ที หล่อ ก่อ ปู : ‘แม่ปอคี’ แผ่นดินถิ่นเกิด

คติชนวิทยา คือ ศาสตร์หนึ่งที่ศึกษาข้อมูลทางด้านวัฒนธรรม เป็นวิชาที่ว่าด้วยความคิดของผู้คนที่แบ่งไว้ในมิติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ วิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ การแต่งกาย ลายผ้า ที่แฝงไปด้วยความเชื่อที่เชื่อมโยงไปถึงบรรพบุรุษตัวเอง

ถือเป็นหัวใจสำคัญของการรวบรวมข้อมูล องค์ความรู้ต่าง ๆ ที่ส่งเสริมชุมชนในการปกป้องมรดกทางวิถีวัฒนธรรมที่ยึดโยงความเป็นตัวตนและชุมชนไว้ด้วยกัน จะทำให้เห็นว่าคนในชุมชนใช้ชีวิตอย่างเคารพวิถีวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่ควรส่งเสริม คุ้มครองวิถีชีวิต และวัฒนธรรมไม่ให้ถูกคุกคามจากนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน ซึ่งชาวปกาเกอะญอที่ บ้านแม่ปอคี อ.ท่าสองยาง จ.ตากกำลังทำเช่นนั้น

ย้อนหาตัวตน ผ่านมุมมองคติชนวิทยา

ชาวบ้านแม่ปอคี ชุมชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก มีความพยายามเก็บ ข้อมูลชุมชน เพื่อแสดงถึงความเป็นชุมชนดั้งเดิมที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีการบันทึกประวัติศาสตร์ของชุมชนผ่านการบอกเล่าของผู้เฒ่าให้กับลูกหลานทำให้รู้ถึงที่มาและที่ไป เห็นภูมิปัญญา ชุดความรู้ของชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง เป็นชุดความรู้ที่มีความต่างจากกระแสหลัก ซึ่งมีอยู่จริง ถูกใช้จริงในพื้นที่จริง แสดงถึงอัตลักษณ์ตัวตนของคนปกาเกอะญอที่ยังมีการสืบทอดการใช้ประโยชน์ เพื่อส่งให้คนรุ่นหลังสานต่อลมหายใจของบรรพชน รวมถึงการแสดงนัยยะของการจัดการความสัมพันธ์ระหว่าง “คนกับคน” และ “คนกับป่า”

ชุมชนชาติพันธุ์ดั้งเดิม กับหลักฐานการอยู่อาศัย 425 ปี

ชุมชนบ้านแม่ปอคี (ขุนแม่เหว่ย) มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์และหลักฐานการอยู่อาศัยมากกว่า 425 ปี โดยมีทั้งหลักฐานทางประวัติศาสตร์เชิงมุขปาฐะเรื่องของวรรณกรรม บทธา บทกวีของชนเผ่า และเรื่องเล่าผ่านหลักฐานที่อยู่อาศัยของแต่ละที่ โดยชุมชนมีชื่อสถานที่แต่ละที่พร้อมระบุว่าพื้นที่ตรงนั้นอาศัยอยู่เมื่อไหร่ ซึ่งเป็นข้อมูลที่สำคัญที่ยืนยันความดั้งเดิมของชุมชนหรือการมีอยู่ของชุมชนอย่างยาวนาน

จากข้อมูลพบว่าชุมชนได้มีการตั้งที่อยู่อาศัยในบริเวณที่เรียกว่าเทือกเขา เบ๊อะบละตูเป็นระยะเวลานาน

โดยชุมชนได้มีการบอกเล่าประวัติศาสตร์ผ่านการตั้งถิ่นฐานและการโยกย้ายถิ่นฐานซึ่งมีจุดหรือพื้นที่ที่ชุมชนอาศัยมาก่อน เรียกว่า “เดลอ” ทั้งหมด 24 จุด

มีการจัดการชุมชนแบบบูรณาการ ทั้งผู้นำแบบทางการตามโครงสร้างราชการ และผู้นำทางวัฒนธรรม โดยมี ฮิโค๊ะ ทำหน้าที่ เป็นผู้นำพิธีกรรม ให้คำปรึกษา ทำงานสนับสนุนซึ่งกันและกัน เช่น งานเชิงพิธีกรรมทางวัฒนธรรมการตัดสินใจเป็นหน้าที่ผู้นำทางวัฒนธรรมในการดำเนินการ

