ใช้เวลาทั้งวันไปกับการรอพบหมอเพียงแค่ 3 นาที
เป็นคำกล่าวที่สะท้อนความทุกข์ยากของการเข้าถึงระบบสาธารณสุข แม้คนไทยจะได้รับสิทธิสวัสดิการสุขภาพที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม หลังจากมีนโยบายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ช่วยอุดช่องโหว่กลุ่มประชาชนทั่วไปจากเดิมที่สวัสดิการสุขภาพมีรองรับเฉพาะกลุ่มข้าราชการ และผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม
การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อแก้ปัญหาระบบสาธารณสุข จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่มาใช้แก้ปัญหาเรื่องความแออัดในโรงพยาบาล ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะให้มีการนัดหมอจากบ้าน นัดคิวออนไลน์ เลือกเวลาพบแพทย์ล่วงหน้า นำประวัติการรักษามาเก็บไว้ในคลาวน์เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถรักษาได้ทุกโรงพยาบาล ส่งต่อหรือเปลี่ยนหมอได้ทันที หรือการใช้เทเลเมดดิซีนในการรับคำปรึกษาด้านสุขภาพจิต
ขณะที่นโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาฟรีทั่วไทยต้องรอความชัดเจนว่าจะไปในทิศทางใด จะหมายถึงการรักษาโรงพยาบาลใดก็ได้ไม่เฉพาะโรงพยาบาลตามสิทธิก็นับว่าจะเป็นเรื่องใหม่ เพราะคนไข้จะไปรับการรักษาที่ใดก็ได้แต่จะส่งผลต่อการเลือกโรงพยาบาลใหญ่ ๆ และเกิดการกระจุกตัวคนไข้ในโรงพยาบาลเพียงไม่แห่งหรือไม่
สิ่งที่เป็นเรื่องใหญ่ และพรรคเพื่อไทยมีนโยบายตอบสนองเรื่องนี้คือการรองรับสังคมผู้สูงอายุที่อาจจะมีจำนวนผู้ป่วยติดเตียงเพิ่มมากขึ้นด้วยการจัดตั้งสถานชีวาภิบาลซึ่งต้องรอความชัดเจน รูปแบบที่จะดำเนินการว่าจะเป็นการก่อสร้างสถานที่ใหม่ หรือจะเป็นรูปแบบให้ท้องถิ่นบริหารจัดการ ถ้าก่อสร้างคงต้องใช้งบประมาณอย่างมาก
ส่วนนโยบายโรงพยาบาลขนาด 120 เตียง 50 แห่งใน 50 เขตกรุงเทพมหานครเป็นนโยบายที่เกิดขึ้นจากการเห็นปัญหาในช่วง โควิด-19 ซึ่งมีประชาชนตกหล่นเข้าไม่ถึงการรักษา โดยเฉพาะกลุ่มสิทธิบัตรทองซึ่งมีหน่วยบริการรองรับเป็นลักษณะคลินิกปฐมภูมิไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืนจึงค่อนข้างติดขัดเรื่องการส่งต่อ ซึ่งน่าจับตาว่าจะเดินหน้าอย่างไรเพราะคงใช้งบประมาณมหาศาลขณะที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็พยามยกระดับบริการสาธารณสุขเมืองกรุงด้วยนโยบายเส้นเลือดฝอยอยู่แล้ว โดยไม่ต้องสร้างโรงพยาบาลใหม่
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังพบความเหลื่อมล้ำของการให้บริการของทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ โดยมีมาตรฐานการรักษาที่ต่างกันชัดเจน ตัวอย่างเช่น สิทธิข้าราชการได้เปรียบเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ไม่อั้น ต่างจากบัตรทองที่จ่ายยาได้ในบัญชียาหลัก ขณะที่กลุ่มผู้ประกันตนแม้จะได้สิทธิเลือกรักษาตัวใน รพ.เอกชน ไม่ต้องรอนาน แต่หากเจ็บป่วยเล็กน้อยเข้าถึงหน่วยบริการปฐมภูมิใกล้บ้านลำบาก ต้องเดินทางไปยังโรงพยาบาลตามสิทธิเท่านั้น
หลายฝ่ายจึงเฝ้ามองว่ารัฐบาลใหม่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของ 3 กองทุนสุขภาพอย่างไร ให้มีมาตรฐานการรักษาเดียวกัน และมีสิทธิประโยชน์เท่ากันเพราะเท่าที่ดูตอนนี้นโยบายของพรรคเพื่อไทยที่จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มุ่งยกระดับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลักษณะของการเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ อย่างเช่น ตรวจเลือดใกล้บ้าน รับยาใกล้บ้าน การรับวัคซีนมะเร็งปากมดลูก โดยลืมไปว่าประชาชนอีก 12 ล้านคนที่เป็นผู้ประกันตนในประกันสังคม และข้าราชการอีก 5 ล้านคน จะได้รับสิทธิประโยชน์เหล่านี้ไปด้วยหรือไม่
