ในวันที่ประชากรโลกมีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เข้าสู่หลัก 2 ล้านคน และมีผู้ติดเชื้อในสหรัฐอเมริกามากที่สุด แตะ 639,055 คน หรือ มากกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดทั่วโลก อาจเป็นเรื่องไม่เหนือการคาดการณ์ หากดูจากปฏิกิริยาและการรับมือต่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ในช่วงแรก
แม้แต่ประเทศไทยเอง คำกล่าวที่ว่า “เหมือนไข้หวัดทั่ว ๆ ไป” อาจเป็นคำอธิบายที่ช่วยให้เข้าใจลักษณะของโรคได้ง่ายที่สุดสำหรับประชาชน แต่เวลาผ่านไป คำอธิบายจากแพทย์และองค์การอนามัยโลก ก็ยืนยันหนักแน่นว่าโควิด-19 “ไม่ใช่ไข้หวัดทั่ว ๆ ไป” แต่เพราะความใหม่ของโรค ก็คงพออภัยให้ได้ หากมาตรการรับมือในขั้นถัดมานั้น “ทันท่วงที” และประคองสถานการณ์ ควบคุมโรคได้
หากบอกว่า เพราะไทยใกล้จีน ทั้งในแง่ความสัมพันธ์และระยะทาง ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อเร็ว และรับมือได้เร็ว ก็คงไม่ผิดนัก รวมถึงวัฒนธรรมบางอย่าง ที่ถูกหยิบยกมาอธิบาย ทำให้ประชาชนที่พอจะปกป้องตัวเองได้ ขวนขวายหาอุปกรณ์มาป้องกันตัว โดยไม่รอข้อสรุปในทางวิทยาศาสตร์ และอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยและหลายประเทศในเอเชีย สามารถชะลอตัวเลขผู้ติดเชื้อได้เป็นระยะ ๆ
แต่ในโลกฝั่งตะวันตก ทั้งยุโรปและอเมริกา การอธิบายความเฉพาะของโรคโควิด-19 ต้องใช้เวลานาน เพราะวัฒนธรรมการไม่สวม Mask หรือหน้ากากอนามัย รวมถึงการทักทายแบบสัมผัสร่างกาย จับมือ กอด หรือแก้มชนแก้ม
ส่วนสาเหตุสำคัญในระดับนโยบาย คือ มาตรการของรัฐบาลกลางที่ไม่ชัดเจน เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา โดยเฉพาะในอเมริกา ที่มลรัฐต่าง ๆ บังคับใช้มาตรการไม่เข้มข้นและไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ส่วน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็มีทีท่าและมอบนโยบายแตกต่างกันแทบทุกครั้งที่มีการแถลงข่าว
ยังไม่นับรวมความพร้อมด้านสาธารณสุข ทั้งชุดตรวจหาเชื้อที่มีไม่พอสำหรับท้องถิ่น ส่งผลให้การตรวจและการติดตามตัวผู้เข้าข่ายติดเชื้อทำได้อย่างล่าช้า
นี่ทำให้ สื่อออนไลน์รายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา อย่าง Vox.com พยายามหาเหตุผลเพื่ออธิบายว่าทำไมโควิด-19 จึงแตกต่างกับไข้หวัดใหญ่ เพื่อสื่อสารกับประชาชนในประเทศ
Vox เริ่มต้นอธิบายด้วย ค่าอาร์นอท (R0) หรือ อัตราการระบาดพื้นฐาน (Basic reproductive number) โดยนำโรคระบาดอย่าง โรคหัด, โรคไวรัสซิกา (มีไข้ เป็นผื่น เจ็บที่ข้อต่อ และตาแดง ในบางรายอาจก่อให้เกิดโรคอัมพาต), ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล และโรคโควิด-19 มาอธิบายเพื่อให้เห็นความแตกต่าง
– โรคหัด (Measles) สามารถแพร่เชื้อได้ 12-18 คน
– โรคไวรัสซิก้า (Zika fever) 6.6 คน
– ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (Flu) 1.3 คน
– โควิด-19 แพร่เชื้อได้ 2.5 คน
แม้โควิด-19 จะมีอัตราการระบาดพื้นฐาน หรือค่าอาร์นอท ที่น้อยกว่าโรคหัดและโรคไวรัสซิกา แต่ก็มีค่าอาร์นอทมากกว่าไข้หวัดใหญ่ ประมาณเพียง 1 เท่าตัว แต่ลักษณะการแพร่กระจายของโรค เป็นตัวกระตุ้นให้สามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งแตกต่างกับไข้หวัดใหญ่โดยสิ้นเชิง
“เมื่อนำมันมาเทียบกับไข้หวัดใหญ่ เราเหมือนจะปลอบใจตัวเองได้ แต่น่าเสียดายที่มันไม่ใช่แบบนั้นเลย แต่ละปี คนเป็นหมื่นในอเมริกา ตายเพราะไข้หวัดใหญ่ แต่โรคใหม่นี้ เรายังเจอมาไม่ถึงปีเลย เพิ่งผ่านไปไม่กี่เดือน ปัญหากำลังจะมา เราคาดการณ์มันได้ และเราเห็นเลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นในระดับหนึ่ง” Brian Resnick : Vox senior science reporter
