ก้าวให้พ้นความจนข้ามรุ่น กับ 5 นักวิจัย 5 พื้นที่ ฉายภาพเหตุปัจจัยจนข้ามรุ่นจากกรณีการศึกษา ที่ดิน เหมืองแร่ ภัยพิบัติ และวาทกรรมการเกษตร เป็นโครงการวิจัย “ความจนข้ามรุ่นในสังคมไทย ภายใต้ความท้าทายเชิงโครงสร้าง” ปีที่ 1 นำเสนอที่ ไทยพีบีเอส วันที่ 17 มีนาคม 2566
ภาวะความยากจนข้ามรุ่นของผู้หญิงในพื้นที่ชุมชนประมงขนาดเล็กในบริบทสถานการณ์ ภัยพิบัติจังหวัดปัตตานีประเทศไทย
งานวิจัยโดย ‘ผศ.อลิสา หะสาเมาะ’ คณะสังคมศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พบว่า ภาวะความยากจนข้ามรุ่นของผู้หญิงชาวประมงขนาดเล็กในบริบทสถานการณ์ภัยพิบัติ พื้นที่หมู่ที่ 1 ต.บางตาวา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ที่นี่มีกฎ กติกา เรื่องป่าป่าชายเลน และกฎหมายประมง ที่สร้างข้อจำกัด กดทับ ชุมชนประมงแห่งนี้
ชาวบ้านมีประสบการณ์ภัยพิบัติจากการกัดเซาะชายฝั่งมาตลอด 70 ปี จนต้องถอยร่นเข้ามาลึกในชายฝั่งป่าชายเลน แต่ภายหลังเมื่อบ้านใหม่ถูกประกาศให้เป็นเขตป่าสงวนฯ ส่งผลให้ชาวประมง ขาดโอกาสทางสังคมเนื่องจากไม่สามารถนำบ้านและที่ดินไปจำนำหรือจำนอง หรือ ต่อยอดทางธุรกิจในแบบอื่นได้ กรณีศึกษาทั้งหมด ต้องทำงานหนักตั้งแต่เด็ก เมื่อผู้หญิงเริ่มเข้าสู่วัยชรา จึงประสบกับปัญหาสุขภาพ ได้แก่ กระดูกสันหลังทับเส้นประสาท ลูกก็การศึกษาน้อย เหมือนคนรุ่นพ่อแม่ ทำให้รุ่นลูกขาดโอกาสทำงาน ขาดโอกาสพัฒนาทักษะทางอาชีพ แต่ลูกต้องดูแลแม่ที่ป่วย และเริ่มเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ เนื่องจากระบบการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานเข้าไม่ถึงกลายเป็นวัฏจักรความยากจนข้ามรุ่นซ้ำซากที่ยากจะหลุดพ้น
ประวัติศาสตร์ความยากจน จากฐานข้อมูลสถานการณ์ความยากจนใน จ.ปัตตานี หรือ Thai People Map and Analytics Platform [TPMAP] พ.ศ. 2565 พบว่า จ.ปัตตานี มีความยากจนมากที่สุดในประเทศไทย และ อ.หนองจิก อยู่ในอันดับที่ 4 ของจังหวัด (อันดับ 1,2,3 คือ ยาบี เกาะเปาะ และคลองตันหยงตามลำดับ) อำเภอนี้มีคนจนจำนวน 3,908 คน จากประชากรสำรวจ 51,642 คน โดย ต.บางตาวา อยู่ในอันดับที่ 4 ของ อ.หนองจิก มีจำนวนคนจน 291 คน คิดเป็น 11.25% (Thai People Map and Analytics Platform, 2565)
งานวิจัยพบว่าความยาก มาจากสาเหตุความจนที่สะสมต่อเนื่อง ความแตกต่างทางด้านความเชื่อวัฒนธรรม ศาสนา จากชนกลุ่มใหญ่ หากแต่ความเข้าใจดังกล่าวไม่ได้มีมิติเรื่อง “ความเหลื่อมล้ำ” หรือ “ถูกทำให้ยากจน” จากโครงสร้างทางสังคม และประวัติศาสตร์ ที่ถูกกดทับจากประวัติศาสตร์กระแสหลักที่มาจากกรุงเทพฯ รวมทั้งการพัฒนาแบบรวมศูนย์อำนาจมาเนิ่นนานเช่นกันเนื่องจากการวิเคราะห์ที่ขาดความลึกซึ้ง และเข้าใจปัญหาที่ซับซ้อน
ดังนั้นการแก้ปัญหาความยากจนในภาคใต้ ที่ผ่านมาจะใช้แผนเดียวกันกับการแก้ปัญหาทั่วประเทศ เหมือนตัดเสื้อโหล รัฐไทยมักจะออกแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนในรูปของการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล, การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในพื้นที่เพื่อลดความฟุ่มเฟือย รวมไปถึง การสร้างเมืองต้นแบบ โครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” (จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) โดยมี ศอ.บต.เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน เช่น พื้นที่ใน อ.หนองจิก ให้เป็นเมืองต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสาน จนภายหลังขยายไปเมืองอุตสาหกรรมที่ 4 คือ อ.จะนะ จ.สงขลา
