#Save นวัตกรรมซ่อมคน ‘บ้านกาญจนาฯ’ ตัวชี้วัดคุณค่า(คน) ด้วยวิชาชีวิต

การเปลี่ยนคน ด้วยความเชื่อว่า ทุกคนมีด้านสว่างในตัวเอง และไม่มีใครเลวมาตั้งแต่เกิด ของผู้หญิงที่ชื่อ ทิชา ณ นคร หรือ ‘ป้ามล’ แห่ง ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก คือ นวัตกรรมซ่อมคน ที่เห็นผลเป็นรูปธรรม ผ่าน อดีตเด็กบ้านกาญจนาฯ ที่เกือบ 100 % เมื่อออกจากรั้วบ้านกาญจนาฯ ไปแล้ว พวกเขาไม่หวนกลับมาทำกระทำความผิดซ้ำอีก รวมถึงงานวิจัยที่บอกชัดว่า วิชาชีวิต ที่ป้ามลให้ไว้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมอยู่ใน ขั้นสิ้นสุด ของขั้นตอนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

แม้ผลผลิตบ้านกาญจนาฯ จะสามารถเปลี่ยนคนได้ชัดเจน ในสายตาผู้คนในสังคม แต่ก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่า กระบวนการเหล่านี้อาจ “ไม่เข้าตา” ผู้มีอำนาจฝ่ายนโยบาย เพราะนอกจากปีนี้จะเป็นปีครบรอบการประเมินการทำงานของป้ามลในฐานะ ผู้อำนวยการ ตามระเบียบแล้ว ยังมีการสื่อสารจาก อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม ที่ดูเหมือนว่า ทั้งป้ามล และบ้านกาญจนาฯ จะไม่ได้ไปต่อ…?

ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาหลายฝ่ายทั้งศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน เครือข่ายที่ทำงานด้านเด็ก เยาวชนและครอบครัว ต่างลุกขึ้นมาร่วมปกป้อง ‘กระบวนการซ่อมคน’ ของป้ามล หลากหลายรูปแบบ เพราะเชื่อว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นในรั้วบ้านกาญจนาฯ ทำให้พวกเขากลับมาเชื่อในตัวเอง และเปลี่ยนเป็นคนดีของสังคมได้

จากวันที่ได้รับโอกาส สู่ วันที่ลุกมาเป็น ‘ผู้ปกป้อง’

ชาญ – อภิรัฐ สุดสาย อดีตเยาวชนบ้านกาญจนาฯ และผู้ประสานงานกลุ่มผู้ถูกเจียระไน ยืนยันอีกครั้งในเวทีเสวนา “เปิดใจป้ามลและงานวิจัยบ้านกาญจนาภิเษก…ไปต่อหรือพอแค่นี้” ว่า วันนี้เขาออกมาใช้ชีวิต ทำธุรกิจส่วนตัว และยังทำงานช่วยสังคมได้เพราะบ้านกาญจนาฯ ชาญ เล่าว่า ตัวเขาที่เป็นคนเกเรตั้งแต่เด็ก เคยถูกไล่ออกจากโรงเรียน เคยอยู่สถานพินิจ รู้สึกว่าการจะเจียระไนเด็ก การทำงานกับเด็กคนหนึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย และการพร่ำบอกว่า เขาต้องดี เขาต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ใช้ไม่ได้ แต่ต้องมีวิธีการทำงานกับความคิดของเขา

จากที่เคยผ่านบ้านต้นทาง จนมาเจอบ้านกาญจนาฯ ที่สอนให้รู้จักคิด รู้จักผลกระทบของการกระทำความผิด และส่งให้เขาเป็นผู้รอดกลับสู่สังคมได้ บ้านกาญจนาฯ แก้ไขปัญหาของเขาได้ตรงจุด เขารู้สึกได้ถึงความอบอุ่นของบ้านกาญจนาฯ รู้สึกว่าไม่ใช่คุก แต่เป็นเหมือนบ้าน ที่มีเพื่อน มีเจ้าหน้าที่ที่เข้าใจ มีป้ามลที่คอยใส่ใจ ทำให้ได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงตัวเอง และได้กลับไปอยู่ในสังคม ซึ่งทุกวันนี้เขาเองทำงานช่วยเหลือสังคม เพราะคิดว่าเขาเองเคยได้รับโอกาส เมื่อเขามีกำลังและแข็งแรงพอ เขาจึงหยิบยื่นน้ำใจช่วยเหลือคนรอบข้างอย่างเต็มกำลัง

ชาญ – อภิรัฐ สุดสาย อดีตเยาวชนบ้านกาญจนาฯ

“จากที่เคยผ่านความดื้อ ความเกรี้ยวกราด เราเคยสร้างปีศาจในตัว ออกมาสู้กับสิ่งแวดล้อมรอบข้าง แต่พอได้มาอยู่บ้านกาญจนาฯ ทำให้เราเห็นว่าที่นั่นไม่มีปีศาจและพอเราหยุดปีศาจในตัวเราก็ตายไปเอง แต่ก่อนนี้รอบตัวมีแต่ปีศาจและอำนาจ ด้วยสัญชาตญาณเพื่อความอยู่รอด ต้องดึงปีศาจตัวเองออกมาต่อสู้”

ชาญ – อภิรัฐ สุดสาย

กระแสข่าวว่าจะยุติการจ้างป้ามลเป็นผู้อำนวยการคนนอก ทำให้ ชาญ พยายามคิดทำอะไรบางอย่าง เขาจึงรวมตัวกับเพื่อน พี่น้องเพื่อส่งเสียงถึงผู้มีอำนาจ ให้รับรู้ว่า “พวกเราคือผลผลิตของบ้านกาญจนาฯ คือผู้รอด” ทุกคนในฐานะประจักษ์พยาน ที่ผ่านระบบของป้ามล ที่ทำให้ได้รู้ถึงผลจากการกระทำทั้งต่อตัวเองและต่อผู้อื่น ทำให้เชื่อในคุณค่าของตัวเอง

