13 ปัญหา ที่ กทม.ชวนแสดงความเห็น เดินหน้าแก้ ‘กฎหมายกรุงเทพฯ’ ใหม่

ผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ เคยเจอปัญหาอะไรกันบ้าง ? ในเมืองใหญ่แห่งนี้ The Active ชวนมอง 13 ปัญหา จากแพลตฟอร์มรับฟังความคิดเห็นของ กทม.เพื่อนำไปสู่การปรับแก้กฎหมายบริหารงานกรุงเทพมหานคร ที่ยังขาดอำนาจทางกฎหมาย เพื่อนำไปสู่การการปัญหาอย่างยั่งยืน

ขุดถนน ขุดฟุตบาท ขุดทั้งปีทั้งชาติ

เนื่องจากโครงการก่อสร้างถนนและทางเท้าหลายแห่งในกรุงเทพฯ กทม. ไม่ได้เป็นเจ้าของทั้งหมด เช่น การนำสายไฟฟ้าลงดิน เป็นอำนาจของ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) หรืออย่างการวางก่อประปาใหม่ เป็นอำนาจของ การประปานครหลวง (กปน.)

เมื่อแต่ละหน่วยงานที่ได้งบประมาณการก่อสร้าง ปรับปรุงไม่พร้อมกัน ทำให้การ ขุดแล้วขุดอีก จึงเกิดขึ้น และพื้นที่ก่อสร้างมีปัญหา กทม.ก็ไม่สามารถเข้าไปจัดการได้เช่นกัน

โดย กทม. มีข้อเสนอตั้ง กองทุนสาธารณูปโภคเมือง โดยให้อำนาจ กทม. เข้าซ่อมแซมการก่อสร้างสาธารณูปโภคที่มีปัญหาได้ทันที แม้ว่าสาธารณูปโภคนั้น ๆ จะไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของ กทม. เช่น ซ่อมผิวถนนที่มีปัญหาจากการเปิดเพื่อนำสายไฟฟ้าลงดิน ซ่อมทางเท้าที่มีปัญหาจากการเปิดเพื่อวางท่อประปาใหม่ เป็นต้น

กลับบ้านด้วยรถเมล์ โคตรเหนื่อยเลย

การบริหารจัดการขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ เช่น รถเมล์ สองแถว แท็กซี่ และตุ๊กตุ๊ก ในมิติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การกำหนดเส้นทางรถเมล์ การเปลี่ยนไปใช้รถเมล์ EV รวมถึงการควบคุมใบอนุญาตรถสาธารณะอยู่ในอำนาจของ กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ทำให้การให้บริการไม่ตอบโจทย์ความต้องการใช้งานของประชาชนในพื้นที่ และปัจจุบัน กทม. มีรถ BRT เพียงเส้นทางเดียวเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตเดินรถจากกรมการขนส่งทางบก

จึงมีข้อเสนอ ให้กฎหมายเพิ่มอำนาจให้ กทม. สามารถกำกับดูแลระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งประจำทางและไม่ประจำทาง ได้แก่ รถเมล์ สองแถว แท็กซี่ ตุ๊กตุ๊ก เช่น กำหนดเส้นทางการเดินรถ ควบคุมคุณภาพรถควบคุมราคา ออกใบอนุญาต ควบคุมพฤติกรรมการขับขี่

ใต้ทางด่วน รกร้าง มืด อันตราย

ถนน คูคลอง สะพานหลายแห่ง รวมถึงพื้นที่ใต้ทางด่วน อยู่นอกอำนาจการดูแลของ กทม. ทำให้ไม่สามารถดูแลหรือบำรุงรักษาได้ ส่งผลให้พื้นที่หลายจุดมีสภาพเสื่อมโทรม มีปัญหาไฟดับ ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ และลักลอบจอดรถ

เพิ่มอำนาจให้ กทม. บริหารจัดการ และบำรุงรักษาทางสาธารณะรวมถึงพื้นที่โดยรอบของหน่วยงานอื่นที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เช่น ที่ดินใต้ทางด่วน ที่ดินใต้รถไฟฟ้า ถนนของหน่วยงานอื่น