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวถึงเรื่องนี้ในวันแรกที่เข้ากระทรวงฯ ว่า การบูรณาการกองทุนสุขภาพอื่น ๆ จะดูเชิงระบบทั้งหมด ซึ่งในมิติสุขภาพอยู่ในภาระงานของกระทรวงสาธารณสุข 60-70% จึงต้องเป็นแกนหลักขับเคลื่อน โดยจะตั้งเป็นคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Board) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และรัฐมนตรีทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพเข้าร่วม เพื่อวางแนวทางการขับเคลื่อนเชิงนโยบายทั้งหมด ทั้งนี้ บทบาทแต่ละหน่วยงานรวมถึงกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ลดลง แต่กระทรวงฯ จะมีความเข้มแข็งมากขึ้นเพราะเป็นจุดเชื่อมต่อประสาน
จริงจังแค่ไหน กับการแก้ไขภาระแพทย์
หลายนโยบายสุขภาพที่กล่าวมา จำเป็นต้องเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ ขณะที่ปัจจุบันปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และปัญหาภาระงานแพทย์ในระบบ ยังเป็นเรื่องที่แก้ไม่ตก ขณะเดียวกันธุรกิจสุขภาพก็เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ภาคเอกชนดึงบุคลากรทางการแพทย์ออกไปจากระบบมากขึ้นด้วยเงื่อนไขเรื่องค่าตอบแทนมากกว่า ภาระงานน้อยกว่า นโยบายของพรรคเพื่อไทยที่จะแก้ปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ก็เห็น มีเพียงการใช้เทคโนโลยีมาจัดระบบตารางงานบุคคลเพื่อให้การจัดเวรของบุคลากรมีความเป็นธรรมมากขึ้นเท่านั้นแต่ยังไม่ได้เห็นแผนการแก้ปัญหาเชิงระบบ
ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ที่ปรึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ตรงนี้จะเป็นอีกเรื่อง ภาระงานมาก (Work Load) และการกระจายจัดสรรอัตรากำลังที่เหมาะสมกับภาระงานในพื้นที่ ซึ่งจะไม่ได้ผูกแค่จำนวนคนอย่างเดียว แต่รวมถึงคุณภาพชีวิตในพื้นที่ด้วย หากมีคุณภาพชีวิตที่ดีเขาก็ไม่ย้าย ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่ปัญหามิติเดียว ต้องแก้ไขหลายมิติไปพร้อมๆกัน
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้าเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ยกตัวอย่าง โรคบางโรคไม่ได้จำเป็นต้องมา รพ. บางโรคสามารถทำเทเลเมดิซีนได้ ไม่ต้องมาเอายาที่รพ. ภาระงานก็จะลดลง แต่บริการไม่ได้ลดลง คือ เปลี่ยนรูปแบบการให้บริการสุขภาพเท่านั้นเอง ต้องวางระบบใหม่
“ผมห่วงมากเรื่องอัตรากำลัง เห็นน้อง ๆ ที่ลาออก ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องวิกฤตของประเทศ ต้องแก้เรื่องนี้ให้ดี และการแก้ต้องดูหลายเรื่อง ไม่ใช่แค่ค่าตอบแทนอย่างเดียว เทคโนโลยีที่เข้ามาช่วย ภาระงานหรือโหลดที่ไม่จำเป็นที่ต้องเข้ามาโหลด ควรจะแก้ไขอย่างไร อันนี้ต้องคิดหลายชั้น”
ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว
นพ.ชลน่าน ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขป้ายแดง ก็ย้ำว่าให้ความสำคัญเรื่องบุคลากร เพราะมิติด้านสุขภาพ บุคลากรด้านสุขภาพมีส่วนสำคัญมาก ได้วางเข็มมุ่งว่า กระทรวงสาธารณสุขน่าจะมีการบริหารจัดการเอง มีคณะกรรมการบริหารงานบุคคลเอง มีกฎหมายมารองรับเป็นการเฉพาะ ซึ่งอยู่ระหว่างการปรึกษาหารือ
หน่วยบริการปฐมภูมิใกล้บ้าน ตอบโจทย์รักษาทุกที่
