BKK101 “โครงสร้างและงบประมาณ กทม.” EP.3
งบประมาณที่กรุงเทพมหานครใช้จ่ายไปในแต่ละปี นับเป็นอีกภาพสะท้อนทิศทางการบริหาร ตลอดจนเป้าหมาย และการจัดลำดับความสำคัญในการแก้ไขปัญหาแต่ละช่วงเวลาที่แตกต่างกันออกไป การลงไปสำรวจว่าที่ผ่านมา กทม.ใช้เงินไปกับอะไรมากน้อยแค่ไหน จึงน่าจะช่วยทำให้เห็นภาพเมืองหลวงแห่งนี้ได้ชัดเจนขึ้น
ในช่วงนับถอยหลังสู่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร The Active ชวนทุกคนมาร่วมสำรวจภาพของกรุงเทพมหานครในอีกมุมมองที่สะท้อนผ่านการใช้งบประมาณในรอบ 49 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจะได้เห็นว่าในแต่ช่วงเมืองหลวงแห่งนี้ทุ่มทรัพยากรไปกับเรื่องใดเป็นพิเศษ และใช้เงินจำนวนนี้ดูแลคนทุกกลุ่มได้อย่างทั่วถึงเท่าเทียมเพียงใด
ทั้งนี้ ในการย้อนดูข้อมูลเริ่มจากปัจจุบัน กทม. ทำงานในการแก้ปัญหาและพัฒนาในส่วนต่าง ๆ ผ่านสำนักต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ ซึ่งมีทั้งหมด 22 สำนัก เมื่อเรานำเอางบประมาณจากสำนักต่าง ๆ ทั้งหมดตั้งแต่ปี 2516-2565 โดยยึดจากสำนักที่มีอยู่ในปัจจุบัน และควบรวมตัวเลขงบฯ จากสำนัก ฝ่าย กอง ในอดีตที่ย้ายมาอยู่ภายใต้สำนักในปัจจุบัน ก็อาจจะทำให้เห็นความเป็นมา ทิศทาง แนวโน้ม ในการแก้ปัญหาหรือพัฒนากรุงเทพฯ โดยการใช้งบประมาณตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน
ส่อง “งบประมาณ” สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของเมืองกรุง
หากไล่เรียงดูจากข้อมูลจะพบว่า สำนักที่ใช้งบประมาณมากที่สุดคือสำนักการโยธา จำนวน 173,497 ล้านบาท สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะกรุงเทพฯ ต้องวางรากฐานการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั้งหลาย และโครงการการก่อสร้างนั้นก็ใช้เงินมหาศาล แต่ในขณะเดียวกัน จากการศึกษาข้อมูลจะพบว่าในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของสำนักการโยธาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้น มีตั้งแต่การทำถนน ทางเดินเท้า สะพาน ที่ทำการของหน่วยงานต่างๆ รวมไปถึงระบบจราจรด้วย เนื่องด้วยสำนักการจราจรและจนส่งนั้นเพิ่งจะตั้งขึ้นเมื่อปี 2538 นี่เอง จึงอาจกล่าวได้ว่าการใช้งบประมาณฯ ส่วนมากของกรุงเทพฯ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเป็นการนำงบฯ ไปใช้การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งไม่ใช่แค่ขอบข่ายหน้าที่ตามการทำงานของสำนักการโยธาในแบบปัจจุบัน
อันดับต่อมาก็คือสำนักสิ่งแวดล้อม จำนวน 140,131 ล้านบาท ซึ่งเดิมคือสำนักรักษาความสะอาดในอดีต เน้นดูแลเรื่องขยะของกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังมาตั้งแต่กรุงเทพมหานครเป็นองค์การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษมาตั้งแต่ปี 2515 ปัญหาเรื่องเมืองสกปรกนั้นอยู่คู่กับกรุงเทพฯ มาแต่ไหนแต่ไร ทั้งนี้พบว่าในขณะที่กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงที่กำลังเติบโต แต่กรุงเทพฯ กลับไม่มีบ่อฝังกลบขยะมาตั้งแต่ต้น แต่ใช้วิธีการนำขยะที่เก็บจากบ้านเรือนไปทิ้งตามที่รกร้างว่างเปล่า อีกทั้งไม่มีบุคลากร และรถเก็บขยะเพียงพอจึงทำให้ขยะตกค้างจำนวนมาก งบประมาณส่วนใหญ่จึงอยู่ที่การสร้างประสิทธิภาพในการจัดเก็บและกำจัดขยะ ซึ่งเป็นมาจนถึงปัจจุบัน
