“ล็อกดาวน์” ทางออกเดียวของโควิด-19? : ฉากอนาคตที่เลือกได้

หมอโรงพยาบาลหนึ่งท่วมท้นใจ จำเป็นต้องออกระเบียบ “ขอไม่ใส่ท่อช่วยหายใจผู้ป่วย” เพราะสถานการณ์การระบาดโควิด-19 เข้าขั้นวิกฤต อุปกรณ์การแพทย์ที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วยที่มีจำนวนมากขึ้น…

ณ ชายแดนห่างไกล หมออีกโรงพยาบาลหนึ่งลังเลและเสียใจที่ต้องเลือกใส่ท่อช่วยหายใจกับผู้ป่วยคนใดที่มีโอกาสรอดชีวิตที่สุด แต่พูดไม่ได้

ก่อนหน้านั้น…ในค่ำคืนเดียว มีผู้เสียชีวิตกลางถนนรวม 4 ศพ

2 ใน 4 ยืนยันติดโควิด-19…

เช้าวันรุ่งขึ้น ทุกสื่อโหมประโคมความหดหู่ เพราะบางศพต้องใช้เวลาถึง 6 ชั่วโมงกว่าจะมีหน่วยงานมาจัดการกับร่างไร้วิญญาณ เพราะความหวาดกลัวโรคติดต่อร้ายแรง

ส่วนที่อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ครอบครัวผู้ติดเชื้อรวม 6 ชีวิต เพิ่งเดินทางออกจากกรุงเทพมหานคร หวังไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลในบ้านเกิดจังหวัดพะเยา

แต่ไปไม่ถึง…เพราะเกิดอุบัติเหตุรถยนต์เสียหลักชนเข้ากับต้นไม้กลางถนน มีผู้เสียชีวิต 2 คน ส่วนอีก 4 คน ต้องรักษาทั้งร่างกายที่บาดเจ็บและอาการติดเชื้อจากโควิด-19

เหตุการณ์เหล่านี้ เกิดหลังจากที่ ศบค. ประกาศข้อกำหนดที่ออกตามมาตรา 9 พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 ฉบับที่ 28 เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2564 “ล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว 13 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด” มีผลตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม

วันนั้นเป็นวันแรก ที่ไทยมีผู้ติดเชื้อรายวันแตะหลักหมื่น คือ 10,082 คน และคนเสียชีวิตสูงสุด 141 คน เท่ากับว่าผู้เสียชีวิตปรับตัวเลขเป็น 1% ของผู้ติดเชื้อ

และหากภายใน 2 สัปดาห์ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังไม่ลดลง ก็มีแนวโน้มที่ ศบค. จะใช้มาตรการล็อกดาวน์เมืองแบบอู่ฮั่น เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด

ประชาชนต้องอยู่แต่บ้าน งดการเดินทาง หรือถึงขั้นต้องส่งข้าวส่งน้ำตามบ้าน เป็นต้น

อิตาลี อินเดีย หรืออินโดนีเซีย… ที่ไทยกำลังเดินตาม?

เฉพาะวันที่ 22 กรกฎาคม ไทยมีผู้ติดเชื้อใหม่รายวัน 13,655 คน สูงติดอันดับ 5 ของโลก รองจากอินโดนีเซีย (49,509) รัสเซีย (24,471) อิหร่าน (20,313) และเมกซิโก (15,198) ตามลำดับ

ขณะเดียวกัน ไทยมีผู้เสียชีวิตรายวัน (87 คน) ติดอันดับ 7 ของโลก รองจากอินโดนีเซีย (1,449) รัสเซีย (796) เมกซิโก (397) อิหร่าน (226) บังคลาเทศ (187) และมาเลเซีย (134)

และหากจะดูผู้ป่วยอาการหนักที่อยู่ระหว่างการรักษา (3,856 คน) ไทยก็ยังติดอันดับ 8 ของโลก รองจากอินเดีย (8,944) บราซิล (8,318) โคลัมเบีย (8,155)  สหรัฐอเมริกา (6,484) เมกซิโก (4,798) อิหร่าน (4,628) และอาเจนตินา (4,583) ตามลำดับ

ความพยายามดิ้นรนเพื่อเข้าถึงการรักษาพยาบาลให้ทันเวลา คือ สิ่งที่ประชาชนต้องต่อสู้ ขณะเดียวกัน ก็มีกลุ่มประชาชนที่ยังพอมีพลังเหลืออยู่ ออกมาตะโกนอาสาอย่างจำใจว่าตอนนี้พวกเขาคงต้องช่วยดูแลกันเอง…

The Active ชวนทบทวนภาพสถานการณ์ที่เลวร้ายจากทุกมุมโลก กับภาพสะท้อนของประเทศไทย ในวันที่เลวร้ายเช่นกัน แม้ยังไม่รู้ว่า “ที่สุด” แล้วหรือไม่ เพื่อรวบรวมต้นทุนทางสังคมที่พอจะหยิบจับมาใช้ต่อสู้ในสงครามโรค ที่ไม่รู้ว่าใครจะเป็นฝ่ายชนะ

และไม่รู้ว่าเมื่อไรจะสิ้นสุด…


เราจินตนาการภาพเลวร้ายของโควิด-19 ไว้มากที่สุดแค่ไหน?

