือก เหมือนกับประโยคที่เผือกบอกว่า “ชีวิตมึง มึงเลือกเอง” โดยมองเขาอย่างมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งยอมรับว่ายากมากในฐานะของนักแสดง ที่ต้องอยู่กับตัวละครทุกวัน ยากมากที่ผมจะไม่สงสาร
“นอนไม่หลับ ฝันร้าย กับการรับบท บอย” นี่คือคำจำกัดความที่ ท็อป – ทศพล หมายสุข นักแสดงอีกคน ยอมรับและก็ดีใจที่ได้พาหนังมาพบกับคนที่มีประสบการณ์ใกล้เคียงกับ บอย นักโทษชายในเรื่อง ท็อป ออกตัวเลยว่า ชีวิตจริงของเขาแตกต่างจากตัวละครมาก ซึ่ง บอย แทบจากจะหาข้อดีไม่ได้ คนดูอาจจะตั้งคำถามว่าตัวละครนี้มีดีตรงไหน เพราะเขามีแต่ใช้ความรุนแรง ซึ่งการมารับบทนี้เป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับเขา
“การจะเป็นคนที่มี Energy แบบนั้น หรือมีพฤติกรรม หรือนิสัย หรือความคิดแบบนั้น มันยากนะครับ ที่เราจะตื่นมาทุกเช้าแล้วแบบ วันนี้ทำอะไรใครดีวะ เราจะต้องเป็นแบบนั้น แต่ว่าผมอยากให้มองในอีกมุมนึงหลังจากที่ดูหนังจบ บอยเป็นอีกหนึ่งตัวละครที่แสดงให้เห็นแล้วนะครับว่า พื้นที่ของตัวละครตัวนี้ ในนั้นแหละครับมันเหมาะสมแล้ว ที่เป็นที่อยู่ของเขา คือโลกหลังกำแพง คนแบบบอย ไม่ควรจะออกมาใช้ชีวิต เดินอยู่ข้างถนนนะครับ กับคนอื่น ถ้ายังเป็น Energy แบบบอยอยู่นะครับ เป็น Energy ที่ ทุกอย่างมันเป็นจังหวะของการหายใจ แบบทุกอย่างมันคือการ เร่ง เร่ง เร่ง อยากจะได้อะไรสักอย่างหนึ่งโดยที่ไม่ได้คิดถึงคนอื่น เป็นตัวละครที่ทำเพื่อให้เห็นว่า จริง ๆ แล้ว การมีจิตเมตตา การคิดถึงผู้อื่น การคิดถึงอย่างอื่นก่อนตัวเองมันควรจะเป็นอย่างไร”
ทศพล หมายสุข
ท็อป ยังเล่าถึงเบื้องหลังตัวละครนี้ด้วยว่า ผู้กำกับ บอกกับเขาว่า “ถ้าบอยได้รู้จักความรักจริง ๆ สักครั้ง หรือได้รักใครจริง ๆ สักครั้ง ผมเชื่อว่าบอย น่าจะทำสิ่งนั้นได้ดีมาก ๆ เลย น่าจะกลายเป็นคนที่อ่อนโยนลง เป็นคนที่รู้จักรักอะไรสักหนึ่งอย่างก่อน” แต่การกระทำของตัวละครบอย มีการใช้ความรุนแรงกับทุกคนอย่างหนัก โดยเฉพาะกับ ฟลุ๊ค
“ตอนที่ผมทำตัวละครบอย ก็เล่นกับเอมนะครับหนักเลย ก็มีความรู้สึกฝันร้ายครับ สะดุ้งตื่นตอนกลางคืน มันผวา เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่า บอย ไม่ใช่สิ่งที่ใครอยากจะเป็น และไม่ใช่เรื่องสนุกที่จะไปใช้ชีวิตแบบนั้น ผมว่าคนอย่างบอยไม่กล้าหลับ ไม่รู้หลับไปจะได้ตื่นหรือเปล่า สร้างโจทย์ไว้เยอะ ใคร ๆ ก็อยากจะทำเขาคืนครับ”
