เส้นทาง(สุดท้าย)ชีวิต คนหลีเป๊ะ

จากกรณีพิพาทเส้นทางสัญจรสาธารณประโยชน์ ชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล ที่เอกชนซึ่งถือเอกสารสิทธิที่ดิน อ้างกรรมสิทธิ์ที่ดินสร้างรั้วปิดกั้นทางเข้าออกโรงเรียน รวมถึงเส้นทางที่ชาวเลยืนยันว่าเป็นทางเดินสาธารณะดั้งเดิมที่ชาวเลและผู้คนบนเกาะใช้ประโยชน์ร่วมกันมาแต่ดั้งเดิม

The Active ลงพื้นที่สำรวจถึงความจำเป็นของผู้คนบนเกาะที่ใช้ถนนเส้นดังกล่าวร่วมกัน โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอูรักลาโว้ย ซึ่งพบว่า เส้นทางนี้ เป็นเส้นทางสุดท้ายแห่งวิถีชีวิตของพวกเขา
ไซ หรือ ลอบ ดักปลา คืออุปกรณ์จับปลาตามวิถีดั้งเดิมชาวเลอูรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล  ชาวเลที่นี่บอกว่าในอดีตไซจะทำด้วยไม้ไผ่ทั้งหลัง แต่ปัจจุบันใช้ไม้หวายและเพิ่มความคงทนแข็งแรงด้วยการร้อยลวด
แต่ความกว้างของไซ โดยเฉพาะไซดำ หรือไซน้ำลึก ที่มีขนาดกว้างมากกว่า 2 เมตร และความยาวกว่า 3 เมตร  ความสูงประมาณ 2 เมตรครึ่ง ทำให้ต้องใช้ "เส้นทาง" ที่กว้างพอให้ขนย้ายไซออกไปจับปลา  หรือนำไซกลับมาซ่อมแซมได้
โดยเหลือเพียงเส้นทางเดียว คือบริเวณทางเข้า-ออกหาดซันไรซ์ ทางทิศตะวันออก ซึ่งผ่านพื้นที่เอกชนอ้างกรรมสิทธิ์เท่านั้น เพราะปัจจุบันบริเวณหน้าหาดล้วนถูกปิดล้อมด้วยรีสอร์ทที่พักต่าง ๆ จนแทบไม่เหลือทางเดินลงหาด
โดยชาวเลยังคงยืนยันถนนเส้นดังกล่าว เป็นทางสาธารณะประโยชน์ที่ใช้มาแต่ดั้งเดิม
ส่วนเส้นทางอื่น ๆ ที่เหลือ อย่างเส้นทางจากชุมชนตูโป๊ะ  ผ่านโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเกาะหลีเป๊ะ เข้าข้างโรงเรียนบ้านเกาะอาดัง หรือโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะอีกฝั่ง  ไม่สามารถขนไซ โดยเฉพาะไซดำที่มีขนาดใหญ่ได้ เพราะทางแคบ   ขณะที่ทางออกหาดทางทิศตะวันตกที่ต้องผ่านไปทางถนนคนเดิน มีข้อจำกัดเพราะเป็นเส้นทางที่มีรถแท็กซี่ รถขนของ และนักท่องเที่ยวสัญจรกันทั้งวัน ดังนั้น เส้นทางผ่านพื้นที่พิพาทออกสู่หน้าหาดซันไรซ์ จึงเป็นเส้นทางเดียวที่เหลืออยู่และสำคัญต่อวิถีชีวิตชาวเล
ไซ คือ อุปกรณ์จับปลาตามวิถีดั้งเดิมที่ชาวเลยังใช้อยู่ เป็นเครื่องมือประมงที่สอดคล้องกับทิศทางการอนุรักษ์  ไม่จับปลาตัวเล็ก
ตาอวนรอบไซมีขนาดใหญ่ 3-4 นิ้ว  จะจับเฉพาะปลาตัวใหญ่ เป็นเครื่องมือเลี้ยงปากท้อง และให้นักท่องเที่ยว ผู้บริโภค ได้เข้าถึงอาหารทะเลสด ๆ ปลอดภัย
หาดซันไรซ์ในวันที่แทบไม่มีเรือจอดแน่นดังเช่นปกติ  เป็นภาพที่ปรากฏในช่วงที่มีพายุฝนลมแรงปะทะเข้าทางทิศตะวันออก  ชาวเลต้องรีบนำเรือไปจอดหลบที่ทิศตะวันตก บริเวณที่ชาวเลเรียกว่าหลังเกาะ หรือหาดพัทยา   ชาวเล บอกว่า นี่เป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อนว่า เส้นทางที่เกิดข้อพิพาท เป็นเส้นทางสำคัญ ที่ชาวเลในชุมชนต่าง ๆ ทั้ง ตูโป๊ะ ปาดัก สิเข่ง อูเส็น ปาไต กาลาห์ จะใช้เป็นเส้นทางออกมาดูเรือ และย้ายเรือ