จันทร์ที่ 19 กรกฎาคม 2564 ศบค. เผยแพร่ภาพฉากอนาคต 2 รูปแบบ รูปแบบแรก รศ.นวลจันทร์ สิงห์คราญ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ฉายภาพผลคาดการณ์ด้วยแบบจำลอง วันที่ 12 มกราคม 2563 – 31 ตุลาคม 2564 คาดการณ์ว่าแย่ที่สุดหรือจุดสูงสุดที่จะเกิดเคส หากไม่ได้ทำอะไร ปล่อยให้มีการติดเชื้อไปเรื่อย ๆ จะเกิดการติดเชื้อรายวันถึง 31,997 คนต่อวัน แต่หากเราทำให้ดีที่สุด จะอยู่ที่ 9,018-12,605 คน

รูปแบบที่สอง พยากรณ์โดย วิจัยกรุงศรี จากฐานข้อมูลขององค์การอนามัยโลก หรือ ​WHO โดยใช้ข้อมูลอัปเดต ณ 14 กรกฎาคม 2564 บอกว่าต้นเดือนสิงหาคม ไทยจะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละมากกว่า 15,000 คน และอาจสูงสุดที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อมากกว่า 20,000 คนต่อวัน

นั่นคือการคาดการณ์อนาคตด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์…

ในคำอธิบายการพยากรณ์ของวิจัยกรุงศรี บอกไว้ว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ได้เข้าสู่กรณีเลวร้าย (Worst case) กว่าที่วิจัยกรุงศรีเคยคาดการณ์ไว้ครั้งก่อน ครั้งนี้จึงได้ปรับขยับสถานการณ์การระบาดดังกล่าว ออกมาเป็นฉากอนาคตครั้งนี้

ภายใต้สมมติฐานการแพร่รระบาดของโควิด-19 ที่คาดว่าจะมีสาเหตุจากไวรัสสายพันธุ์เดลตาและเบตาเป็นหลัก ข้อมูลรูปแบบการติดเชื้อ จึงอ้างอิงจากประเทศอินเดีย แอฟริกาใต้ และอังกฤษ ประกอบกับมาตรการล็อกดาวน์ในบางพื้นที่ของไทย

แบบจำลองนี้ชี้ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่อาจเพิ่มขึ้นเป็น 15,000 คนต่อวันได้ภายในต้นเดือนสิงหาคม ขณะที่สมมติฐานด้านการฉีดวัคซีนของไทย คาดอัตราการฉีดเฉลี่ยอยู่ที่ 250,000 โดสต่อวัน ที่อาจช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันได้บ้าง

หากเป็นไปตามคาดการณ์ ทั้งเงื่อนไขเรื่องสายพันธุ์ไวรัส จำนวนผู้ติดเชื้อ อัตราเร็วการฉีดวัคซีนและประสิทธิภาพวัคซีน รวมถึงมาตรการควบคุมโรคโดยรัฐ คาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันจะลดลงมาต่ำกว่า 1,000 คนภายในเดือนพฤศจิกายน

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง ทำได้ตามนี้หรือไม่?

นอกจากผู้ติดเชื้อที่แตะหมื่นคนต่อเนื่องถึงหนึ่งสัปดาห์ ตัวเลขคนเสียชีวิตรายวันก็เคยพุ่งสูงสุด 141 คน ตั้งแต่เมื่อ 17 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

ขณะที่อัตราเร็วการฉีดวัคซีน หากนับเฉพาะช่วงเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ราววันละ 2 แสนคน แต่บางวัน ฉีดได้เพียง 70,000 – 90,000 คน (17 – 18 กรกฎาคม)

ศ. นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เคยโพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก มานพ พิทักษ์ภากร เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19

“ท่าน ผู้บริหาร ศบค. กล่าวไว้ว่า การทำล็อกดาวน์ประเทศแบบ 100 % แบบช่วงเมษายนปีที่ผ่านมา รัฐหมดค่าใช้จ่ายถึงเดือนละ 3 แสนล้านบาท เงินจำนวนนี้สามารถเพิ่มความจุในการตรวจเชื้อ, ปรับปรุงระบบการเฝ้าระวังการระบาด, เพิ่มศักยภาพของระบบโรงพยาบาล, ซื้อวัคซีนประสิทธิภาพสูง วางแผนการจัดหาและกระจายรวดเร็ว และมีปริมาณเกินพอสำหรับคนทั้งประเทศได้ และเรามีเวลาให้เตรียมการนานถึง 1 ปี”

“บางที… พวกเราในฐานะประชาชน ควรใช้เหตุการณ์ทั้งหมดเป็นบทเรียนว่า
เราปล่อยให้สถานการณ์เดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร”

แล้วเราจินตนาการภาพเลวร้ายของโควิด-19 ไว้มากที่สุดแค่ไหน?


แต่ละประเทศใช้ค้อนอะไรเพื่อทุบยอดผู้ติดเชื้อ?

หากยังจำสาระสำคัญที่ Tomas Pueyo เผยแพร่บทความ Coronavirus: The Hammer and the Dance หรือ โคโรนาไวรัส: ค้อนและการเริงระบำ เมื่อเดือนมีนาคม 2563 ได้ นั่นเป็นช่วงเวลาที่ประเทศในอเมริกา ยุโรป รวมถึงเอเชียบางประเทศกำลังเผชิญวิกฤตระลอกแรก ๆ ของการระบาดโควิด-19

สาระสำคัญในบทความนี้ ชวนให้เราดูการรับมือการระบาดของแต่ละประเทศ โดยพบว่ามี 3 วิธีหลัก คือ ไม่ทำอะไร, ประคองสถานการณ์ และจัดการอย่างเด็ดขาด ซึ่งทำให้เห็นว่า มาตรการเดียวกัน หากบริบทเปลี่ยน เวลาเปลี่ยน การเลือกวิธีประคองสถานการณ์ ก็อาจไม่เป็นผล และยังบังคับให้ต้องใช้วิธี “จัดการอย่างเด็ดขาด” หรือ Suppression แบบที่ไม่ทันตั้งตัว ไม่มีความพร้อม หรือเมื่อระบบสาธารณสุขล่มสลายไปแล้ว…

แม้มาตรการส่วนใหญ่ที่หลายประเทศเลือกใช้ จะไม่ค่อยแตกต่างกัน แต่คำเตือนของโทมัสบอกชัดตั้งแต่ปีก่อนว่า หากบริบทเปลี่ยน เวลาเปลี่ยน วิธีการเดียวกันก็อาจไม่ได้ผล

อาจเป็นปกติของระบาดวิทยา ว่าเมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อขึ้นถึงจุดสูงสุด สุดท้ายยอดภูเขาน้ำแข็งนั้นก็จะตกลงมา แต่สิ่งที่คาดการณ์ได้ยากคือไม่รู้ว่ายอดสูงสุดของประเทศไทยนั้นอยู่ที่จุดไหน?