“ไม่รู้ว่ากระบวนการ 20 ปี ที่ป้ามลทำ และที่ผมเป็นหุ้นส่วนมา 16 ปีกับบ้านกาญจนาฯ ของพวกนี้มันเป็นสิ่งที่ดี แล้วมันจะไปอยู่ที่ไหน แล้วจะมีหน่วยงานไหน มีใครที่เห็นความสำคัญตรงนี้ ผมฟังท่านอธิบดีพูดว่า ยังมีบ้านกรุณา บ้านเมตตา ที่รองรับเยาวชนอยู่ แต่ผมอยากให้ผู้ใหญ่รับรู้ว่าที่นั่นเขารองรับเยาวชนแบบไหน การซ่อมคน การเยียวยา การแก้ไขปัญหาของมนุษย์และเยาวชน ไม่มีที่ไหนตรงจุดเหมือนบ้านกาญจนาฯ ที่เชื่อว่าไม่มีใครเลวตั้งแต่กำเนิด”

ชาญ – อภิรัฐ สุดสาย
แดเนียล – วิวัฒน์วงศ์ ดูวา อดีตเยาวชนบ้านกาญจนาฯ

เช่นเดียวกับอดีตเยาวชนบ้านกาญจนาฯ อีกคนอย่าง แดเนียล – วิวัฒน์วงศ์ ดูวา เขาก็พิสูจน์ตัวเอง ผ่านการเป็น ศิลปิน ด้วยตำแหน่งรองแชมป์อันดับ 3 จากรายการไมค์ทองคำ และที่ผ่านมาเขายังถ่ายทอดเส้นทางชีวิตที่เคยก้าวพลาด ผ่านบทเพลงอีกด้วย แดเนียล ตั้งคำถามกับภาครัฐ ว่าทั้งที่มีตัวเลขที่ยืนยันได้ และมีตัวเลขของศูนย์ฝึกอื่นที่สวนทางกับบ้านกาญจนาฯ แทนที่จะทำให้ระบบการดูแลเยาวชนแบบบ้านกาญจนาฯ งอกเงยและงอกงามในสถานที่อื่น ๆ แต่กลับเลือกที่จะตัดทิ้ง ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงคิดจะทำแบบนั้น

“เขาใช้อะไรคิด เอาง่าย ๆ ถ้าถามเด็กข้างนอก เขาคงคิดได้ว่าจะเลือกทางไหน รัฐบาลพยายามโชว์ความอ่อนหัดให้เราเห็นว่า เขาไม่ได้ตัดสินใจไปในทางที่ควรจะเป็น ผมมองว่า คงมีอะไรบางอย่างที่ทำให้กลายเป็นแบบนี้ วันที่เราไปที่กระทรวงยุติธรรม เขาก็ถามผมว่า เรื่อง 112 เกี่ยวไหม ซึ่งมองว่าตรงนี้เป็นเรื่องสิทธิ แต่การพูดเรื่องการเมือง เป็นสิทธิของทุกคนที่จะพูด เขาคงรับไม่ได้กับคำพูดตรง ๆ เขาเลยอยู่นิ่งไม่ได้”

“เราไปยื่นหนังสือในวันนั้น เราโอเคกับรัฐมนตรีมาก แต่เราไม่โอเคกับอธิบดีฯ ที่เขาบอกว่า ไปอยู่ที่นั่นที่นี่ก็ได้ เรื่องความสามารถพิเศษเป็นเรื่องส่วนบุคคล ให้เน้นไปฝึกอาชีพกัน ถามว่า การฝึกอาชีพ ได้ใช้แค่ในเวลางาน แต่การฝึกวิชาชีวิต มันใช้ได้ตลอด ทุกชั่วโมงของชีวิต เขายังให้เราไปฝึกสิ่งที่จำเป็นแค่ในบางเวลา แต่กลับไม่ให้เราฝึกสิ่งที่จำเป็นกับทุกบริบท เหมือนฝึกให้เราว่ายน้ำเป็น แต่ไม่ได้ฝึกให้เราหายใจเป็น

แดเนียล – วิวัฒน์วงศ์ ดูวา

“บ้านกาญจนาฯ เหมือนต้นไม้ใหญ่
ที่ปลูกมาเพื่อให้พวกผมได้นั่งพัก ได้ร่มเย็น”

ข้อความในบันทึกสุดท้ายของ เบนซ์ณัฐวุฒิ ยาทิพย์ ที่เขียนขึ้นในวันที่พ้นโทษ เขาบอกว่า มองไม่เห็นเหตุผลอะไรที่ต้องทำแบบนี้ เพราะป้ามลทำงานนี้มา 20 ปี ด้วยหลักการที่ ดูแลเด็กอย่างจริงใจ ไม่เหมือนบ้านต้นทางที่เคยผ่านมา

เบนซ์ – ณัฐวุฒิ ยาทิพย์ อดีตเยาวชนบ้านกาญจนาฯ

“ไม่เข้าใจว่าทางกรมพินิจฯ กำลังคิดอะไรอยู่ เขามีคนเก่งอยู่เต็มชั้น เต็มตึก คอยคิดเรื่องพวกนี้อยู่ แต่ทำไมเขาถึงคิดไม่ได้ก็ไม่รู้ ผมออกจากบ้านกาญจนาฯ มาตั้งแต่ปี 2554 นานกว่า 10 กว่าปี สิ่งที่ได้เรียนรู้จากบ้านกาญจนาฯ ผมยืนยันได้ว่า ทำให้เราเป็นคนที่แข็งแรงได้ในตอนนี้

