It’s TIME… เรากำลังมี ‘คริสต์มาส’ ที่ร้อนขึ้นทุกปี

การมาถึงของ เทศกาลคริสต์มาส ปีนี้ ดูเหมือนจะเร็วกว่าทุกปี เพราะหนึ่งในสัญญาณที่ชัดเจนคือเสียงเพลง All I Want For Christmas Is You ของ มารายห์ แครี ที่กลับมาฮิตติดชาร์ตตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา

แต่ถ้ามองกันที่สัญญาณของคริสต์มาส ที่อาจต้องมาพร้อมความหนาวเย็นของฤดูกาลในช่วงสิ้นปี เพื่อเฉลิมฉลอง จากการรายงานของ กรมอุตุนิยมวิทยา กลับพบว่า ฤดูหนาวในประเทศไทยเริ่มช้าลงเรื่อย ๆ และร้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเช่นกัน ทำให้เราต้องเฉลิมฉลองคริสต์มาสภายใต้อากาศที่ไม่ค่อยเอื้ออำนวยต่อแฟชัน และความฟินในฤดูหนาวมากนัก

แม้ว่าปีนี้ สภาพอากาศช่วงเดือนธันวาคม จะดูหนาวเย็นขึ้นกว่าหลายปีมานี้ แต่นักวิชาการกลับชี้ว่า นี่คือหนึ่งในสัญญาณภาวะโลกรวน ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับอากาศที่ยากจะคาดเดา โดยเฉพาะในปี 2023 ที่ผ่านมา เราพบเห็นการละลายของน้ำแข็งที่ขั้วโลกและปรากฏการณ์ภาวะเรือนกระจกที่ทวีความรุนแรงขึ้น นี่เป็นสัญญาณเตือนที่บอกว่า เราจะต้องเผชิญกับปัญหาภาวะโลกรวนที่ส่งผลกระทบต่อการเฉลิมฉลองในช่วงเทศกาลสิ้นปีในทุกปีต่อจากนี้

และนี่อาจถึงเวลาที่เราต้องถามตัวเองว่า ความหนาวเย็นในวันคริสต์มาสที่เราสัมผัสได้ในวันนี้…จะยังคงเดิมในปีต่อ ๆ ไปหรือไม่ ?

ความแปรปรวนนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นปรากฏการณ์ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ ฟิลิปปินส์ต้องเผชิญไต้ฝุ่นในช่วงคริสต์มาส แคนาดาเจอกับฤดูหนาวที่ไร้หิมะ ยุโรปกลับประสบกับพายุหิมะที่โหมกระหน่ำ และอีกหลาย ๆ ความไม่แน่นอนของสภาวะอากาศทั่วทุกมุมโลก

The Active ชวนสำรวจการเปลี่ยนแปลงของเทศกาลคริสต์มาสที่เกิดขึ้น เพื่อสะท้อนถึงวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อทั้งภาคการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เพราะนี่อาจส่งผลกับทุกคริสต์มาสนับแต่นี้ไป

“Is Christmas coming early this year ?”
ทำไมปีนี้ คริสมาสต์มาเร็วจัง ?

หนึ่งในสัญญาณของการมาถึงของเทศกาลคริสต์มาส อย่างที่บอกไปข้างต้น คือ มารายห์ แครี ราชินีแห่งคริสต์มาส พร้อมกับบทเพลงอมตะประจำตัวของเธอ “All I Want For Christmas Is You” ซึ่งจะถูกเปิดวนไปเรื่อย ๆ ตามห้างร้าน และคลื่นวิทยุต่าง ๆ จนเพลงของเธอกลับมาฮิตติดอันดับหัวตารางในทุก ๆ ปี หรือที่เรียกกันว่า ล้างชาร์ต เพื่อตอกย้ำแก่ชาวโลกทั้งหลายว่า ราชินีคริสต์มาสได้กลับมารับเงินบำนาญของเธอ พร้อมกับประกาศเข้าสู่เทศกาลคริสต์มาสอย่างไม่เป็นทางการ