สหราชอาณาจักร (อังกฤษ ไอร์แลนด์เหนือ สกอตแลนด์ และเวลส์)

ย้อนดูไทม์ไลน์ของการควบคุมโรคใน สหราชอาณาจักร (United Kingdom) รายงานการพบผู้ติดเชื้อรายแรกอย่างเป็นทางการ คือ 31 มกราคม 2563 จากนั้นต้นเดือนกุมภาพันธ์ กรมอนามัยและบริการสังคม ของอังกฤษ (Department of Health and Social Care) เริ่มรณรงค์ให้ข้อมูลด้านสุขภาพแก่ประชาชนโดยใช้งบประมาณจากรัฐบาล เพื่อชะลอการแพร่กระจายของไวรัส แต่กว่าสหราชอาณาจักรจะประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ ก็เกือบปลายเดือนมีนาคม โดยบังคับให้ประชาชนอยู่ในบ้าน ห้ามการเดินทางที่ไม่จำเป็นทั้งหมด ปิดโรงเรียน และเกือบทุกธุรกิจ และเกือบทุกสถานที่

ผู้ที่มีอาการป่วยและครอบครัวใกล้ชิด ถูกสั่งให้รักษาตัวเอง (Self-Isolation) และผู้ที่ป่วยด้วยบางโรค ถูกสั่งให้ “ปกป้อง” ตนเองจากผู้คนประมาณ 12 สัปดาห์ ประชาชนถูกสั่งให้รักษาระยะห่างในที่สาธารณะ ตำรวจได้รับอำนาจให้บังคับใช้มาตรการ Coronavirus Act 2020 โดยให้อำนาจฉุกเฉินแก่รัฐบาลทั้ง 4 ของสหราชอาณาจักร คือ รัฐบาลสหราชอาณาจักร (Government of the United Kingdom หรือ Her Majesty’s Government) ฝ่ายบริหารของไอร์แลนด์เหนือ (Northern Island Executive) รัฐบาลสกอตแลนด์ (Scottish Government) และรัฐบาลเวลส์ (Welsh Government) แต่รัฐบาลทั้งหลายไม่ได้ห้ามหรือกักตัวผู้เดินทางเข้าสหราชอาณาจักรในตอนเริ่มต้น

กว่าที่ยอดผู้ติดเชื้อจะลดลงในเดือนเมษายน ขณะนั้น มีผู้เสียชีวิตสะสมมากถึง 26,000 คน และการล็อกดาวน์ค่อย ๆ คลายลงในเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม

จากนั้น การติดเชื้อที่ร้ายแรงเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในเดือนกันยายนปีเดียวกัน การจำกัดในท้องที่ค่อย ๆ กลับมาในทั้ง 4 ประเทศ (อังกฤษ ไอร์แลนด์เหนือ สกอตแลนด์ และเวลส์) ในอังกฤษและสกอตแลนด์ การจำกัดแบบแบ่งระดับ (Tiered Restrictions) เริ่มถูกนำมาใช้ในเดือนตุลาคม

อังกฤษ (England) เข้าสู่ล็อกดาวน์ตั้งแต่ 5 พฤศจิกายน ถึง 1 ธันวาคม ตามด้วยการจำกัดแบบแบ่งระดับใหม่ ช่วงเวลานี้ สายพันธุ์อัลฟา ถูกระบุขึ้นว่าเป็นตัวการที่ทำให้จำนวนการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในอังกฤษภาคตะวันออกเฉียงใต้

แต่หลังจากการผ่อนคลายเป็นระยะเวลาสั้นในช่วงคริสต์มาส ทั้งสหราชอาณาจักรก็เข้าสู่การล็อกดาวน์ครั้งที่ 3 ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของการเสียชีวิตจนเกิน 1,000 คนต่อวันในเดือนมกราคม 2564

สหราชอาณาจักร ยังเป็นประเทศแรกที่อนุญาตให้มีการฉีดวัคซีน Pfizer ในการฉีดวัคซีนขนานใหญ่ (Mass Vaccination Programme) รวมถึงระเบียบการตรวจเชื้อและการกักตัวผู้เดินทางจากต่างประเทศได้ถูกบังคับใช้ในปลายมกราคม โรงเรียนกลับมาเปิดใหม่ในเดือนมีนาคม 2564 การล็อกดาวน์ครั้งนี้เริ่มถูกผ่อนคลายในเดือนเมษายน

แต่สายพันธุ์เดลตา (สายพันธุ์อินเดีย) ที่แพร่กระจายได้รวดเร็วกว่า ได้เข้ามาในสหราชอาณาจักรและกลายเป็นสายพันธุ์หลัก ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น รัฐบาล UK เลื่อนแผนการยกเลิกข้อจำกัดกลุ่มสุดท้ายไปเป็นปลายเดือนกรกฎาคม 2564 แต่อัตราการเสียชีวิตและอัตราการเข้าโรงพยาบาลยังคงต่ำกว่าก่อนหน้านี้ อันเนื่องมาจากโครงการฉีดวัคซีน

อิสราเอล

ผู้ติดเชื้อรายแรกในอิสราเอลได้รับการยืนยันในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ศูนย์การแพทย์ Sheba หลังจากกลับจาก Quarantine บนเรือ Diamond Princess ที่ญี่ปุ่น นำไปสู่กฎการกักตัว 14 วัน ให้ทุกคนที่กลับมาจากเกาหลีใต้หรือญี่ปุ่น และมีการห้ามผู้ที่ไม่ได้พำนักในอิสราเอลและผู้ที่ไม่ใช่พลเมืองอิสราเอลที่อยู่ในเกาหลีใต้ 14 วันก่อนการกลับมาอิสราเอล

