วิสัยทัศน์ว่าที่ ‘ผู้ว่าฯ กทม.’ ตอบโจทย์คนกรุงเทพฯ หรือไม่ ?
แม้ยังไม่มีกำหนดการเลือกตั้งที่ชัดเจน แต่แคนดิเดตผู้สมัครที่ประกาศตัวลงชิงตำแหน่ง “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” ในครั้งนี้ เดินหน้าหาเสียง ลงพื้นที่ สร้างแนวร่วมเพื่อวาดภาพ ‘กรุงเทพฯ’ ในจินตนาการอย่างจริงจัง
นโยบายและวิสัยทัศน์ ของ 4 ว่าที่ผู้สมัครจะตอบโจทย์คนกรุงเทพฯ หรือไม่ คนกรุงเทพฯ เท่านั้น ที่เป็นผู้ตัดสิน
The Active นำบางช่วงบางตอนของว่าที่ผู้สมัครชิงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จาก รายการตอบโจทย์ ออกอากาศทาง Thai PBS เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เรียบเรียงเพื่อให้เห็นวิสัยทัศน์ของทั้ง 4 คน
“ต้องกระจายอำนาจ ให้เจ้าของพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม ที่ผ่านมากรุงเทพฯ ถูกรับเหมาทำแทนทั้งหมด มีบิ๊กโปรเจกต์เยอะมาก แต่ไม่เคยถามเลยว่าชาวบ้านได้ประโยชน์จริงไหม งบประมาณที่ใช้ไป แก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ ทั้งที่เรื่องสำคัญ คือ การทำมาหากิน แต่ไม่ได้รับความใส่ใจเลย”
รสนา โตสิตระกูล ว่าที่ผู้สมัครอิสระ ถือเป็นบุคคลแรกที่ประกาศตัวลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ตั้งแต่ปี 2562 ด้วยความตั้งใจ และเป็นคนทำงานทางสังคม ยึดมั่นในการเมืองภาคประชาชน รสนา กล่าวว่า ไม่ว่าจะตนจะอยู่ในตำแหน่งใด แต่ที่สนใจมากที่สุด คือ การบริหารงาน กทม. อย่างมีธรรมาภิบาล สิ่งสำคัญ คือ การกระจายอำนาจให้กับประชาชน ได้มีส่วนร่วมในการปรึกษาหารือ ที่ผ่าน กทม. ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน อย่างมีนัยสำคัญ การเมืองจะพัฒนาได้ ต้องสร้างพลเมืองตื่นรู้ หรือ Active Citizen ให้เจ้าของพื้นที่เข้ามากำหนด
รสนา มองนโยบายสำคัญของผู้ว่าฯ กทม. คือ การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้คนกรุง หลังวิกฤตโควิด-19 การทำมาหากินของคนกรุงเทพฯ จะเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด หากเราสามารถลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้กับทุกชีวิตได้ คุณภาพชีวิตก็ดีไปด้วย ที่ผ่านมาเรื่องนี้ได้รับความสนใจน้อย งบประมาณน้อย เพราะเอาไปทุ่มกับการสร้างโครงการขนาดใหญ่ ที่ไม่เคยประเมินว่าสามารถแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ จำเป็นที่เราต้องทำงานเหล่านี้ให้เกิดการตรวจสอบ
“เราจะทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน แต่ตอนนี้เป็นสำหรับบางคนเท่านั้น ทำอย่างไรให้คนตัวเล็กตัวน้อยเข้มแข็งขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี และผู้ว่าฯ ต้องมีบทบาทด้านเศรษฐกิจด้วย พัฒนาตลาดแรงงาน โดยมองประชาชนเป็นแนวร่วม ไม่ใช่ภาระ”
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้สมัครอิสระ ที่ประกาศตัวตามกันมาไม่นานในปีเดียวกัน ชัชชาติสร้างภาพจำสำคัญให้กับคนกรุงเทพฯ ในฐานะผู้ท้าชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ชัชชาติ นำเสนอวิสัยทัศน์ ที่ต้องการสร้างให้กรุงเทพฯ เป็น ‘เมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน’ ไม่ว่าจะเป็นคนระดับใด ฐานะใด ต้องใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ได้อย่างสะดวกสบาย และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งเรื่องอากาศ รถติด ทางเดินเท้า เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เป็นหลักในการขับเคลื่อนเมือง
