หลักประกันความปลอดภัยของสังคม
ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมตามหลักสิทธิมนุษยชน
ปี 2564 อาจกล่าวได้ว่าเป็นปีแห่งความตั้งใจ เพื่อหยุด ‘การซ้อมทรมาน’ และ ‘อุ้มหาย’ โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ เมื่อฟางเส้นสุดท้าย คือ คดีที่ตำรวจซ้อมทรมานโดยใช้ถุงดำคลุมหัวผู้ต้องหาที่ จ.นครสวรรค์ จนถึงแก่ความตาย สร้างความตื่นตัว และความพยายามของสังคมในการผลักดันเป็นร่างกฎหมายฯ เฉพาะขึ้น
การเดินทางตลอดระยะเวลาหลายปีของกฎหมายนี้ เริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่าง และชัดเจนมากที่สุดในปีนี้
The Active ชวนดูเส้นทางกว่าจะเป็น … ร่างกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหายฯ
4 มิถุนายน : ครบรอบ 1 ปี การสูญหายของ “วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์”
วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองในประเทศกัมพูชา เขาหายตัวไปขณะแวะซื้อของหน้าอาคารที่พักในช่วงเย็น ของวันที่ 4 มิถุนายน 2563 วันครบรอบ 1 ปี ของการหายตัวไปของวันเฉลิม เป็นหมุดหมายสำคัญให้สังคมตั้งคำถามถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่ ความคลางแคลงใจของญาติผู้สูญหาย ว่าเหตุการณ์นี้ อาจเป็นการบังคับให้บุคคลสูญหาย ที่รัฐบาลไทย หรือ กัมพูชามีส่วนรู้เห็นหรือไม่ ?
สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม ได้เดินทางมาที่กระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อยื่นหนังสือเปิดผนึกทวงถามความคืบหน้าทางคดีของวันเฉลิม โดยมี ว่าที่ ร.ต. ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้รับมอบหนังสือร้องเรียน โดยได้รับทราบความคืบหน้าเพียงกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้ตั้งคณะอนุกรรมการฯ เพื่อติดตามบุคคลสูญหาย
‘ทำหนังสือติดตามคดี” ไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อดำเนินการแล้ว ซึ่งคดีนี้เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร ในทางกฎหมายจึงให้สำนักงานอัยการสูงสุดติดตามคดีดังกล่าวว่าเป็นคดีอาญาหรือไม่ และในส่วนของดีเอสไอ อยู่ระหว่างรอคำตอบที่ชัดเจนว่าจะทำเป็นคดีพิเศษได้หรือไม่
“เราหมดความหวังไปตั้งแต่วันแรก เพราะทางการไทยไม่มีใครออกมาพูดเรื่องนี้เลย แม้เมื่อไปยื่นหนังสือตามหน่วยงานต่าง ๆ ก็ไม่มีใครให้ความร่วมมือ ไม่เคยมีหน่วยงานของรัฐโทรมาถามว่าเกิดขึ้นจริงไหม ทั้งที่ทั่วโลกเห็นและประสานงานมายังเราโดยตลอด”
สิตานันท์ กล่าวภายในงานเสวนา “ถอดบทเรียนสังคมไทย 1 ปีอุ้มหายวันเฉลิม” 2 มิถุนายน 2564
นอกจากนั้นในวันครบรอบ 1 ปีนี้ ผู้เสียหาย และหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน ยังเรียกร้องให้กระทรวงยุติธรรม ผลักดันและให้คำมั่นเพื่อปรับปรุง ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและปฏิบัติหรือการลงโทษอันโหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ
ตลอดจนเร่งรัดให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ และ สำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมกันดำเนินการสอบสวนและค้นหาข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน พร้อมเคารพสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของครอบครัวผู้สูญหาย และนำตัวคนผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นธรรม โดยขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. มีส่วนร่วมติดตามสอบสวนคดีอย่างใกล้ชิดด้วย
