ท่ามกลางสนาม เลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) และ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ที่กำลังหาเสียงกันอย่างเข้มข้นเพื่อดึงดูดความสนใจประชาชนช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเข้าคูหา 22 พ.ค. 2565
“การพัฒนาทุนมนุษย์ช่วงปฐมวัย” เป็นหนึ่งในนโยบายที่ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หลายคนให้ความสำคัญ เพื่อชูวิสัยทัศน์การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของคนเมือง
The Active ชวนดูนโยบาย “สนับสนุนเด็กเล็ก” ที่มีผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พูดถึง 8 คน จากที่เหลือทั้งหมด 30 คน ลองมาดูกันว่า มีผู้สมัครคนไหนเสนออะไรบ้าง ?
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร เบอร์ 1
ภายใต้สโลแกน “เมืองที่คนเท่ากัน” ของ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ได้นำเสนอเพิ่มค่าเลี้ยงดูเด็กเล็กวัย 0-6 ปี ที่รัฐบาลช่วยค่าเลี้ยงดูเฉพาะเด็กจากครอบครัวยากจนคนละ 600 บาท/เดือน ให้เด็ก กทม. วัย 0-6 ปีทุกคน ได้ค่าเลี้ยงดูคนละ 1,200 บาท/เดือน โดยสวัสดิการนี้จะจัดสรรจากงบประมาณผ่านการเก็บภาษีที่ดิน
เพิ่มจำนวนศูนย์รับเลี้ยงเด็ก เพื่อลดภาระผู้ปกครองและแก้ปัญหาพื้นที่ขาดแคลนศูนย์รับเลี้ยงที่ทำให้ผู้ปกครองต้องเดินทางฝากเด็กไกลบ้าน เป็นอีกนโยบายที่ วิโรจน์ นำเสนอ และจะพัฒนาศูนย์เด็กเล็กในสังกัด กทม. ที่มีอยู่แล้ว 291 แห่งให้มีคุณภาพ โดยจะลงทุนอัปเกรดศูนย์ละ 5 ล้านบาท เพื่อทำคุณภาพให้เท่าเอกชน และจะจัดงบฯ ลงทุนให้ศูนย์ละ 5 ล้านบาทตลอด 4 ปี
นอกจากนี้เขาจะเพิ่มสวัสดิการให้ครูผู้ดูแลเด็ก ที่ปัจจุบันถูกจ้างในฐานะ “อาสาสมัคร” และต่อสัญญากับสำนักงานเขตแบบปีต่อปี ไม่มีสถานะแม้กระทั่ง “ลูกจ้างชั่วคราว” ที่ให้เงินเดือนตามวุฒิ คือ ม.6 หรือ ปวช. 8,600 บาท อนุปริญญา หรือ ปวส. 10,000 บาท และปริญญาตรี 15,000 บาท ไม่มีปรับขึ้นเงินเดือนตลอดอายุการทำงาน ไม่มีปิดเทอม และหากลาหยุดงานถูกหักค่าจ้างรายวัน ไปเป็นการทำ “สัญญาจ้างประจำ” ให้กับครูและพี่เลี้ยงประจำศูนย์ รวมทั้งจะเพิ่มการจ้างครูสำหรับเด็กพิเศษที่พัฒนาการช้า
สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ เบอร์ 4
ภายใต้สโลแกน “เปลี่ยนกรุงเทพฯ เราทำได้” ของ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ได้นำเสนอนโยบาย “เพิ่มเงินอุดหนุนเด็ก 1-6 ปี” เดือนละ 600 บาท ให้เด็ก กทม. ทุกคน จากเดิมที่รัฐบาลให้เงินอุดหนุนเพียงแค่บางคน
นโยบายต่อมา คือ “ตรวจสุขภาพเด็กฟรี พร้อมกับฉีดวัคซีนฟรี” 8 ชนิดที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ เพิ่มเติมวัคซีนป้องกันอีสุกอีใส วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 3 โรคสำคัญที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตจำนวนมากและจะเป็นอันตรายมากขึ้นเมื่อติดโรคตอนเป็นผู้ใหญ่
