1 เดือน ‘แผ่นดินไหว’ ใครทำอะไรไปบ้าง ?

ครบรอบ 1 เดือนหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.7 ที่รอยเลื่อนสะกาย ประเทศเมียนมาร์ สร้างผลกระทบมาถึงประเทศไทย The Active ชวนทบทวนดูว่าตลอดช่วงเวลาที่แรงสั่นสะเทือนเกิดขึ้น ใคร ? ทำอะไรไปแล้วบ้าง… เพื่ออุดรอยร้าวหลังแผ่นดินไหวผ่านไป

#ตึกสตง.ถล่ม ความสูญเสียกลางเมือง

  • ผู้ประสบภัยทั้งหมด 103 คน
  • เสียชีวิต 63 คน
  • บาดเจ็บ 9 คน
  • ติดค้าง 31 คน

(ข้อมูล ณ วันที่ 27 เม.ย. 68 เวลา 18.00 น.) 

นี่คือข้อมูลล่าสุด สำหรับความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (หลังใหม่) 30 ชั้น ที่พังถล่มลงมาในไม่กี่วินาที

ภายหลังการถล่มของตึก สตง. มีประชาชนจำนวนมากพูดถึงสาเหตุการถล่ม และตั้งคำถามถึงความแข็งแรงของโครงสร้างที่สวนทางกับงบประมาณ 2,136 ล้านบาท เนื่องจากในเวลาเดียวกันที่เกิดแผ่นดินไหว กลับไม่พบว่าพื้นที่ใกล้เคียง ได้รับความเสียหายเช่นเดียวกับตึก สตง. ที่ถล่มนี้

ล่าสุด วันนี้ (28 เม.ย. 68) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รายงานความคืบหน้าภารกิจค้นหาผู้ประสบเหตุและการรื้อถอนซากอาคาร สตง. ว่า วันนี้ทีมค้นหาก็ดำเนินการต่อเนื่อง ขณะนี้เครื่องจักรหนักหยุดทำงาน ทีมภาคสนามก็ลงค้นหาแต่ยังไม่เจอร่าง เจอเศษชิ้นส่วนบ้าง โดยในช่วงสาย ๆ ทีมเครื่องจักรหนักก็ลุยต่อ เมื่อคืนก็ได้ทำการตัดเหล็กเพราะว่ามีเหล็กเยอะทำให้รถแบคโฮทํางานยาก พอตัดเหล็กแล้วก็ม้วนเพื่อให้สามารถนำออกจากพื้นที่ได้ง่ายขึ้น ในส่วนของรถเครนขนาดใหญ่ 600 ตัน ได้นำออกจากพื้นที่เนื่องจากไม่จําเป็นต้องใช้แล้วเพราะว่าเศษวัสดุเตี้ยลง ทางกทม. จะดําเนินการอย่างต่อเนื่องตามเป้าหมายภายในสิ้นเดือนนี้จะพยายามให้ราบให้มากที่สุด จากนั้นก็เหลือใต้ดินที่ต้องดำเนินการต่อ

ขณะที่ สุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร (สปภ.) รายงานความคืบหน้าว่า ความสูงเฉลี่ยของเศษวัสดุอยู่ที่ 1.37 เมตร ขณะนี้บริเวณด้านหน้าเห็นผนังของชั้นใต้ดินแล้ว แผนดําเนินการวันนี้จะดําเนินการในโซน D ที่ด้านหลังที่ติดกับอาคารจอดรถ จะเริ่มเอาตัวชิ้นวัสดุ ปูน เหล็กออกเพื่อปรับระดับให้เท่ากับด้านหน้า ถ้าเป็นไปตามแผนน่าจะถึงระดับสามารถลงไปทํางานในพื้นชั้นใต้ดินได้ในเร็วๆ นี้

เมื่อวานมีเคสพบผู้ติดค้าง 1 ร่าง ที่โซน D ซึ่งก็ต้องคอยทางนิติเวช ยืนยันตัวตนก่อนเพื่อให้ญาติสามารถรับร่างออกมาบำเพ็ญกุศลได้ สำหรับการขนเศษวัสดุเฉลี่ยวันละ 300 เที่ยว เมื่อวาน 343 เที่ยว วันก่อน 333 เที่ยว รวมแล้วอยู่ที่ประมาณ 10 ตัน ซึ่งในช่วงแรก ๆ จะน้อยหน่อย เพราะว่าเราเน้นในเรื่องการค้นหาผู้ที่ยังมีโอกาสในการที่จะรอดชีวิตอยู่ พอหลังจากนั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องเร่งในการที่จะเอาเศษวัสดุออกเพื่อค้นหาร่างก็จะเร็วขึ้น