ทศพล หมายสุข
ท็อป บอกอีกว่า มีสิ่งหนึ่งที่ บอยทำได้ดีอย่างเดียวคือการตัดผมให้เอมกับฟลุ๊ค บอยจะไม่ยอมให้ดูแย่ ทั้งที่เขาจะแกล้งตัดให้แหว่งก็ได้ แต่นี่คือสิ่งเดียวที่เขาทำได้ดี เขาเลยเลือกที่จะตั้งใจทำมัน หากสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เขาค้นพบ และตั้งใจลงมือจริง ๆ สิ่งนี้อาจจะเป็นแสงให้เขาได้
“บอยตัดผม ก้อนผม ให้มันแหว่งก็ได้ ถ้าหมั่นไส้มาก แต่บอยทำสิ่งนั้นได้ดี เขาเลยตั้งใจทำมัน แล้วผมเชื่อว่าจริง ๆ ถ้าเราหาบางอย่างที่ดีแล้วเราเก่ง เราถนัด แล้วให้ใจมัน เอาสมาธิเอาทุกอย่าง เอาแรงไปจี้กับมัน ไปลงกับมัน เชื่อครับทำมันอยู่นั่น ทำมันอย่างเดียว สิ่งที่เรารักวันหนึ่งผมไม่มีทางมันไม่ทรยศเราแน่นอนครับ”
ทศพล หมายสุข
เบนจามิน โจเซฟ วาร์นี อีกนักแสดงที่รับบท กอล์ฟ ตัวละครที่สะท้อนให้เห็นถึงการได้รับแสดงสว่าง ได้รับความรักจากเพื่อน กอล์ฟ อยู่ในแวดล้อมที่ไม่ได้มีใครเป็นผู้นำ มีตัวอย่างที่ดี เพราะไม่เคยมีพ่อมาก่อน การแก้ปัญหาชีวิตด้วยวิธีของตัวเอง ทำให้ต้องมาอยู่ในเรือนจำ จนกระทั่งมาเจอ บังกัส ในเรือนจำ ที่เป็นเหมือนพ่อคนที่ 2 ทำให้ได้เข้าใจคำว่า การเสียสละ Unconditional love การให้อะไรกับอีกคนหนึ่งโดยที่เราไม่หวังผลตอบแทน ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์อย่างกอล์ฟในวัยเด็ก อยากจะสัมผัสกับสิ่งนี้ คือ ความอบอุ่น
“รู้สึกโชคดีที่ได้เล่นเป็นกอล์ฟ เพราะเรารู้สึกว่าพออยู่ในนั้นทุกอย่างมัน Dark มาก อย่างน้อยเราก็ได้เป็นแสงสำหรับไอ้เผือก แล้วกอล์ฟเองก็เห็นเผือกเป็นตัวเอง เขาก็เลยอยากที่จะทดลองให้อะไรบางอย่างกับเผือก โดยที่ไม่หวังผลตอบแทน ถึงแม้มันจะแป้กบ้างในบางที อาจจะสู้บังกัสไม่ได้ แต่เขาก็ทำด้วยความจริงใจ แต่ในความมืดของผมก็มีแสงสว่างเยอะไปหมดเลยนะ ผมรู้สึกว่าธรรมชาติความมืดมันจะอยู่ไม่ได้ถ้ามันไม่มีความสว่าง มันคือแฝดกัน เมื่อไรที่มันมืดมากแสดงว่าต่อจากนั้นมันก็สามารถที่จะสว่างมากเหมือนกัน เพราะว่าธรรมชาติต้องการที่จะบาลานซ์ทุกอย่างตลอดเวลาอยู่แล้ว”
เบนจามิน โจเซฟ วาร์นี