จะด้วยความคิดถึงเทศกาลสิ้นปี หรือเป็นเพราะเทคนิคทางการตลาดของห้างสรรพสินค้าหรือไม่ก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าเทศกาลคริสต์มาสในเมืองไทย มีแนวโน้มมาเร็วขึ้นทุกปี The Active จึงสำรวจพฤติกรรมการค้นหาข้อมูลของคนไทยบน Thailand Google Trends พบว่า คีย์เวิร์ดคำว่า “All I Want For Christmas Is You” เริ่มถูกเสิร์ชบนกูเกิลเร็วขึ้นเรื่อย ๆ จนปีล่าสุด (2024) เพลงนี้ได้ติดเป็นกระแสบนกูเกิลตั้งแต่เดือนกันยายน และถ้าย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว (ปี 2014) จะพบว่า กว่าเพลงนี้จะเริ่มติดเทรนด์ ก็ปาเข้าไปช่วงเดือนพฤศจิกายนแล้ว

เราลองตั้งสมมติฐานว่า ผู้คนอาจจะค้นหาเพลงนี้ต่อเมื่อรู้สึกว่าอากาศโดยรอบเย็นลง เพราะความคิดถึงบรรยากาศช่วงคริสต์มาส แต่จากข้อมูลพบว่า ในช่วง 4 ปีให้หลัง (2021 – 2024) เพลงนี้กลับฮิตติดเทรนด์ตั้งแต่ก่อนเข้าฤดูหนาวอย่างเป็นทางการ ซึ่งแนวโน้มข้อมูลจาก กรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า วันเริ่มต้นฤดูหนาวอย่างเป็นทางการในประเทศไทยเริ่มช้าลงเรื่อย ๆ ยกตัวอย่าง เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เราจะพบว่า ไทยเข้าฤดูหนาวตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม แต่ในปีล่าสุด (2024) กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าฤดูหนาวต้นเดือนพฤศจิกายน ซึ่งล่าช้ากว่าปี 2004 ถึง 1 เดือน

ปัญหาของการที่หน้าหนาวไม่มาตามนัด จึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว และด้านการเกษตร อุณหภูมิที่สูงขึ้นในช่วงฤดูหนาว อาจทำให้พืชที่ต้องการอากาศเย็น เช่น ข้าวโพดหวาน, สตรอว์เบอร์รี และลิ้นจี่ ไม่สามารถเติบโตได้ตามปกติ ผลผลิตลดลง และมีคุณภาพไม่ดี หรืออย่างกาแฟเองก็เป็นพืชที่เปราะบางต่อสภาพอากาศอย่างมาก ในอนาคต อากาศเมืองไทยอาจไม่เหมาะต่อการเพาะปลูกกาแฟอีกต่อไป ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวก็จะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมด้วยเช่นกัน

คริสต์มาสของแม่มารายห์ มาเร็ว มาร้อนด้วย

ไม่ว่าคนไทยจะคลั่งเทศกาลแดงเขียวขนาดไหน แต่อุณหภูมิประเทศไทยติดแดงแทบทุกปี โดยข้อมูลจาก Copernicus Climate Change Service เปิดเผยสถิติอุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยประเทศไทยในช่วงเดือนธันวาคม ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1940 – 2023 พบว่า อุณหภูมิโดยเฉลี่ยมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในรอบ 20 ปีให้หลังมานี้ เราจะพบว่าอุณหภูมิแทบทุกปีสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ ทำให้บางปีเราต้องฉลองคริสต์มาสที่หนาวจนเหงื่อออก เพราะสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยให้ใส่ชุดกันหนาวที่อุตส่าห์เตรียมไว้

ถึงแม้ความต่างของอุณหภูมิจะอยู่ระดับหลักหน่วย หรือหลักทศนิยม แต่แนวโน้มอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่ลดละ ก็สะท้อนถึงสถานการณ์ที่น่าเป็นกังวล