“1 เดือนที่ผ่านมาเราเจอปัญหามาโดยตลอด แต่ว่าเราก็มีการมีการประชุมปรับแผนทุกวัน เพราะว่าแต่ละพื้นแต่ละชั้นที่เราเจอก็จะมีปัญหาต่างกัน ก็มีการเพิ่มปรับจากแผนเดิมๆ จากใช้ตัวบุคคลในการค้นหา ใช้เครื่องมือ แล้วมาเพิ่มเป็นเรื่องของเครื่องจักร พอเครื่องจักรบางประเภทไม่เหมาะกับความสูงก็ปรับใช้เครื่องจักรที่เหมาะกับความสูง พอความสูงเศษวัสดุลดลงหายก็ปรับใช้เครื่องจักรที่เหมาะกับพื้นที่ที่ต่ําลง เช่น รถแบคโฮหัวกระแทก ที่ใช้กับเนื้องานปัจจุบัน ต้องขอบคุณทุกภาคส่วนเพราะว่าจริง ๆ แล้วถ้าภาครัฐเองจะทํางานได้ไม่เร็วเท่านี้ ได้ภาคเอกชนและทุกภาคส่วนมาช่วยทำให้สามารถทำงานได้เร็วขึ้น”

สุริยชัย รวิวรรณ

‘นอมินี-ฮั้วประมูล-เหล็กตกมาตรฐาน’
3 ข้อสงสัยที่ประชาชนหวังรัฐไขให้กระจ่าง

นับตั้งแต่ที่เกิดเหตุ แพทองธาร​ ชินวัตร​ นายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุมติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหว และมาตรการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสอบสาเหตุในการถล่มของตึก สตง. และมาตรการหลังจากนี้ พร้อมรายงานผลใน 1 สัปดาห์ ซึ่งมีกองบัญชาการและป้องกันสาธารณภัยแห่งชาติกำกับดูแล​ โดย อนุทิน​ ชาญ​วี​รกูล ​รองนายก​รัฐมนตรี​ และ ​รมว.กระทรวง​มหาดไทย ​เป็นผู้บัญชาการ (29 มี.ค. 68)

ทั้งนี้ มท.1 ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบหาข้อเท็จจริง ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 7 วันในการหาข้อเท็จจริงเบื้องต้น โดยมีวิศวกรใหญ่กรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นประธานการสอบ และนายกสภาวิศวกร อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว รวมถึง ศ.เป็นหนึ่ง วานิชชัย อาจารย์สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ ร่วมคณะกรรมการสอบด้วย

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม โดย เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เจ้ากระทรวง ได้สั่งการให้ สมอ., สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย และนักวิชาการ เข้าตรวจสอบเหล็กจากอาคาร ซึ่งพบว่า เหล็กที่ใช้ก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ส่งหนังสือไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อให้ร่วมตรวจสอบและรับกรณีของ บริษัท ซิน เคอ หยวน บริษัทผู้ผลิตเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างตึก

ขณะที่ ดีเอสไอ รับคดีนี้เป็นคดีพิเศษ (คดีที่ 32/2568) ตามคำสั่งของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยเน้นสอบสวน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การฮั้วประมูล, การใช้นอมินี และ การใช้วัสดุไม่ได้มาตรฐาน 

กรณีแรก คือ การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว หรือ นอมินี ที่ดีเอสไอเริ่มการสอบสวนไปแล้วเกือบ ร้อยละ 50 และขยายผลว่าไปเกี่ยวข้องกับกฎหมายการเสนอราคาด้วยหรือไม่ ซึ่งการร่วมเก็บพยานหลักฐานในครั้งนี้ จะมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องมาตรฐานของอุตสาหกรรมในส่วนของวัสดุก่อสร้างต่าง ๆ ขณะนี้กำลังติดตามเรื่องของเส้นเงินอยู่ และอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ และให้กระบวนการรวดเร็วขึ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ติดตามเส้นทางการเงินไปบางส่วนแล้ว รวมถึงพยานหลักฐานอื่น ๆ และมีการรายงานความคืบหน้าอยู่ทุกวัน