เบนซ์ – ณัฐวุฒิ ยาทิพย์

เบนซ์ จึงอยากเห็นความมั่นคงของหลักการบ้านกาญจนาฯ ถึงแม้ว่าป้ามลจะต้องปลดระวาง แต่อยากให้หลักการบ้านกาญจนาฯ คงอยู่ต่อไป ไม่อยากให้หายไป เพราะว่าวิธีเก่าที่เขาเคยใช้งานมา คือ การเอาคนเข้าไปอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมและคนก็ไม่ได้เปลี่ยน ทำไมเขายังอยากให้เรากลับเข้าไปอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมนั้นอีก เขาไม่อยากให้เป็นอย่างนั้นเลย 

สิ่งที่ เบนซ์ พูด ยืนยันด้วยรอยน้ำตาจากป้ามล ที่จำบันทึกแผ่นสุดท้ายของเขาได้ดีในวันที่ได้เป็นอิสระ

“มีบางบรรทัดผมเขียนว่าผมอยู่ที่นี่กี่หมื่นวินาที ผมทอนจำนวนวันจำนวนชั่วโมง จำนวนนาทีให้เป็นจำนวนวินาที แล้วผมบอกว่าตัวเองอยู่ที่นี่กี่หมื่นวินาที แล้วเบนซ์ยังบอกอีกว่า ที่นี่เหมือนต้นไม้ใหญ่ ที่ปลูกมาเพื่อให้พวกผมได้มานั่งพัก ได้ร่มเย็น ผมจะไม่ลืมต้นไม้ใหญ่ต้นนี้เลย นี่เป็นบันทึกสุดท้ายของผมเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว และมันอยู่ในความทรงจำของป้า

ป้ามล ยืนยันภาพความทรงจำ

ชัยพฤกษ์ มีแท่ง ก็ขอพูดในฐานะอดีตเยาวชนบ้านกาญจนาฯ ที่เป็นพยานอีกคน เขายอมรับว่า เป็นเรื่องยากมากที่จะเชื่อว่าเด็กที่ทำผิดในคดีเข้ามา พวกเขาไม่ได้เป็นคนไม่ดี เพราะตั้งแต่อยู่ในสถานีตำรวจ อยู่ในหมู่บ้าน ญาติพี่น้อง ไม่ว่าจะสถานที่ไหน ทำให้เยาวชนที่ทำผิดเชื่อมาอย่างนั้น และยังเชื่อว่าตัวเองก็ดีไม่ได้ จนได้มาที่บ้านกาญจนาฯ บ้านนี้แห่งนี้ทำให้เกิดความเชื่อว่า “เราเป็นคนดีได้”

“สำคัญที่สุดที่ผมรู้สึก ที่เป็นส่วนผสมหลัก ที่ทำให้ผมคิดจะเดินทางในด้านดี คือ ในช่วงที่ผมอยู่บ้านต้นทางเกือบปีคือคำว่า เข็ด แต่พอผมได้เข้ามาอยู่ในบ้านกาญจนาฯ ทำให้เราคิดได้ กิจกรรมที่ทำ ผมคิดว่าควรมีสำหรับทุกที่ คือ การทำงานร่วมกับผู้ปกครอง การพาออกเราออกไปทำกิจกรรมข้างนอก ทำให้เรามีความเชื่อขึ้นมาว่าเราก็สามารถอยู่กับคนอื่นได้ปกติ สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้ผมเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ก็ คือ เราอาจจะไม่มีอะไรที่ทดแทน สิ่งที่เราเคยทำร้ายในอดีต แต่เราก็พยายามทำให้เขาได้เห็นว่าเราเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ทุกวันนี้ผมก็จะตอบรับทุกโอกาสที่จะทำให้เราได้คืนให้กับสังคม คิดว่าหลักการแบบบ้านกาญจนาฯ ควรจะมีต่อไป

ชัยพฤกษ์ มีแท่ง

ไม่ได้ต้องการแค่ ‘อยู่รอด’ แต่ต้องการ… ‘อยู่ร่วม’

ไม่ใช่แค่คำยืนยันจากอดีตเท่านั้น แต่สำหรับเยาวชนบ้านกาญจนาฯ เองพวกเขาก็เชื่อไม่ต่างกับรุ่นพี่ ๆ ก๊อต ยังอยู่ที่บ้านกาญจนาฯ แต่ก็เตรียมออกมาใช้ชีวิตในสังคมภายนอก ในอีก 4 เดือนข้างหน้าแล้ว เขาไม่อยากให้ป้ามลต้องยุติบทบาทผู้อำนวยการ และสงสัยที่อธิบดีกรมพินิจฯ จะสั่งยุติบทบาทของผู้อำนวยการ เขากลัวว่า บ้านกาญจนาฯ จะถูกยุบไปด้วย เขาไม่เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะบ้านกาญจนาฯ อยู่มา 20 กว่าปี เป็นบ้านที่เปลี่ยนคน เปลี่ยนความคิด เปลี่ยนเด็กที่มีแต่ความก้าวร้าวรุนแรง เป็นเด็กที่น่ารัก เป็นเด็กที่คิดได้ คิดเป็น รู้จักตัดสินใจ คิดว่าไม่อยากให้ระบบบ้านควบคุมต่ำแบบนี้หยุดลง

