ตั้งต้นด้วยประโยคแบบนี้ อย่าเพิ่งเข้าใจว่ากำลังยกชาติใดให้สูงขึ้น หรือกดใครให้ต่ำลง เพราะทุกประเทศสามารถเสนอตัวเองเป็นเจ้าภาพของมหกรรมระดับโลก ที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองให้กับ ความเท่าเทียมทางเพศ หรือ World Pride ได้แทบทั้งนั้น
เพียงแต่นัยยะ เจ้าภาพ ที่กำลังพูดถึงนี้คือ ผู้มีอำนาจสูงสุดในทางการเมืองก็คือ รัฐบาล นั่นเอง หากย้อนดูบรรยากาศของประเทศไทยแล้ว ตลอดการจัดกิจกรรมของ คณะนฤมิตไพรด์ มาจนถึง บางกอกไพรด์ แทบจะเป็นการทำงานโดยภาคประชาสังคม เอกชน และหน่วยงานท้องถิ่นอย่าง กทม. ทั้งสิ้น
เว้นแต่ในปีนี้ (ปี 2024) ที่รัฐบาลหลังการเลือกตั้งโดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี รับปากร่วมเดินขบวนไพรด์ พร้อมประกาศจะเป็นเจ้าภาพ World Pride ในปี 2030 ให้ได้
แต่การจะเป็นเจ้าภาพ World Pride ได้นั้น ไม่ต่างจากการเสนอชื่อเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก ที่มีคณะกรรมการหรือคนนอกเป็นผู้ตัดสินตามความเหมาะสม
The Active ชวนนับถอยหลัง อีก 6 ปี ถ้าไทยจะไปให้ถึง World Pride เราต้องฝ่าด่านอะไรบ้าง ?
เงื่อนไขเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ World Pride
ตามข้อกำหนดของ InterPride องค์กรระหว่างประเทศที่ขับเคลื่อนขบวนการ Pride โดยการประสานงานกับพันธมิตรระดับโลกก่อตั้งขึ้นในเมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา ในปี 1982 โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) แต่การจัดกิจกรรมเดินพาเหรด หรือ World Pride นั้น เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2000 ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจะจัดเป็นประจำทุก ๆ 2-3 ปี เช่น
- 2000 Rome, Italy
- 2006 Jerusalem, Israel
- 2012 London, United Kingdom
- 2014 Toronto, Canada
- 2017 Madrid, Spain
- 2019 New York City, United States
- 2021 Copenhagen, Denmark – Malmo, Sweden
- 2023 Sydney, Australia
- 2025 Washington, DC
- 2026 Amsterdam, Netherlands
อย่างไรก็ตาม เอเชียเกือบได้เป็นเจ้าภาพ World Pride ครั้งแรกที่ ไต้หวัน ในปี 2025 แต่ต้องประกาศยุติการจัดงาน หลังคณะผู้จัดงานของเกาสงได้รับการร้องขออย่างกะทันหันให้นำคำว่า “เกาสง” แทน “ไต้หวัน” คณะผู้จัดงานจึงขอยุติการจัดงานดังกล่าว
สำหรับประเทศที่จะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ จะถูกบังคับตามข้อกำหนดของ Inter Pride เช่น ต้องเป็นประเทศสมาชิก Inter Pride ที่มีสถานะสมาชิกที่ดี, ต้องมีการชำระค่าธรรมเนียมการสมัคร รวมถึง ต้องเป็นองค์กรที่จัดงานไพรด์แบบจริงจังเป็นทางการในพื้นที่สาธารณะ ไม่นับรวมออนไลน์ อย่างน้อย 3 ปี และเข้าร่วมการประชุมประจำปี 2 ใน 3 ปีล่าสุด โดยต้องเข้าร่วมงาน World pride 1 ครั้ง
ขณะที่การดำเนินกิจกรรม หรือจัดงานต้องอยู่ในสถานะไม่ขาดทุน ต้องจัดงาน 3 ปี ภายหลังจากได้รับการพิจารณาจากสมาชิก ที่สำคัญคือองค์กรผู้สมัครต้องเข้าร่วมกับการประชุมประจำปีในตอนที่การเสนอตัวถูกพิจารณา
หนึ่งในสมาชิก Inter Pride ในประเทศไทย กลุ่มนฤมิตไพรด์ ภาคประชาสังคมที่รวมตัวจัดกิจกรรมในกรุงเทพฯ อย่างเป็นทางการ มาอย่างน้อย 3 ปี มีคุณสมบัติครบตามข้อกำหนดดังกล่าว
แน่นอนว่าหลายประเทศที่ต่างก็เฝ้ารอรับไม้ต่อในการเป็นเจ้าภาพ World pride นั้นมีไม่น้อยเช่นกัน ดังนั้นการพิจารณาจึงต้องมองภาพรวมของ องค์ประกอบ หรือบริบทโดยรวมของเมืองนั้น ๆ ที่อาจมีผลต่อการสร้างความเชื่อมั่นจาก Inter Pride เช่น
- เมืองที่เสนอเป็นเจ้าภาพจะต้องสามารถนำเสนอความแข็งแกร่งของ Pride Community ในพื้นที่และเป็นสมาชิกเครือข่าย Inter Pride
- ได้รับการสนับสนุนและการรับรองจากรัฐบาล และท้องถิ่น
- จัดงาน Pride month Celebrate Event ทั่วประเทศ ตลอดทั้งเดือน
