ตาไหม…จน กับ แก่ อะไรตายก่อนกัน

ในซอกหลืบของเยาวราช ย่านตลาดน้อย “ตาไหม” เคยเป็นคนแบกถ่าน ขนฟืนส่งร้านทอง และร้านอาหารสตรีทฟู๊ดชื่อดังระดับโลก เขาคือส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในเมืองใหญ่ แต่แสงสว่างไม่เคยส่องถึง

หลายสิบปีก่อน ตาไหม หยุดชีวิตเร่ร่อนมาอาศัยศาลเจ้าโจวซือกง จนกระทั่งสามารถเช่าบ้านเล็ก ๆ อยู่กับครอบครัว เขามีอาชีพขนถ่าน เก็บของเก่า และรับจ้างทั่วไป เพราะเป็นคนอัธยาศัยดี ซื่อสัตย์ ทำให้เขาเป็นที่รู้จักของคนในย่านตลาดน้อย เยาวราช และสำเพ็ง

เมื่อไหร่ที่คนในชุมชนต้องการแรงงาน ตาไหมจึงมักได้รับการจ้าง แต่งานรับจ้างก็ไม่สม่ำเสมอ นอกจากรายได้ที่ไม่แน่นอน บ้านที่เช่าอยู่ก็ไม่มั่นคงเช่นกัน ยิ่งการท่องเที่ยวเติบโตมากเท่าไร เขาต้องย้ายบ้านบ่อยขึ้น เพราะเจ้าของที่ดินก็ต้องการพัฒนาที่ของตัวเอง

ในวัย 63 ชายชราที่ต้องพาหลานอีก 4 คนให้อยู่รอด ในซอกหลืบเยาวราช ย่านตลาดน้อย เมืองที่ไม่เคยปรานีกับคนจน “ไม่รู้ว่า จน กับ แก่ อะไรจะตายก่อนกัน”...

(คลิก...ที่ภาพ อ่านเรื่องราวชีวิต "ตาไหม")


ภาพของ “ตาไหม” หอบถุงใบใหญ่ ที่ภายในมีขวดพลาสติก และของเก่าเหลือใช้จากละแวกตลาดน้อยริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เชื่อมต่อกับเยาวราช ทรงวาด และชุมชนใกล้ ๆ เป็นภาพชินตาของผู้คนที่นั่น
ในวัย 63 ปี ตาไหมจัดได้ว่ายังแข็งแรงกว่าค่าเฉลี่ยของคนในวัยเดียวกัน มองจากภายนอกสามารถเห็นถึงมัดกล้ามได้อย่างชัดเจน ขณะที่ทรงผมอันเป็นเอกลักษณ์ย้อมสีเหลืองทองยิ่งทำให้สังเกตเห็นได้มาแต่ไกลแม้ในยามค่ำคืน
“เมื่อก่อน ผมไปหาของขายไกลกว่านี้ เดินไปถึงแถวโรงพยาบาลกลางโน่น เดี๋ยวนี้ไม่ได้ไปไกล อาศัยเดินแถวนี้ บางทีพวก​ร้านค้าเขาก็เก็บไว้ให้เรา” ตาไหม เล่าถึงชีวิตการทำงานทุกวันนี้

รายได้จากการเก็บของเก่าขายไม่แน่นอน พอได้ค่ากับข้าวแบบวันต่อวัน ทำให้ต้องอาศัยรายได้หลักจาก “ป้าตุ๊ก” คู่ชีวิต มาจ่ายค่าบ้าน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จำเป็น เงินเดือน 9,000 บาท ในตำแหน่งแม่บ้านของโรงเรียนแห่งหนึ่ง ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน ทำให้ป้าตุ๊กต้องรับจ้างทำงานบ้านเป็นอาชีพเสริมในวันหยุด จึงจะเพียงพอกับค่าใช้จ่าย
“ทุกวันนี้เงินเดือนป้าออก ป้าจะเก็บไว้จ่ายค่าน้ำค่าไฟ และค่าเช่าบ้านก่อนเป็นอันดับแรก เหลือจากนั้นคือค่ากิน และให้หลานสาวไปโรงเรียนนิดหน่อย” ป้าตุ๊ก แจงรายจ่ายให้ฟัง
ความกังวลของตาไหม และป้าตุ๊กไม่ใช่เรื่องรายรับที่ไม่พอกับรายจ่าย แต่เป็นเรื่องอนาคตของพวกเขา เมื่อมีข่าวว่าที่ที่นายทุนแบ่งให้เช่าอยู่ในปัจจุบัน จะไม่ได้รับการต่อสัญญาออกไปในอีกไม่เกิน 2 ปี
สาเหตุการไม่ต่อสัญญาของนายทุนเจ้าของที่ เพราะมูลค่าทางเศรษฐกิจ และการเติบโตของการท่องเที่ยวที่เข้ามา ทำให้เจ้าของที่ดินเห็นถึงโอกาสทำกำไรที่มากกว่า เมื่อเทียบกับการปล่อยเช่าให้ในราคาไม่กี่พัน
บางคนเริ่มมองหาที่อื่นอยู่ แต่ ตาไหม และครอบครัว อยู่ที่นี่มาเป็นสิบ ๆ ปี ก็ไม่รู้จะไปไหน เพราะอาศัยเก็บของเก่าขาย และรับจ้างทำทุกอย่างให้กับผู้คนแถวนี้ไปแล้ว
ทั้งตาไหม และป้าตุ๊ก ทำงานหากินอยู่ตรงพื้นที่นี้ มานานจนทั้งคู่ยังคิดไม่ออกเลยว่า ถ้าต้องย้ายจริง ๆ พวกเขาจะไปอยู่ที่ไหน
กระแสความเจริญและการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นกับชุมชนเก่า ส่งผลดีโดยตรงต่อเจ้าของที่ดิน และทรัพย์สิน ในบางกรณีหมายถึงการพลิกชีวิตของชุมชนที่ซบเซาให้กลับมีชีวิตชีวา สร้างงาน สร้างอาชีพ แต่กับบางคนที่ต้นทุนชีวิตมีไม่มากนัก นอกจากจะไม่ได้รับประโยชน์ การพัฒนายิ่งจะผลักคนอย่างตาไหมและป้าตุ๊ก จนตกขอบของความเป็นมนุษย์ลงไปเรื่อย ๆ
“ทุกวันนี้ผมไม่ได้หวังอะไรมาก ไม่คิดว่าจะรวยอะไรแล้ว ชีวิตก็ประมาณนี้ อยู่ให้ง่ายกินให้ง่าย แค่นี้ก็ยากแล้ว” ตาไหม ส่งท้ายประโยคด้วยเสียงหัวเราะในแบบของเขา

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active