ก๊อต เยาวชนบ้านกาญจนาฯ

“สิ่งที่อยากฝากให้กรมพินิจฯ กระทรวงยุติธรรม ในข่าวที่เขาพูดว่าถ้าบ้านกาญจนาฯ ถูกยุบ เด็กที่อยู่บ้านกาญจนาฯ ไปอยู่กรุณาก็ได้ อุเบกขาก็ได้ พื้นที่เหลือเฟือ ไม่ได้เป็นปัญหา แน่นอนว่าไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับเขา แต่เป็นปัญหาสำหรับเยาวชนแบบผม ที่อยู่ในกระบวนการเจียระไน เพื่อน ๆ ที่เขากำลังอยู่ระหว่างเปลี่ยนความคิดของตัวเอง ถ้าเขาอยู่ที่นี่ ไม่มีความรุนแรง ถ้าอยู่บ้านอื่น มันต้องใช้ความรุนแรง เอาด้านมืดของตัวเองมาใช้ การเอาด้านมืดออกมาใช้จนชิน เมื่อกลับเข้าสู่สังคม เราก็ยังคงใช้ด้านมืดอยู่ เราไปผลิตความรุนแรงซ้ำในสังคม เขาก็ตราหน้าว่าเราคิดไม่ได้ คุณกำลังทำให้สถานที่ที่ทำให้เด็กคิดได้หมดไป

ก๊อต

ขณะที่ กิต เยาวชนบ้านกาญจนาฯ รุ่นปัจจุบัน ก็เห็นสอดคล้องกัน เขาอยู่บ้านกาญจนาฯ มาเกือบ 1 ปี ที่นี่ให้อะไรหลายอย่าง ป้ามลให้เยอะมาก ช่วยทำให้รอยร้าวในครอบครัวของตัวเอที่เกิดมา 10 กว่าปี ได้รับการรักษา ทำให้ได้คุยได้เปิดใจกับแม่ ได้นั่งคุยกัน โดยที่ที่อื่นไม่เคยให้เลย

กิต เยาวชนบ้านกาญจนาฯ

“ถามว่าที่นี่ให้โอกาสเด็กที่ก้าวพลาดขนาดนี้ ทำไมถึงไม่มองให้ลึก ไม่หาคำตอบให้ชัดเจนกว่านี้ บ้านอื่นอยู่เพื่อเอาตัวรอด ต้องใช้ด้านมืดของตัวเองออกมา เพื่อให้ตัวเองอยู่รอด แต่บ้านกาญจนาฯ เขาให้การอยู่ร่วม เขาให้อิสระ ให้ทุกคนร่วมกันแสดงความคิด ให้เราเป็นตัวของเราเอง และให้เราได้ทบทวนในสิ่งผิดพลาดที่เราทำลงไป บ้านอื่นทำให้เราจมปรักอยู่กับความรุนแรง ซึ่งผมหลีกหนีตรงนั้นมาเพื่อมาพึ่งบ้านหลังนี้ มาพึ่งป้ามล ผมรู้สึกว่า ถ้าบ้านนี้สูญไป ทุกอย่างคงต้องจบลง มันยังมีเยาวชนอีกหลายคนที่รออยู่ รอที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อให้ได้รับโอกาสอีกครั้ง”

กิต

‘บ้านกาญจนาฯ’ ความสำเร็จของระบบแก้ไขคน

อรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ นักวิจัย และผู้บริหารไลฟ์ เอ็ดดูเคชั่น ไทยแลนด์ บอกว่า เมื่อปี 2561 ได้เข้าไปสำรวจปรากฎการณ์ในบ้านกาญจนาฯ ยอมรับเลยว่า ก่อนหน้านี้ทำงานด้านเด็กแต่ยังไม่เคยได้รู้จักกับป้ามล จนได้เข้าไปนั่งฟังป้ามลพูด เมื่อเดือน กันยายน 2560 รู้สึกทึ่งกับการที่ประเทศไทยมีนวัตกรรมการช่วยเหลือคนที่เป็นรูปธรรมอยู่ที่บ้านกาญจนาฯ

“นวัตกรรมนี้ไม่ได้มีเวทมนตร์ ที่เสกให้ทุกคนเปลี่ยน แต่ที่นี่ได้ออกแบบกระบวนการที่ปราณีตในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ก้าวเท้าเข้ามาครั้งแรก บรรยากาศจะเป็นอย่างไร จะคุยกันด้วยภาษาแบบไหน และที่น่าตกใจ คือ ห้องน้ำในบ้านกาญจนาฯ ไม่มีคนเขียนกำแพง ขนาดในโรงเรียนยังมี ซึ่งป้ามลอธิบายว่า เป็นเพราะเด็กได้เขียนกันจนพอแล้วในทุกกิจกรรมที่ผ่านการออกแบบอย่างปราณีต สิ่งที่เขาคิดอยู่ในใจ และมีคนที่คอยรับฟัง และการรับฟังนั้นยังเป็นการรับฟังที่เป็นระบบ มีครูประจำบ้าน ที่คอยรับฟังในขั้นแรก มีป้ามลที่คอยรับฟังและตอบกลับในจดหมายที่น้องได้เขียน ทำให้คำพูดของเด็กมีคนได้ยินได้ฟัง”

อรุณฉัตร คุรุวาณิชย์

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ อรุณฉัตร ขอทำวิจัยกับป้ามล เพราะอยากให้สิ่งเหล่านี้ถูกบันทึกอย่างเป็นระบบ และยืนยันผลลัพธ์บางอย่าง จึงปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านการทำวิจัยระดับประเทศ ไม่ต่ำกว่า 5 คน ทุกคนยืนยันว่า ควรเป็นการวิจัยที่ยืนยันผลลัพธ์เชิงประจักษ์ “Evidence Beded Evaluation”

งานวิจัยประเภทนี้ในประเทศไทยไม่ค่อยมี โดยได้เก็บเกี่ยวผลลัพธ์เชิงประจักษ์ที่เกิดขึ้น ณ ตอนนั้น และย้อนหลังกลับไปว่า อะไรที่ทำให้เกิดขึ้น และมายืนยันว่าสิ่งที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบันมีองค์ประกอบอะไรบ้าง การประเมินใช้ตัวแปรอะไร 