ความต้องการแก้ปัญหาความยากจน โดยใช้โมเดลสร้างเมืองอุตสาหกรรม นอกจากจะเป็นการขยายถ่างความเหลื่อมล้ำ สร้างความขัดแย้งให้เพิ่มขึ้น รัฐยังมีวัตถุประสงค์แฝงคือ ใช้ข้ออ้างขยายพื้นที่เมืองอุตสาหกรรม ทะลวง และสลายกลุ่ม The Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani (BRN) โดยอาศัยอำนาจของ ศอ.บต. และกฎหมายพิเศษ ในพื้นที่แห่งนี้ประกาศเปลี่ยนแปลงผังเมืองจากสีเขียวเป็นสีม่วง และสร้างความแตกแยกให้ภาคประชาสังคม โดยการสนับสนุนโครงการให้ NGOs ที่สนับสนุนแนวคิดของรัฐ ซึ่งไม่แตกต่างจากการใช้วิธีแบ่งแยกและปกครอง ดังเช่นในอดีตที่แบ่งเป็น 7 หัวเมือง ใน พ.ศ. 2351 หลังสถาปนาราชวงศ์จักรี
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ยกเลิกกฎหมายพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2475 พระราชกำหนดการบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และให้ใช้กฎหมายทั่วไป โดยมีกระบวนการยกเลิกอย่างค่อยเป็นค่อย, ให้สิทธิอยู่อาศัยกับชาวประมงพื้นบ้าน ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะ เมื่อต้องถอยร่นเข้ามาอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนฯ เนื่องจากประสบปัญหาในการใช้ประโยชน์ที่ดิน, พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ จากศักยภาพของชุมชน โดยใช้กรอบแนวคิดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน, ตรวจสอบการเข้าถึงบัตรสวัสดิการของรัฐ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้เต็มจำนวน เนื่องจากภาวการณ์อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ทำให้ถูกหักหัวคิว และถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้นำ, ส่งเสริมการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน, สร้างมาตรการเยียวยาที่ครอบคลุมวิถีชีวิตของประมงทะเลชายฝั่ง ให้ทุกคนที่ไม่สามารถเข้าเกณฑ์การออม ได้รับโอกาสในการพัฒนาที่อยู่อาศัย อำนวยความสะดวกให้ประมงขนาดเล็กเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน
รอคอยข้ามรุ่น : มานุษยวิทยาว่าด้วยเวลาที่รอคอยของคนยากจนกับนโยบายการศึกษาของไทย
งานวิจัยชิ้นนี้ ‘ผศ.ฐานิดา บุญวรรโณ’ จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ศึกษาวิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการทำงานภาคสนามทางมานุษยวิทยาใน 10 ครัวเรือนของ จ.พิษณุโลก ที่มีฐานะยากจน ขาดเงินออม มีอัตราการพึ่งพิงกันในครัวเรือนสูงและการศึกษาต่ำ อันเป็นคุณลักษณะของครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น ที่ระบุไว้ในหมุดหมายที่ 9 ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566-2570)