นอกจากนั้น ชัชชาติ มองว่าปัญหาด้านเศรษฐกิจ เป็นปัญหาสำคัญ และที่ผ่านมาผู้ว่าฯ กทม. ไม่มีบทบาทในเรื่องนี้เลย ทั้งที่ผู้คนเข้ามาในกรุงเทพฯ เพราะเป็นตลาดแรงงานขนาดใหญ่ เราจะทำอย่างไรให้คนตัวเล็กตัวน้อยเข้มแข็งขึ้น โจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย และตนมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญพร้อมวางนโยบายในเรื่องนี้ และต้องสร้างระบบเส้นเลือดฝอย รองรับชีวิตคนกรุง ที่เผชิญคงามทุกข์อยู่หน้าบ้าน ทั้ง ทางระบายน้ำ คูคลอง ทางเดิน จุดเปราะบางเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข
“เราต้องเปลี่ยนกรุงเทพฯ ถ้าไม่ทำ จะยากขึ้นทุกวัน ผู้ว่าฯ ต้องอาศัยความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ผมโชคดีที่มีประสบการณ์วิศวกรรมมายาวนาน เพราะ กทม. ล้วนเกี่ยวกับด้านนี้ น้ำท่วม อาคาร สิ่งแวดล้อม รถไฟฟ้า ผู้ว่าต้องมีรากฐานด้านนี้ ไม่เช่นนั้นลำบาก ”
สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ว่าที่ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ นำเสนอวิสัยทัศน์ ‘เปลี่ยนกรุงเทพฯ’ ที่มีปัญหาสะสมมากมาย หากไม่เริ่มทำจะยิ่งยากมากขึ้น ผู้ว่าฯ กทม. คนต่อไปจึงต้องละเอียดกับงาน และรู้การทำงานทุกอย่าง จึงต้องอาศัยความรู้ ความรู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ตนโชคดีที่มีประสบการณ์การทำงานด้านวิศวกรรมมายาวนาน และมองว่างานพัฒนาใน กทม. เกี่ยวข้องกับด้านนี้ ทั้ง การแก้ปัญหาน้ำท่วม รถติด จัดการอาคาร รวมถึงสิ่งแวดล้อม หากผู้ว่าฯ ไม่มีพื้นฐานทางด้านนี้จึงยากมาก
สุชัชวีร์ มองว่า ‘หัวใจของเมือง คือ คน’ ถ้าจะแก้ปัญหาคน ต้องลงทุนที่ เด็กเล็ก จากประสบการณ์บริหารโรงเรียน และมหาวิทยาลัยทำให้ตนเชี่ยวชาญ และจะสามารถวางรากฐานคุณภาพคนได้ นโยบาย จะเปลี่ยนชีวิตคน และเปลี่ยนเมือง นอกจากนั้นตนยังตั้งใจทำ กองทุนการจ้างงานในชุมชน การพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตฟรีทุกคน ยกระดับเศรษฐกิจในกรุงเทพฯ ด้วยจุดเด่นด้านเทศกาลที่สำคัญ และมีคุณค่าเพื่อโปรโมทเมือง ดึงดูดนักท่องเที่ยว
“วันนี้ประชาชนไม่ได้ต้องการผู้ว่าฯ ที่มีเทคนิคเลิศล้ำอะไร แต่ต้องการคนที่กล้ายืนเคียงข้างประชาชน มีเจตจำนงที่จะปกป้องผลประโยชน์ของคน กทม. ที่ถูกพรากไปจากนายทุน ส่วย ใบอนุญาต ต้องถูกรีดไถทุกวัน ผู้ว่าฯ ต้องไม่เกรงใจใคร เกรงใจแค่คนกรุงเทพฯ เท่านั้น”
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล เสนอวิสัยทัศน์อย่างตรงไปตรงมาว่า แท้ที่จริงแล้ว ทุกคนรู้ปัญหาในกรุงเทพฯทั้งหมด ว่าที่ผ่านมา กทม. เป็นรัฐเจ้านายของประชาชน และมีปัญหาด้านบริการ คำถาม คือ ทำไมจึงแก้ไม่ได้ ติดอุปสรรคอะไร สิ่งที่ไม่มีคนกล้าพูด คือ ความไม่เป็นธรรมของนายทุน คนกรุงเทพฯ ต้องจ่ายเงินสินบนให้ใคร เกิดเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่สมควรต้องจ่าย ในสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่แบบนี้ การขอใบอนุญาต ที่ต้องแลกมาด้วยค่าผ่านทาง นี่คือสิ่งที่ไม่มีคนกล้าพูด แต่ผู้ว่าฯ ต้องกล้าชนกับเรื่องนี้
เรื่องคุณภาพชีวิต วิโรจน์ มองว่า คนกรุงเทพฯ ไม่ได้มองที่โครงการใหญ่โต แต่มองปัญหาหน้าบ้าน ปัญหาในตรอก ซอก ซอย ต่าง ๆ ที่สมควรได้รับการแก้ไข ทำให้คนเดินเท้าปลอดภัย สัญจรไปมาได้ มีรถเมล์ที่มีคุณภาพ การเดินทางที่สะดวก และราคาประหยัด เป็นธรรม ไม่เอื้อนายทุน
ผู้ว่าฯ กทม. ไร้อำนาจ จะแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ ?