ส่วนงานที่ต้องมีการติดต่อประสานงานหน่วยงานราชการผู้นำทางการเองจะไม่ตัดสินใจดำเนินการเองตามลำพังแต่ยังคงตัดสินใจร่วมกับผู้นำทางวัฒนธรรม นี่คือความโดดเด่นของการจัดการชุมชนแบบบูรณาการทั้งทางการและทางวัฒนธรรม

ปัจจุบัน (2567) ชุมชนบ้านแม่ปอคี มี 51 ครัวเรือน มีจำนวนประชากรทั้งหมด 276 คน แบ่งเป็น ชาย 126 คน และหญิง 150 คน

พื้นที่ชีวิตแม่ปอคี

พื้นที่บ้านแม่ปอคี มีพื้นที่ทั้งหมด 8,386 ไร่

บ้านแม่ปอคี มีพื้นที่ทั้งหมด 8,386 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่ป่า และ พื้นที่ใช้ประโยชน์ โดยพื้นที่ป่ามีทั้งหมด 3,997.83 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 47.7 ของพื้นที่ทั้งหมด และพื้นที่ใช้ประโยชน์มีพื้นที่ทั้งหมด 4,388.17 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 52.3 ของพื้นที่ทั้งหมด

พื้นที่ป่าในชุมชนบ้านแม่ปอคี แบ่งเป็นป่า 4 ประเภท 

  • พื้นที่ป่าตามความเชื่อ ประกอบด้วยป่าศักดิ์สิทธิ์ (ป่าอนุรักษ์) ป่าช้า และป่าสะดือ มีเนื้อที่รวมทั้งหมด 317.74 ไร่  

  • ป่าอนุรักษ์ ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำ มีพื้นที่จำนวน 3 แปลง รวมพื้นที่เท่ากับ 2,540.41 ไร่

  • ป่าใช้ประโยชน์ คือ ป่าชุมชน จำนวน 2 แห่ง มีพื้นที่ทั้งหมด 613.09 ไร่

  • พื้นที่ป่าตามโครงการของรัฐ ได้แก่ โครงการปลูกป่าสร้างรายได้ พื้นที่ป่าไผ่ และป่าอื่น ๆ อีกจำนวน 526.59 ไร่

พื้นที่ใช้ประโยชน์ แบ่งออกเป็น พื้นที่อยู่อาศัย โรงเรียน สำนักสงฆ์ และพื้นที่ทำไร่หมุนเวียน

  • พื้นที่อยู่อาศัยและโรงเรียน มีพื้นที่ทั้งหมด 149.78 ไร่

  • พื้นที่ของสำนักสงฆ์ มีพื้นที่ทั้งหมด 29.80 ไร่

  • พื้นที่ทำไร่หมุนเวียน มีพื้นที่ทั้งหมด 4208.59 ไร่

แนวคิด ภูมิปัญญา ‘ไร่หมุนเวียน’

สำหรับการทำ ไร่หมุนเวียน ของชาวปกาเกอะญอบ้านแม่ปอคี เป็นการใช้พื้นที่เพื่อการปลูกข้าวกินเป็นหลัก ผสมสานกับพืชพันธุ์อื่น ๆ  โดยมีการกำหนดพื้นที่เป็นแปลงรวมให้คนในชุมชนทุกคนได้ทำร่วมกัน ปัจจุบันมีรอบหมุนเวียน 5 ปี พิจารณาจากพื้นที่ที่บรรพบุรุษเคยทำกินมาก่อน โดยจะไม่มีการบุกรุกหรือบุกเบิกพื้นที่ใหม่ ก่อนจะตัดสินใจเลือกพื้นที่ทำไร่หมุนเวียนนั้น ชุมชนมีภูมิปัญญาในการเลือกพื้นที่ ดังนี้

1. เป็นพื้นที่ที่เป็นไร่เหล่า หรือไร่ที่บรรพบุรุษเคยทำกินมาก่อน


2. ต้องเป็นพื้นที่ที่เคยทำกิน และมีการพักฟื้นพื้นที่อย่างน้อย 5 ปี หากพักพื้นที่น้อยกว่านี้ จะทำให้มีผลกระทบดังนี้

