ในเวทีวิเคราะห์นโยบายพรรคการเมืองและข้อเสนอสำหรับการเลือกตั้ง 2566 เพื่อความมั่นคงทางอาหารและคุณภาพชีวิตเกษตรกรที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิชีววิถี, มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) และสถาบันวิจัยสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เริ่มต้นด้วยการฉายภาพและสรุปนโยบายเกี่ยวกับเกษตรกรและความมั่นคงทางอาหาร
โดยพบว่าขณะนี้ มี 8 พรรคการเมือง ที่ได้วางนโยบายเรื่องนี้ ประกอบด้วยพรรคเพื่อไทย, ภูมิใจไทย, พรรคพลังประชารัฐ, พรรคชาติไทยพัฒนา, พรรคประชาธิปัตย์, พรรคชาติพัฒนากล้า,พรรคก้าวไกล, พรรคไทยสร้างไทย โดยจากการประมวลนโยบายของทั้ง 8 พรรค ตัวแทนภาคส่วนต่าง ๆ เห็นตรงกัน ว่านโยบายที่ออกมาแทบทุกพรรค ยังไม่ตอบโจทย์ต่อการสร้างความมั่นคงทางอาหาร และคุณภาพชีวิตเกษตรกร The Active รวบรวมบางส่วนของบทวิเคราะห์ และความเห็น ตลอดจนข้อเสนอนโยบายจากตัวแทนภาคส่วนต่าง ๆ ให้ได้ติดตาม
วรดร เลิศรัตน์นักวิจัย 101PUB – 101 Public Policy Think Tank นำเสนอผลการศึกษาที่สำรวจสถานการณ์ความยากจนของเกษตรกรไทย เพื่อให้เห็นจุดบอดของนโยบายเงินอุดหนุนในปัจจุบันที่ยิ่งทำ ก็เหมือนยิ่ง ‘ขุดหลุมฝังประเทศ’ ลงสู่วงจรแห่งความยากจนและความเหลื่อมล้ำ โดยผ่านการอธิบาย การใช้งบประมาณเพื่อการอุดหนุนของรัฐบาล เพื่ออุดหนุนราคาสินค้าเกษตร 6 ชนิด ได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพด ซึ่งใช้งบประมาณอุดหนุนรวมทั้งสิ้น 4.6 แสนล้านบาท หรือเฉลี่ย 1.5 แสนล้านบาท ต่อปี
แต่ชีวิตของเกษตรกรก็ยังยากจน จึงควรตั้งคำถามว่านโยบายเงินอุดหนุนช่วยเกษตรกรได้จริงหรือไม่โดยผลสำรวจชี้ว่า มีเกษตรกรจดทะเบียน ณ เดือนสิงหาคม 2022 ราว 9.2 ล้านคน คิดเป็น 13.9% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ และมีครัวเรือนเกษตรกรทั้งสิ้น 8 ล้านครัวเรือน หรือ 29.0% ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด โดยจำนวน 9.2 ล้านคนนี้ ถือเป็นกลุ่มอาชีพที่ยากจนที่สุด ซึ่งร้อยละ 11.4 เป็นคนยากจน และร้อยละ 27 มีรายได้ไม่พอรายจ่ายที่จำเป็น 42% มีรายได้หลังหักรายจ่ายที่จำเป็นไม่พอชำระหนี้และลงทุนทำเกษตรรอบถัดไป
นอกจากนี้ 34% ยังมีหนี้สินคงค้างมากกว่ามูลค่าสินทรัพย์ที่ถือครอง เสมือนล้มละลายไปแล้วทั้งนี้ปัญหาความยากจนดังกล่าวมีสาเหตุเพราะการทำเกษตรมีรายได้ต่ำมาก ในปี 2017-2021 ครัวเรือนเกษตรกรมีกำไรจากการเกษตรเฉลี่ยเพียง 73,974 บาทต่อปี หรือ 202.7 บาท ต่อวัน น้อยยิ่งกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่ 328-354 บาท ต่อวัน ต่อคน ซึ่งหมายความว่า ถ้าคำนวณค่าแรงเกษตรกรในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นต้นทุนด้วย พวกเขาจะขาดทุน
