อายุรแพทย์ รพ.แม่สอด รับสภาพ จัดการค่ายผู้อพยพ ไม่ใช่แค่เรื่องสาธารณสุขท้องถิ่น ต้องอาศัยรัฐบาล ช่วยเหลือ หวั่น รพ.ชายแดน ตึงมือ ดูแลระยะยาว ทำกระทบให้บริการคนในพื้นที่ ย้ำไม่ทิ้ง ‘มนุษยธรรม’ แต่ต้องได้ทำงานที่เหมาะกับแรง และข้อจำกัดที่มี ขณะที่ 3 โรงพยาบาลชายแดน จ.ตาก เดินหน้าสร้างระบบดูแลผู้ป่วยในค่ายผู้ลี้ภัย หลัง รพ.สนามปิดตัว
วันนี้ (4 ก.พ. 68) นพ.ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าสองยาง จ.ตาก เปิดเผยกับ The Active ภายหลังได้เข้าไปสำรวจภายในศูนย์พักพิงชั่วคราวผู้ลี้ภัยบ้านแม่หละ อ.ท่าสองยาง ว่า การจัดการระบบสาธารณสุขภายในค่ายผู้ลี้ภัยบ้านแม่หละ ได้รับการดูแลร่วมกันจากโรงพยาบาล 3 แห่งใน จ.ตาก โดยมีการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจนเพื่อให้การดูแลผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากที่สุด
โดย โรงพยาบาลท่าสองยาง รับหน้าที่ดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน ผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยในที่มีอาการทั่วไป รวมถึงการทำคลอด เพราะมีบุคลากรและอุปกรณ์ที่รองรับการรักษาขั้นพื้นฐาน แต่หากเป็นผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลเฉพาะทาง ก็จะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่เหมาะสม
ขณะที่ โรงพยาบาลแม่ระมาด จะเน้นดูแลกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน, ความดันโลหิตสูง รวมถึงผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งต้องการการติดตามดูแลระยะยาว ทางโรงพยาบาลมีการออกหน่วยบริการเป็นรายสัปดาห์เพื่อตรวจเยี่ยมและจ่ายยาให้กับผู้ป่วยเหล่านี้
ส่วน โรงพยาบาลแม่สอด ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่และมีศักยภาพสูงสุดในพื้นที่ จะรับผิดชอบด้านโรคติดเชื้อ เช่น วัณโรค และเอชไอวี รวมถึงโรคที่ต้องใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูง เช่น การฟอกไต หรือโรคที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง
“การแบ่งงานแบบนี้ทำให้เราสามารถกระจายภาระงานได้อย่างเหมาะสม แต่ปัญหาสำคัญคือ ข้อมูลของผู้ป่วยที่ยังไม่มีการเชื่อมโยงกันอย่างสมบูรณ์ ทำให้บางครั้ง เราไม่รู้ว่าผู้ป่วยเคยได้รับการรักษา หรือดูแลอะไรมาก่อน หากข้อมูลเหล่านี้ถูกส่งต่อกันได้ครบถ้วน การรักษาก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
นพ.ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์
ผอ.รพ.ท่าสองยาง ย้ำด้วยว่า โดยเฉพาะในกรณีโรคติดเชื้อ ซึ่งบางโรคอาจไม่จำเป็นต้องให้แพทย์ตรวจเองทุกครั้ง แต่ต้องมีระบบคัดกรอง และส่งต่อที่เหมาะสม หากไม่มีการกระจายงานอย่างเป็นระบบ ผู้ป่วยอาจถูกส่งต่ออย่างผิดที่ผิดทาง ทำให้เกิดภาระงานที่ล้นเกินในบางโรงพยาบาล
