กะเบอะดิน : ป่าต้นน้ำ นาขั้นบันได และเหมืองแร่ถ่านหิน

“กะเบอะดิน” ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์ ตั้งตระหง่านอยู่กลางหุบเขาที่โอบล้อมไปด้วยป่าสมบูรณ์ เป็นส่วนหนึ่งของป่าสงวนแห่งชาติป่าอมก๋อย

.

มนต์เสน่ห์ของวัฒนธรรมชาติพันธุ์ ประกอบกับวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม สะกดให้ผู้ที่เข้าไปในพื้นที่ต้องหลงใหล คนในชุมชนยังพึ่งพิงธรรมชาติเพื่อมีชีวิตอยู่ มีป่าเป็นตู้กับข้าว เป็นธนาคารสมุนไพรขนาดใหญ่ และเป็นที่อยู่อาศัยใช้หลับนอน

กลางเขามีต้นไม้น้อยใหญ่ สลับกันชูคอรับแสงและอากาศ ที่นี่เป็นป่าเบญจพรรณบนเขาสูง อีกทั้งเป็นป่าน้ำซับซึม หรือที่เรียกกันอย่างเข้าใจง่าย ๆ คือ “ป่าต้นน้ำ” มีความสมบูรณ์ของดิน รวมไปถึงอากาศที่เหมาะแก่การเพาะปลูก ที่นี่จึงทำเกษตรได้ตลอดทั้งปี

นอกฤดูทำนาขั้นบันไดหรือไร่หมุนเวียน ที่นี่ปลูก “มะเขือส้ม” หรือ “มะเขือเทศ” ซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจส่งออก สร้างอาชีพ และรายได้หลักแสนให้กับคนที่ “กะเบอะดิน”