แท็กซี่ ตุ๊กตุ๊ก จอดแช่ริมถนน ไม่มีคนมาไล่ รถติดหนัก

การจัดการจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่า กทม. มีภารกิจในการสร้างถนนและติดตั้งไฟจราจรเท่านั้น ขณะที่การควบคุมและบังคับใช้กฎหมาย เช่น การเปิด – ปิดสัญญาณไฟจราจร การออกใบสั่ง และการจับกุมรถที่จอดในที่ห้ามจอด เป็นอำนาจของตำรวจ

เสนอว่า ต้องแก้กฎหมาย เพิ่มอำนาจให้ กทม. บริหารจัดการจราจรแบบเบ็ดเสร็จ จับ ปรับ ล็อกล้อ ยกรถเปิดปิดไฟจราจร

ขอทานเต็มเมือง

การแก้ปัญหาขอทาน และคนไร้บ้านเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ได้แก่

  • กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ ที่ดูแลคนไร้บ้าน และพาไปฟื้นฟู
  • ตำรวจนครบาล มีหน้าที่จับขอทาน
  • ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง มีหน้าที่ส่งขอทานต่างด้าวกลับประเทศ

ขณะที่ กทม. มีอำนาจหน้าที่เป็นเพียงผู้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงเสนอให้ เพิ่มอำนาจให้ กทม. ดูแลขอทาน คนไร้บ้าน อย่างเบ็ดเสร็จ โดยไม่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน

แก้ฝุ่น PM2.5 และปัญหามลพิษ อย่างยั่งยืนไม่ได้

ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องมลพิษและความยั่งยืนของกรุงเทพฯ กทม. มีอำนาจดูแลได้เพียงบางส่วนเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5

  • รถควันดำ : กทม. มีอำนาจกำกับดูแลเฉพาะรถยนต์ส่วนบุคคล 4 ล้อ แต่ไม่มีอำนาจในการควบคุมรถขนาดใหญ่ เช่น รถบรรทุกหรือรถโดยสาร ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม และกระทรวงทรัพยากรฯ
  • โรงงานอุตสาหกรรม : กทม. มีหน้าที่ตรวจสอบด้านสุขลักษณะเท่านั้น ส่วนการควบคุมมลพิษจะอยู่ในการดูแลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม

ทำให้ กทม. ไม่สามารถจัดการกับต้นตอของมลพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น กทม. เสนอเพิ่มอำนาจให้ กทม. กำกับดูแลการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน เช่น การใช้พลังงานและทรัพยากร การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การจัดการขยะ และ เพิ่มอำนาจให้ กทม. กำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิดมลพิษ เช่น ยานพาหนะ โรงงาน ให้เข้มงวดขึ้น และสามารถจับ-ปรับ-ห้ามใช้แหล่งกำเนิดมลพิษที่ไม่ได้มาตรฐาน เพื่อลดปัญหาฝุ่น PM2.5 และปัญหามลพิษอย่างยั่งยืน

เปิดผับถูกกฎหมาย ทำไมยากจัง

แม้ว่าเศรษฐกิจกลางคืนในกรุงเทพฯ เติบโตคึกคัก แต่ กทม. ไม่มีอำนาจจัดการใบอนุญาตสถานบริการและโรงแรมเหมือนผู้ว่าราชการจังหวัดอื่น และปัจจุบัน ย่านสถานบริการที่กฎหมายรับรองในพื้นที่กรุงเทพฯ มีเพียง 3 พื้นที่ ได้แก่ พัฒน์พงษ์ รัชดาภิเษก และเพชรบุรีตัดใหม่ (RCA) ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไป

ข้อเสนอ คือ เพิ่มอำนาจให้ กทม. ออกใบอนุญาตสถานบริการและโรงแรมในกรุงเทพฯ เพื่อให้สามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาของเมืองได้