แต่สำหรับงานด้านสิ่งแวดล้อมนั้น เดิมทีเรื่องสวนสาธารณะอยู่ภายใต้สำนักสวัสดิการสังคม ก่อนจะย้ายเข้ามารวมกันจนเกิดเป็นสำนักสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ซึ่งปัญหาใหญ่ของการสร้างสวนสาธารณะตั้งแต่แผนพัฒนาฉบับที่หนึ่งก็คือ กรุงเทพมหานครคือไม่มีงบประมาณมากพอที่จะซื้อที่ดินมาจัดทำสวนสาธารณะให้เพียงพอได้ โดยสวนสาธารณะหลายแห่งในกรุงเทพฯ เกิดขึ้นทั้งจากการที่กรุงเทพฯ ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลในช่วงแรกๆ รวมไปถึงเกิดจากโครงการของรัฐบาล หรือโครงการพระราชดำริโดยตรง
อันดับที่สามคือสำนักระบายน้ำ จำนวน 133,563 ล้านบาท โดยสำนักระบายน้ำนั้นดูแลทั้งเรื่องน้ำท่วมและน้ำเสีย จากข้อมูลแม้สำนักระบายน้ำจะอยู่ในอันดับที่สาม แต่จากข้อมูลข้อบัญญัติงบประมาณที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีการตั้งงบฉุกเฉิน งบกลาง หรือเงินอุดหนุนจากรัฐบาลมาใช้เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมเรื่อยมา สะท้อนให้เห็นสภาพปัญหาที่เรื้อรังของกรุงเทพฯ โดยแผนพัฒนาฉบับที่สองกล่าวไว้ว่ากรุงเทพฯ เกิดน้ำท่วมบ่อยครั้งเนื่องจากน้ำทะเลหนุนสูงและน้ำที่ไหลลงมาจากทางเหนือ รวมไปถึงการขาดประสิทธิภาพในการระบายน้ำในพื้นที่เมืองชั้นใน
ดังนั้น ปัญหาการแก้ปัญหาน้ำท่วมจึงมีทั้งมิติการใช้งบประมาณ และมิติเชิงโครงสร้างอำนาจซ้อนทับอีกที เนื่องด้วยกรุงเทพฯ เองไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้โดยลำพังหากปราศจากรัฐบาล จังหวัดรอบข้างที่เป็นทางผ่านของน้ำ ไม่ว่าจะนำทะเลหรือน้ำเหนือ แต่กรุงเทพฯ เองกลับพยายามทุ่มงบฯ ไปที่การพยายามแก้ปัญหาการระบายน้ำไปที่โครงการขนาดใหญ่อย่างเดียว ดังเช่นที่เราเห็นจากเรื่องอุโมงค์ระบายน้ำที่ล้มเหลวที่ผ่านมา
ปัญหาการใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ ที่มีมิติเชิงโครงสร้างอำนาจซ้อนทับยังมีในส่วนอื่น ๆ อีกมากมาย ดังเช่นในข้อมูลจะเห็นได้ว่าสำนักการแพทย์ สำนักการจราจรและขนส่ง หรือสำนักการศึกษา นั้นใช้งบประมาณมากเป็นอันดับรอง ๆ ลงมา แต่ในขณะเดียวกันการทำงานของแต่ละสำนักนี้ ยังซ้อนทับไปด้วยองค์กรอื่น ๆ อีกมากมาย อันเนื่องด้วยกรุงเทพฯ นั้นถือเป็นเมืองหลวงของประเทศ เช่น สำนักการจราจรและขนส่ง มีทั้งทางด่วนที่สร้างโดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ถนนวงแหวนที่เป็นผลมาจากพระราชดำริ หรือแม้กระทั่งกระทรวงคมนาคมหรือกรมทางหลวง ในขณะที่สำนักการแพทย์ก็มีกระทรวงสาธารณสุข หรือสำนักการศึกษาก็มีกระทรวงศึกษาธิการ งบประมาณฯ ของกรุงเทพฯ ที่รายเขตใช้จ่ายไปยังเรื่องการศึกษาในโรงเรียนในแต่ละเขตส่วนมากในปัจจุบันจึงเป็นเพียงเงินค่าอาหารกลางวัน ค่านม โครงการการศึกษาต่าง ๆ ที่ไม่ใช่การพัฒนาการศึกษาโดยตรง
กทม.ทุ่มงบฯ ไปกับเรื่องอะไร แล้วใครที่ถูกละเลย
จากการใช้งบประมาณรายปีของสำนักต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร จะเห็นว่า แม้สำนักการโยธาจะเป็นสำนักที่ได้งบประมาณมากเป็นอันดับหนึ่งเรื่อยมา แต่ในช่วงหลัง 10 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2555) เราจะเริ่มเห็นงบประมาณของสำนักสิ่งแวดล้อมสูงขึ้นเรื่อย ๆ และในหลาย ๆ ปีสูงกว่าสำนักการโยธาอีกด้วย เช่นเดียวกับสำนักระบายน้ำที่ตีควบคู่กันมา อย่างเช่นในงบฯ ปี 2565 นี้ที่ทั้งสามสำนักแทบจะได้งบประมาณเท่ากัน