ตัวแสดงนำอีกคน คือ บังกัส ซึ่งรับบทโดย จ๋าย ไททศมิตร หรือ อิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมี ก็ได้สะท้อนภาพความเป็น บังกัส ว่า เขามีความคิดและมุมที่ใกล้เคียงกับตัวละครนี้ คือ เป็นคนมีความเชื่อว่า “ดีชั่วอยู่ที่ตัวทำ” เขาคิด และลองถูกลองผิดกับชีวิตมาตลอดช่วงวัยรุ่น มีหลงผิด มีเกเร แต่สุดท้ายเมื่อโตขึ้น ได้วิเคราะห์ตัวเองในวัยเด็ก และค้นพบว่า สังคม หรือ สภาพแวดล้อม เกี่ยวข้องอย่างมาก
“ตัวละคร กับ ตัวผม มีความคล้าย ๆ กันอยู่ ในเรื่องความเป็นผู้นําของเพื่อน หรือการดูแลน้อง ๆ จะบอกว่าบางครั้ง ด้วยสภาพแวดล้อมหรือสังคมที่เราอยู่ผิดที่ การที่เราทำตัวเป็นฮีโร่ผิดที่ ก็อาจจะทำให้เราชู้หริ่งได้ง่าย ๆ แต่ว่าถ้าสมมติว่าเราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม หรือว่าเราอยู่ในที่ที่ถูกที่ควร เหมือนชีวิตผม ณ วันนี้ จริง ๆ ไม่ได้ต่างจากเมื่อก่อนเลย คือทำเหมือนเดิม คิดเหมือนเดิม แต่แค่เอาตัวออกมาจากสถานที่ที่มันไม่สนับสนุนชีวิตเรา มันก็ทำให้ชีวิตเราหักเหไปอีกทางเลย”
อิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมี
จ๋าย ยังบอกด้วยว่า ดีใจมากที่หนังวัยหนุ่ม ได้ออกสู่สายตาสาธารณะ และ ใจความสำคัญ (Message) ที่ผู้กำกับอยากนําเสนอได้ไปสู่คนที่มีประสบการณ์ตรง แล้วก็คนที่ไม่เคยมีประสบการณ์ให้เขาได้รับรู้เรื่องนี้สักที เขาบอกว่า ตัวละคร บังกัส น่าจะเป็นตัวละครตัวเดียวที่เป็นแสงสว่างที่สุดในภาพยนตร์เรื่องนี้
“สิ่งที่บังกัสทำ มันไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไร มันดูธรรมดา แต่พอมันอยู่ในสถานที่มันมืดมาก มันกลายเป็นแสงสว่างเดียว แล้วมันจ้ามากเลยในพื้นที่ที่มืดมนที่สุด ผมเป็นตัวละครตัวเดียวที่พูดถึงเรื่องอภัยโทษ เรื่องการให้อภัย แล้วก็สิ่งที่ตัวละครต้องการมากที่สุดจากใครสักคน จากระบบหรือแม้แต่จากตัวเอง”
อิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมี
จ๋าย ยังอธิบายถึงการให้อภัยในมิติของสังคมปัจจุบัน โดยยอมรับว่า เป็นเรื่องยากมาก แม้ว่าเราจะได้รับการอภัยจากทางกฎหมายแล้ว แต่สังคมยังใจร้าย คือ ไม่ใช่แค่เรื่องการปฏิบัติ แต่ยังมีความเห็นบนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะกับเด็กซึ่งอาจเป็นเรื่องที่ยาก ซึ่งในตัวละครบังกัส ต้องรับมือกับครอบครัวที่ให้อภัยเขาไม่ได้ แม้ว่าตามกฎหมายเขาจะได้รับพระราชทานอภัยโทษในอีกไม่ช้า