ธุรกิจสีเทาเต็มเมือง ขาดการควบคุมจากรัฐ

กทม. ไม่มีอำนาจจัดการธุรกิจผิดกฎหมาย ทำให้ไม่สามารถควบคุมและป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสังคมได้

เสนอ เพิ่มอำนาจให้ กทม. ตรวจสอบและดำเนินการกับธุรกิจผิดกฎหมายในพื้นที่ได้ทันที เพื่อควบคุมและจัดการปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องรอหน่วยงานอื่น

นักท่องเที่ยวล้นเมือง แต่เก็บภาษีโรงแรม ไม่ได้

ตาม พ.ร.บ.กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ไม่เปิดโอกาสให้ กทม.สามารถเก็บภาษีท้องถิ่นบางประเภทเช่น ภาษีโรงแรมและภาษีบุหรี่ ในขณะที่จังหวัดอื่น ๆ สามารถทำได้ ตัวอย่างภาษีที่ กทม. เก็บได้ในปัจจุบัน

  • ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
  • ภาษีป้าย

เสนอ เพิ่มอำนาจให้ กทม. จัดเก็บรายได้ทั้งในรูปแบบภาษีและค่าธรรมเนียม เช่น

  • ภาษีบุหรี่
  • ภาษีโรงแรม
  • ภาษีมลพิษ
  • ภาษีสนามบินและผู้มาเยือน
  • ค่าธรรมเนียมสำหรับรถยนต์เก่า
  • ค่าธรรมเนียมการตั้งวางสิ่งของในที่สาธารณะ

ทำธุรกิจ/งานสร้างสรรค์ ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ เอกชนต้องทำกันเอง

กทม. ไม่สามารถอุดหนุนเงินแก่บุคคลหรือองค์กรที่มีไอเดีย และความเชี่ยวชาญในสาขางานสร้างสรรค์ต่าง ๆ เช่น ศิลปิน นักประดิษฐ์ หรือผู้ประกอบการรายย่อย และไม่สามารถร่วมกับเอกชนจัดกิจกรรมส่งเสริมงานสร้างสรรค์ในเชิงพาณิชย์ได้

เสนอว่า เพิ่มอำนาจให้ กทม. สามารถให้ทุนสนับสนุนเศรษฐกิจเมือง ทั้งเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงทุนศึกษาวิจัย เปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ทำกิจกรรมส่งเสริมเศรษฐกิจได้

ไม่อยากส่งลูกหลานมา โรงเรียนสังกัด กทม. กลัวจะไม่มีคุณภาพ

การพัฒนาคุณภาพการศึกษาโรงเรียนสังกัด กทม. ยังทำได้อย่างมีขีดจำกัด เพราะแม้ว่า กทม.จะสามารถปรับแผนการเรียนการสอนได้เอง แต่กรอบการวัดประเมินผลทั้งของนักเรียน ครู และการประเมินผลโรงเรียน ยังอยู่ภายใต้กรอบของกระทรวงศึกษาธิการ ทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ยาก เพราะต้อง ห่วงหน้า ที่อยากสร้างการเปลี่ยนแปลง และคอย พะวงหลัง ที่ยังต้องรักษาผลการประเมินตามเกณฑ์

ที่ผ่านมา กทม.เข้าร่วมพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา (จำนวน 66 โรงเรียน) เพื่อหวังจะปลดล็อคเรื่องดังกล่าว แต่ สุดท้ายยังติดข้อจำกัดเรื่องการประเมินที่ทำให้โรงเรียนที่เข้าร่วม ต้องแบกรับภาระ 2 ทาง คือแบบประเมินเดิมที่ใช้อยู่ และแบบประเมินใหม่ที่อยากให้เป็น

จึงเสนอเพิ่มอำนาจให้ กทม. ออกแบบการประเมินผลการเรียน ออกแบบหลักสูตร และคัดเลือกครู ได้อย่างอิสระ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ และทันต่อสถานการณ์โลก