สิงหาคม : ตำรวจ ใช้ถุงดำคลุมผู้ต้องหาจนถึงแก่ความตายที่ จ.นครสวรรค์
คลิปวิดีโอถูกส่งต่อกันในโลกออนไลน์อย่างกว้างขวาง หลัง ษิทรา เบี้ยบังเกิด ทนายความ ได้เผยแพร่คลิปและเชื่อมโยงว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่ง ใช้ถุงพลาสติกคลุมหัวผู้ต้องหาคดียาเสพติด เพื่อเรียกรับผลประโยชน์เป็นเงิน 2 ล้านบาท ก่อนที่ผู้ต้องหาจะขาดอากาศหายใจจนเสียชีวิต
“ตำรวจทำอย่างนี้ก็ไม่ต่างกับโจรในเครื่องแบบ ขอให้ทุกคนดูความโหดเหี้ยมด้วยสายตาตัวเองนะครับ”
ษิทรา เบี้ยบังเกิด
ความผิดปกติที่เกิดขึ้นนี้ สร้างความสะเทือนใจให้แก่สังคม เนื่องจากเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งสมควรทำหน้าที่ดูแลประชาชน แม้ผู้นั้นจะเป็นผู้ต้องหาในคดีที่ร้ายแรงเพียงใดก็ตาม นอกจากนั้นหลังจากที่มีรายงานข่าวระบุว่า ผู้ต้องหาคดียาเสพติดรายนั้นได้เสียชีวิตลง ก็มีเอกสารหนังสือรับรองการตายระบุว่า ผู้ต้องหาเสียชีวิตจากพิษสารแอมเฟตามีน (ยาบ้า) เกินขนาด แต่มีการตั้งข้อสงสัยและส่งต่อข้อมูลว่า แท้จริงแล้ว ผู้ตายไม่ได้ตายจากสารพิษ แต่ตายจากการขาดอากาศหายใจ
เวลาต่อมาข้อมูลในคลิปวิดีโอถูกระบุว่าเป็นภาพของ พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ ผู้กำกับโจ้ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ ที่เคยถูกพูดถึง เนื่องจากเป็นตำรวจที่มีชื่อเสียง ตลอดจนมีเพื่อนฝูงในวงการไฮโซจำนวนมาก และยังมีชื่อเสียงจากการสะสมรถสปอร์ตหรูจำนวนหลายคัน รวมมูลค่ากว่าหลายล้านบาท จนได้รับฉายาว่า “โจ้ เฟอร์รารี่”
พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แถลงถึงกรณีดังกล่าวยืนยันว่า จะมีการดำเนินการอย่างเด็ดขาด พร้อมระบุว่า “นิ้วไหนร้ายก็ต้องตัดนิ้วนั้นทิ้ง ตำรวจเป็นผู้รักษากฎหมาย ถ้าประชาชนไม่เชื่อมั่นก็อยู่ไม่ได้” และได้มีการสั่งย้าย พ.ต.อ. ธิติสรรค์ ให้ไปปฏิบัติราชการที่ ศปก.ภ.6 แทน และให้ขาดจากการปฏิบัติหน้าที่เดิม เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการตรวจสอบข้อเท็จจริจ
เวลาผ่านไปหลายวัน กระทั่ง 26 สิงหาคม 2564 ตำรวจอ้างว่า ผู้ต้องหาติดต่อขอเข้ามอบตัว และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้จัดแถลงข่าวขึ้น โดยได้ให้สื่อมวลชนสัมภาษณ์ผู้ต้องหาผ่านโทรศัพท์ ซึ่ได้ยืนยันว่าไม่ได้มีการเรียกรับเงิน 2 ล้านดังที่เป็นข่าว ตนเพียงต้องการขยายผลการจับกุมยาเสพติดเท่านั้น
เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความสะเทือนใจ รวมถึงความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน องค์กรประชาสังคม นักการเมือง และทุกฝ่ายออกมาเรียกร้องเพื่อไม่ให้เรื่องนี้ ‘หายเข้าไปในกลีบเมฆ’ เพราะสถานการณ์การอุ้มหายและซ้อมทรมาณ ยังคงเกิดขึ้นเป็นข่าวอยู่เรื่อย ๆ ในไทย โดยเฉพาะการซ้อมทรมานที่เกิดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่รัฐต่อประชาชน จึงเรียกร้องให้ไทยมีการออกกฎหมายป้องกันและปรามปรามการทรมานและอุ้มหาย ที่ยังไม่มีความคืบหน้าเกิดขึ้น แม้ ครม. จะเห็นชอบในร่างกฎหมายดังกล่าวไปตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2563 แล้วก็ตาม
8 กันยายน : ญาติผู้เสียหายเร่งสภาฯ พิจารณาร่างกฎหมายซ้อมทรมาน