ข้อมูลทิศทางการพัฒนาของประเทศ พบว่า ในปี 2564 พบจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรไทยในช่วงอายุ 15-39 ปี นั้นยังคงต่ำกว่า 12 ปี แต่จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยเพิ่มมากขึ้นเล็กน้อยแต่ยังไม่ได้ช่วยให้เด็กรุ่นใหม่ในหลายครัวเรือนยากจนมีโอกาสเข้าศึกษาต่อถึงระดับมหาวิทยาลัย หรือมีโอกาสประกอบอาชีพในฐานะนายจ้าง ข้าราชการ ผู้จัดการ ผู้ประกอบวิชาชีพ
ในงานวิจัย ระบุข้อมูลว่า สัดส่วนคนระดับรายได้ 20% ล่างได้รับการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยอยู่ที่ 1.2% ในขณะที่คนระดับรายได้ 9% และ 1% บนสุดได้รับการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยอยู่ที่ 39% หรือมากกว่า และพบว่า สัดส่วนคนระดับรายได้ 20% ล่างสามารถเข้าถึงสถานะการทำงาน เช่น การเป็นนายจ้าง ข้าราชการได้ไม่ถึง 2% นอกจากเด็กในครัวเรือนยากจนจะมีโอกาสเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยอย่างจำกัดแล้ว ยังมีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนเรียนจบมัธยมศึกษาตอนปลายอีกด้วย
ในปี 2564 ข้อมูลสถิติรายงานว่า มีจำนวนนักเรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาประมาณ 238,707 คน สังกัดสพฐ. 78,003 คน, สังกัดสป. 50,592 คน, สังกัด สอศ. 55,599 คน และผู้พิการในวัยเรียนสังกัด พม. 54,513 คน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ปี 2565 ประกอบกับข้อมูลจาก TPMAP ปี 2565 ได้รายงานว่า มีครัวเรือนไทยประมาณ 597,248 ครัวเรือน ที่มีแนวโน้มจะตกอยู่ในความยากจนข้ามรุ่น ข้อมูลแวดล้อมเหล่านี้อาจช่วยตั้งข้อสังเกตได้ว่านโยบายการศึกษาของไทยที่ผ่านมามีส่วนช่วยขยายโอกาสทางการศึกษา แต่งบประมาณที่ลงไปกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อาจยังไม่เพียงพอต่อการตัดตอนวัฏจักรความยากจนข้ามรุ่นในครัวเรือนไทยได้อย่างเบ็ดเสร็จ
รวมทั้งการแก้ไขปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาก็ดี หรือการขาดโอกาสในการศึกษาต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับและขั้นพื้นฐานก็ดีล้วนเกี่ยวโยงอย่างแยกไม่ออกจากนโยบายสังคมด้านอื่นๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเศรษฐกิจซึ่งสัมพันธ์โดยตรงกับรายได้ของผู้ปกครองและเศรษฐฐานะโดยรวมของครัวเรือน
ผู้วิจัย สรุปลักษณะของครัวเรือนที่มีแนวโน้มว่าจะส่งผ่าน หรือได้ส่งผ่านความยากจนจากรุ่นสู่รุ่นไปแล้ว เช่น การไร้ที่ดิน ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน หรือที่ดินติดจำนอง รวมทั้งไม่สามารถยังชีพจากการเพาะปลูก ซึ่งเชื่อมโยงกับค่าใช้จ่ายด้านอาหารในครัวเรือนสูงและการมีหนี้สินในครัวเรือน ไม่มีเงินออมและไม่มีสินทรัพย์ที่สามารถแปลงเป็นเงินออม มีอัตราการพึ่งพิงกันในครัวเรือนสูงมาก
ในครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นมักมีคนแก่ คนพิการ คนว่างงาน เด็ก หากใครคนใดคนหนึ่งที่หาเงินเข้าบ้านได้มากที่สุดเกิดล้มป่วย บาดเจ็บหรือตกงาน คนอื่น ๆ ในครัวเรือนจะได้รับผลกระทบตามกันอย่างรุนแรงและอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มีลักษณะของครัวเรือนข้ามรุ่น (skipped generation household) ที่เด็กรุ่น Gen Z และ Gen Alpha ต้องอาศัยอยู่กับปู่ย่าตายาย (Baby boomer และ Gen X) โดยคนรุ่นพ่อแม่ (Gen Y) ต้องออกไปหางานทำนอกพื้นที่ แต่ไม่มีความสม่ำเสมอในการส่งเสียเงินค่าเลี้ยงดูบุตรให้กับปู่ย่าตายาย เด็กรุ่น Gen Z และ Gen Alpha เพศหญิงที่อาศัยอยู่กับปู่ย่าตายาย มีความเสี่ยงที่จะมีครอบครัวหรือตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรหรือเสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศ เนื่องจากอยู่ในบ้านที่มีสภาพทรุดโทรมชำรุด ไม่แน่นหนาและอยู่ในสภาพแวดล้อมของชุมชนที่ไม่ปลอดภัย เช่น แวดล้อมไปด้วยกลุ่มวัยรุ่นที่ติด/ค้ายาเสพติด ไม่มีอาชีพและรายได้ที่สม่ำเสมอและมั่นคง ส่วนมากเป็นแรงงานนอกระบบและเสี่ยงต่อการตกงานอยู่เสมอ ส่วนมากพบการหย่าร้างและสมรสใหม่ (หลายครั้ง) และพบลักษณะของบุตรต่างพ่อต่างแม่อาศัยอยู่ร่วมกันในครัวเรือนเดียวกัน
ลักษณะข้างต้นเป็นลักษณะทั่วไปของครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น อย่างไรก็ตาม ผู้วิจัยพบว่า ในแต่ละช่วงรุ่นของครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นนั้นมีลักษณะเฉพาะในปัญหาชีวิต ในสิ่งที่ต้องทำในชีวิตประจำวัน (ภาระ หน้าที่ ความรับผิดชอบ) ซึ่งเชื่อมโยงกับทัศนคติและความหวังต่อนโยบายการศึกษาไทยที่แตกต่างออกไป
งานวิจัยมีข้อเสนอ เชิงนโยบายต่อคนรุ่น Baby boomer และ Gen X เช่น เป้าหมายเฉพาะของนโยบายคือ การลดการพึ่งพิงของคนรุ่น Baby boomer และ Gen X ต่อคนรุ่น Gen Y ในครัวเรือน
ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อคนรุ่น Gen Y เป้าหมายเฉพาะของนโยบายคือ การแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน, เพิ่มเม็ดเงินในการลงทุนด้านการศึกษาต่อคนรุ่น Gen Z และ Alpha และลดการพึ่งพิงของคนรุ่น Gen Y ต่อคนรุ่น Gen Z และ Alpha ในอนาคต
ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อคนรุ่น Gen Z และ Alpha เป้าหมายเฉพาะของนโยบายคือ การขยายโอกาสทางการศึกษา ทำให้ความยากจนไม่ใช่ปัจจัยที่จะทำให้คนหลุดออกจากระบบการศึกษา
ภูผายอดด้วน : “กับดัก”ความยากจนจากการต่อสู้กับทุนอันยาวนาน ของกลุ่มคัดค้านเหมืองแร่หินดงมะไฟ
บทความวิจัย ของ ‘กิติมา ขุนทอง’ จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร มุ่งนำเสนอประเด็น ความยากจนข้ามรุ่นในพื้นที่ของกลุ่มอนุรักษ์ป่าเขาเหล่าใหญ่ – ผาจันได ต.ดงมะไฟอ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ที่เกิดจากการเคลื่อนไหวคัดค้านนโยบายการจัดการทรัพยากรเหมืองแร่
งานวิจัยชิ้นนี้สัมภาษณ์ กลุ่มสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ฯ อย่างเป็นทางการจำนวน 12 คน และไม่เป็นทางการมากกว่า 10 คน โดยพิจารณากลุ่มประชากรที่ร่วมเคลื่อนไหวตั้งเริ่มคัดค้าน
กิติมา ค้นพบว่า การต่อสู้กับรัฐและบริษัทที่ทำเหมืองหินดงมะไฟที่มีมาอย่างยาวนาน ทำให้ชาวบ้านขาดโอกาสพัฒนาอาชีพ และไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากร ทำให้เกิดความยากจนของรุ่นพ่อแม่ ที่ออกมาคัดค้านเหมืองแร่หินดงมะไฟ และได้ส่งต่อถึงรุ่นลูกหลาน เนื่องจากการเข้าไม่ถึงทรัพยากรป่าไม้ และที่ดินที่ได้กลายเป็นที่เหมืองหิน ซึ่งเคยเป็นแหล่งรายได้หลักของชุมชน