ซึ่งปัญหาทั้งหมดเกิดจาก 3 ส่วน ได้แก่ 1. ปัญหาเงินอุดหนุนฝังเกษตรกรให้ติดอยู่ใน ‘วงจรความยากจน’ ระยะยาว 2. เงินอุดหนุนช่วยไม่ตรงจุด เข้ากระเป๋าเกษตรกรรายใหญ่ มากกว่ารายย่อย และ 3. เงินอุดหนุนไม่ยั่งยืน ช่วยเกษตรกรได้น้อยลง แต่ใช้งบเพิ่มขึ้น ถ้าเราคิดค่าแรงเกษตรกรเป็นต้นทุนทำเกษตร เกษตรกรขาดทุนเยอะมาก เกษตรกรจึงอยู่ในภาวะยิ่งทำยิ่งจน
“นโยบายเงินอุดหนุนแม้จะชูเป็นนโยบายสำคัญในช่วงหาเสียง เป็นนโยบายประชานิยม แต่ก็มีปัญหาหลายอย่าง ทำให้ตัวเกษตรจนมากขึ้น เหลื่อมล้ำมากขึ้น ประเทศมีหนี้สะสมมากขึ้น เพราะในทางทฤษฎีเมื่อกล่าวถึงเรื่องการขาดทุนของเกษตรกร คือการ ชี้ให้เห็นของความไม่เหมาะสมของการลงทุน ประสิทธิภาพการผลิตต่ำ คุณภาพสินค้าต่ำ และการปลูกพืชเชิงเดี่ยวก็มีความเสี่ยงสูงในการบีบให้เกษตรกรไร้ทางเลือกในการจัดการผลผลิตในพื้นที่ดินของตนเองระบบโครงสร้างการทำเกษตรปัจจุบันผลักดันให้ขาดทุนเงินอุดหนุนจึงเหมือนเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นที่ไม่มีทางสิ้นสุด และไม่ช่วยให้เกษตรกรหลุดออกจากวงโคจรความยากจน“
นโยบายเงินอุดหนุนเกษตรกรจะสร้างปัญหาระยะยาว เพราะเงินเหล่านี้รัฐบาลนำมาจากเงินกู้นอกงบประมาณ และไม่ผ่านการพิจารณาในรัฐสภา และแต่ละปีกู้เงินมามากกว่าใช้หนี้ ข้อเสนอสำคัญคือ เกษตรกรควรได้รับการเติมรายได้จากสวัสดิการในฐานะสวัสดิการพลเมือง เพราะคนจนทุกคนไม่ได้เป็นเกษตรกร และเกษตรกรทุกคนไม่ได้เป็นคนจน ให้ประชาชนทุกคนที่จำเป็นเข้าถึงเพียงพอ ควรจูงใจให้เงินสนับสนุนบางอย่างผูกกับเงื่อนไข ปรับปรุงการเกษตรเพื่อการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ เรื่องของสวัสดิการเกษตรกรนั้นต้องทำเป็นตาข่ายทางสังคม เชื่อมกับสวัสดิการอื่น ๆ ทั้งนโยบายที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ
ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ วิเคราะห์นโยบายและข้อเสนอนโยบายเกษตรของพรรคการเมืองว่า มีทั้งดีขึ้นและน่าเป็นห่วง เห็นตรงกันว่าเรื่องการอุดหนุนภาคเกษตรส่งผลลบมากกว่าบวก แต่ปัญหาใหญ่ที่คิดในฐานะสภาเกษตรกรฯ นโยบายยั่งยืนนั้น คือ นโยบายระยะยาวไม่มีใครนำมาหาเสียง เพราะนโยบายประชานิยมเฉพาะหน้ายิ่งใหญ่มาก เรื่องหนี้สิน ค่าครองชีพ เป็นหัวใจในการได้คะแนน พรรคการเมืองแก้ปัญหาได้ทันควันคือสิ่งที่จะได้เสียง สิ่งที่ควรทำ คือ เสนอให้พรรคการเมืองมีแนวทางนโยบายที่อุดหนุนระยะสั้นและแนวทางนโยบายระยะยายควบคู่กันไป เพราะพรรคการเมืองมักจะบอกว่านโยบายด้านการเกษตรนั้นส่วนใหญ่บอกว่า “ดีมาก น่าทำ แต่ยาวไป”