กระแสความคับแค้นใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่จังหวัดนครสวรรค์ สร้างความตื่นตัวของสังคม และทำให้เครือข่ายญาติผู้เสียหายจากการทรมานและอุ้มหาย พร้อมกับเครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชนและตัวแทนภาคประชาชน ทำกิจกรรมรณรงค์เชิงสัญลักษณ์ เพื่อขอให้สภาผู้แทนราษฎรเร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ. หรือร่างกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหาย ภายในสมัยประชุมที่จะปิดประชุมในวันที่ 18 กันยายน 2564
ผู้ทำกิจกรรมได้ชูป้ายรณรงค์ และอ่านบทกวี เล่าถึงเหตุการณ์การถูกคุกคามโดยอำนาจรัฐในพื้นที่ชายแดนใต้ พร้อมสะท้อนความรู้สึกจากญาติผู้เสียหายจากการทรมานและอุ้มหาย ก่อนจะอ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้อง หลังชี้ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาที่ความล่าช้าและถูกปัดตกไปหลายครั้ง
โดยเครือข่ายญาติผู้ได้รับผลกระทบจากการทรมานและอุ้มหายที่ร่วมกิจกรรม เช่น ซูฮัยมิน ลือแบซา ตัวแทนเยาวชนในจังหวัดชายแดนใต้ ตัวแทนกลุ่มโมกหลวง, ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และพี่สาววันเฉลิม
ซึ่งการพิจารณากฎหมายนี้ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบให้เลื่อนขึ้นมาจากเรื่องด่วนเรื่องที่ 9 ให้ขึ้นมาต่อเรื่องที่ 3 หลังจากการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่ง คสช. เรื่องการปฏิรูปการศึกษา แต่คาดว่าจะพิจารณาได้ในสัปดาห์ต่อไป ซึ่งร่างกฎหมายที่คล้ายกันมี 4 ฉบับ ที่ร่างขึ้นมาอีกและคาดว่าจะนำเข้าพิจารณาพร้อมร่างของ ครม. เช่น ร่างของกรรมาธิการการกฎหมาย ร่างที่เสนอโดย วันมูหะมัดนอร์ มะทา และร่างที่เสนอโดย สุทัศน์ เงินหมื่น
- 5 กันยายน เหยื่อซ้อมทรมาน It Could Be You…
- 8 กันยายน ญาติผู้เสียหายเร่งสภาฯ พิจารณาร่างกฎหมายซ้อมทรมาน
16 กันยายน : สภาฯ รับหลักการ “ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ”
ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติรับหลักการ “ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …” หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้นำร่างฯ เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาฯ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564 และถูกบรรจุเป็นวาระพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร โดยกฎหมายดังกล่าว มีร่างฯ ที่มีชื่อและหลักการใกล้เคียงกันอีก 3 ฉบับ รวมเป็น 4 ฉบับ โดยที่ประชุมเห็นชอบทั้ง 4 ฉบับ ด้วยคะแนน 368 ไม่เห็นด้วย ไม่มี, งดออกสียง 1 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง
โดยที่ประชุมฯ ตั้ง “คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …” ที่ประกอบด้วยตัวแทนคณะรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ก้าวไกล ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา และเสรีรวมไทย รวม 25 รายชื่อ
ถือเป็นความคืบหน้าครั้งใหญ่ของกระบวนการทางกฎหมายในประเทศไทย เพราะมีความพยายามผลักดันมาตั้งแต่ปี 2557 หลังประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกใน อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการกระทำอื่น ๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (United Nations Convention against Torture: UNCAT) ตั้งแต่ปี 2550 หรือเมื่อ 14 ปีที่แล้ว โดยหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นเพราะกระแสสังคมกดดันภายหลังเกิดเหตุซ้อมทรมานผู้ต้องหาจนถึงแก่ความตายที่จังหวัดนครสวรรค์โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ
- 15 กันยายน ทำไมเราต้องมีกฎหมายป้องกันการทรมานและอุ้มหาย?