“แค่คอมเมนต์ในโซเชียล ก็โหดร้ายมากเลย ทุก ๆ ครั้งจะรู้สึกว่า ทำไมใจร้ายกันจังเลย คือยิ้มให้กันหรือยินดีให้กันหน่อยไม่ได้หรือไง ทำไมต้องโหดร้ายขนาดนั้น นี่แค่ปุถุชนธรรมดา คือโอกาสมันน้อยมาก ๆ เลย ตัวละครผมก็พยายามที่จะสะท้อนเรื่องนั้น”
อิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมี
ชีวิตยังไม่สิ้นสุด ยังปรับตัว ไปต่อได้
ส่วนในชีวิตจริง จ๋าย ยังสะท้อนถึงเหตุผลที่มาทำวง ไททศมิตร ซึ่งหากใครติดตามจะได้เห็นการเล่าเรื่องราวชีวิต ที่สอดแทรกเข้าไปในแต่ละบทเพลง เขาทำวง และพยายามทำชีวิตตัวเองให้ดีขึ้นในทุกวัน เพราะในช่วงวัยรุ่น เขาเคยผ่านจุดที่เกือบจะคร่าชีวิตผู้อื่นมาก่อน
“ผมก็เป็นคนหนึ่ง ที่รับมือกับระบบ กับตัวเองในวัยเด็กไม่ได้ มันไปถึงขั้นที่เราจะไปคร่าชีวิตคนอื่น แต่ว่ามันไม่สำเร็จ แค่เพราะดวง เพราะว่าปืนมันสับไม่ติด ไม่งั้นก็คงมีคนเสียชีวิต หรือชีวิตผมก็คงมาไม่ถึงปัจจุบันนี้ ณ วันนั้นยังโชคดีกว่าเด็กคนอื่น ที่มีครอบครัวซัพพอร์ต แต่ผมคิดไม่ออกเลยว่า วันนั้นที่ถ้าผมไม่มีครอบครัว คือส่งผมกลับมาเรียนหนังสือ เข้ามาอยู่ในระบบ เข้ามาอยู่ในสังคมที่ดี ผมคิดไม่ออก จนถึงทุกวันนี้เลยว่าจะแก้ปัญหา ณ วันนั้นยังไง ผมเชื่อว่ามีเด็กอีกหลายคน ที่เขาไม่ได้มีต้นทุนแบบผม แล้วบางทีเขาจะต้องไปเจอสถานการณ์ที่ยากเกินกว่าที่เขาจะรับมือ มันแก้ไม่ได้ครับ มันหันไปไหนก็มืดไปหมดเลย มันไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไรด้วยตัวคนเดียว”
อิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมี
จ๋าย ทิ้งท้ายว่า ทางเลือกของเขาต่างจากตัวละคร ที่ประชดชีวิตด้วยการ ทำดี เพื่อสู้กับตัวเอง และหาคำตอบว่า คนที่มีรอยสัก คนที่มีหนวด คนที่เคยจะไปพรากชีวิตคน มาทำวงดนตรี จะไปได้ไกลแค่ไหน และต้องการเป็นแสงที่ส่องไปถึงทุกคน ถึงเด็ก ๆ ว่าเราเข้าใจเขา และอยากบอกเขาว่า “นั่นไม่ใช่จุดสิ้นสุดของชีวิต เรายังกลับตัวทัน เราไปต่อได้”