นโยบายที่ดี ที่ควรทำในระยะยาวและยั่งยืน คือต้องค้นหาให้ได้ถึงรากปัญหา แต่ปัญหาสำคัญที่ทุกพรรคยังคลุมเครือคือ “ที่ดินทำกินเกษตรกร” เกษตรกรอยู่ในพื้นที่ของรัฐมากกว่า 1 ล้านครัวเรือน, ที่เป็นพื้นที่ สปก. 3 ล้านครัวเรือน รวมกันเป็นครึ่งหนึ่งของเกษตรกรในประเทศไทย ที่ไม่มีสิทธิในที่ทำกินและไม่สิทธิทางกฎหมาย ดังนั้น นโยบายที่นำเสนอมาของแต่ละพรรคจึงทำไม่ได้จริงในหลายเรื่อง เพราะเกษตรกรจะติดเรื่องสำคัญ คือการไร้สิทธิในการทำเกษตรกรรมในพื้นที่รัฐหลายรูปแบบ เช่น การปลูกพืชเศรษฐกิจ 4 ชนิด แต่ไม่สามารถปลูกพืชไม้เศรษฐกิจยืนต้นได้ เพราะจะติดเรื่องนิยามพื้นที่ป่า เช่น การปลูกไผ่ หรือการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม การทำโรงงานแปรรูปในบางพื้นที่ก็ทำไม่ได้เพราะปัญหาเรื่องที่ดิน เอกสารสิทธิ เกษตรกรหลายล้านครัวเรือนถูกจำกัดสิทธิ เพราะพื้นที่ไม่เปิดโอกาสให้ ติดปัญหาการขออนุญาตจากหน่วยงานรัฐ ถ้าเราแก้ปัญหารากเหง้าเรื่องนี้ไม่ได้ ก็เดินหน้าไม่ได้ 1 ล้านครอบครัวถูกจำกัดสิทธิ การแปรรูป การทำ SMEs ถูกจำกัดด้วยกฎหมายปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2518 ซึ่งล้าสมัยไม่เหมาะกับสังคมที่เปลี่ยนแปลง
“แนวทางนโยบายอุดหนุนเกษตรกรระยะสั้นทำได้ แต่ต้องมีแนวทางนโยบายระยะยาวควบคู่กันไป สร้างทางเลือกการเกษตรมากกว่า 1 อย่าง กระจายอำนาจ ส่งเสริมการเกษตรให้ท้องถิ่นมีอำนาจ โดยให้บทบาท อบจ. อบต. ได้ทำ ทุกวันนี้ท้องถิ่นไม่สามารถทำได้ รัฐอ้างว่างบประมาณซ้ำซ้อน ทั้ง ๆ ที่งบฯ การส่งเสริมยังกระจุกที่กระทรวงเกษตรฯ การแก้ไขจึงควรทำที่ท้องถิ่นมากกว่าส่วนกลาง เพราะส่วนกลางตอบโจทย์พรรคการเมืองมากว่าเกษตรกร, ในเรื่อง พ.ร.บ.ที่ดิน ต้องปรับให้ทันสมัยให้เหมาะสมกับสภาพสังคม การเน้นนโยบายที่มีความยั่งยืนควรปรับเปลี่ยนพื้นที่เกษตรที่ไม่เหมาะสม เน้นปลูกไม้ยืนต้นมากกว่าทำเกษตรเชิงเดี่ยว เรื่องโคนม นมโรงเรียน ควรมองให้ไกลถึงการแปรรูปเพิ่มมูลค่านมให้มากกว่านี้“
รศ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าในรายงานของ101 Public Policy Think Tank เน้นประเด็นเรื่องช่วงจำนำข้าว ที่ใช้งบ 8.8 แสนล้านบาท แต่จำนำข้าวไม่ได้มีแค่เงินอุดหนุน ยังมีส่วนที่ขายด้วย ขณะที่รัฐบาลนี้ที่อยู่มา 8 ปี ใช้งบประมาณปีละ 1 แสนล้านเพื่ออุดหนุนเกษตรกร ถ้ารวมตัวเลขการอุดหนุนตลอด 8 ปี จำนวนมหาศาล และไม่ได้แตกต่างจากรัฐบาลอื่น ๆ ที่ตัวเองว่านัก ปัญหาสำคัญคือเงินมหาศาลเหล่านี้ ที่ไปอุดหนุนไม่ได้ไปสู่การพลิกโฉมเกษตรกร มันไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตแบบนี้