อิสราเอล ไม่ต่างจากหลาย ๆ ประเทศ ที่ใช้มาตรการระยะห่างทางสังคม โดยห้ามการรวมกลุ่มกันเกิน 100 คน แต่กลางเดือนมีนาคม 2563 ก็ลดจำนวนการรวมกลุ่มลงมาไม่เกิน 10 คน และแนะนำให้เว้นระยะห่างจากกัน 2 เมตร

ชาวอิสราเอลไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากบ้าน ยกเว้นจำเป็นจริง ๆ เช่นใช้บริการที่จำเป็น ได้แก่ ร้านอาหาร ร้านขายยา และธนาคาร ที่ยังเปิดอยู่

การจำกัดการเคลื่อนที่รัดกุมขึ้นในวันที่ 25 มีนาคม และ 1 เมษายน โดยประชาชนถูกสั่งให้ใส่อุปกรณ์ปิดจมูกและปากเมื่ออยู่นอกอาคาร

ต้นเดือนเมษายน 2563 จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก จนเกือบถึง 1,000 คนในเมืองเบบรัก (Bnei Brak) คณะรัฐมนตรีลงมติให้ประกาศว่าเมืองนั้นเป็นพื้นที่ที่จำกัดการเข้าออกเป็นเวลา 1 สัปดาห์

คำสั่งนี้ ไม่เว้นแม้แต่ในช่วงพิธีกรรมทางศาสนาของชาวยิว อย่างการเฉลิมฉลองเทศกาลพาสโอเวอร์หรือเทศกาลเพคซัค (Passover Sedar) ช่วงเดือนเมษายน รัฐสภาลงมติห้ามการเดินทาง 3 วัน และบังคับให้ชาวอิสราเอลอยู่ในรัศมี 100 เมตรจากบ้านพักของตนในคืน Sedar นั้น

หรือแม้แต่ย่านที่อยู่อาศัยหลายย่านของชาวยิวนิกาย Haredi ซึ่งเคร่งในกฎหมายยิวและธรรมเนียมยิว ก็ถูกสั่งปิด

การระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเมืองของอิสราเอลในปี 2562 – 2564

ข้อจำกัดตามมาตรการควบคุมโรคทั้งหมดของอิสราเอล ถูกยกเลิกในฤดูใบไม้ผลิของปี 2564 แต่การบังคับใส่หน้ากากถูกนำกลับมาใหม่

ส่วนการจำกัดต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับผู้ที่ไม่ใช่พลเมืองอิสราเอลที่จะเดินทางเข้าประเทศ ยังคงเดิม

อินเดีย

ประเทศที่มีพลเมืองมากเป็นอันดับสองของโลก คือ เกือบ 1.4 พันล้านคน รวมถึงปัญหาความหนาแน่นประชากรและวิถีวัฒนธรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคในอินเดีย ทำให้รัฐบาลประกาศมาตรการล็อกดาวน์ตั้งแต่ช่วงต้นที่ทั่วโลกกำลังเผชิญวิกฤตโรคระบาด นี่อาจเป็นเงื่อนไขให้ในการระบาดระลอกแรกช่วงกลางปี 2563 อินเดียมีผู้ติดเชื้อสูงสุดที่วันละเกือบ 1 หมื่นคน โดยอินเดียประกาศล็อกดาวน์แบ่งเป็น 4 เฟส ครั้งละ 14 – 21 วัน ในเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2563

ทันทีที่สิ้นสุดการล็อกดาวน์ ผู้ติดเชื้อทะยานขึ้นเป็นวันละเกือบ 1 แสนคนช่วงเดือนตุลาคม 2563 ก่อนจะค่อย ๆ ลดลงมา ถึงหลักหมื่นคนจนถึงเดือนมีนาคม 2564

เมื่อมาถึงปี 2564 รัฐบาลกลางอินเดีย ก็เลือกที่จะไม่ประกาศล็อกดาวน์ทั้งประเทศ แม้มีผู้ติดเชื้อพุ่งสูงถึงวันละ 4 แสนคน และมีผู้เสียชีวิตวันละ 4,000 คน ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 นี่ทำให้รัฐบาลมลรัฐต่าง ๆ ของอินเดีย ทยอยล็อกดาวน์ตัวเอง ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม ส่วนเมืองหลวงอย่างเดลี (Delhi) ถูกประกาศล็อกดาวน์ตั้งแต่ 19 เมษายน จนถึง 30 พฤษภาคม 2564


“อู่ฮั่นโมเดล” มาตรการที่จีนใช้ เมื่อมีผู้ติดเชื้อสูงสุด 15,000 คน/วัน

ในสัปดาห์ที่ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อใหม่แตะหมื่นคนต่อวัน แม้จะอยู่ในช่วงที่รัฐบาล โดย ศบค. จะมีมาตรการที่เรียกกันว่า ล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว ห้ามออกจากบ้านตอนกลางคืน ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือจังหวัดสีแดงเข้ม

ข้อเสนอการล็อกดาวน์แบบ อู่ฮั่นโมเดล ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก

ไทม์ไลน์ล็อกดาวน์อู่ฮั่น

02.00 น. ของวันที่ 23 มกราคม 2563 รัฐบาลจีนประกาศล็อกดาวน์เมืองอู่ฮั่น (Wuhan) เมืองที่ใหญ่ที่สุดของมณฑลหูเป่ย (Hubei) โดยทันที กระทบประชาชนที่เป็นชาวเมือง 11 ล้านคน

ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงจากการประกาศล็อกดาวน์อู่ฮั่น เมืองข้างเคียงได้แก่ หวงกัง (Huanggang) และเอ้อโจว (Ezhou) ก็ถูกจำกัดการเดินทาง และในที่สุดอีก 15 เมืองในมณฑลหูเป่ย (Hubei) ก็ถูกจำกัดการเดินทางทั้งหมด ส่งผลกระทบต่อประชากร 57 ล้านคน

คนจีนในอู่ฮั่นตะโกนนอกระเบียงอาคารที่พักว่า “อู่ฮั่นเจียโหยว” ซึ่งแปลว่า “อู่ฮั่นเข้มแข็งไว้” เพื่อให้กำลังใจซึ่งกันและกันในห้วงเวลานั้น

2 กุมภาพันธ์ 2563 เมืองเวินโจว (Wenzhou) ในมณฑลเจ้อเจียง (Zhejiang) ใช้มาตรการล็อกดาวน์ โดยให้แต่ละครัวเรือนออกจากเคหสถานได้เพียง 1 คนทุก 2 วัน และทางเข้าออกไฮเวย์เกือบทั้งหมดถูกปิด

เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขเดินเคาะประตูบ้าน เพื่อตรวจสุขภาพเชิงรุกประชาชนทุกคน หากพบผู้ป่วยจะถูกแยกไปกักตัวทันที ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 จะถูกส่งจากโรงพยาบาลตรงไปยังศูนย์จัดฌาปนกิจ ไม่มีการจัดงานศพ และญาติผู้เสียชีวิตสามารถมารับเถ้ากระดูกเพื่อประกอบพิธีได้ในภายหลัง

13 มีนาคม 2563 เมืองหวงชิ (Huangshi) และเฉียนเจียง (Qianjiang) เป็น 2 เมืองแรกของ มณฑลหูเป่ยที่ยกเลิกการจำกัดการเดินทาง

8 เมษายน การล็อกดาวน์อู่อั่นสิ้นสุดลง รวมระยะเวลาล็อกดาวน์ 76 วัน

ในช่วงเริ่มต้น ผู้สังเกตการณ์ในชาติตะวันตกบางกลุ่ม เช่น Amnesty International คลางแคลงใจในมาตรการล็อกดาวน์ แต่เมื่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เลวร้ายลง มาตรการแบบคล้ายคลึงกันก็ถูกนำไปใช้ทั่วโลก

ในวันที่เรียกได้ว่าการล็อกดาวน์แบบเข้มข้นถูกใช้ในอู่ฮั่น จีนมีผู้ติดเชื้อสูงสุดเพียงหลัก 15,000 คนเท่านั้น แน่นอนว่าตัวเลขนี้ยังคงถูกตั้งคำถาม ว่าเป็นตัวเลขที่แท้จริงหรือไม่?


ใช้ความเข้มแข็งของชุมชนเป็นกลไกช่วยคุมระบาด

นอกจากการล็อกดาวน์เมืองแล้ว เรายังมีทางเลือกอื่นอีกหรือไม่?

จุดหมุนในการตอบสนองต่อวิกฤต

เช่น โครงการ RADx-Up ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เป็นโครงการที่ตั้งเป้าหมายพัฒนายุทธศาสตร์ต่าง ๆ ที่สามารถลดความไม่เท่าเทียมในการตรวจเชื้อโควิด-19 ด้วยการสนับสนุนโครงการกว่า 70 โครงการทั่วสหรัฐอเมริกาที่มีความร่วมมือระดับหุ้นส่วนกับชุมชนอยู่แล้ว พวกเขา “เน้นที่การประเมินและกำจัดอุปสรรค” จึงเป็นที่มาของการตรวจเชื้อในกลุ่มประชากรเปราะบางทางสุขภาพต่าง ได้แก่ คนผิวดำ ชาวอินเดียนแดง ชนพื้นเมืองอลาสกา ชาวลาติโน (เช่น ผู้มีเชื้อสายสเปน) ชาวพื้นเมืองฮาวาย ผู้สูงอายุ ผู้หญิงตั้งครรภ์ คนไร้บ้าน รวมทั้งผู้ต้องขัง ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 แตกต่างและไม่เท่าเทียมกัน

ศาสตราจารย์ Susan M. Kiene แห่งมหาวิทยาลัยรัฐ ณ เมืองซานดิเอโก (San Diego State University, SDSU) และผู้ร่วมงานที่ School of Public Health ของ SDSU เข้าใจถึงความสำคัญของการตรวจเชื้อโควิด-19 ที่รวดเร็ว แม่นยำ และเข้าถึงได้ รวมไปถึงประโยชน์ของการให้บริการแก่ประชาชนจนรู้สึกสบายและเชื่อมโยงกับผู้อื่น

ทีมของ SDSU นี้ อาศัย “เครือข่ายคนทำงานด้านสุขภาพในชุมชน” (Community Health Workers, CHWs) ที่ผ่านการฝึกฝนแล้ว ทำงานและอาศัยอยู่ในซานดิเอโก สามารถพูดภาษาได้หลากหลาย และมีพื้นเพจากชุมชนที่หลากหลาย แต่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโรคระบาด

ทีมนักวิจัยนี้ยังมีความเป็นหุ้นส่วนแบบเหนียวแน่นกับองค์กรที่มีความสัมพันธ์กับชุมชนชาวผิวดำ ชาวลาติโน ชาวฟิลิปปินส์ และคนที่พูดภาษาอาหรับ

“ผู้ตรวจสอบร่วม (Co-principal Investigator) ของดิฉันเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการทำงานกับชุมชนของซานดิเอโก ส่วนดิฉัน, มีประสบการณ์ในการวิจัยโปรแกรมการตรวจเชื้อ HIV ตามชุมชนหลายโปรแกรมในโซนใต้ซาฮาราของทวีปอาฟริกา (Sub-Saharan Africa)”

ศาสตราจารย์ Kiene

SDSU มีศูนย์วิจัยหลักที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ (National Cancer Institute, NCI) ตั้งแต่ 2015 (พ.ศ. 2558)