“ผมเป็นผลกระทบจากโครงสร้างนั้น แต่ดีที่ผมไหวตัวทันแล้วกลับมาได้ แล้วผมรู้ว่าโครงสร้างนี้มันต่อสู้ยากมาก ผมก็แค่อยากเป็นแค่น็อตตัวหนึ่งที่พยายามจะซัพพอร์ต แล้วบอกว่าวันที่ไม่ค่อยมีแสง หรือในวันที่ระบบหรือสังคมบ้านเรามันไม่ได้ซัพพอร์ตคุณ คุณต้องรอดนะ อย่าดูถูกตัวเอง กลับมาให้ได้ แม้มีความหวังแค่ริบหรี่ หรือน้อยนิดก็ตาม”
อิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมี
ไม่ต่างกันกับ ต้น – อรุณพงค์ นราพันธ์ ที่รับบทเป็น กร ซึ่งเขาตีความตัวละครนี้ว่า เล็กที่สุดในกลุ่มของฝั่งคลองเตย เป็นตัวละครที่ต้องทำเพื่อความอยู่รอด ต้องทำเพื่อที่จะมีชีวิตออกไปข้างนอก ตัวละครนี้ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน แต่เข้าไปเป็นผู้ชมในสิ่งที่เป็นด้านมืด
“ความรู้สึกผม แล้วแบบ โอ้ย มันอย่างนี้จริงไหม เหมือนเราได้เข้าไป อย่างเช่นตอนเช้า ออกอีกทีตอนเย็น มันอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนั้นทั้งเรื่องเลย ก็คือรู้สึกว่าถ้าเราอยู่แบบนี้หนึ่งปี แล้วออกไปข้างนอก มันจะเป็นยังไง มันเหมือนเราได้บัตรพิเศษ ได้ไปดูหนังเรื่องนี้ก่อนใคร แบบใกล้ ๆ เลย”
อรุณพงค์ นราพันธ์
‘วัยหนุ่ม 2544’ ในวันที่ต้องค้นหา…แสงสว่าง
สำหรับมุมมองของ ป้ามล – ทิชา ณ นคร ผอ.บ้านกาญจนาฯ ยอมรับว่า ก่อนมาดูหนัง วัยหนุ่ม 2544 ได้วิเคราะห์กระแสสังคมที่มีต่อหนังเรื่องนี้ และมีคนตั้งคำถามด้วยว่า “เอาเด็กมาดูได้อย่างไร หนังออกจะ Dark ขนาดนั้น” แต่นี่คือการกินเข้าไป และจะถูกย่อย และคายออกไป เมื่อขั้นตอนครบ ก็จะเปลี่ยนเป็น สารอาหาร และ เชื้อโรคจะเปลี่ยนเป็นวัคซีน ซึ่งนี่เป็นกระบวนการในบ้านกาญจนาฯ ที่เป็น 1 ในคุกเด็ก 21 แห่งในประเทศไทย
“ที่ทุกคนพูด ป้าเห็นด้วยว่าตอนที่เริ่มดูหนังฉากแรก เผือกที่อยู่กับแม่จนกระทั่งมาติดคุก ป้าตั้งคําถามอยากตะโกนถามดัง ๆ ว่าใครสร้างปีศาจ ป้ารู้สึกอย่างงั้นจริง ๆ แต่ป้าก็ไม่อยากให้เราไปติดเพดานแค่ว่า แม่คือผู้สร้างปีศาจ พ่อแม่ก็อยู่ภายใต้ระบบใหญ่ ของประเทศที่เฮงซวยนี้ด้วย เราไม่มีระบบนิเวศน์ที่เหมาะสม สําหรับครอบครัวที่อ่อนแอ ประเทศนี้มีครอบครัว 20 กว่าล้านครอบครัว ครอบครัวจึงไม่ใช่มีความหมายแค่ปัจเจก แต่ครอบครัวเป็น Mass ขนาดใหญ่มากเลย ซึ่งต้องการกระทรวงหนึ่ง กระทรวงทำระบบสนับสนุน เพื่อให้เขาเข้มแข็ง”
ทิชา ณ นคร
