เหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2547 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายกว่า 8,000 คน สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ 1.22 หมื่นล้านบาท แม้ความสูญเสียในครั้งนั้นจะดูรุนแรงและหนักกว่าอุบัติภัยอื่น ๆ แต่ก็เป็นเพียงแค่บางส่วนของความสูญเสียเท่านั้น
ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาไทยต้องเผชิญกับความสูญเสียจาก ‘ภัยพิบัติ’ ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องจนมีผู้เสียชีวิตกว่า 10,000 คน และ สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงถึง 2.2 ล้านล้านบาท
โดยเฉพาะ ‘อุทกภัย’ ที่รุนแรงและยาวนานขึ้น ส่งผลกระทบกับชาวบ้านเฉลี่ยปีละ 4.5 ล้านคน สร้างความเสียหายกว่า 4.8 พันล้านบาท หรือ ‘ภัยแล้ง’ ที่กระทบกับประชาชนเฉลี่ยปีละ 8.4 ล้านคน สร้างความเสียหายเฉลี่ยปีละ 1,000 ล้านบาท
ที่สำคัญความเสียหายจาก ‘ภัยพิบัติ’ ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่มาตรการรับมือ ไปจนถึงนโยบายป้องกัน ลดความสูญเสียยังมีช่องว่าง และอุปสรรค ทำให้สถานการณ์ในหลายพื้นที่ยังต้องเผชิญกับความสูญเสียซ้ำซาก ท่ามกลางความกังขาในเรื่องชุดข้อมูล องค์ความรู้ที่มีในปัจจุบันเท่าทันกับอุบัติภัยใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากน้อยแค่ไหน
ความสูญเสียจากภัยพิบัติที่ถูกลืมเลือน ไม่มีใครระลึกถึง
นอกจากความสูญเสียครั้งใหญ่ในเหตุการณ์สึนามิที่ซัด 6 จังหวัดภาคใต้ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ผู้เสียชีวิตและสูญหายกว่า 8,345 คน บาดเจ็บ 8,457 คน เสียหาย 1.61 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 5.57 หมื่นล้านบาท ที่มีผู้จัดงานระลึกถึงทุกปีแล้ว ยังมีอีกหลายความสูญเสียจากภัยพิบัติ ที่ถูกลืมเลือนไม่มีใครระลึกถึง
หากนับตั้งแต่ปี 2547 ถึงกันยายน 2567 มีภัยพิบัติทางธรรมชาติของไทยที่ CRED บันทึกไว้ 95 เหตุการณ์ โดย 67% เป็นภัยน้ำท่วม-น้ำแล้ง
ทำให้มีผู้เสียชีวิต 10,549 คน บาดเจ็บ 8,685 คน มีผู้ได้รับผลกระทบกว่า 68 ล้านคน สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยไปแล้วไม่น้อยกว่า 6.57 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.2 ล้านล้านบาท* (จากรายงานมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ 32 เหตุการณ์) ซึ่งเหตุน้ำท่วมปี 2554 มีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจมากที่สุดถึง 5.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.87 ล้านล้านบาท
เมื่อดูสถิติย้อนหลังของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา พบข้อมูลใน 4 ภัย โดยภัยแล้งส่งผลกระทบกับประชากรมากที่สุด รวม 151 ล้านคน เกือบ 42 ล้านครัวเรือน ขณะที่อุทกภัยสร้างความเสียหายมูลค่ามากที่สุด รวม 7.6 หมื่นล้านบาท
(*หมายเหตุ คำนวณค่าเงินบาทในอัตราแลกเปลี่ยน 19 ธันวาคม 2567 เรท 34.58)
‘อุทกภัย’ สร้างความเสียหายมูลค่าสูงกว่าภัยอื่น
น้ำท่วมเป็นภัยพิบัติที่คนไทยต้องเจอทุกปี ใน 20 ปีนี้มีผู้เสียชีวิตจากอุทกภัย 2,663 คน บาดเจ็บ 3,297 คน เศรษฐกิจเสียหายเกือบ 7.65 หมื่นล้านบาท แต่ละปีมีผู้ได้รับผลกระทบเฉลี่ยปีละเกือบ 4.5 ล้านคน 1.4 ล้านครัวเรือน ความเสียหายเฉลี่ยปีละเกือบ 4.8 พันล้านบาท
