เปิดออฟฟิศ…ป่าหย่อมกลางกรุง งานหนักของธรรมชาติ รักษาสมดุลเมือง

วันธรรมดาวันหนึ่งของมหานครที่เร่งรีบ บรรดาสิ่งมีชีวิตในป่าหย่อมกลางกรุงกำลังทำหน้าที่รักษาสมดุลระบบนิเวศ โดยที่ไม่มีใครสังเกตเห็น

ข้อมูลในปี 2560 เผยว่า ใน กรุงเทพฯ มีต้นไม้ยืนต้นกว่า 3 ล้านต้น ส่วนใหญ่เป็นไม้ล้อม ไร้รากแก้ว และมีสุขภาพย่ำแย่ หากไม่ได้รับการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญ อาจยืนต้นตาย ล้มโค่น ก่ออันตรายต่อชีวิต และทรัพย์สิน

ระบบนิเวศที่หลากหลายจึงไม่อาจวัดได้ด้วยจำนวนพื้นที่สีเขียวเพียงอย่างเดียว แต่ยังอาศัยความเข้าใจของมนุษย์ เพื่อให้สิ่งมีชีวิตอย่างต้นไม้ สัตว์ และเมืองที่ไม่มีชีวิต อาศัยอยู่ร่วมกันได้อย่างเกื้อกูล

The Active ตามดู กลุ่ม BIGTrees ชวนคนเมืองมาเงยหน้ามองยอดไม้ใหญ่ใจกลางเมือง สัมผัส ดม ชิม เพื่อเรียนรู้ถึงบทบาทของสรรพสัตว์ และพืชพรรณน้อยใหญ่ พร้อมย้อนถามตัวเองในฐานะมนุษย์ว่า “เราจะออกแบบเมืองให้ทุกชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างไร ?”


ในวัยที่กำลังเรียนรู้ เด็กน้อยจึงขอส่องมองภาพผ่านกล้อง เพื่อมองหาสิ่งมีชีวิตที่อยู่ไกลบนยอดไม้ ให้ใกล้ตามากขึ้น
"กิ้งก่าสวน" – แมลงศัตรูพืช คืออาหารของพวกมัน นั่นทำให้กิ้งก่าสวน ถือเป็นพนักงานฝ่ายควบคุมปริมาณภายในสวน
"ดอกทองอุไร" และ "แมลงภู่" – โปรเจคต์ร่วมของแผนกผสมเกสรพืช เพื่อเพิ่มดอกผลให้กับต้นไม้ในสวน
"ต้นอ่อนของต้นกระทิง" – เด็กฝึกงานหน้าใหม่ กำลังไต่เต้าเป็นพนักงานอาวุโส ที่จะให้ร่มเงา และเป็นแหล่งอาหารแก่แมลงผสมเกสร
"จักจั่น" – ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช ด้วยการเติมสารอาหารสู่ดินเมื่อมันตาย
"เมล็ดมะกล่ำต้น" – ทีมกระจายพันธุ์พืชผ่านการถูกพัดพาหรือนำไปโดยสัตว์
"ตั๊กแตนหนวดสั้น" – เจ้าหน้าที่ควบคุมปริมาณพืชโดยการบริโภคใบไม้
"เต่าญี่ปุ่น" – ผู้อาวุโสฝ่ายควบคุมประชากรสัตว์น้ำขนาดเล็กในระบบนิเวศน้ำจืด
"นกกางเขนบ้าน" – ฟรีแลนซ์นอกออฟฟิศ รับจ้างการควบคุมปริมาณแมลงและสัตว์ขนาดเล็กในสวน
"กิ้งกือ" - ฝ่ายสาธารณะประโยชน์ในระบบนิเวศ ทำหน้าที่ย่อยสลายเศษซากพืช ใบไม้ ลูกไม้ ให้กลายเป็นแร่ธาตุอาหารกลับคืนสู่ธรรมชาติ
"ผึ้งหลวง" – พนักงานผสมเกสรดอกไม้  "ด้วงก้นกระดก" – พนักงานกำจัดแมลงศัตรูพืชและซากอินทรียวัตถุในดิน แต่เป็นภัยต่อมนุษย์หากคิดบี้มัน
ก่อนจะเห็นตัวเป็น ๆ ด้วยสายตา ก็ต้องหยิบคู่มือศึกษานกชนิดต่าง ๆ ขึ้นมาทำความเข้าใจกันก่อน เพื่อช่วยให้ผู้ร่วมเดินสำรวจในสวนรู้จักพวกมันได้มากยิ่งขึ้น
  ทีมงาน BigTrees สอดส่อง สำรวจสิ่งมีชีวิตภายในสวนล่วงหน้า เพื่อคอยชี้เป้าให้แก่ผู้ร่วมกิจกรรม
วิธีการทำความเข้าใจธรรมชาติ ไม่ได้มีแค่เล่าให้ฟัง การทดลอง “ชิม” รสชาติของใบไม้ ก็เป็นอีกวิธีการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น
เมื่อสายตาได้สังเกตเห็นสิ่งมีชีวิตในสวนที่น่าสนใจ อีกมือก็ค่อย ๆ วาดภาพเหมือนลงในสมุดจด เป็นอีกวิธีจดจำธรรมชาติในแบบฉบับของตัวเอง
เพื่อทำความรู้จักกับพืชพรรณต่าง ๆ ให้ดีมากขึ้น ทีมงาน BigTrees จึงคอยให้คำแนะนำ หลากหลายสิ่งที่พบได้จากธรรมชาติรอบตัว

Author

Alternative Text
AUTHOR

พีรดนย์ ภาคีเนตร

เฝ้าหาเรื่องตลกขบขันในชีวิต แต่พบว่าสิ่งที่ตลกที่สุดคือชีวิตเราเอง

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

ชญาดา จิรกิตติถาวร

เปรี้ยว ซ่า น่ารัก ไม่กินผัก ไม่กินเผ็ด