กรณีที่ 2 ดีเอสไอรับทำคดีแล้ว อยู่ระหว่างเริ่มดำเนินการ เนื่องจากเพิ่งได้รับหนังสือจากกรมสรรพากรมาร้องดีเอสไอเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ให้ตรวจสอบเรื่องของการเลี่ยงภาษีของ บริษัท ซิน เคอ หยวน โดยพบหลักฐานที่มีเหตุบ่งชี้ว่า น่าจะเป็นหลักฐานที่มาจากภาษีที่ไม่ถูกต้อง โดยทางกองคดีภาษีอากรได้แยกรับคดีนี้

ส่วนเรื่องที่ 3 กรณีที่กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้เข้าตรวจบริษัท ซิน เคอ หยวน โดยมีดีเอสไอไปร่วมสืบสวนด้วย ในประเด็นฝุ่นแดง 40,000 ตัน ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนพิจารณา โดยตั้งคณะสืบสวนแล้ว รอเพียงอธิบดีดีเอสไอ อนุมัติให้สืบสวน ก็จะเข้าไปประสานงานเพื่อรวบรวมข้อมูลต่อไป

ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 68 พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีดีเอสไอ บอกว่า ดีเอสไอรับไว้เป็นคดีพิเศษแล้ว 3 เรื่อง ประกอบด้วย

  • ความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 (นอมินี) โดยขณะนี้ดีเอสไอได้ออกหมายจับ บุคคลธรรมดา 4 คน (3 คนไทย : ประจวบ, มานัส, โสภณ / 1 คนจีน : ชวนหลิง จาง) ซึ่งได้ประกันตัวชั่วคราว และ นิติบุคคล 1คน คือ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ อย่างไรก็ตามคดีนี้อยู่ในกระบวนการสอบสวนซึ่งมีการขีดเส้นออกมา ภายใน 30 วัน นับจากวันจับกุมคนแรก

  • ฮั้วประมูล ยังอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนและขยายผล

  • ใบกำกับภาษีปลอมของบริษัทจำหน่ายเหล็ก ยังอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนและขยายผล

ขณะที่ประเด็นเหล็กตกมาตรฐานและเรื่องฝุ่นแดงจากโรงงานยังอยู่ระหว่างการสืบสวน

ชดเชย-เยียวยา

ในส่วนของผู้ประสบเหตุที่อยู่ภายในอาคารที่ได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิต มีมาตรการเยียวยา ดังนี้

(1 เม.ย. 68) มารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 4 จัดตั้งศูนย์ประสานและชี้แจงสิทธิประกันสังคม ณ สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ เพื่ออำนวยความสะดวก บริการให้ข้อมูลเรื่องการเบิกจ่ายสิทธิประโยชน์กองทุนเงินทดแทนและกองทุนประกันสังคม และประสานงานระหว่างสำนักงานประกันสังคมและทายาทผู้มีสิทธิของผู้เสียชีวิต

นอกจากนี้ สมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน ได้มีมาตรการช่วยเหลือแรงงานไทยในประเทศจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว

  • ลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 0% สำหรับผู้กู้ยืมเงินจากกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน

  • ส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระ และจัดหางานให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบเพื่อให้มีรายได้อย่างต่อเนื่อง

ส่วน กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสุขภาพจิต ได้ระดมทีม MCATT ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และทุกเขตสุขภาพ เข้าดูแลจิตใจญาติผู้เสียชีวิตและสูญหายหลังเกิดเหตุการณ์ทันที

ในด้านเงินช่วยเหลือ-เยียวยา ทาง อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย (ปภ.) รายงานการช่วยเหลือฉุกเฉินซึ่งได้รับงบฯ ทดรองฉุกเฉินจากกรมบัญชีกลาง 200 ล้านบาท โดยจะมีการปรับค่าช่วยเหลือจัดงานศพกรณีผู้เสียชีวิต จากคนละ 20,000 บาท เป็น 100,000 บาท โดยกรมบัญชีกลางเห็นชอบในหลักการแล้ว

ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 68 บุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เผยความคืบหน้าการชดเชยเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุตึก สตง.ถล่ม ไปแล้วกว่า 38 ล้านบาท ซึ่งผู้บาดเจ็บที่ต้องรักษาพยาบาล สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จะดูแลค่ารักษาพยาบาลจนสิ้นสุดกระบวนการรักษา กรณีรักษาในโรงพยาบาลของรัฐไม่จำกัดวงเงินรักษา แต่หากรักษาในโรงพยาบาลเอกชน เพดานค่ารักษาสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท

ส่วนแรงงานผู้ที่ว่างงานยังหางานไม่ได้ สามารถยื่นคำขอรับเงินชดเชยได้ที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัด-สาขาทั่วประเทศ

เยียวยาที่พัก – คอนโด

สำหรับการจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดที่ประสบภัยพิบัติ ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษายน เช่น กทม. ประกาศจ่ายเงินเยียวยา ค่าวัสดุซ่อมแซมบ้าน (ไม่เกิน 49,500 บาท/หลัง) ค่าเช่าบ้านชั่วคราว (ไม่เกิน 2 เดือน รวมไม่เกิน 6,000 บาท) ค่าจัดการศพผู้เสียชีวิต (ไม่เกิน 49,500 บาท/หลัง) ค่าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ (ไม่เกิน 2,000 – 13,300 บาท) เงินปลอบขวัญผู้บาดเจ็บ (2,300 บาท/คน) และเงินทุนประกอบอาชีพ (ไม่เกิน 11,400 บาท)

อย่างไรก็ตาม การจ่ายเงินดังกล่าวยังมีข้อร้องเรียนจากผู้ได้รับความเสียหาย เช่น เงินค่าเยียวยา โดยเฉพาะค่าวัสดุซ่อมแซมบ้าน ถูกประเมินมูลค่าความเสียหายโดยสำนักเขต ได้น้อยกว่ามูลค่าเสียหายจริง รวมถึงกระบวนการขั้นตอนการขอเงินเยียวยาที่ยุ่งยาก

เยียวยาจิตใจ

วันที่ 30 มี.ค. 68 กระทรวงสาธารณสุข ส่งทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (MCATT) ดูแลผู้ได้รับผลกระทบ

ขณะเดียวกัน รัฐบาล ยังได้สั่งการให้ ธนาคารรัฐออกมาตรการเร่งด่วน เยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เช่น พักหนี้, ลดดอกเบี้ย และสินเชื่อฉุกเฉิน พร้อมเร่งจ่ายสินไหมให้ลูกค้าในพื้นที่ประสบภัย

Cell Broadcast

ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รายงานความคืบหน้าการตรวจสอบปัญหาการเตือนภัยแผ่นดินไหวทาง SMS ตามที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการว่า เป็นหน้าที่ของ กสทช. และ ปภ. โดย ในส่วนของ ปภ.จะต้องจัดทำระบบปฏิบัติการในเรื่องการเตือนภัยให้มีความเข้มข้นมากขึ้น จากการตรวจสอบข้อมูล ตั้งแต่กรมอุตุนิยมวิทยา และเว็บไซต์ของหน่วยงานด้านเฝ้าระวังแผ่นดินไหว ของสหรัฐฯ และเยอรมนี 

หากข้อมูลทั้ง 2 ทางตรงกันก็จะพิจารณาส่งข้อมูลทั้ง 3 ส่วนมาที่ ปภ.เพื่อสรุปส่ง SMS ให้ประชาชนได้ โดยกรมอุตุนิยมวิทยาจะต้องเป็นหน่วยงานหลักในการยืนยันข้อมูลที่ชัดเจน และประสานงานไปยังค่ายโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ เช่น ทรู และ AIS ให้มีระบบสำรองป้องกันกรณีเครือข่ายล่ม เพื่อเข้ามาร่วมการแก้ไขสถานการณ์ลักษณะนี้

โดย ปภ. มีกำหนดการเตรียมทดสอบระบบแจ้งเตือนเหตุการณ์ภัยพิบัติผ่าน Cell Broadcast รวม 3 ครั้ง ได้แก่

  • ระดับเล็ก (ภายในอาคาร) วันที่ 2 พ.ค. 2568 เวลา 13.00 น. ใน 5 พื้นที่ ได้แก่ ศาลากลางจังหวัดเชียงราย, ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี, ศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรี, ศาลากลางจังหวัดสงขลา และอาคารศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร อาคาร A และอาคาร B
  • ระดับกลาง (ระดับอำเภอ) วันที่ 7 พ.ค. 2568 เวลา 13.00 น. ใน 5 อำเภอ คือ อ.เมืองลำปาง จ.ลำปาง, อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์, อ.เมืองนครราชสีมา จ. นครราชสีมา, อ.เมืองสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี และเขตดินแดง กรุงเทพฯ 