ปภ.ไม่มีรายงานมูลค่าความเสียหายปี 2564-2566 ซึ่งเป็นปีน้ำท่วมหนัก มีพื้นที่ถูกน้ำท่วมรวมกันถึง 26 ล้านไร่ เป็นพื้นที่การเกษตร 10 ล้านไร่ หากคำนวณด้วยค่าเฉลี่ยมูลค่าความเสียหายต่อพื้นที่น้ำท่วมช่วงหลังปี 2554 ใน 3 ปีที่ไม่มีข้อมูลนี้อาจมีมูลค่าความเสียหายมากถึง 2.7 พันล้านบาท
เป็นที่น่าสังเกตว่าจำนวนประชาชนที่ได้รับผลกระทบน้อยลง แม้ว่าจำนวนหมู่บ้านที่ประสบภัยมีแนวโน้มมากขึ้นในทศวรรษนี้ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงโยกย้ายถิ่นฐานในพื้นที่น้ำท่วมหรือไม่
อย่างไรก็ตาม หลังปี 2554 มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจลดลงอย่างมาก เช่นเดียวกับพื้นที่การเกษตรและสิ่งสาธารณประโยชน์ที่เสียหายน้อยลงเช่นกัน แต่เริ่มยกตัวขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะบ้านเรือนประชาชนเสียหายพุ่งขึ้นใน 3 ปีล่าสุด แค่ปี 2565 ปีเดียวมีความเสียหายถึง 124,308 หลัง รวมแล้ว 20 ปี บ้านเรือนได้รับความเสียหายจากอุกทกภัยกว่า 1.7 ล้านหลัง
เหตุการณ์ ‘อุทกภัย’ รุนแรง
- ปี 2549 เป็นปีที่มีน้ำท่วมหนักหลายช่วงรวมกระทบ 47 จังหวัด เดือดร้อนกว่า 5 ล้านคน 1.4 ล้านครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 314 คน มูลค่าความเสียหาย 6.95 พันล้านบาท ซึ่งอุตรดิตถ์ยังพบว่าฝนตกหนักที่สุดในรอบ 38 ปี
- ปี 2553 น้ำท่วม 39 จังหวัด กระทบ 7 ล้านคน 2 ล้านครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหายเกือบ 7.8 ล้านไร่ ผู้เสียชีวิต 181 คน ศูนย์วิจัยกสิกรรายงานว่ามูลค่าความเสียหายอยู่ที่ 32,000-54,000 ล้านบาท
- ปี 2554 มหาอุทกภัยกระทบ 74 จังหวัด มีผู้เสียชีวิต 1,026 คน กระทบ 16 ล้านคน 5.2 ล้านครัวเรือน พื้นที่น้ำท่วม 31.45 ล้านไร่ รวมมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้นประมาณ 23,839 ล้านบาท
- ปี 2560 สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 ต่อเนื่องมาจนถึงเดือนมกราคม 2560 กระทบ 12 จังหวัด มีผู้เสียชีวิต 99 คน บ้านเรือนเสียหาย 11,818 หลัง พื้นที่การเกษตร 221,128 ไร่
- ปี 2564 พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศฝนตกมากกว่าปกติ โดยปริมาณฝนในเดือนเมษายนถือว่ามากที่สุดในรอบ 20 ปี น้ำท่วม 53 จังหวัด มีพื้นที่ถูกน้ำท่วม 9.6 ล้านไร่ ปภ.รายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากอุทกภัยตลอดทั้งปีรวม 68 คน
- ปี 2565 เป็นปีที่ฝนมากกว่าปกติถึง 23% มากที่สุดในรอบ 40 ปี และมากกว่าปี 2554 ส่งผลให้มีพื้นที่ถูกน้ำท่วมมากถึง 12 ล้านไร่ โดยเฉพาะ จ.อุบลราชธานี ได้รับผลกระทบรุนแรงสุดในรอบ 43 ปี
ฝนตกหนักยังเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดดินโคลนถล่มที่หลายครั้งเกิดขึ้นร่วมกับอุทกภัย จากสถิติปี 2562-2566 ภัยดินโคลนถล่มสร้างผลกระทบคน 5,156 คน 1,936 ครัวเรือน เสียชีวิต 7 คน บาดเจ็บ 33 คน บ้านเรือนเสียหาย 299 หลัง
เหตุการณ์ ‘ดินโคลนถล่ม’ รุนแรง
- ปี 2549 ดินโคลนถล่มภาคเหนือตอนล่าง 5 จังหวัด CRED ระบุมีผู้เสียชีวิตและสูญหายรวม 116 คน กระทบ 342,895 คน ความเสียหาย 37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.3 พันล้านบาท