ในแง่นี้ ไม่เห็นว่ามีนโยบายพรรคไหนเสนอเรื่องการแก้ปัญหาที่แท้จริง การวิจารณ์เงินอุดหนุนเกษตรกร ต้องนึกถึงค่าพรีเมียมข้าวในอดีตที่เก็บจากชาวนาด้วย ต้องให้ความเป็นธรรมกับชาวนาเกษตรกรที่รัฐอุดหนุนด้วย อย่างกรณีนโยบาย นาอินทรีย์ล้านไร่ก็เลิกไปแล้ว ชาวบ้านก็กลับมาทำนาแบบเก่า มันแสดงให้เห็นว่าการผลักดันงบประมาณไม่มีประสิทธิภาพอะไรที่ทำให้ชาวบ้านเขาสามารถผลิตข้าวต่อได้, ประเด็นที่ 2 เกษตรกรชาวนาชาวไร่ ส่วนหนึ่งก็คือเกษตรกรรายย่อย นโยบายทุกพรรคเลยไม่พูดเรื่องเกษตรกรในพื้นที่ป่าและทะเล คนที่พึ่งฐานทรัพยากรธรรมชาติคนเหล่านี้จะส่งเสริมเขาอย่างไร
นอกจากไม่พูดถึงยังมีนโยบายซ้ำเติม คือ BCG ส่งเสริมเอกชนปลูกป่าขายเครดิตคาร์บอน กฎหมายนี้จะไปเกี่ยวข้องกับคนที่อยู่ในพื้นที่ป่า ปรับระบบโครงสร้างป่าไม้ที่เกษตรกรรายย่อย เรื่องนี้หายไปเลย นโยบายครั้งนี้ไม่มีใครพูดถึง ทั้งที่จะมีคนมากมายที่ได้ผลกระทบ ประเด็นที่ 3 เรื่องปัจจัยการผลิต การปฏิรูปที่ดิน การกระจาย มีบางพรรคพูดเรื่องธนาคารที่ดินเล็กๆน้อยๆ ควรจะต้องมีการพูดถึงปฏิรูปที่ดินกันอย่างจริงจัง คิดเรื่องของการพลิกโฉมเกษตรกร, ประเด็นสุดท้าย ไม่มีเกษตรกรแบบเดี่ยว ๆ อีกแล้ว
“เกษตรกรมีชีวิตหลากหลาย ไม่มีใครปลูกข้าวอย่างเดียว ประเด็นเมื่อชีวิตทำมาค้าขายด้วย เกษตรกรรายย่อย ต้องมีตลาด ต้องด้นรนชีวิตหลายหน้า นโยบายที่เกี่ยวข้องกับเกษตรมันต้องครอบคุลมชีวิตถ้วนหน้า การถ่ายโอนมาเรื่องท้องถิ่นจึงสำคัญมาก การมองเรื่องตลาดชุมชน ท้องถิ่น ขยายตลาด โดยสรุปเราต้องการนโยบายครอบคลุมเกษตรกรที่เปลี่ยนหน้าไปเป็นผู้ประกอบการ และนโยบายต้องครอบคลุมเรื่องของตลาด นโยบายต้องสนใจภาพใหญ่ ถ้าเห็นแต่ชาวนาเกี่ยวข้าวอย่างเดียว เป็นนโยบายไม่ได้อีกต่อไป“
ประภาส เสนอว่า ต้องพลิกโฉมโครงสร้างการผลิต สังคมไทยไม่สามารถจ่ายเงินแสนกว่าล้านบาท อุดหนุนเกษตรไปเรื่อย ๆ ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนการผลิต ข้อเสนอ คือการอุดหนุนระยะสั้นยังจำเป็นต้องมี เพราะเกษตรกรถูกขูดรีดมายาวนาน เวลาราคาสูงก็ถูกเก็บค่าพรีเมียม ภาษีส่งออก แต่ควรออกแบบการอุดหนุนระยะสั้นให้มีเงื่อนไข เรื่องการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตของเกษตรกรเพื่อรองรับการแก้ไขในระยะยาว ขยายความอุดหนุนเพื่อการพลิกโฉม ถอดบนเรียนความล้มเหลวนโยบาย เช่น นาอินทรีย์ล้านไร่ การสร้างเครือข่าย เช่นเกษตรอินทรีย์ยโสธร ประกาศเป็นจังหวัดอินทรีย์ บทเรียนตลาดสีเขียวท้องถิ่นที่เชื่อมผลผลิตกับโรงพยาบาล อบต. และเห็นว่าเกษตรกรจำนวนมากผูกติดกับระบบฐานทรัพยากรท้องถิ่น เช่นเกษตรกรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า เราจึงไม่สามารถมองเกษตรกรเพียงแค่รูปแบบการผลิต และการแก้ปัญหาด้วยการส่งเสริมเงินอุดหนุนแบบเดิม ๆ
นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ (AIDS Access) กล่าวว่า เรื่องเงินอุดหนุนเกษตรกรนั้นมีช่องว่างมากมายที่ทำให้เกษตรกรที่ยากจนจริง ๆเข้าไม่ถึงนโยบายนี้ เพราะใครจะได้เงินอุดหนุนต้องขึ้นทะเบียน และการขึ้นทะเบียนพร้อมมาด้วยเรื่องหลักฐานที่ดินทำกิน นี่เป็นส่วนสำคัญที่เกษตรกรที่เช่าที่ดินหมดสิทธิ หรือเกษตรกรที่ไร้สิทธิในที่ดินทำกิน พอพูดถึงนโยบายพรรคการเมือง โจทย์ใหม่ไม่ใช่เรื่องนโยบายการเกษตรเท่านั้น แต่คือการผลักให้เป็นเรื่องรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ซึ่งไม่มีพรรคไหนดันเรื่องนี้ ถ้าเกษตรกรหวังรายได้บำนาญถ้วนหน้า 3,000 บาท เพราะบางพรรคบอกว่า เขาจะให้ 3,000 บาท แต่ให้เฉพาะผู้สูงอายุที่ยากจน ซึ่งสะท้อนให้เห็นความไม่เข้าใจเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน
สิ่งที่รัฐบาลเอาภาษีมาใช้ควรเป็นสิทธิทุกคน แต่นโยบายยังเน้นคำว่า “ยากจน” ซึ่งก็เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ที่มีปัญหา นโยบายเรื่องนี้ไม่มีพรรคใดพูดเรื่องนี้ชัดเจน แม้จะมีพรรคก้าวไกล พูดตอนปี 2562 ว่าจะผลักดันเรื่องสวัสดิการถ้วนหน้า “เปลี่ยนเบี้ยยังชีพเป็นบำนาญถ้วนหน้า” แต่ใช้ระยะเวลายาว ผู้สูงอายุ 2 ล้านคนใช้ต้นทุนเดิมมีอยู่แล้ว เบี้ยยังชีพ 8 หมื่นกว่าล้าน ทีมแก้กฎหมายผู้สูงอายุ พรรคพลังประชารัฐปัดตกเรื่องกฎหมายเรื่องรัฐสวัสดิการด้วย จาก 8 พรรคการเมือง มีไม่กี่พรรคที่เห็นด้วยกับเรื่องบำนาญถ้วนหน้า
ข้อเสนอสำคัญ 1. ต้องมีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า และไม่ต้องพิสูจน์ความจน 2. การศึกษาถ้วนหน้าตลอดช่วงอายุ 3. เรื่องสุขภาพถ้วนหน้า ส่งเสริมป้องกันเสมอภาค การจ่ายค่ารักษาคนทุกกองทุนเท่ากัน 4. เรื่องภัยพิบัติ คนที่ประสบภัยต้องได้รับอย่างเหมาะสมทันท่วงที 5. บำนาญผู้สูงอายุ บนเส้นความยากจน ปรับเปลี่ยน ให้ทันทุก 3 ปี ให้ทุกคนได้ถ้วนหน้า ให้มีกรรมการดำเนินการ มีระบบมีส่วนร่วมภาคประชาชนไปบริหาร การเน้นเรื่องรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับคนทุกคน และในระยะไกล คือการไปให้ถึงหลักประกันรายได้