  • ระดับใหญ่ (ระดับจังหวัด) วันที่ 13 พ.ค. 2568 เวลา 13.00 น. ใน 5 จังหวัด คือ จ.เชียงใหม่, จ.อุดรธานี, จ.พระนครศรีอยุธยา, จ.นครศรีธรรมราช และกรุงเทพมหานคร

หลังจากรวบรวมข้อมูลแล้ว The Active ยังได้มีโอกาสพูดคุยกับ ศ.สันติ ภัยหลบลี้ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของเพจข่าวสารธรณีวิทยา “มิตรเอิร์ธ – Mitrearth” เกี่ยวกับบทเรียนที่ได้รับจากแผ่นดินไหวใหญ่นี้ และรอยโหว่ของประเทศที่ยังต้องดำเนินงานต่อจากนี้

แม้จะผ่านมา 1 เดือนแล้ว แต่อาฟเตอร์ช็อกยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“อาฟเตอร์ช็อกยังไม่หยุด พอยังไม่หยุด ก็หมายถึงว่าทุกอย่างมันยังไม่กลับมาสู่สภาพปกติ 100% มันอาจจะเข้าสู่ภาวะปกติในแง่ภัยพิบัติตามสถิติไปแล้ว 80-90% แต่ไม่ร้อย”

ศ.สันติ ภัยหลบลี้

แผ่นดินไหวอาฟเตอร์ช็อกในรอยเลื่อนสะกาย รวมถึงแผ่นดินไหวขนาดย่อยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ในช่วงเดือนที่ผ่านมา คอยย้ำเตือนถึงความสำคัญของระบบการจัดการภัยพิบัติประเภทแผ่นดินไหวในพื้นที่ประเทศไทย เพราะการจะแก้ไขความตระหนกหรือกังวลของคนไทยส่วนใหญ่ที่ไม่คุ้นเคยกับแผ่นดินไหวกันมาก่อน ก็คงต้องพึ่งพามาตรการและนโยบายที่ให้ความเชื่อมั่น เชื่อใจ และปลอดภัยกับประชาชนได้

แนวทางการสื่อสารและการเตรียมพร้อม

ศ.สันติ แนะนำว่า การสื่อสารไม่จำเป็นต้องเน้นว่าภัยครั้งหน้าจะรุนแรงเพียงใด แต่ควรให้ข้อมูลว่าที่อยู่อาศัยหรืออาคารของประชาชนสามารถรับมือกับภัยขั้นสูงสุดได้หรือไม่ เป็นการลดผลกระทบจากภัยพิบัติล่วงหน้า

ทั้งยังมองว่า การไขข้อสงสัย ความไม่มั่นใจของประชาชน ไม่ใช่หน้าที่ของภาครัฐที่ต้องออกมาตรการ หรือให้ข้อมูลประชาชนเพียงฝ่ายเดียว แต่หน่วยงานเอกชน เจ้าของอาคาร สำนักงาน ที่อยู่อาศัย ก็ต้องทำหน้าที่คลายความกังวล ให้ข้อมูลและความเชื่อมั่นกับผู้อยู่อาศัยได้เช่นกัน

“ถ้าพี่สอดรู้สอดเห็น สามารถเดินไปนิติได้ว่า ดูยังไงว่าต้านทานแผ่นดินไหวได้เท่าไหร่ ได้จริงไหม ต่อให้น้อย ๆ ถ้ามันไม่เกิดจริง การได้รู้ข้อมูลก็ทำให้ผู้อยู่อาศัยสบายใจ”

ศ.สันติ ภัยหลบลี้

นอกจากนี้ ศ.สันติ ยังเตือนว่า ภัยพิบัติไม่ได้เลือกเวลาที่จะเกิด โดยเฉพาะในเวลากลางคืนซึ่งมักทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่าปกติ และเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมสำหรับกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้พิการ เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ ย้ำเตือนให้หน่วยงานรัฐที่

ศ.สันติ ชี้ให้เห็นว่า ได้เรียนรู้อย่างชัดเจนว่าแผ่นดินไหวระยะไกล อย่างที่เกิดจากรอยเลื่อนสะกาย หรือในอนาคตหากเกิดจากสุมาตรา สามารถส่งผลกระทบต่อประเทศไทยได้อย่างไรบ้าง โดยในเหตุการณ์ที่ผ่านมา มีอาคารพังเพียงหนึ่งหลัง ขณะที่ส่วนใหญ่ยังคงทนต่อแรงสั่นสะเทือนได้ แต่สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนทั่วประเทศ

“ถ้าพูดตรงไปตรงมาคือ ถ้าเราทำตามตัวบทกฎหมายที่ฝั่งภาครัฐกำหนดไว้ในการก่อสร้าง เหมือนจะรอดหมดเลย กฎหมายเรามีประสิทธิผล ขอแค่ทำตรงไปตรงมา ก็น่าจะโอเค”

ศ.สันติ ภัยหลบลี้

ในมุมมองของ ศ.สันติ ยอมรับว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อทรัพยากร และ ที่อยู่อาศัยนั้น เป็นเรื่องปกติที่ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นภัยภิบัติรูปแบบไหน ส่วนสำคัญที่รัฐและหน่วยงานต้องใส่ใจและป้องกันมากกว่าคือเรื่องของชีวิตและความเป็นอยู่

ดังนั้น อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ ศ.สันติ เน้นย้ำว่า ยังต้องจัดการต่อ คือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนต่ออาคารที่พักอาศัย 

“เราจะทำยังไงให้ประชาชนเชื่อใจอาคารของเรา วันนี้ 7.7 อะ เราเพชิญสถานการณ์เหมือนกับญี่ปุ่นเลยนะ ต่างกันตรงที่คนญี่ปุ่นจะไม่ตกใจ เพราะเขาเชื่อใจในอาคาร ของเราความเชื่อใจยังด้อยกว่า เพราะส่วนหนึ่งคือสภาพจิตใจเราแย่มาก กระเจิงกันไปเลย”

ศ.สันติ ภัยหลบลี้

ทั้งนี้ยังได้เปรียบเทียบกับสถานการณ์ในญี่ปุ่น ที่แม้จะเกิดแผ่นดินไหวหรือสึนามิบ่อยครั้ง แต่ประชาชนมีความเชื่อมั่นในมาตรฐานความปลอดภัยของอาคาร และคำเตือนจากรัฐบาล “ถ้ารัฐบาลญี่ปุ่นบอกว่าเอาอยู่ก็คือเอาอยู่จริง ๆ”

แผ่นดินไหวขนาดใหญ่มีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคตอยู่แล้ว โดย ศ.สันติ ยืนยันว่า “มันต้องเกิด มันต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว เพราะมันมาเป็นรอบของการเกิดตามธรรมชาติ มันมีโอกาส แต่โอกาสที่จะเกิดก็ไม่ได้มาก”

ครบรอบ 1 เดือนของเหตุการณ์แผ่นดินไหว ได้ทิ้งบทเรียนสำคัญเกี่ยวกับมาตรฐานการก่อสร้าง และความเชื่อมั่นของประชาชน แม้ว่าอาคารส่วนใหญ่จะผ่านการทดสอบจากแรงสั่นสะเทือนครั้งนี้ได้

แต่ความท้าทายที่สำคัญคือ การสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่าที่อยู่อาศัยของพวกเขาปลอดภัยเมื่อเกิดภัยพิบัติ รวมไปถึงการแจ้งเตือนภัยอย่างทันเวลา

อีกความท้าทาย ที่รัฐบาลต้องจัดการให้ได้ คือ ประเด็นของการชดเชยและเยียวยาความเสียหายจากภัยพิบัติในครั้งนี้ แม้จะได้เห็นการออกมาตรการสำหรับการชดเชยทั้งชีวิต และที่อยู่อาศัยแล้ว แต่ประชาชนหลายคนก็ยังเข้าไม่ถึง หรือยังไม่ได้รับเงินเหล่านี้ ทั้งหมดล้วนสะท้อนถึงความพร้อมการรับมือภัยพิบัติในอนาคต ที่แผ่นดินไหวรอบนี้ได้ทิ้งบทเรียนครั้งใหญ่เอาไว้

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธนธร จิรรุจิเรข

สงสัยว่าตัวเองอยากเป็นนักวิเคราะห์ data ที่เขียนได้นิดหน่อย หรือนักเขียนที่วิเคราะห์ data ได้นิดหน่อยกันแน่

Alternative Text
AUTHOR

อนวัช มีเพียร

รักโลก แต่รักคนบนโลกมากกว่า