กลางดึกของวันที่ 3 ธ.ค. 2567 การประกาศใช้กฎอัยการศึกของ ยุน ซอกยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ สร้างเสียงฮือฮาและความตกตะลึงไปทั่วโลก โดยยุนได้อ้างเหตุการณ์ภัยคุกคามของกองกำลังคอมมิวนิสต์ของเกาหลีเหนือ และเพื่อกำจัดกลุ่มคนที่ต่อต้านรัฐ นอกจากนี้ นับเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 4 ทศวรรษที่เกาหลีใต้ปัดฝุ่น นำกฎอัยการศึกกลับมาใช้งานหลังจากใช้ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2523 อย่างไรก็ตาม กฎอัยการศึกดังกล่าวถูกยุติอย่างรวดเร็วผ่านกลไกรัฐสภาที่โหวตเสียงข้างมากยับยั้งเป็นเอกฉันท์ ด้วยผู้เข้าร่วมประชุม 190 คน จาก 300 คน
สถานการณ์ดังกล่าวข้ามน้ำข้ามทะเลมาถึงประเทศไทย โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ หนึ่งในนั้นพูดว่า “ในขณะที่คนเกาหลีใต้กำลังเสิร์ชหาว่ากฎอัยการศึกคืออะไร คนไทยกลับรู้ดีเพราะเคยพบเจอมาบ่อย” สะท้อนความถี่การประกาศใช้กฎอัยการศึกในบ้านเมืองของเรา ซึ่งเป็นหนึ่งในผลพวงจากการก่อรัฐประหาร
The Active ชวนผู้อ่านสำรวจการประกาศใช้กฎอัยการศึกของทั้งสองประเทศ เริ่มตั้งแต่ปี 2475 หรือปีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย ว่าทั้งสองประเทศประกาศกฎอัยการศึกมาก-น้อยแค่ไหน เราอยู่กับเหตุการณ์เหล่านี้มานานเท่าไหร่ และประกาศใช้ด้วยเหตุผลอันใดบ้าง
ไทยใช้กฎอัยการศึก 15 ครั้ง เกินครึ่งเพราะรัฐประหาร
เทียบกับประเทสเกาหลีแล้ว ประเทศไทยมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกที่มากกว่าเกือบเท่าตัว ทั้งหมด 15 ครั้ง หรือประกาศใช้กฎอัยการศึก 1 ครั้งทุก ๆ 6.2 ปี (ตั้งแต่ 2475 ถึง 2567 รวม 93 ปี) โดยแบ่งเป็น
- ประกาศเพื่อควบคุมสถานการณ์หลังการรัฐประหารทั้งหมด 8 ครั้ง แบ่งเป็นรัฐประหารรัฐบาลอื่น ๆ 7 ครั้ง และการรัฐประหารตัวเอง 1 ครั้ง ในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร
- ประกาศเพื่อควบคุมเหตุการณ์อื่น ๆ 7 ครั้ง เช่น การปราบกบฏ 2 ครั้ง (กบฏบวรเดช และกบฏแมนฮัตตัน) ยามสงคราม 2 ครั้ง (สงครามอินโดจีน และสงครามเอเชียบูรพา) สถานการณ์ความรุนแรง 2 ครั้ง (ในพื้นที่ชายแดนใต้) การปราบปรามการประท้วง 1 ครั้ง (การประท้วงของกลุ่ม กปปส.)
