สมรสเท่าเทียม กลายเป็นอีกประวัติศาสตร์ความก้าวหน้าของกฎหมายไทย ที่ยอมรับ ความรักของคนรักเพศเดียวกัน ที่คู่รักเพศเดียวกันมีสิทธิจดทะเบียนสมรสอย่างเสมอภาคกับคู่รักต่างเพศ
แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า ความรังเกียจเดียดฉันท์ ความรุนแรงต่อ LGBTQIAN+ จะหมดไป เพราะสมรสเท่าเทียม คือ การยอมรับโดยรัฐในมิติกฎหมาย หากแต่ใน มิติทางสังคมวัฒนธรรม LGBTQIAN+ กลับยังเผชิญคำด่าทอ พฤติกรรมเหยียด ไปจนถึงการแสดงท่าทีไม่ยอมรับ อีกไม่น้อย

กรณีที่ชัดเจนคือ เมื่อมีคู่รักนายตำรวจสวมเครื่องแบบไปจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมกันตามสิทธิ… คำว่า “ทุเรศ”… “ขยะแขยง” คือ ความรู้สึก และคำด่าทอที่ออกมาจากปาก พล.ต.ท.เรวัช กลิ่นเกษร อดีตรักษาการผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล ทันทีที่ทราบข่าวคู่รักตำรวจ ถึงขั้นบอกว่า “เอาเครื่องแบบตำรวจไปแปดเปื้อน วอนให้ผู้บังคับบัญชาลงโทษตัดเงินเดือน”
ในโซเชียลฯ มีหลายคนเห็นด้วยกับทัศนคตินี้ เพราะถือว่า แต่งกายไม่เหมาะสมผิดกาลเทศะ ไม่ให้เกียรติเครื่องแบบ กลายเป็นอีกความรังเกียจคนรักเพศเดียวกัน ที่ต้องถูกวางแยกออกจากอาชีพตำรวจ ซึ่งเป็นตัวแทนของความแข็งแกร่ง และมีเกียรติ
ความเกลียดชัง LGBTQIAN+ ไม่เพียงปรากฎออกมาในรูปแบบการด่าทอ หรือสนับสนุนการโจมตีเท่านั้น แต่ยังปรากฎออกมาในรูปแบบที่เข้มข้นรุนแรงกว่านั้นคือ อาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง หรือ Hate Crime ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้
26 เม.ย. 2568 ตำรวจพบร่างของ มีนา หญิงข้ามเพศถูกของมีคมกรีดลึกตั้งแต่ลำคอลงมาถึงอวัยวะเพศ เต้านมทั้งสองข้างถูกกรีดเอาซิลิโคนออกมาวางไว้ข้าง ๆ ร่าง หัวใจถูกควักออกมา ปอดหายไป ซึ่งหนึ่งในเหตุจูงใจของฆาตรกร มาจากความเกลียดชังความแตกต่างทางเพศ

อคติความเกลียดชังต่อ LGBTQIAN+
ปรากฎอยู่ทั้งในโลกออนไซต์ – ออนไลน์
ไทย : มีผู้หญิง เด็ก และหญิงข้ามเพศ ถูกกระทำความรุนแรงมากกว่า 30,000 คน/ปี
นี่เป็นข้อมูลจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในปี 2567 โดยสถิติดังกล่าวเก็บรวบรวมจากผู้เข้ารับการบำบัดรักษา และผู้แจ้งความร้องทุกข์ ซึ่งในความเป็นจริงอาจมีจำนวนมากกว่านี้ ถือเป็นตัวเลขที่สูงติดอันดับโลก โดยเฉพาะ หญิงข้ามเพศมีความเสี่ยงถูกกระทำความรุนแรงสูงกว่าประชากรอื่นถึง 3 เท่า
ทั่วโลก : ช่วงปีที่ผ่านมา มีคนข้ามเพศ 350 คน ถูกฆาตกรรม
และกว่า 94% เป็นการฆาตกรรมผู้หญิง
นอกจากสถานการณ์ในไทยแล้ว สถานการณ์ในระดับโลกก็ยังถือว่า น่าเป็นห่วง จากการรวบรวมข้อมูลของ TGEU ในเรื่อง Trans Murder Monitoring (การเฝ้าระวังการฆาตกรรมคนข้ามเพศ) ระบุว่า ช่วงเดือนตุลาคม 2566 ถึง เดือนกันยายน 2567 มีคนข้ามเพศอย่างน้อย 350 คนถูกฆาตกรรม ใน 38 ประเทศทั่วโลก โดยกว่า 94% เป็นการฆาตกรรมผู้หญิง (femicide เช่น หญิงข้ามเพศหรือบุคคลหญิงข้ามเพศ) ในจำนวน 350 คนนี้ เพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนหน้า ที่มีรายงานคนข้ามเพศถูกฆาตกรรม 321 คน ซึ่งปีนี้มียอดผู้เสียชีวิตสูงที่สุดตั้งแต่เริ่มเก็บข้อมูลในปี 2551 และมียอดผู้เสียชีวิตรวมทะลุ 5,000 คนแล้ว สะท้อนให้เห็นสถานการณ์ การทำร้ายและฆาตกรรมคนข้ามเพศที่อาจแย่ลงกว่าปีก่อน ๆ

ในประเทศไทย จากการติดตามของโครงการในปีที่ผ่านมา มีผู้ถูกฆาตกรรมทั้งหมด 2 คน ได้แก่
- ภานุชญา เนียมทอง หญิงข้ามเพศ ถูกยิงเสียชีวิตในบ้าน และทรัพย์สินบางส่วนถูกขโมย
- รินรดา (เบลล่า) หญิงข้ามเพศ ถูกแฟนแทงเสียชีวิตในห้างสรรพสินค้า
หรืออย่างล่าสุดคือกรณีของ มีนา หญิงข้ามเพศ ถูกฆาตกรรมจากความเกลียดชังทางเพศที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น
โลกออนไลน์ : ความรุนแรงทางวาจาจากอคติทางเพศ
โดยเฉพาะประเด็นกีฬา ศาสนา และการทำงาน
จากรายงาน การศึกษาทัศนคติในเชิงลบของคนไทย เกี่ยวกับสิทธิของคนข้ามเพศและคนที่มีความหลากหลายทางเพศในปัจจุบัน โดย ศูนย์วิชาการเพื่อสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. เผยว่า จากการสำรวจทัศนคติในโลกออนไลน์ (ผ่านการทำ Social Listening) ตั้งแต่มีสมรสเท่าเทียมวันที่ 23 ม.ค. 2568 จนถึงวันสากลยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ (IDAHOBIT) วันที่ 17 พ.ค. 2568 พบ อคติต่อ LGBTQIAN+ ในประเด็นต่าง ๆ ยังคงดำรงอยู่ แต่มีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับคนที่มีทัศนคติเป็นกลาง และทัศนคติเชิงบวก
อย่างไรก็ตาม ในบางประเด็น พบการใช้ความรุนแรงทางวาจา หรือทัศนคติเชิงลบจากอคติทางเพศที่อยู่ในระดับความรุนแรงสูง ได้แก่
- ประเด็น คนข้ามเพศในกีฬา โดยเฉพาะการแข่งกีฬาในผู้หญิง หลากคนมองว่าเป็นการเอาเปรียบ เนื่องจากความแตกต่างทางสรีระ-พละกำลัง เช่น “คนข้ามเพศก็ยังเป็นชาย ร่างกายแข็งแรงกว่าแน่นอน” ถือเป็นอคติจากการยึดโยงร่างกายกับเพศอย่างตายตัว
- ประเด็น การยอมรับทางศาสนา ที่มองว่าการเป็นคนกลุ่มเพศหลากหลายนั้นผิดหลักศาสนา เช่น ศาสนาอิสลาม (กรณีมูห์ซิน เฮนดริกส์ อิหม่ามคนแรกของโลกที่เปิดตัวว่าเป็นเกย์ ถูกยิงเสียชีวิตในแอฟริกาใต้) หรือศาสนาคริสต์ (กรณีผู้นับถือศาสนาคริสต์ในเกาหลีใต้ รวมตัวประท้วงต่อต้านการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกัน)
- ประเด็น เรื่อง DEI ในองค์กร โดย DEI มาจากตัวอักษร 3 ตัว ได้แก่ D – Diversity (ความหลากหลาย), E – Equity (ความเสมอภาค) และ I – Inclusion (การมีส่วนร่วม) โดยมองว่าเป็นการให้สิทธิพิเศษ เช่น “นโยบาย DEI เหมือนให้สิทธิพิเศษกับกลุ่มคนผิวดำ และ LGBTQIAN+ เพราะไปแทรกแซงบริษัทต่าง ๆ จึงต้องมีโควตาให้กลุ่มคนพวกนี้”
นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่มีทัศนคติเชิงลบอยู่ในระดับความรุนแรงปานกลาง-ต่ำ ได้แก่
- ประเด็นสมรสเท่าเทียม เช่น กรณี พล.ต.ท.เรวัช กลิ่นเกษร ออกมาว่าคู่รักตำรวจที่สวมเครื่องแบบไปจดทะเบียนสมรส ว่าไม่เหมาะสม ความเห็นบางส่วนมองว่า “เครื่องแบบตำรวจเป็นของพระราชทาน จะมากอดจูบไม่ได้” รวมถึงกรณีทนายธรรมราชมองว่า สมรสเท่าเทียมละเมิดกฎจักรวาล-กฎธรรมชาติ
- ประเด็นสิทธิทางกฎหมายเกี่ยวกับการเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อตามเพศสภาพ ในทัศนคติเชิงลบที่กล่าวถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มเพศหลากหลายต่อการมีเสรีภาพในการเลือกคำนำหน้านามตามเพศสภาพ เช่น “ได้คืบ จะเอาศอก ได้นู่นจะเอานี่ได้นี่จะเอานั่น” “สมรสเท่าเทียมก็ออกมาแล้ว แต่ยังเรียกร้องจะขอเพิ่มอีก” บางส่วนแสดงความเห็นว่าเสรีภาพในการเลือกคำนำหน้านามของคนข้ามเพศจะสร้างความสับสน เพิ่มช่องทางให้มิจฉาชีพ นำไปสู่การหลอกลวง อาชญากรรม
- ประเด็นนโยบายฮอร์โมนฟรี มีการมองว่าสิ้นเปลืองงบประมาณ ควรจัดสรรงบประมาณไปกับปัญหาที่เร่งด่วนก่อน เช่น แก้ฝุ่น PM2.5 (เนื่องจากข่าวงบฯ ยาฮอร์โมนมาในช่วงปัญหาฝุ่นพอดี) รวมถึงมองว่าเป็นการ “ตามใจกันเกินไป แค่ออก พ.ร.บ.(สมรสเท่าเทียม)ให้ก็ถือว่าหรูแล้ว”
อคติเหล่านี้สะท้อน ให้เห็นว่า แม้สังคมจะยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น แต่ยังคงให้ความสำคัญในระบบเพศทวิลักษณ์ (Gender binary) ในฐานะแกนหลักของสังคมและกฎหมาย ซึ่งระบบเพศทวิลักษณ์ เป็นระบบที่แบ่งเพศออกเป็น 2 ขั้วที่ตรงข้าม และแยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง คือ เพศหญิงกับเพศชาย ตามเพศกำเนิดเท่านั้น และเชื่อว่ากฎหมายยังคงต้องมีเพียง 2 เพศกำเนิดนี้เท่านั้น
รวมถึงยังไม่ได้ตระหนักถึงความรุนแรงในมิติต่าง ๆ ที่กลุ่มเพศหลากหลายตอ้งเผชิญ ทำให้มองการเรียกร้องสิทธิของเพศสภาพอื่น ๆ เช่น LGBTQIAN+ เป็นเรื่องความต้องการสิทธิพิเศษมากกว่าจะมองว่าเป็นการรื้อสร้างโครงสร้างระบบเพศทวิลักษณ์

คำด่าทอ – อาชญากรรม เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งของความเกลียดชัง LGBTQIAN+
จากความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะในโลกออนไลน์หรือออนไซต์ ความรุนแรงทางคำพูด การกระทำ ไปจนถึงการก่ออาชญากรรมนั้น ถือเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งของความรุนแรงที่มาจากความเกลียดชัง LGBTQIAN+
ตามทฤษฎีความรุนแรงของของ Johan Galtung นักสันติวิธีและไร้ความรุนแรง ได้จัดประเภทของความรุนแรงแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้
