
การตั้งถิ่นฐาน ‘ชุมชนไทดำ’ แห่งดินแดนด้ามขวานสุราษฎร์ธานี
ชุมชน ‘ชาติพันธ์ไทดำ’ หรือ ‘ไทยทรงดำ’ ลุ่มน้ำตาปี จ.สุราษฎร์ธานี ส่วนใหญ่ย้ายรกรากมาจากภาคกลาง จ.สุพรรณบุรี, นครปฐม, กาญจนบุรี, เพชรบุรี และราชบุรี ตั้งแต่ปี 2496 เป็นต้นมา โดยเป็นการซื้อที่ดินต่อจากคนใต้ในถิ่นเดิม ตั้งบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่ 2 อำเภอ คือ หมู่ 7 ตำบลท่าข้าม หมู่ 2 ตำบลกรูด และหมู่ 4 ตำบลท่าสะท้อน อำเภอพุนพิน และ หมู่ 1 หมู่ 4 ตำบลทรัพย์ทวี อำเภอบ้านนาเดิม ปัจจุบันมีประชากรโดยรวมประมาณ 1,500 คน 300 ครัวเรือน
จนกระทั่งถึงปี 2503 มีการออกทะเบียนบ้าน และชุมชนก็ได้เป็นปึกแผ่น มีการก่อตั้ง วัดดอนมะลิ โดย พระครูสุนทรวุฒิธรรม (หลวงพ่อแอ) อดีตเจ้าอาวาส ซึ่งเป็นชาวไทดำ และตั้งโรงเรียนขึ้นมาในปี 2504 ซึ่งตั้งแต่ปี 2509-2526 ได้เสียภาษีบำรุงท้องที่ มีหลักฐานใบ ภบท.5 (ตกไร่ละ 4 บาท)


นับเวลาล่วงมากว่า 70 ปีแล้ว ที่ชุมชนคนไทดำ ได้ทำมาหากินในพื้นที่ดังกล่าว โดยมีการปลูกผักพืชล้มลุก เช่น ได้แก่ ฟักทอง แฟง ทำไร่ข้าว ไร่งา และขุดบ่อดินเลี้ยงปลาตามธรรมชาติ ต่อมาจนถึงปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นปาล์มน้ำมัน และมีอาชีพประมง ทำผลผลิตที่เป็นภูมิปัญญาชาวไทดำ อย่างปลาร้า ดุกร้า ที่สร้างเศรษฐกิจชุมชน พวกเขาจึงยืนยันในสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ที่เป็นผู้บุกเบิกไม่ใช่ผู้บุกรุก
เส้นทางปัญหา ผลกระทบที่ดินชุมชนไทดำ
ภายหลังตั้งรกรากมากว่า 30 ปี ในปี 2529 ทางอำเภอบ้านนาเดิม ได้ออกหนังสือสำหรับที่หลวง หรือ น.ส.ล. ทับที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยของชาวบ้านไทดำ หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 4 ต.ทรัพย์ทวี อ.บ้านนาเดิม ซึ่งในขณะนั้นชาวบ้านไม่เคยรู้เลย
กระทั่งปี 2538 รัฐมาโครงการก่อสร้างเพื่อตั้งนิคมอุตสาหกรรม 700 โรงงาน ที่บริเวณชุมชน ซึ่งทางชุมชนไทดำได้ร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่หลายชุมชนรวมทั้งประชาสังคมสุราษฎร์ธานี เคลื่อนไหวคัดค้านจนได้มีการยุติโครงการไปในที่สุด

ปี 2539 ชาวไทดำ ได้มีการปรับเปลี่ยนปลูกพืชเศรษฐกิจ ปาล์มน้ำมันตามนโยบายการส่งเสริมภาครัฐ จากเดิมปลูกผักพืชล้มลุก ได้แก่ ฟักทอง แฟง ทำไร่ข้าว ไร่งา และขุดบ่อดินเลี้ยงปลาตามธรรมชาติ ขณะที่บางส่วนยังปลูกผัก ทำประมง และแปรรูปอาหารผลผลิตทางการเกษตรที่แสดงถึงภูมิปัญญาชาวไทดำ เช่น ปลาร้า ดุกร้า
ปี 2547 นายอำเภอ และเจ้าหน้าที่ ได้เข้ามาจับกุมคนจับรถไถ ซึ่งกำลังไถปรัปรุงพื้นที่ เพื่อปลูกข้าวโพด และหว่านงา โดยแจ้งเหตุผลว่า พื้นที่ดังกล่าวประกาศเป็นพื้นที่ น.ส.ล.แล้วตั้งแต่ปี 2529 นับแต่นั้นจึงไม่มีการพัฒนาพื้นที่ ขณะที่ชาวบ้านได้พยามค้นหาข้อมูลว่าการประกาศ น.ส.ล.ผิดที่

ในปี 2553 เมื่อรัฐบาลเดินหน้านโยบายโฉนดชุมชน ชาวไทดำได้ยื่นขอโฉนดชุมชนในปีนั้นเช่นกัน
ปี 2554 ได้มีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ MOA : Memorandum of Agreement ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี และหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อให้ชาวบ้านสามารถใช้พื้นที่นี้ได้ ในระหว่างเดินหน้าโฉนดชุมชน
ในปี 2561 ชาวไทดำ พบกับอีกความท้าทายในโครงการพัฒนา โครงการแก้มลิงทุ่งปากขอ แก้ไขปัญหาอุทกภัย ท่ามกลางการคัดค้านของประชาชน โดยนายอำเภอบ้านนาเดิมในขณะนั้น ได้คุมกำลังเข้าไถที่ชาวบ้าน จำนวน 8 แปลง จากจำนวนรวมทั้งสิ้น77 แปลง
ปี 2562 ชาวบ้านได้เข้ายื่นต่อศาลปกครอง กรณีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ละเมิดบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ MOA : Memorandum of Agreement เพื่อให้ชาวบ้านสามารถใช้พื้นที่นี้ได้เมื่อปี 2554
ปี 2563 ชุมชนไทดำ จ.สุราษฎร์ธานี ได้เข้าเป็นสมาชิกของ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ เคลื่อนไหวเรียกร้องกระทั่ง ครม.ตั้งคณะทำงานตรงจสอบข้อเท็จจริงกรณีประชาชนขอความเป็นธรรม เกี่ยวกับเอกสารสิทธิในที่ดิน ประชุมแนวทางการแก้ปัญหาในเรื่องตำแหน่ง น.ส.ล.ออกตรงตามทะเบียนหวงห้ามหรือไม่ และเลขานุการคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่สาธารณะประโยชน์และที่ดินเอกชนปล่อยทิ้งร้าง พร้อมด้วยเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี, นายอำเภอบ้านนาเดิม, รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลทรัพย์ทวี, กำนันตำบลทรัพย์ทวี ได้ลงพื้นที่กำหนดประเด็นการตรวจสอบข้อมูล เพื่อติดตามการแก้ปัญหา
จากนั้นในปี 2565 การประชุมคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงการแก้ไขปัญหาที่สาธารณะประโยชน์และที่เอกชนปล่อยทิ้งร้าง ของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม จ.สุราษฎร์ธานี ระดับอำเภอ มีมติร่วมกัน ว่าการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง น.ส.ล.ไม่ตรงตามตำแหน่งทะเบียนหวงห้ามเดิม ปี 2475

“คือในปีนี้ตรวจสอบกันชัดแล้ว เพราะเอกสารทะเบียนหวงห้าม 2475 ระบุชัดว่า แต่ละทิศอยู่จุดใด และที่สำคัญไม่มีข้อความหรือพิกัดใดระบุลุ่มน้ำตาปี เป็นแต่เพียงการพยายามมาเพิ่มภายหลังของหน่วยงาน ดังนั้นจึงชัดว่าประกาศผิดพื้นที่ และทำให้ชาวบ้านไทดำทุกหมู่เดือนร้อนในที่อยู่อาศัย ที่ทำกินรวม 135 ครัวเรือน เดือดร้อนกันหนัก”
จันทรัตน์ รู้พันธ์
ปี 2567 มีมติที่ประชุมสำคัญของคณะทำงานแก้ปัญหาที่ดินทั้งระบบที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 กรณีปัญหาที่สามารถสั่งการได้ กระทรวงมหาดไทย ให้ดำเนินการรังวัด สอบเขต น.ส.ล. ที่ออกผิดตำแหน่งตามผลผลการสอบสวน และตรวจสอบเฉพาะกรณีชุมชนไทดำ เนื้อที 1,408 ไร่ ให้แล้วเสร็จโดยเร่งด่วน ภายในระยะเวลา 30 วัน และให้ดำเนินการรังวัด สอบเขต น.ส.ล. เพื่อทราบขอบเขตบริเวณชุมชนไทดำที่ผิดตำแหน่งการใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ครอบคลุมถึงบริเวณที่ดินของกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ชุมชนไทดำ (บ้านทับชัน) และคลาดเคลื่อนตามผลการสอบสวนที่ยุติในกระบวนการตามผลการตรวจสอบที่ได้ข้อยุติแล้ว จำนวน 77 แปลง เนื้อที่ 1,408 ไร่ รังวัดเสร็จแล้ว โดยวิธีแผนที่ ชั้น 1 (RTK GNESS NETWORK) ไดรูปแผนที่และเนื้อที่ประมาณ 1,318 -3-55 ไร่
แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2568 นายอำเภอบ้านนาเดิม ได้ปักป้ายขับไล่ชาวบ้าน หมู่ 1 และ หมู่ 4 ต.ทรัพย์ทวี อ.บ้านนาเดิม ให้รื้อถอนบ้านเรือน ผลอาสิน ภายใน 30 วัน ทำให้ชาวบ้านออกมาปักหลักเคลื่อนไหวเรียกร้องที่หน้าอำเภอบ้านนาเดิม และศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี
กระทั่งเย็นวันที่ 3 เม.ย. 2568 นายอำเภอนาเดิมได้ชะลอคำสั่งและถอนป้ายรื้อถอนออก ตามข้อเรียกร้องชาวบ้าน จนกว่าที่ประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินสาธารณะประโยชน์ ที่ดินเอกชนปล่อยทิ้งร้าง และปัญหาที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย จะพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาแล้วเสร็จ
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง : อำเภอถอนแล้ว “ป้ายขับไล่ชุมชนไทดำ” อ.บ้านนาเดิม จ.สุราษฎร์ธานี


ในวันที่ 23 เม.ย. 2568 คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินสาธารณะประโยชน์ ที่ดินเอกชนปล่อยทิ้งร้าง และปัญหาที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย จะประชุมกัน โดยชาวไทดำ เคลื่อนขบวนมาปักหลักตั้งแต่ช่วงดึกวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อหวังให้มีความคืบหน้าแก้ไขปัญหาเพิกถอนพื้นที่กรณีการออก น.ส.ล.ทุ่งปากขอผิดที่ และทับที่ดินทำกินที่อยู่อาศัยชาวไทดำ 135 ครัวเรือน และขอให้เร่งรัดการจัดทำแผนออกเอกสารรับรองสิทธิที่ดินดั้งเดิม
“ถ้าไม่แก้ไข แล้วขับไล่เราออกจากที่ดินที่เป็นบ้าน เป็นชีวิต จะให้เราไปอยู่ไหน นี่คือผืนแผ่นดินเดียวที่พ่อแม่เราบุกเบิกไว้ให้ลูกหลาน บ้านก็อยู่ตรงนี้ สวนผัก สวนปาล์ม ทำประมงลุ่มน้ำตาปี ชีวิตทุกอย่างของเราคือที่นี่ เรารักษาภูมิปัญญารากเหง้าไทดำมากว่า 700 ปี หากไม่มีที่ดิน ที่อยู่อาศัย แล้วเราจะรักษาทุนวัฒนธรรม ภูมิปัญญาชาวไทดำเราได้อย่างไร เพราะที่ดินคือจุดเริ่มต้นของทุกอย่างในชีวิตของเรา”
แดนทอง คนสูง ทิ้งท้าย