วันที่ประกาศ | ผู้ประกาศใช้ | สถานที่ประกาศใช้ | สาเหตุ |
12 ต.ค. 2476 | พระยาพหลพลพยุหเสนา | มลฑลกรุงเทพฯ และมลฑลอยุธยา | กบฏบวรเดช |
7 ม.ค. 2484 | จอมพล ป. พิบูลสงคราม | 24 จังหวัด (เชียงราย น่าน อุตรดิตถฺ เลย ชัยภูมิ อุดรธานี หนองคาย ขอนแก่น นครพนม ร้อยเอ็ด มหาสารคาม สกลนคร นครราชสีมา อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา นครนายก ระยอง ชลบุรี จันทบุรี และตราด) | สงครามอินโดจีน |
10 ธ.ค. 2484 | จอมพล ป. พิบูลสงคราม | ทั่วประเทศ | สงครามเอเชียบูรพา |
30 มิ.ย. 2494 | จอมพล ป. พิบูลสงคราม | พระนครและธนบุรี | กบฏแมนฮัตตัน |
16 ก.ย. 2500 | จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ | ทั่วประเทศ | รัฐประหารรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม |
20 ต.ค. 2501 | จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ | ทั่วประเทศ | รัฐประหารรัฐบาลพล.อ.ถนอม กิตติขจร |
17 พ.ย. 2514 | จอมพลถนอม กิตติขจร | ทั่วประเทศ | รัฐประหารตัวเอง |
6 ต.ค. 2519 | พล.ร.อ.สงัด ชะลออยู่ | ทั่วประเทศ | รัฐประหารรัฐบาลม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช (ภายหลังเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาฯ) |
20 ต.ค. 2520 | พล.ร.อ.สงัด ชะลออยู่ | ทั่วประเทศ | รัฐประหารรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร |
23 ก.พ. 2534 | พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ | ทั่วประเทศ | รัฐประหารรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ |
5 ม.ค. 2547 | พล.ท.พงษ์ศักดิ์ เอกบรรณสิงห์ กองทัพภาคที่ 4 (รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร) | 8 อำเภอใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ | สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ |
26 ม.ค. 2547 | พล.ท.พงษ์ศักดิ์ เอกบรรณสิงห์ กองทัพภาคที่ 4 (รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร) | 16 อำเภอใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ | สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ |
19 ก.ย. 2549 | พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน | ทั่วประเทศ | รัฐประหารรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร |
20 พ.ค. 2557 | พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กองทัพบก (รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) | ทั่วประเทศ | ปราบปรามการประท้วง (กลุ่ม กปปส.) |
22 พ.ค. 2557 | พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา | ทั่วประเทศ | รัฐประหารรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร |
โดยการประกาศกฎอัยการศึกถูกใช้มากที่สุดในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จำนวน 3 ครั้งซึ่งมีสาเหตุมาจากควบคุมเหตุการณ์อื่น ๆ ทั้งหมด รองลงมาคือสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ พล.ร.อ.สงัด ชะลออยู่ ซึ่งประกาศใช้คนละ 2 ครั้ง และใช้ภายหลังการรัฐประหารทั้งหมด