1. ความรุนแรงทางตรง (direct violence)
ความรุนแรงทางตรงเป็นความรุนแรงในเชิงกายภาพระหว่างมนุษย์ด้วยกัน เน้นที่อวัยวะร่างกายตัวบุคคล เช่น บาดแผลจากการทุบตี ร่องรอยการข่มขืน รอยกระสุนปืน ความพิการและความตาย และกระทำต่อจิตใจเช่น กักขัง หน่วงเหนี่ยว ลวนลาม ล้อเลียน ทำให้กลายเป็นตัวตลก ด่าทอว่าร้าย คุกคามทางเพศ ความรุนแรงทางตรงนี้ทำได้ง่ายที่สุด จนอาจถูกทำให้กลายเป็นเรื่องคุ้นชินในชีวิตประจำวัน จนกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่ยอมรับได้
LGBTQIAN+ ต้องเผชิญกับความรุนแรงทางตรงในรูปแบบการล้อเลียนและคุกคามทางเพศบ่อยครั้ง จนดูเหมือนเป็นเรื่องปรกติธรรมดาและกลายเป็นความบันเทิง เช่นในวัฒนธรรมบันเทิงเคยมีบทเพลงล้อเลียนและคุกคามทางเพศเช่น “เกลียดตุ๊ด” ใน พ.ศ. 2537 บทเพลง “ยายตุ๊ดตู่” และ “ประเทือง” ใน พ.ศ. 2541 และเพลง “ประเทศเทย” พ.ศ. 2543
2. ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (structural violence)
คือระบบ หรือโครงสร้างสังคมการเมืองและเศรษฐกิจที่ทำลายศักยภาพของมนุษย์ จำกัดโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร รวมทั้งการเลือกปฏิบัติ การเอารัดเอาเปรียบ ความเหลื่อมล้ำ และการทำให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีอำนาจเหนือกว่าคนอีกกลุ่มหนึ่ง
ความรุนแรงประเภทนี้ไม่ใช่สิ่งโดดเด่นเกิดขึ้นแล้วหายไปเหมือนความรุนแรงทางตรง หากแต่เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ผู้ที่ได้เปรียบจากโครงสร้างเช่นนี้ก็พยายามรักษาโครงสร้างเช่นนี้ไว้ เพื่อรักษาสถานภาพที่ได้เปรียบไว้ให้นานที่สุด ด้วยกลไกและสถาบันต่าง ๆ เช่น สถาบันการศึกษา รัฐ และ กฎหมาย เหมือนกับที่ก่อนจะมีสมรสเท่าเทียม การจดทะเบียนสมรสถูกผูกขาดอยู่ที่ชายหญิงรักต่างเพศเท่านั้น ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและการเลือกปฏิบัติในการเข้าถึงสิทธิและโอกาสระหว่างคนรักเพศเดียวกันและคนรักต่างเพศ
ระบบเพศทวิลักษณ์ (Gender binary) เองถือว่า เป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ที่ผลักให้เพศสภาพอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ชายหญิงออกจากพื้นที่ไม่มีตัวตน เช่น ระบบคำนำหน้าสำหรับประชาชนที่ยังคงมีอย่างจำกัดตามระบบทวิลักษณ์ เพียงชายกับหญิงตามเพศกำเนิดเท่านั้น หรือการกำหนดเครื่องแบบเครื่องแต่งกายเฉพาะเพศชายและหญิงในสถานศึกษา และอาชีพที่ต้องสวมเครื่องแบบ