- ปี 2560 ดินโคลนถล่มที่บ้านห้วยขาบ หมู่ 7 ต.บ่อเกลือเหนือ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ดินทับบ้าน 6 หลัง พบผู้เสียชีวิต 8 คนซึ่งเป็นผู้อยู่อาศัย และมีถนนถูกโคลนทับเส้นทางจำนวน 4 แห่ง
- ปี 2567 ดินถล่ม ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต จนมีผู้เสียชีวิต 13 คน บ้านเรือนได้รับความเสียหายกว่า 50 หลัง และยังทำให้ถนนทรุดตัวเป็นแนวยาวกว่า 20 เมตร ความลึกกว่า 2 เมตร
‘ภัยแล้ง’ กระทบ 8.4 ล้านคนต่อปี
ภัยแล้งเป็นภัยที่ส่งผลกระทบในวงกว้างมากที่สุด มีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมากกว่าภัยอื่น ๆ และยังไปสู่การพังทลายของผิวดิน ฝุ่นละออง พายุฝุ่น น้ำเค็มรุกล้ำ และโอกาสเกิดไฟป่าสูงขึ้น
20 ปีที่ผ่านมา ภัยแล้งสร้างความเสียหายแก่ประชาชนเฉลี่ยปีละ 8.4 ล้านคน 2.3 ล้านครัวเรือน แม้จะไม่มีข้อมูลมูลค่าความเสียหายในปี 2561, 2564, 2565, 2566 แต่ 16 ปีรวมกันเสียหาย 1.7 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยปีละ 1 พันล้านบาท
ผู้ได้รับผลกระทบมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา หลังประชาชน 11-17 ล้านคนได้รับความเดือดร้อนจากภัยแล้งต่อเนื่องมา 8 ปี ในทางกลับกันมูลค่าความเสียหายสูงขึ้นในปีดังกล่าวถึง 2.9 พันล้านบาท ซึ่งหากเทียบกับปี 2562 ที่มูลค่าความเสียหายใกล้เคียงกัน คือยู่ที่ 2.5 พันล้านบาท แต่จำนวนพื้นที่การเกษตรต่างกัน 7.9 เท่า
ขณะที่ปี 2562 เอลนีโญส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรเป็นอย่างมากถึง 19 ล้านไร่ สูงที่สุดในรอบ 35 ปี เสียหาย 2.5 พันล้านบาทใน 28 จังหวัด ในด้านการเบิกจ่ายใช้เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พบว่าปี 2548 มีการเบิกจ่าย 2.8 พันล้านบาท แจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภค 3.4 พันล้านลิตร แก่ผู้ประสบภัย 11 ล้านคน ขณะที่ตั้งแต่ปี 2549-2555 แม้จะมีผู้ได้รับผลกระทบมากกว่า แต่ได้รับความช่วยเหลือน้ำอุปโภคบริโภคน้อยกว่ามาก
ทั้งที่มีการเบิกจ่ายเงินทดรองราชการฯ จำนวนมากก็ตาม การใช้เงินทดรองราชการฯ เพื่อให้ความช่วยเหลือเริ่มลดลงตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งยังมีผู้ได้รับผลกระทบ 15 ล้านคน จากหลัก 1-2 พันล้านบาทในช่วงภัยแล้งต่อเนื่อง เหลือ 633 ล้านบาท และลดลงไปถึง 7.7 ล้านบาทในปี 2557 จากนั้นมีการเบิกจ่ายสูง 1 พันล้านในปีต่อมาแม้ว่าจำนวนผู้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดในรอบ 25 ปี และพื้นที่การเกษตรเสียหายเพียง 2.4 ล้านไร่ ทั้งยังมีการแจกจ่ายน้ำไม่มากนัก
เหตุภัยแล้งรุนแรง
- ปี 2547-2548 มีฝนตกน้อยและไม่ต่อเนื่อง น้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำลดลง ปี 2548 มี 71 จังหวัดได้รับผลกระทบ รวม 2 ปีสร้างความเสียหายเกือบ 3.9 พันล้านบาท
- ปี 2552-2553 มีจังหวัดประสบภัยแล้งมากกว่า 60 จังหวัด รวม 2 ปีมีความเสียหาย 1.5 พันล้านบาท ขณะที่จำนวนผู้ได้รับกระทบปี 2552 สูงถึง 17 ล้านคน และปี 2553 15 ล้านคน
- ปี 2555-2556 มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 1 ตุลาคม 2555 – 23 เมษายน 2556 รวม 50 จังหวัด รวม 2 ปีมูลค่าความเสียหาย 3.3 พันล้านบาท