นพรุจ จินดาสมบัติเจริญ นักวิชาการ TDRI อธิบายว่า แม้อุณหภูมิเฉลี่ยจะสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่นั่นก็เพียงพอที่จะทำให้โลกเกิดความแปรปรวน จากการวิจัย พบว่า หากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส จะทำให้คืนที่เคยหนาวที่สุด อาจอุ่นขึ้นได้ถึง 4.5 องศาเซลเซียส ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การพูดถึงค่าเฉลี่ยอย่างเดียว อาจทำให้เรามองข้ามการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงไป

อุณหภูมิที่สูงขึ้นเพียงองศาเดียว ไม่ต่างอะไรจากการเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว ซึ่งนักวิชาการ อธิบายเสริมว่า การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยที่เล็กน้อย อาจนำไปสู่ความเสียหายที่รุนแรงได้ เช่น เมื่อโลกอุ่นขึ้น น้ำแข็งขั้วโลกจะละลายมากขึ้น ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และส่งผลให้น้ำท่วมหรือการกัดเซาะชายฝั่งในบางพื้นที่จนแผ่นดินหายไป ไม่เพียงเท่านั้น ความร้อนที่เพิ่มขึ้นยังทำให้น้ำในดินระเหยเร็วขึ้น ส่งผลให้ความชื้นในอากาศเปลี่ยนแปลง ทำให้เมฆฝนและหย่อมความกดอากาศแปรปรวน ซึ่งอาจนำไปสู่ทั้งภัยแล้งและน้ำท่วมมากขึ้น

“คนเขาอาจจะเล่นมุกกันว่า ถ้าเกิดโลกร้อนขึ้นหนึ่งองศาโดยเฉลี่ย เราก็แค่ปรับแอร์เพิ่มหนึ่งองศาน่าจะแก้ปัญหาได้ แต่ว่าจริง ๆ มันไม่ได้ง่ายอย่างนั้น การที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 1.5 องศา มันสร้างความเสียหายเป็นลูกโซ่กลับมา ทำให้โลกรวนเพิ่มมากขึ้น”

นพรุจ จินดาสมบัติเจริญ
นพรุจ จินดาสมบัติเจริญ นักวิชาการ TDRI
(ภาพ : TDRI)

ไม่ใช่แค่เมืองไทย แต่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับสภาวะภูมิอากาศแปรปรวนสุดขั้ว จากที่ร้อนก็จะร้อนจัด หนาวมากขึ้น หรือฝนหนักขึ้น ยกตัวอย่างเมื่อปี 2021 ชาวฟิลิปปินส์ต้องฉลองคริสต์มาสในศูนย์หลบภัย เนื่องจากไต้ฝุ่น Odette เข้าพัดถล่มช่วงกลางเดือนธันวาคม หลายครอบครัวต้องอยู่ในศูนย์พักพิงที่ไม่ถูกสุขลักษณะ สะท้อนวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ทำให้พายุรุนแรงและคาดเดาได้ยากขึ้น ขณะที่แคนาดาในปี 2023 เผชิญกับสภาพอากาศที่อุ่นผิดปกติ หลายพื้นที่ที่ควรหนาวจัดกลับไร้หิมะและยังเขียวชอุ่ม

ความแปรปรวนที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้เราคาดเดาไม่ได้เลยว่า คริสต์มาสในปีต่อไปจะยังเหมือนคริสต์มาสที่เราเคยรู้จักหรือไม่ ?

