: สังคมสูงวัย กับปากท้องยุคโควิด-19
การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 จะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับผู้สูงอายุจำนวนมากที่ก้าวเข้าสู่วัยเกษียณอายุ บางคนต้องยุติชีวิตการทำงาน ขณะที่บางคนยังต้องใช้แรงแลกเงิน หาเลี้ยงปากท้องอยู่
แต่ก็มีอีกจำนวนไม่น้อย ที่แม้จะมีศักยภาพ มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง แต่ตลาดแรงงานก็ไม่ต้อนรับพวกเขาอีกต่อไป…
ปี 2563 ไทยมีแรงงานผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไปที่ยังทำงานได้ 4.63 ล้านคน มากกว่าแรงงานวัยเยาวชน อายุ 15-24 ปี ซึ่งอยู่ที่ 3.83 ล้านคน
แต่โควิด-19 กำลังทำให้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ต้องถูกลดชั่วโมงการทำงาน ลดรายได้ เลิกจ้าง หรือหยุดการค้าขายไปอย่างเงียบ ๆ โดยเฉพาะผู้สูงอายุสำรอง ที่มีความเสี่ยงตกงานถาวรแม้สถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลาย
ผู้สูงอายุไทยมีรายได้หลักจากเบี้ยยังชีพ การทำงาน และลูกหลานเลี้ยงดู
ข้อมูลจาก การสำรวจผลกระทบของการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ต่อประชากรสูงอายุในประเทศไทย (COVID-19 and older persons: Evidence from the survey in Thailand) ที่สำรวจในเดือนกรกฎาคม 2563 โดยความร่วมมือระหว่าง กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA ) ประจำประเทศไทย และวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า ผู้สูงอายุที่ทำแบบสำรวจ ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจมากกว่าด้านสุขภาพ โดยผู้สูงอายุประมาณ 1 ใน 3 ระบุว่า มีรายได้ไม่เพียงพอในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และสัดส่วนของผู้สูงอายุที่มีรายได้หลักจากการทำงาน ลดจากร้อยละ 40 เหลือเพียงร้อยละ 22 เท่านั้น
จากกลุ่มเป้าหมาย 1,230 คน พบว่า พวกเขาต้องสูญเสียอาชีพ พื้นที่ค้าขาย หรือถูกปรับลดเงินเดือน โดยผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองประสบปัญหาเกี่ยวกับการทำงานมากกว่าผู้สูงอายุในเขตชนบท นอกจากนี้ ผู้สูงอายุยังมีรายได้จากการทำงาน ลูก และดอกเบี้ยเงินออม ลดลงในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 อีกด้วย
แน่นอนว่า แม้ในช่วงปกติผู้สูงอายุจำนวนมากต้องกระเสือกกระสนในการใช้ชีวิต แต่การระบาดของโควิด-19 ได้ทำให้ผลกระทบรุนแรงขึ้น
หากดูข้อมูลแหล่งรายได้หลักของผู้สูงอายุในช่วงการระบาดโควิด-19 จะเห็นได้ว่า แม้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจะมีจำนวนไม่มาก หากเทียบกับเงินสวัสดิการยามเกษียณของหลายประเทศ แต่ในยามนี้ กลับเป็นแหล่งรายได้หลักของพวกเขา จะเห็นได้ว่าหากเป็นผู้สูงอายุไม่ว่าจะช่วงวัยไหน เพศใด อาศัยอยู่ในเขตเมืองหรือชนบท พวกเขามีแหล่งรายได้หลักมาจากแหล่งเดียวกัน คือ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากรัฐบาล
แต่ที่น่าสนใจกว่านั้น คือ แหล่งรายได้หลักที่รองลงมาจากการสำรวจในกลุ่มเป้าหมาย พบว่า ผู้สูงอายุจำนวนมากยังคงมีรายได้หลักจากการทำงานและลูกหลาน นั่นหมายความว่า การยังคงมีอาชีพหรือมีงานทำ ที่หมายถึงตัวผู้สูงอายุเองและลูกหลาน ย่อมส่งผลต่อรายได้ของผู้สูงอายุโดยตรง
นอกจากนั้น ข้อมูลที่น่าสนใจในส่วนแหล่งรายได้จากการทำงานของผู้สูงอายุ ระหว่างเพศหญิงและเพศชาย เมื่อเปรียบเทียบเป็นสัดส่วนกับแหล่งรายได้อื่น พบว่า ผู้สูงอายุหญิงกลับมีรายได้จากการทำงานมากกว่าผู้สูงอายุชายถึง 10 เท่า กล่าวคือ ผู้สูงอายุชายพึ่งพารายได้จากการทำงานเพียงร้อยละ 2.7 แต่ผู้สูงอายุหญิงมีรายได้จากการทำงานมากถึงร้อยละ 26.1
ขณะที่ผู้สูงอายุชายมีแหล่งรายได้หลักอยู่ที่เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมากถึงร้อยละ 72.1 ขณะที่ผู้สูงอายุหญิงพึ่งพารายได้จากส่วนนี้ร้อยละ 54.9
ส่วนผู้ตอบแบบสอบถามที่อาศัยในเขตเมือง มีเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นแหล่งรายได้หลักมากที่สุด รองลงมาคือเงินจากลูกหลาน