“การได้รับการสนับสนุนจาก RADx-UP ผ่านทุน NCI ทำให้พวกเรามีโอกาสที่จะผันตัว มาเริ่มโครงการ CFC เพื่อหาวิธีต่าง ๆ ที่จะเพิ่มการตรวจเชื้อโคโรนาไวรัสสำหรับกลุ่มต่าง ๆ ที่นักวิจัยสาธารณสุขของ SDSU ทำงานร่วมอยู่ก่อนแล้ว”

การทำงานร่วมมือกับชุมชน

ศาสตราจารย์ Kiene กล่าวว่า อุปสรรคหลักของการตรวจเชื้อโควิด-19 ในขณะนี้คือ ประชาชนจำนวนมากต้องการตรวจยืนยันเชื้อ ทำให้ต้องรอหลายชั่วโมงกว่าจะได้รับการตรวจ ณ จุดตรวจฟรี ทว่า โครงการ CFC ทำให้ชุมชนสามารถเข้าถึงการตรวจได้ และการตรวจของ CFC มักจะเร็วกว่า เพราะจุดตรวจของโครงการนั้นอยู่ในชุมชน ทำให้ประชาชนได้ผลจาก Rapid Test ภายในครึ่งชั่วโมง

โครงการนี้ถูกผนวกเข้าอย่างเต็มที่กับชุมชนต่าง ๆ ของซานดิเอโก ผ่าน “เครือข่ายคนทำงานด้านสุขภาพในชุมชน” และองค์กรชุมชนต่าง ๆ ที่มีตัวแทนอยู่ในทีม COVID Community Advocates for testing Reach and Equity (COVID CARE) ของโครงการ โดยมีตัวแทนองค์กรชุมชนอย่างน้อย 10 องค์กรอยู่ใน ทีม COVID CARE นี้

“เครือข่ายคนทำงานด้านสุขภาพในชุมชน” เป็นสมาชิกชุมชนที่ได้รับความเชื่อถือและความเคารพ ซึ่งทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างสมาชิกชุมชนและระบบการดูแลสุขภาพ แต่ละคนสวมหมวกหลายใบ ได้แก่ 1) ผู้ให้การศึกษาด้านสุขภาพ 2) ผู้นำกลุ่มภายในระบบการดูแลสุขภาพ 3) ผู้ฝึกสอนในด้านการจัดการภัยพิบัติ และ 4) ผู้นำอย่างไม่เป็นทางการของชุมชน

ศาสตราจารย์ Kiene ให้เครดิตกับทีม COVID CARE ว่าเป็นผู้เสนอแนวคิดที่ทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ เนื่องจากสมาชิกของทีมนี้เป็นผู้นำที่มีความปราถนาอย่างแรงกล้าที่จะจัดการปัญหาโควิด-19 ในชุมชนของตัวเองและชุมชนอื่น ๆ

ทีม COVID CARE ระบุจุดที่ดีที่สุดสำหรับตั้งจุดตรวจเชื้อในซานดิเอโก เพื่อประกอบการตัดสินของทีมวิจัย SDSU นอกจากนี้ ทีม COVID CARE ยังแนะนำทีม SDSU ให้ผู้นำชุมชนรู้จักและแนะแนวทางที่ดีที่สุดในการเพิ่มการมีส่วนร่วมในการควบคุมโรคจากชุมชน ตัวอย่างเช่น ทีม COVID CARE แนะนำให้นักวิจัยสื่อสารกับผู้เข้าร่วมโครงการวิจัยเกี่ยวกับความก้าวหน้าตลอดทั้งโครงการ ไม่ใช่แค่จุดจบหรือผลลัพธ์ของโครงการเท่านั้น

ทีมวิจัยจึงเพิ่มขั้นตอน, ขออนุญาตจากประชาชนที่จะถูกติดต่อทางอีเมล อีเมลถูกส่งออกไปให้ผู้เข้าร่วมโครงการวิจัยอย่างสม่ำเสมอ เพื่ออัปเดตสิ่งที่นักวิจัยกำลังเรียนรู้อยู่ และข้อเท็จจริงที่สำคัญเกี่ยวกับโควิด-19

มองไปข้างหน้า

ศาสตราจารย์ Kiene หวังว่า มรดกตกทอดของโครงการนี้จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งและปรับตัวได้ ซึ่งสร้างขึ้นจากความเชื่อใจ สายสัมพันธ์ในชุมชน และผู้ทำงานด้านสุขภาพในชุมชนที่ได้รับการฝึกฝนแล้ว โครงการ CFC ควรเป็นโมเดลหนึ่งสำหรับโครงการวิจัยอื่น ๆ และการริเริ่มด้านสาธารณสุขใหม่ ๆ

เธอยังเน้นถึงความสำคัญของการสร้างสมดุลระหว่างการวิจัยและบริการสาธารณสุข

“งานวิจัยนั้นสำคัญ แต่เราต้องไม่ลืมว่า เรากำลังพูดถึงประชาชนที่อาจมีเชื้อโควิด-19 และพวกเขาจำเป็นต้องได้รับการตรวจ ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ เราต้องการให้วิทยาศาสตร์ก้าวหน้า และเราก็ต้องการที่จะเข้าใจวิธีการปรับปรุงการเข้าถึงการตรวจก็จริง แต่เราก็ต้องแน่ใจด้วยว่า เรากำลังให้บริการประชาชนไปพร้อมกันจริง ๆ”

ไทย” ก็ขึ้นชื่อว่ามีระบบสาธารณสุขชุมชนที่เข้มแข็งและได้รับการยกย่อง

การระบาดในระลอกแรก ประเทศไทยและนิวซีแลนด์ เป็นกรณีตัวอย่างของความสำเร็จในการจัดการกับโรคระบาด ที่องค์การอนามัยโลกและองค์การสหประชาชาติต่างชื่นชม

แต่ความสำเร็จนี้ขึ้นอยู่กับว่า การเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง แนวทางที่ครอบคลุมทั้งสังคม และการตรวจเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นมากกว่านี้ ทำได้หรือไม่ เพื่อป้องกันการระบาดในระลอกที่ 2 เมื่อเปิดพรมแดนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินอย่างเต็มที่

ผ่านไปหนึ่งปี ประเทศไทยตกหล่มความสำเร็จของตัวเองใช่หรือไม่?