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า ประเทศไทยยังมีปัญหาการผูกขาดระบบการกระจายอาหารที่อยู่ในมือบริษัทขนาดใหญ่ มีการปล่อยให้ควบรวมกิจการ ปล่อยให้ค้าปลีกรายเดียวถือครองตลาดร้านสะดวกซื้อเกิน 80 % นโยบายการอุดหนุนการผลิตเชิงเดี่ยวทั้งหลายนั้นไม่ใช่ทำให้เกษตรกรรายใหญ่ได้ประโยชน์เท่านั้น แต่เบื้องหลังคือคงการผลิตเกษตรเพื่อป้อนให้เป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรม การเคลื่อนไหว พ.ร.บ.เกษตรกรรมยั่งยืน ถูกสกัด
ปัจจุบันเรายังคงมีปัญหาความมั่นคงทางด้านอาหาร เด็กไทยที่ขาดสารอาหารที่ทำให้เตี้ยแคระแกร็น ตัวเลขอยู่ที่ 5.5 เปอร์เซ็นต์ สถิติเมื่อเทียบกับละตินอเมริกาสถานการณ์ไทยนั้นแย่กว่ามาก ความมั่นคงทางอาหารของเด็ก สะท้อนปัญหาระบบโภชนาการ และความปลอดภัยในเรื่องอาหาร โดยผลสำรวจล่าสุด ตลาดที่เป็นค้าส่งทั่วไปผักผลไม้มีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานถึง 62 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขนี้เมื่อไปเทียบกับประเทศญี่ปุ่นและอเมริกา ประเทศเขายอมรับได้แค่ 2-3 เปอร์เซ็นต์ มูลนิธิการศึกษาไทยไปสำรวจ พบ 63 เปอร์เซ็นต์ของเด็กไทยได้รับอาหารที่ไม่ปลอดภัย ตอนนี้อาหารของเด็กมีปัญหามาก ซึ่งส่งผลต่อสติปัญญาของเด็กด้วย
“อยากเสนอให้ใช้รัฐสวัสดิการมาตอบโจทย์ปัญหาเรื่องเหล่านี้ ถ้าเราจะสร้างระบบสวัสดิการที่ทำเกิดเงื่อนไขการเปลี่ยนระบบเกษตรกรรม เปลี่ยนอาหารเด็กให้ปลอดภัย เพียงพอ ประเด็นผมเสนอคือ ใช้โมเดลแบบประเทศเดนมาร์ก และหลายประเทศในยุโรป มียุทธศาสตร์เรื่องการปรับเปลี่ยนการผลิตและสร้างความมั่นคงทางอาหาร อย่างปี 2009 ประเทศอิตาลี เปลี่ยนอาหารในโรงเรียนเป็นอินทรีย์ 40 เปอร์เซ็นต์ เราสามารถแก้ปัญหาจุดวิกฤตเรื่องอาหารของประเทศไทย ลดปัญหาการใช้สารเคมีที่ไม่ปลอดภัยในระบบการเกษตรด้วยระบบรัฐสวัสดิการ “
ไชยยะ คงมณีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า นโยบายเน้นที่การเมืองมากกว่าการเปลี่ยนแปลงทางเกษตร ซึ่งงานวิจัยล่าสุดที่ทำทั้งประเทศ สรุปว่า ทิศทางนโยบายในอนาคต สิ่งที่เราเห็นคือโลกกำลังเปลี่ยน ถ้าปล่อยให้เศรษฐกิจดำเนินปกติ ปล่อยให้ระบบทุนนิยมดำเนินการเต็มฟังก์ชัน การปรับเปลี่ยนมูลค่าเพิ่ม โลกเปลี่ยนโครงสร้างผลิต โครงสร้างบริโภค ขณะที่รัฐบาล 4 ปี จะตอบโจทย์สิ่งที่เกิดขึ้นใน 1-2 ปีข้างหน้า คือคน 70 % จะไม่มีความมั่นคงในอาชีพ พึ่งพาตัวเองไม่ได้ โดย 14 % เป็นคนรุ่นใหม่ ภาระของพรรคการเมืองที่ออกนโยบายเพื่อโครงสร้างต้องไปแตะที่ขีดความสามารถ
“เกษตรกรรมไทยไม่ได้มีปัญหาเรื่องความมั่นคงทางอาหารอย่างเดียว แต่มีปัญหาเรื่องอาหารที่ปลอดภัย ไม่เห็นนโยบายพรรคไหนที่ทำเรื่องอาชีพเกษตรกรมั่นคงได้อย่างไร ดังนั้น ทิศทางการพัฒนา ที่บอกว่า ปลอดภัย มั่นคง เกษตรผาสุก ออกจากพืชเศรษฐกิจ 4 ชนิด ก็ต้องนำไปสู่คำถามว่าไปสู่อะไร การอุดหนุนที่ทุกพรรคทำ ไปเน้นเรื่อง ‘รายได้ กับ ต้นทุนปัจจัยการผลิต’ แต่แทบไม่มีนโยบายที่มีการอุดหนุนเพื่อการพัฒนา และการเตรียมรับมือวิกฤตทางสภาวะภูมิอากาศ ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน“
จึงอยากเสนอให้มีการเปลี่ยนการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตร มาเป็นการปรับโครงสร้างการผลิต เช่น เรามีงานศึกษาชัดเจนที่บอกว่าสวนยางผสมผสานมีรายได้มากกว่ายางเชิงเดี่ยวมาก การพัฒนาตลาดโดยเกษตรกรไม่มีใครนำเสนอเรื่องนี้ นี่เป็นเครื่องมือในการเอาตัวรอดการแข่งขันได้ในยุคที่ภาคธุรกิจแข็งแกร่ง เกษตรกรอ่อนแอ เราต้องปรับเกษตรกรให้เป็นนักธุรกิจเกษตรสัก 1 ล้านราย และที่พรรคการเมืองเสนอแล้วคือการสร้างมาตรฐานต่าง ๆ ที่ทั่วโลกยอมรับ งานวิจัยก็ยังมีการพูดถึงกันน้อย การลดความเสี่ยงด้วยการสร้างกองทุนเสถียรภาพรายได้เกษตรกร ก็เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจพัฒนาเป็นนโยบายได้
สุเมธ ปานจำลอง เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าวว่า การมีนโยบายรองรับสังคมสูงวัยในกลุ่มเกษตรกร และการส่งเสริมคนรุ่นใหม่ ลดหนี้เพิ่มรายได้ ภายใต้นโยบายที่เสนอมา ยังคิดว่าไปไม่ถึง โดยเฉพาะเรื่องการจัดรูปภาคเกษตรแบบใหม่ แก้ปัญหาเศรษฐกิจภาคเกษตร เรื่องจัดการผลผลิตนั้น สิ่งสำคัญคือสังคมการเกษตรในภาคชนบท คนสูงวัยถูกทอดทิ้ง คนหนุ่มสาวอยู่นอกถิ่น เด็กเกิดใหม่มีไอคิวต่ำ เรามีนโยบายไปสู่การแก้ปัญหาอย่างไร
ประเด็นเรื่อง contract farming พูดเรื่องเกษตรแนวใหม่ต่าง ๆ เข้าสู่เกษตรเต็มรูป เกษตรนิเวศน์ไม่มีใครพูดถึงการสะท้อนประเด็นว่าความรู้เกษตรของชาวบ้านไม่มีส่วนในการนำมาเปลี่ยนแปลงเลย ไม่มีพรรคไหนเอาความรู้ท้องถิ่น มาแก้ปัญหาเรื่องนี้เลย และไม่สามารถโยงไปกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างปัญหาโลกรวนที่ทั่วโลกเผชิญอยู่ตอนนี้
ดังนั้น ข้อเสนอเรื่องนี้ มองว่า 1. ต้องสร้างความรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงสำคัญ สถาปนานโยบายความรู้ท้องถิ่น การวิจัยโดยชาวบ้านเข้าถึงทุนในการศึกษา ไม่ควรอยู่ที่มหาวิทยาลัยอย่างเดียว งานความรู้ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงใหม่ควรมาจากท้องถิ่น เป็นการเปลี่ยนแปลงข้างล่างขึ้นข้างบน 2. นโยบายการรองรับการปรับตัวของสังคมสูงวัย มันสัมพันธ์กับการกลับบ้าน การพึ่งพิงวัยแรงงาน สังคมไทยภาคเกษตรเองยังไม่รองรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เราไปทำงานกับคนคืนถิ่น เขามีครอบครัว มีความรู้ฟื้นท้องถิ่น รองรับการกลับบ้านสร้างแรงจูงใจ มีกองทุนให้คนกลับบ้าน ผ่าน ธกส. มีเงินคนตั้งหลักในหมู่บ้าน แก้ปัญหาระบบผูกขาดการผลิต หรือเกษตรพันธสัญญา 3. นโยบายความมั่นคงทางอาหาร การปกป้องพื้นที่อาหาร เรื่องเหล่านี้ต้องหยิบขึ้นมาให้ อบต. ระดับท้องถิ่น สร้างอาหารอย่างเพียงพอ เรื่องอาหารปลอดภัยในระดับท้องถิ่น การยกเลิกสารเคมีที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่
รศ.ธนพร ศรียากูล กรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หยิบเอกสารแนวนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หลาย ๆ ฉบับ ขึ้นมาแสดง พร้อมระบุว่า วันแรกที่ทุกพรรคไปเป็นรัฐมนตรีเกษตรฯ ทุกคนไม่ว่ามาจากพรรคไหน เขาก็จะได้รับข้อมูลเหล่านี้ แล้วปล่อยผ่านไป
“ในมุมของผม กล้าพูดในฐานะคนปฏิบัติงานจริง สิ่งที่เราไม่เห็น คือปัญหาโครงสร้างการทำงานแบบกระทรวงเกษตร ที่เป็นอุปสรรค เสนอว่าให้ยุบกระทรวงเกษตรฯ เพราะรูปแบบการจัดการแบบกระทรวงไม่ไม่มีประสิทธิภาพ การพูดเรื่องอนุรักษ์ พูดเรื่อง BCG การออกแบบนโยบายเพื่อให้บริหารการเกษตรต้องออกแบบใหม่“
ดังนั้น ฝ่ายการเมืองไม่ว่าพรรคไหนต่อให้ก้าวไกล ก็คิดได้แค่นี้ ฟังก์ชันมันบีบให้ต้องทำแบบเดิม ๆ กระบวนการจัดการนโยบายเกษตรทั้งระบบ ประเด็นต่อมาเรื่องกระจายอำนาจ ทุกวันนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีศักยภาพมากพอ การปฏิรูปได้ จึงต้องเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดได้ การจัดงบการบริหารราชการแผ่นดินต้องส่งเสริมชาวบ้าน เกษตรกร และพวกเขาควรเลือกผู้ว่าฯเองได้ ต่อมางบประมาณด้านการเกษตร แทรกอยู่ในหลายกรมกองมาก ไปดูว่างบฯ อยู่ในส่วนอาหารและยาเท่าไหร่ แทรกอยู่ในกรมอนามัย สนง.เศรษฐกิจฐานชีวภาพเท่าไหร่
เบี้ยหัวแตกแบบนี้ไม่เห็นเอกภาพ เงินอุดหนุนประมง โครงการน้ำมันเขียว ทำไมเราต้องอุดหนุน ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยส่งทูนา อันดับ 1 ของโลก นโยบายของประชาธิปัตย์ เรื่องอุดหนุนประมงท้องถิ่น ชุมชนละ 100,000 บาท เห็นพรรคเดียวที่พูดเรื่องนี้ ชุมชนประมงชาวบ้าน ประมงรายใหญ่ปัญหาอ่าวไทยไม่มีปลาจับ ไปจับปลาเพื่อนบ้านแล้วเกี่ยวข้องกับค้ามนุษย์ ตนกำลังจะบอกว่า ทรัพยากรสัตว์น้ำในมหาสมุทรมันไม่ใช่ทรัพยากรสัญชาติไทย ต้องปฏิบัติการตามหลักสากล ดังนั้นเราจำเป็นต้องพูดเรื่องโครงสร้างจัดการนโยบายเกษตร กลไกของรัฐส่วนไหนที่ให้ท้องถิ่นทำ เรื่องไหนกระทรวงทำ รูปแบบสภาเกษตรฯ ที่ไม่ใช่หน้าที่ให้คำปรึกษา เราควรทำอย่างไรให้มันทำงานได้ในความเป็นจริง
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- ส่อง’นโยบายเกษตร’ตอบโจทย์อนาคตเกษตรกรไทยจริง?