ระบบสาธารณสุขในต่างประเทศ การที่ผู้ป่วยคนหนึ่งจะเข้ามารักษาตัวในโรงพยาบาลใหญ่ จะต้องผ่านการนัดหมาย และส่วนใหญ่มักเริ่มต้นจากการใช้บริการกับหน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น คลินิกใกล้บ้าน ขณะที่ผู้ป่วยในประเทศไทย สามารถวอล์กอินเข้าไปได้ทันที ทำให้โรงพยาบาลแออัดไปทั้งผู้ป่วยที่วิกฤตและไม่วิกฤต
จริง ๆ แล้วโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขของประเทศไทยถูกวางไว้ครบแล้วทั้ง 3 ระดับ แต่ยังไม่สามารถเชื่อมต่อกันอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งหน่วยบริการปฐมภูมิ อย่าง รพ.สต. หรือคลินิกชุมชนอบอุ่น คลินิกเอกชน ขยับมา หน่วยบริการทุติยภูมิ ก็คือโรงพยาบาลชุมชนประจำอำเภอ และหน่วยบริการตติยภูมิ คือ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลประจำจังหวัด ที่รับผู้ป่วยเคสยากและซับซ้อนมากขึ้น
หากหน่วยบริการทั้ง 3 ระดับเชื่อมต่อกัน “หน่วยบริการปฐมภูมิ” จะถือเป็นหัวใจสำคัญของการลดภาระแพทย์ เพราะจะเป็นด่านแรกให้ผู้ป่วยเข้ามาใช้บริการ แต่ต้องสร้างความมั่นใจ ทำให้ประชาชนเชื่อใจได้ว่า จะได้รับบริการในมาตฐานโรงพยาบาลใหญ่ ดังนั้นการสร้างระบบ Telemedicine หรือการรักษาทางไกล จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเชื่อมต่อจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่อยู่โรงพยาบาลใหญ่ มายังหน่วยบริการปฐมภูมิที่อยู่ใกล้บ้านผู้ป่วย
สิ่งนี้เป็นนโยบายที่กระทรวงสาธารณสุขพยามทำให้เกิดขึ้น หากทำได้จริงจะช่วยลดภาระงานของแพทย์ในโรงพยาบาลศูนย์ลงไปได้เยอะ โรงพยาบาลหลายแห่งหลายแห่งก็เริ่มทำแล้ว แต่ยังติดปัญหาเรื่องการจัดเก็บข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยรวมในจุดเดียวหรือที่เรียกว่า “Cloud Health” ยังไม่เกิดขึ้นจริง จากความกังวลเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล และโรงพยาบาลต่างสังกัดยังหาทางเชื่อมต่อกันไม่ได้
ขณะที่กลุ่มผู้ป่วยติดเตียงและกลุ่มผู้ป่วยระยะสุดท้าย มีความพยายามจะกระจายเตียงจากโรงพยาบาลใหญ่มายังชุมชนภายใต้การดูแลของหน่วยบริการปฐมภูมิ จะเป็นการลดจำนวนผู้ป่วยกลุ่มใหญ่ออกมาจากโรงพยาบาล และลดภาระงานของแพทย์ได้พร้อมกัน และมีเตียงในโรงพยาบาลเอาไว้รองรับเคสผู้ป่วยที่วิกฤตจริงๆ
แต่พรรคการเมืองเสนอนโยบายเกี่ยวกับการยกระดับหน่วยบริการปฐมภูมิน้อยมากส่วนใหญ่จะเป็นเน้นไปที่การยกระดับสิทธิประโยชน์ และเมกะโปรเจกต์ขนาดใหญ่ ในจังหวะเดียวกันหน่วยบริการปฐมภูมิอย่าง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) กำลังทยอยถ่ายโอนไปอยู่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยิ่งจำเป็นต้องทำงานร่วมกันระหว่าง 2 กระทรวงมากยิ่งขึ้น
นพ.อภิสรรค์ บุญประดับ ผอ.สำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมหน่วยบริการปฐมภูมิให้รองรับการบริการแบบไร้รอยต่อ ว่าขณะนี้กำลังทำระบบข้อมูล เพราะการจะให้ไร้รอยต่อต้องมีข้อมูลมาสนับสนุน ซึ่งการเตรียมระบบดังกล่าวจะสอดคล้องกับนโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค กรณี “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่” จะครอบคลุมการรับบริการหน่วยบริการ หรือ รพ.ระดับปฐมภูมิด้วย โดยจะกำหนดว่า มีบริการอะไรบ้างที่ทำได้ และการให้บริการในหน่วยบริการปฐมภูมิทำอะไรได้บ้าง รวมถึงจะพัฒนาเป็นระบบออนไลน์ เทเลเมดิซีน การนัดคิวปรึกษาแพทย์
“ข้อมูลระดับปฐมภูมิ จะรวมทุกระดับ ตั้งแต่ รพ.สต. รพ.ชุมชน และการส่งต่อต้องเชื่อมโยงข้อมูลไปยังรพ.ทั่วไป รพ.ศูนย์ด้วย เพื่อให้ทุกอย่างเป็นข้อมูลเดียวกันทั้งนี้ ต้องค่อย ๆ พัฒนา ทำเป็นเฟส ๆ”
นพ.อภิสรรค์ กล่าว
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง