เช็คลิสต์ สวนสาธารณะเปิดใหม่ 13 แห่ง ของ กทม.

จะดีแค่ไหน ? ถ้ามีสวนสาธารณะ เข้าถึงง่าย ใกล้บ้านคุณ

นโยบายด้านการเพิ่ม พื้นที่สีเขียว เพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมของเมือง เป็น 1 ในวิสัยทัศน์สำคัญของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มาตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการปลูกต้นไม้ล้านต้นสร้างกำแพงดักฝุ่น การเพิ่มจัดให้มีรุกขกรดูแลต้นไม้ใหญ่ทุกเขตพื้นที่ รวมถึงการเพิ่มพื้นที่สวน 15 นาทีเข้าถึงง่ายใกล้บ้าน

ดำเนินงานผ่านไปราว 6-7 เดือน วันที่ 9 ม.ค. 66 มียอดจองปลูกต้นไม้ถึง 1,641,310 ต้น ปลูกไปแล้วทั้งหมด 227,009 ต้น มีรุกขกรประจำพื้นที่ 5 คน และมี สวน 15 นาทีเปิดใหม่แล้ว 13 แห่ง ราว ๆ 21 ไร่ เป็นที่ไหนบ้าง มาดูพร้อมกันเลย !

สวนเปิดใหม่ตามนโยบายสวน 15 นาที มีดังนี้

  1. เขตดุสิต หน้าคณะแพทย์ศาสตร์วชิรพยาบาล ขนาด 1 ไร่
  2. เขตดินแดง สถานีดับเพลิงสุทธิสาร ขนาด 3 งาน
  3. เขตวัฒนา ซอยทองหล่อ 10 ขนาด 25 ตร.ว.
  4. เขตพระโขนง ซอยสุขุมวิท 62/3 ขนาด 20 ตร.ว.
  5. เขตพระโขนง ซอยวชิรธรรมฯ 27 ขนาด 32 ตร.ว.
  6. เขตบางรัก พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก ขนาด 100 ตร.ว.
  7. เขตคันนายาว สวนสุขใจ ขนาด 3 ไร่ 3 งาน 55.47 ตร.ว.
  8. เขตลาดกระบัง จุดพักรถลาดกระบัง ขนาด 5 ไร่
  9. เขตบางกอกน้อย ใต้สะพานบางขุนศรี ขนาด 1 งาน
  10. เขตบางขุนเทียน เคหะธนฯ โครการ 1/4 ขนาด 1 งาน 50 ตร.ว.
  11. เขตบางขุนเทียน สวนสมเด็จย่า ขนาด 5 ไร่
  12. เขตราษฎร์บูรณะ สวนสุขเวชชวนารมย์ ขนาด 2 ไร่ 3 งาน 23 ตร.ว.
  13. เขตบางบอน สวนบางบอนสุขใจ ขนาด 1 ไร่ 2 งาน 5 ตร.ว.

รวม 13 สวน 21 ไร่ 10.47 ตร.ว.

จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เดิมสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานครมีจำนวนมาก หลายแห่งเป็นสวนที่มีขนาดใหญ่ มีสภาพเหมาะสมสมบูรณ์ดี แต่ปัญหาคือ สวนที่มีอยู่เดิมราว ๆ 36 แห่ง ประชาชนบางกลุ่มอาจจะเข้าถึงได้ยาก เพราะฉะนั้นจึงมีนโยบายสวน 15 นาทีเกิดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์คือให้ประชาชนสามารถใช้บริการสวนสาธารณะใกล้บ้านได้ในระยะเวลาเดินทางไม่เกิน 15 นาที หรือระยะทางการเดินไม่เกิน 800 เมตร