“อาหารดี มีคุณภาพ” เป็นอีกนโยบายที่ สุชัชวีร์ จะเพิ่มค่าอาหารในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนจากวันละ 20 บาท เป็น 40 บาท ให้เด็กได้รับประทานอาหารที่ดี เพียงพอ และเติบโตได้สมวัย
รสนา โตสิตระกูล เบอร์ 7
ภายใต้สโลแกน “ต้องหยุดโกง กรุงเทพฯ เปลี่ยนแน่” ของ รสนา โตสิตระกูล นำเสนอนโยบาย “สนับสนุนแม่และเด็กเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ” เธอระบุข้อมูลจากการลงพื้นที่ชุมชน พบว่ามีเด็กเล็กในครอบครัวรายได้น้อยจำนวนมากต้องดื่มนมข้นหวานแทนนมแม่และนมผงที่มีคุณค่าทางโภชนาการ การทำให้แม่และเด็กทุกคนมีโอกาสเท่ากัน เป็นสิ่งที่เธอเสนอว่าจะทำให้เกิดขึ้นจริง
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เบอร์ 8
ภายใต้สโลแกน “กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” ของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้นำเสนอนโยบายในมิติ “เรียนดี” โดยจะเพิ่มการจัดตั้งศูนย์ดูแลเด็กอ่อนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโดยเฉพาะศูนย์ขนาดเล็กในชุมชน ศูนย์บริการตามแหล่งงานให้มีความครอบคลุมกับความต้องการ, เพิ่มการบริการและขยายการดูแลให้ครอบคลุมเด็กเริ่มตั้งแต่ 3 เดือน หรือ 6 เดือน โดยในช่วง 3-6 เดือนจะเป็นการสนับสนุนให้แม่นำบุตรมาเลี้ยงที่ศูนย์และเป็นการช่วยดูแลไปพร้อมกัน เนื่องจากในช่วงนี้ยังเป็นช่วงที่นมแม่มีความสำคัญต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตของเด็ก ส่วนช่วงอายุ 6 เดือน ถึง 2 ขวบครึ่ง จะเป็นการฝากรับเลี้ยงตั้งแต่ 7-8 โมงเช้า จนถึง 5-6 โมงเย็น และไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับการดูแลเด็กอ่อน เพื่อให้สอดคล้องกับเวลาเข้างานและเลิกงานของผู้ปกครองในพื้นที่ รวมถึงแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองเด็กอ่อน, เพิ่มหนังสือและจัดหาหนังสือดี มีคุณภาพ เหมาะสมสำหรับเด็ก 3 ถึง 6 เดือน ถึง 3 ปี (กรมอนามัยได้มีการคัดสรรนิทานที่เหมาะสำหรับเด็กอายุ 0 – 3 ปี จำนวน 100 เรื่อง) โดยให้มีเพียงพอต่อเด็กในการดูแลอย่างน้อยเด็ก 1 คนต้องมีหนังสือ 3 เล่ม ให้สามารถยืมกลับบ้านหรืออ่านที่ศูนย์ฯ ได้
ด้านบุคลากร ชัชชาติ จะเพิ่มบุคลากรและค่าตอบแทน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดูแลเด็กเล็ก กทม. โดยจะร่วมมือกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาและอบรมบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในการดูแลเด็กเล็ก เด็กอ่อน และเสริมความเชี่ยวชาญในการใช้หนังสือเพื่อพัฒนาเด็กให้เหมาะสมตามช่วงวัย พร้อมกับปรับค่าตอบแทนบุคลากรตามการฝึกฝนให้เหมาะสมกับค่าครองชีพและสอดคล้องกับค่าตอบแทนของตลาด
ด้านโภชนาการ ชัชชาติ จะเพิ่มค่าอาหารสำหรับเด็กอ่อนและเด็กเล็ก จาก 20 บาท/วัน เป็น 40 บาท/วัน เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับค่าอาหารของระดับอนุบาล-มัธยมของโรงเรียนในสังกัด กทม.