นอกจากนี้ ยังมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับผู้ป่วยที่ไม่มีใบส่งตัว ว่าควรรับดูแลหรือไม่ เพราะหากไม่มีการคัดกรองที่เหมาะสม อาจทำให้โรงพยาบาลรับภาระมากเกินไป อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยผ่านกระบวนการคัดกรองแล้ว ทางโรงพยาบาลท่าสองยาง ก็พร้อมที่จะให้การรักษาตามศักยภาพที่มี
“อีกปัญหาสำคัญคือเรื่องค่าใช้จ่าย ผู้ป่วยที่อยู่นอกค่ายผู้ลี้ภัยมักไม่มีความสามารถในการจ่ายค่ารักษาพยาบาล ซึ่งทำให้เราต้องหาวิธีจัดการระบบให้ยั่งยืนที่สุด ตอนนี้ภาระงานของเราเยอะมาก และยังต้องปรับปรุงระบบให้รองรับผู้ป่วยได้ดีขึ้น”
นพ.ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์
เสียงบ่น ‘หมอชายแดน’ ดูแลผู้ลี้ภัย เรื่องใหญ่ระดับชาติ
แต่อีกด้าน เมื่อวานนี้ (3 ก.พ. 68) พญ.ณัฐกานต์ ชื่นชม หรือ หมอเบียร์ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ รพ.แม่สอด โพสต์ข้อความผ่านเพจส่วนตัว Nuttagarn Chuenchom ระบุว่า “ผู้บริหารบอกว่าให้หมอเบียร์รับตรวจเคสวัณโรคกับเอชไอวีในศูนย์อพยพ เพราะ รพช. ไม่สามารถดูแลได้ จะให้รถโรงพยาบาลไปรับคนไข้เอามาให้ตรวจที่แม่สอด โดยไม่ดูภาระงานที่ทำอยู่ตอนนี้เลย ไม่ผิดคาดนะ ที่จะเป็นแบบนี้ เบียร์คิดมาหลายวันแล้ว… ให้เวลาอีกครึ่งวัน ถ้าผู้บริหารยังไม่เปลี่ยนแนวคิด จะไปเขียนใบลาออกราชการวันนี้แหละ อายุราชการ 20 ปีก็อุทิศตนมามากพอละ ไม่มีวินาทีไหนเลยที่ไม่ทำเพื่อผู้อื่น บอกอยู่ตลอดว่าศูนย์อพยพเป็นเรื่องของประเทศไทย ไม่ใช่สาธารณสุขท้องถิ่น คนไทยชายแดนเสียประโยชน์มาเยอะแล้ว ได้รับบริการช้า เสียเวลารอนาน ยังต้องแบ่งหมอของพวกเขาไปให้คนอื่นอีกหรอ ส่วนกลางโน่นต้องมาจัดการ”
พร้อมย้ำด้วยว่า “เรื่องของการจัดการค่ายผู้อพยพไม่ใช่เรื่องของสาธารณสุขท้องถิ่น แต่เป็นเรื่องระดับชาติ เป็นเรื่องการจัดการของรัฐบาล การแก้ไขกฎหมาย การผลักดันผู้ลี้ภัยกลับประเทศเดิม”
พญ.ณัฐกานต์ ยังโพสต์ข้อเสนอ โดยย้ำว่า ต้องจัดบุคลากรอีกชุดหนึ่งเพื่อมาดูแลค่ายอพยพ ในช่วงเร่งด่วน แนะนำให้หางบประมาณมาจ้างหมอเมียนมากลุ่มเดิมที่เคยดูแลอยู่แล้วระหว่างรองบประมาณใหม่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ มีการแบ่งหมอจากโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลทั่วไปไปออกตรวจ ผู้ลี้ภัยทั้งหมดที่มีจำนวนเท่ากับประชากรหนึ่งอำเภอเลย ในระยะยาวต้องพูดคุยเรื่องการแก้กฎหมายผู้ลี้ภัยให้ถูกต้อง และมีการผลักดันกลับประเทศเดิม