ป้ามล ยังเชื่อว่า ในกว่า 20 ล้านครอบครัว มีเพียงไม่กี่ครอบครัวเท่านั้น ที่มีความสามารถเลี้ยงลูกด้วยตัวเองแล้วพารอด แต่หลายครอบครัวที่ทำไม่ได้ และเมื่อมาอยู่ในคุก คุกก็ไม่ได้จัดระบบ อย่างฉากในหนังพูดว่า “ที่สุด ความหวัง ความฝันของเรา มันก็ถูกขังพร้อม ๆ กับร่างกายของเรา” ซึ่งจริง ๆ คุกไม่ควรจะทำเช่นนั้นกับมนุษย์ เพราะว่าในเชิงปัจเจก เขาทำผิดเขาต้องรับผิดชอบ แต่ในเชิงระบบมีหลายอย่างที่ขาดหายไป จนทำให้มนุษย์คนหนึ่งไม่สามารถเติบโตขึ้นมาได้อย่างเหมาะสม
“ถามว่าแล้วสิ่งนั้นใครรับผิดชอบ ปัจเจกคนเดียวรับผิดชอบไม่ได้ พ่อแม่หนึ่งครอบครัวรับผิดชอบไม่ได้ แต่มันต้องมีระบบ เราต้องการนิเวศที่เหมาะสมสำหรับมนุษย์เด็กเหล่านี้ ซึ่งมันไม่มีในประเทศ ป้าอยากให้พลิกมุมกลับของหนังเรื่องนี้ว่า มันไม่ได้ Dark แต่มันกําลัง Voice กําลังส่งเสียง บอกกับเรา แต่เราต้องตั้งคําถามกับมันด้วยนะ ว่าระบบที่เหมาะสม นิเวศที่มันเอื้อต่อเด็ก ๆ ใครจะเป็นคนสร้างมันปัจเจกสร้างไม่ได้ พ่อแม่ของเด็กหนึ่งคนสร้างไม่ได้ มันต้องการพลังของสังคมและหนึ่งในนั้นต้องเป็นรัฐบาล ต้องเป็นพรรคการเมือง”
ทิชา ณ นคร
โดยเวลานี้ข้อเท็จจริงที่ระบบเป็น คือ สมมติว่า คืนนี้มีการก่อเหตุของเด็กวัยรุ่นกลุ่มหนึ่ง สังคมไทยทั้งหมดจะพุ่งไปที่เด็กเท่านั้น และสังคมยังไม่สามารถทะลุเพดานไปถึงการตั้งคำถามว่า แล้วพื้นที่ดีที่จะให้พวกเขาได้ปล่อยของ ปล่อยแสง อยู่ที่ไหน ดังนั้นอาจจะต้องเริ่มตั้งแต่ตอนนี้ เพราะมีเด็กจำนวนมากหากเขาได้อยู่ในพื้นที่ที่ดี เขาอาจไม่ต้องฆ่าคนมาอยู่บ้านกาญจนาฯ กับป้า
“สำหรับป้า เวลาเด็กมาอยู่กับเรา เรารู้สึกว่า เขาคือครึ่งหนึ่งของความผิดเรา เป็นความผิดของคนที่เกิดก่อนอย่างพวกเราที่เราไม่ได้โวย ไม่ได้ส่งเสียง แล้วครึ่งหนึ่งก็ไปตามหาผู้ใหญ่ในประเทศนี้ที่ลอยนวลตลอดเวลา”
ทิชา ณ นคร
จี้จุด ระบบ ‘คนกินคน’
ป้ามล บอกถึงตัวละคร บอย ด้วยว่า ถ้าบอยมาอยู่กับป้าที่บ้านกาญจนาฯ จะไม่เป็นแบบนี้ บอย คือ คนที่ไร้แสง และต้องการแสงจากคนอื่น ต้องการการยอมรับจากใครสักคน และนั่นไม่ใช่ความผิดที่เขาไม่มีแสง และเขาควรได้รับการกอบกู้ความเป็นมนุษย์กลับคืนมา