กรุงเทพฯ มีพื้นที่หลากหลาย ต้องการคนเข้าใจบริบทพื้นที่มาบริหาร

กรุงเทพฯ ถือเป็นมหานครที่มีขนาดใหญ่อันดับที่ 15 ของโลก มีเนื้อที่กว่า 1,568.7 ตร.กม. โดยแต่ละพื้นที่ในกรุงเทพฯ ก็มีอัตลักษณ์ ปัญหา ทรัพยากร ที่แตกต่างกัน แต่ละพื้นที่จึงต้องการทั้งผู้ที่มีความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย และผู้ที่เข้าใจบริบทของพื้นที่เป็นอย่างดี เข้ามาทำงานร่วมกัน

ทางออก คือ เพิ่มการเลือกตั้ง สก. ให้มีสัดส่วนผู้เชี่ยวชาญเชิงประเด็น เพื่อมาเป็นฝ่ายนิติบัญญัติร่วมกับผู้เชี่ยวชาญเชิงพื้นที่ (สก. แบบแบ่งเขต)

รวมทั้ง แบ่งการบริหารกรุงเทพมหานครเป็น 2 ชั้น โดยเพิ่มชั้น นคร ซึ่งมาจากการรวมกลุ่มเขตที่มีบริบทคล้ายกัน และอิงการบริหารจากโมเดลเทศบาล เพื่อกระจายอำนาจ และงบประมาณ โดยสมาชิกสภานครมาจากการเลือกตั้งทางตรง ส่วนนายกนครมาจากการเลือกตั้งของสภานคร

โครงสร้างราชการ ไม่ตอบโจทย์

กล่าวคือ โครงสร้างระบบราชการ ทั้งข้าราชการการเมือง และข้าราชการประจำ ไม่สอดคล้องกับภาระงานจริง และไม่สามารถตอบสนองความต้องการของคนกรุงเทพฯ ได้ทั้งหมด

ยกตัวอย่างเช่น

  • ข้าราชการการเมือง : มีรองผู้ว่าฯ ไม่เกิน 4 คน (แต่ละคนต้องดูแลมากถึง 5-8 หน่วยงาน) และมีตำแหน่งผู้ช่วยเลขาฯ (ทีมงาน) ได้ไม่เกิน 4 คน ทำให้ไม่สอดคล้องกับภาระงานจริง
  • ข้าราชการประจำ : มีระบบผู้บริหารหลายชั้น ตั้งแต่ ผอ.ส่วน ผอ.สำนักงาน รอง ผอ.สำนักผอ.สำนัก ผู้ช่วยปลัด รองปลัด ปลัด ทำให้การขับเคลื่อนงานเป็นไปได้ช้า

เสนอว่า

  • ปรับโครงสร้างข้าราชการการเมือง ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติให้มีสัดส่วนที่ปรึกษา รองผู้ว่า และผู้ช่วยทำงานให้เหมาะสมกับเนื้องาน
  • ปรับโครงสร้างข้าราชการประจำ ลดจำนวนตำแหน่งข้าราชการระดับบริหาร ให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น  

ข้อเสนอเหล่านี้ นอกจากประชาชนจะเข้าไปกดเลือก เห็นด้วย หรือ ไม่เห็นด้วย กับแนวทางที่ กทม. เสนอ ผ่านเว็บไซต์ 2528.bangkok.go.th แล้ว ประชาชนสามารถเข้าไปแสดงความเห็นเพิ่มเติมได้อีกด้วย ซึ่งคณะทำงานของ กทม. จะนำข้อมูลไปรวมรวม สรุป และนำไปปรับในร่าง พ.ร.บ. กรุงเทพมหานคร ของ กทม. ในอนาคต

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธนธร จิรรุจิเรข

สงสัยว่าตัวเองอยากเป็นนักวิเคราะห์ data ที่เขียนได้นิดหน่อย หรือนักเขียนที่วิเคราะห์ data ได้นิดหน่อยกันแน่