ครั้งหนึ่งประเทศไทย เคยมีการกีดกันคนรักเพศเดียวกัน และคนข้ามเพศไม่ให้เข้ารับการศึกษาวิชาชีพครู เมื่อ พ.ศ. 2539 โดยคณะกรรมการสถาบันราชภัฏออกกกฎระเบียบ ไม่รับผู้ที่ “เบี่ยงเบนทางเพศ” เข้ารับการศึกษาวิชาชีพครู เพื่อป้องกัน LGBTQIAN+ ประกอบอาชีพครูอาจารย์ในโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย เพราะถือว่ามีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เป็นแบบอย่างที่ไม่ดี นำไปสู่การเคลื่อนไหวประท้วงของ LGBTQIAN+ ผ่านสื่อมวลชน จนสภาสถาบันราชภัฏต้องยอมยกเลิกข้อห้ามนี้ใน พ.ศ. 2540
เช่นเดียวกับ การตรวจร่างกายเกณฑ์ทหารก่อน พ.ศ. 2555 ที่หญิงข้ามเพศเป็นอีกกลุ่มบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องถูกเกณฑ์ทหาร โดยใบรับรองผลการตรวจเลือกทหารฯ (สด.43) นั้นระบุว่า “เป็นโรคจิตถาวร” ซึ่งใบ สด.43 เป็นเอกสารสำคัญที่ต้องใช้ประกอบในการสมัครงาน เรียนต่อ ทำธุรกรรม เดินทาง กลายเป็นการตีตราโดยรัฐ สร้างความยากลำบากให้กับหญิงข้ามเพศในการดำรงชีวิตต่อไป กระทั่งเกิดการเคลื่อนไหวทางสังคมโดยหญิงข้ามเพศ ฟ้องร้องศาลปกครองในพ.ศ. 2549 ให้กระทรวงกลาโหม แก้ไขข้อความในเอกสาร สด.43 การต่อสู้เป็นไปอย่างยาวนานจนมาถึง พ.ศ. 2555 ศาลปกครองคำสั่งให้เพิกถอนแก้ไขถ้อยคำ ให้หญิงข้ามเพศเป็นบุคคลจำพวกร่างกายไม่สมบูรณ์ดีแต่ไม่ถึงทุพพลภาพ (จำพวกที่ 2) ข้อที่ 12 ว่า “ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด”
3. ความรุนแรงทางวัฒนธรรม (cultural violence)
ความรุนแรงทางวัฒนธรรม คือ ระบบความเชื่อ ระบบสัญลักษณ์ และระบบการให้ความหมายที่สร้างความชอบธรรม ให้คุณค่าความชอบธรรมกับความรุนแรงเชิงโครงสร้างและความรุนแรงทางตรง จนสามารถกระทำได้เป็นเรื่องธรรมดาและคุ้นชิน
ความรุนแรงทางวัฒนธรรม จึงเป็นต้นตอและระดับความรุนแรงที่ลึกที่สุด และเปลี่ยนแปลงได้ยากที่สุดขณะที่ความรุนแรงทางตรงประเภททารุณกรรมเป็นเพียงความรุนแรงชั้นแรกที่ตื้นที่สุดเห็นได้ชัดและบ่อยที่สุด ชั้นที่ลึกลงมาเป็นความรุนแรงที่โครงสร้างและสถาบันทางสังคมคอยผลิตซ้ำตอกย้ำและยืนยันให้ดำรงอยู่ จะเห็นได้ว่าการด่าทอ ทุบตี เหยียดหยามโดยบุคคล หรือการเลือกปฏิบัติโดยสถาบันทางสังคม ได้รับความชอบธรรมจาก ภาษา ศาสนา ความเชื่อ ค่านิยม
จากรายงาน “การศึกษาทัศนคติในเชิงลบของคนไทย เกี่ยวกับสิทธิของคนข้ามเพศและคนที่มีความหลากหลายทางเพศในปัจจุบัน” พบว่า ความเชื่อทางศาสนาเป็นตัวเชื่อมโยงอคติต่อ LGBTQIAN+ ในประเด็นต่าง ๆ เช่นประเด็นการคัดค้านสมรสเท่าเทียม ถูกอ้างว่าขัดต่อหลักคำสอนทางศาสนา
และจากข้อมูลของ สสส. ใน พ.ศ. 2567 ที่กล่าวไปข้างต้น พบว่า ในประเทศไทย ผู้หญิง เด็ก และผู้หญิงข้ามเพศ ถูกกระทำความรุนแรงประมาณ 30,000 คนต่อปี โดยส่วนใหญ่เกิดจากคนใกล้ชิด เช่น คู่รักหรือสมาชิกในครอบครัว ซึ่งหญิงข้ามเพศ มีความเสี่ยงสูงต่อการถูกกระทำความรุนแรงถึง 3 เท่าของประชากรทั่วไป โดยระบุว่ารากเหง้าของความรุนแรงมาจากโครงสร้างสังคม วัฒนธรรมประเพณี ระบบคิดแบบชายเป็นใหญ่ ที่มองว่าผู้หญิง เด็ก และผู้หญิงข้ามเพศเป็นพลเมืองชั้นสอง มีคุณค่าน้อยกว่าส่งผลให้การกระทำความรุนแรงต่อคนกลุ่มนี้ กลายเป็นเรื่องที่ “ยอมรับได้”