“คุกทำอะไรกับมนุษย์ ในวันที่เราไปใช้ชีวิตในนั้น เขาทำอะไรกับเรา เขาเปลี่ยนแปลงเราแค่ไหน เขาปลุกความเป็นมนุษย์ของเราให้ตื่นขึ้นมาหรือเปล่า หรือจริง ๆ คุกก็คือ ระบบคนกินคน หนังทั้งเรื่องมันบอกเลยว่ามันคือ ระบบคนกินคน ซึ่งมันเป็นระบบที่เราไม่ควรจะสมาทาน แต่คุกก็ปล่อยให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นตลอด ป้านั่งดูหนัง ป้าอยากเป็นผู้อำนวยการเรือนจำ จะจัดการกับผู้คุมก่อนอันดับแรก เพราะมันคือระบบอำนาจนิยม มันคือระบบที่เป็นอำนาจที่รุนแรงมาก เป็นแนวดิ่งที่แข็งแกร่งมาก”
ทิชา ณ นคร
ป้ามล ย้ำว่า หน้าที่ของเรา คือ ต่อให้เด็กมืดสนิทแค่ไหน ก็ต้องหันแสงสว่างหาเขา แล้วก็หาแสงสว่างนั้นให้เจอ เพราะแค่คําพูดเล็ก ๆ ของใครบางคนในคุกที่เขาบอกว่า “พอแล้ว” นั่นคือแสงสว่างนั่น คือความเป็นมนุษย์ของเขา
ป้ามล ยังเล่าถึงเด็กหนุ่มอีกคน ที่มีเรื่องราวคล้ายกับ บังกัส แต่เขาไม่สามารถ Empower ตัวเองได้ ไดอารี่ก่อนนอนเขาเขียนว่า “ตอนที่ผมลั่นไกครั้งแรก ไม่มีคนตาย แต่คนที่อยู่รอบตัวผมทุกคนปลื้มผม ชอบผม ยกย่องผม ผมไม่เคยได้รับความรู้สึกแบบนี้มาก่อนเลย ย่อหน้าถัดไป การลั่นไกครั้งที่ 2 ต้องมีคนตายครับ เพราะผมไม่อยากให้คนที่ปลื้มผมผิดหวัง” ดังนั้นสิ่งที่บังกัสมีเป็น “พลังที่พิเศษ ที่ Empower ตัวเองได้ แต่เด็กหนุ่มจำนวนมากมายมหาศาล ที่เขาเป็น Nobody shine เขาไม่อยากให้คนที่ปลื้มผิดหวัง”
“สำหรับป้านี่มันไม่ได้เป็นอาชญากร นี่มันไม่ใช่เรื่องเล่าของอาชญากร แต่มันเป็นเรื่องเล่าของความล้มเหลวของประเทศนี้ เฉพาะตัวเขาต้องรับผิดอยู่แล้ว เขาต้องติดคุก แต่ในเชิงระบบ เราต้องไปถอดรหัสนี้ให้ได้ว่า ทำไมคนหนึ่งคน ถึงรู้สึกว่าตัวเองไร้แสง แล้วจำเป็นจะต้องแสวงหาถึงขนาดนั้น พลีชีพขนาดนั้น เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่เด็กหนุ่มคนนั้นต้องรับผิดชอบเพียงคนเดียว”
ทิชา ณ นคร
และอีกฉากที่สะท้อนแนวคิดของรัฐ ในมุมมอง ป้ามล คือ จุดพบญาติ ลูกกับพ่อคุยกันผ่านกรงเหล็ก โดยมองเรื่องของความปลอดภัย มองว่าพ่อแม่ไม่ได้เป็นโอกาสของของนักโทษ แต่พ่อแม่เป็นปัญหาของนักโทษในความหมายของรัฐ พ่อแม่ไม่ใช่โอกาส ทำให้การที่พ่อแม่มาเยี่ยมลูกในคุก จึงมีระบบที่ตรวจสอบอย่างเข้มข้น นี่คือปัญหาเชิงระบบ
เมื่อ ‘ปีศาจ’ ถูกถอดออกจากตัว