“คนไทยชายแดนเสียสละมามากพอแล้ว ทุกวันนี้บุคลากรก็ไม่พอ คนไข้ก็ต้องรอนาน รอทุกอย่างทั้งรอหมอ และรอคิวในการตรวจ บางคนเป็นมะเร็งก็ต้องรอการวินิจฉัยและการรักษา แล้วจะมาให้เขาเสียสละเพิ่มโดยการแบ่งหมอของพวกเขาไปให้คนอื่นอีกหรอคะ”
พญ.ณัฐกานต์ ชื่นชม
ย้ำ ‘หมอชายแดน’ ภาระงานโหลด
พญ.ณัฐกานต์ ยังระบุถึงภาระงานของหมอชายแดน ย้ำว่า สถานการณ์ปกติต้องดูแลคนไข้ ในสัดส่วนแพทย์ 1 คนต่อคนไข้ 5,000 คน โดยประมาณ คนไข้มีทั้งคนไทย และคนต่างชาติ ที่ถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย โดยเฉลี่ยคนไข้มาถึงโรงพยาบาลช้าอาการหนัก มีอุปสรรคเรื่องการสื่อสารต้องพูดคุยผ่านล่าม ทำให้ต้องใช้เวลาต่อคนไข้หนึ่งคนนานกว่าปกติ มีความซับซ้อนเรื่องสิทธิ์ในการรักษาคนไข้ โรงพยาบาลต้องออกค่าใช้จ่ายในการรักษาปีละหลาย 10 ล้านบาท
โดยโรงพยาบาลแม่สอด มีหมอทั้งหมด 80 คน มีอายุรแพทย์ 10 คน ผู้ป่วยนอกที่มารับบริการจำนวน 350,000 ครั้งต่อปี(visit) เฉพาะแผนกอายุรกรรมมารับบริการ 180,000 ครั้งต่อปี
“พวกเรามาราวน์ทุกวันไม่มีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ออกตรวจผู้ป่วยนอกทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ มีโอกาสได้ไปประชุม หรือไปพักผ่อนส่วนตัวน้อยมาก เนื่องจากงานตึงมือ ไม่ต้องพูดถึงแผนกศัลยกรรม และแผนกอื่นที่ต้องผ่าตัดที่มีแพทย์น้อยกว่านี้มาก ภาระงานโหลดจริง ๆ ตามปกติองค์การอนามัยโลกแนะนำให้สัดส่วนแพทย์ 1 คนต่อคนไข้ 1,000 คน โรงพยาบาลเราก็ทำงานหนักมากกว่าปกติ 5 เท่าแล้ว”
พญ.ณัฐกานต์ ชื่นชม
พญ.ณัฐกานต์ ย้ำด้วยว่า การจัดการปัญหาผู้อพยพในศูนย์พักพิง เป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศ ไม่ใช่เรื่องที่สาธารณสุขท้องถิ่นจะมาจัดการได้ ไม่เช่นนั้นจะกระทบถึงงานสาธารณสุขที่ทำอยู่แล้วทำให้ด้อยประสิทธิภาพลง เนื่องจากจำนวนเจ้าหน้าที่และงบประมาณมีจำกัด และอยู่ในสถานการณ์ฟางเส้นสุดท้าย
ดังนั้นในระยะสั้น เช่น 1 – 2 เดือน ก็คงจะพอถูลู่ถูกังกันไปได้ ไม่ให้เกิดโรคระบาด หรือการเจ็บป่วยร้ายแรง แต่หลังจากนั้น น่าจะมีการแก้ปัญหาในระดับประเทศ ซึ่งแท้จริงแล้วควรจะแก้ปัญหากันมาก่อนไม่ควรปล่อยให้ล่วงเลยมาถึง 40 ปี
“มนุษยธรรมเป็นสิ่งที่พวกเราชาวสาธารณสุขชายแดนมีมาตลอดอายุการทำงาน แต่ขอให้เราได้ทำงานที่พอเหมาะกับแรงที่เรามี ให้มันสามารถพยุงฉันทะ และวิริยะในงานของเราต่อไปด้วยเถิด ทุกวันนี้ทำงานจนเลยความสุข ความสนุก ไปจนถึงจุดทนอดแล้ว”
พญ.ณัฐกานต์ ชื่นชม
ติดตามการเปิดใจ รวมถึงข้อเสนอการแก้ปัญหาระบบสาธารณสุขในพื้นที่ชายแดน ผ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มของ พญ.ณัฐกานต์ ชื่นชม (หมอเบียร์) อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ รพ.แม่สอด ได้ทุกช่องทางของ The Active เร็ว ๆ นี้