จากมีม ‘มารายห์ละลายน้ำแข็ง’
สู่ปรากฏการณ์ ‘ขั้วโลกไร้น้ำแข็ง’

การมาแล้วจากไปในทุกปีของมารายห์ ไม่ต่างอะไรกับวัฏจักรของฤดูกาล ทำให้เมื่อพ้นช่วงคริสต์มาสไปแล้ว เธอจะกลับเข้าสู่ภาวะจำศีลในน้ำแข็งอีกครั้ง และเมื่อใดก็ตามที่เพลง “All I Want For Christmas Is You” เริ่มกลับมามีกระแส น้ำแข็งที่แช่แข็งเธอไว้จะเริ่มละลาย จนกลายเป็นมีม (Meme) The Defrosting Has Begun (การละลายน้ำแข็งได้เริ่มต้นแล้ว) ที่มักพบเห็นในโซเชียลมีเดียในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี ซึ่งแม้แต่เจ้าตัวก็ทำวิดีโอเพื่อล้อเลียนตัวเองเช่นกัน

เที่ยงคืนของวันที่ 1 พฤศจิกายน 2023 หลังเทศกาลฮาโลวีน
มารายห์ แครี ตื่นขึ้นจากก้อนน้ำแข็งในชุดแซนตี้พร้อมกับพูดว่า
“It’s Time…” (ถึงเวลาแล้ว)

หลายครั้งมักมีการพูดติดตลกว่า “เป็นเพราะผลพวงจากภาวะโลกรวน เธอจึงตื่นขึ้นจากก้อนน้ำแข็งเร็วขึ้นเรื่อย ๆ” แต่ดูเหมือนว่านี่อาจจะเป็นเรื่องจริงก็ได้เช่นกัน ข้อมูลจาก National Snow and Ice Data Center เปิดสถิติปริมาณแผ่นน้ำแข็งทะเลอาร์คติก (ขั้วโลกเหนือ) เปรียบเทียบรายเดือน พบว่า ปริมาณน้ำแข็งมีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะเดือนกันยายน (ช่วงหลังฤดูร้อน) ปริมาณน้ำแข็งที่มีอยู่ราว 8 ล้านตารางกิโลเมตรในปี 1980 ลดเหลือเพียง 4.3 ล้านตารางกิโลเมตรในปี 2023 หรือลดไปกว่า 43%

ขณะที่ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมจาก NASA Earth Observatory เผยให้เห็นความแตกต่างของปริมาณน้ำแข็งในทะเลอาร์คติก พบว่าแผ่นน้ำแข็งขั้วโลกจาก 6.14 ล้านตารางกิโลเมตรในเดือนกันยายนปี 1990 ละลายหายเหลือเพียง 4 ล้านตารางกิโลเมตรในเดือนกันยายนปี 2020 หรือหายไปประมาณ 34.8% แถมแผ่นน้ำแข็งยังบางลงอีกด้วย ในอนาคต สถานการณ์ทะเลอาร์คติกอาจเลวร้ายลง ซึ่งอาจนำไปสู่การเปรียบเทียบว่า ซานตาคลอสอาจต้องย้ายบ้าน และที่ตั้งโรงงานผลิตของขวัญออกจากขั้วโลกเหนือ อีกด้วย

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ? รายงานการประเมิน IPCC ครั้งที่ 6 คาดการณ์ว่า ทะเลอาร์กติกจะปราศจากน้ำแข็งในเดือนกันยายนประมาณกลางศตวรรษนี้ หากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงดำเนินต่อเนื่องอย่างไม่ลดละ นอกจากนี้ การศึกษาล่าสุดยังพบว่า การเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกมีอิทธิพลอย่างมากต่อการลดลงของพื้นที่น้ำแข็งในทะเลอาร์กติกตลอดทั้งปี

อย่างไรก็ตาม การรายงานในปี 2023 โดยสำนักข่าว BBC ชี้ว่า ภายใน 3 – 6 ปีข้างหน้า พื้นที่ทะเลอาร์กติกอาจปราศจากน้ำแข็งทะเลในช่วงฤดูร้อน ซึ่งเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ถึง 10 ปี เป็นผลมาจากปรากฏการณ์เรือนกระจกที่ทวีความรุนแรง ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นและอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น หากยังเป็นเช่นนี้ ในอนาคตเราอาจจะได้เห็นปรากฏการณ์ ขั้วโลกไร้น้ำแข็ง ในช่วงหน้าร้อน การสูญเสียแผ่นน้ำแข็งยังทำให้โลกสะท้อนแสงอาทิตย์ลดลง และดูดซับความร้อนมากขึ้น ซึ่งจะเร่งให้ภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก

หรือหน้าหนาวที่แล้ว จะเป็นหน้าหนาวสุดท้าย ?

อีกมุมที่แปรผันโดยตรงต่อสภาพภูมิอากาศ คือ การท่องเที่ยว ปัจจุบันภาวะโลกรวนกำลังส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวทั่วโลก จากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลกทำให้รูปแบบการเดินทางของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไป โดยประเทศที่มีอากาศหนาวอยู่แล้ว นักท่องเที่ยวจะเลือกเดินทางไปมากขึ้น ส่วนประเทศที่อยู่ในเขตร้อน โดยเฉพาะประเทศไทยจะได้รับผลกระทบในเชิงลบ และอาจได้รับผลกระทบสูงถึง 60,000 ล้านบาทต่อปี ในปี 2593 หรืออีกประมาณ 25 ปีหลังจากนี้

จังหวัดท่องเที่ยวภาคเหนือเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ยกตัวอย่าง จ.เชียงใหม่ในอีก 20 กว่าปีข้างหน้า อาจเผชิญกับฤดูหนาวที่สั้นลง และอากาศที่ไม่หนาวเย็นเท่าเดิม ส่งผลให้นักท่องเที่ยวที่หวังเดินทางมาเพื่อสัมผัสอากาศเย็นอาจลดลง กระทบต่อรายได้ของธุรกิจท้องถิ่นที่พึ่งพาการท่องเที่ยวในช่วงฤดูหนาว จากข้อมูลของ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า 40% ของจำนวนนักท่องเที่ยวตลอดปี 2023 ในเชียงใหม่ กระจุกตัวในช่วงเดือน พ.ย. – ก.พ. ที่เป็นฤดูหนาว ขณะที่นักท่องเที่ยวที่เหลือ 60% กระจายตัวตามช่วง Low Season 8 เดือนที่เหลือ

นักวิชาการ TDRI ให้ข้อมูลว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อฤดูหนาวในภาคเหนือของประเทศไทยอย่างชัดเจน อุณหภูมิเฉลี่ยที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ช่วงเวลาที่มีอากาศเย็นลดลง การศึกษาด้วยแบบจำลอง RCP4.5 คาดการณ์ อุณหภูมิต่ำสุดตลอดปีของเชียงใหม่ ในช่วงปี 2046 – 2050 หรืออีกราว ๆ 20 กว่าปีข้างหน้า พบว่า

  • วันที่มีอุณหภูมิต่ำสุด น้อยกว่า 15 องศาเซลเซียส จะเหลือเพียง 114 วัน จาก 136 วันต่อปี (ลดลง 22 วัน)

  • วันที่มีอุณหภูมิต่ำสุด ระหว่าง 15 – 20 องศาเซลเซียส จะเหลือเพียง 98 วัน จาก 119 วันต่อปี (ลดลง 21 วัน)

  • วันที่มีอุณหภูมิต่ำสุด มากกว่า 20 องศาเซลเซียส จะเพิ่มขึ้นเป็น 153 วันจาก 110 วันต่อปี (เพิ่มขึ้น 43 วัน)

“ช่วงที่เป็น High Season ของเชียงใหม่ มีนักท่องเที่ยวมาเยือนดอยอินทนนท์มากถึง 2.5 แสนคน และลดลงในช่วงหน้าร้อนเหลือเพียงไม่กี่หมื่นคน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติของเชียงใหม่ มีความเปราะบาง เพราะฉะนั้นภาคท่องเที่ยวจึงมีความจำเป็นจะต้องปรับตัวเพื่อหาทางออก”

นพรุจ จินดาสมบัติเจริญ

นอกจากสภาพอากาศแล้ว ยังมีมิติการท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบด้วย เช่น

  • การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอาจทำให้ พื้นที่ปลูกกาแฟลดลง จนส่งผลต่ออุตสาหกรรมในอนาคต หากไม่มีการวางแผนที่เหมาะสม เกษตรกรอาจเผชิญกับความยากลำบากในการปรับตัว ขณะที่เมืองเชียงใหม่เคยผลักดันตัวเองในฐานะ “เมืองกาแฟ” และประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง หากพื้นที่ปลูกกาแฟลดลง จำเป็นต้องสร้างจุดขายใหม่ ดังนั้นภาครัฐควรวางแผนระยะยาว (10 – 30 ปี) เพื่อช่วยเหลือและเตรียมการล่วงหน้า

  • ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่เกาะ ต่าง ๆ เช่น เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ ทำให้สถานประกอบการขนาดเล็กหลายแห่งขาดแคลนน้ำ และจำเป็นต้องหยุดกิจการ ต่างจากโรงแรมขนาดใหญ่ที่มีระบบสำรองน้ำ ภาครัฐควรสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานด้านประปาในพื้นที่ท่องเที่ยว เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง

นพรุจ เสนอว่า เพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้ ภาคการท่องเที่ยวจำเป็นต้องปรับตัว เช่น การขยายเวลาให้บริการแหล่งท่องเที่ยวสู่ช่วงเวลากลางคืน เพื่อหลีกเลี่ยงความร้อนในตอนกลางวัน หรือการพัฒนากิจกรรมท่องเที่ยวในร่ม และการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของพื้นที่ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวในช่วงเวลาที่อากาศไม่เอื้ออำนวย และกระจายรายได้สู่ช่วง Low Season การปรับตัวเหล่านี้จะช่วยรักษารายได้และความน่าสนใจของการท่องเที่ยวของไทยในอนาคต

อย่าให้เป็น ‘คริสต์มาส’ สุดท้าย ? ของใครหลายคน

ตามรายงานล่าสุดจาก องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ชี้ว่า ในปี 2024 – 2028 ที่จะถึงนี้ มีความเป็นไปได้ถึง 80% ที่อุณหภูมิโลกจะสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส จากระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม ขณะที่ปี 2023 ที่ผ่านมาก็กลายเป็นปีที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา แม้จะยังไม่ทะลุเป้า นี่แสดงให้เห็นว่า มนุษยชาติกำลังใกล้ถึงจุดขีดจำกัดที่ระดับ 1.5 องศาเซลเซียส รวดเร็วกว่าที่ใครคาดการณ์ไว้

ตัวการสำคัญที่ทำให้โลกแปรปรวนมากขึ้นคือการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หากเรายังไม่เร่งดำเนินการลดการปล่อยก๊าซ เราจะเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น เช่น คลื่นความร้อน น้ำท่วม ความแห้งแล้ง และภัยความหนาว

โดย WMO เตือนว่า หากทั่วโลกยังเมินเฉยต่อสถานการณ์นี้ เราจะต้องจ่ายราคาความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งในด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ซึ่งหมายถึงชีวิตของผู้คน The Active จึงรวบรวมฉากทัศน์ที่คาดการณ์โดย IPCC แล้วลองดูว่ามีอะไรบ้างที่ประเทศไทยได้เผชิญไปแล้ว ?

  • ปะการังฟอกขาว: หากอุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นถึง 2 องศาเซลเซียส ภายในปี 2050 ปะการังทั่วโลกจะฟอกขาวและตายถึง 99% ของพื้นที่ทั้งหมด โดยปัจจุบันประเทศไทยมี 11 จังหวัดจาก 17 จังหวัดที่มีแนวปะการัง ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่แนวปะการังได้เสียชีวิตแล้ว การฟอกขาวของปะการังจะกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักดำน้ำที่มาท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อรายได้จากการท่องเที่ยวในประเทศ
  • คลื่นความร้อนถี่มากขึ้น: หากอุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นถึง 2 องศาเซลเซียส จำนวนวันที่เกิดคลื่นความร้อนในแต่ละปีจะเพิ่มขึ้นเป็น 60 – 80 วัน โดยในปี 2567 หลายพื้นที่ในประเทศไทยพบอุณหภูมิสูงเกิน 44 องศาเซลเซียส และมีรายงานเมื่อกลางปี 2567 จากกองระบาดวิทยาพบผู้เสียชีวิตจากโรคลมแดดสูงถึง 61 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นสองเท่าจากปี 2566
  • น้ำทะเลกลืนชายหาด: หากอุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นถึง 2 องศาเซลเซียส ระดับน้ำทะเลอาจเพิ่มขึ้นสูงถึง 46 – 56 เซนติเมตร แม้ว่าจะดูเหมือนเพิ่มขึ้นไม่มาก แต่กลับส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้คนและพื้นที่ชายฝั่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มต่ำ การแทรกซึมของน้ำเค็มจะทำลายพื้นที่เกษตรกรรม ขณะที่ปัจจุบัน ในประเทศไทยหลักหมุดที่ 28 อ.บางขุนเทียน กทม. ได้จมน้ำทะเลไปแล้ว
  • ภัยพิบัติรุนแรงสุดขั้ว: หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส สภาพอากาศจะทวีความรุนแรงและเกิดภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้น ในปี 2567 ไทยเผชิญกับน้ำท่วมหนักฉับพลันทั้งในภาคเหนือและภาคใต้ ซึ่งเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้น

ในช่วงคริสมาสต์ของหลายปีที่ผ่านมา หลายชีวิตทั่วโลกต้องเผชิญกับภาวะอากาศแปรปรวน บ้างต้องหลบภัยอยู่ในศูนย์อพยพเนื่องจากไต้ฝุ่นปลายปีที่มีกำลังแรงขึ้น บ้างต้องเผชิญกับคลื่นความร้อน บ้างต้องเจอกับสภาพอากาศที่เลวร้ายต่อผลผลิตทางการเกษตร หรือแม้แต่ภาคการท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบโดยตรง

นี่คงเป็นสัญญาณเตือนแค่บางส่วนของสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว ในฉากทัศน์ที่โลกอุณหภูมิสูงขึ้น นักวิชาการ TDRI จึงเสนอ 2 แนวทางสำคัญในการรับมือกับภาวะโลกรวน ดังนี้

  • Climate Mitigation: เป้าหมายระยะยาว มุ่งเน้นการลดคาร์บอน เช่น การลดการปล่อยมลพิษ เพื่อชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ แนวทางนี้มักได้รับแรงกดดันจากประเทศตะวันตก

  • Climate Adaptation: เป้าหมายเฉพาะหน้า เน้นการปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่น การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ อย่างไรก็ดี การผลักดันนโยบายสิ่งแวดล้อมให้สำเร็จ ต้องอาศัยการดำเนินนโยบายที่เด็ดขาดจากภาครัฐ

นพรุจ ระบุว่า ตอนนี้เริ่มเห็นรัฐผลักดันนโยบาย Climate Mitigation บ้างแล้ว แต่นโยบายเชิง Climate Adaptation ยังไม่มีการตอบสนองเท่าที่ควร

“ในมุมของ Climate Adaptation ภาครัฐอาจจะยังไม่ได้คำนึงถึงการวางแผนเพื่อรับมือกับมันมากนัก เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นหรือว่ายังเกิดขึ้นน้อย แต่ก็ยังเห็นถึงแนวคิดริเริ่มบ้างแล้ว โดยเฉพาะในแง่ของการวิจัยเพื่อการปรับตัวสู้โลกรวน”