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางอากาศ น้ำเสีย การขาดพื้นที่สีเขียว น้ำท่วม ฯลฯ กลายมาเป็นปัญหาใหญ่ของกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน ในขณะที่โครงสร้างพื้นฐานอาจจะมีนั้นมีเพียงแค่ปัญหาการบำรุงรักษา เพราะในช่วงแรกจากแผนพัฒนาฉบับแรก ๆ นั้น กรุงเทพฯ ให้ความสำคัญอย่างมากกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานไปแล้ว ปัจจุบันจึงเป็นการให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น หรือในอีกแง่หนึ่งก็อาจมองได้ว่า กรุงเทพฯ มีปัญหาเรื้อรังคือปัญหาสิ่งแวดล้อมที่แก้ไขไม่ได้สักที และหากพิจารณาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจาก งบฯ 3 สำนักที่ได้มากที่สุด คือ โยธา สิ่งแวดล้อม ระบายน้ำ ซึ่งคำนวณรวมกันแล้วมากกว่าครึ่งหนึ่งของงบฯ ทั้งหมดของกรุงเทพฯ ยิ่งจะเห็นว่ากรุงเทพฯ กำลังมีแนวโน้มหรือปัญหาในเรื่องใด
อีกมุมหนึ่งที่เห็นได้จากการจัดงบประมาณคือภาพสะท้อนความโน้มเอียงการพัฒนาไปเพื่อคนกลุ่มใดโดยเฉพาะ ในแง่หนึ่งอาจจะพูดได้ว่าการสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ หรือการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ก็เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ชาวกรุงเทพฯ ทุกคน ทั้งที่มีทะเบียนราษฎรหรือไม่มีทะเบียนราษฎร แต่ในขณะเดียวกันหากพิจารณาเปรียบเทียบกับแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ก็จะพบว่ากรุงเทพฯ แก้ปัญหาหรือพัฒนาโดยละเลยกลุ่มคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำ กลุ่มเปราะบาง กลุ่มด้อยโอกาส
โดยจะเห็นได้จากการแก้ไขปัญหาจราจรจากการสร้างถนนเพิ่ม ซึ่งมีมาตั้งแต่แผนพัฒนาฉบับที่ 1 ในปี 2518 ในขณะที่ประเด็นเรื่องทางเท้านั้นเพิ่งจะปรากฏในแผนกรุงเทพฯ 20 ปี ในปี 2552 นี่เอง หรือแม้แต่การแก้ไขปัญหารถติด ก็มีแนวนโยบายแก้ไขปัญหาด้วยการสร้างรถไฟลอยฟ้า ซึ่งมีราคาสูงอย่างที่เรารับรู้ได้ในปัจจุบัน แต่การขนส่งมวลชนขั้นพื้นฐานอย่างรถเมล์ในกรุงเทพฯ นั้นเป็นสิ่งที่ถูกละเลยมาช้านานและไม่เคยมีใครแก้ปัญหาได้ และหากดูจากข้อมูลก็จะพบว่าสำนักพัฒนาสังคมนั้น เป็นสำนักท้ายตารางที่ได้งบประมาณอย่างน้อยนิด โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสำนักเกิดใหม่อย่างสำนักวัฒนธรรมฯ และสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ปัญหาของการใช้งบประมาณของ กทม. จึงมีตั้งแต่ปัญหาเชิงโครงสร้างอำนาจการบริหารที่ซ้อนทับกันในหลายมิติ ทั้งส่วนกลาง กรุงเทพฯ หรือแม้กระทั่งกรุงเทพมหานคร กับเขตต่าง ๆ เอง ไปจนถึงแนวนโยบายการใช้งบประมาณไม่ถูกจุด ไม่ถูกที่ และละเลยผู้คนอีกมากมายในกรุงเทพมหานครแห่งนี้ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นทั้งคำถามและโจทย์ให้ผู้ว่าฯ กทม. คนต่อไปต้องขบคิดและหาทางแก้ไข เหมือนดังเช่นผู้ว่าฯ กทม.คนก่อน ๆ ได้คิดและแก้ไขเรื่อยมา แต่สำเร็จหรือไม่สำเร็จ ดีขึ้นหรือไม่ดีขึ้น มากหรือน้อยเท่าไร ประชาชนคงจะพอตัดสินกันได้จากสภาพของกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมรที่เราเห็นอยู่ในทุกวันนี้
ซีรีส์ชุด BKK101 “โครงสร้างและงบประมาณ กทม.”
- EP.1 เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ‘ประชาชน’ มีอำนาจแค่ไหน ‘ใคร’ทำงานให้เราบ้าง
- EP.2 กทม. หาเงินจากไหน? แล้วมีผลต่อทิศทางนโยบายอย่างไรบ้าง
ซีรีส์ชุด BKK101 "โครงสร้างและงบประมาณ กทม." เป็นความร่วมมือทางด้านข้อมูล ระหว่าง The Active และ Rocket Media Lab