- ปี 2562-2563 ไทยมีฝนน้อยยาวนานต่อเนื่องตั้งแต่ฤดูฝนปี 2561 ถึงฤดูแล้งปี 2562/2563 ทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนค่อนข้างน้อย มีการระบายออกมาใช้มากที่สุดในรอบ 10 ปีถึง 8 เขื่อน และประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 17 ตุลาคม 2562 – 30 เมษายน 2563 ทั้งหมด 27 จังหวัด รวม 2 ปีความเสียหาย 2.7 พันล้านบาท
แผ่นดินไหวเกิดถี่ขึ้น ใน 20 ปี เกิดเหตุกว่า 11,000 เหตุการณ์
ไทยยังไม่ปลอดภัยจากแผ่นดินไหวเพราะยังเป็นภัยที่ท้าทายต่อการศึกษาและไม่อาจพยากรณ์ล่วงหน้าได้ ข้อมูลจากกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหวปี 2547-2566 รายงานว่ามีการเกิดแผ่นดินไหวบริเวณประเทศไทยและพื้นที่ใกล้เคียงรวม 11,486 เหตุการณ์ โดยปี 2565 เกิดเหตุมากที่สุดถึง 2,363 เหตุการณ์
แผ่นดินไหวขนาดไม่เกิน 4.9 มีแนวโน้มเกิดมากขึ้น ขณะที่แผ่นดินไหวขนาด 5.0-6.9 มีรูปแบบการเกิดคล้ายกันในลักษณะหลังเต่าราว ๆ ทุก 8 ปี
นอกจากนี้ยังมีข้อคำนึงถึงสถิติแผ่นดินไหวขนาดต่ำกว่า 2.5 ซึ่งเริ่มมีการรายงานตั้งแต่ปี 2561 เพราะการพัฒนาระบบตรวจเฝ้าแผ่นดินไหวมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ตรวจจับการเกิดแผ่นดินไหวและรายงานเหตุการณ์ได้มากขึ้น
35% ของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นบริเวณประเทศไทยและพื้นที่ใกล้เคียงคือขนาด 2.0-2.9 ตามมาตราริกเตอร์ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ของขนาดโดยประมาณกับความสั่นสะเทือนใกล้ศูนย์กลาง ระบุว่าจะเกิดการสั่นไหวเล็กน้อย ผู้คนเริ่มมีความรู้สึกถึงการสั่นไหว บางครั้ง รู้สึกเวียน ศีรษะ
รองลงมาคือขนาด 3.0-3.9 เกิดการสั่นไหวเล็กน้อย ผู้คนที่อยู่ในอาคารรู้สึกเหมือนรถไฟวิ่งผ่าน และขนาด 4.0-4.9 เกิดการสั่นไหวปานกลาง ผู้ที่อาศัยอยู่ทั้งภายในอาคาร และนอกอาคาร รู้สึกถึงการ สั่นสะเทือน วัตถุห้อยแขวนแกว่งไกว
แม้เหตุแผ่นดินไหวเล็กในไทยส่วนใหญ่ไม่ได้สร้างความเสียหายรุนแรงต่ออาคารบ้านเรือน แต่ผู้คนสามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ในหลายพื้นที่จึงมักเกิดความตื่นตระหนก
แผ่นดินไหวขนาด 5.0-5.9 ศูนย์กลางเกิดการสั่นไหวรุนแรงเป็นบริเวณกว้าง เครื่องเรือน และวัตถุมีการเคลื่อนที่ ก็เกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 900 เหตุการณ์ โดยเกือบครึ่งเกิดขึ้นในปี 2548
ขนาด 6.0-6.9 เกิดการสั่นไหวรุนแรงมาก อาคารเริ่มเสียหายพังทลาย เกิดขึ้น 49 เหตุการณ์ มากที่สุดในปี 2548 จำนวน 14 เหตุการณ์
และขนาด 7.0 ขึ้นไป 4 เหตุการณ์ หากอยู่ใกล้ศูนย์กลางจะเกิดการสั่นไหวร้ายแรง อาคาร สิ่งก่อสร้างมีความเสียหายอย่างมาก แผ่นดินแยก วัตถุที่อยู่บนพื้นถูกเหวี่ยงกระเด็น
นอกจากสึนามิปี 2547 และแม่ลาว จ.เชียงราย ปี 2557 แผ่นดินไหวใหญ่ครั้งอื่นไม่ได้ส่งผลต่อประเทศไทยมากนัก แต่มีการเตือนภัยและรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้
เหตุแผ่นดินไหวรุนแรง
- ปี 2547 แผ่นดินไหวบริเวณเกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย ขนาด 9.1 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 เกิดสึนามิ 6 จังหวัดของไทย มีผู้เสียชีวิตและสูญหาย 8,345 คน บาดเจ็บ 8,457 คน กระทบ 58,550 คน เสียหาย 1,613,174,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.22 หมื่นล้านบาท