“อีสานถูกสร้างบนความยากจน ครองสัดส่วนความจนมากที่สุด ไม่ว่าจะพัฒนายังไง เหมืองแร่เป็นจินตนาการใหม่ของภาคอีสาน แร่ในฐานะเศรษฐกิจสร้างชาติ ”
กรณีเหมืองหินดงมะไฟ สะท้อนโครงสร้างนโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของไทยที่ใช้แนวทางเปลี่ยนทรัพยากรให้เป็นสินค้าได้สร้างผลกระทบให้เกิดความยากจนเชิงซ้อน คือ “จน” จากการถูกพรากและกีดกันออกจากทรัพยากร และ “จน” จากการสูญเสียเวลาและโอกาสทำมาหากิน สร้างโอกาสทั้งทางเศรษฐกิจ โอกาสทางสังคม โอกาสทางการศึกษา อันเกิดจากการต่อสู้เพื่อแย่งชิงทรัพยากรกลับคืนมา
ความยากจนที่เกิดขึ้นจากปฏิบัติการแย่งชิงทรัพยากรของชุมชน เป็น “กับดัก” สำคัญต่อการเกิดสภาวะ “ความเสี่ยงจนข้ามรุ่น” ให้กับคนที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว หรือคนรุ่นลูกและรุ่นหลานที่สูญเสียโอกาสต่าง ๆ ในชีวิตความยากจน จึงไม่อาจละเลยมิติของอารมณ์ความรู้สึก และความสัมพันธ์ระหว่างคนและทรัพยากร ตลอดจนต้องพิจารณาให้เห็นอารมณ์ในระดับโครงสร้างที่เชื่อมโยงเข้ากับการตกเป็นผู้ถูกกดทับและการดิ้นรนเพื่อหลุดพ้นจากการกดขี่จากความทุกข์ทางอารมณ์ จากการถูกแย่งยึดทรัพยากร
กิติมา เสนอว่า หากประเทศไทยต้องการขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำตามเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ที่ประกาศใช้ในปี 2566 การหามาตรการรับมือเป็นเพียงปลายน้ำ แต่สิ่งสำคัญควรกำจัด “กับดัก”และ “หลุมพราง” ที่กระจัดกระจายซ่อนอยู่ นั่นคือการกลับมาสำรวจความยากจนที่เกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายการจัดการทรัพยากรของรัฐ โดยเฉพาะด้านทรัพยากรแร่ ซึ่งปัจจุบันเป็นกำลังเป็นปัญหาที่ขยายวงกว้างในหลายภูมิภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคอีสานที่เปิดสัมปทานทั้งแร่หิน-ทราย แร่โปแตช แร่ทองคำ และแร่ปิโตเลียม
รัฐควรมองปัญหาในมิติที่รอบด้านทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมการเมือง อารมณ์ความรู้สึก รวมทั้งผลกระทบทางอ้อมที่มาจากการสูญเสีทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน เช่น การเคลื่อนไหวคัดค้านของชาวบ้านที่ต้องใช้ทรัพยากรทั้งแรงกาย แรงใจ เงินและโอกาสภายใต้ปฏิบัติการเหล่านั้น รวมไปถึงผลกระทบหลังการดำเนินกิจการเหมืองแร่ การฟื้นฟูก็เป็นนับเป็นหนึ่งกับดักของความยากจนที่ชุมชนต้องเผชิญและนำไปสู่ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะความจนข้ามรุ่น
‘เกษตรกร’ วาทกรรรมความจน และการเปลี่ยนผ่านความหมายมองจากนโยบายรัฐ
บทความวิจัย โดย ‘ผศ.ปิ่นวดี ศรีสุพรรณ’ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาอุบลราชธานี ซึ่งได้ศึกษาครัวเรือนเกษตรกรยากจน จำนวน 18 ครัวเรือน มีทะเบียนเกษตรกรจำนวน 16 ครัวเรือน และไม่มีทะเบียนเกษตรกรจำนวน 2 ครัวเรือน โดยคัดเลือกครัวเรือนเกษตรกรจากฐานข้อมูล TPMAP และฐานข้อมูลโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ จ.อำนาจเจริญ
ผศ.ปิ่นวดี พบว่า ในภาพรวมครัวเรือนที่ลงทะเบียนเกษตรกรต่างมีความเป็นอยู่ที่ดี ส่วนใหญ่มีสมาชิกที่อยู่ในวัยแรงงาน เมื่อเทียบกับครัวเรือนที่ไม่มีทะเบียนเกษตรกร ส่วนครัวเรือนที่ยากจนอย่างมาก มีสมาชิกครัวเรือนอยู่ในสภาวะพึ่งพิง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และเด็ก อาศัยรายได้จากบัตรสวัสดิการที่ได้รับเป็นหลัก