- รัฐบาลที่มีนโยบายโอบรับความหลากหลาย มีกฎหมายที่ให้สิทธิความเท่าเทียมทางเพศและสิทธิมนุษยชน
- มีการรักษาความปลอดภัย อำนวนความสะดวกในการเดินทางของผู้เข้าร่วมจากทั่วโลก
หากพิจารณาตามองค์ประกอบนี้ คงหนีไม่พ้นอำนาจของรัฐบาลในการดำเนินนโยบาย หรือออกกฎหมายที่คำนึงถึงความหลายหลายทางเพศให้รอบด้านมากขึ้น ซึ่งข่าวดีก็คือ ณ เวลาที่เรากำลังจัดกิจกรรมบางกอกไพรด์ 2024 ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 1448 หรือ สมรสเท่าเทียม กำลังเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 2 ในชั้นวุฒิสภา และหากมีผลบังคับใช้ ไทยก็อาจเข้าเงื่อนไขนี้ด้วย
คณะทำงานบางกอกไพรด์ มองว่า ยังมีร่างฯ กฎหมายสำคัญ ที่รออยู่อีก เช่น พ.ร.บ.การรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ, ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539, พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ฯลฯ
“ World Pride จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้ายังขาดกฎหมายคุ้มครองอื่นๆ แต่มองเห็นทิศทางที่ดีของรัฐบาลชุดนี้ เพราะคิดว่าน่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีน้อยคนในประเทศที่พูดคำว่า sex work is work ซึ่งมีความหมายกับพวกเรามาก รวมถึงการขจัดการเลือกปฏิบัติ เพราะเป้าหมายของเราไม่ใช่การเฉลิมฉลอง แต่ต้องการคุณภาพชีวิตและกฎหมายที่ทำให้คนเท่ากัน”
อรรณว์ ชุมาพร
ประเทศไทย…จะได้อะไรจาก World Pride ?
หากพูดถึงรูปธรรมที่จับต้องได้ว่าไทยจะได้อะไรจากงานระดับโลกในครั้งนี้ ง่ายที่สุดคงหนี้ไม่พ้นเม็ดเงินที่ได้จากภาคการท่องเที่ยว เมื่อเปรียบเทียบกับ ประเทศออสเตรเลียเจ้าภาพจัดงาน Sydney WorldPride 2023 ที่เพิ่งผ่านมา ซึ่งเป็นการจัดติดต่อกันนานถึง 17 วัน มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมถึง 50,000 คน ที่เดินขบวนไปบนสะพาน ซิดนีย์ ฮาร์เบอร์ รวมระยะทางยาวประมาณ 4 กม. แต่ถ้านับรวมคนเข้าร่วมขบวนพาเหรดทั้งหมดมากถึง 500,000 คน ตัวเลขเงินสะพัด 2-3 หมื่นล้านบาท
นี่เป็นรายได้ซึ่งหน้าที่เกิดขึ้นตลอดกิจกรรม ไม่นับรวมธุรกิจเช่าที่พัก บริการ ที่เกิดขึ้นก่อนและหลังกิจกรรม ซึ่งประเทศไทย ถือว่ามีความพร้อมในทุกด้าน ทั้งอุตสาหกรรมความบันเทิง เช่น ซีรีย์วาย, แดร็กโชว์, ธุรกิจความงาม, เทคโนโลยีทางการแพทย์สำหรับกลุ่ม LGBTQIAN+ และเป็นพื้นที่ปลอดภัยเพื่อให้กำลังใจ เรียนรู้ความหลากหลายทางเพศ รวมถึงเป็นพื้นที่ปลอดภัย ต่อการแสดงออกด้านอัตลักษณ์ อันเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจให้หมุนเวียนในประเทศ ไปถึงการผลักวาระของ Rainbow Pop เพื่อเป็น Soft Power ของไทยสู่ตลาดโลก ซึ่งจะถูกสะท้อนผ่านขบวนบางกอกไพรด์ และอีกกว่า 20 จังหวัดทั่วประเทศในปีนี้ด้วย
หากรัฐบาลจะหยิบฉวยโอกาสจากการเป็นเจ้าภาพ World Pride 2030 ช่วงระหว่างนี้ ไทยจะต้องทำให้โลกเห็นความพร้อมของ Pride Community ที่มีความเข้มแข็ง ทำให้เห็นว่าไทยมีรัฐบาลที่มีนโยบายโอบรับความหลากหลาย มีกฎหมายที่ให้สิทธิความเท่าเทียมทางเพศและสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะช่วงเวลาสำคัญคือในปี 2026 ไทยต้องมีภาพจำที่ทำให้ Inter Pride เชื่อมั่นในศักยภาพ ก่อนจะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ Wolrd Pride 2030 ในที่ประชุม Inter Pride 2026
แต่หากพูดถึงรูปธรรม ความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นจากความคาดหวังต่องานในครั้งนี้ หนีไม่พ้นคุณภาพชีวิตของกลุ่ม LGBTQIAN+ ที่จะได้รับการคุ้มครอง และการสนับสนุนภายใต้กฎหมายที่ให้สิทธิ เสรีภาพ ที่เท่าเทียมกันของคนในประเทศ ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักของผู้คนทั่วโลกที่ต้องการผลักดันให้เกิดขึ้น