“ถ้าเกิดเราสามารถกระจายสวนขนาดเล็ก กระจายตัวหลายพื้นที่ให้ประชาชนสามารถนั่งเล่นได้ เดินเล่นได้ ออกกำลังกายได้ แต่อยู่ให้ใกล้บ้านมากที่สุด ก็จะเกิดผลดีกับประชาชน ซึ่งหลังจากที่ดำเนินการหาพื้นที่ วันนี้ได้มาแล้ว 107 แห่ง ประมาณ 659 ไร่ ในจำนวนนี้เป็นที่ดินของ กทม. 42 แห่ง ที่ดินรัฐ 38 แห่ง กับอีก 27 แห่งเป็นที่ดินที่เอกชนยอนยอมให้เข้าไปปรับปรุงโดยไม่คิดค่าเช่าพื้นที่ อาจจะมีการให้ใช้ตามระยะเวลาที่ตกลงกัน เช่น 7 ปี 10 ปี 19 ปี”

หลังจากได้ที่ดินมาแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการออกแบบ ซึ่งการออกแบบของกรุงเทพมหานครเน้นการมีส่วนร่วม เช่น ถ้าที่ดินนั้นอยู่ตรงบริเวณชุมชนไหน ก็ให้ชาวชุมชนในบริเวณนั้นได้มีโอกาสเข้ามาแสดงความคิดเห็นว่าเขาต้องการมีส่วนพัฒนาอย่างไร ต้องการใช้บริการอย่างไร เพื่อออกแบบร่วมกัน และในขณะที่ปรับปรุงสวน จะไม่ได้เน้นการใช้งบประมาณจำนวนมาก เพราะสภาพสวนบางแห่งอาจจะปรับปรุงไม่มากก็สามารถใช้ประโยชน์ได้แล้ว ทำให้วันนี้สามารถเปิดสวนแห่งใหม่ได้ 13 แห่ง ทั่วทั้ง 50 เขตของกรุงเทพมหานคร

สำหรับตอนนี้ สวนอื่น ๆ ได้เริ่มดำเนินการปรับปรุงแล้ว 47 แห่ง อยู่ระหว่างการปรับพื้นที่และออกแบบ 29 แห่ง อยู่ระหว่างการขอใช้ที่ดิน 18 แห่ง ซึ่งคาดว่า ปี 2565 เปิดให้บริการเพิ่ม 57 แห่ง ปี 2566 เปิดให้บริการเพิ่ม 26 แห่ง ปี 2567 เปิดให้บริการเพิ่ม 18 แห่ง ปี 2568 เปิดให้บริการเพิ่ม 6 แห่ง = พื้นที่เป้าหมาย 107 แห่ง เข้าร่วมโครงการ สวน 15 นาที รวมกว่า 659 ไร่

“ปี 2566 นี้ เราคาดว่าจะสามารถเปิดสวน 15 นาทีได้เพิ่มอีก 40-50 แห่ง การที่เราจะเปิดมาหรือน้อยอยู่ที่สถานที่ที่ได้รับมา สมมติว่าเราได้ที่ดินมาหลายแปลง เราก็จะปรับปรุงที่ดินบริเวณนั้นให้สามารถเปิดให้บริการได้เร็วที่สุดเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนที่ต้องการพื้นที่สีเขียวสำหรับออกกำลังกาย เดินเล่น หรือพักผ่อนในยามว่าง ของประชาชนที่อยู่ในชุมชนต่าง ๆ”

จำนวนพื้นที่ทั้ง 107 แห่ง ในพื้นที่กรรมสิทธิ์การกรุงเทพมหานครสามารถใช้ได้ตลอดไป ซึ่งมีทั้งหมด 42 แปลง ขนาด 240-3-80.20 ไร่ ที่ดินภาครัฐ/รัฐวิสาหกิจ 38 แห่ง ขนาด 128-3-39.47 ไร่ ความจริงแล้วอาจจะเป็นของกรมทางหลวง การทางพิเศษ กรมทางหลวงชนบท ส่วนใหญ่ก็อนุญาตให้ใช้ได้ตลอดไปเพียงแต่อาจจะมีการทำสัญญาอนุญาตรายปี แต่ก็ไม่ได้มีหน่วยงานราชการไหนขอที่ดินคืนถ้าไม่มีความจำเป็น ส่วนกรณีที่เป็นพื้นที่ของเอกชน 27 แห่ง ขนาด 290-0-63.50 ไร่ ก็มีการระบุตกลงปีที่อนุญาตต่างกันไป ไม่น้อยกว่า 7 ปี สูงสุดจากข้อมูลที่ได้รับมาเกือบ 20 ปีก็มี และเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่