‘ป้ามล’ ตัวชี้วัด ที่บ้านกาญจนาฯ

อรุณฉัตร เล่าว่า จากการสัมภาษณ์ป้ามล ในภารกิจที่เข้ามาทำงาน คือ ณ เวลานั้นสังคมไทยกำลังค้นหาว่า จะทำอย่างไร ไม่ให้เด็กกลับไปกระทำผิดซ้ำเมื่อออกไปใช้ชีวิตข้างนอก ซึ่งเป็นโจทย์ที่ใหญ่มาก เพราะการกระทำผิดซ้ำของคนหนึ่ง สร้างความสูญเสียมหาศาล ส่งต่อถึงเหยื่อ ส่งต่อถึงความรู้สึกไม่ดีต่อตัวเองของผู้กระทำ ครอบครัวของเหยื่อ ครอบครัวของผู้กระทำผิดก็เกิดความรู้สึกล้มเหลวทางความรู้สึก วงจรนี้ถูกยุติได้อย่างถาวรหรือไม่ และสถิติที่เกิดขึ้นตอนนั้น ยังพบว่า คนกลับมากระทำผิดซ้ำเกือบครึ่ง และสิ่งที่ป้ามลทำ คือ การออกแบบกระบวนการที่ประณีตและทำงานกับความคิดของคน 

อรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ นักวิจัย และผู้บริหารไลฟ์ เอ็ดดูเคชั่น ไทยแลนด์

โดยสิ่งที่ค้นพบคือ การวางน้ำหนักของวิชาชีวิต มากกว่าการฝึกอาชีพ และการเรียน กลายเป็นกุญแจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในบ้านกาญจนาฯ การออกแบบวิชาชีพให้มีความสำคัญมากกว่า 50% ของชีวิตเด็กที่อยู่ในบ้านกาญจนา แล้ว 50% นี้มาจากไหน ป้ามลบอกว่า มาจากการแบ่งเวลา เหมือนเป็นการจัดตารางเรียนให้เด็ก 5 วันต่อสัปดาห์ แบ่งครึ่งหนึ่ง จำนวนชั่วโมงเด็กต้องได้รับการเรียนรู้ วิชาชีวิต ที่ไม่ใช่การให้คนที่ประสบความสำเร็จมาบรรยาย แต่คือการใช้ชีวิตสอนชีวิต ดึงเอาเรื่องราวที่อยู่ในบริบทโลกใบนี้มาย่อยและเพิ่มทักษะให้เด็ก และตั้งคำถามให้เด็กได้คิดไปทีละจุด และต่อยอดความคิดไปเรื่อย ๆ ให้เกิดการเติบโต ดังนั้น วิชาชีวิตจึงเป็นนวัตกรรมสำคัญของบ้านกาญจนาฯ

สิ่งที่ อรุณฉัตร ค้นพบต่อมา คือ ป้ามลเป็นนักออกแบบนวัตกรรม ที่ออกแบบอย่างไม่หยุดนิ่ง วันแรกที่เข้ามาไม่ได้มาพร้อมกับหลักสูตรตายตัว แต่มาด้วยเจตนาสำคัญ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นองค์ประกอบหนึ่ง ที่ทำให้เกิดนวัตกรรมขึ้นได้

ผลการวิจัย พบว่า กระบวนการทำงานของบ้านกาญจนา ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมอยู่ใน ‘ขั้นสิ้นสุด’ ตามแนวคิดขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม (Transtheoretical model : TTM) สอดคล้องกับ สถิติเด็กที่ผ่านกระบวนการของบ้านกาญจนาฯ มีแนวโน้มกระทำความผิดซ้ำน้อยกว่า 6% ดังนั้นเห็นชัดเจนว่า เป็นกระบวนการที่ช่วยปกป้องสังคม คืนพลเมืองเข้มแข็ง คืนสู่สังคม ได้จริง

โดยแบ่งเป็น 4 ปัจจัยความสำเร็จ ที่เกิดขึ้น คือ

  1. ผู้อำนวยการที่มีความเข้าใจในการพัฒนามนุษย์ด้วยกระบวนการฟื้นฟู มีทักษะการพัฒนานวัตกรรม และมีบุคลิกที่วางใจได้

  2. รูปแบบการกระบวนการ คือการมีกระบวนการวิชาชีวิต ที่สามารถ เปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม และส่งเสริมสุขภาพเด็กและเยาวชนได้ โดยเฉพาะกระบวนการดูคลิป ซึ่งเยาวชนที่ผ่านกระบวนการจะตอบสนองต่อการอธิบายที่เป็นเหตุผล และการควบคุมตัวเองในการแสดงออกเชิงพฤติกรรมมีสูงขึ้น เขาสามารถมองเห็นปัจจัยทางสังคมที่เกาะเกี่ยวกับชีวิตของตนเอง รวมไปถึงการปรับทัศนะที่มีต่อ การกระทำของครอบครัวที่มีต่อตนเอง

  3. สภาวะแวดล้อม ด้วยหลักคิดควบคู่กับหลักปฎิบัติของบ้านกาญจนาภิเษก ที่ เน้นการเปิดโอกาสให้เยาวชนร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ นำไปสู่การกำหนดกติกาหรือข้อตกลงร่วมกัน บนฐานความเชื่อว่าวัยรุ่นไม่ติปฏิเสธเนื้อหาสาระที่ผู้ใหญ่หยิบยื่นให้แต่พวกเขาต้องการ