ในทุก ๆ ปี ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ทำให้ชาวอเมริกันเสียชีวิต 60,000 คน แต่เวลาไม่ถึง 3 เดือน มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 แล้ว 30,925 คน
“ระยะการฟักตัว” ถูกนำมาอธิบายให้เห็นความแตกต่างระหว่างไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 ได้มากขึ้น เพราะไข้หวัดใหญ่ใช้เวลาฟักตัวเพียง 2 วันหลังจากได้รับเชื้อ เมื่อเริ่มมีอาการป่วย ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการรักษา แต่โควิด-19 หลังจากได้รับเชื้อ กว่าจะเริ่มแสดงอาการป่วย มักจะใช้เวลาถึง 5 วัน หรืออาจอยู่ได้นานถึง 12 – 14 วัน เท่ากับว่า ระหว่างที่ยังไม่แสดงอาการและสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติ และเป็นพาหะแพร่เชื้อได้
“ไม่มีภูมิคุ้มกันของมนุษย์คนไหน เคยเจอไวรัสนี้มาก่อน ไม่มีใครมีภูมิคุ้มกันนี้” นั่นก็หมายความว่า หากนับจากวันที่มีการพบผู้ติดเชื้ออย่างเป็นทางการรายแรกในจีน วันนั้น ไม่มีมนุษย์คนไหนในโลก เคยมีภูมิคุ้มกันจากโรคโควิด-19 ในขณะที่ไข้หวัดใหญ่ คนจำนวนหนึ่งมีภูมิคุ้มกัน ทั้งจากการรับวัคซีนมาก่อนและเคยรับเชื้อมาแล้ว จึงมีระบบภูมิคุ้มกันหมู่ ช่วยระงับการแพร่เชื้อไข้หวัดใหญ่ เพราะจะแพร่เชื้อให้เฉพาะคนที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันเท่านั้น แต่โควิด-19 มนุษย์ทุกคนในโลก มีโอกาสเป็นผู้รับเชื้อเท่า ๆ กัน และแน่นอนว่ามีคนจำนานมากแทบไม่รู้เลยว่าตัวเองติดเชื้อ เมื่อมาสัมผัสกับคนอื่น ก็สามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว เป็นไฟลามทุ่ง
อีกปัจจัยหนึ่ง คือ ความแตกต่างของอัตราผู้เสียชีวิต นั่นก็เพราะมีผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในอัตราที่มากกว่าผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ ที่มีเพียง 2 % แต่โควิด-19 ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมากถึง 20-30 % กระทบต่อความสามารถของระบบสาธารณสุขที่จะรองรับได้ ขณะที่นักวิทยาศาสตร์คาดว่าอัตราการเสียชีวิต น่าจะอยู่ที่ 1-3 % ในขณะที่ไข้หวัดใหญ่ ต่ำกว่า 0.1 %
ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านระบาดวิทยาของอเมริกา พยายามอธิบายให้รัฐสภาเข้าใจว่า “คนชอบพูดกันว่าไข้หวัดใหญ่ ก็ทำให้เป็นแบบนั้น แบบนี้ แต่ไข้หวัดใหญ่มีอัตราการเสียชีวิตแค่ 0.1 % แต่โควิด-19 อัตราเสียชีวิตสูงกว่านั้นเป็น 10 เท่า นี่เป็นปัญหาอันยิ่งใหญ่ ที่เราต้องจัดการอย่างจริงจังมาก”
ผู้สื่อข่าวอาวุโสของ Vox ยังย้ำในตอนท้ายของรายงานพิเศษชิ้นนี้ว่า “เป็นธรรมดาที่เราจะอยากหาอะไรมาเปรียบเทียบ เพื่อทำให้มันดูเล็กลง พอเราเอาไข้หวัดใหญ่มาเป็นฉากหลัง มันแทบทำให้มึนงง หรือ ทำให้เราเฉื่อยชาได้ และอาจทำให้เรารู้สึกดีขึ้นกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะสถานการณ์ตอนนี้มันแย่มาก แต่ตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่เราจะเฉื่อยชา เราจำเป็นต้องตื่นตัว และใช้ความตื่นตัวนี้ ร่วมกันทำสิ่งที่เหมาะสม”
เพราะโควิด-19 ไม่เหมือนไข้หวัดใหญ่…มันเลวร้ายกว่านั้น
ดูเพิ่ม
– Coronavirus is not the flu. It’s worse. : https://youtu.be/FVIGhz3uwuQ
– COVID-19 ไม่เหมือนไข้หวัดใหญ่…มันเลวร้ายกว่านั้น : https://youtu.be/G7iRi6iMfGY
– Why America now has the most coronavirus cases : https://www.japantimes.co.jp/news/2020/03/28/world/why-america-most-coronavirus-cases/#.Xpc5aqszbOS
– The U.S. Now Leads the World in Confirmed Coronavirus Cases : https://www.nytimes.com/2020/03/26/health/usa-coronavirus-cases.html