  • ผลผลิตจะไม่งอกงาม ได้ผลผลิตน้อย เพราะดินฟื้นสภาพไม่ทัน
  • ต้นไม้ กิ่งไม้ไม่ใหญ่ ไม่โตพอที่จะเผาไหม้เพื่อเป็นธาตุอาหารไม่เพียงหรือไม่สมบูรณ์
  • วัชพืชในไร่จะเติบโตเร็ว ทำให้ต้องดายหญ้าหลายรอบ

3. เป็นพื้นที่ที่ได้รับการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือสิ่งเหนือธรรมชาติโดยผ่านพิธีขอตามประเพณีวัฒนธรรมแล้ว


4. พื้นที่แปลงย่อยของครอบครัว ไม่สามารถทำซ้ำเกินสองรอบ โดยถ้าทำครบสองรอบแล้ว ต้องเปลี่ยนให้ครอบครัวอื่นมาทำกินแทนในพื้นที่ตรงนั้น


5. ต้องไม่ใช่พื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าต้นน้ำ และป่าความเชื่อในวิถีวัฒนธรรมปกาเกอะญอ

พื้นที่ไร่หมุนเวียนแบ่งพื้นที่ ออกเป็น 5 รอบการหมุน 

  • พื้นที่ “ทีตะกุย” ปลูกเดิมในปี 2563 รอบปลูกต่อไปคือ ปี 2568 มีพื้นที่จำนวน 1,125.00 ไร่

  • พื้นที่ “โป๊ะรอเด” ปลูกเดิมในปี 2564 รอบปลูกต่อไปคือ ปี 2569 มีพื้นที่จำนวน 807.90 ไร่

  • พื้นที่ “ทีจือกวะ” ปลูกเดิมในปี 2565 รอบปลูกต่อไปคือ ปี 2570 มีพื้นที่จำนวน 898.89 ไร่

  • พื้นที่ “ก่าหลู่” ปลูกเดิมในปี 2566 รอบปลูกต่อไปคือ ปี 2573 มีพื้นที่จำนวน 592.20 ไร่

  • พื้นที่ “อูยะเด” ปลูกในปีปัจจุบัน ปี 2567 จะปลูกรอบปีต่อไปในปี 2572 มีพื้นที่จำนวน 784.60 ไร่

วัฒนธรรมการจัดการสิทธิเชิงร่วมหรือหน้าหมู่

ในหลายพื้นที่การทำไร่หมุนเวียนจะเห็นเป็นแปลงเดี่ยว แต่ในชุมชนบ้านแม่ปอคี มีการทำไร่หมุนเวียนแบบแปลงรวมแปลงเดียวกันเป็นแปลงใหญ่ ภายในแปลงใหญ่จะมีแปลงย่อยแยกออกไปโดยมีเป้าหมายในการแบ่งว่าเป็นของใคร ในทุก ๆ 5 ปี  ที่วนมาที่เดิมจะต้องสับเปลี่ยนพื้นที่กับเพื่อนบ้านโดยไม่ทำซ้ำพื้นที่เดิมเมื่อ 5 ปีก่อนหน้านี้ และไม่สามารถยึดพื้นเป็นของตนเองได้จึงต้องดูแลทั้งพื้นที่ของตนเองและของเพื่อนบ้าน ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมภายในแปลงย่อย เพื่อกระจายการใช้พื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ ไม่ผูกขาดการใช้ประโยชน์เป็นการจัดการแบบเชิงร่วม เพราะฉะนั้นนี่จึงเป็นวัฒนธรรมการจัดการสิทธิเชิงร่วม

