ชุมชน ทรัพยากร และความหวัง

คุณเชื่อว่าชุมชนคุณมีความหวังไหม?

มีความหวังว่าจะมีชีวิต มีความหวังว่าจะสร้างงานสร้างเงิน มีความหวังว่าจะมีชีวิตอย่างมีความสุขที่บ้านจนแก่ไปได้หรือไม่ ในสภาวะที่สังคม และระบบต่างกระจุกความเจริญให้เป็นแม่เหล็กดูดคนไปที่จุดเดียว หลายคนหอบกระเป๋า หิ้วย่าม หอบความหวัง เดินทางออกจากบ้านเพื่อไปตามแรงดึงดูดของแม่เหล็กความเจริญนั้น

แต่การเดินทางของทีม The Active ต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ค้นพบว่ายังมี ผู้คนและพื้นที่ ที่ยังมีหวังกับชุมชนของเขาอยู่ ด้วยการออกแบบการใช้ทรัพยากรที่มีในชุมชนเพื่อสร้างงานและรายได้ ดึงคนที่ออกจากบ้านไปหาเงิน กลับมาใช้ภูมิปัญญาและทรัพยากรที่มีในชุมชนเพื่อสร้างมูลค่า
ห้วยตองก๊อ ต.ห้วยปูลิง อ.เมือง จ.แม่อ่องสอน  เป็นชุมชนขนาดเล็กตั้งอยู่ท่ามกลางภูเขาหลายลูก มีประชากรประมาณ 26 หลังคาเรือน  ประชากรส่วนมากของที่นี่เป็นวัยกลางคนและผู้สูงอายุที่อยู่บ้านคนเดียว  โดยทำอาชีพเกษตรกรแบบดั้งเดิม    ขณะที่เด็กและคนรุ่นใหม่ ส่วนมากออกไปเรียนและทำงานต่างถิ่น ซึ่งชาวบ้านมองว่าสิ่งนี้กำลังสะท้อนความไม่แข็งแรงของชุมชน
จุดแข็งของชุมชนคือการมีทุนทรัพยากรที่สามารถสร้างให้เกิดมูลค่าได้เพียงแต่ติดที่ไม่มีกำลังของคนรุ่นใหม่มาช่วยส่งเสริม ตอนนี้จึงมีแนวคิดที่จะดึงคนรุ่นใหม่ ให้กลับไปอยู่ที่บ้านด้วยการพยายามที่จะสร้างงานและสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นในชุมชน จากทรัพยากรที่มีในชุมชน  โดยหวังว่า นี่จะเป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะดึงคนที่ออกไปกลับมาบ้าน
ปี 2532  โครงการพัฒนาที่สูงเยอรมัน (TG)  มีเป้าหมายในการปราบ ‘ฝิ่น’ โดยส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจใหม่อย่าง กาแฟ เพื่อสร้างอาชีพ  และปรากฎว่าผลตอบรับดี   กลายเป็นความหวัง ส่งเสริมให้คนในชุมชนปลูก โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะไม่เน้นเรื่องของปริมาณแต่จะเน้นเรื่องของคุณภาพ เพื่อความมั่นคงระยะยาว
จอวา-อนุพงษ์  เดชไพรพนา  อายุ 23 ปี   เขากลับมาอยู่ที่บ้านและกำลังหาค้นหาตัวตนว่าชอบอะไร เขาจึงเรียนรู้ทุกอย่างที่มีอยู่ในชุมชนก่อน อย่างตีมีด จักสาน รวมถึง “กาแฟ”  ซึ่งเริ่มมีการพัฒนามาบ้าง
 “ผ้าทอ” อีกหนึ่งภูมิปัญญาของคนที่นี่  ซึ่งส่งต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น  ความน่าสนใจของผ้าทอที่นี่คือการย้อมสีผ้าที่ใช้ทอ จากต้นไม้ ดอกไม้ รอบ ๆ หมู่บ้าน อาทิ ต้นปิ้งขาว หรือ ต้นนางแย้ม ผลของต้นตองก๊อ
อุดมพร วงศ์อุดมไพรพนา  เป็นชาวชุมชนห้วยตองก๊อที่สนใจทำเรื่องผ้า เล่าว่าก่อนหน้านี้เธอทำงานอยู่ที่เชียงใหม่แล้วรู้สึกว่าไม่สนุกจึงตัดสินใจกลับมาอยู่ที่บ้าน และสนใจเรื่องผ้าจึงคาดหวังว่า ภูมิปัญญานี้จะสามารถสร้างงานและสร้างรายได้ให้เธอและชุมชนได้
ตีมีดแบบโบราณ ภูมิปัญญาเดิมที่ยังมีให้เห็นอยู่ในชุมชน ห้วยตองก๊อ เป็นหนึ่งในอาชีพที่สร้างรายได้ แต่ส่วนมากคนที่ตีมีดจะเป็นคนสูงอายุในชุมชน คนในชุมชนจึงพยายามรักษาสิ่งนี้ไว้ด้วยการถ่ายทอดให้กับคนรุ่นใหม่ที่สนใจ