ในมิติภาษา LGBTQIAN+ มักถูกนิยามว่า “เบี่ยงเบนทางเพศ” เนื่องจากอยู่นอกมาตรฐานระบบเพศทวิลักษณ์ ซึ่งพจนานุกรมฉบับมติชน อธิบายว่า “เบี่ยงเบน” เป็นคำกิริยา หมายถึง เบนไปจากมาตรฐาน และ “เบี่ยงเบนทางเพศ” เป็นคำวิเศษณ์ แปลว่า มีพฤติกรรมทางเพศที่ผิดไปจากเพศที่แท้จริงของตน เช่นเดียวกับคำว่า “ชายจริง-หญิงแท้” ที่บอกว่าชายหญิงที่รักต่างเพศเป็นเพศที่แท้จริงในระบบเพศทวิลักษณ์ เพื่อนิยาม LGBTQIAN+ เสมือนเป็นของปลอม
เหล่านี้จึงสะท้อนให้เห็นว่า แม้กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะเป็นอีกก้าวสำคัญของความก้าวหน้าทางกฎหมายและสิทธิมนุษยชนของกลุ่มเพศหลากหลายในสังคมไทย อย่างไรก็ตาม สังคมไทยก็ยังเผชิญกับอคติ ความเกลียดชัง ความรุนแรงต่อกลุ่มคนเพศหลากหลายเหล่านี้ ซึ่งฝังลึกอยู่ในโครงสร้างและวัฒนธรรม การผ่านและบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมจึงไม่ใช่กระบวนการสุดท้ายปลายทาง หากแต่คือจุดเริ่มต้น ผลักดันให้เกิดการเรียนรู้ในสังคม รวมถึงการออกนโยบายสอดรับเพื่อปกป้องสิทธิของกลุ่มเพศหลากหลาย ให้มีสิทธิเท่าเทียมกับกลุ่มคนรักต่างเพศ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่อภิสิทธิ์ แต่คือการเปิดโอกาสให้ทุกคนมีสิทธิและใช้ชีวิตได้อย่างเท่าเทียมกัน…
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- Hate Crime : ความรุนแรงที่กฎหมายไทยยังมองผ่าน | The Active
- ไม่ควรมีใคร ‘ถูกสังหาร’ เพราะเป็น ‘คนข้ามเพศ’ | The Active
- สำรวจความเกลียดชัง LGBTQIA+ หลังกฎหมายสมรสเท่าเทียม | Policy Watch
อ้างอิง
- หญิงไทยถูกละเมิดทางเพศ-กระทำความรุนแรง มากกว่า 7 คน/วัน เร่งส่งเสริมความเสมอภาค ขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบ | สสส.
- Will the cycle of violence ever end? TGEU’s Trans Murder Monitoring project crosses 5,000 cases | TGEU
- แนวปฏิบัติเมื่อกะเทย สาวประเภทสอง และคนข้ามเพศต้องไปเกณฑ์ทหาร | iLaw
- วันยุติความรุนแรงต่อสตรี เด็ก และหญิงข้ามเพศ: มุมมองด้านเอชไอวี | Love Foundation มูลนิธิเพื่อรัก
- Violence, Peace, and Peace Research โดย Johan Galtung
- Cultural Violence โดย Johan Galtung
- หนังสือ ท้าทายทางเลือก : ความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรง โดย ชัยวัฒน์ สถาอานันท์
- หนังสือ สันติทฤษฎี\วิถีวัฒนธรรม โดย ชัยวัฒน์ สถาอนันท์
- หนังสือ อาวุธมีชีวิต? : แนวคิดเชิงวิพากษ์ว่าด้วยความรุนแรง โดย ชัยวัฒน์ สถาอนันท์