ภาพอนาคตที่เลือกได้?

สำหรับประเทศไทย หลายครั้ง ทั้งนักระบาดวิทยา นักวิชาการ และนักบริหารนโยบายด้านการสาธารณสุข มักบอกว่า ให้ทำทุกมาตรการก่อน และ “ขอให้การล็อกดาวน์เป็นทางเลือกสุดท้ายในการควบคุมโรค”

เพราะบทเรียนการล็อกดาวน์เข้มข้นในช่วงการระบาดระลอกแรก สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากข้อจำกัดการหาเลี้ยงปากท้องของประชาชนระดับกลางถึงล่าง ที่ต่างสะบักสะบอมจากมาตรการเข้มที่รัฐใช้ ไม่เว้นผู้ประกอบการรายใหญ่ ทั้งโรงแรม ห้างสรรพสินค้า และธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่ จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่หยุดชะงัก

เม็ดเงินเพื่อการเยียวยาและฟื้นฟูมหาศาล คือ ราคาที่ต้องจ่าย แลกกับการควบคุมโรคให้อยู่หมัด แม้กระนั้น ข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าการเยียวยาตกหล่น ไม่ครอบคลุม และไร้ประสิทธิภาพก็ยังไม่คลี่คลาย กระทั่งการระบาดในระลอกล่าสุด

ล็อกดาวน์ คือ ทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่ในเวลานี้ เพื่อควบคุมโรค?

ส่วนเป้าหมายของการลดความสูญเสีย ที่พอทำได้ ความหวังจึงอยู่ที่ “วัคซีน” และ “ความร่วมแรงร่วมใจไม่ให้มีคนตายเพิ่มขึ้น”

แน่นอนว่า การออกมายอมรับอย่างตรงไปตรงมาอย่างน้อยสองครั้งของผู้นำองค์กรที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้บริหารจัดการวัคซีนโดยตรงอย่าง “สถาบันวัคซีนแห่งชาติ” ทั้งเรื่องไทม์ไลน์การส่งมอบวัคซีนแอสตราเซเนกาจากสยามไบโอไซเอนซ์ และการยอมรับความผิดพลาดเรื่องที่ไม่เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ของ WHO

แม้ความผิดพลาดนี้ อาจต้องสาวให้ลึกเข้าไปถึงระดับการตัดสินใจทางนโยบาย อย่างกระทรวงสาธารณสุข หรือ “คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ” ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แม้จะมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบแทนก็ตาม ยิ่งตอกย้ำว่าสิ่งที่ภาคการเมืองและภาคประชาสังคม รวมถึงสิ่งที่สื่อมวลชนพยายามตั้งคำถามมาตั้งแต่ต้นปี 2564 ถึงความไม่ชอบมาพากลและไม่เท่าทันต่อสถานการณ์ เริ่มเห็นภาพชัดขึ้น

แต่ก็เช่นกัน ภาคสังคมที่กล่าวมา ทำอะไรไม่ได้มากไปกว่า กดดันให้รัฐเดินนโยบายให้ถูกทิศถูกทาง เพราะผลิตวัคซีนเองไม่ได้

สิ่งที่ภาคสังคมพอจะมีส่วนร่วมทำได้ คือ ความพยายามลดการติดเชื้อ ลดผู้ป่วยอาการหนัก ช่วยลดโหลดระบบสาธารณสุข และลดการสูญเสียจากตัวเลขผู้เสียชีวิต

ข้อเสนอ “ระบบการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่บ้านหรือในชุมชน” หรือ Home Isolation – Community Isolation ถูกนำมาใช้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เช่น ระบบของสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในการวางระบบใหม่ดูแลผู้ป่วย พร้อมกับการวางระบบเพื่อจัดสรรงบประมาณให้หน่วยบริการในการเข้ารับการรักษาที่บ้านหรือที่ชุมชน

เฉพาะแค่กรุงเทพฯ มีทั้งหมด 147 แห่ง คือ โรงพยาบาลรัฐ 8 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 4 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. 69 แห่ง คลินิกชุมชนอบอุ่น 66 แห่ง และยังมีหน่วยบริการอีกหลายแห่งทั่วประเทศที่เริ่มใช้แนวทางการดูแลลักษณะนี้ (ข้อมูล ณ 19 ก.ค. 2564)

แต่เท่านี้อาจไม่พอ ในวันที่สถานการณ์ผู้ติดเชื้อยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ตอกย้ำด้วยภาพผู้เสียชีวิตกลางถนน คืนเดียวมากถึง 4 ศพ เมื่อคืนวันที่ 20 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

21 กรกฎาคม 2564 หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคอีสาน เดินหน้าเปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติม เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่อยู่ในกลุ่มสีเขียว พวกเขาใช้พื้นที่วัดและสถานที่เอกชนแบ่งปันทำเป็นโรงพยาบาลสนาม

เช่นที่วัดเสิงสาง ในอำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา เป็นจุดที่อำเภอใช้เป็นศูนย์พักคอยเพื่อให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 เฝ้าสังเกตอาการจนครบ 14 วัน ก่อนกลับสู่ชุมชน เพื่อช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเสิงสาง ที่มีผู้เข้ารับการรักษาจนเกือบล้นโรงพยาบาล