ด้านการส่งเสริมการเรียนรู้ ชัชชาติ จะปรับหลักสูตรเน้นให้เด็กทำเป็น เล่นเป็น เรียนรู้เป็น สำหรับเด็กช่วง 0-8 ปี เข้ามาเป็นส่วนประกอบหลักในการดูแลเด็กทั้งในศูนย์ดูแลเด็กอ่อน เด็กเล็ก อนุบาล ในสังกัด กทม. ในโรงเรียนประถมโดยเฉพาะในช่วง ป.1-2 ควบคู่ไปกับการเรียนเนื้อหาวิชาการ โดยมีหลักการ เช่น 1. ตั้งคำถามแทนตอบคำถาม 2. ทำแทนการเรียนอย่างเดียว 3. วางแผนการทำงาน (วางแผนการทำอาหาร / วางแผนการเที่ยว) 4. ท้าทาย ลองผิดลองถูก 5. ทบทวนประสบการณ์ สรุปบทเรียน
น.ต. ศิธา ทิวารี เบอร์ 11
ภายใต้สโลแกน “ผมจะทำสิ่งที่ผู้ว่าฯ กทม. ไม่เคยทำ” ของ น.ต. ศิธา ทิวารี นำเสนอว่าจะเป็นผู้ว่าฯ กทม. ที่ลงทุนกับการศึกษามากที่สุด ด้วยการปรับสัดส่วนงบฯ ประมาณให้กับการพัฒนาระบบการศึกษาในสังกัด กทม. มากขึ้น โดยมีเป้าหมายจะสร้างความเสมอภาคก่อนสร้างความเป็นเลิศ เพื่อทำโรงเรียนดีใกล้บ้าน โดยในส่วนของการสนับสนุนเด็กเล็ก จะเพิ่มการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ให้มีการกระจายทั่วถึงแทบทุกชุมชน เพิ่มบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านการศึกษาปฐมวัย โดยจะใช้หลักสูตรการศึกษาที่ทันโลก ส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ที่นำไปสู่ความสามารถในการประกอบอาชีพเมื่อโตขึ้น ให้ความสำคัญกับโภชนาการเด็ก ยกระดับมาตรฐานศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้มีความปลอดภัย และเพิ่มพื้นที่ออกกำลังกายในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน
พล.อ.ต. ทูตปรีชา เลิศสันทัดวาที เบอร์ 15
ภายใต้สโลแกน “เมตตากรุงเทพฯ เมืองที่น่าอยู่ สู่เศรษฐกิจดี ผู้คนมั่งมี การจราจรดีปลอดภัย ได้สุขภาพใหม่เมื่อมาเยือน” ของ พล.อ.ต.ทูตปรีชา เลิศสันทัดวาที ได้นำเสนอนโยบายแก้ปัญหาการศึกษา โดยจะให้มีการเรียน 5-7 ภาษา เริ่มจากเด็กก่อนวัยเรียน ซึ่งมีความสามารถพูดภาษาได้อย่างง่ายและรวดเร็วโดยใช้อาสาสมัครที่ขอไปทางสถานทูตแต่ละประเทศ จัดให้มีการทดสอบความถนัดเด็กแต่ละคนว่าถนัดทางด้านใด และส่งเสริมด้านนั้น สนับสนุนการใช้สารอารหารบำรุงสมองเด็ก เพื่อทำให้เด็กท้ายแถวมีสมาธิดีขึ้น จากการศึกษางานวิจัยที่สหรัฐอเมริกา
สุมนา พันธุ์ไพโรจน์ เบอร์ 18
ภายใต้สโลแกน “พูดจริงทำจริง จริงจังจริงใจ และ พัฒนาคน พัฒนาเมือง” ของ สุมนา พันธุ์ไพโรจน์ นำเสนอนโยบายเริ่มให้เรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่ชั้นเด็กเล็ก
วรัญชัย โชคชนะ เบอร์ 22
ภายใต้สโลแกน “4 ดี และ 7 ส. เปลี่ยนแปลง กทม.” ของ วรัญชัย โชคชนะ ได้นำเสนอนโยบาย 4 ดี คือ เกิดดี กินดี อยู่ดี ตายดี และนโยบาย 7 ส. คือ สะอาด สะดวก สะบาย สดชื่น สวยงาม สงบ และสว่าง สำหรับการสนับสนุนเด็กเล็กอยู่ในนโยบาย “เกิดดี” คือการคลอดฟรี และ “กินดี” คือเด็กได้รับอาหารและนมมีคุณภาพ ทั่วถึง