ทุกครัวเรือนต่างสะท้อนว่าในรุ่นพ่อแม่ของตนมีความยากลำบาก เพราะต้องทำนาและทำงานหนัก การศึกษาไม่สูง ต้องออกไปขายแรงงาน ในหมู่บ้านไม่มีโอกาสที่จะได้หาเงินให้กับตัวเอง
แต่ในกลุ่มครัวเรือนกรณีศึกษาไม่มีคนที่สะท้อนถึงระบบทุนนิยมที่เอารัดเอาเปรียบกดราคาพืชผลทางการเกษตรมากนัก เพราะพวกเขาไม่มีเวลาคิดว่าการทำนาและขายข้าวถูกเอาเปรียบหรือไม่ มีเพียงบางครอบครัวที่เห็นว่ารัฐบาลต้องช่วยเหลือ ราคาปุ๋ยและราคาข้าว โดยแม้จะรู้ว่าทำนาไม่คุ้มค่าและมีค่าใช้จ่ายที่สูงเพิ่มขึ้น แต่หลายคนก็ยังคงทำนาเพื่อยังชีพต่อ
ปัจจุบันเกษตรกรเป็นกลุ่มที่ถูกบ่งชี้ว่าเป็นครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 เป็น กลุ่มประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ และยังเป็นกลุ่มที่ถูกกลไกตลาดกดราคาสินค้าเกษตรมาโดยตลอด
แม้ว่าทุกรัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านการเกษตรและมีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกร แต่ทำไมเกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในกลุ่มคนยากจน เพราะความยากจนไม่ได้มีแค่ความทุกข์ยากในทางปฏิบัติเท่านั้น แต่การทำให้เกิดความยากจนยังฝังแฝงอยู่ในโครงสร้างเชิงนโยบาย ซึ่งนำไปสู่วิธีการแก้ไขปัญหาความยากจนที่ไม่ได้ทำให้ความยากจนหมดไป
บางครั้งนโยบายรัฐก็มีแนวโน้มที่ทำให้เกิดการกีดกันครัวเรือนเกษตรกรที่ยากจน ในขณะเดียวกันเกษตรกรที่มีโน้มหลุดพ้นความยากจน ต้องทำให้ตนเองเข้าสู่เส้นทางการแก้ไขปัญหาความยากจน เพื่อให้ได้ประโยชน์จากนโยบายของรัฐ
จากกรณีศึกษาชี้ว่า เกษตรกรที่เป็นครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นนั้นถูกวาทกรรมความเป็นครัวเรือนเกษตรและภาคปฏิบัติการขีดเส้นไว้และทำให้โอกาสในเลื่อนชั้นทางสังคมเกิดขึ้นได้ยาก
การศึกษาวาทกรรมเกี่ยวกับการผลิตด้านการเกษตรเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มการวิเคราะห์วาทกรรมการพัฒนา ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามประเด็นปัญหาของสังคม ขณะที่ “การพัฒนา” ถูกทําให้เป็นสิ่งจำเป็น เพราะเป็นหนทางขจัดความยากจน แต่การวัดความยากจนไม่ได้สะท้อนปัญหาความทุกข์ยากที่เกิดขึ้น
แม้ว่านโยบายแก้ปัญหาความยากจนของรัฐบาลชุดต่าง ๆ ที่ผ่านมา มักอ้างความทุกข์ยากลําบากของคนยากจน โดยเฉพาะเกษตรกรชาวนาในภาคชนบท แต่ก็มีทั้งการทำมาตรฐานเครื่องมือจัดแบ่งประเภท เช่นเกณฑ์หมู่บ้านเข้มแข็ง มาตรฐานการมองความยากจนจากรายได้ การสร้างมาตรฐานราคาผลิตผลเพื่อกำกับควบคุม โดยมีสถาบันทำหน้าที่ผลิตและปฏิบัติการเพื่อให้เกิดการนำมาตรฐานไปใช้ ยิ่งขยายขอบเขตเชิงพื้นที่ของการบังคับใช้มาตรฐานได้มากเท่าใด สถาบันก็จะยิ่งมีบทบาทและได้รับความสำคัญมากขึ้นเท่านั้น
โครงการพัฒนาได้สร้างระเบียบวินัยขึ้นใหม่ เป็นระเบียบวินัยซึ่งกําหนดให้ผู้อยู่ภายใต้โครงการต้องกระทําเช่น การสะสมเงิน ความตรงต่อเวลา ความสม่ำเสมอในการฝาก พฤติกรรมการสร้างดอกเบี้ย และแบบแผนการปฏิบัติระหว่างผู้กู้กับผู้ให้กู้ ฯลฯ ถูกกําหนดขึ้นโดยอํานาจ ที่อ้างความรู้ของการบริหารจัดการ