“จำนวนงบประมาณหรือแรงงานที่ กทม. จะนำเข้าไปปรับปรุงก็จะสอดคล้องกับจำนวนปีที่เราจะได้ เพราะถ้าเราลงทุนจำนวนมาก และใช้ได้ไม่กี่ปีก็ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ในแง่ของหลักงบประมาณ แต่ถ้าคำนวนแล้วว่าประชาชนได้ประโยชน์มากก็คุ้มค่ากับการลงทุน โดยงบประมาณที่ใช้ที่ผ่านมาบางแห่งใช้เงินปรับปรุงแค่แสนสองแสน บางแห่งไม่ใช้งบประมาณเลย เพราะใช้แรงงานของ กทม. ความร่วมมือชาวบ้านพัฒนาตรงนั้น วันนี้เราตั้งงบฯไว้ไม่ตายตัวอยู่ที่การออกแบบแต่ละพื้นที่ ขณะนี้เราใช้ปรับปรุงสวน 13 แห่งไม่ถึง 5 ล้านบาท ส่วนงบประมาณที่ตั้งไว้โดยรวมแต่ละปีประมาณ 30 ล้านบาท แต่ใช้ไม่ถึงก็มี พื้นที่บางแห่งไม่ได้ใช้เงินด้วยซ้ำไป

จากข้อมูลพบว่า ต้นไม้ 1 ต้น สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้เพิ่มขึ้น 9-15 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งต้นไม้สามารถดูดซับฝุ่นละอองผ่านทางใบ และเปลือก หรือลำต้น นอกจากนั้นการปลูกต้นไม้เพิ่มยังเป็นการพัฒนาคุณภาพอากาศ ซึ่งการปลูกต้นไม้เพิ่ม 1 ต้น สามารถเพิ่มการผลิตออกซิเจนได้สำหรับ 2 คนต่อปี ต้นไม้ที่ดักจับฝุ่นโดยเฉพาะ PM2.5 เช่น พิกุล ตีนตุ๊กแก เล็บมือนาง แปรงล้างขวด เป็นต้น

“กรุงเทพมหานครมีแผนที่จะดำเนินการแก้ไขเรื่องฝุ่น 16 แผนงาน ตั้งแต่สำรวจหาแหล่งกำเนิดฝุ่น ประสานงานกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหา แต่ขณะเดียวกันการที่เราเพิ่มจำนวนพื้นที่สีเขียวมากขึ้น คือการลดจำนวนฝุ่นด้วยอีกแนวทางหนึ่ง การปลูกต้นไม้เพิ่ม การขยายพื้นที่สีเขียวเพิ่ม คือการแก้ไขปัญหาเรื่องฝุ่น”

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวทิ้งท้ายว่า ในเบื้องต้นที่ดิน 107 แห่งนี้ มีความเหมาะสมที่จะเดินหน้าปรับปรุงให้บริการ และมั่นใจว่าจะมีโอกาสเพิ่มพื้นที่แปลงมากขึ้น เมื่อครบวาระการดำเนินการ ปี 2569 น่าจะมีสวน 15 นาทีเปิดใหม่กว่า 150 แห่ง แต่เนื้อที่เล็กใหญ่อาจจะต่างกันไป ตามความเหมาะสมที่ประชาชนจะสามารถเข้าถึงได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์