- ปี 2554 แผ่นดินไหวที่เมียนมาขนาด 6.8 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2554 รู้สึกได้ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอาคารสูงใน กทม. หลายแห่ง เกิดความเสียหายที่ อ.แม่สาย. จ.เชียงราย มีผู้เสียชีวิต 1 คนจากผนังบ้านพัง
- ปี 2557 แผ่นดินไหวที่ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย ขนาด 6.3 เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 เกิดอาฟเตอร์ช็อกอีก 1,254 ครั้ง บ้านเรือนเสียหาย 11,173 หลัง มีผู้เสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บ 107 คน สิ่งสาธารณประโยชน์ สถานที่ราชการ และโรงงานเสียหายจำนวนมาก รวมมูลค่าความเสียหาย 781 ล้านบาท โดยจังหวัดมีการจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย 70 ล้านบาท
คนตายจาก ‘วาตภัย’ น้อยลง แต่กระทบคนมากขึ้น
ความแปรปรวนของสภาพอากาศโลกยังทำให้วาตภัยเกิดมากขึ้น ผู้ได้รับผลกระทบและพื้นที่ได้รับผลกระทบแนวโน้มสูงขึ้น แต่ความสูญเสียของชีวิตและมูลค่าความเสียหายลดลง ซึ่งน่าสังเกตว่าบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายนั้นมากขึ้นแต่มูลค่าความเสียหายกลับลดลง
20 ปีมีผู้ได้รับผลกระทบเฉลี่ยปีละ 248,464 คน บ้านเรือนเสียหายเฉลี่ยปีละ 64,939 หลัง มูลค่าความเสียหายเฉลี่ยปีละ 133 ล้านบาท รวมแล้วมีผู้เสียชีวิตจากวาตภัย 556 คน บ้านเรือน 1.3 ล้านหลัง ความเสียหาย 2.3 พันล้านบาท
เหตุวาตภัยรุนแรง
- ปี 2562 เกิดภัยจากพายุที่สร้างความเสียหายมากถึง 2 ช่วง เหตุการณ์แรกคือพายุปาบึก สร้างความเสียหาย 18 จังหวัดภาคใต้และจังหวัดชายฝั่งทะเล เคลื่อนขึ้นฝั่ง จ.นครศรีธรรมราชเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2562 ด้วยความเร็วสูงสุดใกล้ศูนย์กลางราว 75 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทำให้มีเสียชีวิต 5 คน บ้านเรือนเสียหาย 60,318 หลัง ผู้ได้รับผลกระทบ 269,819 ครัวเรือน 899,137 คน อีกช่วงหนึ่งคือปลายสิงหาคมถึงต้นกันยายน พายุพาดุลและพายุคาจิกิทำให้เกิดอุทกภัยรุนแรงใน 32 จังหวัดทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีผู้เสียชีวิต 35 คน ได้รับผลกระทบ 419,988 ครัวเรือน
- ปี 2564 พายุเตี้ยนหมู่, พายุไลออนร็อก, พายุคมปาซุ และมรสุมกำลังแรง 2 ระลอก สร้างความเสียหายใน 70 จังหวัด มีผู้เสียชีวิต 42 คน บ้านเรือนเสียหาย 197,108 หลัง ในวันที่ 23 กันยายน – 12 ธันวาคม 2564
ปี 2566 เกิดอุบัติภัยโลกสูงกว่าค่าเฉลี่ย 20 ปี
สอดรับกับสถานการณ์โลก ข้อมูลจากศูนย์วิจัยการระบาดวิทยาทางภัยพิบัติ (Centre for Research on the Epidemiology of Disaster: CRED) ที่ได้รวบรวมสภานการณ์ภัยพิบัติทั่วโลก 8 ประเภทภัย ได้แก่ ภัยแล้ง แผ่นดินไหว สภาพอากาศสุดขั้ว อุทุกภัย ดินโคลนถล่ม วาตภัย ไฟป่า และภูเขาไฟระเบิด พบว่าในระยะ 20 ปี (พ.