มรดกทางภูมิปัญญา สู่ ปฏิทินพิธีกรรมไร่หมุนเวียน  ต่าเกฆ์ เลอฆึ

ขั้นตอนและพิธีกรรมในไร่หมุนเวียนของชุมชนบ้านขุนแม่เหว่ย มีทั้งหมด 19 ขั้นตอน

มกราคม 

  • เป็นเดือนพัก (ลาปลือ) ไม่แต่งงาน ไม่ขึ้นบ้านใหม่

กุมภาพันธ์

  • สำรวจและเลือกพื้นที่ และทำพิธีก่าดูคี เพื่อขออนุญาตเจ้าป่าเจ้าเขา และเสี่ยงทายว่า สามารถทำไร่หมุนเวียนในที่แปลงนั้นได้หรือไม่
  • ถางไร่ (แผะฆึ) เลือกวันถางแล้วแจ้งเพื่อนบ้านให้มาช่วยกันทำงาน
  • ปล่อยให้ไม้แห้ง (โลกอ) เพื่อรอการเผาไร่ และถ้าไม้แห้งดี เวลาเผาไร่จะไหม้ดี และไฟจะไหม้เร็ว ซึ่งช่วยลดหมอกควันได้

มีนาคม

  • ทำแนวกันไฟ (วะเม่โต) เพื่อป้องกันไฟ ไม่ให้ไหม้ลุกลามนอกขอบเขตไร่หมุนเวียน

เมษายน

  • เผาไร่ (ชุฆึ) เผาไม้ที่ถูกตัด เพื่อให้หน้าดินที่ถูกไฟเผามีธาตุอาหาร เหมาะสมแก่การเพาะปลูก และเพื่อให้วัชพืชขึ้นยากขึ้น โดยก่อนเผาจะทำพิธีโปรโชคี เพื่ออธิษฐานให้ไฟเผาไหม้ไร่ให้หมด ไม่เหลือเศษไม้ในไร่
  • เก็บเศษไม้ในไร่ และทำรั้ว (โฆ่ฆึ) เจ้าของไร่และเพื่อนบ้านเก็บกวาดเศษไม้ที่เหลือจากการเผา เพื่อเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ไม้ขนาดใหญ่-กลาง เอามาทำรั้ว ไม้ขนาดเล็กเอามาทำเป็นค้างไม้เลื้อย ไม้ขนาดสั้นเอามาทำเป็นฟืน
  • ปลูกพืชพันธุ์นำร่อง (ซุโชต่า) เช่น เผือก มัน มันสำปะหลัง ก่อนปลูกข้าว โดยเชื่อว่าปลูก เผือก (คึ) จะทำให้ดินเย็นลง พืชอื่น ๆ โตได้อย่างรวดเร็ว และต้องปลูกนำร่อง 3 วัน เชื่อว่าเมื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์มองลงมา ก็จะรู้ว่ามีคนมาทำไร่ตรงนี้และไม่เข้ามายุ่ง
  • ปลูกข้าว (โทะฆึ) นำเมล็ดอื่น ๆ เช่น แตง ฟักทอง มะเขือ มาผสมกับเมล็ดข้าว แล้วเอาไปปลูก เพื่อให้ไร่มีพืชหลากหลาย จะมีพิธีแซะฆึ เพื่อขออนุญาตปลูกข้าว และพิธีโท๊ะล่อฆึ เพื่อให้เจ้าของไร่ทำงานก้าวหน้ารุ่งเรื่อง

ปลายเดือนพฤษภาคม, ปลายเดือนมิถุนายน,ปลายเดือนกรกฎาคม

  • ดายหญ้า กำจัดวัชพืชและศัตรูพืชโดยไม่ใช้สารเคมี โดยเจ้าของไร่จะถางหญ้านำ (กลอลอน้อ) 3 วัน แล้วพัก 1 วัน จากนั้นจะถางหญ้าให้หมดไร่

สิงหาคม

  • พิธีกรรมขอพรให้ต้นข้าวเติบโตงอกงาม (บวอฆึ / แซฆึ) ทำตอนที่ข้าวเริ่มเขียว เพื่อให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะสมกับการปลูก โดยการทำศาลเจ้าที่ 2 หลัง (ต่าแซะและต่าสะปว่า)