The Active ชวนดูความมหัศจรรย์ของ “กะเบอะดิน” หมู่บ้านที่อยู่บนทางเลือก หากแม้นชาวบ้านที่นั่นยังเลือกได้ ระหว่างพื้นที่เกษตรกรรมเช่นเดิม หรือเป็นที่ตั้งของโครงการเหมืองแร่ถ่านหิน #อมก๋อย
รอยยิ้ม ต้อนรับจากเจ้าบ้าน 
.
ท่าทางเขินอาย เผยรอยยิ้มที่เป็นมิตรออกมา ลักษณะการแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง มีผ้าโผกผม และเครื่องประดับ ตามข้อมือและหู รวมถึงรอยสักที่นิ้วมือของผู้หญิง และต้นขาของผู้ชาย ส่วนมากรอยสักแบบนี้เราจะเห็นได้จากผู้เฒ่าในชุมชน นี่คือภาพที่สะดุดตา 
.
นี่ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่คือความหลากหลายของวิถีวัฒนธรรม
กล่องยาสูบ หรือ ไปป์ 
.
ปัจจุบันชาวบ้านที่นี่ ยังคงสูบไปป์ ก่อนหรือระหว่างทำงาน เป็นตัวช่วยประคองร่างกายให้สู้กับแดดระหว่างวัน ที่ต้องทำไร่ทำสวน 
.
ในหนังสือ “กะเบอะดิน ดินแดนมหัศจรรย์” ระบุ ไว้ว่าการสูบยาโดยใช้ไปป์ กลายเป็นภาพจำอีกหนึ่งกิจกรรม ที่สะท้อนวิถีชีวิตของคนบนดอยที่คุ้นตา
วิถีชีวิตของชาวบ้านที่นี่เปลี่ยนไปแล้ว ตั้งแต่ที่พวกเขารู้ว่าจะมีการทำเหมือง 
.
จากที่ต้องตื่นมาเพื่อทำเกษตร เลี้ยงปากท้องคนในครอบครัว เขาต้องตื่นมาพร้อมกับความกังวล และหัวใจที่เข้มแข็ง พร้อมจะสู้กับสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า คือ “การรุกราน”
มะเขือส้ม หรือ มะเขือเทศ คือ พืชเศรษฐกิจส่งออกของ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ และที่กะเบอะดินก็เป็นแหล่งผลิตสำคัญ ด้วยเพราะ ดิน น้ำ อากาศที่เหมาะสม ทำให้ที่นี่สามารถปลูกมะเขือเทศได้ถึงปีละ 3 ครั้ง และมะเขือเทศเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างอาชีพและรายได้หลักให้กับคนที่นี่ 
.
หากปีไหนมะเขือเทศราคาดี พวกเขาได้รายได้ตกปีละเกือบแสนบาท ต่อหนึ่งครอบครัว
ชุมชนกะเบอะดิน มี “ลำห้วยผาขาว" และ "ลำห้วยมะขาม” เป็นต้นน้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงผู้คนและพื้นที่การเกษตร  ลำห้วยที่เป็นต้นน้ำทั้ง 2 สายจะไปบรรจบกันที่แปลงมะเขือเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่ทำเกษตรชั้นดี และเป็นพื้นที่เดียวกันกับที่ชาวบ้านชี้ว่าจะมีการทำเหมือง จากนั้นจะไหลลงไปบรรจบกับลำห้วยอีกนับสิบ ก่อนไปรวมกันแม่น้ำเมยที่ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน 
.
ด้วยการไหลของสายน้ำเช่นนี้ จึงสร้างความกังวลให้กับชาวบ้านว่าหากมีเหมือง ผลกระทบอาจจะมหาศาลกับอีกหลายชีวิต
“ป่า” เป็นปัจจัยการดำรงชีวิตของชาวกะเหรี่ยง รวมถึงที่กะเบอะดินด้วย นับตั้งแต่ การเกิด การแก่ และสลายกลายเป็นธุลี ทุกช่วงชีวิตล้วนผูกผันกับผืนป่า
.
2 ปีที่ผ่านมานี้ ชาวบ้านจัดงานบวชป่า ส่งมอบความรักอันบริสุทธิ์ไปยังขุนเขา ป่าไม้ ลำธาร รวมไปถึงแผ่นดินบรรพบุรษ ที่อยู่อาศัยและทำกินมาหลายชั่วอายุคน อีกนัยหนึ่ง เป็นการแสดงออกเพื่อให้ทุกคนได้เห็นและเข้าใจว่าพวกเขาไม่ต้องการเหมือง ที่จะเข้ามาทำลายสถานที่อันเป็นจิตวิญญาน
ชุมชนกะเบอะดิน ถูกค้นพบแร่ถ่านหิน (Sub-bituminous coal) ซึ่งใช้เป็นเชื้อเพลิงในการทำอุตสาหกรรมมานานแล้ว
.
แต่เมื่อราว 2 ปีก่อน ชาวบ้านเพิ่งรู้ข้อมูลการขอทำประทานบัตรเหมืองแร่ถ่านหินในพื้นที่บ้านกะเบอะดิน ซึ่งมีการยื่นคำขอประทานบัตรมาตั้งแต่ปี 2543 
.
การยื่นขอประทานบัตรทำเหมืองถ่านหิน กินพื้นที่ประมาณ 284 ไร่  มีชุมชน 2 แห่ง อยู่ในรัศมี 1 กิโลเมตร คือ “บ้านกะเบอะดิน” และ “บ้านขุน”
.
ชาวบ้านจึงกังวลว่าหากมีเหมืองอาจมีผลกระทบต่อวิถีชุมชนที่เป็นเอกลักษณ์ และผลกระทบด้านสุขภาพ จากมลพิษทางอากาศ และการปนเปื้อนในแหล่งน้ำ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในหลายพื้นที่
กว่า 3 ทศวรรษ มีความคืบหน้าของโครงการ มีการจัดทำ EIA และการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว 2 ครั้ง เหลืออีกเพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น
หากเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้ายถูกจัดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ สิ่งที่ชาวบ้านกังวลก็อาจจะเกิดขึ้น อย่างปฏิเสธไม่ได้
.
ชาวบ้านและเยาวชนในพื้นที่จึงตัดสินใจร่วมกันทำฐานข้อมูลชุมชน แผนที่ชุมชน เพื่อที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรองไม่ให้โครงการเหมืองเข้ามาทำลายความอุดมสมบูรณ์ ที่เป็นบ้านของพวกเขา