นพรุจ จินดาสมบัติเจริญ

ก่อนหน้านี้ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ เรียกร้องให้ทุกประเทศดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน และเตือนว่าในทศวรรษนี้จะเป็นการตัดสินว่าเราจะสามารถจำกัดอุณหภูมิได้หรือไม่ หากเราสามารถควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ เราจะยังมีโอกาสกลับสู่ระดับอุณหภูมิที่เย็นขึ้นได้ในปลายศตวรรษนี้


บทส่งท้าย: ปี 2023 โลกเองก็บอบช้ำไม่ต่างจากคน

ช่วงคริสต์มาสสิ้นปีเป็นช่วงเวลาที่ใครหลายคนมักจะตกตะกอนชีวิตในตลอดปีที่ผ่านมา นี่อาจเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดด้วยเช่นกันว่า ที่ผ่านมา เราใช้ทรัพยากรบนโลกใบนี้กันอย่างไรบ้าง แต่แน่นอน ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ระดับปัญหาที่ใครคนหนึ่งจะแก้ไขได้ลำพัง แต่ต้องอาศัยการขับเคลื่อนนโยบายของภาครัฐที่เด็ดขาด ยกตัวอย่างเช่น 36% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย มีที่มาจากภาคพลังงานที่ยังพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอซซิล ขณะที่ 31% มาจากภาคการขนส่ง ขณะที่ภาคครัวเรือนมีสัดส่วนเพียง 1.7% เท่านั้น

กุญแจสำคัญสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทั่วโลกจับตามอง คือ ภาคพลังงาน บางประเทศมหาอำนาจได้ขีดเส้นตายสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon) รวมถึงนโยบายเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด (Green Transmission) ขณะที่ประเทศไทยตั้งเป้าไว้ที่ปี 2065 หรืออีกราว ๆ 50 ปีข้างหน้าเลยทีเดียว ซึ่งนับว่า ช้าที่สุดในอาเซียน เมื่อเทียบกับหลายประเทศที่ได้ประกาศเส้นตายไว้แล้ว

เมื่อมองสภาพปัญหาแล้ว เหมือนจะใหญ่เกินตัวที่คนตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งจะทำอะไรได้ แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่เลย เนื่องจาก ประเทศไทยมีศักยภาพอย่างมากในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ ด้วยภูมิอากาศที่เอื้ออำนวย ต้นทุนพลังงานที่ถูกลงเรื่อย ๆ หากรัฐมีการผลักดัน นโยบายกระจายอำนาจทางพลังงาน สร้างเครือข่าย Smart Grid และคิดค่าไฟระบบ Net Metering เพื่อให้คนตัวเล็กสามารถเข้าถึงการติดตั้งแผงโซลาร์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองได้ จะเป็นการลดภาระค่าพลังงาน ไปพร้อมกับการช่วยโลกจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย

สิ่งที่คนตัวเล็ก ๆ สามารถทำได้ คือการยืนยันในหลักการว่าประเทศไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดโดยเร็ว หยุดการรับซื้อหรือผลิตไฟฟ้าจากกลุ่มทุนพลังงานเชื้อเพลิงฟอซซิล เพื่อกดดันให้ภาครัฐตอบสนองต่อความต้องการนั้น

เช่นเดียวกันกับหลาย ๆ นโยบาย ที่ประสบความสำเร็จจากฉันทามติของคนในสังคม (เช่น สมรสเท่าเทียม) เพื่อทำให้โลกเป็นที่ที่อยู่อาศัยได้ของทุกคน ในทุกเทศกาลนับจากนี้ ไม่เพียงแค่คริสต์มาส…


แหล่งอ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

พีรดนย์ ภาคีเนตร

เฝ้าหาเรื่องตลกขบขันในชีวิต แต่พบว่าสิ่งที่ตลกที่สุดคือชีวิตเราเอง

Alternative Text
AUTHOR

ธนธร จิรรุจิเรข

สงสัยว่าตัวเองอยากเป็นนักวิเคราะห์ data ที่เขียนได้นิดหน่อย หรือนักเขียนที่วิเคราะห์ data ได้นิดหน่อยกันแน่