  4. ปัจจัยเชิงโครงสร้างและการสนับสนุน การทำกระบวนการภายในบ้านกาญจนาภิเษก ทั้งการสนับสนุนปกติจากกรมพินิจฯ การใช้งบประมาณจาก มูลนิธิชนะใจ เพื่อมาใช้ทำงานในกิจกรรมสำคัญ แต่ไม่สามารถเบิกจ่ายตามระบบได้ ทำให้การขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลากหลายกิจกรรมสามารถทำได้ด้วยความราบรื่น 

“ทั้งสี่ปัจจัยข้างต้น จะไม่สามารถยืนดำรงได้ ภายใต้ระบบระเบียบราชการแบบปกติที่มีความแข็งตัวและไม่สอดคล้องกับปัจจัยข้างต้น ดังนั้นการขยายผลการทำงานของด้านการสมาธิพิเศษหลังจากนี้จำเป็นต้องออกแบบโครงสร้างทางกฎหมายมารองรับการทำงานที่ได้ผลและตัดกับปัจจัยข้างต้น เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการทำงานระยะยาว รวมไปถึงการต่อยอดนวัตกรรม หลักสู่บริบทของบ้านหลังคำพิพากษา และพื้นที่ต้นน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

อรุณฉัตร คุรุวาณิชย์

ต้นไม้ไม่โต เราไม่ด่าต้นไม้…
แต่ต้องกลับมาตั้งคำถามว่า รดน้ำ พรวนดิน อย่างไร ?

ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร หรือ หมอโอ๋ กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวช คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ เจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน ยอมรับว่า สิ่งที่ป้ามลทำ คือ การทำให้คนเห็นคุณค่าของตัวเองซึ่งเป็นคุณูปการอย่างมาก น้องที่กระทำความผิด ไม่ว่าจะผ่านอะไรมา เชื่อมั่นว่าคนเหล่านั้นยังมีคุณค่าที่จะพัฒนาตัวเอง และนำไปสู่การพัฒนาประเทศ กระบวนการของป้ามล ไม่ใช่แค่เป็นการเปลี่ยนความคิด แต่เป็นการเปลี่ยนความเชื่อของคน ว่า

“มนุษย์เราผิดพลาดได้ แต่ก็เติบโตได้ เพียงแค่เราหันไปรดน้ำ พรวนดิน กับด้านบวกที่มีในจิตใจเขาทุกคน” 

หมอโอ๋ ยังเล่าอีกว่า ครั้งหนึ่งเคยไปฟังป้ามลพูดเรื่องการทำงานกับเด็ก ทำให้เปลี่ยนมุมมองความคิดต่อเด็กที่เป็นผู้กระทำความผิด จากที่เคยมองเขาเหมือนชาวบ้านทั่วไปว่า ทำไมเขาทำแบบนั้น แต่ป้ามลทำให้คิดได้ว่า จริง ๆ เขาไม่ได้อยากเป็นแบบนั้น แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เขาต้องอยู่ตรงนั้น ทำให้เข้าใจมนุษย์คนหนึ่งว่ามี ทั้งด้านมืด ด้านดี ด้านสว่าง ป้ามลทำให้เห็นว่า ถ้าเชื่อมั่นว่ามนุษย์พัฒนาด้วยด้านสว่างเมื่อนั้นจะเจอคำตอบ 

“ได้มีโอกาสเข้าไปคุยกับเด็กในบ้านกาญจนาฯ ที่กระทำผิดข่มขืนฆ่า 3 ศพ และกระทำผิดซ้ำหลายครั้ง และผ่านบ้านอื่นก่อนมาที่บ้านกาญจนาฯ วันนั้นที่ได้คุยกับเขา สิ่งที่เกิดขึ้นในใจตอนนั้น คือ เรากำลังคุยกับใคร ตอนแรกเรานึกภาพเด็กที่กระทำความผิดในรูปแบบหนึ่ง แต่พอเราคุยกับเขา เราก็คิดว่านี่เราคุยกับประธานนักเรียนอยู่หรือเปล่านะ เขาเป็นเด็กที่พูดดี และเก่งมาก เรารู้สึกว่าเขาเป็นประธานนักเรียนได้เลย ทำให้รู้เลยว่าก่อนที่เราจะมาเห็นเขาวันนี้ เขาผ่านกระบวนการ ของความเชื่อมั่นว่า มนุษย์มีด้านที่เติบโตได้อยู่ในใจ ป้ามลเหมือนคนรดน้ำพรวนดินต้นไม้ ที่ดูจะงอก ไม่งอก แต่ในใจป้ามล เชื่อว่า ต้นไม้นั้นจะรอด และเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ ที่จะเติบโตงอกงามและสร้างความรุ่มเย็นให้กับคนอื่นต่อได้

ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร

ที่ผ่านมา หมอโอ๋ ส่งนักศึกษาแพทย์ ไปดูงานบ้านกาญจนาฯ พวกเขากลับมาพูดว่า เขาได้เปลี่ยนวิธีคิดที่มีต่อวัยรุ่นไปเลย สังคมเข้าใจว่า ต่างคนต่างมีหลายด้าน เราจะเป็นอย่างไร ขึ้นกับสภาพแวดล้อม ต้นไม้ไม่โต เราจะไม่ด่าต้นไม้ แต่เรามาตั้งคำถามถึง การรดน้ำ พรวนดิน อย่างไร

‘หลักคิด’ บ้านกาญจนาฯ ต้องได้รับการปกป้อง  

ไม่ว่างานวิจัย คำพูดจากปากผู้เชี่ยวชาญด้านเด็ก และเยาวชน จนถึงกรณีตัวอย่างเชิงประจักษ์ กลายเป็นคำตอบในตัวเอง ที่โดยส่วนตัวของ ป้ามล แล้วมั่นใจว่า เป็นเหตุผลที่บ้านกาญจนาฯ ควรเดินหน้าต่อ โดยที่ผู้อำนวยการอาจไม่ใช่ป้าก็ได้ เพราะสิ่งที่ทำอยู่ในตัวเด็กของบ้านกาญจนาฯ อยู่ในตัวเจ้าหน้าที่บ้านกาญจนาฯ แต่สิ่งที่ต้องการคือ “ระบบที่จะทำให้ความเชื่อแบบนี้” สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่ได้พูดถึงเรื่องหลักประกันของระบบ