ในขณะที่ระเบียบวินัยที่ชาวบ้านกำหนด ไม่น่าเชื่อถือและไม่เป็นไปตามมาตรฐาน เป็นการผลิตซ้ำวาทกรรมความยากจน จากหน่วยงานที่หลากหลาย ล้วนเกื้อกูลและแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ในลักษะที่สามารถเข้าสวมแทนที่่ สิ่งเดิมตามแต่นโยบายและกระแสความนิยมของสังคมแต่ละยุคแต่ละสมัย ตามแต่ “วาทกรรมการพัฒนา” ใดจะได้รับการยกย่องเชิดชูขึ้น
หมู่บ้านพัฒนาจึงเป็นเพียงผลผลิตทาง “วัตถุ” ของวาทกรรมการพัฒนาที่เปลี่ยนไป และช่วยตอกย้ำผลิตซ้ำการยอมตามเชื่อฟังรัฐ เพื่อให้งบประมาณยังคงเข้าสู่ชุมชนหมู่บ้าน ในฐานะหมู่บ้านตัวอย่างที่ “ราษฎร” อยู่ในกรอบธรรมเนียมแห่งระเบียบวินัย
เป็นที่น่าสังเกตว่าการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานของเจ้าหน้าที่ภาครัฐในปัจจุบันเปลี่ยนไปจากเดิม โดยจะเห็นว่าภาครัฐเปลี่ยนบทบาทจากผู้กำหนดแนวทางการหรือให้คำแนะนำในระดับท้องถิ่นไปสู่การให้บริการจดทะเบียนหรือเป็นเพียงเจ้าหน้าที่บริการเก็บข้อมูลมากขึ้น
ครัวเรือนมีความสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่รัฐในแง่ของการรับค่าชดเชยเยียวยาตามนโยบายแบบประชานิยมมากกว่าเป็นผู้รับบริการความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่ เมื่อวิเคราะห์ในระดับปัจเจกผ่านกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็น “ครัวเรือนเกษตรกร” จะเห็นว่าครัวเรือนถูกจัดระเบียบภายใต้กฎเกณฑ์การรับเงินซึ่งต้องมีบัตรประชาชน บ้านเลขที่ และการมีที่ดินทำการเกษตร
ในขณะเดียวกันโครงการพัฒนาเป็นโครงการพัฒนาแบบมุ่งเป้าซึ่งกลายเป็นการเด็ดยอดความสำเร็จมากกว่าการพัฒนาจากฐานราก แม้ว่าจะมีชื่อโครงการในแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่ได้สะท้อนปัญหาภาวะความยากจนที่เกิดขึ้นและครัวเรือนยากจนมีแนวโน้มจะได้รับการละเลยเพียงเพราะการถูกมองว่าที่ยากจนเพราะ “ขี้เกียจ”
การเป็นครัวเรือนเกษตรทำให้เห็นว่าเขามีโอกาสที่จะได้รับความช่วยเหลือมากกว่าครัวเรือนที่เป็นแรงงานเกษตรเพียงอย่างเดียว การมีที่ดินทำกินจึงช่วยให้เขาอยู่รอดมากกว่ากลุ่มที่ไม่มีที่ดินทำกิน และลดค่าใช้จ่ายที่สามารถนำไปสู่การออมและการทำให้สภาพชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นได้
ดังนั้นข้อเสนอเชิงนโยบายในเบื้องต้นรัฐควรมีนโยบายและกลไกที่เอื้ออำนวยให้เกษตรกรครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นเข้าถึงสิทธิประโยชน์จากนโยบายภาครัฐด้านเกษตกรรมให้มากขึ้น
ความยากจนในแผ่นดินสีแดง : สองทศวรรษแห่งการพรากสิทธิ์ในที่ดินกับโอกาสที่สูญเสีย สู่ความยากจนข้ามรุ่นในอำนาจเจริญ
เป็นบทความวิจัย ของ ‘ธวัช มณีผ่อง’ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นำเสนอความยากจนข้ามรุ่นใน “พื้นที่สีแดง” ภายใต้นโยบายป้องกันและปราบปรามคมอมมิวนิสต์ ในช่วงสงครามเย็นกับชาวดงบักอี จ.อำนาจเจริญ ซึ่งเคยถูกบังคับอพยพถึง 2 ครั้ง ระหว่างปี พ.ศ. 2495 – 2520 มีการเผาบ้าน ยุ้งข้าวทรัพย์สินที่สะสม รวมทั้งเงินทอง ส่งผลให้เกิดภาวะความยากจน ส่งผ่านข้ามรุ่น และต้องการใช้เวลานานมากกับการต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิ์ในที่ดินทำกินที่เรียกว่า สปก.