นำโชค กระจ่างศรี อดีตเยาวชนบ้านกาญจนาฯ แสดงความรู้สึกว่า ในช่วงที่ต้องเข้ารับโทษตอนนั้นยังไม่เข้าสู่ช่วงวัยหนุ่ม แต่เขาเองมีเรื่องราวที่คล้าย ๆ กับ บอย เขาบอกว่าเมื่อก่อนเป็นคนที่แข็งกระด้าง ไม่มีความอ่อนน้อม นอบน้อม แต่เมื่อมาอยู่บ้านกาญจนาฯ การกล่อมเกลาของป้ามล ทำให้เขาสามารถกับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อีกครั้ง ที่สำคัญความโชคดีที่แฟนเขาก็เคยได้รับวัคซีนจากป้ามลทำให้เอาชนะในสถานการณ์ที่ยาก ๆ ได้
“ทุกวันนี้ดูหนังก็ร้องไห้แล้วครับ ยิ่งพอออกไปจากบ้านกาญจนาฯ ช่วงปีกว่า ๆ ก็มีเหตุการณ์คล้าย ๆ กับนักแสดง มีวัยรุ่นจอดติดไฟแดง ลากขามาเสียงดัง เราก็ตกใจ เขาเอาเราแน่ ๆ เราก็ยุบหนอพองหนอ ไปนั่งกินก๋วยเตี๋ยว กินกาแฟหน้าปากซอย มันก็จอดมอเตอร์ไซค์มองหน้าเราอีก ณ ตอนนั้น สติเราไปแล้ว แต่เนื่องด้วยว่าแฟนผมก็เคยเจอป้า เคยมาบ้านกาญจนาฯ เคยได้วัคซีน ถ้าไม่ได้วัคซีนวันนั้น ผมก็คงลั่นไกเหมือนกัน”
นำโชค กระจ่างศรี
ไม่ต่างจาก อภิรัฐ สุดสาย อดีตเยาวชนบ้านกาญจนาฯ อีกคนที่ยอมรับว่า เมื่อ 19 ปีที่แล้วเคยอยู่ในสถานพินิจฯ และเคย “โดนเก็บยอดแบบเดียวกับตัวเอกในเรื่อง” ก่อนที่จะได้มาอยู่กับป้ามล จนได้ออกมาทำงาน ยอมรับเลยว่า ไม่มีใครเกิดมาเป็นปีศาจ แต่อยู่ที่ว่าจะเจอปีศาจแบบไหน ซึ่งการเข้าไปอยู่ในสถานพินิจฯ หรืออยู่ในเรือนจำ หากไม่มีการสร้าง Empower มีแต่การสร้างปีศาจ เป็นการปลุกปีศาจออกมาเพื่อความอยู่รอด คือ สัญชาตญาณมนุษย์ ต้องต่อสู้เพื่อการอยู่รอด แต่กระบวนการที่เขาและน้อง ๆ ได้รับจากบ้านกาญจนาฯ ป้ามลถอดปีศาจออกไป เพราะไม่รู้ว่าจะเอาไว้สู้กับใคร
“การเจียระไนคน ๆ หนึ่ง มันไม่ใช่แค่ว่าหนูต้องเป็นคนดีนะ ลูกต้องเป็นคนดีนะ คุณต้องเป็นคนดีนะ แต่อะไรที่ทำให้เขาดี แวดล้อมแบบไหน นิเวศแบบไหน ใช้วัคซีนแบบไหน ควรส่งทัศนคติ แบบไหนให้กับเขา ทำยังไงให้เขาเห็นคุณค่าของตัวเอง ในหนังผมรู้สึกว่ามันเป็นหนังชีวิต หนังสอนมนุษย์ แต่ถ้าดูแค่ตัวอย่าง จะสรุปว่าเป็นหนัง Dark ผมว่าคุณคิดผิด ถ้าได้ดูจริง ๆ จะรู้ว่าทำไมคน ๆ หนึ่งถึงเลวได้ เป็นเพราะอะไร เหมือนที่ป้ามลพูด พี่พุฒิ หรือพี่ ๆ พูดว่า มันไม่มีองค์กร ไม่มีหน่วยงาน ไม่มีผู้หลักผู้ใหญ่ที่จะโฟกัสอะไรพวกนี้ คือคนเหมือนกัน แต่ว่าแต่ละคนโตมาไม่เหมือนกัน บาดแผลมันก็แตกต่างกันไป”
อภิรัฐ สุดสาย ทิ้งท้าย