การประกาศใช้ส่วนใหญ่เป็นการประกาศทั้งประเทศ รวม 10 ครั้ง (จากการรัฐประหาร 8 ครั้ง สงครามเอเชียบูรพา 1 ครั้ง และปราบปรามการประท้วง 1 ครั้ง) และมีการประกาศบางพื้นที่อีก 5 ครั้งตามแล้วแต่สถานที่ที่เกิดเหตุการณ์
เกาหลีใต้ใช้กฎอัยการศึก 10 ครั้ง ครึ่งหนึ่งเพื่อปราบปรามการประท้วง
ในขณะที่เกาหลีใต้ นับตั้งแต่การก่อตั้งสาธารณะรัฐเกาหลีเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2491 มีการใช้กฎอัยการศึกรวมไม่น้อยกว่า 10 ครั้ง หรือประกาศใช้กฎอัยการศึก 1 ครั้งทุก ๆ 7.7 ปี (ตั้งแต่ 2491 ถึง 2567 รวม 77 ปี) โดยแบ่งเป็น
- ประกาศเพื่อควบคุมสถานการณ์หลังการรัฐประหารทั้งหมด 3 ครั้ง แบ่งเป็นรัฐประหารรัฐบาลอื่น ๆ 2 ครั้ง และการรัฐประหารตัวเอง 1 ครั้ง ในสมัยพัก จองฮี
- ประกาศเพื่อควบคุมเหตุการณ์อื่น ๆ อีก 7 ครั้ง โดยเป็นการปราบปรามการประท้วง 5 ครั้ง
วันที่ | ผู้ประกาศใช้ | สาเหตุ |
21 ต.ค. 2491 | อี ซึงมัน (ซึงมัน รี) | ปราบปรามการประท้วง (นำโดยคอมมิวนิสต์บนเกาะเชจู) |
2493 – 2495 | อี ซึงมัน (ซึงมัน รี) | สงครามเกาหลี |
19 เม.ย. 2503 | อี ซึงมัน (ซึงมัน รี) | ปราบปรามการประท้วง (การปฏิวัติ 19 เม.ย.) |
16 พ.ค. 2504 | พัค จองฮี | รัฐประหาร |
3 มิ.ย. 2507 | พัค จองฮี | ปราบปรามการประท้วง (ขบวนการต่อต้านการเจรจาเกาหลี-ญี่ปุ่น) |
17 ต.ค. 2515 | พัค จองฮี | รัฐประหารตัวเอง |
26 ต.ค. 2522 | ชเว คิวฮา (รักษาการ ปธน.) | เหตุการณ์ลอบสังหาร ปธน. พัก จองฮี |
12 ธ.ค. 2522 | ชุน ดูฮวาน | รัฐประหาร |
17 พ.ค. 2523 | ชุน ดูฮวาน | ปราบปรามการประท้วง (การสังหารหมู่ที่ควังจู) |
3 ธ.ค. 2567 | ยุน ซอกยอล | อ้างสถานการณ์ความไม่สงบ ปกป้องจากภัยคุกคามของกองกำลังคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือ กำจัดกลุ่มต่อต้านรัฐ |
การใช้กฎอัยการศึกของเกาหลีใต้ส่วนใหญ่มาจากฝั่งเผด็จการทหาร (ได้แก่ อี ซึงมัน, พัก จองฮี และชุน ดูฮวาน) ใช้ เพื่อปราบปรามการประท้วงและเพื่อควบคุมสถานการณ์หลังการรัฐประหารโดยเฉพาะ
ล่าสุดคือการประกาศใช้ของ ปธน. ยุน ซอกยอล ซึ่งถือเป็นปธน. จากการเลือกตั้งคนแรกที่ใช้กฎอัยการศึกและเว้นห่างจากการใช้ในครั้งก่อนหน้าถึง 44 ปี แม้ว่าจะอ้างถึงสถานการณ์ความไม่สงบจากภัยคอมมิวนิสต์ แต่ฝ่ายค้านของเกาหลีใต้กลับมองว่าการประกาศดังกล่าวเป็น “การรัฐประหารโดยพฤตินัย” และรัฐสภาทำการโหวตเพื่อยกเลิกกฎอัยการศึกภายในเวลาไม่ถึง 3 ชั่วโมง สะท้อนให้เห็นกลไกการถ่วงดุลอำนาจที่แข็งแรง และความเข้มแข็งของ สส. และประชาชนในการหยุดกระบวนการใด ๆ ก็ตามที่ขัดขวางประชาธิปไตยในเกาหลีใต้
เทียบกฎอัยการศึกไทย-เกาหลีใต้ ต่างที่อำนาจยกเลิก
โดยรวมเนื้อหาของกฎอัยการศึกทั้งสองประเทศมีสาระสำคัญที่คล้ายคลึงกัน โดยประกาศใช้เมื่อมีเหตุรุนแรง เช่น สงคราม จลาจล เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย โดยให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารในการระงับหรือยับยั้งเหตุ สิ่งที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดคือประเทศเกาหลีใต้มีกลไกที่ช่วยถ่วงดุลและตรวจสอบว่า ฝ่ายบริหารใช้กฎอัยการศึกชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ผ่านการโหวตยกเลิกในรัฐสภา ในขณะที่ประเทศไทยไม่ได้มีกลไกถ่วงดุลตรงนี้
ไทย | เกาหลีใต้ | |