หากพิจารณาในแนวการสะสมทุนโดยการพรากสิทธิ์ Accumulation by Dispossession ของ David Harvey ตลอดระยะเวลา 20 ปี การพรากสิทธิ์ในที่ดิน หมายถึงการถูกพรากโอกาสในการสะสมทุน โดยเฉพาะในช่วงของการพัฒนาในทศวรรษที่ 30 การเผชิญชีวิตอยู่ท่ามกลางการถูกพรากสิทธิ์ที่ยาวนาทำให้รุ่นพ่อแม่และรุ่นลูกสูญเสียโอกาสทำมาหากินเหมือนคนในพื้นที่อื่นๆ การศึกษานี้ใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์ ศึกษาสภาวะการไร้ที่ดินและความไม่มั่นคงในที่ดินจากนโยบายป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ของรัฐไทย ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ธวัช ค้นพบว่า ผลกระทบจากการปราบคอมมิวนิสต์ ทำให้พรากสิทธิ์ในที่ดินของประชาชนไป 2 รูปแบบ คือ 1. การพรากสิทธิ์จากที่ดินทางกายภาพโดยการบังคับอพยพ ไปอยู่ในจุดที่แห้งแล้งไม่เหมาะกับการดำรงชีวิตและทำมาหากิน และ 2. การพรากสิทธิ์จากที่ดินโดยโครงสร้าง ผ่านกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติ ทับที่ทำกินของชาวบ้าน ในระหว่างปี พ.ศ. 2507 – 2540 ถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับข้อหาบุกรุกป่าไม้ในที่ดินของตนเอง เกิดความกลัวในการทำไร้ทำนา จนต้องเข้าร่วมขบวนเรียกร้องสิทธิในที่ดินกับสมัชชาคนจนภาคอีสาน จนได้รับสิทธิ์ สปก. ในปี 2550
กรณีของดงบักอี เมื่อเชื่อมกับกรณีอื่นๆ ในงานของเครือข่ายและองค์กรอนุรักษ์ในเขตทางภาคเหนือ สะท้อนว่านโยบายการพัฒนาที่ประสานกับนโยบายปราบปรามคอมมิวนิสต์ ผลที่เกิดขึ้นคือการพรากสิทธิ์จากที่ดินโดยรัฐ ไม่ได้เกิดขึ้นกับท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่ง แต่ยังกระจายไปทั่วประเทศ
ข้อเสนอต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจน และไม่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น คือ นโยบายการพัฒนาของรัฐ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ต้องคำนึงถึงผลกระทบ เปิดโอกาสให้ประชาชน กลุ่ม หน่วยงาน ต่าง ๆ ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เข้ามารับฟังและเจรจา เพื่อหาความเป็นธรรม, รัฐควรเปลี่ยนมุมมองต่อประชาชน ที่มักถูกเบียดขับให้กลายเป็นอื่น, ไม่มองว่าประชาชนผู้เห็นต่าง หรือกลุ่มผู้เรียกร้องการมีส่วนร่วม “เป็นศัตรูของรัฐ” ให้ความเป็นอื่น สู่การเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnerships for the Goals) ในแบบที่ให้ความสำคัญกับทุกคนคนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงย้อนกลับไปฟังเสียงและเปิดเวทีการมีส่วนร่วม กับผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายหรือโครงการพัฒนาของรัฐ ผลกระทบทั้งขณะปัจจุบันและอดีต ความทุกข์ยากของชาวดงบักอี กับ 30 ปี ที่สูญเสียโอกาสในการพัฒนาของวิถีชีวิตในที่ดินตนเอง ที่รัฐเอาความยากจนไปใส่ไว้ในมือของพวกเขา เป็นตัวอย่าง ที่ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ต้องทบทวนการชดเชยเยียวยาผลกระทบ อาจต้องถกคิดอย่างประณีต ความลึกซึ้ง ละเอียด และรอบด้านเพียงพอที่จะส่งเสริมและป้องกันการส่งต่อความยากจนข้ามรุ่น