ป้ามล – ทิชา ณ นคร ผอ.ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก

จริง ๆ ป้า อายุ 72 ป้าควรจะพัก ลูกสาวอยากให้ป้าพักเหลือเกิน ที่ร้องไห้เพราะรู้สึกนึกถึงคำพูดของลูกตลอด ลูกรู้สึกได้ว่าพอแล้วหรือยัง อยากพาแม่ไปเที่ยว อยากให้แม่อยู่บ้าน แล้วก็รู้สึกมีความสุขเวลาเห็นแม่ปลูกต้นไม้ ถ่ายรูปดอกไม้ แต่สิ่งที่มันทำให้ความเชื่อนี้ยังไปต่อได้ ซึ่งยังไม่มีใครพูดถึงในผู้ที่มีอำนาจของประเทศนี้ ว่าถึงที่สุดอะไรคือหลักประกันเชิงระบบว่านวัตกรรมที่ถูกค้นพบและมีคุณค่าและมันสามารถที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับเด็ก ๆ นั้น มันอยู่ที่ไหน”

ป้ามล – ทิชา ณ นคร

ป้ามล ยังอ้างถึงคำพูดของ พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ที่บอกว่า “ประชาชนไม่ต้องห่วง สังคมไม่ต้องห่วง ถ้าปิดบ้านกาญจนาภิเษก มีสถานที่เหลือเฟือ ที่จะรองรับเด็กเหล่านี้”

สิ่งนี้ยิ่งทำให้รู้สึกหนักใจว่า ฟังเด็ก ฟังใครต่อใครที่เข้าใจก็อบอุ่นใจ แต่มาฟังอธิบดีฯ ในฐานะผู้มีอำนาจในเชิงนโยบาย รู้สึกว่า นี่คือการตีโจทย์ที่ผิดอย่างมากในเชิงนโยบาย 

“มันไม่ใช่เรื่องของ ห้องน้ำ ไม่ใช่เรื่องของที่นอน ไม่ใช่เรื่องของส้วม ไม่ใช่เรื่องของเสื้อผ้า และอาหาร แต่มันเป็นความรู้สึกของมนุษย์คนหนึ่ง ที่รู้สึกปลอดภัยและรู้คุณค่าในตัวเอง ได้เห็นมุมสว่างของตัวเอง และพร้อมที่จะต่อยอด มุมสว่างนั้นของเครื่องมือที่เราค้นพบทั้งหมด แต่มันไม่เคยถูกให้คุณค่าเลย ตรงนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกได้ว่า จงดื้อรั้นให้นานพอ… ”

ป้ามล – ทิชา ณ นคร

ป้ามล ยอมรับ ไม่ได้อยากดื้อกับใคร เพราะรู้ดีว่าเวลาดื้อจะมีคนเกลียดชัง แล้วเอาเรื่องไปผูกมัดรวมกับเรื่องที่ไม่ควรผูกมัด แต่ว่าบางที นี่อาจจะเป็นราคาที่ต้องจ่ายเพื่อสังคมนี้ ดังนั้นจึงขอยืนยันว่า ตราบใดที่ไม่สามารถอธิบายได้ว่า อะไรที่รองรับระบบหรือนวัตกรรมที่ค้นพบ และเป็นหลักประกันที่แท้จริงว่าจะถูกปกป้อง ไม่ใช่ปกป้องป้ามล แต่ปกป้องระบบที่ป้ามลค้นพบ

“เราต้องพูดถึงจุดนั้นกันให้ได้ก่อน ถ้าตรงนี้ยังไม่ถูกพูด เราไม่อาจประนีประนอมได้ เพราะจะเข้ากับว่าเรากำลังสปอยล์รัฐที่มีอำนาจล้นเหลือ ป้ายืนยันได้ว่า ถึงที่สุด พื้นที่ทุกแห่งในประเทศนี้โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นของรัฐ แต่เราต้องดื้อเพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้เราได้รู้ว่า อย่าทำอย่างนี้กับประชาชน กับผู้คนที่เขามีส่วนได้เสีย แน่นอนถึงที่สุดแล้วป้าก็คงต้องไป แต่การต่อสู้จะช่วยให้คนที่ตามมารุ่นหลัง ได้มีพื้นที่ต่อสู้อย่างไม่ติดลบ อย่างน้อยที่สุดถ้าเขาได้ไปค้นหาเรื่องราวเหล่านี้ที่ถูกฝังกลบ แต่ก็ยังพบว่ามีเรื่องราวและร่องรอยให้เขาได้ไปต่อ” 

ป้ามล – ทิชา ณ นคร

“ทุกวันนี้คนที่รัก คนในครอบครัว อยากให้ถอย อยากให้กลับบ้าน ลูกสาวมีเงินเดือนพอที่จะเลี้ยงแม่ได้” แต่ ป้ามล เอ่ยปากว่า ทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะตอนนี้อายุ 72 ปี อายุมากพอที่ถึงจะบาดเจ็บอีกสักกี่ครั้งก็สามารถรับมือได้ ถ้าหากปล่อยคนรุ่นหลังต่อสู้อาจจะทำได้ยาก และหากถามว่าจะไปต่ออย่างไร ต้องมาไล่ป้าถึงบ้านกาญจนาฯ 