สาเหตุการประกาศ | เมื่อมีเหตุจำเป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย | เมื่อมีความจำเป็นทางทหาร รักษาความมั่นคงสาธารณะและความสงบเรียบร้อย |
ประกาศเมื่อ | เมื่อมีภัยจากภายนอกหรือภายในราชอาณาจักร มีสงคราม หรือจลาจล | เมื่อมีสงคราม หรือความไม่สงบเรียบร้อยในสังคมอย่างร้ายแรง ซึ่งขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่บริหารและตุลาการของรัฐ |
ผู้ประกาศใช้ | – ประกาศพระบรมราชโองการ – ผู้บังคับบัญชาทหาร (ประกาศแล้วต้องรีบรายงานให้รัฐบาลทราบ) | ประธานาธิบดี (ประกาศแล้วต้องรีบรายงานให้รัฐสภาทราบ) |
ยับยั้ง / ยกเลิก | ประกาศพระบรมราชโองการ | สมาชิกรัฐสภาโหวตยกเลิกด้วยคะแนนเสียงข้างมาก และประธานาธิบดีประกาศยกเลิก |
ตัวอย่างอำนาจ | – จนท.ทหาร มีอำนาจเหนือ จนท.พลเรือน – จนท.ทหารมีอำนาจตรวจค้น ยึด – กักตัวบุคคลที่สงสัยได้ 7 วันโดยไม่ต้องขออำนาจศาล – ศาลทหารพิจารณาพิพากษาคดีอาญา | – กำหนดมาตรการพิเศษเพื่อจับกุม กักขัง ควบคุมสื่อ ห้ามรวมตัว – การจำกัดอำนาจของฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ – ศาลทหารมีอำนาจพิพากษาเบ็ดเสร็จ |
เสนอไทยทบทวน รัฐสภาควรมีอำนาจถ่วงดุลเช่นกัน
วันที่ 4 ธ.ค. 2567 ภายหลังเหตุการณ์การประกาศกฎอัยการศึกในเกาหลีใต้ รังสิมันต์ โรม สส.พรรคประชาชน สะท้อนปรากฏการณ์ดังกล่าว เสนอให้สร้างความเข้มแข็งของประชาธิปไตยไทยผ่านกลไกต่าง ๆ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปรับปรุงกฎอัยการศึกที่ให้อำนาจนายทหารระดับสูง รวมไปถึง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ควรมีอำนาจถ่วงดุลผ่านรัฐสภา เปิดให้รัฐสภาตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารได้
รังสิมันต์ ระบุว่า พรรคประชาชนมีการยื่นแก้ไขร่างกฎหมายไว้ เช่น ร่าง พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน ปรับปรุงแก้ไขให้อำนาจรัฐสภาเกี่ยวกับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยให้อำนาจฝ่ายบริหาร 7 วัน หากมากกว่านั้นต้องขออนุญาตจากรัฐสภาพร้อมชี้แจงแผนวิธีการ
“จะเห็นว่าบทบาทของรัฐสภา (เกาหลีใต้) มีความเข้มแข็งอย่างมาก คิดว่าเรื่องนี้เป็นโอกาสที่ดีที่ไทยจะนำมาทบทวนถึงกลไกภายใน ต้องยอมรับความจริงว่าประเทศของเรามีการรัฐประหารบ่อยครั้ง … ดังนั้นควรใช้โอกาสนี้ทบทวนตัวเอง”
รังสิมันต์ โรม
อ้างอิง
- รัฐธรรมนูญ 2560 (ไทย)
- พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 (ไทย)
- รัฐธรรมนูญ (เกาหลีใต้)
- กฎหมายกฎอัยการศึก (เกาหลีใต้)
- การใช้กฎอัยการศึกในเกาหลีใต้
- South Korea’s martial law saga: From Rhee to Yoon, a legacy of power crises | World News – Business Standard
- A history of martial law in South Korea in Associated Press photographs – ABC News
- การบังคับใช้กฎหมายพิเศษในจังหวัดชายแดนใต้ : กรณีศึกษาพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช 2457 โดยสำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
- ตารางเปรียบเทียบระหว่าง พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ
- “โรม” ยกโมเดลรัฐสภาเกาหลีใต้ ทบทวน การเมือง-รัฐประหารไทย | Thai PBS News ข่าวไทยพีบีเอส