จากการสังเกต จะเหลือเรือเพียงไม่กี่ลำที่จอดอยู่หน้าหาดซันไรซ์ เป็นเรือของชาวเลที่มีบ้านติดหน้าหาด 6 หลัง ที่ยังไม่ย้ายเรือ เพราะยังสามารถเฝ้าดูเรือของตนเองได้ตลอด พวกเขาบอกว่า เมื่อก่อนชาวเลล้วนมีขนำเฝ้าเรือติดหน้าหาดแบบนี้กันหมด แต่ปัจจุบันถูกบีบให้ไปอยู่ด้านในทั้งหมด  ส่วนอีก 6 หลังที่อยู่กันตรงนี้ ก็มีปัญหาพิพาท ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจากเอกชนที่อ้างกรรมสิทธิ์
นอกจากเป็นเส้นทางหลัก เส้นทางสำคัญที่ชาวเลใช้เพื่อดำรงวิถีชีวิต ถนนเส้นนี้ ยังเป็นเส้นทางที่เด็กนักเรียน ใช้เดินทางมายังโรงเรียน  โดยจะเชื่อมกับเส้นทางข้างโรงเรียนที่ถูกเอกชนที่อ้างกรรมสิทธิ์เชื่อมรั้วปิดอีกจุด ซึ่งเกิดประเด็นความขัดแย้งและการเผชิญหน้าก่อนหน้านี้
The Active ยังพบว่าเส้นทางนี้ เป็นเส้นทางที่ผู้คนบนเกาะ ใช้ขนขยะ มาลงเรือที่จะมารับขยะไปจัดการนอกเกาะ
โดยเส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่ผู้คนบนเกาะ ใช้ขนขยะ มาลงเรือที่จะมารับขยะไปจัดการนอกเกาะ
และยังเป็นเส้นทางที่เรือขนส่งสินค้า ขนสินค้าและของจำเป็นต่าง ๆ เข้ามายังเกาะ
ที่สำคัญ เป็นเส้นทาง ที่นักท่องเที่ยวใช้เพื่อเข้า-ออกหาดแทบทั้งวัน
ศาลมีคำสั่งให้ชาวเลพร้อมพวก 12 คน รื้อเสาเหล็ก เต็นท์ผ้าใบและลวดตาข่ายดักปลาที่กั้นทางพิพาทออกชั่วคราว   ด้านชาวเลเตรียมยื่นหนังสือชี้แจงต่อศาลว่าไม่ได้ปิดพื้นที่ แต่ตอนนั้นเป็นการออกมาคัดค้านการปิดเส้นทางสาธารณะ
ขณะที่เอกชนเจ้าของพื้นที่ ยืนยันมีเอกสารสิทธิ์แสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินผืนดังกล่าว รวมถึงที่ดินที่ชาวเลยืนยันเป็นทางสาธารณประโยชน์ที่ผู้คนบนเกาะใช้ร่วมกัน พร้อมขึ้นป้ายที่ดินแปลงนี้อยู่ในขั้นตอนกระบวนการพิจารณาของศาลจังหวัดสตูล
ขณะที่บรรยากาศภายหลัง อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและคณะลงพื้นที่ตรวจสอบ ยังไม่มีการเผชิญหน้ากันของชาวบ้านและเจ้าของพื้นที่ซึ่งอ้างกรรมสิทธิ์  ไม่มีการมาสร้างแนวรั้วปิดกั้นพื้นที่เพิ่ม  ผู้คนบนเกาะยังใช้เส้นทางสัญจรนี้  โดยก่อนหน้านี้(เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.65 ) รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ได้มอบหมายนายอำเภอเมืองเจรจากับทุกฝ่าย โดยเฉพาะเอกชน เพื่อยุติความขัดแย้งและการเผชิญหน้า และอยู่ระหว่างการเตรียมตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิสูจน์สิทธิ์ และแก้ไขปัญหาข้อพิพาทที่ดินดังกล่าว รวมถึงภาพรวมปัญหาที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะ

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