“15 ปี 19 กันยา : 15 ปี ใต้เงารัฐประหาร”

The Active ชวนทบทวน 15 ปี การเมืองไทย ผ่าน 9 บุคคลในกงล้อประวัติศาสตร์ของพลเมือง ที่ไม่เพียงย้อนเหตุการณ์ในวันครบรอบ 15 ปี วันรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แต่นำเรื่องราวในอดีต สร้างการเรียนรู้ เพื่อเข้าใจปัจจุบัน

และมองไปสู่อนาคต กับ 9 เรื่องเล่า 7 บทสัมภาษณ์

  • ทักษิณ ชินวัตร
  • สนธิ ลิ้มทองกุล
  • สมบัติ บุญงามอนงค์
  • นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์
  • ชวรงค์ ลิมปัทมปาณี
  • สุณัย ผาสุข
  • พลีธรรม ตริยะเกษม
  • ศิริพร ฉายเพ็ชร
  • และ พีท ภูริพัฒน์

แว่นขยายเหตุการณ์แต่ละด้านจะเปิดออก เพื่อทำความเข้าใจว่าสถานการณ์การเมือง สื่อมวลชน สิทธิมนุษยชน และการมีส่วนร่วมของพลเมืองเปลี่ยนไปเพียงใด พร้อมฟังเสียงพลเมืองของอนาคตที่เติบโตภายใต้การรัฐประหารถึงสองครั้ง เพื่อเป้าหมายสำคัญคือการรักษาไว้ซึ่งหลักการประชาธิปไตย ไม่ให้ประวัติศาสตร์ฉายซ้ำ

ติดตามเรื่องราวผ่าน 7 บทสัมภาษณ์ทาง The Active 17 – 20 กันยายน 2564 นี้

🕰️ทบทวนเหตุการณ์ ตลอดระยะเวลา 15 ปีของการเมืองไทย ไปพร้อมกัน

🚩พ.ศ. 2544 – 2548

จุดเริ่มต้นทางการเมืองของชายที่ชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” ในฐานะนายกรัฐมนตรี เกิดขึ้นพร้อมกับชัยชนะในการเลือกตั้งสองครั้ง ในปี 2544 และ ปี 2548 สร้างปรากฏการณ์จัดตั้งรัฐบาลด้วยพรรคการเมืองเดียวเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

🚩พ.ศ.2548

ภายใต้คะแนนนิยมมหาศาลของทักษิณ ยังคงมีกลุ่มคนซึ่งไม่เห็นด้วยและพยายามต่อต้านการทำหน้าที่ โดยมีบุคคลสำคัญอย่าง “สนธิ ลิ้มทองกุล” สื่อมวลชนรุ่นใหญ่ เริ่มต้นจัดรายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร” หลังจาก “รายการเมืองไทยรายสัปดาห์” หลุดจากผังรายการช่อง 9 เนื้อหาจึงเน้นไปที่การโจมตีทักษิณทั้งหมด

🚩กุมภาพันธ์ 2549

การทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ของทักษิณไม่สามารถไปได้ตลอดรอดฝั่ง แม้แรงต้านในสภาก็ไม่อาจทานกำลังรัฐบาลได้ แต่มวลชนนอกสภาที่เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ทักษิณตัดสินใจยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง

🚩 พ.ศ. 2549
แต่การยุบสภาไม่สามารถลดอุณหภูมิของความขัดแย้ง และตอบสนองต่อการชุมนุมที่ยกระดับมากขึ้นเป็นกลุ่ม “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” หรือกลุ่ม “คนเสื้อเหลือง” ที่ไม่อาจยอมรับต่อการเลือกตั้งในระบบเดิม

🚨🪖19 กันยายน 2549

เมื่อความขัดแย้งรุนแรงก่อร่างสร้างตัวขึ้น การชุมนุมอันยาวนานส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจหยุดชะงัก การเลือกตั้งเดินต่อไม่ได้ มีการบอยคอตล้มการเลือกตั้ง จึงนำไปสู่การแก้ปัญหานอกระบอบประชาธิปไตย ด้วยการ “รัฐประหาร” ที่มี พลเอก สนธิ บุณรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะ อันเป็นจุดสิ้นสุดรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร

🚩พ.ศ. 2549

แม้การรัฐประหารจะเป็นไปอย่างราบรื่น ปราศจากการใช้อาวุธต่อสู้ขัดขืน แต่ก็ยังมีกลุ่มซึ่งไม่เห็นด้วยต่อการรัฐประหาร แสดงออกเพื่อต่อต้านอย่างต่อเนื่อง ทั้ง เครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร, กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ, กลุ่มโดมแดง หรือ เครือข่ายนิสิตจุฬาเพื่อเสรีภาพ เป็นต้น

🚩พ.ศ. 2550

มีการก่อตั้ง “แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ” หรือ นปก. โดยเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อต่อต้านรัฐประหาร พ.ศ. 2549 และขับไล่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. กับ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ยุติการชุมนุมหลังจากที่พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้ง

🚩ธันวาคม 2550

พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้ง หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ทำให้ สมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ถูกข้อครหาว่าเป็นพรรคตัวแทนของทักษิณ และเกี่ยวข้องกันทางผลประโยชน์ จึงทำให้ชนะการเลือกตั้ง

🚩พ.ศ. 2551

กลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งเคยดำเนินการเคลื่อนไหวก่อนเหตุการณ์รัฐประหาร กลับมาชุมนุมอีกครั้ง เพื่อกดดันให้นายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช และสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ออกจากตำแหน่ง ส่งผลให้มีการปิดล้อมท่าอากาศยานนานาชาติหลายแห่ง จนกระทั่งเที่ยวบินทุกเที่ยวหยุดทำการ ในเวลานั้นมีนักเศรษฐศาสตร์ คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะสูญเสียเงินกว่า 4,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากการปิดสนามบินของกลุ่มพันธมิตรฯ

🚩 พ.ศ. 2552 – 2553

แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. จากเดิมคือ นปก. กลับมาชุมนุมเคลื่อนไหวครั้งใหญ่เพื่อขับไล่รัฐบาล หลังมีการเปลี่ยนขั้ว โดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาเป็นนายกรัฐมนตรี จนเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเรื่อยมา จนล่วงเข้าปี 2553 การชุมนุมใหญ่ของ นปช. เกิดขึ้นเพื่อเรียกร้องให้อภิสิทธิ์ยุบสภา กระทั่งมีเหตุการณ์สลายการชุมนุมในวันที่ 10 เมษายน และ 19 พฤษภาคม

🚩สิงหาคม 2554

ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2554 พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง ได้จำนวน ส.ส. 265 ที่นั่ง นับเป็นครั้งที่สองในประวัติศาสตร์ไทยที่พรรคการเมืองพรรคเดียวครองเสียงข้างมากในสภา โดยมี “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรีถัดจากอภิสิทธิ์

🚩พฤศจิกายน 2556

จุดเปลี่ยนความขัดแย้งให้ทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อพรรคเพื่อไทยเสนอ ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม แก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. … หรือที่เรียกว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบสุดซอย นำไปสู่การคัดค้านจากพรรคประชาธิปัตย์ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ทักษิณ

🚩พฤศจิกายน 2556

นอกจากแรงต้านในสภาแล้ว จะมีการชุมนุมประท้วงของประชาชนนอกสภาจากการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว มีนักวิชาการ เครือข่ายนิสิต นักศึกษา กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย หรือ คปท. ที่เป็นแยกตัวออกมาเคลื่อนไหวอย่างเป็นเอกเทศตามแนวทางของตน จากกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ หรือ กปท. และยังมีกลุ่มนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย

แต่ตัวแปรสำคัญคือ สุเทพ เทือกสุบรรณ ได้นำการรวมกลุ่มของ กปปส. เพื่อคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แม้ภายหลังยิ่งลักษณ์ จะประกาศถอนร่างดังกล่าวก็ตาม แต่การชุมนุมก็ไม่ได้ยุติลง และนำไปสู่การยุบสภาของรัฐบาล ตลอดจนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อสมาชิกภาพนายกรัฐมนตรีอีกด้วย

🚨🪖22 พฤษภาคม 2557

จนในที่สุดก็นำมาสู่การรัฐประหารในประเทศไทย อีกครั้ง โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ รัฐประหารท่ามกลางวิกฤตการณ์การเมืองที่ยืดเยื้อยาวนาน และทำให้ พลเอก ประยุทธ์ ยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่บัดนั้น จนถึงปัจจุบัน

📌 แล้วตลอด 15 ปีที่ผ่านมา เราทำอะไรกันอยู่บ้าง ?

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์