ศ.2546-2565) มีการเกิดภัยพิบัติเฉลี่ยปีละ 369 เหตุการณ์ ผู้เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 64,148 คน ผู้ได้รับผลกระทบเฉลี่ยปีละ 175.5 ล้านคน และมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจเฉลี่ยปีละ 1.96 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่สถานการณ์ในปี 2566 โลกเผชิญกับความรุนแรง โดยทั้งจำนวนการเกิดเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิต และมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงกว่าค่าเฉลี่ย 20 ปี มีการบันทึกภัยพิบัติ 399 เหตุการณ์ ผู้เสียชีวิต 86,473 คน ผู้ได้รับผลกระทบ 93.1 ล้านคน และมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ 2.02 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เกิดความสูญเสียมากขนาดนี้คือเหตุแผ่นดินไหวที่ตุรกีและซีเรียเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 ได้พราก 56,683 ชีวิต สร้างความเสียหาย 4.29 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลกระทบต่อประชาชน 18 ล้านคนในสองประเทศ ทำให้กลายเป็นเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงเป็นอันดับ 6 ของโลก
ภัยพิบัติเกิดขึ้นมากที่สุดใน เอเชีย และ แอฟริกา
หากพิจารณารายทวีปจะพบว่า ภัยพิบัติเกิดขึ้นมากที่สุดในเอเชีย อีกทั้งยังพบว่มีเพียงเอเชียและแอฟริกาที่มีผู้เสียชีวิตสูงกว่าค่าเฉลี่ย ขณะที่ภูมิภาคอื่นน้อยกว่า นอกจากนี้ผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติในเอเชียคิดเป็น 71% ของทั้งหมด แต่พบว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อย ขณะที่ภัยพิบัติในภูมิภาคอื่นส่งผลกระทบต่อผู้คนมากกว่าค่าเฉลี่ย
ในแง่ความเสียหาย ทางฝั่งอเมริกาก็มีความเสียหายทางเศรษฐกิจมากกว่าถึง 4.39 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ทางเอเชีย 3.75 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ สะท้อนภาพรวมสถานการณ์โลกนับว่าปี 2566 ภัยพิบัติทำเศรษฐกิจเสียหายมากกว่าค่าเฉลี่ย
ขณะที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าประเทศกำลังพัฒนาอาจมีจำนวนประชากรได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยมากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่วนประเทศที่พัฒนาแล้วอาจได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจมากกว่าประเทศที่กำลังพัฒนาแล้ว
ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ทั้งสถานการณ์โลกและประเทศไทยต่างเผชิญภัยที่มากขึ้น รุนแรงขึ้น แม้เบื้องต้นด้วยการเตรียมพร้อมรับมือของมนุษย์อาจสามารถทำให้ความสูญเสียลดน้อยลงได้ แต่ก็ยังสามารถลดความสูญเสียและหาทางป้องกันได้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ นี่จึงเป็นช่วงเวลาที่เราต้องกลับมาให้ความสำคัญต่อระบบบริหารจัดการภัยพิบัติอย่างจริงจังอีกครั้ง
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- ย้อนรอย สึนามิ 2547 คลื่นยักษ์ซัดไทย เกิดอะไรขึ้นบ้าง?
- ครบรอบ 20 ปีสึนามิ ทุ่นเตือนภัยไทยพร้อมยัง ?
- 20 ปี สึนามิ : อุปกรณ์เตือนภัย – อาคารหลบภัย พร้อมไหม ?
- ไทยเสี่ยงเกิดสึนามิ ในอนาคตอันใกล้ วิเคราะห์ ‘จุดอ่อน’ ปรับ ‘นโยบาย’ เตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ
- กฎหมายการจัดการภัยพิบัติของไทย… มาไกลแค่ไหน ?
- ไทยตามหลังหรือไม่? เปรียบเทียบระบบป้องกันภัยพิบัติที่รอบด้านจากรอบโลก
- สมุดปกแดง ลายแทงสู้ภัยพิบัติในภาวะโลกเดือด
- ติดตามนโยบาย การจัดการภัยพิบัติ ใน Policy Watch Thai PBS
- ติดตามนโยบาย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ใน Policy Watch Thai PBS