ต่อคำถามนี้ รสนา กล่าวว่า แม้ไม่มีอำนาจ เป็นผู้ว่าฯ ต้องหาช่องทางเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน เพราะอำนาจของผู้ว่าฯ นั้นมาจากประชาชน จึงไม่ควรมองว่าเราไม่มีอำนาจ จึงไม่ดำเนินการในเรื่องนั้น ประชาชนเลือกผู้ว่าฯ เพื่อให้เข้าไปทำในสิ่งที่ยาก และไม่มีใครทำได้ เพราะฉะนั้น หากสิ่งนั้นเป็นเจตจำนงของประชาชน ก็เป็นสิ่งที่ผู้ว่าฯ ต้องทำให้ได้
เช่นเดียวกับ ชัชชาติ ที่กล่าวว่า แม้กฎหมายบางเรื่องไม่ได้เขียนให้อำนาจผู้ว่าฯ เอาไว้ แต่ไม่สามารถปฏิเสธการเป็น ‘เจ้าภาพ’ ได้ แม้สั่งการไม่ได้ ยังต้องทำหน้าที่ประสานงาน เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาพูดคุยหาทางออก ผู้ว่าฯ ต้องยอมรับเงื่อนไขของข้อจำกัดนี้ และทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด โดยเอาประชาชนเป็นหลัก เมื่อเกิดปัญหา ต้องกล้าตัดสินใจ สั่งการ
ในขณะที่ สุชัชวีร์ มองว่า ก่อนที่หน่วยงานต่าง ๆ จะเข้ามาดำเนินการในพื้นที่กรุงเทพฯ ล้วนผ่านการอนุญาต และขอความช่วยเหลือมาที่ผู้ว่าฯ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ตำแหน่งนี้สามารถประสานงาน ขอความช่วยเหลือทุกหน่วยงานได้ แม้กฎหมายใหญ่จะไม่ได้ให้อำนาจ แต่การจัดการในระดับพื้นที่เป็นอำนาจของผู้ว่าฯ ที่ต้องดูแล
รวมถึง วิโรจน์ ที่ประกาศว่า หมดเวลาของผู้ว่าฯ ที่ยอมจำนนต่อปัญหา แล้วปล่อยให้คนกรุงเทพฯ เผชิญกับชะตากรรมที่เลวร้าย คือ ไม่ใช่อำนาจ ก็ไม่ดำเนินการอะไรเลย ประสานเสร็จ ถือว่า จบหน้าที่ หากเป็นแบบนี้ต่อไป คนกรุงเทพฯ จะขาดที่พึ่ง และบริหารงานทุกอย่างด้วยระบบราชการ
นับได้ว่าแคนดิเดต ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ในครั้งนี้ เกิดการพูดคุยกันอย่างกว้างขวางว่าเป็น ‘ตัวเลือก’ ที่สมน้ำสมเนื้อ ทุกคนมีจุดเด่น และจุดยืนของตัวเองที่ชัดเจน มีความเชี่ยวชาญ และสิ่งที่ถนัดแบบเห็นได้ชัด จึงนับเป็นสัญญาณทางการเมืองคุณภาพที่น่าจับตาหลังจากนี้ หากกระทรวงมหาดไทย โดยคณะรัฐมนตรีกำหนดวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อไหร่ นั่นอาจเป็นตัวชี้วัดสำคัญ ในการพัฒนา ‘กรุงเทพมหานคร’ ในอนาคต