ไม่ได้อยู่เพื่อต้องการเงินเดือน แต่อยู่เพื่อจะประกาศว่า จะมาทำลายลูกหลานรุ่นหลังไม่ได้ มาทำลายความฝันความเชื่อของเด็กไม่ได้ มีหลายคนด่าป้าในสื่อออนไลน์ ว่าอายุขนาดนี้แล้วยังไม่เจียมตัว ไม่ได้คิด ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องเจียมตัวหรือไม่เจียมตัว ยืนยันได้ว่าป้าจะไม่ประนีประนอมกับรัฐ แม้ว่าป้าจะอยู่ในบ้านกาญจนาซึ่งเป็นของรัฐโดยสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าถามว่าจะไปต่ออย่างไร ป้ายังไม่ไป ไม่ใช่ว่าหน้าด้าน แต่นี่คือการปกป้อง หลักคิดที่เราค้นพบ และมันถูกรับช่วงต่อ ไม่ถูกต่อยอด” 

ป้ามล – ทิชา ณ นคร

ด้วย ‘หัวใจ’ ที่โอบอุ้มเด็กทุกคน

The Active ยังชวน ป้ามล สนทนาต่อถึงการมีเด็กทุกคน ทุกรุ่นอยู่ในความทรงจำ ทำให้ความสัมพันธ์ของป้ามลกับเยาวชนบ้านกาญจนาฯ ไม่ใช่ครู นักเรียน หรือคนที่อยู่ภายใต้การควบคุม แต่เป็นเหมือนครอบครัวเดียวกัน นั่นทำให้ทุกคนที่พ้นโทษออกไปสู่สังคม และกลายเป็นคนดีของสังคม แลัะไม่เคยลืมที่จะหวนกลับมาหาบ้านกาญจนา ซึ่ง ป้ามล บอกว่า ทำงานกับเด็กซึ่งเขาเป็นคนที่ไร้ตัวตน ไร้แสง ไร้เงา ในสังคมขนาดใหญ่ เขาคือผู้แพ้ พื้นฐานของการทำงานจึงต้องสร้าง Empower ให้เขา ให้เขารู้สึกว่าตัวเขามีอยู่จริงจับต้องได้ ซึ่งมันไม่ใช่แค่การจำชื่อได้ 

“แค่การจำชื่อได้ เด็กก็ตื่นเต้นมากแล้ว ยิ่งบอกกับเราเลยว่าเขาไร้ตนจริง ๆ ในสถานที่ใด สถานที่หนึ่งที่เขาเคยผ่านมา ดังนั้นสิ่งที่ป้ามลจะต้องทำให้ได้เลยก็คือ จำลายมือเด็กให้ได้ จำเสียงให้ได้ อย่างเบนซ์ จะมีอยู่อย่างหนึ่งที่เป็นสัญลักษณ์ในงานเขียนของเขา จะจบท้ายด้วยคำว่า บุญรักษา พระคุ้มครอง การจดจำแบบนี้ทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเอง อย่างน้อยที่สุดเขามีค่ามาก ในสายตาของป้า ซึ่งต้องเริ่มจากจุดเล็ก ๆ ตรงนี้ก่อน แล้วมันจะกลายเป็นแรงบันดาลใจ ให้เขาเพิ่มความหมายนี้ไปเรื่อย ๆ”

“เรายังค้นพบด้วยว่าหลักการนี้ลงทุนน้อยได้ผลมาก เพราะเด็กบางคนต้องการเป็น Some Body ใน Some Where เป็นใครสักคนในหัวใจของใครสักคน”

ป้ามล – ทิชา ณ นคร

สิ่งหนึ่งที่ทำให้สามารถจดจำเด็กได้ก็คือมาจากงานเขียนของพวกเขา เป็นสิ่งที่กลับมาเจียระไนป้ามล ที่ทำให้ได้ค้นพบเรื่องราวมากมายในชีวิต และครอบครัวของเด็ก ที่เขาเอามาเขียน เช่น บันทึกประจำวันก่อนนอนของเด็กคนหนึ่งที่เขียนว่า “พ่อของผมชอบพูดแต่ความสำเร็จของตัวเองซ้ำ ๆ ผมเลยกลัวพ่อ ก็เลยไม่คุยกับพ่อ ไม่รู้นานกี่ปีแล้วที่ไม่ได้คุยกันจนวันที่ผมไปฆ่าคน” สิ่งที่เด็กเขียนกลายเป็นพลังสำหรับป้ามล ทำให้เกิดความระมัดระวังตัวเองในการพูดคุยกับเด็ก ว่า ควรทำอะไร หรือไม่ควรทำอะไร 

“เราไม่ได้อ่านเพียงเพราะว่าเป็นงานเขียน แต่เราอ่านเพราะมันมีเนื้อหาสาระ มากกว่าตำราที่เราเรียนมา มีงานเขียนหนึ่งบอกว่าเวลาพ่อแม่ทะเลาะกัน ผมอยากหายตัวได้ แต่ผมทำแบบนั้นไม่ได้ พอผมออกมาข้างนอกเพื่ออยากที่จะให้เสียงทะเลาะนั้นมันหายไป ผมเจอว่าเด็กหลายคนข้างนอกเป็นเหมือนผมเยอะเลย ดูสิ ทำไมป้าจะจำสิ่งนี้ไม่ได้ พอเราอ่านบันทึกของเขาเสร็จเราได้เจอเขา เรารู้สึกว่านี่ไม่ใช่คนคนหนึ่งที่หน้าตาแบบนี้ แต่มันคือเรื่องราวมีบาดแผลบางอย่างอยู่ในใจเขา แล้วมันทำให้เราระมัดระวังตัวเองมากขึ้น แล้วเราจะโบยตี หรือ โอบกอดเขา สิ่งนี้สำคัญมาก”

ป้ามล – ทิชา ณ นคร ฝากทิ้งท้าย