- 16 กันยายน สภาฯ รับหลักการ “ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ”
10 พฤศจิกายน : นานาชาติตั้งคำถามการซ้อมทรมานในไทย ห่วงกฎหมายไม่ครอบคลุม
ในเวทีทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน หรือ Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ 3 ซึ่งเป็นรอบของประเทศไทยที่ต้องกล่าวรายงานสถานการณ์ และตอบคำถามต่อหน้าประเทศสมาชิก UN ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีหลายชาติต่างยิงคำถามในประเด็นต่าง ๆ ต่อรัฐบาลไทย โดยประเด็นที่ถูกพูดถึง คือ การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เพื่อป้องกันการซ้อมทรมาน และการบังคับบุคคลให้สูญหายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยมีประเด็นสำคัญที่เป็นข้อเสนอให้ไทยมีกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหาย และผลักดันให้ไทยให้สัตยาบันสนธิสัญญาต่อต้านการซ้อมทรมานและอุ้มหาย เรียกร้องให้ไทยมอบความร่วมมือกับองค์การด้านสิทธิมนุษยชน
ขณะที่คำตอบของตัวแทนรัฐบาลไทย ได้ตอบคำถามความคืบหน้าเรื่อง พ.ร.บ.ต่อต้านการซ้อมทรมานและบังคับสูญหาย ว่า ในปี พ.ศ. 2560 รัฐบาลได้ตั้งคณะทำงานติดตามคดีซ้อมทรมานและบังคับสูญหาย ส่วนเรื่องตัวบทกฎหมาย กระบวนการพิจารณาร่างผ่านวาระที่ 1 ในรัฐสภาแล้ว ตอนนี้กำลังอยู่ในกรรมาธิการวิสามัญ โดยคาดว่าจะผ่านวาระที่ 2 ภายในสิ้นปีนี้ โดยร่างกฎหมายนี้เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมทั้งตัวผู้แทนทางการเมือง ระบบข้าราชการ และประชาชน
อย่างไรก็ตามที่ประเทศไทย ได้มีการจัดเวทีคู่ขนาน “รีวิวสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย” โดยมีผู้ร่วมเสวนา มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ฮิวแมนไรท์ วอทช์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน Manushya Foundation แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
- 19 ตุลาคม อุดช่องโหว่ ร่างกฎหมายป้องกันซ้อมทรมานฯ
- 29 ตุลาคม ร่าง พ.ร.บ.อุ้มหาย ไร้ข้อสรุปนิยาม “ผู้เสียหาย” กมธ.เห็นแย้ง ส่อลงมติ “อายุความ”
- 11 พฤศจิกายน ไทย ตอบคำถามสิทธิมนุษยชนบนเวทีโลก
22 ธันวาคม 2564 : กว่า 3 เดือนในชั้นกรรมาธิการฯ ความหวังกฎหมายซ้อมทรมานฯ
นับเป็นเวลากว่า 3 เดือนนับตั้งแต่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างกฎหมายในวาระที่ 1 คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … หรือ พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมานฯ แถลงผลการพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการฯ หลังจากมีการประชุมพิจารณารายมาตรามากถึง 29 ครั้ง เพื่อให้ครอบคลุมลักษณะความผิด และสอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับเรื่องการซ้อมทรมานและอุ้มหายทั้ง 2 ฉบับ ที่ประเทศไทยเป็นภาคี
“กรณีเหตุการณ์ที่เกิดใน จ.นครสวรรค์ เป็นฟางเส้นสุดท้าย ที่ทำให้เราลงมือพิจารณากฎหมายฉบับนี้ หากผ่านสภาฯได้ ผมยืนยันว่าจะเป็นกฎหมายที่ดีที่สุดฉบับหนึ่ง ที่จะทำให้สังคมจะปลอดภัย เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย และทำให้องค์กรต่างๆ ที่มีข้อครหามากมายได้รับความโปร่งใส จะเป็นคุณูปการกับทุกฝ่ายในสังคม แม้จะเห็นต่างกัน ทะเลาะกันมาก่อนก็ตาม… “
รังสิมันต์ โรม
สำหรับกระบวนการพิจารณากฎหมายต่อจากนี้ คณะกรรมาธิการฯ จะพิจารณารายงานร่างฯ ในวันที่ 5 มกราคม 2565 หากครบถ้วนสมบูรณ์ จะนำเข้าสู่การพิจาณาของสภาผู้แทนราษฎร โดยระเบียบข้อบังคับการประชุมฯ หากเป็นเรื่องที่คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาเสร็จแล้ว จะถูกบรรจุเป็นเรื่องแรก ในวาระการประชุม แต่ต้องตรวจสอบว่ามีเรื่องที่คณะกรรมาธิการฯ ชุดอื่น พิจารณาค้างอยู่หรือไม่ หากยังมีต้องพิจารณาหลังจากนั้น และเมื่อเสร็จในวาระที่ 2 และ 3 ของสภาผู้แทนราษฎร จะเข้าสู่การพิจารณาในของวุฒิสภาต่อไป คาดว่าจะเข้าสู่สภาฯได้ ในต้นเดือนมกราคมปี 2565