หรือจังหวัดมหาสารคาม ที่ใช้หอพักนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ปรับเป็นโรงพยาบาลสนาม รองรับกลุ่มนิสิตที่ติดเชื้อโควิด-19 โดยเตรียมใช้หอพักหญิงและชายรวม 69 ห้อง ซึ่งสถานที่มีความพร้อมแล้ว หากมีกลุ่มนิสิตติดเชื้อในกลุ่มสีเขียวก็สามารถเปิดพื้นที่รองรับได้ทันที

นอกจากสถานศึกษาแล้ว หากย้อนดูบทบาทสำคัญของภัยพิบัติทางธรรมชาติหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา ทรัพยากรของรัฐหลายอย่าง ถูกระดมออกมาช่วยเหลืออย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นต้นทุนเปิดโอกาสให้ความช่วยเหลือของภาคประชาสังคมและอาสาสมัคร แผ่ขยายไปได้กว้างขวางยิ่งขึ้น

เปิดช่องให้เกิดการกระจายอำนาจการจัดการโรคระบาด ได้เป็นอีกหนทางเอื้อให้ “ประชาชนดูแลกันเอง” ในยามที่ชีวิตของผู้ป่วยแม้เพียง 1 คน มีค่าและไม่ควรสูญเสีย

สถานที่ กำลังคน และงบประมาณ ของกองทัพ ชุมชน วัด และสถานศึกษา จะสามารถนำมาเป็นต้นทุนอย่างที่เกิดขึ้นแล้วในภาคอีสาน ได้อย่างไรอีกบ้าง?


สำรวจทรัพยากรประเทศไทยใน “สงครามโรค”

หากนับองค์กรด้านสาธารณสุขและฝ่ายปกครอง เป็นหน่วยงานหลักในการป้องกันและควบคุมโรคระบาด ภาพที่เราเห็นอยู่ในขณะนี้ มีองค์กรภาคประชาสังคมอื่น ๆ กำลังทำหน้าที่เป็นตาข่ายทางสังคม ออกความคิด ออกแรงและกำลัง หวังช่วยรองรับไม่ให้ระบบสาธารณสุขตกลงไปในหลุมดำของคำว่า “ล่มสลาย”

แต่ยังมีทรัพยากรอีกมาก ที่พอจะออกมาแสดงบทบาททำหน้าที่ต่าง ๆ หรืออย่างน้อยก็เอื้อให้ภาคประชาสังคมอื่น ๆ ทำงานได้ง่ายขึ้น ไม่ทิ้งให้พวกเขาต้องสู้กันอย่างลำพัง โดดเดี่ยว

หากดูทรัพยากรในท้องถิ่น อย่าง บ้าน วัด โรงเรียน หรือความหมายแบบ “บวร” ดั้งเดิม จะเห็นว่าในจังหวัดสีแดงหรือสีแดงเข้ม มีทรัพยากรเหล่านี้อยู่ไม่น้อย ยิ่งจังหวัดหัวเมืองใหญ่ มีพื้นที่ขนาดใหญ่ และมีประชากรจำนวนมาก จำนวนสถานที่ที่พอจะรองรับหรือให้ความช่วยเหลือในภาวะวิกฤตแบบนี้ ยิ่งมีจะมีค่า หากได้ถูกระดมมาใช้ประโยชน์

บ้าน ที่หมายถึงชุมชน วัด ที่รวมถึงศาสนสถานของทุกศาสนา โรงเรียน ในความหมายของสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา ที่มีสรรพกำลังและองค์ความรู้สำคัญ ที่สามารถนำมาใช้ร่วมฝ่าวิกฤตไปด้วยกันได้ ซึ่งนับเป็นหน่วยทางสังคมที่มีความสำคัญอย่างมากในระดับท้องถิ่น

ยังไม่นับหน่วยงานด้านความมั่นคงของกองทัพ ที่มีอาณาบริเวณกระจายอยู่ในหลายจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด(และเข้มงวด) พื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล ในเวลาที่ไม่มีข้อจำกัดเรื่องความมั่นคงทางการทหาร พื้นที่เหล่านี้ถูกเรียกร้องอย่างต่อเนื่อง ให้ถูกนำมาใช้เป็นสถานที่กักกัน กักตัว หรือแม้แต่ทำเป็นโรงพยาบาลสนาม รวมถึงกำลังพลที่ต่างผ่านการฝึกฝนให้เผชิญสถานการณ์แบบสงคราม ก็ควรปรับตัวจากสงครามทางอาวุธยุทโธปกรณ์ เป็นสงครามที่ต้องต่อสู้กับเชื้อโรค

ล่าสุด องค์กรเชิงสัญลักษณ์ด้านมนุษยธรรมในภาวะสงครามอย่าง สภากาชาดไทย ออกตัวเป็นแกนกลางในการสร้างกลไกสนับสนุนการทำงานของภาคประชาสังคม โดยช่วยทะลายข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ มาสนับสนุนให้อาสาสมัครภาคประชาสังคมได้เดินหน้าทำงาน อย่างไม่ติดขัด ด้วยเหตุผลข้อสำคัญคือ “มนุษยธรรม” ต่อเพื่อนมนุษย์ที่กำลังเหนื่อยล้า

เพราะนอกจากประชาชนต้องระมัดระวังตัวจากโรคระบาดแล้ว พวกเขายังแสดงบทบาท ดูแลกันเอง เพื่อหวังจะคืนความสุขให้กับตัวเองและคนรอบข้างให้กลับมาใช้ชีวิตปกติอีกครั้ง

แต่หากหน่วยงานหรือองค์กรที่มีต้นทุนอื่น ๆ ไม่แสดงบทบาทนี้ในระดับท้องถิ่นหรือชุมชน ก็อาจเรียกได้ว่า นี่นอกจากเป็นสงครามที่ไม่เห็นยุทธศาสตร์ เรายังไม่เห็นอาวุธอื่นใดที่จะใช้สู้รบ นอกจากร่างกายและหัวใจของคนด่านหน้า ที่หมายถึงการเอาชีวิตตัวเองเป็นเดิมพัน


อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active