ขณะที่ผู้สูงอายุในชนบท ก็มีรายได้หลักจากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเช่นกัน แต่กลับมีรายได้จากการทำงานรองลงมา อาจสวนทางกับภาพจำที่ว่า ผู้สูงอายุในชนบทรอเพียงการพึ่งพาเงินจากลูกหลาน แต่พวกเขากลับมีรายได้จากการทำงานเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า เมื่อมีรายได้จากรัฐ พวกเขาก็พึ่งพาลูกหลานน้อยลง โดยเฉพาะในช่วงที่ทุกช่วงวัยกำลังประสบปัญหาด้านรายได้จากภาวะโรคระบาด
‘ศ.วิพรรณ ประจวบเหมาะ’ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า นโยบายและมาตรการที่รัฐนำมาใช้เพื่อช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 อาจต้องคำนึงถึงประชากรสูงอายุที่ยังต้องการทำงานและพึ่งพารายได้จากการทำงานในการดำรงชีวิต โดยการสร้างหลักประกันทางเศรษฐกิจเพื่อคุ้มครองผู้สูงอายุจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องเชิงนโยบายในหลายระดับ เพื่อที่จะให้แน่ใจว่าผู้สูงอายุได้รับความคุ้มครองในช่วงเวลาวิกฤตด้วยเช่นกัน
ด้าน วาสนา อิ่มเอม หัวหน้าสำนักงาน UNFPA กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย ย้ำว่า เช่นเดียวกับสมาชิกอื่น ๆ ในสังคม ผู้สูงอายุมีสิทธิตามสิทธิมนุษยธรรมทุกเรื่อง รวมถึงในช่วงเวลาระบาดใหญ่โควิด-19 นี้ด้วย ไม่ควรคิดว่าการดูแลเอาใจใส่ผู้สูงอายุเป็นภาระ เพราะผู้สูงอายุเป็นทรัพยากรบุคคลที่สร้างคุณค่าและมรดกทางสังคม การดูแลเอาใจใส่ผู้สูงอายุจึงควรมาจากการมีส่วนร่วมของสมาชิกในกลุ่มต่าง ๆ ของครอบครัวและสังคมภายใต้แนวทาง “สังคมอารีจากคนหลากหลายรุ่น” (intergenerational society) โดยแนวทางนี้ จะเปิดโอกาสให้คนรุ่นเด็ก วัยรุ่น วัยทำงานและวัยสูงอายุเอง ได้มีโอกาสช่วยกันเติมเต็มบทบาทในการดูแลผู้สูงอายุและดูแลซึ่งกันและกัน และยังเป็นแนวทางที่สนับสนุนการพัฒนาด้านสังคมและเศรษฐกิจสู่สังคมที่ยั่งยืนภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลังอีกด้วย
ผู้สูงอายุอเมริกันพึ่งพารายได้จากประกันสังคม สินทรัพย์ และเงินบำนาญมากที่สุด
ข้อมูลจาก ศูนย์สิทธิประโยชน์แห่งบำนาญ สหรัฐอเมริกา (Pension Rights Center) ระบุว่า ปัจจุบัน ชาวอเมริกันสูงอายุ (65 ปีขึ้นไป) มีรายได้จากหลายแหล่ง โดยส่วนใหญ่ได้รับรายได้จากโครงการประกันสังคม (Social Security) รวมถึงแหล่งรายได้อื่น ๆ คือ การลงทุนและสินทรัพย์อื่น ๆ เงินบำนาญและการวางแผนเกษียณอายุอื่น ๆ รายได้จากการทำงาน และมีผู้สูงอายุส่วนน้อยที่ได้จากโครงการการช่วยเหลือสาธารณะ (สาธารณะกุศล) ต่าง ๆ และโครงการสวัสดิการของทหารผ่านศึก
โดยข้อมูลจาก Pension Rights Center ยังชี้อีกว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุรายบุคคล และครัวเรือนผู้สูงอายุ (คู่สามีภรรยา) มีแหล่งรายได้ต่าง ๆ ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน
สำหรับโครงการประกันสังคม หรือ Social Security คือผลประโยชน์ที่รัฐบาลสหรัฐฯ จัดตั้งขึ้นสำหรับผู้ทำงาน ให้ได้รับผลประโยชน์เมื่อถึงเวลาเกษียณ หรือเงินบำนาญ ที่รัฐบาลหักภาษีรายได้ โดยส่วนหนึ่งจะเป็นเงินสะสมเข้ากองทุนประกันสังคม เงินนี้คือเงินสะสมของแต่ละบุคคล เมื่อทำงานมาแล้วอย่างน้อย 10 ปี และเมื่อถึงวัยเกษียณ พวกเขาจะได้รับบำนาญเป็นรายเดือน มากน้อยแล้วแต่เงินสะสมที่หักไว้
เงินประกันสังคมไม่ได้จ่ายเพียงบุคคลที่ทำงานเท่านั้น คู่สมรส (สามี หรือ ภรรยา) หรือบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (ต่ำกว่า 18 ปี) ก็รับได้ หากคนทำงานในครอบครัว หรือหัวหน้าครอบครัวเสียชีวิต บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะรับได้ทันที สามีหรือภรรยา จะรับได้ต่อเมื่อตนเองอายุอย่างน้อย 60 ปี หรือหากสามี (หรือภรรยา) กำลังอยู่ระหว่างรับเงินเกษียณอยู่แล้ว สามารถเปลี่ยนไปรับเงินเกษียณของสามี (หรือภรรยา) ได้ ถ้าเห็นว่าเป็นจำนวนเงินมากกว่า