กันยายน

  • วันห้ามไปไร่ (ดึโละฆึ) : พิธีกรรมขอขมาไม่ให้ข้าวเจ็บป่วยล้มตาย และไม่ให้แมลงมากัดกินต้นข้าว ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ได้แก่ พิธีกรรมพีเบาะ คือการนำหน่อไม้ไปโปรยในไร่  เป็นการเรียกแมลงและจุลินทรีย์ ให้มาสนใจหน่อไม้และมากินหน่อไม้  พิธีกรรมแชะลอวะบลอ  การปักไผ่หลาม 5 หรือ 7 ต้น เชื่อว่าป้องกันใบข้าวเหลือง พิธีกรรมแชะลอมอ การตัดกระบอกไม้ไผ่แล้วไปวางที่กระท่อม และมุมไร่ ป้องกันใบข้าวติดโรค
  • ตัดแต่งใบข้าว (พวอบือบึ) เพื่อให้ข้าวเติบโตได้สะดวก เนื่องจากเวลาการปลูกข้าวที่ถี่มาก เมื่อต้นข้าวเติบโตทำให้ใบข้าวติดกัน ทำให้ข้าวเจริญเติบโตช้า หรือตาย

ตุลาคม

  • พิธีกรรมเรียกขวัญข้าว (แกวบือกะลา) คือขอให้ข้าวตั้งท้อง เชื่อว่าเป็นการปฏิสนธิระหว่างข้าวและสายฟ้า
  • เก็บเกี่ยวข้าวเหนียว (กุปีอี) เก็บเกี่ยวข้าวเหนียวก่อนข้าวเจ้า เพราะข้าวเหนียวโตไวกว่า

พฤศจิกายน

  • เกี่ยวข้าว (กุบือ) เก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวในไร่หมุนเวียน และตากข้าวให้แห้ง 4-5 วัน เป็นการร่วมมือลงแขกเกี่ยวข้าวกันในชุมชน
  • ตีข้าว (โปะบือ) เพื่อเก็บเมล็ดข้าวออกจากต้นหลังการเก็บเกี่ยว โดยจะนำข้าวทั้งหมดมากองรวมกัน ทำเป็นลานตีข้าว และช่วยกันตี โดยระหว่างตีจะมีการพูดคุยเรื่องผลผลิตแต่ละครัวเรือน ถ้าใครมีน้อยไม่พอกิน คนในชุมชนจะแบ่งปันกัน
  • ส่งนกขวัญข้าวสู่ฟ้า (เซอท่อโท้) พิธีกรรมขอบคุณนกขวัญข้าวที่ดูแลและปกป้องต้นข้าวในช่วงที่ผ่านมา

ธันวาคม

  • กินข้าวใหม่ (อ้อบือโค้) การเฉลิมฉลองผลผลิตใหม่ และขอบคุณสิ่งเหนือธรรมชาติที่ให้กำลังกายและกำลังใจในการเพาะปลูกตลอดฤดูกาล มีการนำข้าวใหม่มาต้มเหล้า และกินข้าวกับแกงที่ปรุงจากผลผลิตทุกชนิดในไร่รวมถึงสัตว์จำพวกกุ้ง หอย ปู เป็นสัตว์เดินช้า กินพร้อมข้าวใหม่จะทำให้ข้าวหมดช้า เป็นต้น

“การทำเกษตรแบบไร่หมุนเวียน ของชุมชนปกาเกอะญอบ้านแม่ปอคี จึงสะท้อนศักยภาพของวิถีความมั่นคงในชีวิต ซึ่งการทำไร่หมุนเวียน ไม่ใช่การทำเกษตรแบบแผ้วถางเอาพื้นที่ทำกินถาวร แต่เป็นการหมุนเวียนเพื่อให้มีการพักฟื้นพื้นที่ป่าให้งอกเงยดังเดิม โดยที่ป่าไม่หายไปไหน  เป็นวิถีการจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน”


อ้างอิง

  • โครงการศึกษากระบวนการเตรียมความพร้อมชุมชนในการพัฒนาเขตวัฒนธรรมพิเศษชุมชนกะเหรี่ยง โดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  • โครงการวิจัยการพัฒนากลไกและแผนแม่บทในการพัฒนาชุมชนเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตชาติพันธุ์ กะเหรี่ยง บ้านแม่ปอคีโดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  • โครงการ การจัดทำคลังข้อมูลภูมิปัญญาไร่หมุนเวียนบ้านขุนแม่เหว่ย (แม่ปอคี) (สงกรานต์ หทัยภัสสร และคณะ.2563)

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active